คงมีคนไม่มากนักที่จะลุกขึ้นมาเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเองเพื่อที่จะเขียนหนังสือถ่ายทอดความคิด มุมมองแปลกๆที่ไม่ค่อยเหมือนใคร ผู้ชายคนนี้มักเปรียบเปรยงานเขียนที่เขาทำอยู่ ว่าเป็นเสมือน ร้านขายขนมปังโฮมเมดที่มีสูตรเฉพาะของตนเอง ซึ่งทำให้มีแฟนประจำจำนวนหนึ่ง อาจจะขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้คิดที่จะขยายกิจการใหญ่โต ไม่หวังจะใช้เครื่องจักร แต่ที่แน่ๆ ขนมปังร้านนี้มีรสชาติไม่เหมือนใคร
วันที่ชื่อเสียงของ องอาจ ชัยชาญชีพ เป็นที่เริ่มรู้จักในวงกว้าง อาจเป็นวันที่ หมูบินได้ หนังสือเล่มแรกของเขาซึ่งเป็นนิทานภาพได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดหนังสือดีเด่น SEVEN BOOK AWARDS เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว จากนั้นไม่นาน หัวแตงโม ก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครหนึ่งที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อสะท้อนแนวคิดและมุมมองของคนแปลกแยกแบบเขา ซึ่งหัวแตงโมนี้ก็ถูกตีพิมพ์มาแล้วถึง 5 เล่ม และน่าจะมีออกมาอีกเรื่อย ๆ โดยที่คนเขียนก็ยังไม่รู้ว่าจะมีตอนจบตรงไหนอย่างไร
ทุกวันนี้สำนักพิมพ์ชื่อแปลก ๆ อย่าง สำนักพิมพ์เป็ดเต่าควาย จึงเป็นสำนักพิมพ์สำหรับรองรับความคิดของเขา โดยที่มาของชื่อนั้นมาจากการนำเอาสัตว์ธรรมดามารวมกันจนกลายเป็นสัตว์ประหลาดพันธุ์ใหม่ที่แม้จะธรรมดาเมื่ออยู่โดดเดี่ยว แต่หากเมื่อนำมารวมเข้าด้วยกันด้วยชั้นเชิงและความปรารถนาดี ก็จะกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้
องอาจเล่าถึงจุดเริ่มต้นงานเขียนของเขาว่า “จริงๆ แล้วมันเกิดจากว่าเราเป็นคนชอบคิดมากกว่า คิดนู่นคิดนี่ คิดเสร็จแล้วก็อยากเล่าให้คนฟัง แต่ว่าพอคิดเยอะ เล่าเยอะ คนที่ฟังเราก็จะจำกัดจำนวนอยู่แค่คนรอบข้างไม่กี่คน ซึ่งเขาคงเบื่อที่จะฟังเราแล้วล่ะ เราก็อยากให้ความคิดเราได้แบ่งปันสู่คนอื่นบ้าง มันเหมือนกับที่เขาบอกว่าไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ มันจะดีที่สุดถ้าได้แบ่งปัน ความคิดก็เหมือนกัน พอได้แบ่งปันมันก็เหมือนกับได้บอกเล่าสิ่งที่อยู่ในใจเราออกไป นั่นคืออาจจะพูดถึงในแง่ที่ดูดีนะ เป็นด้านสว่าง แต่ถ้าจะพูดในเชิงของด้านมืดมันคือการเก็บกด เรามีความคิดเห็นเยอะแยะที่อยากจะพูด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม การเมือง ผู้คนต่าง ๆ นานา เพียงแต่ว่าพอเราบอกเล่าออกไปแล้วเนี่ย ก็ไม่อยากบอกเล่าแบบทื่อ ๆ เราก็อยากบอกเล่าแบบมีศิลปะ คือมีวิธีการเล่า มีการบอกเล่าด้วยภาพ ด้วยเนื้อเรื่อง ด้วยตัวละคร ซึ่งบางที่มันก็ทำให้ความหมายที่สื่อออกไปผิดเพี้ยนบ้าง แต่ผมก็ว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะว่างานผมส่วนใหญ่มันไม่เคยฟันธงอยู่แล้วว่า อันนี้ถูก อันนี้ไม่ถูก ผมรู้สึกว่าผมแค่สงสัย เป็นความลังเล เป็นความสงสัยของตัวเอง แล้วก็โยนให้คนอ่าน”
