WORDS WONDER จักรวาลนิยายแฟนตาซี : คัดสรรนิยายระดับโลกเพื่อคอนิยายสายแฟนตาซี

WORDS WONDER จักรวาลนิยายแฟนตาซี

 

 

 

ถ้าพูดถึงนิยายแฟนตาซี หนึ่งในสำนักพิมพ์ที่เป็นที่รู้จักของคอนิยายแฟนตาซีคงหนีไม่พ้น WORDS WONDER นิยายแฟนตาซีหลายเล่มของนักเขียนระดับโลกหลายท่าน อาทิ Neil Gaiman, Diana Wynne Jones, Patrick Ness ล้วนถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งนี้ ด้วยความกล้าที่จะทำหนังสือนิยายเล่มหนาออกมาทั้งที่มีความเสี่ยงด้านการลงทุน ทั้งความรับผิดชอบต่อผู้อ่านด้วยการตีพิมพ์นิยายเล่มต่อจนจบครบทุกเล่มก็ทำให้ WORDS WONDER กลายเป็นขวัญใจของเหล่านักอ่านสายแฟนตาซีจำนวนไม่น้อย วันนี้เราเลยจะพาผู้อ่านไปพูดคุยกับคุณบอย-ณัฐกร วุฒิชัยพรกุล บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้ง ถึงเคล็ดลับในการคัดเลือกนิยายมาตีพิมพ์ รวมถึงสอบถามแผนการของปีหน้าว่าเขาเตรียมอะไรมาเซอร์ไพรส์ให้กับคนอ่านบ้าง

 

กว่าสิบปีแล้วแต่แฟนหนังสือของ WORDS WONDER ก็ยังคงเหนียวแน่น อะไรทำให้ครองใจนักอ่านได้ถึงวันนี้

“ผมว่าหนังสือเราสนุก หนังสือเราคนอ่านแล้วชอบ เรื่องที่เราเลือกมามันดีทั้งหมดเลย ผมเลือกเองทุกเล่ม ไม่มีเรื่องไหนที่ไม่โอเค หน้าปกเราก็พยายามทำให้น่าดึงดูด แต่ในด้านการขายผมก็ไม่ได้มองว่าแบรนด์อื่นเป็นคู่แข่งนะครับ ผมรู้สึกว่าเวลาหนังสือใหม่ๆ ออกมามันน่าตื่นเต้นหมดเลย บางสำนักพิมพ์ผมยังรู้สึกว่าทำไมเขาเก่งจังเลย ทำไมเขาทำหนังสือดีจังเลย สำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือดีผมจะเรียนรู้จากเขา เพราะว่าผมแค่อยากทำหนังสือให้มันดีที่สุดครับ”

 

 

ทำไม WORDS WONDER ถึงเลือกทำนิยายชุดและเล่มหนาซะเป็นส่วนใหญ่

“คือแฟนตาซีที่อ่านกันเปอร์เซ็นต์ส่วนมากเป็นหนังสือชุดครับ ส่วนมากจะทำเป็น Trilogy บางทีมีสามเล่ม ห้าเล่ม สิบเล่ม ผมรู้สึกว่ามันเป็นวิธีการเล่าเรื่องอีกแบบหนึ่ง เป็น Long term storytelling เหมือนเราดูซีรี่ส์ซีซั่นหนึ่งสองสามสี่ ผมว่าพออ่านไปเรื่อยๆ มันซึมซับได้ ยิ่งเราใช้เวลากับเนื้อเรื่องและตัวละครเยอะก็ยิ่งทำให้มันสนุกขึ้น ซึ่งมันยากที่เล่มบางๆ จะตอบโจทย์ได้ เรื่องที่เราเอามาทำเราก็พยายามทำให้ครบ เพราะไม่อย่างนั้นมันจะเหมือนเราดูหนังไม่จบ เราไม่อยากเป็นอย่างนั้น พอเราจะทำเรื่องไหนเราก็วางแผนว่าเราจะออกให้ครบ แต่ถ้าเกิดขายไม่ดีอาจจะลดจำนวนพิมพ์ลงบ้าง แต่จุดมุ่งหมายก็คือต้องออกให้ครบทั้งชุดครับ”

 

 

คุณบอยใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกเรื่องที่จะนำมาตีพิมพ์

“ที่ผมใช้ประจำก็คือเริ่มจากนักเขียนที่เราชอบ เราก็จะทำเรื่องของเขา เสร็จแล้วก็ไปดูว่านักเขียนคนนั้นเขาแนะนำเรื่องอะไรบ้าง เราก็จะไปอ่านเล่มนั้น ถ้าคุณเห็นหนังสือของเวิร์ดวอนเดอร์เราเริ่มที่ Neil Gaiman ซึ่งเขาจะชอบพูดถึง Ursula K. Le Guin ว่าเป็นนักเขียนที่สุดยอดมาก เราก็ไปซื้อมาอ่าน แล้วเราก็เอามาทำ แล้ว Neil Gaiman ก็ชอบพูดถึง Diana Wynne Jones เพราะเขาสนิทกัน เราก็ไปซื้อของเขามาอ่านแล้วก็เอามาทำ เราก็จับจากนักเขียนเหล่านั้นแล้วต่อยอดไปเรื่อยๆ คือเวลาผมเลือกผมไม่ได้มีเกณฑ์ขนาดนั้น แต่ผมก็จะดูด้วยว่าคนจะชอบไหม อย่างบางเล่มใช้เวลาเล่านานกว่าจะถึงจุดไคลแมกซ์ สำหรับผมน่ะชอบเพราะเล่ารายละเอียดเยอะ แต่ลูกค้าบางคนอาจจะไม่ชอบ เราก็ต้องคิดมากขึ้น เพราะคือมันต้องขายได้ด้วย”

