สำนักพิมพ์ปราณ : เพราะการอ่านคือลมหายใจ

สำนักพิมพ์ปราณ

จากสภาพสังคมที่แสนจะวุ่นวายในปัจจุบัน คนไทยหลายคนหันมาพึ่งพิงจิตใจจากหนังสือหมวดธรรมะประยุกต์กันมากขึ้น ทำให้หนังสือในหมวดนี้มียอดขายเติบโตเป็นลำดับต้นๆ ของตลาดหนังสือเมืองไทย และเมื่อเอ่ยถึงหนังสือแนวธรรมะประยุกต์ หรือจิตวิทยาพัฒนาตนเอง หลายคนก็คงคิดถึง สำนักพิมพ์ปราณซึ่งเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ เปิดทำการได้ไม่นาน หาดสามารถผลิตผลงานออกมาได้สวยงามและโดดเด่นไม่แพ้สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ

‘ธุรกิจหนังสือ’ ฉบับนี้ ได้นัดหมายพูดคุยกับ คุณชินวัฒน์ ชนะหมอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักพิมพ์ปราณผู้บริหารหนุ่มไฟแรงเกี่ยวกับแนวคิดการก่อตั้ง ความเป็นมาและการบริหารจัดการสำนักพิมพ์ จนกลายเป็นสำนักพิมพ์ที่ใครๆ กล่าวขานถึงในปัจจุบัน คุณชินวัฒน์เล่าให้ฟัง ถึงแนวคิดการก่อตั้งสำนักพิมพ์ปราณว่า “ชีวิตผมเริ่มต้นจากการอ่านและหลงรักการอ่าน ได้ทำงานคลุกคลีกับหนังสือเมื่อครั้งทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการร้านหนังสือบุ๊คสไมล์ ของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กอปรกับผมเป็นลูกศิษยืของพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี อยู่แล้ว เมื่อพระอาจารย์ตั้งสถาบันวิมุตตยลัย ผมจึงได้ลาออกมาช่วยดูแลเรื่องลิขสิทธิ์และประสานงานกับสำนักพิมพ์ในการพิมพ์หนังสือต่างๆ เมื่อทำไปได้สักระยะ ผมรู้สึกว่า ผมทำงานน้อยเกินไปเมื่อเทียบการทำงานหนักอย่างยิ่งของพระอาจารย์ ผมอยากทำอะไรที่มากกว่านี้ จึงขออนุญาตพระอาจารย์ลาออกมาตั้งสำนักพิมพ์ เพื่อผลิตหนังสืออย่างเต็มตัวในปี 2552 ซึ่งพระอาจารย์ก็อนุญาต โดยท่านได้ให้แนวคิดในการทำสำนักพิมพ์ไว้ 3 ประการ คือ
1. ต้องทำหนังสือให้สวยงามชวนหยิบจับขึ้นมาอ่าน
2. ราคาต้องไม่แพง
3. ต้องผลิตงานดีมีคุณภาพ นำเสนอความถูกต้อง ความดี ความจริง ความงาม ไม่ทำหนังสือที่ทำให้คนหลงงมงาย

เมื่อถามถึงปรัชญาสำนักพิมพ์ที่ว่า ‘ การอ่านคือลมหายใจ ’ นั้นหมายถึงอะไร คุณชินวัฒน์อธิบายว่า เขาอยากเห็นวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ต้องรอจังหวะเวลา ทำให้เหมือนการใช้ชีวิตปกติ เช่นเดียวกับการที่เราหายใจ การหายใจที่ดีๆต้องรู้จังหวะการหายใจเข้าและออกต้องมีสติมีสมาธิกำกับอยู่ตลอดเวลา ประโยคที่ว่า ‘ การอ่านคือลมหายใจ ’ ก็หมายถึงอยากให้อ่านหนังสืออย่างมีสมาธิ มีสติกำกับพินิจพิจารณาเนื้อหาสาระ แนะนำสิ่งดีๆ ที่ได้จาการอ่านมาปรับใช้กับชีวิตด้วย