งานเขียนของเขามีทั้งนิยาย การ์ตูน บันทึก นิทาน บทความ ซึ่งบางทีเจ้าตัวก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าถนัดแนวไหน “ผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองถนัดแนวไหนกันแน่ อาจจะเป็นแนวบอกเล่าความคิด แต่ไม่ได้บอกเล่าในเชิงของบทความ เป็นการบอกเล่าที่เหมือนกับการยกมือถามครูในห้อง ยกมือแสดงความคิดเห็นในกลุ่ม คือไม่ได้เป็นผู้นำกลุ่ม แต่เป็นแค่พูดในกลุ่มด้วยเสียงเบา ๆ คือวิธีการดำเนินเรื่องของผมจะเป็นอย่างนั้น ผมว่าผมโตมาในยุคกึ่งเก่ากึ่งใหม่ เป็นยุคที่ยังกลัวผู้ใหญ่อยู่ กลัวครูอยู่ เห็นอะไรที่มันผิด แต่เราก็ไม่กล้าเถียง ตอนเด็ก ๆ ผมเห็นอะไรที่อยู่ในหนังสือ หรือในทีวี ผมมีความรู้สึกว่ามันคือความจริง แต่พอโตขึ้น ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่นี่นา แต่เราก็ไม่กล้าเถียง เพียงแต่ว่าเราไม่อยากเป็นแบบนั้น เราอยากเป็นหนังสือที่คนเถียงได้ อยากเป็นคนใส่สูทออกทีวีที่คนเถียงได้ ไม่ได้อยู่ในบุคลิกที่คุณ ต้องเท่ หรือเก่งมาก เป็นบุคลิกธรรมดา เพราะความคิดเห็นที่ดีผมว่ามันทำให้เรากล้าที่จะถกเถียงมากกว่าเชื่อฟัง มากกว่ารับโดยไม่เถียง”
พูดถึงหัวแตงโม องอาจบอกว่าตัวละครตัวนี้มีบุคลิกพิเศษ ซึ่งแน่นอนว่าสะท้อนความคิดในแบบของเขา “คือเหมือนเด็กที่จริง ๆ แล้วก็รู้เรื่องผู้ใหญ่ เขามีความเห็นบางอย่าง เพียงแต่ว่าเขาไม่รู้คำศัพท์ ไม่รู้วิธีการพูดให้มันดูดี หรือแต่งตัวหรูหราเป็นผู้ใหญ่ ทีนี้เขาก็มีความคิดเหมือนกันแต่ว่าคุณจะฟังรึเปล่า คุณจะใจกว้างพอที่จะหยิบหนังสือที่มันมีหน้าปกเป็นการ์ตู๊นการ์ตูนมาดูซักหน่อยว่าข้างในมันเกี่ยวกับอะไร แต่มันก็เป็นเรื่องของโชคชะตา บุพเพสันนิวาสด้วย ผมเชื่อว่ามันมีแรงดึงดูดเข้าหาสำหรับคนที่มีแนวความคิดใกล้ ๆ กัน วันนึงก็ต้องมาเจอกัน หัวแตงโมมันเป็นความสัมพันธ์ค่อนข้างพิเศษกับคนอ่าน เพราะมันเป็นตัวละครที่ประหลาดนะ หัวเป็นแตงโม แต่ก็ใช้ชีวิตอยู่กับผู้คนตามปกติ โดยที่ไม่มีใครเอะใจว่าหัวเป็นแตงโมเลย คือผมเห็นหนังสือมาตลอด 10 กว่าปี ผมมานั่งดูทีหลัง เออ... เราเขียนอยู่ประเด็นเดียว เรื่องราวเดียวเลย คือเรื่องของคนแปลกแยกที่พยายามใช้ชีวิตอยู่ในสังคม ซึ่งมันก็มีส่วนของผมแน่นอนอยู่แล้ว แล้วมันก็จะดึงดูดคนแบบเดียวกันด้วย อย่างเช่นถ้าเกิดถามว่าใครเป็นกลุ่มเป้าหมายของหนังสือผมเนี่ย ผมก็จะตอบไม่ได้ว่าเป็นคนวัยไหน เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หมอ พยาบาล นักธุรกิจ ครูอาจารย์ คือมันอยู่ในทุก ๆ กลุ่ม แต่ไม่ใช่กลุ่มนั้นทั้งหมด อาจจะเป็นแค่หนึ่งคนในกลุ่มนั้น
