ผู้บริหาร IDC Premier : ล้วงเคล็ดธุรกิจ ดนุพล กิ่งสุคนธ์ ผู้บริหาร IDC Premier

ผู้บริหาร IDC Premier

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 16.00 น. ตรงเป๊ะ เราก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณดนุพล กิ่งสุคนธ์ หนึ่งในกรรมการบริหารหนุ่มไฟแรงมากความสามารถของบริษัท IDC Premier จำกัด ที่มีเรื่องราวประวัติความเป็นมายาวนานและมีสำนักพิมพ์สาขามากมาย (ผู้บริหารในปัจจุบันได้แก่ คุณกรภัทร์ สุทธิดารา คุณสัจจะ จรัสรุ่งรวีวร คุณอรรณพ ขันธิกุล และคุณดนุพล กิ่งสุคนธ์ ที่เป็นผู้ถูกสัมภาษณ์) นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (The Publishers and Booksellers Association of Thailand : PUBAT) ในวาระ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558 อีกด้วย เราจะมาดูกันนะครับ ว่าผู้บริหารผู้นี้เค้ามีมุมมองอะไรดีๆ ในการบริหารงาน มาเล่าสู่ให้พวกเราฟังบ้าง โดยเริ่มจากตัวบริษัทที่คุณดนุพล ได้ก่อร่างสร้างมาตั้งแต่แรกเลยดีกว่านะครับ

 

 

อยากให้เล่าถึงความเป็นมาของบริษัทมาตั้งแต่อดีตหน่อยครับ
ประวัติความเป็นมาของสำนักพิมพ์ เริ่มตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ. 2539-2540 ผู้บริหารทุกคนเพิ่งจบกันมาใหม่ๆ ต่างคนก็แยกย้ายไปทำงานในบริษัทต่างๆ จากนั้นได้มารวมกลุ่มหุ้นส่วน 6 คน ทุกคนเป็นผู้ที่ชื่นชอบคอมพิวเตอร์เป็นหลัก พูดได้ว่าค่อนข้างว่างหลังจากเวลาทำงานช่วง 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น พอว่างก็เล่นเกมกันบ้าง ดูทีวีบ้าง เลยคิดกันว่ามีอะไรทำสนุกกว่านี้ไหม

คุณกรภัทร์ สุทธิดารา หนึ่งในหุ้นส่วนใหญ่ (นอกจากนี้ก็มี คุณสัจจะ จรัสรุ่งรวีวร คุณอรรณพ ขันธิกุล และคุณดนุพล กิ่งสุคนธ์ ที่เป็นผู้ถูกสัมภาษณ์) เขาเป็นนักเขียนมาตั้งแต่สมัยเรียนปี 4 ทำหนังสือเล่มแรกถ้าจำไม่ผิดคือ Windows 95 all-in-one เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่เป็น visual guide step by step เพราะสมัยนั้นหาหนังสือที่เป็น visual guide ได้ยากมาก หนังสือส่วนมากมีแต่บรรยายโวหาร อ่านยาก เลยมามองกันว่าพวกเรามีความสามารถที่จะเขียนหนังสือ visual guide ได้

จากนั้นจึงเริ่มทำหนังสือ visual guide หลังเลิกงาน โดยที่เขียนเอง จัดรูปเล่มเอง หาโรงพิมพ์เอง จัดจำหน่ายเอง เรียกได้ว่าผลงานของเด็กใหม่ แต่มีการตอบรับค่อนข้างดี จนได้รายรับมากกว่าเงินเดือนวิศวกรในสมัยนั้นเสียอีก จากนั้นจึงคิดกันต่อว่า ในเมื่อเราเป็นนักเขียน ก็น่าจะถนัดทำหนังสือมากกว่าจัด artwork จึงมารวมตัวกันตั้งบริษัท แล้วจ้างคนถนัดในงานมาทำดีกว่า เพราะเราไม่เก่งกราฟฟิกมากนัก

