งานแสดงหนังสือนานาชาติไทเป 2014 : อีกภารกิจท้าทายอุปนายกฝ่ายต่างประเทศ คุณปราบดา หยุ่น

งานแสดงหนังสือนานาชาติไทเป 2014

ระหว่างวันที่ 5-10 กุมภาพันธ์ 2557 สมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งประเทศไทย จะพาสมาชิกเดินทางไปร่วมงานแสดงหนังสือนานาชาติไทเป 2014 (Taipei International Book Exhibition 2014) ณ เอ๊กซิบิชั่น ฮอลล์ 1 ไทเป เวิร์ลด์ เทรด เซ็นเตอร์ สาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน

ปีนี้มีความพิเศษก็คือ สมาชิกของสมาคมผู้จัดพิมพ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือแอปปา (the Asia Pacific Publishers Association - APPA) 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์ และไทย ได้เป็นแขกรับเชิญเกียรติยศ (Guest of Honor) ในงานแสดงหนังสือนานาชาติไทเปครั้งนี้

 

 

เพราะฉะนั้นจึงมาจับเข่าพูดคุยกับคุณปราบดา หยุ่น อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งจะนำทีมสำนักพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือที่เป็นสมาชิกสมาคมไปร่วมงานที่ไทเป รวมถึงเรื่องราวความคืบหน้าของงานฝ่ายต่างประเทศที่ดำเนินไปอย่างเร่งรุดของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ

ประเทศไทย แขกรับเชิญเกียรติยศในนามสมาคมผู้จัดพิมพ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก
จริงๆ แล้วที่ไทเป บุ๊กแฟร์ ที่สมาคมจะไปร่วมงาน เราไม่ได้เป็นเกสต์ ออฟ ฮอร์เนอร์ แต่แอปปา ได้รับเป็นเกสต์ ออฟ ฮอร์เนอร์ ของไทเป ซึ่งทางไทเปเขาจะเชิญเอพีพีเอทุกปี ก็เลยจะแบ่งกัน ปีแรกสมาชิกแอปปาหลักๆ จะได้รับการนำเสนอมากกว่าเพื่อนๆ ก็มีประเทศไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ แต่ว่าปีต่อๆ ไป ประเทศอื่นที่อยู่ในแอปปาก็จะได้แสดงงานของตัวเองด้วย สำหรับตัวคีย์วิช่วลและทุกอย่างก็ต้องตกลงและคุยกันผ่านเกาหลีใต้ เนื่องจากว่านายกแอปปาคนปัจจุบันเป็นคนเกาหลีใต้ คุณอีริค ยัง แม้แต่การออกแบบบูธ การแตกแต่งบูธ การทำรีเซฟชั่น การออกแบบคีย์วิช่วลต่างๆ ก็ต้องตกลงกับทางเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ณ ตอนนี้อัพเดทอยู่ เราก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปในเรื่องคีย์วิช่วลกับธีมหลักของงาน ซึ่งทางเขาก็พูดเหมือนกับว่าไม่ต้องมีธีมอะไร ถ้าเราเองคิดว่าจะมีธีมก็อาจจะนำเสนอไป เพราะเขาบอกว่าไม่ขัดข้องเราก็สามารถนำเสนอได้

