O-lunla นิตยสารเพื่อความเบิกบานของคนสูงวัย : สื่อสร้างสรรค์ที่อยากเห็นคนไทยสูงวัยอย่างแฮปปี้

O-lunla นิตยสารเพื่อความเบิกบานของคนสูงวัย

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีมากกว่า 13 ล้านคน และยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่าคนสูงวัยเหล่านี้กว่า 40% มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ และในจำนวนนี้อีก 20% เป็นกลุ่มสูงวัยที่ป่วยและดูแลตัวเองไม่ได้ เหล่านี้คือปัญหาที่คุณสุพิน ธนวัฒน์เสรี เคยคาดการณ์เอาไว้ตั้งแต่หลายปีก่อน และนั่นก็จุดประกายให้เธอเริ่มต้นทำนิตยสารสำหรับผู้สูงวัยที่ชื่อ O-lunla (โอ-ลั้นลา) ขึ้นมา ด้วยความหวังว่านิตยสารที่เธอตั้งใจสร้างขึ้นมานี้จะเป็นสื่อที่กระตุ้นให้ทั้งคนสูงวัยและคนที่กำลังจะสูงวัยได้ลุกขึ้นมาเตรียมพร้อมกาย ใจ และรายได้ เพื่อรับมือกับการเข้าสู่วัยชราได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“เราเป็นคนชอบอ่านบทความธุรกิจต่างๆ ก็ได้เห็นข้อมูลว่าต่อไปทั่วโลกจะมีผู้สูงวัยมากขึ้น ประเทศไทยก็จะเป็นสังคมสูงวัย เราก็เลยมีความคิดว่าอยากทำนิตยสารที่คอนเซ็ปท์เป็นไลฟ์สไตล์ อ่านง่าย แล้วก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนวัยสี่สิบขึ้นไป เพราะคนวัยสี่สิบเป็นวัยแซนด์วิชพอดี ที่ขาหนึ่งอาจจะมีลูกเล็ก อีกขาหนึ่งอาจจะต้องดูแลพ่อแม่ เราอยากทำนิตยสารเพื่อสื่อสารกับเขาว่าถ้าคุณอยากจะแข็งแรงในอีกสิบปีข้างหน้าก็ต้องเตรียมตัว ถ้าอยากทำงานได้ยาวก็ต้องแข็งแรงก่อน ยิ่งถ้าคุณโสดยิ่งต้องดูแลตัวเองทั้งเรื่องรายได้และสุขภาพค่ะ”

 

O-lunla นิตยสารเพื่อความเบิกบานของคนสูงวัย

 

หน้าปกของ O-lunla ทุกเล่มคนที่ได้ขึ้นปกเป็นผู้สูงวัยทั้งหมดเลย

“เราตั้งใจอยากให้คนสูงวัยที่เป็นไอดอลในสายตาเรามาขึ้นปกค่ะ เรากำหนดเลยว่าคนที่จะขึ้นปกต้องอายุหกสิบขึ้นไป เราอยากให้มันเป็นนิตยสารสูงวัยที่เป็นไลฟ์สไตล์ หมายความว่าถ้าคุณอายุหกสิบแล้วแต่คุณยังมีความกล้าที่จะไปเที่ยวรอบโลก เราก็จะเอาเรื่องของคุณมาลง ถ้าคุณหกสิบแล้วคุณยังเป็นนักจัดสวนมือหนึ่ง เราก็จะเอาเรื่องการทำงานของคุณมาเล่าว่าทำยังไงที่อายุหกสิบแล้วยังมีไฟในการทำงานอยู่ ซึ่งปกแรกคนที่ขึ้นปกคือคุณแม่ของเพื่อนค่ะ วางแผงตอนปี 2558 ตอนนั้นแอปพลิเคชั่นไลน์เพิ่งเข้ามา เรื่องที่ทำเลยเป็นเรื่องไลน์ และคุณแม่เพื่อนท่านใช้อยู่และมีความรู้เรื่องนี้ เป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ได้ เราเลยทำเรื่องนี้เพื่อให้ความรู้คนอ่านด้วย”

 

O-lunla นิตยสารเพื่อความเบิกบานของคนสูงวัย

 