ช่วงเริ่มตั้งบริษัท ราวปีพ.ศ. 2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจพอดี แต่เราไม่ได้รับผลกระทบเลย แถมบริษัทยังมียอดขายเติบโตช่วงนั้นพอดี จึงคิดทำจริงจังดีกว่า โดยในช่วงแรกเราใช้วิธีการแบ่งทีม ทีมแรกบริหารบริษัทเล็กๆ ของเรานี้ ส่วนอีกทีมทำงานในบริษัทของตัวเองแล้วหาเงินมาอุด เริ่มจาก หสม. อินโฟเพรส มีหุ้นส่วน 7-8 คน มีออฟฟิศใต้คอนโดแจ้งวัฒนะใช้เก็บสต๊อก จากนั้นในปีพ.ศ. 2542 บริษัทเริ่มใหญ่โตมากขึ้นจากพนักงานยี่สิบกว่าคน ทำให้การแบ่งทีมเพียง 2 ทีม รับงานไม่ไหว จึงมีความต้องการหาคนมาบริหาร โดยที่รับเงินเดือนไม่แพง เราก็ลาออกจากงานมาบริหาร ใช้เงินเดือนน้อยกว่าในบริษัทอื่นที่เคยทำ พอถึงวันที่ 9 เดือน 9 (พ.ศ. 2542 ถ้าจำไม่ผิด) จึงได้เปลี่ยนจาก หสม. อินโฟเพรส เป็นบริษัท IDC Premier จำกัด

นอกจากนี้บริษัทยังเริ่มจัดจำหน่ายด้วยตัวเอง แต่มีบางจุดที่หนังสือเราไปไม่ถึง จึงเริ่มเดินทางทั่วประเทศไปร้านหนังสือต่างๆ เริ่มแรก หสม. อินโฟเพรสได้ทีมงานใหม่ๆ เลยคิดว่าน่าจะตอบสนองกลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย จึงขายแบรนด์ในนามอื่นด้วย ได้แก่ อินโฟเพรสที่เป็นคู่มือคอมพิวเตอร์ IT Easy เป็นหนังสือคู่มือการใช้งานคอมพิวเตอร์อย่างง่าย Digi Art เป็นแบรนด์เกี่ยวกับ artist, photoshop, 3D และ Dev Book เป็นคู่มือของโปรแกรมเมอร์ และแบรนด์ TechXcite รอบรับ gadget โทรศัพท์มือถือ เราก็ทำมาเรื่อยๆ จนเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้วก็ได้สร้าง brand น้องใหม่เพิ่มอีกคือแบรนด์ Think Beyond มีที่มาจากผู้บริหารได้ไปเรียน MBA แรกๆ ก็เรียนแค่ไม่กี่คน แต่สุดท้ายก็ชวนกันไปเรียนจนครบทุกคน แล้วร้อนวิชาว่าเรื่องของบริหารธุรกิจน่าเอามาเล่า เอามาเขียน ที่ผ่านมาก็ยังไม่ค่อยมีหนังสือด้านนี้ หรือมีแต่พออ่านแล้วก็ไม่ถูกใจ เลยมาสร้างแบรนด์รองรับเกี่ยวกับบริหารธุรกิจ ในชื่อ Think Beyond นั่นเอง ซึ่งมีไว้ตอบสนองทั้งการบริหารธุรกิจ แนวคิดทางศาสนา และพัฒนาความสามารถส่วนบุคคล เช่น การบริหารคน พัฒนาความจำ

