คำขอขอบพระคุณถึงสมาชิกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ของคุณจรัญ หอมเทียนทอง ซึ่งได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในปีบริหาร 2546-2548 นั้น ได้เปิดเผยความในใจแบบกว้างให้รับรู้กันถ้วนหน้า ไม่ว่าคำขอบคุณอดีตนายกสมาคม คุณวรพันธ์ โลกิตสถาพร ที่บริหารสมาคมในวาระ 2 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างดี และทำให้เขาสามารถเข้ามาบริหารงานได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งในหลายโครงการจะดำเนินการต่อไปพร้อมกับพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น พร้อมกับย้ำว่า จะบริหารงานสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้สมาชิกมีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน ให้เจ้าหน้าที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ทุกคนมีจิตใจบริการสมาชิก และทำงานอย่างเต็มที่เพื่อยังประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิก และจะนำพาสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ไปสู่ทิศทางที่ก้าวหน้าและเจริญสืบไป
แน่นอน คุณจรัญคงไม่ได้ทำงานแบบโชว์เดี่ยวคนเดียว ครั้งนี้มีทีมที่เรียกว่า แข็งขันที่จะมาร่วมทำงานให้แข็งแกร่ง ดังรายนามคณะกรรมการบริหารสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย วาระ 1 กรกฎาคม 2556 – 30 มิถุนายน 2558
1. นายจรัญ หอมเทียนทอง (สำนักพิมพ์แสงดาว) นายกสมาคม
2. นายพิเชษฐ ยิ้มถิน (สารคดี-เมืองโบราณ) เลขาธิการ
3 .นางสาวฐาปนี โปร่งรัศมี (บัณฑิตแนะแนว) อุปนายกฝ่ายในประเทศ
4. นายปราบดา หยุ่น (ไต้ฝุ่น+บุ๊คโมบี้)อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ
5. นายน่าน หงษ์วิวัฒน์ ( แสงแดด) เหรัญญิก
6. นายอาทร เตชะธาดา (ประพันธ์สาส์น) กรรมการ
7. นางสาวมิ่งมานัส ศิวรักษ์ (เคล็ดไทย) กรรมการ
8. นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ (บุ๊คไทม์) กรรมการ
9. นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ (รุ่งวัฒนา) กรรมการ
10. นายดนุพล กิ่งสุคนธ์ (IDC Premier) กรรมการ
11. นายปัณณธร ไชยบุญเรือง (ปัญญาชน) กรรมการ
12. นายนิคม ชาวเรือ (นกฮูก พับลิชชิ่ง) กรรมการ
13. นางสาวธนพร มกรานุรักษ์ (ร้านหนังสือดอกหญ้า จ.อุดรธานี) กรรมการ
14. นางดวงตา เทียมทัด (สยามอินเตอร์ มัลติมีเดีย) กรรมการ
15. นางสุชาดา สหัสกุล (พาส เอ็ดดูเคชั่น) กรรมการ
*หมายเหตุ: ลำดับที่ 1-10 มาจากการเลือกตั้ง ลำดับที่ 11-15 มาจากการแต่งตั้ง
เท่าที่เกริ่นไป คงยังไม่พียงพอที่จะทำความรู้จักคุณจรัญในเชิงลึกของการเข้ามาบริหารงานสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในครั้งนี้ บทสัมภาษณ์ที่เปิดเผยทุกเรื่องราวจากความคิดและหัวใจที่มอบให้วงการหนังสือด้วยจิตอาสาในวาระอีก 2 ปีข้างหน้านี้ จะเป็นคำตอบ...
+ อีก 2 ปีข้างหน้า อนาคตของสมาคมที่จะอยู่ภายใต้การบริหารของคุณจะออกมาในรูปแบบไหน
2 ปีที่ผมจะดำรงตำแหน่ง...วันก่อนมีคนที่จะพยายามจับผมไปอยู่ฝ่ายสำนักพิมพ์เล็ก ผมบอกว่า ผมไม่ใช่นะ ออฟฟิศผมไม่ใช่สำนักพิมพ์เล็กนะ แต่เป็นขนาดกลาง ผมเลยบอกว่า ที่ผ่านมานี้ เวลาเราไปตัดสิทธิ์คนเล็กๆ เขาไม่ค่อยมีเสียง เราเลยกล้าตัดสิทธิ์เขา คือพูดง่ายๆ ได้ว่า สังคมนี้รังแก
เฉพาะคนจน คนรวยคุณไม่กล้าแตะ เพราะฉะนั้นคนรวยเขาก็ไม่เดือดร้อน ในเมื่อศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีพื้นที่ขายมากขึ้น จึงควรเป็นสิทธิ์ของผู้ที่ไม่มีโอกาสในด้านการขาย ไม่ใช่พอมีพื้นที่ขายเพิ่มมากขึ้น ก็ให้บางสำนักพิมพ์ไปเพิ่มสาขาในนั้น ที่ถูกต้องต้องเพิ่มพื้นที่ขายให้คนที่ไม่มีพื้นที่เป็นอันดับแรก โดยไปติดยึดกับกฎว่า ยังเป็นสมาชิกไม่ครบ 2 ปี คนทำสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก บางทีอยู่ไม่ถึง 2 ปีก็เจ๊งแล้ว เพราะธุรกิจมันแข่งขันกัน เพราะฉะนั้นเราควรให้โอกาสเขา
