ก่อนหน้าที่จะถือกำเนิดสำนักพิมพ์ชื่อประพันธ์สาส์น ย่อมมีที่มาให้กล่าวอ้างถึง และรากเหง้าของความเป็นประพันธ์สาส์น ที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ คือ ร้านผดุงศึกษา ที่ถือกำเนิดขึ้นโดย ทรวง เตชะธาดา ที่เวิ้งนาครเขษม ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจหนังสือ ต่อมาถึงสามชั่วอายุคน
กำเนิดร้านผดุงศึกษา
หากจะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของร้านผดุงศึกษา คงต้องอ้างข้อมูลส่วนหนึ่งจากหนังสือ สยามพิมพการ ซึ่งเป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้านการพิมพ์ของไทยไว้อย่างละเอียด กิมทรวง แซ่แต้ (ทรวง เตชะธาดา) หรือที่ต่อมารู้จักกันในนาม คุณทรวง ร้านผดุงศึกษา เป็นอีกหนึ่งผู้สร้างตำนานร้านหนังสือย่านเวิ้งนาครเขษม ทรวงเกิดที่ประเทศจีน เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๘ เดินทางเข้ามาพร้อมกับบิดาชื่อยู่หงำ ตามลักษณะทั่วไปของชาวจีนที่เข้ามาทำมาหากินในดินแดนสยาม ยู่หงำเริ่มจากเป็นลูกจ้างร้านรับซื้อของเก่าย่านตลาดหัวเม็ด จากลูกจ้างจึงเติบโตขึ้นจนสามารถเช่าตึกแถวที่เจ้านายเชื้อพระวงศ์สร้างขึ้นในละแวกสะพานเหล็ก เปิดกิจการร้านขายของเก่าเป็นของตัวเอง กิจการไปได้ด้วยดีกระทั่งซื้อตึกได้หลังหนึ่ง แล้วตั้งชื่อร้านขายของเก่าว่า “กิมเซ่งง้วน”
เมื่อกิมทรวงเดินทางเข้ามาอยู่กับบิดาที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มต้นจากการทำงานเป็นลูกจ้างทั่วไปตามย่านร้านค้าแถวพาหุรัด พร้อมทั้งเข้าเรียนหนังสือจีนที่โรงเรียนซิมหมิง ย่านยศเส จนเมื่อมาช่วยงานร้านยี่เกง ร้านหนังสือเก่าของญาติคนหนึ่งในเวิ้งนาครเขษม จึงได้รู้จักกับวงการค้าขายหนังสือ เริ่มตั้งแต่คนที่เอาหนังสือเก่ามาเร่ขาย คนที่รู้แหล่งว่าบ้านผู้ดีหลังไหนต้องการขายหนังสือก็จะนำข่าวมาบอกกันเพื่อไปเจรจาซื้อขาย เมื่อได้หนังสือเก่ามาแล้ว จึงนำมาขัดด้วยกระดาษทราย ทำความสะอาด แล้วจึงนำมาวางจำหน่าย สำหรับกิมทรวง จากลูกจ้างร้านขายหนังสือเก่า เมื่อสะสมทุนได้ก้อนหนึ่ง จึงแยกออกมาตั้งร้านขายหนังสือเป็นของตัวเองบ้าง ซึ่งก็คือ “ร้านผดุงศึกษา” ที่ตึกแถวในเวิ้งนาครเขษม ด้วยเงินทุนเริ่มต้นจากความช่วยเหลือของญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจำนวน ๔๐๐ บาท ถือเป็นเงินจำนวนไม่น้อยในสมัยที่หนังสืออ่านเล่นราคาเล่มละ ๑๐ สตางค์ และก๋วยเตี๋ยวชามละ ๕ สตางค์