พวกเราได้เคยทำวรรณกรรมด้วย แต่ทำแล้วเจ๊ง ไม่ถนัดด้านนี้ จึงกลับมามองตัวเอง มองว่าตัวเองถนัดด้าน How to ศึกษาเรื่องราวต่างๆ เพื่อสอนคนอื่น แต่เรื่องการบรรยายอารมณ์ไม่ถนัดนัก และจากโครงสร้างธุรกิจเดิมที่แยกแบรนด์ออกมาจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันตลาดคอมพิวเตอร์เล็กลง การมีแบรนด์จำนวนมาก ทำให้ต้องโปรโมทเยอะเกินไป จึงรวมเป็นอินโฟเพรสกรุ๊ปเพียงแบรนด์เดียว โดยมี Think Beyond ทำหน้าที่บริหารจัดการสื่อ มีแบรนด์น้องใหม่ล่าสุดคือ Read Comics ทำการ์ตูนความรู้สำหรับเด็ก แบรนด์นี้มีที่มาคล้าย Think Beyond คือผู้บริหารได้แต่งงานและมีลูก เขาก็เลยอยากทำหนังสือดีๆ สำหรับสอนลูก โดยมีจุดมุ่งหมายว่าถ้าลูกเรายังสอนให้ไม่เก่งจะไปสอนใครได้ (แต่ผมยังไม่มีลูกก็อาจจะอินน้อยหน่อย (หัวเราะ)) นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ย่อยอีกสองแบรนด์คือ M-MONEY ช่วยให้ผู้คนมีเงินมากขึ้น (M-MONEY หมายถึง Make More Money) ในกรณีลูกจ้างอยากขายของออนไลน์ หรืออยากหาช่องทางทำเงินโดยไม่ออกจากงานประจำ เนื่องจากเด็กสมัยใหม่ไม่มีทุนทำธุรกิจเสริม แต่ก็อยากหาเงินเพิ่ม และแบรนด์ Melonbook เป็นหนังสือที่มีเรื่องราวไว้พักพิงใจ เช่น เรื่องเกี่ยวกับแมว เนื่องจากในปัจจุบันเศรษฐกิจการเมืองไทยทำคนเครียดกันเยอะ และ Melonbook นี้ไม่ใช่หนังสือตลก แต่เป็นหนังสือที่อ่านแล้วได้อารมณ์เหมือนได้ออกไปพักผ่อนริมชายหาด

มีเรื่องราวที่เราทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็มีนะ ที่ผ่านมาเราเคยทำแมกกาซีนคอมพิวเตอร์รายเดือนชื่อ Comnow แต่สู้ราคาพิมพ์ไม่ไหว แล้วมีหนังสือต่างประเทศเปิดหัวที่มาขายในไทยเป็นแพ็ค แต่เราขายได้นิดเดียว พอทำได้ 2-3 ปี Comnow ก็ปิดตัวไป ส่วนแบรนด์ I Square ตัวบริษัทยังอยู่ แต่ผลิตภัณฑ์ CD-Training ที่สอนวิธีใช้คอมพิวเตอร์ แรกๆ ก็ขายดี แต่พอ DVD ราคาถูกลง CD ก็ไม่มีใครสนใจ รวมทั้งธุรกิจขาย CD มี vat สร้างความวุ่นวายในการดำเนินการ ตอนนี้ I Square รับจ้างเขียนโปรแกรม พัฒนาเว็บไซต์เพียงเท่านั้น

แต่ละแบรนด์ที่เลือกทำเกิดจากความชอบกับเรื่องใกล้ตัว ?
ใช่ครับ เพราะอะไรที่ชอบ เรามักจะทำออกมาได้ดีเสมอ และไม่ค่อยท้อ ถึงแม้ว่าจะหนักหนาสาหัส ก็ยังลุยกับมันต่อไปได้