ผมพูดให้ฟังเป็นคำง่ายๆ ซึ่งต้องเขียนให้ชัดเจนหน่อยว่า 'เราทุกคนเคยผ่านวันนั้นมาก่อน วันที่เราเป็นคนตัวเล็กๆ เมื่อเรามีวันนี้ได้ เพราะเราผ่านวันนั้นมาก่อน ดังนั้นคนที่อยู่ในวันนั้นควรเปิดโอกาสให้เขาอยู่ในวันนี้เหมือนกันกับเรา' เหมือนอย่างผมเคยอยู่วันนั้นมาก่อน วันนั้นที่ผมเล็กๆ จนผมมีวันนี้มาได้ พอคุณอยู่วันนั้นมีคนเกิดใหม่ในวันนี้ ทำไมคุณไม่ผลักดันให้เขาอยู่ในวันนี้ให้ได้ ทุกคนเคยมีวันนั้นมาก่อน ผมเองพยายามจะช่วยเขาบรรดาสำนักพิมพ์เล็กๆ แต่จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหนไม่มีใครกระเทือน สำนักพิมพ์รายใหญ่ก็ไม่กระเทือน ขนาดกลางก็ไม่กระเทือน เขาก็ขายของเขาไป ไม่เดือดร้อน แต่หมายความว่าทำให้คนเล็กๆ ที่ทำหนังสือ อย่างน้อยๆ เมื่อมีคนกล้าทำหนังสือเราก็ต้องให้คะแนนความกล้าของเขา อย่าให้เขาล้มหายตายจากไป เขาทำมาแล้วกลายเป็นไม่ได้ขายของ คืองานที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ เหมือนกับเป็นงานที่พบปะสมาชิก เขาควรจะมีโอกาสพบกับคนอ่านของเขาโดยตรง
ปัจจุบันนี้ คนทำหนังสือไม่ได้เข้าสู่ธุรกิจหนังสือปกติ แต่อยู่ได้ด้วยการที่ทุกคนต้องพยายามสร้างแฟนคลับของตัวเองขึ้นมา เหมือนกับสำนักพิมพ์รหัสคดี กำมะหยี่ แจ่มใส สถาพรบุ๊คส์ ต่างก็มีแฟนของเขา จะเป็นไซส์เล็กไซส์ใหญ่ก็ว่ากันไป ทุกสำนักพิมพ์ต่างมีแฟนหนังสือของเขา แต่ละสำนักพิมพ์ก็มีแฟนหนังสือไม่เท่ากัน เมื่อคุณจัดงานที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ คุณต้องมีความหลากหลาย 'ดอกไม้มันต้องร้อยดอกบานสะพรั่งในสวน' ไม่ใช่ดอกเดียว ร้อยดอกต้องบานพร้อมพรักในสวน อาจจะมีดอกหนึ่งที่โดเด่น แต่ต้องมีดอกบริวารเพื่อให้กระถางดอกไม้ดูสวย สิ่งเหล่านี้คุณลืมเขาไม่ได้ ดอกไม้ดอกเดียวไม่มีดอกอื่นหรือไม่มีเฟิร์นประดับจะสวยได้อย่างไร แจกันหนึ่งแจกกันก็ต้องมีดอกรองประดับ มีใบเฟิร์นใบเตยรองรับให้ดอกไม้ดูสวยเด่นขึ้น
2 ปีต่อจากนี้ ร้อยดอกจะบานสะพรั่งในสวน ผมบอกในที่ประชุมแล้วว่า คนเล็กๆ เขาต้องการขอแค่ที่ยืนนะ ไม่ได้ขออะไรมากมาย เขาขอเพียงแค่ที่วางเท้า ขณะที่คนใหญ่ๆ มีที่นอนที่วางแขน ยังเอาเท้าไปเตะเขาออก เขาเพียงขอแค่ที่วางเท้าเขา ทำไมเราให้เขาไม่ได้ เราต้องให้เขาเพราะสิทธิความเป็นสมาชิกของเขามีหนึ่งเสียงเท่ากัน
+ แล้วการสนต่อนโยบายจากคณะกรรมการชุดก่อนที่บริหารผ่านมาจะเป็นอย่างไร
การสานต่อนโยบายอย่างไร้รอยต่อ งานที่คณะกรรมการสมาคมชุดเก่าทำไว้เราก็สานต่อ ไม่มีการยกเลิก แต่มีบางงานเช่นงานหนังสือที่หาดใหญ่ แล้วจะจัดงานในช่วงเดือนรอมฎอน สมาชิกหรือคนอ่านหนังสือที่เป็นมุสลิมมีเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์เขาไม่ออกจากบ้าน ตรงนี้ก็จะมีการเลื่อนจัดงานให้พ้นเดือนรอมฎอนไป เมื่อคาบเกี่ยวอย่างนี้จะต้องทำอย่างไร เพราะอาจมีลูกค้าส่วนหนึ่งหายไป ช่วงเดือนนี้คนมุสลิมจะต้องอยู่บ้านถือศีลอด ไม่มีใครออกมาข้างนอก กินอาหารตอนตะวันตกดินไปแล้ว มีเสียงสะท้อนมาของกลุ่มคนมุสลิมในภาคใต้ เราต้องจัดงานนี้ให้เขาเพื่อกระจายความรู้ในการลดความขัดแย้งของประเทศ เพราะหนังสือสามารถลดความขัดแย้งได้
ส่วน IPA Congres 2014 หรือการประชุมสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ ตรงนี้คณะกรรมการคือคุณตรัสวิน จิตติเดชารักษ์ ก็ทำงานต่อไปอย่างเต็มที่ โดยที่เราเองมีอุปนายกฝ่ายต่างประเทศคือ คุณปราบดา หยุ่น มาสานงานและประสานกับคุณตรัสวิน ผมก็บอกกับคุณตรัสวินว่า นโยบายต่างๆ หรืองานที่ทำไว้ก็ทำต่อไปอย่างเต็มที่จนจบงาน เพราะว่างานนี้เป็นหน้าตาของประเทศ ตรงนี้ไม่มีปัญหา สมาคมเป็นตัวช่วยสนับสนุนคุณตรัสวินและ กทม.