บูธไทย ขอโชว์งานแนวกราฟฟิก โนเวล
เท่าที่มีคำถามมาว่า บูธไทยไปจัดแสดงแล้วจะเด่นไหม พื้นที่ที่สมาชิกจะไปแสดงหนังสือในงานไทเป บุ๊กแฟร์ ก็ต้องซื้อบูธเหมือนเดิม ความจริงแล้วเราไม่ได้มีบูธแยกออกไปข้างนอกเท่านั้นเอง ถ้าเรามีบูธข้างนอกด้วยแสดงว่าค่าใช้จ่ายเราต้องเพิ่มขึ้นอีก เราก็เลยตัดสินใจที่จะตัดการจองหรือเช่าบูธข้างนอกออกไป ก็เลยเอาทุกอย่างมาจัดแสดงในส่วนที่เกี่ยวกับเกสต์ ออฟ ฮอร์เนอร์ ของแอปปา จริงๆ แล้วจะเรียกว่าประหยัดค่าใช้จ่ายลงก็ได้ เพราะว่าไม่เช่นนั้นเราก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งสองส่วน ซึ่งสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ก็ต้องซื้อพื้นที่เชลฟ์ในส่วนที่เป็นของเมืองไทย ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่มากกว่าที่เราจะไปซื้อเองด้วยซ้ำ พื้นที่ใหญ่กว่าและโลเกชั่นดีกว่า และเรามีแผนที่จะจัดเอ็กซิบิชั่นเป็นพิเศษด้วย เนื่องจากเป็นเกสต์ ออฟ ฮอร์เนอร์ ก็ควรจะมีอะไรที่เป็นพิเศษสักอย่าง เราก็มีเอ็กซิบิชั่นที่นำเสนอผลงานของคนที่ทำงานแนวกราฟฟิก โนเวล หรือนวนิยายภาพที่เด่นๆ ของเรา แล้วบางส่วนก็มีการแปลเป็นภาษาจีนอยู่ที่ไต้หวันแล้วด้วย ก็จะนำเสนอส่วนนี้เป็นส่วนกลางที่เป็นเอ็กซิบิชั่น แต่ว่าสมาชิกที่ปกติไปออกบูธกับเราหรือว่าต้องการไปขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศก็ยังสามารถไปได้เหมือนเดิม คือลักษณะการแสดงหนังสือยังเหมือนเดิมทุกอย่าง

การซื้อพื้นที่ไทเป บุ๊กแฟร์ รู้สึกว่าราคาจะลด 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่แน่ใจเหมือนกัน ที่เรารู้สึกว่าแพง เพราะมีค่าคอนสตรัคชั่นและค่าสร้างบูธ เนื่องจากที่เราร่วมเป็นเกสต์ ออฟ ฮอร์เนอร์ ร่วมกับแอปปา ก็ต้องให้ดูดีขึ้นมาหน่อย ส่วนใหญ่เสียค่าใช้จ่าไปกับส่วนนั้น ซึ่งแต่ละประเทศก็เสียค่าใช้จ่ายโดยหารเท่าๆ กัน

ถ้าเทียบกับที่แฟรงค์เฟิร์ต บุ๊กแฟร์ แล้วทำไมจึงถูกกว่าที่ไทเป บุ๊กแฟร์ ที่แฟรงค์เฟิร์ตเราได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และต้องการให้เป็นอีแวนต์โชว์เคสของประเทศไทย เป็นงานที่คนในอุตสาหกรรมหนังสือจากทุกชาติทั่วโลกมาร่วม ซึ่งใหญ่กว่าไทเป เราคิดว่าถ้าจัดงานครั้งใดครั้งหนึ่งหลักๆ ก็น่าจะเป็นแฟรงค์เฟิร์ต แต่ทีนี้เราได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการส่งออกค่อนข้างสูง ทำให้ช่วยสมาชิกลดค่าใช้จ่ายค่าบูธลงไปได้ แต่ว่าในไทเป บุ๊กแฟร์ครั้งนี้ เราไม่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการส่งออกหรือที่อื่นๆ เลย

ความคืบหน้าเรื่องขายลิขสิทธิ์หนังสือให้ต่างประเทศในนามสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ
ทัทเทิล-โมริ เอเจนซี่ ที่มาทำงานร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในเรื่องขายลิขสิทธิ์หนังสือของสมาชิกให้กับต่างประเทศ ในเรื่องรายละเอียดผมไม่ทราบ แต่ในแง่การจัดงาน จากประสบการณ์ที่ทำด้วยกัน ครั้งแรกที่ปักกิ่ง บุ๊กแฟร์ (The Beijing International Book Fair - BIBF) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วก็ที่แฟรงค์เฟิร์ต บุ๊กแฟร์ (The Frankfurt Book Fair) ที่เยอรมนี แล้วก็ที่เซี่ยงไฮ้ บุ๊กแฟร์ (China Shanghai International Children's Book Fair - CCBF) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในแง่การประสานงานการช่วยเหลือสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เตรียมงาน ผมคิดว่าทัทเทิล-โมริ ทำได้ดีพอสมควร แล้วก็ช่วยเรามากในด้านที่เราไม่ถนัด เช่น การเทรนล่ามที่จะมาอยู่ในงาน ซึ่งสำคัญมาก การช่วยเราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบางอย่าง เช่น การส่งหนังสือไป การรับหนังสือ การเข้างานต่างๆ ทำได้ดี ด้วยความที่เขามีประสบการณ์ หรือว่าการนัดคุยการซื้อขายลิขสิทธิ์เองเขาก็ใช้ประสบการณ์ของเขาช่วยสมาชิกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ นัดคุยกับตัวแทนต่างชาติได้สะดวกขึ้น แต่ว่าในแง่การตามงาน ผมก็ไม่ได้ติดตามละเอียดมากว่า เขาได้ซื้อขายหรือตามงานให้สำนักพิมพ์ไหนยังไง คิดว่าคงเป็นไปได้ที่มีหละหลวมบ้าง เพราะว่าอาจเป็นปริมาณของงานหรือจังหวะเวลา ผมก็ไม่แน่ใจ ตรงนี้คงคุยกันได้