แล้วมีวิธีดูตลาดแนวโน้มอย่างไรครับ ?
อย่าง M-MONEY เราเห็นแนวโน้ม ว่าคนส่วนใหญ่สนใจธุรกิจออนไลน์กันเยอะ นำเสนอว่าทำแบบนี้นะ ใช้วิธีง่ายๆ นะ แนวคิดนี้ต่อยอดมาจากตอนทำ Think Beyond เล่มที่ขายดีคือ เล่นหุ้นออนไลน์ไม่ยาก เป็นเล่มประวัติศาสตร์ของสำนักพิมพ์ ที่ขายดี 100 อันดับแรกของ SE-ED ถึงเคยเพลทหลุดทำใหม่ไม่รู้ตั้งกี่รอบ ใครเคยอ่านแล้วจะรู้ว่าง่ายมาก เค้ามักจะพูดกันว่ามันง่ายขนาดนี้เลยเหรอ แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในทัศนคติผู้บริหาร ว่าเรื่องง่ายๆ นี่แหละที่เรามักละเลยกัน ใครก็ตามที่ผ่านสิ่งนั้นมาแล้วจะละเลยไม่สอนกันต่อ ส่งผลให้เนื้อหาส่วนนี้หายไปจากตลาด คนอื่นไม่คิดทำเนื้อหาง่ายแบบนี้เนื่องจากกลัวถูกเหยียดหยาม ว่าเฮ้ย ทำไมทำอะไรง่ายจัง แต่มุมมองของพวกเราคือหนังสือง่ายนี่แหละที่ทำยากที่สุด เพราะต้องย่อยให้คนอื่นเข้าใจด้วย ตัวอย่างเช่น เรื่องเมาส์หายไปไหน ? คือเมื่อเราจับเมาส์ แล้วเมาส์มันหายไปจากจอ เกิดจากการตวัดเมาส์แรงไป ทั้งเคยจัดอบรมการใช้คอมพิวเตอร์เนื้อหายากๆ แต่คนเรียนก็มักโวยวายว่าเมาส์หายๆ เราต้องคอยไปบอกทุกคน จากนั้นจึงนำปัญหานี้มาลงในการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น ว่าควรวางมือแบบไหน เป็นเรื่องเบื้องต้นง่ายๆ แต่มีจดหมายหลายฉบับตอบกลับว่าดีมาก ซึ่งเรื่องเบื้องต้นนี้ทำให้เราก้าวไปสู่เรื่องอื่นต่อไปได้

อยากฝากไปถึงเพื่อนนักเขียนว่าถ้าทำตามความต้องการของตลาด เราจะรวย แต่ถ้าทำตามใจนักเขียน หรือตามใจบก. เราจะจน นักเขียนใหม่ไฟจะแรงมาก ทั้งยังมีความอัดอั้นในบางเรื่อง ว่าต้องการทำหนังสือแบบนี้ๆ ให้ระวังไว้ว่าเป็นความต้องการของนักเขียนไม่ใช่ของตลาด บางคนก็ต้องการสร้างความแตกต่างจากในตลาด แต่ความแตกต่างต้องมีความต้องการรองรับ ไม่เช่นนั้นจะเป็นความแปลกประหลาดไปเสีย เช่น หากรับทำสีรถสะท้อนแสง อาจขายได้บางกลุ่ม แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการสีแบบนั้น

มีวิธีมองตลาดอย่างไรครับ ?
เริ่มจากกลุ่มลูกค้าก่อน ว่าเราหรือผู้ที่ทำหนังสือมีความใกล้ชิดกับคนกลุ่มไหน ให้เลือกจากสิ่งที่คุ้นเคยก่อน ว่าเขาชอบเนื้อหาประเภทไหน แล้วเอาความต้องการมาสร้างไตเติ้ลหนังสือ ค่อนข้างได้ผลว่าเมื่อทำออกมาแล้วจะขายได้ เนื้อหาหลายอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบันมีการนำมาลงในอินเทอร์เน็ตปริมาณมาก เราสามารถค้นหาข้อมูลในกูเกิลแปปเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลดน้ำหนัก การทำ photoshop c5,เดี๋ยวนี้มีภาษาไทยให้อ่านเต็มไปหมด ใครเริ่มทำหนังสือของตัวเองขอให้อ่านเยอะๆ จะได้เห็นแนวทางทำหนังสือของตัวเอง การอ่านจะทำให้เราพบว่ามีส่วนใดขาดตกบกพร่องบ้าง การมีเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ว่าไม่มีช่องทาง แต่จะมีสิ่งที่ยังขาดหายไปเสมอ เราต้องสร้างสิ่งนั้นขึ้นมา แล้วสิ่งนั้นจะมีคุณค่าในตลาด โดยห้ามลอกเลียนแบบ ข้อนี้เป็นข้อห้ามรุนแรงที่สุดในวงการนักเขียน