PUBAT Charity ก็ต้องทำต่อไป โดยต้องขยายฐานออกไปมากขึ้น จากนี้ต่อไปในการขอรับบริจาคหนังสือจากสมาชิกนั้น คงจะต้องลดลง เพราะเมื่อเราทำ Charity แล้ว ควรใช้เงินของสมาคมซื้อหนังสือของสมาชิกดีกว่า เป็นการช่วยเหลือเขา ไม่ใช่ว่าเราไปบริจาคหนังสือให้เขาแล้ว สมาคมได้หน้า โดยที่สำนักพิมพ์ซึ่งบริจาคไม่ได้อะไรเลย ผมเห็นว่าควรที่จะซื้อหนังสือจากสมาชิกดีกว่า ให้สมาชิกได้ขายหนังสือบ้าง เพราะเราทำหนังสือขาย ไม่ได้ทำหนังสือแจก
+ การรณรงค์เรื่องส่งเสริมการอ่าน และความร่วมมือต่างๆ กับหน่วยงานของทั้งภาครัฐและสมาคมอื่น วางไว้ในทิศทางไหน
นโยบายเรื่องการอ่าน การอ่านไม่ใช่นโยบายของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องทำ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ก็พยายามที่จะช่วยทำ ตอนนี้ก็นัดเจอกับ กทม. ว่า กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก จะขับเคลื่อนไปอย่างไรต่อ เพราะที่ผ่านมา คนตั้งความหวังไว้เยอะมาก ผลที่กลับมาก็ดีดกลับมา กทม. แรง ทำให้ กทม. ไม่สบายใจ ผมเองก็ไม่เคยรู้โครงสร้างของเขา แต่ว่าจะใช้ความคิดความสามารถของตัวเองเข้าไปเจรจาดูว่า เขาจะทำอะไรบ้าง อย่างน้อยๆ ผมก็มีความในใจ อยากให้เขาสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์สถานของกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก คือตั้งพิพิธภัณฑ์สิ่งพิมพ์และตัวอักษรไทยของ เหมือนกับครั้งหนึ่งเราเคยเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์แล้วก็มีหมู่บ้านนักกีฬา ก็น่าจะมีอะไรสักอย่างที่บ่งบอกว่า เราได้มาเพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลก ผมเชื่อว่า งบประมาณที่ กทม. มี สามารถทำได้ เหมือนกับที่ ดร.พิจิตต รัตกุล ได้ทำหอศิลป์กรุงเทพฯ ณ ตอนนั้นไม่มีใครเห็นหรอก แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันเป็นหน้าตาของ กทม. เช่นเดียวกันกับพิพิธภัณฑ์นี้ ซึ่งมีภาคเอกชนศึกษามาแล้ว ซึ่งถ้า กทม.สนใจ ก็มีสถานที่ตรงอาคารถนนราชดำเนิน เราได้ทำอะไรที่เกี่ยวกับการอ่าน ไม่ใช่ว่าหมดแล้วหมด ส่วนการที่จะทำให้ศาลาว่าการเก่าเป็นห้องสมุด ก็ไม่ใช่เรื่องสร้างสรรค์ เพราะการจะสร้างห้องสมุดมันควรจะมีมานานแล้ว
ส่วนการเปิดประตูเพื่อร่วมมือกับสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวกับหนังสือ ถ้าเราไปย้อนดูเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านไป สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เป็นสมาคมที่ร่วมมือกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมภาษาและหนังสือฯ สมาคมล่ามฯ สมาคมห้องสมุดฯ และอื่นๆ เยอะที่สุด แต่ว่านโยบายนี้ได้ถูกเปลี่ยนไปเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว เบนเป้าไปมีความสัมพันธ์กับสหพันธ์การพิมพ์ฯ หรือไปให้น้ำหนักกับสมาคมที่เกี่ยวกับการผลิต ซึ่งผมเรียกว่า สมาคมฮาร์ดแวร์ แต่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เป็นสมาคมซอฟต์แวร์ แล้วทำไมเราจึงไปละเลยกลุ่มสมาคมที่เป็นซอฟต์แวร์ด้วยกัน ซึ่งควรหวนกลับมาให้ความสำคัญในส่วนนี้ด้วย สหพันธ์การพิมพ์ฯ ก็ถือเป็นภาคหนึ่งของสมาคมในแง่ของภาคธุรกิจ แต่ภาคของความคิดคือ ภาคของสมาคมนักเขียนฯ สมาคมนักแปลฯ ต่างๆ ซึ่งต้องแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแรกเป็นภาคการผลิตหรือภาคอุตสาหกรรม ภาคที่ 2 คือภาคของความคิด ซึ่งสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ก็ต้องสามัคคีกับพวกเขา เราจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ ร่างกายมีแต่ตัว แต่ขาดสมองไมได้ ต่อไปนโยบายนี้จะกลับมา เพราะในหลายปีที่ผ่านมา เราวางน้ำหนักให้พวกเขาน้อยเกินไป นี่เป็นสิ่งที่เราต้องทำต่อ
