นิตยสารสารคดี : ในวันที่ออนไลน์ตอบโจทย์คนยุคใหม่มากกว่านิตยสารเล่ม

นิตยสารสารคดี

       ในยุคที่การเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องง่าย และผู้คนสามารถค้นข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลกได้เพียงแค่ปลายนิ้ว ทำให้นิตยสารที่เคยเป็นเหมือนคลังข่าวของผู้คนค่อยๆ ทยอยล้มหายตายจากไปจากวงการนิตยสารไทยหลายต่อหลายหัว แต่หนึ่งในนิตยสารที่ยังคงยืนหยัดอยู่ในวงการมาได้อย่างยาวนานเกือบ 40 ปี ก็คือนิตยสารสารคดี เปลี่ยนผ่านบรรณาธิการบริหารที่ขับเคลื่อนนิตยสารให้เติบโตอย่างมั่นคงมาแล้วถึง 3 รุ่น และหัวเรือใหญ่คนปัจจุบันก็คือคุณสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ ดีกรีเจ้าของรางวัลบรรณาธิการดีเด่นคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ปี 2561 ที่วันนี้ให้เกียรติมาพูดคุยกับ The Reader ถึงสถานการณ์ปัจจุบัน และแนวทางต่อไปของนิตยสารสารคดีในวันที่ออนไลน์กำลังเติบโตไปแบบก้าวกระโดด

 

     “ในยุคที่เฟื่องฟูเมื่อยี่สิบปีที่แล้วนิตยสารทุกหัวมันอยู่ได้ด้วยโฆษณาเป็นหลัก พอมันเกิดออนไลน์มันก็เป็นเส้นทางใหม่ เม็ดเงินโฆษณามันก็ไหลไปทางนั้น ก็หลุดจากตัวสิ่งพิมพ์ที่เป็นนิตยสารออกไปเลย เพราะฉะนั้นแมกกาซีนที่พึ่งพิงกับโฆษณาเป็นหลักใหญ่ เป็นสัดส่วนเยอะหน่อยเนี่ย เขาก็จะไม่ไปต่อ เพราะว่ามันขาดทุนแล้วก็เข้าเนื้อแน่นอน ภาษาธุรกิจเรียก Cut Loss คืออย่าขาดทุนไปมากกว่านี้เลย ก็จบกันตรงนั้นดีกว่า แต่ว่าคนที่ยังไปได้ยาวก็คือว่ามีฐานสมาชิกอยู่ นิตยสารสารคดียังโชคดีที่มีถึงสามฐาน คือเป็นลูกค้าที่ยอมจ่ายรายปีกับเรา แล้วก็ยังมีลูกค้าที่ติดตามเราตามแผงหนังสืออีกส่วนหนึ่ง แล้วอีกส่วนหนึ่งก็คือโฆษณา คือเดิมโฆษณาเราไม่เยอะอยู่แล้ว เพราะงั้นเราอยู่ได้ด้วยยอดสมาชิกครับ”

 

นิตยสารคดี

 

ทางนิตยสารปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่มันเข้ามาอย่างไรบ้าง