เรื่องของเทรนด์ตลาดอีกหัวข้อ คือการทำธุรกิจจะไม่นิ่ง จะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไป ที่ผ่านมาบางช่วงหนังสือคอมพิวเตอร์ขายดี บางช่วงเรื่องเกี่ยวกับศาสนาขายดี 2-3 ปีก่อนเป็นงานเขียนปูมหลังของดาราที่ขายดี ปัจจุบันนี้เป็นเรื่องการลงทุนในหุ้น ดังนั้นการทำหนังสือ ต้องดูว่าเทรนด์ตลาดอะไรกำลังมา

ในช่วงสัมภาษณ์ ณ เวลานี้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ เศรษฐกิจบ้านเรากำลังแย่ ตอนนี้อาจจะไม่เห็นภาพความล่มสลายแบบปีพ.ศ. 2540 แต่ความรุนแรงอาจไม่ต่างกัน เมื่อถึงเวลานั้น หนังสือเกี่ยวกับความฟุ่มเฟือยอาจลดทอนลงไป หนังสือเด่นๆ อาจเป็นพวกประหยัดอดออม และหนังสือที่หลุดจากโลกความจริงไปแล้ว ไว้ตอบสนองคนที่รับความเครียดไม่ไหว จะขอหลุดไปอยู่ในโลกที่ไม่มีความเครียดในช่วงเวลาหนึ่ง คนที่เล่นหุ้นจะเจ็บตัวแล้วเลิกเล่น ไม่น่าเกินกลางปีพ.ศ. 2557 นี้ นี่เป็นการคาดการณ์ส่วนตัว ถ้าถามเทรนด์เฉพาะทางอาจไม่สันทัด แต่เทรนด์ย่อยมีทั้งเทรนด์แมว ที่มีคนเปิดเผยว่าชื่นชอบแมวผ่านหน้าเฟซบุ๊กมากขึ้น มีเรื่องการเลี้ยงลูก จากการที่มีคนเอารูปลูกขึ้นเฟซบุ๊กเยอะแล้ว ส่วนเรื่องขายของออนไลน์น่าจะยังเป็นประเด็นสำคัญอยู่ เพราะไม่ได้ลงทุนสูง และในการต้อนรับ AEC ตอนนี้มีเพียงหนังสือบอกประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ คนอื่นกำลังดูอยู่ว่า AEC แล้วเกี่ยวกับตนยังไง ? แล้วตลาด ธุรกิจ AEC จะเป็นยังไง ? ฉันไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก ดังนั้นใครที่ทำหนังสือสอนเรื่องธุรกิจในอาเซียนโดยตรงและเข้าใจง่าย ทำได้จริง จะมาแรง

สุดท้ายแล้ว พอมีอะไรฝากทิ้งท้ายไว้บ้าง ?
ถึงนักเขียน : การเป็นนักเขียนที่ดีได้ ต้องเป็นนักอ่านที่ดีมาก่อน ถ้าอ่านไม่มากพอจะไม่รู้ว่าหนังสือที่ดีเป็นแบบไหน ถึงผู้ประกอบการสำนักพิมพ์ : ต้องอดทน พยายาม และสู้ๆ ครับ สิ่งหนึ่งที่สำนักพิมพ์ต้องคิดหาทางออก คือในยุคดิจิตอลนี้ สำนักพิมพ์มีอยู่เพื่ออะไร ? ถ้าไม่มีข้อดี สุดท้ายนักเขียนก็ทำหนังสือส่งตรงถึงผู้บริโภคเองได้ ดังนั้นสำนักพิมพ์ควรสร้าง standard พัฒนา standard ว่าเรื่องที่ผ่านสำนักพิมพ์ของท่าน จะมีระดับที่สูงกว่างานที่ไม่ผ่านสำนักพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายโวหาร ตรวจสอบคำผิด balance เนื้อหา และ artwork ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทำเองได้ยากถ้าไม่ผ่านสำนักพิมพ์ และอย่าลืมสร้างแบรนด์ ถ้าท่านมีความสามารถ แต่ไม่มีตัวตนก็ไม่มีประโยชน์