ประสบการณ์จากที่ได้ไปร่วมงานบุ๊กแฟร์ที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ แฟรงค์เฟิร์ต และไทเปในงานต่อไป โดยส่วนตัวทางตัวผมกับเจ้าหน้าที่สมาคมผู้จัดฯ ก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน กับการเข้ามาทำงานของทัทเทิล-โมริ ก็เหมือนกับการเรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วย และเป็นการเรียนรู้การทำงาน ผมคิดว่าถ้าในระยะยาวถ้าสมาคมมีประสบการณ์มากขึ้น แล้วก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาก หลายๆ อย่างเราคงไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากข้างนอกมากนัก คือเรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องของเครือข่าย เรื่องของการทำความรู้จักกันด้วย พอทัทเทิล-โมริ เขามีประสบการณ์ส่วนนี้มานานเขาก็ย่อมที่จะได้เปรียบในการที่จะช่วยเราทำความรู้จักกับคนต่างๆ ช่วยเรานัดหมายตัวแทนในต่างประเทศ

หากทางสมาคมมีประสบการณ์เองไปได้สักพักหนึ่ง ผมเชื่อว่า ในแง่เครือข่ายเราคงได้รู้จักพอๆ กัน ต่อไปก็อาจจะทำการนัดแนะหรือว่าเทรนบุคลากรของเรา ซึ่งเราได้เรียนรู้จากทัทเทิล-โมริ ว่า เราจะเทรนล่ามอย่างไร เตรียมงานยังไง เวลาประชุมสมาชิกที่ไปออกบูธเราควรที่จะให้ข้อมูลอะไรกับเขาบ้าง ผมว่าช่วงนี้เป็นช่วงเรียนรู้ เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับเราด้วยเหมือนกันว่า เราเก็บข้อมูลส่วนนี้ไว้ได้ดีแค่ไหน และก็ในอนาคตจะได้รับการสานต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า ซึ่งผมเองคงไม่ได้อยู่นานมาก เพราะฉะนั้นเมื่อผมไม่ได้เป็นกรรมการแล้ว ไม่ได้ดูตรงนี้แล้ว ก็คงเป็นการสืบทอดให้คนใหม่เข้ามา เหมือนกับการสืบทอดประสบการณ์ไป ตรงนี้ก็จำเป็นต้องมีการทำเรคคอร์ดเก็บบันทึกข้อมูลไว้อย่างดีด้วยเหมือนกัน ทุกวันนี้ก็พยายามทำอยู่ ซึ่งอยู่ในจุดที่เพิ่งเริ่ม แต่ก็ต้องรออีกสักพักใหญ่