ร้านผดุงศึกษาเริ่มจัดพิมพ์หนังสือครั้งแรก ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเริ่มในประเทศไทยเมื่อปลายปีพ.ศ.๒๔๘๔ ในขณะนั้นมีสำนักพิมพ์เพลินจิตต์และสำนักพิมพ์อุเทน เป็นพี่ใหญ่ในวงการอยู่ก่อนแล้ว และเป็นยุคของนิยาย ๑๐ สตางค์ “อรวรรณ” หรือ เลียว ศรีเสวก ยังได้เคยเล่าถึงเหตุการณ์ที่เอาต้นฉบับไปส่งให้คุณทรวงซึ่งเป็นเพื่อนรักกันที่ร้านผดุงศึกษา ในจังหวะที่เครื่องบินสัมพันธมิตรกำลังทิ้งระเบิด จนต้องวิ่งหนีกันทั้งคนซื้อคนขาย
...อรวรรณตั้งสติได้รีบบอกเพื่อนรัก จ่ายเงินมาเร็วจะได้แยกย้ายกันเผ่นหนีมฤตยู คุณทรวงก็รีบจ่ายเงิน อรวรรณก็วิ่งไม่คิดชีวิต รวดเดียวไปนั่งหอบแทบขาดใจอยู่แถวท่าน้ำราชวงศ์ โดดลงเรือจ้างแล้วบอกคนแจวว่าไปไหนไปกัน ขอให้หนีเสียงอุบาทว์โหยหวนเหมือนยมทูตจะเอาชีวิตไปไกลๆ คนแจวก็กลัวตายพอกัน บอกว่าคุณโหนไว้ให้แน่นนะ ผมจะจ้วงให้น้ำบานไปเลย!...
“อรวรรณ” เขียนเล่าไว้ในหนังสือ “หน้าสู้ฟ้า” ประพันธ์สาส์นพิมพ์จัดจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ จนเมื่อสงครามสงบแล้ว แวดวงการพิมพ์จึงได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะค่ากระดาษที่ลดลง ทำให้เกิดสำนักพิมพ์เกิดขึ้นมากมายทั้งเก่าและใหม่ เช่น สำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ สำนักพิมพ์คลังวิทยา สำนักพิมพ์แพร่พิทยา สำนักพิมพ์นครไทย ฯลฯ ราคาหนังสือปกอ่อนราคาถูก ได้ขึ้นมาเป็นเล่มละ ๑.๕๐ - ๒.๕๐ บาท อันเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงสงคราม แม้จะสิ้นสงครามไปแล้วก็ตาม ทำให้ยุคนิยายราคา ๑๐ สตางค์ จบไปโดยปริยาย
คนจีนขายหนังสือไทย
ในช่วงทศวรรษ ๒๔๗๐ เป็นต้นมา เป็นระยะเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในประเทศไทย ทั้งทางด้านการเมืองที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ วงการวรรณกรรมเองก็เป็นช่วงที่เฟื่องฟู เนื่องจากวรรณกรรมและการเป็นเป็นสิ่งที่ชี้วัดความทันสมัยของประเทศ จึงทำให้ผู้คนหันมาสนใจการอ่านมากขึ้น ทั้งนี้จึงเป็นเหตุให้ “การเขียนหนังสือ” กลายเป็นอาชีพๆ หนึ่งที่ค่อนข้างมั่นคง บวกกับเทคโนโลยีการพิมพ์ที่เข้ามาพร้อมกับชาวตะวันตกโดยการรับช่วงของชนชั้นสูงได้กลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่กิมทรวง จะเป็นอีกคนหนึ่งที่สนใจธุรกิจหนังสือ และเข้ามาสร้างบทบาทในวงการน้ำหมึกไทย แต่ด้วยเหตุที่ทรวงเป็นชาวจีน อ่านเขียนมาภาษาไทยไม่ค่อยได้ เขาจึงต้องอาศัยผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงการประพันธ์ เป็นผู้แนะนำและจัดหาผลงานมาให้ หลังสงครามสบ “คุณเภาว์” (ไม่ทราบชื่อนามสกุลจริง) ซึ่งทำอยู่ที่หนังสือปิยะมิตร เป็นผู้ที่คอยจัดการติดต่อต้นฉบับจากนักเขียนให้กับทรวงเพื่อนำมาจัดพิมพ์ จากความสัมพันธ์นี้เอง นิยายเล่มแรกๆ ที่ร้านผดุงศึกษาจัดพิมพ์หลังสงคราม จึงเป็นผลงานของ ป. อินทรปาลิต ซึ่งเคยทำอยู่ที่ปิยะมิตรเช่นกัน แต่ลาออกมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ปีเดียวกับที่ผดุงศึกษาเริ่มพิมพ์ผลงาน