ถึงร้านหนังสือ : สู้ๆ เช่นกันครับ เพราะต้องต่อสู้กับ modern trade และ chain store แต่ร้านหนังสือก็ยังคงมีเสน่ห์เสมอ ถ้าหาเสน่ห์เจอจะอยู่รอด ร้านไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งประเทศ ร้านมีขนาดเล็กก็ได้ ถ้ามีรูปแบบเป็นของตัวเอง อาจเป็นร้านที่มีแต่วรรณกรรม หรือหนังสือธรรมะมากที่สุด ถ้าถนัดสิ่งไหนก็เป็นแบบนั้นได้

และขอฝากถึงคนในวงการ : ผมไม่เชื่อว่าการแปลความว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด ว่าสมควรต้องเป็นแบบนั้น ต้องจดจำมันไว้แบบนั้น การอ่านไม่จำเป็นต้องอ่านจากหนังสือ ถ้าคนไทยอ่านน้อยจริง คนไทยคงไม่เล่นเฟซบุ๊กเป็นอันดับต้นๆ ของโลกหรอก แต่ผมคิดว่าอาจจะยังไม่มีหนังสือดีๆ มาให้อ่านอย่างเพียงพอ คนเราคงไม่ลดการเล่นเฟซบุ๊กหรือสื่อออนไลน์ แต่สามารถเพิ่มการอ่านหนังสือได้ ถ้าหนังสือดีๆ มีให้อ่านมากเพียงพอ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ จากบทสัมภาษณ์ทั้งหมดที่คุณดนุพล ได้บอกเล่ามาผ่านพวกเราเพื่อนำมาลงในคอลัมน์คุยนอกรอบของเว็บไซต์นี้ ซึ่งการสัมภาษณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากที่คุณดนุพลเพิ่งประชุมกับคณะกรรมการของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยได้ไม่นาน ตัวเลขวันเดือนปีของเหตุการณ์อาจคลาดเคลื่อนจากวันจริงบ้าง เนื่องจากคุณดนุพลได้เล่าย้อนเหตุการณ์ไปนานมาก ตั้งแต่สมัยเพิ่งเรียนจบกันมาใหม่ๆ นั่นเลยทีเดียว (อย่างที่บอกไปแล้วว่าหลังจากคุณดนุพลเพิ่งประชุมเสร็จ คุณดนุพลได้ให้สัมภาษณ์สด โดยไม่ผ่านสื่อสไลด์ หรือเอกสารอ้างอิงอื่นใดทั้งสิ้น)

แต่เหนืออื่นใด ทางเราที่เป็นผู้สัมภาษณ์ได้เล็งเห็นว่าสิ่งสำคัญที่คุณดนุพลได้ถ่ายทอดออกมาในครั้งนี้ คือแนวคิดของผู้ที่มีประสบการณ์ตรง ในการสร้างบริษัท ผ่านความล้มเหลว ผ่านความสำเร็จ แม้กระทั่งช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ก็เคยผ่านมาแล้ว ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้มีค่ามากหากทุกคนได้เข้ามาอ่าน และจะมีค่ายิ่งหากผู้อ่านคือคนในวงการเดียวกัน หรือแม้แต่กำลังจะก้าวเข้ามาในวงการใหม่ๆ ก็ตาม อย่างที่มีกูรูหลายคนเคยกล่าวไว้ว่า “คนเก่งเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง คนฉลาดเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น แต่คนสำเร็จเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองและผู้อื่นด้วย !!” สุดท้ายแล้วทางเราต้องขอขอบคุณ คุณดนุพล กิ่งสุคนธ์ ที่ได้สะเวลาบอกเล่าประสบการณ์และแนวคิด มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

 

โดย นิรันดร์ อนุรักษ์พงศธร

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