ทิศทางหนังสือไทยที่จะขายลิขสิทธิ์ให้ต่างประเทศ
แผนงานปี 2557 เพราะในปีๆ หนึ่งมีงานบุ๊กแฟร์เยอะมากเลยในโลกนี้ ต้องยอมรับว่า สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ไม่สามารถไปได้ทั่วถึง บางครั้งสมาชิกบางท่านหรือสำนักพิมพ์บางแห่งอาจจะหรือมีแนวโน้มที่จะขายลิขสิทธิ์ให้กับต่างชาติได้ แต่ว่าอาจจะไม่เหมาะกับงานบุ๊กแฟร์ที่สมาคมไป เราก็อาจจะให้ข้อมูลได้ด้วยการบอกหรือส่งข่าวต่อให้กับสมาชิกว่า ในปีๆ หนึ่งมีงานหนังสือเฉพาะทางหรืองานหนังสือที่น่าสนใจเกี่ยวกับหนังสือบางแบบบางประเภทที่ไหนบ้าง แต่ว่างานหลักๆ ที่เราไปอย่างเช่น ปักกิ่ง บุ๊กแฟร์ หรือไทเป บุ๊กแฟร์ ถ้าเราไปเซี่ยงไฮ้ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นงานหนังสือเด็ก โดยหลักๆ เราก็เจาะไปที่ตลาดเอเชียเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ตลาดจีน โดยเฉพาะตลาดหนังสือเด็ก นี่เป็นส่วนที่เราค่อนข้างที่จะทำได้ดีหรือเข้มแข็งแล้ว เริ่มจะปักหลักฐานได้แล้วบ้าง แต่ว่าในด้านอื่นๆ ยังคงต้องพยายามต่อไป

การจะไปฝั่งยุโรปหรือฝั่งอเมริกาเหนือ เราก็อยู่ในขั้นจะพยายาม ตรงนี้ผมก็ยังไม่แน่ใจว่า ในช่วง 2 ปีข้างหน้าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่ยังไงซะการทำเป็นภาษาอังกฤษมันก็สำคัญมากๆ อยู่แล้วในการเผยแพร่งานวรรณกรรมหรืองานหนังสือ เพราะฉะนั้นเราก็พยายามผลักดันจุดนี้ให้ได้อย่างน้อยก็ให้เริ่มต้นส่งอะไรออกมาไปในตลาดหนังสือโลกได้ แต่ว่าถ้าเป็นในแง่ที่เราพอมีประสบการณ์ก็คือในเอเชีย โดยหลักๆ ก็อยากจะชักชวนและสนับสนุนให้สมาชิกสมาคมไปงานปักกิ่ง ไทเป เซี่ยงไฮ้ กันก่อน

เซี่ยงไฮ้ บุ๊กแฟร์ จะเป็นเฉพาะหนังสือเด็กเลย อย่างเป็นปักกิ่ง บุ๊กแฟร์ ก็จะมีความหลากหลาย เราค่อนข้างได้รับการตอบรับจากสำนักพิมพ์ทางยุโรปและอเมริกาค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นถ้าเราจัดการดีๆหรือประชาสัมพันธ์ดีๆ ก็มีสิทธิที่เราจะขายลิขสิทธิ์ไปฝั่งยุโรปกับอเมริกาได้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะในเอเชียอย่างเดียว ตอนนี้เราขายลิขสิทธิ์ไปได้ประมาณ 10 กว่าเรื่อง ผมคิดว่าในจุดที่เราแข็ง เช่น หนังสือเด็ก หนังสือที่เป็นจิตวิทยายุคใหม่ที่ปรับพุทธปรัชญามาใช้ คิดว่าแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าจะทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นได้

เปลี่ยนโฉมเว็บไซต์ www.pubat.or.th
เว็บไซต์ของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ตอนนี้ก็พัฒนาร่วมๆ กันอยู่ ทางเว็บไซต์ก็พัฒนาเว็บไซต์อยู่ ฝ่ายต่างประเทศตอนนี้จริงๆ แล้วทำได้อย่างมากก็คือการรวบรวมข้อมูลที่ไปร่วมงานมาแล้วก็นำมาเผยแพร่เล่าสู่กันฟัง แต่ว่าต่อไปผมก็อยากให้มีการอัพเดตข่าวสารที่เกี่ยวกับเรื่องต่างประเทศ ไม่จำเพาะจะต้องเป็นบุ๊กแฟร์ จริงๆ แล้วมันมีความน่าสนใจอย่างอื่นอีกเยอะเลย เช่น ทุนแปล ซึ่งมีหลายๆ ประเทศที่ให้ทุนจากการนำที่เอาหนังสือหรือวรรณกรรมของประเทศของเขาไปแปลเป็นภาษาของประเทศนั้นๆ อย่างนี้ก็มีเยอะ ซึ่งหลายๆ คนในประเทศก็อาจยังไม่รู้ ผมอยากให้มีข้อมูลเหล่านี้อยู่ในเว็บไซต์ของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับเพื่อนสมาชิกที่คิดว่าอยากมองหาโอกาสที่จะไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในด้านใดก็ตามเข้ามาดูได้