เห็นว่าเปิด O-lunla ได้ไม่นานก็ได้โอกาสเข้าไปจัดกิจกรรมให้หน่วยงานราชการด้วย

“บังเอิญตอนนั้นมีผู้ใหญ่ในสำนักงาน ก.พ. มาเห็นนิตยสารของเราค่ะ ซึ่งปกติสำนักงาน ก.พ. เขาจะมีหลักสูตรปัจฉิมนิเทศอยู่แล้ว คือให้เป็นรางวัลกับคนที่ทำงานจนเกษียณ มันก็มีไปอบรมที่กาญจนบุรี เพชรบุรีอะไรอย่างนี้ค่ะ เราก็เลยได้ไปเป็นหนึ่งในผู้จัด ชื่อหลักสูตร Retire & Restart เราก็ใส่เรื่องสอนการใช้แอปพลิเคชั่นไลน์เข้าไป สอนใช้ฟังก์ชั่นในนั้นแล้วก็สอนเรื่องการระวังความปลอดภัย แล้วเราก็เชิญป้าแป๋ว-กาญจนา พันธุเตชะ คุณป้าวัยเกษียณที่กล้าออกเดินทางเที่ยวรอบโลกคนเดียวมาพูด เพื่อให้คนฟังได้มีกำลังใจว่าวัยนี้ก็สามารถลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ ได้เหมือนกัน”

 

O-lunla นิตยสารเพื่อความเบิกบานของคนสูงวัย

 

จากที่ทำนิตยสารอย่างเดียวทำไมถึงขยายไปทำเป็นอีเวนท์ขนาดใหญ่เพิ่มอีก

“คือช่วงหลังโควิดมันทำให้หลายคนต้องออกจากงานค่ะ คนวัยห้าสิบก็เริ่มรู้สึกอยากเกษียณ เราอยากจะกระตุ้นให้เขารู้สึกมีพลังในการลุกมาประกอบอาชีพก็เลยตั้ง ‘โอ-ลั้นลามาร์เก็ต’ ขึ้นมา ครั้งแรกเราจัดที่มิวเซียมสยาม ทำตลาดไซส์ 70 บูธ เก็บค่าบูธ 600 บาท ขาย 3 วัน เราไม่เก็บแพงเพราะอยากให้เขารู้สึกว่ามันไม่เสี่ยงเกินไป และเราก็เชิญคุณไพศาล พืชมงคล มาสอนเรื่องคัมภีร์ขยายเส้นเอ็น เชิญโรงพยาบาลหัวเฉียวมาบรรยายสุขภาพ เชิญคุณนิรุตติ์ ศิริจรรยามาพูดคุยบนเวที

เราเอาคอนเทนต์ที่สะสมมา 7-8 ปีแปรเป็นกิจกรรมในงาน มาทำให้เวทีมันสนุก ซึ่งทุกคนที่มางานเขาก็รู้สึกสนุก การที่เขามาออกบูธมันทำให้เขาได้เจอเพื่อนวัยเดียวกัน บางคนแอดไลน์กันแล้วไปขายของต่อกันเองได้อีก ที่เราทำมันเป็นการกระตุ้นให้เขาลุกขึ้นมาทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้ว เรามองว่าเรื่องที่ต้องเตรียมรับมือคือวิกฤตเศรษฐกิจ พอจัดโอ-ลั้นลามาร์เก็ตครั้งที่สองเราก็เลยเพิ่มเรื่องการสมัครงานเข้ามา มีคาเฟ่อเมซอน มีบริษัทอสังหา มีโฮมโปรที่เขารับผู้สูงวัยทำงานมารับสมัครงานจริงๆ”

 

O-lunla นิตยสารเพื่อความเบิกบานของคนสูงวัย

 

พอได้เข้าไปสัมผัสกับสังคมสูงวัยแล้วคุณเห็นปัญหาอะไรบ้าง

“จริงๆ สูงวัยมันแบ่งเป็นหลายประเภทมากนะคะ มีแบบกลุ่มแข็งแรงดี กลุ่มป่วย แล้วก็ยังแบ่งเป็นเรื่องรายได้อีก กลุ่มที่โชคดีคือกลุ่มที่มีรายได้หลังเกษียณ มีครอบครัวดี กลุ่มนี้ไม่น่าห่วงเพราะตัวเองมีรายได้จับจ่ายใช้สอยและมีลูกหลานดูแล แต่ที่เจอเยอะคือกลุ่มคนโสด ไม่มีลูกหลาน ไม่มีรายได้เตรียมไว้หลังเกษียณเลย