      “สิ่งที่เราพยายามจะปรับเปลี่ยนเรียกว่า Look Young คือทำให้มันดูร่วมสมัยกับคนอ่านและยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไป ในเชิงการออกแบบรูปเล่ม ในเล่ม ปก ก็มีการทำให้มันดูเป็นอาร์ตไดเรกชั่นที่มันร่วมสมัยกับคนยุคปัจจุบันขึ้น มีการเปลี่ยนหัวสารคดีจากเดิมที่เป็นห่วงกลมๆ ใหญ่ๆ มาเป็นแนวที่ดูเป็นดิจิทัลนิดหนึ่งเพื่อรับกับยุคใหม่ครับ แล้วในแง่คอนเทนต์เนี่ย ถ้าเป็นนิตยสารสมัยก่อนเราก็ยังมีข่าวรายเดือนได้ เหมือนมาสรุปว่าเดือนนี้เกิดอะไรขึ้น คนก็ยังดูว่ามันยังไม่เอาท์ มันยังเป็นสื่อที่ช่วยให้เรารู้ข่าวสารของเดือนนั้นได้ แต่ทุกวันนี้ข่าวสารมันคือทุกวินาทีแล้ว ภารกิจของแมกกาซีนที่จะตอบโจทย์อันนั้นมันไม่มีแล้ว เพราะคอนเทนต์ลักษณะนี้ถูกมูฟไปออนไลน์หมดแล้ว เพราะคุณเปิดออนไลน์หนึ่งวินาทีตอนนี้มันล้นไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นนิตยสารที่ออกรายเดือนผมก็ตีโจทย์ไว้ว่าต้องทำธีมที่มันลึกไปเรื่องใดเรื่องหนึ่งเลย เพื่อให้คนรู้สึกว่าถ้าอยากรู้เรื่องนี้ต้องอ่านเล่มนี้ ฉบับนี้ มันจะแข็งแรง มีความรอบด้านและลึกอยู่ในตัวของมันเองในแต่ละเล่มครับ”

 

นิตยสารคดี

 

ด้วยชื่อนิตยสาร ‘สารคดี’ ปัจจุบันยังมีคนอ่านที่เข้าใจว่ามันคือสารคดีที่เป็นแนววิชาการน่าเบื่ออยู่บ้างไหม

     “จริงๆ อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ตั้งแต่ 40 ปีที่แล้วนะครับ เราพยายามจะรณรงค์เรื่องนี้ตั้งแต่เราเปิดหัวสารคดีมาแล้วว่าสารคดีคืออะไร ถึงปัจจุบันถ้ายังมีคนที่เข้าใจแบบนี้ก็น่าสนใจเหมือนกันว่าความเข้าใจของคนกับงานสารคดียังมีบางส่วนที่ยังติดกับความเป็นงานวิชาการ ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่อยู่ในสารคดีมันไม่ใช่งานวิชาการเลย สารคดีคือรอยต่อระหว่างงานวิชาการกับวรรณกรรม อันนี้พูดเฉพาะในโหมดของงานเขียนนะครับ เพราะสิ่งที่อยู่ในความเป็นนิตยสารสารคดีมันมีภาพถ่ายสารคดีด้วย ปกตินิตยสารมันต้องทำงานคู่กับภาพ เราไม่ใช่หนังสือบทความ เรานำเสนอความจริงผ่านภาพและงานเขียนเชิงสารคดี ทั้งภาพและงานเขียนเป็นงานศิลปะทั้งคู่ ก็คือมันมีการบอกเล่าเรื่องราวพร้อมกับความงดงามในโหมดของมัน งานเขียนก็คือภาษาในวรรณศิลป์ ภาพก็มีความงดงามในภาพในการสื่อสารความเป็นศิลปะภาพถ่าย การจัดแสง การจัดวางองค์ประกอบ แต่สาระเรื่องราวมันมาจากความจริงทั้งหมดครับ”

 

นิตยสารคดี

 