กรณีโลจิสติกส์ คือเขามีการสัมมนาหรือเสวนาและมีผลการศึกษาออกมา ต้องมาดูความเป็นไปได้ว่า จะดีหรือไม่ เพราะการทำ บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่า จะเป็นอย่างไร คือสมาคมของเรานั้น มีผู้ประกอบการรายเล็กๆ มาก ซึ่งบางครั้งระบบคิดของเขาและรายเล็กบางรายก็ให้สายส่งเป็นคนจัดการให้ เราเองก็ไม่ได้เป็นเจ้าภาพว่าทุกอย่างต้องมาทำเองหมด การลดต้นทุนการขนส่งหรือโลจิสติกส์ ซึ่งต้องมาดูว่าคิดได้แล้วจะแปรมาเป็นการปฏิบัติได้ไหม เพราะจำเป็นต้องมีสมาชิกจำนวนหนึ่ง แล้วการเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคก็ไม่ได้เปลี่ยนกันง่ายๆ สำคัญที่สุดก็คือ แทนที่เราจะพูดถึงเรื่องการลดต้นทุนโลจิสติกส์ มานั่งคิดกันว่า ทำอย่างไรให้หนังสือของเราขายได้ดีกว่า เพราะถ้าสินค้าของคุณมีความต้องการในตลาดสูง โลจิสติกส์เขาก็ไม่สนใจ
ภารกิจอันดับต่อไป จะต้องผลักดันให้สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมให้ได้ เพราะปัจจุบันนี้ ไม่สามารถเข้าไปเป็นสมาชิกได้ ทั้งที่ในแต่ละปี อุตสาหกรรมหนังสือมียอดขายเป็นหลักแตะที่ 20,000 ล้านบาท เพราะความสำคัญของสภาอุตสาหกรรม ต้องให้หนังสือถูกบรรจุเป็นอุตสาหกรรมของประเทศ เพราะเป็นอุตสาหกรรมของความคิด ซึ่งมีมูลค่าที่ประเมินไม่ได้ แม้ตัวเลขจะออกมาที่ 20,000 กว่าล้าน แต่มูลค่าของความคิดมีมูลค่ามากกว่านั้น เพราะมันเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้น ผมจะพยายามผลักดันสมาคมให้เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมให้ได้ ซึ่งจะพยายามลองทาบทามดูว่า เพราะอะไรเขาถึงไม่รับเรา ทั้งที่มียอดขายเป็นหลักหมื่นล้าน
+ ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นนายกสมาคม คุณเป็นประธานจัดงานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ช่วยเล่าถึงตรงนี้หน่อย
ความสำเร็จเกิดจากเครือข่ายประชาสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย นี่คือพลังของโซเชียลมีเดีย เราทำโดยเอาร้านหนังสือขนาดเล็ก 16 ร้านมาก่อน ช่วงแรกเป็นการทดลองทำเฉพาะร้านที่คุยกันรู้เรื่อง เพราะเกิดทำแล้วหลุดล้มเหลวมา เขาจะได้ไม่ด่าเรา ก็เลยเอาเพื่อนเอาคนรู้จักก่อนว่า ทำไหม ซึ่งทั้งหมด ผมในฐานะประธานจัดงาน ผมใช้เงินไปประมาณ 3,000 กว่าบาท คือจ่ายค่าแผ่นผ้าประชาสัมพันธ์ไป 5 ผืน ออกแบบโดยคุณปราบดา หยุ่น แล้วก็หนังสือที่สำนักพิมพ์ต่างๆ เอามาแจกร่วมกิจกรรม คือทุกคนช่วยกัน
ผลที่ได้คือ ร้านหนังสืออิสระเขาก็ดีใจที่ช่วงนั้นมีคนซื้อหนังสือที่ร้านเขามากขึ้น ร้านฟิลาเดลเฟีย ที่อุบลฯ ก็เขียนมาบอกว่า การจัดงานครั้งนี้จะอยู่ในใจเขาตลอดไป เขาดีใจมากที่งานนี้ทำให้คนรู้จักร้านหนังสือของเขา ซึ่งงานคราวนี้ทำให้ร้านหนังสือเล็กๆ มีความหวัง เพราะคนมาอุดหนุนและเข้าร้านมากขึ้น ปีหน้า 2557 สมาคมอาจจะช่วยเขาจัด คืองานพวกนี้มันไม่ทำให้ร้านหนังสือใหญ่กระเทือน เพราะว่ากลุ่มหนังสือหรือกลุ่มลูกค้าเป็นคนละกลุ่มกัน แล้วความสำเร็จของงานนี้ไม่ได้เกิดจากการที่เราลงมือทำเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากร้านหนังสือแต่ละร้านเขาทำกิจกรรมของเขาด้วย ไม่ใช่ว่าจัดเฉยๆ ซึ่งมันชี้ให้เห็นว่า เราลงไปช่วยเขาแล้ว เขาก็ไม่ได้งอมืองอเท้านะ เขาจัดกิจกรรมและการเสวนาของเขาให้มีความเคลื่อนไหว