เราเห็นว่ารัฐเองก็พยายามคิดกลไกในการดูแล มีเงินอุดหนุน แต่บอกเลยว่าเงินอุดหนุนไม่พอค่ะ ยกตัวอย่างญี่ปุ่นเขาก็ประสบปัญหานี้ ตอนแรกเขาก็เอาเงินอุดหนุนไปเรื่อยๆ สุดท้ายรู้ว่ามีไม่พอเขาเลยหันมาส่งเสริมให้คนมีอาชีพของตัวเอง ซึ่งนี่ก็เป็นจุดประสงค์ที่เราทำโอ-ลั้นลามาร์เก็ตด้วย เพราะอยากให้มันเป็นกลไกหนึ่งในการส่งเสริมให้คนมีอาชีพ ถ้าจะหวังพึ่งทุกสิ่งจากรัฐมันเป็นไปได้ยาก เราต้องทำของเราวันนี้ให้ดีก่อนค่ะ”

 

 

นอกจากเรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุที่รัฐกำลังผลักดันอยู่ คุณมองว่ายังมีเรื่องไหนที่อยากให้รัฐช่วยสนับสนุนเพิ่มบ้าง

      "ในมิติสุขภาพกายและใจ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีการส่งเสริมและรณรงค์ให้ผู้สูงวัยตระหนักถึงการดูแลตนเองมากพอสมควร และทำกันในวงกว้างและต่อเนื่องอยู่แล้ว

     แต่ในมิติเศรษฐกิจ ยังมีการดำเนินการเรื่องนี้ไม่มากนัก อนาคตประชากรหนุ่มสาวจะน้อยกว่าผู้สูงวัย เราอาจต้องส่งเสริมการ reskill  upskill เพื่อให้พี่ๆ สูงวัยเป็นกองหนุนที่ดีให้กับคนหนุ่มสาว อาจมีการขยายเวลาเกษียณ หรือส่งเสริมการทำอาชีพที่สอง (second career) ให้เริ่มทำอะไรใหม่ๆ ที่สมกับวัย 

    ส่วนมาตรการทางภาษี รัฐได้มีการลดหย่อนภาษีสำหรับองค์กรธุรกิจที่จ้างงานผู้สูงอายุอยู่แล้ว ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ดี จึงอยากให้ทำอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องค่ะ"

 

O-lunla นิตยสารเพื่อความเบิกบานของคนสูงวัย

 

เป้าหมายในระยะยาวที่ O-lunla คาดหวังคืออะไร

“เราทำแบรนด์นี้ต่อเนื่องมา 9 ปีแล้ว สิ่งที่เราทำมันได้สร้างแรงบันดาลใจและเกิดการเปลี่ยนแปลงให้กับคนที่กำลังจะเกษียณ ให้เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า แต่ยังเป็นกำลังเศรษฐกิจของประเทศ เป็นตัวอย่างเป็นโรลโมเดลได้ เราตั้งใจจะทำต่อไป เราอยากให้สิ่งที่เราทำกระตุ้นให้คนรู้จักเตรียมพร้อม

คนวัยสี่สิบวันหนึ่งตัวเองก็ต้องหกสิบ ฉะนั้นต้องเตรียมพร้อม เพราะไม่มีใครเตรียมพร้อมได้ดีที่สุดเท่าตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพก็ต้องทำเองวันนี้ เรื่องรายได้ก็ต้องทำเองวันนี้ กาย ใจ สมอง เงิน ทุกอย่าง การเตรียมพร้อมสำหรับวาระสุดท้ายของชีวิตก็ต้องเตรียมตั้งแต่วันนี้เหมือนกัน”

 

O-lunla นิตยสารเพื่อความเบิกบานของคนสูงวัย

 

มองก้าวต่อไปของ O-lunla ไว้ยังไงบ้าง

“เรายังจะทำคอนเทนต์ต่อไปค่ะ แล้วก็จะเอาคอนเทนต์ที่สะสมมาแปรไปเป็นกิจกรรมมากขึ้น ปีนี้เราเน้นเรื่องเวิร์คช็อปกับเรื่องอีเวนท์ ที่เราโฟกัสตอนนี้ก็คือโอ-ลั้นลามาร์เก็ต แต่เราคิดว่ายังสามารถต่อยอดพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ได้ คิดว่าช่วงปลายปีน่าจะได้เห็นสิ่งที่เราจะทำต่อไปค่ะ”

 

 

Writer

Au Thitima

Content Creator ผู้รักในการอ่าน ชอบในการเขียน และคลั่งไคล้สัตว์สี่ขาที่เรียกว่าแมว