อะไรคือสิ่งที่ยากในการทำนิตยสารสารคดี

    “มันยากหมดทุกขั้นตอน (ยิ้ม) ถ้าพูดถึงปลายทางความยากจริงๆ ก็คือทำยังไงให้เนื้อหาที่เราเลือกมามันเป็นที่สนใจของคนอ่านจริงๆ และเรื่องที่เราทำมีคุณภาพดีจริงๆ ที่ทำมาแล้วอ่านแล้วเขาได้อะไรจริงๆ คือในรายละเอียดมันเยอะมาก เพราะว่าไปพื้นที่จริงๆ คุณจะเจอปัญหาตั้งแต่แหล่งข้อมูลไม่พร้อม หรือไปถึงผิดเวลา คือมันเป็นเรื่องหน้างาน ถ้าถอยหลังมาก็คือเราวางแผนดีไหม มันกลับมาที่แพลนทั้งปีเลยว่าเราวางแผนกำหนดการไว้ดีหรือเปล่า แต่แน่นอนว่ามันก็มีอุปสรรคระหว่างทาง เราอาจจะวางว่าฉบับนี้น่าจะลงเดือนนี้ สุดท้ายพอลงพื้นที่ไปแล้วมันไม่มีอะไรเลย ก็ต้องเปลี่ยน มันถึงขั้นอาจจะต้องหาธีมใหม่ไปเลย แต่นั่นแหละ เราทำงานมาหลายปีเราก็จะมีแผนสำรอง มีของที่อยู่ในสต๊อก หรือมีประเด็นที่จะหยิบมันมาได้เพื่อช่วยแก้ปัญหา แต่มันก็คือมูฟเมนต์มันมีไดนามิกตลอดเวลาที่ทำงาน เราก็ต้องแก้ไปเรื่อยๆ ครับ”

 

นิตยสารคดี

 

มีวิธีเลือกเรื่องที่จะนำมาทำเป็นธีมเล่มในแต่ละเดือนอย่างไรบ้าง

     “มันจะมีสามสี่ปัจจัยที่เราต้องดู คือมันมีคนสนใจอยู่ไหม มันมีกระแสไหม ซึ่งพวกนี้เราคอยจับอยู่ครับ เราคอยติดตาม ถ้าออกมาแล้วไม่มีกระแสมันก็ขายไม่ออก อย่างตอนโควิดมีเรื่องหนึ่งที่ขายดีมากคือเรื่องขนมปัง ตอนนั้นมีกระแสคนมาอบขนมปังกันเต็มเลย เราจับเรื่องนี้มาทำเราก็ลงลึกไปว่าการทำขนมปังของหลายคนทำแล้วมันให้คุณค่าทางใจเขาด้วย มันมีการเรียนรู้ชีวิตผ่านการทำขนมปัง ระหว่างที่คุณทำขนมปังคุณได้เรียนรู้ว่าคุณต้องใจเย็นนะ คุณต้องยอมรับธรรมชาติของขนมปังเหมือนกันนะว่ามันมีเวลา มีกระบวนการของมัน คุณจะใจร้อนเอาแต่ใจไม่ได้นะ เราก็ส่งต่อตรงนี้ให้คนอ่าน ส่งต่อเรื่องราวที่เราได้ไปเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลที่เราคิดว่าเขาเป็นตัวอย่างที่ดี มีมุมคิดอะไรต่างๆ ที่ส่งต่อให้คนอื่นได้ ทุกเรื่องที่ทำออกมาเราต้องการให้คนอ่านรู้สึกว่าได้อะไรจากการอ่าน และเราเป็นแมกกาซีนรายเดือน เรื่องความลึกมันก็ยิ่งต้องลึกเข้าไป มันต้องมีอะไรมากกว่าที่คุณจะไปหาได้จากออนไลน์”

 

นิตยสารคดี

 

เห็นว่าตอนนี้ก็มีทำออนไลน์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งด้วยใช่ไหม

      “ตอนนี้เราขยับไปทำแอพพลิเคชั่นอันหนึ่งที่ชื่อว่า ANSi (อ่านสิ) เป็นแอพพลิเคชันแบบแมกกาซีนจริงๆ คือความเป็นเล่มยังอยู่กับการอ่านบนนั้น คือเห็นเป็นเล่มๆ แล้วก็ขึ้นมาว่าในเล่มนั้นๆ มีเรื่องอะไร เราก็หวังว่าอันนี้จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ไม่อยากอ่านกระดาษแล้ว หรือว่าขี้เกียจเก็บเป็นเล่มแล้ว คอนเทนต์ความเป็นเนื้อหาก็ยังเป็นแบบสารคดีของเราที่เราทำ แต่ว่าเปลี่ยนแพลตฟอร์มการอ่านเท่านั้นเอง แต่ว่าเราไม่ได้จะเลิกกระดาษนะ ไม่ใช่ว่าเราจะเลิกแล้วไปเป็นสำนักข่าวออนไลน์ คิดว่านั่นไม่ใช่ทิศทางของที่นี่ เรายังมุ่งมั่นกับการทำคอนเทนต์สารคดีที่เป็นธีมเล่ม แล้วก็มีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่รับกับความเป็นแมกกาซีนออนไลน์ โดยที่เล่นกับกระแสคนที่อยู่บนออนไลน์มากขึ้นครับ”