เพราะฉะนั้น 7 วันที่จัดงาน ทุกอย่างในร้านหนังสือเหล่านั้นมีกิจกรรมเคลื่อนไหวทั้งหมด พอมีคนรู้จักร้านเขามากขึ้นก็มีคนอยากมาอุดหนุน สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาในทุกภาคส่วนของสังคมได้หมด แต่ว่าทำให้คนกลุ่มหนึ่งเริ่มอยากจะทำ และผมเชื่อว่าการจัดกิจกรรมร้านหนังสืออิสระขนาดเล็กฯ จะทำให้คนที่อยากจะเปิดร้านหนังสือ กล้าจะเปิดมากขึ้น ซึ่งเราไม่ได้ช่วยในเรื่องยอดขายของเขาหรอก แต่ช่วยกระตุ้นให้คนรู้จักร้านเขา และเรียกร้องให้คนซื้อหนังสือในบ้านเกิดตัวเอง ซึ่งอยู่ในโครงการร้านหนังสือในบ้านเกิด
+ การขับเคลื่อนนโยบายที่น่าจะถือว่าเป็นหัวใจหลักของสมาคมก็คือ การจัดงานบุ๊กแฟร์ประจำปี ตรงนี้มีการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง
พูดง่ายๆ ว่า เราเพิ่มความหลากหลาย หนึ่ง-ให้งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมีความหลากหลายมากขึ้น สอง-ในการจัดงานหนังสือทุกงานต้องให้ความรู้กับประชาชนบ้าง ไม่ใช่ว่าเป็นงานขายหนังสือย่างเดียว คุณพยายามที่จะขายของ แต่ไม่มีกิจกรรมที่ให้ความรู้กับประชาชน ไม่ได้ทำให้ประชาชนเห็นว่า หนังสือมีพลานุภาพอะไร เพราะฉะนั้น มหกรรมหนังสือระดับชาติ ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ผมตั้งใจจะจัดมหกรรมหนังสือเดือนตุลา โดยใช้ธีม '40 ปี 14 ตุลา' ที่ชี้ให้เห็นว่า หนังสือคือพลังที่เปลี่ยนแปลงสังคม ถ้าไม่มีหนังสือโลกนี้ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เคยมีคำพูดของฝรั่งว่า the Book Change you หนังสือเปลี่ยนคุณ and you change the world แล้วคุณจะเปลี่ยนโลกต่อไป คือหมายความว่า หนังสือเปลี่ยนคุณ แล้วคุณก็จะเปลี่ยนโลก เพราะฉะนั้นหนังสือนั้นมีพลังสำคัญต่อโลก สิ่งที่ดีอยู่แล้วในวงการหนังสือปัจจุบันนี้ คือปริมาณหนังสือที่ผลิตออกมาที่มีคุณภาพดีๆ มีมากขึ้น ทีนี่จากปริมาณที่มีมากขึ้นมันล้นตลาด ร้านค้าก็มีพื้นที่วางน้อย เพราะฉะนั้นคนทำหนังสือกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนทำหนังสือวรรณกรรมจริงๆ ก็เริ่มมาทำหนังสือประเภททำมือหรือผลิตตามจำนวนสั่ง คือขายเฉพาะกลุ่มของตัวเอง คนทำหนังสือก็พยายามช่วยตัวเอง เราต้องเข้าใจร้านหนังสือ โดยเฉพาะร้านหนังสือตามห้าง ค่าเช่าพื้นที่เขาแพง เมื่อหนังสือขายไม่ได้ก็เสียเวลาเขา เพราะฉะนั้นก็ต้องเอาหนังสือลงมาให้เร็วที่สุด
สิ่งที่เราต้องพึ่งพาในอนาคต คือร้านหนังสืออิสระขนาดเล็ก ซึ่งร้านหนังสือเหล่านี้ เราไม่เคยไปสนใจเขา เพราะว่าทัศนะผู้บริโภคของคนไทย ทุกคนจะเดินเข้าห้างหมด แต่ร้านเหล่านี้เข้าห้างไม่ได้ เพราะค่าเช่าพื้นที่แพง เป็นประการที่หนึ่ง ส่วนประการที่สอง ห้างบางห้างหรือซูเปอร์สโตร์มีสัญญาผูกขาดกับบางสำนักพิมพ์ที่คนอื่นเข้าไม่ได้ ร้านหนังสือเล็กๆ ที่เป็นร้านสแตน อโลน ซึ่งปัจจุบันที่มีจากเดิม 700-800 ร้าน ทั่วประเทศไทยตอนนี้เหลือไม่ถึง 100 ร้าน แล้วเป็นร้านที่คนทำต้องรักจริงๆ ถึงจะทำได้ เพราะว่าลูกค้าหรือคนอ่านต้องจงใจเข้าไป ร้านหนังสือในมหาวิทยาลัยบ้านเราก็ยังแทบจะไม่มี ไม่ต้องพูดถึงกิจการร้านมหนังสือในมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ค่อยมี ซึ่งจริงๆ แล้วทุกมหาวิทยาลัยต้องมีกิจการร้านหนังสือของตัวเอง แล้วร้านหนังสือในมหาวิทยาลัยก็ต้องเป็นร้านสแตน อโลน จริงๆ แต่ในบางมหาวิทยาลัย ร้านหนังสือกลับให้เครือข่ายธุรกิจหนังสือรายใหญ่เข้าไปบริหาร โดยใช้ชื่อมหาวิทยาลัยเขา ซึ่งจริงๆ แล้ว ตัวมหาวิทยาลัยเองต้องเป็นตัวขับเคลื่อนร้านหนังสือ แต่หลายมหาวิทยาลัยใช้วิธีให้ร้านเครือข่ายขนาดใหญ่เข้าไปทำ
