สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช : ไทยวัฒนาพานิช กับภารกิจผลิตแบบเรียน

สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช

อยู่ในวงการมานานร่วม 8 ทศวรรษแล้ว สำหรับสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ซึ่งคงเป็นที่คุ้นตากันดีตั้งแต่เด็กกับโลโก้ที่เป็นอักษรย่อ ท.ว.พ. ในสามห่วง เพราะเป็นสำนักพิมพ์ที่ผลิตตำราเรียน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา จนกระทั่งกลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งของวงการหนังสือตำราเรียนของเมืองไทยไปแล้ว ในวันนี้ไทยวัฒนาพานิชได้เข้าสู่ยุคของการบริหารรุ่นที่ 3 แล้ว แต่นั่นก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งหนึ่งของสำนักพิมพ์แห่งนี้ก็เป็นได้

 

 

อยู่ในวงการมานานร่วม 8 ทศวรรษแล้ว สำหรับสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ซึ่งคงเป็นที่คุ้นตากันดีตั้งแต่เด็กกับโลโก้ที่เป็นอักษรย่อ ท.ว.พ. ในสามห่วง เพราะเป็นสำนักพิมพ์ที่ผลิตตำราเรียน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา จนกระทั่งกลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งของวงการหนังสือตำราเรียนของเมืองไทยไปแล้ว ในวันนี้ไทยวัฒนาพานิชได้เข้าสู่ยุคของการบริหารรุ่นที่ 3 แล้ว แต่นั่นก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งหนึ่งของสำนักพิมพ์แห่งนี้ก็เป็นได้

คุณอินทิรา บุนนาค หรือ คุณปิ๋ม กรรมการผู้จัดการ ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาจารย์สอนดนตรี (เปียโน) ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตามที่ได้ร่ำเรียนมา แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเข้ามารับช่วงต่อกิจการโรงพิมพ์และสำนักพิมพ์จากคุณพ่อและคุณลุง ทำให้เธอรู้สึกลำบากใจมิใช่น้อย เพราะรู้ตัวดีว่าไม่ค่อยถนัดเรื่องการบริหารสักเท่าไหร่

“ไม่ได้ตั้งตัวค่ะ เพราะว่าไม่ได้ตั้งใจจะมาทำ จริงๆ ตอนที่คุณย่าเลิกทำไป คุณพ่อก็เหมือนกับว่าต้องมาดูทั้งสองทางแล้วไม่ไหว ก็คือต้องเป็นเราที่ต้องมาช่วยที่สำนักพิมพ์ แล้วคุณพ่อเองก็ไม่ได้ทำตั้งแต่ต้น คืออาจไม่ถนัดในเรื่องแบบนี้ ก่อนหน้านั้นจะเป็นทางคุณลุงดูแลสำนักพิมพ์ ซึ่งเราก็คิดว่าเขาจะทำต่อไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็แยกกัน ก็ต่างคนต่างทำ เราก็เลยต้องมารับผิดชอบตรงนี้”

ซึ่งสิ่งที่คุณปิ๋มรู้สึกว่าตัวเองไม่ถนัดก็คือเรื่องของการตลาด การขาย รวมทั้งเรื่องของคอนเน็กชั่นที่ต้อง ถึง เพราะวงการหนังสือตำราเรียนเป็นแวดวงที่ต้องอาศัยความรู้จักมักคุ้นกับผู้คนในทุกระดับ “ตอนเข้ามาใหม่ๆ ก็กดดันค่ะ คือต้องดูแลทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาย เรื่องของการตลาด เรื่องของวิชาการ ซึ่งตัวเองจะรู้สึกสบายใจในแง่ของวิชาการมากกว่า เพราะว่าเคยเป็นอาจารย์สอนหนังสือมาก่อน ก็คือรู้สึกปลอดภัยในพื้นที่นั้น แต่พอว่าต้องมาดูแลหมดทุกเรื่อง อย่างเรื่องการขายการตลาด ซึ่งเราไม่ถนัดเลย มันเป็นอะไรที่รู้สึกว่ามันยากและมันก็น่ากลัวด้วย ต้องมีเรื่องของการต่อรองกับลูกค้า ซึ่งไม่ชอบมากๆ เลย แล้วก็ใช้เวลานานกว่าที่จะปรับตัวให้เข้าใจระบบของมัน แล้วก็ยิ่งเป็นการขายแบบงบประมาณยิ่งซับซ้อน ถ้าเทียบกับสำนักพิมพ์อื่นเราไม่ค่อยมีอะไรในการขายงบประมาณ เราก็พยายามทำในสิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้ดีแล้วก็อยู่ในกรอบที่เหมาะสมค่ะ”

ด้วยความเก่าแก่และเป็นที่เชื่อถือในวงการ แต่ในแง่ของการบริหารงานก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้มีความทันยุคทันสมัยยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของการทำตัวให้เล็กลงเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน “คือหลังจากที่เราปรับโครงสร้างมา เราก็ทำตัวให้เล็กลงนะคะ จากเมื่อก่อนไทยวัฒนาพานิชมีหนังสือเรียนทุกวิชา ตั้งแต่ ป.1- ม.6 แล้วก็มีอุดมศึกษาด้วย แต่ว่าตอนหลังก็ประสบปัญหาเรื่องของการควบคุมสต็อคการทำตลาด ก็เลยค่อยๆ ตัดออกไป จนกระทั่งเหลือแต่สิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้ดีที่สุด แล้วก็มีอนาคตที่สุดในภาวะปัจจุบัน ก็คือหนังสือในกลุ่มภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็เลยพยายามที่จะมุ่งไปในทางสื่อที่เป็นภาษาอังกฤษหรือเป็น 2 ภาษา ยิ่งจะมีการเปิดประชาคมอาเซียนอีกด้วย ทุกคนก็ต้องปรับตัวเข้าหาการใช้ภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นไหนๆ เราก็มีฐานลูกค้าหลักในกลุ่มโรงเรียนเยอะอยู่แล้ว ก็จะพยายามส่งเสริมตรงนี้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

