บนแผงหนังสือเมืองไทย มีนิตยสารต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายในแต่ละปี แต่ในขณะเดียวกันก็มีนิตยสารอีกจำนวนไม่น้อยล้มหายตายจากไป อันเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ แต่บนถนนนิตยสารเมืองไทย มีนิตยสารฉบับหนึ่งซึ่งยืนหยัดมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2497 ด้วยความหนา 60 หน้า ในราคาเล่มละ 3 บาท และมีคุณบุญปรุง ศิริธร เป็นแบบปก ซึ่งนิตยสารเล่มนั้นก็คือ‘สกุลไทยรายสัปดาห์’
เกือบ 60 ปีเต็มที่ ‘สกุลไทยรายสัปดาห์’ ยืนหยัดอยู่บนถนนนิตยสาร นับเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า เส้นทางการเติบโตของนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับนี้ ที่ตีพิมพ์จำหน่ายมากว่า 3,000 ฉบับเป็นอย่างไร ‘ธุรกิจหนังสือ’ จึงนัดหมายพูดคุยกับ ‘นรีภพ สวัสดิรักษ์’ บรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย ผู้รับหน้าที่ต่อจากมารดาคือ สุภัทร สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการอาวุโสผู้อุทิศตนแก่วงการวรรณกรรมไทย โดยนรีภพเล่าให้ฟังว่า “สกุลไทยฉบับแรกเกิดจากความคิดของคุณประยูร และคุณสันติ ส่งเสริมสวัสดิ์ แห่งบริษัทอักษรโสภณฯ ที่อยากทำนิตยสารรายสัปดาห์ ตอนนั้นสำนักงานยังอยู่แถวเสาชิงช้า ระบบการพิมพ์ยังเป็นแบบตะกั่วอยู่เลย สมัยนั้นมีคุณลมูล อติพยัคฆ์ เป็นบรรณาธิการคนแรก วางจำหน่ายทุกวันจันทร์ในราคาเล่มละ 3 บาท ส่วนคุณแม่ (สุภัทร สวัสดิรักษ์) ก็เข้ามาช่วยตั้งแต่เริ่มต้น จากนั้นคุณแม่ก็มารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ และสำนักงานก็ย้ายมาอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 36 ซึ่งเป็นที่ตั้งในปัจจุบัน”
นรีภพ บอกว่า นโยบายหลักของสกุลไทยคือเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ จะเห็นว่า ปกของสกุลไทยในยุคแรก ๆ จะเป็นปกพระราชวงศ์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานให้ผ่านสำนักพระราชวัง “ในยุคแรกเราได้บทความจากท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค นางสนองพระโอษฐ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เขียนถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ เมื่อครั้งตามสมเด็จพระนางเจ้าฯ ไปยังที่ต่าง ๆ อย่างเช่น ทรงไปสอนหนังสือเด็กตามชายหาดที่เขาเต่า ท่านผู้หญิงใช้นามปากกาว่า ม.ส.บ. บางครั้งท่านก็สร้างตัวละครคือหิ่งห้อย ติดตามพระองค์ไปไหนต่อไหน แล้วกลับมาเขียนเล่าให้ฟัง คนในยุคนั้นจะติดตามอ่านเรื่องราวเหล่านี้ เพราะไม่ค่อยมีใครรู้ว่า สมเด็จพระราชินีไปทำงานที่ไหนบ้าง ตรัสเรื่องอะไร บรรยากาศการทำงานเป็นอย่างไร เราถือว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งสำคัญที่เราเชิดชูมาตลอด”
จุดเด่นสำคัญของสกุลไทยที่ใคร ๆ ก็ติดตามอ่าน คือ นวนิยายขนาดยาวที่ลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ นรีภพเล่าถึงเรื่องนี้ว่า สกุลไทยเป็นนิตยสารที่ให้สาระและความบันเทิงกับคนในครอบครัว จึงนำเสนอนวนิยายเป็นหลัก ในยุคแรก ๆ มีนวนิยายแค่ 5 - 6 เรื่อง ปัจจุบันมี 13 เรื่อง ที่เหลือเป็นคอลัมน์ปกิณกะและบทความต่าง ๆ คนอ่านส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง ก็มีบ้างที่พ่อบ้านอ่านตามแม่บ้าน แต่เมื่อดูกระแสจากจดหมายที่ผู้อ่านส่งมา ก็พบว่า ผู้ชายหันมาอ่านสกุลไทยมากขึ้น แต่นักอ่านผู้หญิงก็ยังเป็นหลักอยู่