+ แล้วมองภาพรวมธุรกิจหนังสือยุคปัจจุบันอย่างไร
ในอุตสาหกรรมหนังสือมีรายใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ส่วนรายเก่าก็ยังอยู่และเติบโตของเขาไป เพราะเขาสร้างกลุ่มลูกค้าของเขาเหนียวแน่น ซึ่งรายใหม่ก็เข้ามาเพื่อจะแชร์ หรือสร้างตลาดใหม่ๆ อย่าง การ์ตูน หรือรายเก่าบางรายอาจจะเห็นว่าการลงทุนกับหนังสือไม่คุ้มกับทุนที่ลงไปก็ยุบไป แต่จริงๆ แล้ว คนทำหนังสือไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายเล็ก รายใหม่หรือรายเก่า ทุกรายน่ายกย่องหมด เพราะหนังสือเป็นอุตสาหกรรมเดียวที่ไม่น่าทำ ถ้าทำกระเป๋าขาย วันหนึ่งกระเป๋าหมดเวลาหรือตกรุ่นล้าสมัยไปแล้ว สามารถนำไปขายราคาลด 50 เปอร์เซ็นต์ หรือขายราคาทุน คนยังแย่งกันซื้อ แต่หนังสือเล่มหนึ่งเล่มละ 500 บาท คุณต้องลงทุนไม่ต่ำกว่าเล่มละ 100-150 บาท ถ้าวันหนึ่งคุณขายไม่ออก แค่ 10 บาท คนยังไม่ซื้อของคุณเลย ต้องไปชั่งกิโลกขาย ดังนั้น คนทำหนังสือไม่ว่าจะเล็กใหม่ หรือว่าใหญ่เก่า ไม่ว่าจะเป็นซีเอ็ด มติชน นานมี นายอินทร์ ทุกรายน่ายกย่องหมด เพราะเขาทำหนังสือให้เป็นตลาดขึ้นมาได้ ซึ่งความจริงแล้วมันไม่น่าทำ ถ้าเราเอาคนทำธุรกิจกลุ่มคนเล่นหุ้น กลุ่ม VI Value Investor เขามองแล้วว่า ตลาดหนังสือนั้นไม่น่าทำ เพราะสินค้าเหลือเยอะ แต่ว่าคนรวยอยากทำหนังสือ ทุกคนอยากเป็นนักเขียน มองภายนอกเหมือนกับสวยหรู แต่ภายในคนทำหนังสือนั้นปวดร้าว
ในวันที่ฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 หนังสือเป็นธุรกิจเดียวที่ไม่ล้มระนาว เพราะคนอ่านหนังสือมากขึ้น ในยามที่เศรษฐกิจแย่ หนังสือจะขายดี แต่ในยามที่เศรษฐกิจดีหนังสือจะขายไม่ได้ คนเอาเงินไปซื้ออย่างอื่น ในยามที่เศรษฐกิจดีหนังสือจะแย่ จะสลับกัน เพราะคนมัวแต่ทำมาหากินโกยเงิน ไม่มีเวลามาดูหนังสือ แต่ในวันที่ฟองสบู่แตกก็ไม่รู้ที่จะทำอะไร อ่านหนังสือดีกว่า เพราะฉะนั้นหนังสือก็จะขายได้ ถ้าถามว่าอุตสาหกรรมหนังสืออยู่ได้ไหม เมื่อเทียบสัดส่วนคนอ่านหนังสือในบ้านเรากับประเทศเวียดนามแล้วของเรายังน้อย ตลาดหนังสือเราอยู่ได้ แต่ว่าการอยู่ได้ก็ต้องอยู่แบบมีการจัดการ จะอยู่แบบประเภทสะเปะสะปะทดลองทำแบบแต่ก่อนไม่ได้แล้ว การอยู่ได้ของสำนักพิมพ์และร้านหนังสือเล็กๆ ก็คือ ต้องให้เขามาออกบูธที่ศูนย์ประชุมฯ สิริกิติ์ได้ปีละ 2 ครั้ง เพราะการมาออกบูธที่ศูนย์ฯ สิริกิตติ์ ทำให้เขามีเงินหมุนเวียน เพราะได้เงินสดเข้ามาในการทำธุรกิจ อย่างน้อยๆ เขาสามารถต่ออายุไปได้อีกสัก 3-6 เดือน ซึ่งระยะเวลานี้สามารถมีจุดเปลี่ยนทำให้ธุรกิจของเขาดีขึ้นก็ได้
+ นั่นคือวิธีช่วยบรรดาสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่จะเป็นนโยบายของสมาคมในสมัยของคุณ
จริงๆ แล้ว การแก้ปัญหาที่เราแก้ให้เขา มันเป็นแค่จุดเดียวหรือนิดเดียวเองที่เราช่วยแก้ให้เขา แต่สิ่งที่เขาต้องแก้คือต้องแก้ที่ตัวเขาเอง การจัดการธุรกิจของเขา หนังสือของเขาที่ผลิตออกมา ทำหนังสืออะไรออกมา ทำไมสำนักพิมพ์กำมะหยี่อยู่ได้ เขาก็ต้องรู้วิธีการจัดการตัวเขาเอง ทำไมสำนักพิมพ์รหัสคดีอยู่ได้ เพราะฉะนั้นต้องถามดูว่า ก่อนจะให้คนช่วย ควรต้องคิดถึงตัวเองว่า ทำไม แจ่มใส สร้างจากสำนักพิมพ์เล็กๆ มาใหญ่โตได้ ทำไมเขาทำได้ เพราะฉะนั้นก่อนจะทำอะไรก็ต้องคิด แล้วก็อย่าไปคิดว่าทำแล้วต้องให้คนช่วย อย่าไปทำแบบพวกเกษตรกรที่จะไป