 

นิตยสารคดี

 

แสดงว่ายังไม่มีความคิดจะเปลี่ยนให้เป็นออนไลน์แบบเต็มตัว

     “เรายังเชื่อมั่นในนิตยสารกระดาษ ในการพรีเซนเทชั่นของความเป็นกระดาษ ทั้งในแง่ของรูปที่มันปรากฏบนหน้ากระดาษ แล้วก็การอ่านบนหน้ากระดาษ มันเป็นรูปแบบหนึ่งที่เรายังเชื่อว่ามันเป็นการสื่อสารกับคนอ่าน คนรับสารได้ลึกซึ้งกว่าการที่เราไถหน้าจอ เมื่อเราเน้นความลึกซึ้ง ความรอบรู้ มันก็ต้องใช้พื้นที่เยอะ ให้คนอ่านได้ซึมซับกับมัน มันจึงไม่สามารถเขียนเป็นหน้าเดียวหรือสองหน้าจบแบบที่เราอ่านบนออนไลน์ มันก็ต้องไฟท์กันต่อไปว่ายังมีคนอ่านแบบนี้อยู่อีกหรือเปล่าในโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราก็ยังต้องไฟท์ต่อในเชิงอุดมการณ์นิดหนึ่งว่า เรายังเชื่อมั่นในการเสพกระดาษ สุนทรียรสของการเปิดกระดาษอ่าน มันก็ต้องยันกันต่อไปจนกว่าจะหาไม่จริงๆ หรือคนอ่านลดไปจนไม่คุ้มจริงๆ แล้ว แต่ตอนนี้มันยังโอเคนะ ก็ยังไปต่อได้ครับ”

 

นิตยสารคดี

 

อยากบอกอะไรกับแฟนๆ ที่ยังติดตามอ่านนิตยสารสารคดีมาจนถึงตอนนี้บ้างไหม

      “ก็ขอขอบคุณผู้อ่านของสารคดีทั้งที่เป็นสมาชิกแล้วก็เป็นแฟนประจำ แล้วก็เป็นแฟนขาจรคือติดตามเราเป็นบางเล่มนะครับ แล้วก็เป็นผู้อ่านทั่วไปที่เผลอมารู้จักเราในโลกยุคปัจจุบันที่นิตยสารมันเหลือไม่มากแล้ว ก็ยังมีนะครับที่เพิ่งมาเจอเราว่ายังมีหนังสืออย่างนี้อยู่ด้วยในโลกหนังสือ ก็ขอขอบคุณทุกท่าน เพราะว่า 40 ปีของสารคดีอยู่มาได้เพราะว่ามีคนอ่านจริงๆ เพราะถ้าไม่มีคนอ่าน ถึงแม้นายทุนเขาอยากพิมพ์ เขาก็คงรู้สึกว่าจะพิมพ์ทำไมในเมื่อไม่มีคนอ่าน (ยิ้ม) เพราะงั้นคนอ่านคือรากฐานสำคัญที่สุด และยังเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าคนทำงานสารคดีตรงนี้ยังทำงานแล้วมีคุณค่ากับคนอ่านจริงๆ ก็ขอขอบคุณครับ”

 

 

 

Writer

Au Thitima

Content Creator ผู้รักในการอ่าน ชอบในการเขียน และคลั่งไคล้สัตว์สี่ขาที่เรียกว่าแมว