 

 

ตั้งแต่ทำมาเล่มไหนทำยากที่สุด

“Howl’s Moving Castle ครับ บ็อกซ์เซ็ตอันนั้นน่ะยากที่สุด วางแผนกันเยอะ แล้วมันมีโอกาสที่มันจะผิดพลาดเยอะ และแปดสิบถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นต์มันผิดพลาดด้วย เช่นตรงนี้มันไม่ได้เราก็ต้องแก้ ตรงนี้ก็มีพลาด เราก็ต้องแก้ไปทีละอย่าง คือเราไม่เคยทำหนังสือที่ใหญ่ขนาดนั้นมาก่อน แล้วมันก็มีข้อผิดพลาดที่เรามองไม่เห็น หรือเรามองว่าไม่น่าเกิดแต่มันก็เกิดอะไรอย่างนี้ คือผมต้องทำหนังสือสามเล่ม ต้องทำกล่องแบบเปิดออกมาได้ แล้วถ้าให้กล่องมันเปิดมาแล้วมันไม่เวิร์คล่ะ เราทดลองหลายรอบ ไปโรงพิมพ์นี้คิดว่าจะทำได้ ปรากฏเขาปฏิเสธบอกทำไม่ได้ ต้องหาโรงพิมพ์ใหม่ ขณะที่ไทม์ไลน์ของเราก็รันไปเรื่อยๆ มันยากที่สุดตรงนั้น”

 

 

เวลาเกิดข้อผิดพลาดในหนังสือคุณแก้ปัญหายังไงบ้าง เพราะเห็นจากเคสเรื่อง Anne of Green Gable คุณตัดสินใจพิมพ์ใหม่เพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อไปแล้วแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเลย

“จริงๆ ที่ผ่านมาเราก็มีวิธีแก้ปัญหาหลายวิธีครับ ซึ่งผมจะคิดว่าถ้าผมเป็นลูกค้าผมอยากได้อะไร ทีนี้พอเป็นเคสแอนน์ที่เกิดขึ้น ความผิดพลาดมันหลายจุด เยอะเกินกว่าที่ผมจะเข้าใจได้ บางคนอาจจะมองข้ามได้ ถ้าเกิดคุณอ่านแล้วคุณไม่คิดมากก็ไม่มีอะไร แต่สำหรับคนรักหนังสือแล้วเรารู้สึกเจ็บปวด เราพยายามวางแผนแล้วแต่มันก็ยังเกิดข้อผิดพลาด เราก็เลยคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ เขาจ่าย เขามีความหวังกับหนังสือ เราก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความคาดหวังของเขา”

 

 

ในฐานะคนทำหนังสือคุณบอยคิดว่าหนังสือของไทยสามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ไหม

“เป็นได้ครับ แต่ว่าถ้าคุณอยากได้ซอฟต์พาวเวอร์คุณต้องทำหนังสือให้คนในประเทศอ่านให้ได้ก่อน ถึงหนังสือได้รางวัลแต่ถ้าคนในประเทศไม่อ่าน ไม่สนใจรางวัล ไม่สนใจการอ่าน มันก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ยาก ถ้าเราดูซอฟต์พาวเวอร์ที่เกิดขึ้น อย่างเช่นละครที่ดังๆ มันดังในประเทศก่อน คนเสพละครในประเทศของเราแล้วมันถึงจะไปเมืองนอก แต่ถ้าเกิดเราไม่ได้สนใจ คนในประเทศยังไม่สนใจ เราทำหนังสือให้คนในประเทศอ่านไม่ได้ มันก็ยากที่จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ครับ”

 

 

ปีหน้าเราจะได้เห็นผลงานอะไรใหม่ๆ จาก WORDS WONDER บ้าง

“หลังจากนี้เราจะออกหนังสือเยอะขึ้นมากกว่าเดิม จากที่เคยออกปีละ 5-6 เล่ม เราก็จะทำ 10 เล่มขึ้นไป แล้วก็จะมีหนังสือชุด The Poppy War เป็นแนวแฟนตาซีแต่เป็นแฟนตาซีจีน ก็ฝากให้ติดตามกันครับ และก็ต้องขอบคุณทุกคนที่ติดตามกันมา บางคนติดตามกันมาตั้งแต่ปีแรกๆ เราก็อยากจะทำหนังสือให้ดีที่สุด ถ้าเรามีข้อผิดพลาดอะไรเราก็อยากจะปรับปรุงและทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ และก็หวังว่าจะได้ทำหนังสือที่เรารักต่อไปเรื่อยๆ ครับ”

 

 

 

Writer

Au Thitima

Content Creator ผู้รักในการอ่าน ชอบในการเขียน และคลั่งไคล้สัตว์สี่ขาที่เรียกว่าแมว