เมื่อนวนิยายเป็นจุดขายของสกุลไทย เรื่องสำคัญที่คนอ่านคงอยากรู้คือ บรรณาธิการมีวิธีการคัดเลือกนวนิยายสำหรับลงตีพิมพ์อย่างไร เพราะคงมีนักเขียนทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าส่งเรื่องมาลงตีพิมพ์ไม่น้อย นรีภพตอบข้อสงสัยตรงนี้ว่า “ขออ้างไปถึงคุณแม่ คุณแม่บอกว่า การคัดเลือกนวนิยายให้มองความลุ่มลึกของนักเขียน ความลุ่มลึกคือวรรณศิลป์ผสมผสานกับสิ่งที่นักเขียนอยากมอบให้กับผู้อ่าน เพราะนอกจากให้ความบันเทิงแล้ว นวนิยายก็ต้องให้อย่างอื่นกับผู้อ่านด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณธรรม จริยธรรม ความดีความชั่ว รวมทั้งกลวิธีการเขียน และกระแสติดตามของผู้อ่าน ถ้าเป็นนักเขียนอาวุโส เราอ่านมานาน จนรู้ว่าตัวอักษรท่านเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นนักเขียนใหม่ ๆ เราจะขอให้เขียนตั้งแต่ต้นจนจบมาให้พิจารณาเลย เพราะถ้าทยอยเขียนมาแบบห้าตอน สิบตอน เราจะไม่เห็นความเป็นองค์รวมทั้งหมด”
นอกจากเปิดพื้นที่สำหรับงานวรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย เรื่องสั้น หรือบทกวีแล้ว สกุลไทยยังเปิดเวทีสำหรับนักเขียนนวนิยายหน้าใหม่ ด้วยการประกวดนิยายรางวัลสุภัทร สวัสดิรักษ์ ซึ่งปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว “คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ เป็นบรรณาธิการที่คัดกรองนวนิยายได้เก่ง และสร้างนักเขียนมาหลายต่อหลายรุ่น สกุลไทยจึงอยากสานต่อให้นักเขียนรุ่นใหม่ ๆ เป็นแบบเดียวกับที่คุณสุภัทรสร้างมาคือ ภาษาสวย มีความลุ่มลึกทางภาษาและความคิด ตอนนี้ก็เปิดรับผลงานเข้าประกวดอยู่ หมดเขตเดือนพฤษภาคม 2557 โดยผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท และได้ตีพิมพ์ผลงานลงในสกุลไทย รวมทั้งรวมเล่มกับสำนักพิมพ์ในเครือด้วย” นรีภพกล่าว
ระยะเวลาเกือบ 60 ปี ที่สกุลไทยเติบโตบนถนนนิตยสาร หากสกุลไทยก็ไม่เคยหยุดนิ่ง มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นปก แฟชั่น หรือคอลัมน์ต่าง ๆ หลายคนบอกว่า ปกสกุลไทยในระยะหลังสวยและทันสมัยขึ้น ในเรื่องนี้นรีภพบอกว่า “ต้องยอมรับว่าผู้อ่านสกุลไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างจะอาวุโส จะปรับอะไรก็ค่อนข้างเกรงใจผู้อ่าน ต้องปรับแบบค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป เพราะเราถือว่า ผู้อ่านเป็นบุคคลสำคัญที่สุดของการทำหนังสือ สกุลไทยโชคดีที่มีทีมงานที่แกร่งและเก่ง เรื่องบางเรื่องก็ต้องอาศัยความคิดเด็กรุ่นหลังเหมือนกัน อย่างเช่นการสื่อสารกับผู้อ่านผ่านเฟซบุ๊กที่เราได้เด็กรุ่นใหม่ทำให้เราดูแลคนอ่านได้ใกล้ชิดขึ้น”
การผลิตนิตยสารรายสัปดาห์ ถือเป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับคนทำนิตยสาร นรีภพเล่าให้ฟังว่า “เราประชุมกองบรรณาธิการกันทุกอาทิตย์ อย่างหนังสือที่วางแผงอาทิตย์นี้ นั่นคือปิดเล่มมาแล้ว 3 อาทิตย์ก่อน จึงต้องทำงานล่วงหน้ากันเป็นเดือน ยิ่งถ้าช่วงไหนเป็นวันหยุดก็ต้องเร่งทำงาน ที่สกุลไทยทำงานกันเป็นทีม บางทีอะไรที่ไม่รู้ ก็ได้รู้จากเด็กรุ่นหลัง ๆ ไม่ใช่แต่เขาที่เรียนรู้จากเรา แต่เราก็ได้เรียนรู้จากเขาด้วย”
เมื่อถามถึงอนาคตของสกุลไทย นรีภพยืนยันหนักแน่นว่า “เรารักความเป็นสกุลไทย เราแน่วแน่ในการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ยึดหลักของสาระและบันเทิง หวังให้ทุกคนในครอบครัวอ่านได้ เน้นเรื่องของนวนิยายเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกัน หนังสือมันก็ต้องพัฒนาไปตามกระแสด้วย แต่เราต้องยึดตัวตนของเราไว้ให้ได้ ไม่ใช่ไหลไปแบบสะเปะสะปะ ต้องไหลไปในทิศทางของความถูกต้องและความมีสาระ ก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่า วันข้างหน้าสังคมจะเป็นอย่างไร แต่เราต้องให้สาระกับคนที่เขาอ่านหนังสือของเรา”
แม้ปัจจุบัน ‘สกุลไทยรายสัปดาห์’ จะได้ก้าวเดินบนถนนนิตยสารมายาวนานเกือบ 60 ปี หากเทียบกับอายุคนก็คงถึงวันเกษียณอายุ และเริ่มเข้าสู่วัยชรา แต่เมื่อเป็นนิตยสาร เรากลับมองว่า 60 ปีที่กำลังจะผ่านไป คือช่วงเวลาแห่งการตกผลึก การตกตะกอนทางความคิด และมุ่งสู่การพัฒนานิตยสารให้ดียิ่ง ๆ สืบไป เกินที่ใครจะก้าวตามทัน
ขอบคุณที่มา : all-magazine
รกิจหนังสือ / เรื่อง : ปรายปริญ’
all magazine มีนาคม 2557