คุณปิ๋มบอกว่าในปัจจุบัน ตลาดหนังสือแบบเรียนเป็นตลาดที่พึ่งพางบประมาณของรัฐบาลเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะที่รัฐบาลชุดก่อนมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปีนั้น ส่งผลกระทบครั้งยิ่งใหญ่ต่อตลาดนี้อย่างมาก “ก่อนหน้านี้คนซื้อคือผู้ปกครอง แต่ว่าหลังจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปีมานี้ ก็คือรัฐบาลมอบงบประมาณให้โรงเรียนไปจัดซื้อหนังสือ เพราะฉะนั้นในปัจจุบัน ธุรกิจหนังสือแบบเรียนจะโตมากหรือน้อย หรือจะไม่โตก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณของรัฐบาลเป็นหลักเลย หรืออย่างเรื่องแท็บเล็ตยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่เลยนะคะ เพราะเขาบอกว่าจะเริ่มจาก ป.1 ก่อน แต่ว่าในทางปฏิบัติเราก็ยังไม่ทราบว่า ผลมันจะออกมาเป็นยังไง ก็คงต้องดูกันต่อไป แต่ว่าถ้าในภาพรวมแล้ว ธุรกิจสิ่งพิมพ์ทั่วโลกก็โดนกระทบบ้างในเรื่องของเทคโนโลยี เมืองนอกเองเค้าก็ยอมรับ อย่างจำนวนการพิมพ์หนังสือของเขาก็ลดลงนะคะ ทุกคนก็หันไปโหลด ไปซื้ออีบุ๊กกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะหายไปเลย เพียงแต่ว่าสื่อพวกนี้มันจะเข้ามาส่งเสริมการใช้หนังสือเล่มมากกว่า เพราะเราคิดว่ายังไงมันก็มาเเทนที่ไม่ได้ หนังสือเด็กนี่บางทีพ่อแม่ก็ชอบที่จะได้มานั่งอ่าน นั่งพลิก มากกว่าที่จะให้ดูในแท็บเล็ตอะไรแบบนั้น แต่เราก็พยายามเตรียมตัวเหมือนกันนะว่าต้องมีอะไรบ้าง เพราะถ้าถึงเวลาจะทำอะไรไม่ทัน อย่างตอนนี้ก็ได้เริ่มคุยกับพาร์ทเนอร์ บริษัทของคู่ค้าที่เขามีความถนัดในด้านของการทำแอพพลิเคชั่น พวกอีบุ๊กต่างๆ แล้วก็เริ่มที่จะเปิดตัวออกมา แต่ก็คิดว่าความพร้อมของผู้ใช้ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งด้วยค่ะ”

คุณปิ๋มทิ้งท้ายว่าอยากจะเห็นวงการศึกษาของไทยพัฒนาไปข้างหน้า เพราะอนาคตของเด็กขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ ดังนั้นถ้าผู้ใหญ่ไม่คิดในเชิงของการพัฒนา อนาคตของชาติก็จะมีปัญหา “คือจริงๆ ก็มีความเป็นครูค่อนข้างเยอะ เราก็อยากจะให้วงการศึกษาของชาติสามารถเชิดหน้าชูตาหรือสู้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ แล้วก็ให้เห็นความสำคัญของการปูพื้นฐานที่ดีตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่มาปรับเมื่อเขาโตแล้ว หรือเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว มันไม่มีประโยชน์ คืออยากจะเห็นความสำคัญของการศึกษาตั้งแต่พื้นฐานเลย แล้วก็ควรจะมีนโยบายแห่งชาติ คือเรื่องของการศึกษามันควรจะเป็นอะไรที่เดินไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แบบสะดุดๆ เหมือนประเทศอื่นเขาก็ต้องมี ไม่ว่าพรรคไหนขึ้นมาเป็นพรรคใหญ่ เขาก็ต้องเดินตาม อยากให้มีความนิ่งในแง่ของการศึกษา ที่ไม่ว่าใครจะมาจากไหน เก่งมาก เก่งน้อยก็ต้องเดินตามตรงนี้ แล้วถึงเวลาวัดผลก็ปรับกันไปตามสิ่งแวดล้อมตรงนั้น มันก็พูดยาก แต่เราก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด คือเราอยากเห็นสังคมดีขึ้น ผู้ใหญ่ต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์มากเกินไป”

อย่างน้อยเธอคนนี้ก็ยังมีวิญญาณความเป็นครูอยู่ไม่น้อย และครูคนนี้ก็ยังเป็นห่วงอนาคตของชาติเสมอ แม้ว่าจะไม่ได้สอนเด็กอยู่หน้าชั้นเรียนแล้วก็ตาม

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