คู่มือการออกบูธในงานบุ๊กแฟร์ต่างประเทศ
ถ้าเกิดว่าทางฝ่ายต่างประเทศสามารถประมวลผลได้ ซึ่งสามารถมาแบ่งปันหรือแชร์กับสมาชิก การอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับสมาชิกก่อนไปงานไทเป บุ๊กแฟร์ ผมคิดว่า น่าจะมีการจัดสัมมนาอย่างน้อยต้นปีครั้งหนึ่งและท้ายปีอีกครั้งหนึ่ง หรือท้ายปีและกลางปี การไปงานหนังสือก็ต้องเตรียมตัว เช่น จะไปงานแฟรงค์เฟิร์ต บุ๊กแฟร์ เราก็ต้องเตรียมตัวตั้งแต่ต้นปี ถ้าจะไปงานปักกิ่ง บุ๊กแฟร์ ก็ต้องเตรียมตัวตั้งแต่ท้ายปีของปีที่แล้ว ถ้าเราจัดสัมมนาแบบนี้ให้ความรู้บอกเล่าประสบการณ์ที่เราผ่านมา ก็มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาขึ้น ก็น่าจะเป็นการดี

คือที่ผ่านมา สังเกตว่า สำนักพิมพ์ที่ไปร่วมออกบูธส่วนใหญ่จะเป็นชื่อเดิมๆ อยู่พอสมควร คิดว่านี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งเหมือนกันที่เราอยากจะชักชวนให้เพื่อสมาชิกอื่นๆ ที่ไม่เคยไปร่วมงานบุ๊กแฟร์ในต่างประเทศ หรือคิดว่าหนังสือของสำนักพิมพ์ตัวเองจะเดินทางไปต่างประเทศได้ ให้มีความสนใจในด้านนี้มากขึ้น โดยเราก็ต้องช่วยเล่าประสบการณ์และทำเป็นเอกสารไว้สัก 1 ชุด เพื่อเป็นคู่มือที่เขาจะเปิดดูได้ว่า ถ้ามีคำถามอะไรที่เขาไปออกบูธในต่างประเทศ หรือว่ามาปรึกษาเจ้าหน้าที่ของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้โดยตรง สำหรับคู่มือในการออกบูธในงานบุ๊กแฟร์ต่างประเทศ คิดว่าอย่างเร็วที่สุดก็น่าจะเป็นกลางปี 2557 ก่อนไปแฟรงค์เฟิร์ต บุ๊กแฟร์

ความเปลี่ยนแปลงในงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ
เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เรากำลังพัฒนาอยู่ สำหรับการจัดอินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ ในเมืองไทยเอง ความจริงมีแนวโน้มที่ดี เพราะสำนักพิมพ์ รวมถึงเอเจนต์ต่างประเทศเอง ให้ความสนใจในการที่จะมาร่วมงานในประเทศไทยเยอะมาก เพียงแต่ในอดีตวิธีการจัดการหรือพื้นที่เราจะมีปัญหา ปีนี้เราได้มีการคุยกันแล้วว่า จะมีการตระเตรียมงานสำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ กรุงเทพฯ ในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ก็เพื่อจัดสรรให้กับผู้ประสงค์ที่จะออกบูธที่มาจากต่างประเทศ เขาได้คล่องตัวมากขึ้น หรือบางสำนักพิมพ์บางเอเจนต์อยากจะมาพูดคุยธุรกิจซื้อขายลิขสิทธิ์เขาก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ร่วมงานกับเราครบถึง 11 วัน เพราะมันนานมากกว่าปกติ มากกว่างานบุ๊กแฟร์ทั่วๆ ไปที่เขาจัดกัน ในอดีตทำให้หลายคนอาจจะลังเลที่จะมาร่วมงาน พอเราลดลงมาในส่วนที่เราซื้อขายลิขสิทธิ์เพียง 5 วัน ก็น่าจะมีคนให้ความสนใจมากขึ้น ณ ปัจจุบันนี้ก็มีคนแสดงความสนใจเยอะพอสมควร ผมเชื่อว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่คนอยากมาเที่ยว เพราะฉะนั้นไม่ยากที่เขาจะคุยกับสำนักพิมพ์หรือบริษัทของเขาในการมาออกบูธที่นี่ แต่ 11 วันนี้ มันมากเกินไป เรื่องค่าใช้จ่ายอะไรมันก็สูง แต่พอมันเป็น 5 วัน ก็น่าจะโอเคขึ้น ส่วนงาน IPA Congress 2014 ทำไมไม่เอางานบุ๊กแฟร์ควบเข้าไปเลย ก็เป็นคำถามที่ผมตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะมันถูกเซ็ตมาแล้วว่า งาน IPA Congress 2014 จัดขึ้นก่อนช่วงบุ๊กแฟร์ของเรา ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

