‘นิตยสารหมอชาวบ้าน’ เปลี่ยน ‘หมอ’ ให้เป็น ‘ชาวบ้าน’ คำกล่าวที่ว่า “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันเป็นประเสริฐ” เป็นคำกล่าวที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ คนรักสุขภาพหลายคนคงเคยเห็นและอ่านนิตยสารเพื่อสุขภาพที่ชื่อว่า ‘หมอชาวบ้าน’ ซึ่งเป็นสื่อหลักของมูลนิธิหมอชาวบ้าน องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชนมายาวนาน และยังเป็นผู้ริเริ่มปลุกกระแสรณรงค์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ เช่น การวิ่งเพื่อสุขภาพ การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ การจัดสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเผยแพร่ข้อมูลสุขภาพเพื่อดูแลตนเองอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522
‘ออล แม็กกาซีน’ ได้ขอนัดหมายกับรศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา และรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารหมอชาวบ้าน และวารสารคลินิกของสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน พูดคุยถึงความเป็นมาของนิตยสารเพื่อสุขภาพเล่มนี้ นายแพทย์ศักดิ์ชัย เล่าให้ฟังว่า “นิตยสารหมอชาวบ้านถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือของมูลนิธิหมอชาวบ้าน มูลนิธิหมอชาวบ้านก่อตั้งเมื่อ 36 ปีที่แล้ว โดยปูชนียบุคคลทางการแพทย์หลายท่าน เช่น ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ศ.ประเวศ วะสี ด้วยเงินจำนวน 1 แสนบาทที่คูณหมอประเวศได้รับจากรางวัลแม็กไซไซ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนไทยมีสุขภาพร่างกายที่ดีและมีความรู้ในการดูแลสุขภาพตัวเอง ไม่ต้องเจ็บป่วยหรือรักษาฟื้นฟูในภายหลัง คำว่า ‘หมอชาวบ้าน’ มาจากความคิดที่ว่า อยากให้ชาวบ้านมีความรู้เหมือนหมอเพื่อดูแลรักษาตัวเอง ครอบครัว และชุมชน แล้วก็อยากให้หมอมีมุมมองของความเป็นชาวบ้านที่จะเอาความรู้มาย่อยให้ชาวบ้านอ่านและนำไปใช้ประโยชน์ได้”
เมื่อก่อตั้งเป็นมูลนิธิหมอชาวบ้าน คุณหมอบอกว่า คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้จัดทำเครื่องมือเพื่อเผยแพร่ความรู้สุขภาพไปสู่ประชาชน โดยมีทั้งหมด 4 ด้าน คือ 1.นิตยสารหมอชาวบ้าน เป็นนิตยสารรายเดือน นำเสนอข้อมูลพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชน 2.วารสารคลินิก เป็นวารสารรายเดือนให้ความรู้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 3. หนังสือเล่ม เป็นพ็อคเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับความรู้ด้านสุขภาพ 4. สื่อ IT เช่น เว็บไซต์หรือแฟนเพจในเฟซบุ๊ก
ใคร ๆ ก็มองว่า เนื้อหาในนิตยสารเพื่อสุขภาพนั้นอ่านยาก เรื่องนี้คุณหมออธิบายให้ฟังว่า “ทีมงานของเรามีทั้งแพทย์แผนปัจจุบันที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคต่าง ๆ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และทีมงานฝ่ายชาวบ้าน เราจะมาระดมความคิดว่าจะนำเสนอเรื่องอะไรในแต่ละเดือนให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่คนอ่าน เรามีทีมวิชาการที่คอยย่อยความรู้ให้อ่านง่าย ถ้าเป็นส่วนที่เกี่ยวกับความรู้ด้านการแพทย์ ก็จะมีอาจารย์แพทย์เข้ามาช่วย เนื้อหาที่ลงจะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อ่านและเข้าใจง่าย มีงานวิจัยรองรับ เช่น การดูแลสายตาตัวเอง การใช้คอมพิวเตอร์อย่างปลอดภัย เรื่องการใช้สมุนไพรรักษาโรค เป็นต้น ถ้าได้อ่านประจำจะสามารถนำความรู้ไปใช้ในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคได้เองในเบื้องต้น บทความในนิตยสารส่วนใหญ่จะอ่านง่ายกระทัดรัด ไม่ยาวมาก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที”