มันเป็นคนที่แปลกแยกที่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างแนบเนียน คือไม่ใช่คนแปลกแยกที่หลุดโลก หรือไม่ใช่คนทั่วไปที่ใช้ชีวิตปกติ เป็นคนอย่างคุณ ขับรถไปทำงานตามปกติ คุยกับเพื่อนเฮฮาได้ ไม่ได้เศร้าอะไร แต่คุณรู้อยู่แล้วว่าข้างในคุณแตกต่างจากคนอื่น คุณมีวิธีคิดที่แตกต่างจากคนอื่น แต่คุณไม่ได้เป็นบ้าหลุดโลก คุณยังอยู่ได้ แต่คุณจะมีมุมที่พิสดาร มุมที่คุณเหงากว่าคนอื่น มีความคิดแปลกแยกจากคนอื่น นั่นแหละคือกลุ่มคนอ่านของผม ผมพยายามบอกเวลาที่มีคนถามว่าเมื่อไหร่จะออกเล่มใหม่ ผมบอกว่าหัวแตงโมค่อนข้างพิเศษกว่าเล่มอื่นๆ เพราะว่ามันมีความเป็นตัวตนอยู่ด้วย แล้วมันก็มีมุมมองที่ดี ไม่ใช่ถึงกับมองโลกในแง่ดีจ๋า หรือไม่ดี แต่ว่ามันจะมีความรื่นรมย์ อ่านแล้วรู้สึกว่าอยากมีชีวิตอยู่ ฉะนั้นบางทีผมไม่อยากทำงานด้วยเงื่อนไขว่ามันควรจะออกแล้ว ผมไม่อยากทำงานตอนที่ผมรู้สึกว่าผมเศร้า หรือผมแย่ แต่เป็นช่วงที่ผมรู้สึกดีที่สุดน่ะ ผมถึงจะทำ”
ผ่านมา 11 ปี ถึงแม้ว่าสำนักพิมพ์เป็ดเต่าควายจะมีผลงานออกมาไม่มากมายนัก แต่ก็เป็นความพึงพอใจของคนทำที่ไม่ได้มุ่งหวังจะทำเพื่อความร่ำรวย “ผมอยากให้ได้ปีละ 2 เล่มนะ แต่จริงๆ แล้ว เล่มนึงก็หรูแล้ว (หัวเราะ) คือมันมีจุดนึงที่เรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่ผลิตหนังสือ เขียนหนังสือขายเองด้วย มันก็เหมือนสวมหมวก 2 ใบ คือหมวกของนักเขียน กับหมวกของนักธุรกิจ กลาย ๆ ซึ่งทั้ง 2 อย่างมันขัดแย้งกันสูงเหมือนกัน คนทำงานเขียนเขาก็ต้องมีความทะเยอทะยานในแง่ของศิลปะ หรือเป็นนักเขียนก็อยากทำงานให้ดีขึ้น แต่พอมาใส่หมวกอีกใบหลังจากที่เขียนเสร็จแล้ว จะทำไงให้มันขายดีขึ้น ซึ่งบางทีมันมีเส้นแค่บาง ๆ ให้เราเดินไป เส้นบาง ๆ ที่มันร่วมกันได้ระหว่างวงกลม 2 วง วงนึงทำงานศิลปะ อยากเขียนออกมาให้ดี ไม่สนใจหรอกว่าจะขายได้หรือไม่ได้ หรือใครจะรับรู้อะไรแค่ไหน กับอีกวงนึงจะทำงานยังไงให้ขายดีสุด ๆ พิมพ์จนรวย ซึ่งจุดที่มันแตะกันได้ มันมีแค่ขอบของเส้นบาง ๆ นิดเดียว ซึ่งตรงนั้นไม่ค่อยมีใครไปโดนหรอก ยากชิบ... (หัวเราะ) มันต้องเอียงไปฝั่งใดฝั่งนึงแน่นอนอยู่แล้ว การที่จะรักษาสมดุลอย่างนี้บางทีมันก็อาจจะทำให้เราพลาดทั้ง 2 อย่างเลยก็ได้ จริง ๆ ก็คืออยากจะทำให้งานดีด้วย อยากจะทำให้งานขายดีด้วย แต่สุดท้ายเราก็อาจจะพลาดหมด มีช่วงหลังๆ นี่แหละที่รู้สึกว่าผมอาจจะไม่ได้อยู่ในวงกลม 2 วงนี้ก็ได้ อยู่ข้างนอกเลย ผมรู้สึกว่าผมอยากอยู่ข้างนอกมากกว่า มันทำให้เรามองเห็น 2 วงนี้ ถอยออกมาแล้วไม่ต้องอยู่ในระบบอะไรเลย เราเป็นเพียงแค่คนทำขนมปังโฮมเมดที่ไม่ต้องไปรับรู้ร้านอื่น ๆ มากนัก ไม่ต้องไปรับรู้หรอกว่าโลกเค้าอยากกินขนมปังไส้อะไร เอาแค่เราอยากทำขนมปังไส้อะไร แล้วลูกค้าขาประจำของเราชอบขนมปังไส้อะไร เอา 2 อย่างนี้แหละมาเจอกันก็พอ ไม่ต้องไปสนใจโลกทั้งโลกหรอก แต่ก็ไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับตัวเองมากเกินไป คือมันเป็นเรื่องประหลาดนะ พอเราไม่สนใจว่าโลกต้องการอะไร เราก็สนใจว่าเราต้องการอะไรน้อยลงเหมือนกันนะ เพราะว่าตามหลักจิตวิทยา เราทำอะไรทุกอย่างเพื่อให้สังคมยอมรับ ถ้าเราต้องการให้สังคมยอมรับเราน้อยลง เราก็ไม่ต้องหมกมุ่นกับตัวเองมากนัก หรือทำงานเพื่ออยู่กับงานตรงหน้า อยู่กับคนอ่านของเรา”
บทความจาก : all Magazine : ปีที่ 7 ฉบับที่ 7 เดือนพฤศจิกายน 2555