ปัจจุบัน สำนักพิมพ์ปราณผลิตผลิตหนังสือหลักๆ อยู่ 3 ประเภท คือ 1. หนังสือธรรมประยุกต์ สองเล่มแรกที่ผลิตจำหน่ายเป็นผลงานของท่าน ว.วชิรเมธี คือ‘มองลึก นึกไกล ใจกว้าง’ และ ‘ลายแทงแห่งความสุข’ ถือเป็นครั้งแรกที่นำภาพท่าน ว.วชิรเมธี มาขึ้นปกพ็อกเก็ตบุ๊ค และจำหน่ายในราคาถูก และจำหน่ายในราคาถูก จึงได้รับการตอบรับ จากผู้อ่านเป็นอย่างดี 2. หนังสือการ์ตูนธรรมะ ขณะนี้มี 2 เล่มคือ ‘สติมา เณรน้อยอัจฉริยะ’ และ ‘สตีฟ จอบส์ เรียนเซน’ 3. หนังสือแนวฮาวทู / จิตวิทยาพัฒนาตนเอง ซึ่งเป็นกลุ่มหนังสือของคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงานอยากได้แรงบันดาลใจจากบุคคลต่างๆ จากตัวอย่างเช่น ‘สตีฟ จอบส์ อัจฉริยะพลิกโลก’ ‘สุนทรพจน์ก้องโลก’ ‘วรรคทองของแมนเดลา’ ‘คิดต่างอย่างอิเกีย’ ‘กรุณาทำสิ่งใหม่’ เป็นต้น

ต่อข้อถามถึงจุดขายของสำนักพิมพ์ ผู้บริหารหนุ่มตอบว่า “ผมให้นโยบายกับทีมงานไว้ว่า หนังสือของปราณทุกเล่มจะต้องประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ คือ ‘ง่าย – งอก – งาม ’ คำว่า ‘ง่าย’ หมายถึง ’ หนังสือของเราต้องนำเสนอเนื้อหาที่เข้าใจง่าย เข้าถึงได้ ไม่ลึกซึ้งเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจ และนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ทันที ส่วนคำว่า ‘งาม ’ คือเรามีความจั้งใจผลิตแต่ผลงานคุณภาพ นักเขียนของเราแต่ละท่านก็เป็นระดับครูบาอาจารย์ในสังคมไทย เช่น ท่านพุทธทาส , ท่าน ป.อ. ปยุตฺโต , ท่าน ว. วชิรเมธี , อาจารย์วศิน อินทสระ ฯลฯ ส่วนความงอกงามอีกประการที่เราให้ความสำคัญ ก็คือการออกแบบดีไซน์ ผมอยากให้เกียรติคนอ่าน ด้วยการสร้างสรรค์หนังสือให้สวยงามน่าอ่าน น่าหยิบจับ เราใส่ใจแม้แต่การเลือกใช้ฟ้อนต์ตัวอักษร การเว้นวรรค การออกแบบหน้าปกและรูปเล่ม ส่วนคำสุดท้ายคือคำว่า ‘งอก’ ไม่ว่าใครก็ตามเมื่อได้อ่านหนังสือของเราแล้ว ต้องได้ประโยชน์มีเรื่องราวให้ขบคิด ได้ปัญญาความรู้ เข้าใจโลก เข้าใจชีวิตมากขึ้น จุดขายที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ สำนักพิมพ์ปราณพิมพ์หนังสือคุณภาพแต่ราคาถูก เพราะเราวัดกำไรจากจำนวนคนอ่าน ไม่ได้วัดจากราคาว่าได้กำไรสูงสุดกี่บาท”

“ ตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมาเราได้กำลังใจในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจดหมาย โทรศัพท์หรืออีเมล คนอ่านอยากให้เราผลิตผลงานคุณภาพแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ บางคนก็บอกว่า หนังสือที่เขาอ่านมันเปลี่ยนชีวิตเขาให้ดีขึ้นได้จริงๆ ส่วนในเรื่องของยอดขาย เราก็ได้การตอบรับจากนักอ่านมากเกินที่สำนักพิมพ์เล็กๆ อย่างเราจะคาดหวังไว้ ที่ผ่านมาหนังสือบางเล่มของเรา เคยขึ้น Best Seller อันดับหนึ่งติดต่อกันนานเป็นเดือนๆ บางเล่มติดอันดับขายดี Top 10 ตลอดทั้งปี นั่นแสดงว่า เราสามารถสร้างจำนวนคนอ่านให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเราก็จัดพิมพ์หนังสือบางเล่มเป็นภาษาอังกฤษ บางเล่มก็มีต่างประเทศสนใจติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ไปบ้างแล้ว เช่น จีน ไต้หวัน เกาหลี ล่าสุดสำนักพิมพ์ในยุโรปและอเมริกา ที่เคยตีพิมพ์หนังสือของท่านดาไลลามะ และท่านติช นัช ฮันห์ ก็สนใจที่จะตีพิมพ์ผลงานของสำนักพิมพ์ของเรา” คุณชินวัฒน์ กล่าวถึงการเติบโตขอสำนักพิมพ์อย่างภาคภูมิใจ

นอกจากเรื่องการผลิตและจำหน่ายหนังสือแล้ว คุณชินวัฒน์ ยังเล่าให้ฟังถึงเรื่องกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน และแนวทางการเติบโตของสำนักพิมพ์ว่า ได้ร่วมกับพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ดำเนินงานในโครงการห้องสมุดขนาดเล็กในโรงเรียนมัธยม โดยสำนักพิมพ์ได้มอบหนังสือธรรมะและแนวฮาวทูให้กับห้องสมุดต่างๆ ไปแล้วกว่า 20 แห่ง ในจังหวัดเชียงราย และจะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ให้ครบ 76 จังหวัด นอกจากนี้ ยังเข้าโครงการร่วมเผยแพร่หนังสือดีเพื่อคนไทยกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และร้านบุ๊คสไมล์ ด้วยการจัดพิมพ์หนังสือดีราคาประหยัด 39 – 49 – 59 บาท โดยไม่ลดคุณภาพ เพื่อมุ่งหวังให้ถึงมือคนอ่านได้มากขึ้น สำหรับการเติบโตในอนาคต ก็จะขยายหมวดหมู่หนังสืออกไป เพื่อขยายฐานผู้อ่านให้กว้างขึ้น แต่ยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์หนังสือธรรมะ ซึ่งเป็นแกนหลักอยู่ รวมทั้งเปิดตลาดใหม่ในโลกออนไลน์ โดย e-Book ด้วย

สำหรับตลาดหนังสือในเมืองไทยนั้น คุณชินวัฒน์มองว่า ตลาดหนังสือในปัจจุบันเติบโตขึ้นมาก แต่เป็นกากรเติบโต ในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ หนังสือบางเล่มยังคงผลิตออกมาแบบมักง่าย บางเล่มไม่ได้เขียนเอง แต่ไปลอกจากอินเตอร์เน็ต จากงานต่างประเทศมา สำนักพิมพ์จึงควรเข้มงวดกับคุณค่าและคุณภาพของหนังสือที่ผลิตออกมาให้มากกว่านี้ คุณชินวัฒน์ ก็ยังมองว่า ตลาดหนังสือเล่มยังคงเติบโตได้ต่อไป เพราะตลาดหนังสือในเมืองไทยยังไม่เจริญเท่าต่างประเทศวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยยังไม่เข้มแข็งเท่าเขา สำนักพิมพ์ที่ตั้งใจผลิตงานคุณภาพก็คงต้องต่อสู้ในสภาวการณ์แบบนี้ต่อไป

ทั้งหมดนี้ คงบอกได้ถึงความตั้งใจในการผลิตหนังสือคุณภาพจากสำนักพิมพ์เล็กๆ แห่งนี้ด้วยความเชื่อมั่นว่าประโยคบางประโยคจากหนังสือบางเล่ม สามารถพลิกชีวิตคนบางคนให้ก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้โดยไม่ยาก และเราก็หวังว่าคุณจะเจอประโยคนั้นจากหนังสือของสำนักพิมพ์ปราณเช่นกัน

 

เรื่องและภาพ : ปรายปริญ
ขอบคุณที่มา หนังสือ ออล แม็กกาซีน ปีที่ 8 ฉบับที่ 4/ สิงหาคม 2556 คอลัมภ์ ธุรกิจหนังสือ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