ฝากถึงเพื่อนสมาชิกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ
สมาชิกที่คิดว่างานของตัวเองมีโอกาสที่จะไปต่างประเทศหรือมีแนวโน้มที่จะขายลิขสิทธิ์ให้สำนักพิมพ์ต่างประเทศได้ ซึ่งต่างประเทศในที่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นภาษาอังกฤษ หนังสือบางประเภทก็น่าที่จะเหมาะไปในภาษาอื่นๆ มันมีเยอะแยะมากมาย ก็อยากจะบอกว่า ก่อนอื่นทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ สามารถให้คำปรึกษาได้ ถ้าใครสนใจและไม่มีประสบการณ์หรือไม่เคยไปเลยก็น่าจะลองติดต่อมาที่สมาคมก่อน แล้วก็แสดงความจำนงว่าอยากมีส่วนร่วมในการไปออกบูธในงานบุ๊กแฟร์ต่างประเทศ อาจจะเข้ามาคุยเป็นส่วนตัวก็ได้หรือว่าแสดงความจำนงว่า อยากมาร่วมเวลาเรามีงานสัมมนาเกี่ยวกับการไปออกบูธในต่างประเทศ เราก็จะให้คำแนะนำในเบื้องต้นได้ และสามารถให้คำแนะนำได้ว่า หนังสือของสำนักพิมพ์ท่านเหมาะที่จะไปงานไหน บางงานบุ๊กแฟร์ถ้าเราไม่ได้ไปร่วม จริงๆ แล้วก็มีอีกทางเลือกหนึ่งก็คือ การส่งรายชื่อหนังสือหรือเรื่องย่อหนังสือผ่านเอเย่นต์หรือตัวแทน อย่างทัทเทิล-โมริ ซึ่งเขานำหนังสือของสมาชิกไปขายได้ เขาก็ได้ประโยชน์สมาชิกก็ได้ประโยชน์ ในเบื้องต้นถ้าไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายอะไรมาก ก็อาจะเตรียมแค่ข้อมูลที่เกี่ยวกับหนังสือและสำนักพิมพ์ของตัวเองเพื่อที่จะส่งต่อให้เราหรือทัทเทิล-โมริ นำไปในงานหนังสือก่อน เพื่อที่จะลองตลาดดูก่อนก็ได้ ที่อื่นก็มี ซึ่งสมาคมจะรวบรวมข้อมูลเอเจนต์ทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง

เราก็มีไดเรคทอรี่หรือสมุดรายนามที่เป็นภาษาอังกฤษในเรื่องข้อมูลสำหรับสมาชิก ถ้าได้รับความร่วมมือจากสมาชิกในแง่ของการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็คำอธิบายตัวเองสั้นๆ ที่ดี ก็จะช่วยได้มากด้วย เพราะว่าอยากให้สมาชิกให้เวลาและมีความละเอียดในการให้ข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ เพราะว่าการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด รวมถึงภาษาอังกฤษที่ไม่สละสลวยหรืออ่านเข้าใจยากก็จะเป็นผลเสียต่อสมาชิกเอง แล้วเราก็ไม่มีกำลังที่จะช่วยดูทั้งหมด เพราะเยอะมากทั้งหมดกว่า 500 ราย อยากจะให้ช่วยตรงจุดนี้ด้วย โดยให้ข้อมูลมาทางสมาคมอย่างเต็มที่และถูกต้อง

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