หวังให้รัฐบาลประกันราคาอย่างเดียวนั้นไม่ได้ คือมันมีแบบอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จอย่างเช่น สุวิทย์ ขาวปลอด เขาพิมพ์หนังสือขายเอง ใครซื้อเขาก็ขายขาด แล้วเขาก็ออกบูธเอง คนทำหนังสือถ้าตัวเองอยู่ได้ สมาคมเป็นแค่นิดเดียวในการช่วยเหลือเขา สามารถช่วยให้เขายืนหยัดหรือเสมอหน้าได้ที่ศูนย์ประชุมฯ สิริกิตติ์เท่านั้น แต่ร้านหนังสือเราช่วยเขาไม่ได้ เช่น ร้านขนาดใหญ่จะเอาเปอร์เซ็นต์เพิ่ม จะให้สมาคมช่วยเราช่วยไม่ได้ แต่สามารถช่วยในส่วนที่สมาคมดำเนินการอยู่ เช่น การขายหนังสือในบุ๊กแฟร์ที่ศูนย์ประชุมฯ สิริกิติ์ การขายหนังสือที่บุ๊กแฟร์ภูมิภาค อุบลฯ เชียงใหม่ ตรงนี้ช่วยได้ สมาคมช่วยได้ในกรณีที่ถูกฟ้องร้องกล่าวโทษ ในยุคของผมเป็นนายกสมาคม สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สมาคมต้องช่วยเหลือเขา เวลาสมาชิกถูกฟ้องร้อง สมาคมก็ต้องไปช่วยเจรจาช่วยเหลือว่า จะช่วยอย่างไรให้เขาต่อสู้น้อยที่สุด
สำนักพิมพ์เล็กๆ ก็ต้องช่วยตัวเขาส่วนหนึ่งได้แค่ส่วนเดียวคือ ส่วนที่สมาคมรับผิดชอบอยู่ แต่ส่วนการตลาดของเขานี่ต้องทำเอง สำนักพิมพ์เล็กๆ ต้องสร้างเครือข่ายของตัวเอง สร้างนักอ่านของตัวเองขึ้นมา วิธีการเช่นนี้ในอนาคตจะกำจัดหนังสือขยะด้วย เพราะคนก็ไม่อยากอ่าน คือโซเชียลมีเดียมีผลทำให้คนทำหนังสืออยู่ได้ ตัวอย่างของการศึกษาโซเชียลมีเดียให้ดูสำนักพิมพ์กำมะหยี่ หนังสือมูราคามิเขามีเอกลักษณ์ เขาขายของเขาได้มีแฟนชัดเจน ต้องสร้างเอกลักษณ์ขึ้นมา ดังนั้นทุกสำนักพิมพ์ต้องมีความพยายาม อย่าไปหวังว่า สมาคมจะช่วยเขาได้หมด
ความช่วยเหลือของสมาคม เราช่วยให้เขา หนึ่ง-มายืนทัดเทียมหน้าในศูนย์ประชุมฯ สิริกิติ์ได้ สอง-อนาคตจากนี้ต่อไป สมาคมผู้จัดพิมพ์จะเป็นตัวกลางในการขายลิขสิทธิ์หนังสือให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมานั้น สมาคมไม่เคยทำ ในยุคของผมจะให้สมาคมเป็นตัวกลางในการขายลิขสิทธิ์หนังสือให้สมาชิก คล้ายๆ เป็นฮับ โดยที่สมาคมจะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการให้ทุกอย่าง ตั้งแต่บทคัดย่อเป็นภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาอังกฤษ โดยที่สมาชิกไม่ต้องจ่ายเงิน คือเราจะใช้เอเยนซี่มาช่วยทำ โดยปีแรกมีการวางเป้าหมายว่า จะผลักดันขายลิขสิทธิ์หนังสือให้สมาชิกประมาณสัก 50 เล่ม และปีต่อๆ ไปก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ ค่าใช้จ่ายสมาชิกไม่ต้องเสียเงิน เพราะสมาคมจะจับคู่ให้สมาชิกพบกับเอเยนซี่โดยตรง เพียงแต่สมาคมจะเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ยให้เขาทำให้ โดยสมาคมจะส่งคาแร๊กเตอร์ของแต่ละประเทศว่า ประเทศนี้ต้องการหนังสือแนวไหน ซึ่งตัวนี้จะเป็นตัวช่วยให้สำนักพิมพ์ได้ส่วนหนึ่ง
เพราะที่ผ่านมา การขายลิขสิทธิ์หนังสือให้ต่างประเทศต่างคนต่างทำ และคนที่มีเงินมีปัจจัยมีความพร้อมจะขายได้มากกว่า แล้วคนที่ไม่มีความพร้อมก็ไปไม่ได้ ต่อไปนี้ สมาคมจะทำให้ สำหรับคนที่ไม่มีความพร้อมเอารายชื่อหนังสือมา แล้วเราจะให้เขาคัดหนังสือมาว่า ประเทศนี้ต้องการหนังสืออะไร หวังไว้อย่างเดียวว่า ในเอเชียหนังสือเราน่าจะขายได้ ตลาดใหญ่คือตลาดเอเชีย
+ คุณมีโครงการในฝันหรืออุดมคติหรือเปล่า