นอกจากผลงานของ ป.อินทรปาลิตแล้ว ผดุงศึกษา ก็ยังตีพิมพ์ผลงานชิ้นสำคัญๆ อีกหลายชิ้น อาทิ ผู้ชนะสิบทิศ และสามก๊กฉบับวณิพก ของ “ยาขอบ” ซึ่งผลงานต้นฉบับดีๆ เหล่านี้ ล้วนได้มาจากสายสัมพันธ์อันดีระหว่างคุณทรวงและกลุ่มนักเขียนที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลก เช่น เลียว ศรีเสวก, สันต์ เทวรักษ์, เสรี เปรมฤทัย, โชติ แพร่พันธ์, มนัส จรรยงค์ รวมไปถึงนักเขียนที่เริ่มมีชื่อเสียงภายหลังสงคราม อย่างเช่น ประหยัด ศ.นาคะนาท, ประมูล อุณหธูป, วิชิต เพ็ญมณี
นอกจากนั้นคุณเภาว์ ยังแนะนำคนเขียนปกให้กับสำนักพิมพ์ผดุงศึกษาอีกด้วย โดยคนเขียนปกแต่ละคนก็จะมีแนวถนัดของตนเอง เช่น อาภรณ์ อินทรปาลิต น้องชายของ ป.อินทรปาลิต ผู้เขียนปกหนังสือชุด “สามเกลอ” ทุกเล่ม “เนรมิตร์” หรือ พนม สุวรรณบุณย์ เขียนภาพประกอบนิยายภาพ เล็บครุฑ ของพนมเทียน ส่วน พ.บางพลี (วีรกุล ทองน้อย) สุรินทร์ ปิยานันท์ เขียนปกหนังสือปกอ่อนทั่วๆ ไป ฉลอง ธาราพรรค มงคล วศ์อุดม ช่วยกันกับ พนม สุวรรณบุณย์ เขียนภาพหนังสือปกแข็ง นอกจากเขียนปกแล้ว ยังเขียนภาพประกอบต่างๆ ภายในเล่มด้วย ซึ่งความนิยมในการเขียนภาพประกอบหนังสือนิยาย เป็นลักษณะทั่วไปที่พบได้ในหนังสืออ่านเล่น ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ และเริ่มหายไปในช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐
กิจการของสำนักพิมพ์ผดุงศึกษาดำเนินไปได้ด้วยดี จนราวปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อกลุ่มนักธุรกิจชาวจีน นำโดย โอสถ โกสิน ได้ซื้อวังบูรพาภิรมย์ จากทายาทของสมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช แล้วแปรสภาพเป็นศูนย์การค้าใกลางกรุง มีโรงหนังอยู่ถึง ๓ โรง คือ โรงหนังคิงส์ ควีนส์ และแกรนด์ รวมทั้งร้านค้าพาณิชย์ต่างๆ จำนวนมาก สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็เริ่มทยอยไปจับจองอาคารในศูนย์การค้าแห่งใหม่นี้ โดยเริ่มจากสำนักพิมพ์ แพร่พิทยา ของจิตต์ แพร่พานิช สำนักพิมพ์ใหญ่อีกแห่งหนึ่งในขณะนั้น
จะเห็นได้ว่าการดำเนินธุรกิจของทรวง เตชะธาดา เริ่มจากการสร้างสายสัมพันธ์กับเหล่านักเขียนและคนในวงการ และหลักปฏิบัติเหล่านี้ก็สืบทอดไปยังรุ่นลูกและรุ่นหลานด้วย
เรียบเรียงโดย...ลักขณา