เมื่อถามถึงปัญหาภาวะสุขภาพของคนไทยในปัจจุบัน คุณหมอตอบว่า “มีคนเคยพูดว่า ความทุกข์จริง ๆ ของมนุษย์มีอย่างเดียวที่ใหญ่ที่สุด คือ ความทุกข์เรื่องสุขภาพ เพราะจะติดตัวเราไปตลอด ถ้าเป็นขึ้นมาแล้วแก้ไขยาก ชีวิตของคนไทยในตอนนี้อยู่ในภาวะที่ว่า ออกกำลังกายน้อย กินอาหารที่คิดว่าตัวเองกินสะดวก จึงทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่เรียกว่าNCDs (Non - Communicable Diseases) คือโรคไม่ติดต่อ เช่น ความดัน เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคพวกนี้จะไม่เกิดขึ้น หากเราดูแลและควบคุมอาหารการกินได้อย่างเหมาะสม”
ปัจจุบันมีการส่งต่อข่าวลือหรือข้อมูลด้านสุขภาพแบบผิด ๆ ในโลกอินเตอร์เน็ตอย่างมากมาย ทีมงานหมอชาวบ้านในโลกออนไลน์ก็ทำหน้าที่แก้ไขข้อมูลดังกล่าวด้วย “นี่คือจุดอ่อนของโลกโซเชียล ข้อมูลต่าง ๆ เผยแพร่ได้เร็วมาก แต่ตรวจสอบไม่ค่อยได้ ถ้ามีการปล่อยข้อมูลผิดออกมา แฟนเพจหมอชาวบ้านในเฟซบุ๊กจะช่วยแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องในทันที อย่างล่าสุด มีคนโพสต์ว่า ถ้าบีบน้ำมะนาวใส่ตา กรดในมะนาวจะช่วยกัดต้อเนื้อในตาได้ เรื่องแบบนี้อันตรายมากนะครับ สื่อสุขภาพทั้งหลายต้องช่วยกันคัดกรองแก้ไขข้อมูลให้เป็นประโยชน์และถูกต้องด้วย” รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
คุณหมอยังเล่าถึงกิจกรรมดี ๆ ที่นิตยสารหมอชาวบ้านเปิดโอกาสให้ผู้สนใจส่งต่อนิตยสารเพื่อสุขภาพเล่มนี้ไปยังหน่วยงานด้อยโอกาสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน ทัณฑสถาน โรงพยบาล ฯลฯ “เราเปิดโครงการสมาชิกอุปถัมภ์ สำหรับคนที่อยากทำบุญด้วยการเผยแพร่ความรู้ คนที่สนใจสามารถสมัครเป็นสมาชิกให้กับหน่วยงานด้อยโอกาสต่าง ๆ แล้วทางเราก็จะจัดส่งให้ตามความประสงค์ของผู้บริจาค ผมมองว่าเป็นการทำบุญที่เกิดประโยชน์และไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรครับ”
ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ แล้วนิตยสารหมอชาวบ้านมีการปรับตัวอย่างไร คุณหมอตอบว่า “เราต้องหาความเหมาะสมของเครื่องมือ 4 ตัวที่เราใช้ทำงาน เพราะมูลนิธิทำงานในฐานะ NGOs (Non - Governmental Organizations) มุ่งเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน สื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก แม้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ก็ได้ประโยชน์ในแง่ที่มีคนเข้าถึงเยอะ สำหรับนิตยสาร เราก็ไม่ยอมหยุดนิ่ง พยายามปรับรูปเล่มและเนื้อหาให้ถูกใจคนอ่าน ด้วยการสอบถามความคิดเห็นทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ผมขอชมทีมงานว่า เขาเก่งกันมาก หนังสือสุขภาพในตลาดบ้านเราล้มหายตายจากไปหลายเล่ม แต่เรายังยืนหยัดอยู่ได้ คงเป็นเพราะเนื้อหาที่นำเสนอ ภาพลักษณ์ขององค์กรที่เน้นประโยชน์ต่อสังคม แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องยอมรับคือ พฤติกรรมคนยุคใหม่เปลี่ยนไป เขาอ่านหนังสือน้อยลง ใช้สื่ออินเตอร์เน็ตมากขึ้น เราก็ต้องหมุนตามโลก เพราะเป้าหมายสูงสุดคือการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้คนไทยมีสุขภาพดี สามารถดูแลสุขภาพตัวเอง ครอบครัว ชุมชนได้ ปัจจุบันเราจึงมีทั้งระบบบอกรับเป็นสมาชิก ระบบสั่งสินค้าออนไลน์ (E - Commerce) ทั้งฉบับปัจจุบันและย้อนหลัง รวมทั้งจัดทำนิตยสารเป็นอีบุ๊ค (E - Books) ด้วยครับ”
ก่อนจบการสนทนาในวันนั้น รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ในฐานะกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิหมอชาวบ้าน ได้เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาที่อยากช่วยบริจาคหรือสนับสนุนมูลนิธิฯ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน สามารถติดต่อบริจาคได้ที่ โครงการมูลนิธิหมอชาวบ้าน ชื่อบัญชี ‘มูลนิธิหมอชาวบ้าน’ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี ประเภท ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 026 – 4 -02949 – 8 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 - 2618 – 4710 เรามาร่วมกันเปลี่ยน ‘ชาวบ้าน’ ให้เป็น ‘หมอ’ ไปพร้อม ๆ กันเถอะ
ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com