'1 อาคารสูง 1 ห้องสมุด' (One Buikding 1 Libraly) เป็นสิ่งที่ กทม. ควรจะทำมากที่สุด ตามแนวความคิดของผมก็คือ กทม.ควรจะเป็นผู้วางบทบัญญัติการก่อสร้างอาคารสูงทุกอาคารในกรุงเทพฯ โดยให้แก้เทศบัญญัติใหม่ว่า อาคารสูงเกินกี่ชั้นให้มีห้องสมุด ในเมื่อการสร้างอาคาร 1 อาคารใน กทม.มีการระบุว่า จะต้องมีห้องน้ำกว้างเท่าไหร่เท่าไหร่ พูดอย่างไม่สุภาพก็คือ จะสร้างตึกสัก 1 ตึกนั้น กทม. สามารถกำหนดไซส์ของห้องน้ำได้ แล้วทำไมจะกำหนดไซส์ห้องคิดบ้างไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ กทม. ควรจะทำอย่างยิ่ง
สำนักงานเขตทุกเขตก็ยังยังไม่มีห้องสมุดครบทุกเขต สิ่งที่ กทม. ควรทำในขณะนี้ การที่จะอนุญาตให้สร้างตึกทุกแห่งใน กทม. ได้ จะต้องเพิ่มเข้าไปว่า ถ้าคุณสร้างตึกเกินกี่ชั้น จะต้องสร้างห้องสมุดในตึกนั้นกี่ตารางเมตร แล้วให้ห้องสมุดนั้นอยู่ชั้นล่างของอาคาร ไม่ใช่ไปซ่อนอยู่บนชั้นสูงๆ คือในสิงคโปร์ ตึกของเขาทุกตึกจะมีห้องสมุด แล้วทำไมเมืองไทยจะทำไม่ได้ ปัจจุบันผู้ว่าฯ กทม. เปิดให้ทุกเขตสมารถอนุมัติการก่อสร้างตึกที่สร้างสูงไม่เกิน 6 ชั้นได้เอง โดยไม่ต้องผ่านส่วนกลาง เมื่อทำอย่างนั้นได้ แล้วทำไม กทม. ไม่ทำให้เมืองหนังสือโลก เปลี่ยนเทศบัญญัติให้เป็น 1 อาคารสูง 1 ห้องสมุด เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ว่า ครั้งหนึ่งได้ถูกกำหนดขึ้นเมื่อกรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลก และสามารถไปบอกกับคนทั้งโลกได้ว่า ใน กทม. นั้น มี 1 ตึกสูง มี 1 ห้องสมุดทั่วกรุงเทพฯ ต่อไปก็ไปแก้ไขกฎกระทรวงมหาดไทยให้ขยายไปที่อื่นๆ ด้วย แต่อันดับแรก กทม.ควรให้สำนักงานเขตทุกแห่งมีห้องสมุดเสียก่อน
+ หนักใจไหมในอีก 2 ปีข้างหน้า...
ถามว่า หนักอกหนักใจไหม จากผลการเลือกตั้งทำให้ผมดีใจระคนกังวลใจ เพราะเขาตั้งความหวังกับผมไว้สูง ซึ่งผมจะทำให้ดีที่สุด ผมเชื่อว่าการทำในสิ่งที่ดีที่สุดแล้วมันจะคุ้มครองเราเอง แล้วให้ความมั่นใจได้เลยว่า ผมเป็นคนที่เติบโตมาจากยุค 14 ตุลา 2516 ดังนั้น หนึ่ง-ความคิดเอาเปรียบใครนั้น ในสมองของผมไม่เคยมี สอง-ผมมีฐานะของผมไม่เดือดร้อน ผมจึงมีเวลาพอที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ว่าบางสิ่งบางอย่างก็ทำตามใจตัวเองมากไม่ได้ เพราะมีองค์ประกอบจากร้านค้า ร้านหนังสือ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีคนมาร้องเรียนกับผมหลายๆ เรื่อง ผมก็บอกกับเขาว่า บางครั้งการค้าเสรีบังคับเขาไม่ได้ แต่เราขอร้องเขาได้ ซึ่งผมจะพยายามขอร้องเขา ก็มีสิ่งที่ได้บ้างไม่ได้บ้าง
แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นและอยากได้มากที่สุดก็คือ ผมอยากจะให้คนเล็กๆ โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่ผมเป็นนายกสมาคมอยู่ อยากให้การล้มหายตายจากไปของสำนักพิมพ์และร้านหนังสือขนาดเล็กมีน้อยลง เพื่อให้เขาอยู่ได้ และจะพยายามไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในอุตสาหกรรมหนังสือของเราและสร้างขึ้นมาให้เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ ส่วนเรื่องการรณรงค์การอ่าน ผมบอกได้เลยว่า เป็นคำพูดที่ทุกคนพูดได้ จริงๆ แล้วเวลาปฏิบัตินั้นยาก ทำอย่างไรที่จะขอให้ละครทีวีไทยมีฉากพระเอกกับนางเอกเจอกันในร้านหนังสือได้ไหม ทำไมหนังหรือละครฝรั่งทำได้ แต่ละครไทยทำไม่ได้ ซีรีส์เกาหลีก็มี สิ่งเหล่านี้เราอยากบอกไปถึงผู้จัดละครด้วยว่า พระเอกนางเอกเจอกันในร้านหนังสือได้ไหม ไม่ต้องเจอกันในร้านอาหาร เพราะมีเยอะแล้ว ขอให้มีนวนิยายที่ความรักเกิดขึ้นในร้านหนังสือได้ไหม ซึ่งเมืองไทยไม่มี อย่างน้อยมีฉากที่ผ่านมา