ก้าวแรกอย่างโลดแล่น กับนิยายกำลังภายใน : ก้าวแรกอย่างโลดแล่น กับนิยายกำลังภายใน

ก้าวแรกอย่างโลดแล่น กับนิยายกำลังภายใน

นอกเหนือจากหนังสือชุดต่าง ๆ ของ ป. อินทรปาลิต เช่น ชุดศาลาโกหก ชุดศาลาปีศาจ และศาลาระทมที่ขายดิบขายดีแล้ว ยังมีหนังสืออีกชุดหนึ่งของประพันธ์สาส์นซึ่งจัดเป็นหนังสือขายดีและทำรายได้ส่วนใหญ่ให้กับทางสำนักพิมพ์ คือ ชุดนิยายจีนกำลังภายในของ ว. ณ เมืองลุง หรือ ชิน บำรุงพงศ์

ชิน บำรุงพงศ์ เป็นชาวพิษณุโลกโยกำเนิด ก่อนหน้าที่จะมาเป็น ว. ณ เมืองลุง เคยทำงานเป็นครูสอนภาษา ตั้งแต่อายุได้ราว ๒๐-๒๑ ปี สอนทั้งโรงเรียนที่พิษณุโลกบ้านเกิด และโรงเรียนภาษาจีนที่ตรอกจันทน์ กรุงเทพฯ รวมทั้งยังเป็นครูสอนภาษาไทยชาวจีนที่อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากหลังสงครามโลก เป็นครูอยู่ได้ ๑๐ กว่าปี จนปีพ.ศ. ๒๕๐๔ ชินเปลี่ยนงานใหม่เป็นเสมียนที่จังหวัดพัทลุง ด้วยรายได้ที่ดีกว่า

จุดหักเหที่ทำให้สนใจงานแปลนิยายจีนเริ่มจากเสียงด่าเช้าด่าเย็นของแม่ค้าข้างบ้าน เพราะลูกชายเอาแต่นั่งอ่านหนังสือตลอดทุกวันทั้งเช้าเย็น เมื่อสนิทมากขึ้น จึงได้หยิบหนังสือของเด็กข้างบ้านมาดูบนปก เขียนชื่อเรื่องว่า มังกรหยก เมื่อพลิกดูไปมาจึงแน่ใจว่าเป็นเรื่องเดียวกับที่เคยอ่านมาแล้ว แต่เป็นฉบับภาษาจีน เพราะไม่เคยอ่านนิยายจีนที่แปลเป็นไทยมาก่อน จึงไม่รู้ว่านักอ่านคนไทยติดนิยายจีนกันมากขนาดนั้น เมื่อมีโอกาสดีในช่วงตรุษจีน ซึ่งต้องกลับขึ้นไปเยี่ยมแม่ จากพัทลุงไปพิษณุโลกระหว่างทางมาต่อรถที่กรุงเทพ ฯ จึงไปพบ คุณเวช กระตุฤกษ์ ที่สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนามปากกาอมตะ “ว. ณ เมืองลุง” ซึ่งเจ้าตัวอธิบายไว้ว่า หมายถึง “วิ่งมาจากพัทลุง”

นักอ่านนิยายจีน เริ่มรู้จักผลงานของ ว. ณ เมืองลุง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ จากเรื่อง กระบี่ล้างแค้น ของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ เป็นผลงานของ ออเหล่งเซ็ง นักประพันธ์ชาวไต้วัน นิยายจีนที่พิมพ์จำหน่ายกันในขณะนั้น ส่วนมากพิมพ์เป็นเล่มบางขนาด ๑๖ หน้ายก ราคาเล่มละ ๓ บาท เนื้อในกระดาษบรู๊ฟ ส่วนปกเป็นกระดาษปอนด์ชนิดบาง พิมพ์ ๓ สีสดใส รูปปกของ ว. ณ เมืองลุง เป็นฝีมือการวาดของ ร.ต.อ. ประศาสน์ ผลาธัญญะ ซึ่งถูกไล่ออกจากราชการ เนื่องจากไปจับฝิ่นของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงหันมาวาดปกให้สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ย้ายมาแปลลงรายวันให้ที่เดลินิวส์ และที่ประพันธ์สาส์น จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ลูกชายก็ยังวาดภาพปกให้ ว. ณ เมืองลุง เรื่อยมา จำนวนปกของนิยายกำลังภายในเรื่องหนึ่งจะมีหลายปก เนื่องจากจะทยอยพิมพ์เป็นเล่มเล็ก ๓ บาท ออกวางจำหน่ายก่อน จึงต้องมีทั้งปกของเล่มเล็กที่แตกต่างกันไปทุกเล่ม เมื่อนำมารวมเป็นปกแข็งก็จะวาดภาพหน้าปกกันใหม่เพื่อนำไปพิมพ์เป็นแจ๊คเก็ตห่อปกแข็งอีกทีหนึ่ง

 

 

นวนิยายกำลังภายในเล่มบาง ๓ บาท ออกเป็นรายวันบ้าง ราย ๒ วันบ้าง โดยจะไล่เลขหน้าแต่ละเล่มต่อกันไป เช่น เรื่องวังบาดาล เมื่อพิมพ์ครั้งแรกเป็นเล่มเล็ก เริ่มหน้าแรก ๑-๓๒ เล่ม ๒ ก็จะเริ่มที่หน้า ๓๓ เมื่อเล่มไหนขายไม่หมดก็จะดึงหน้าปกออกแล้วนำมาเย็บรวมเล่มรวมกันเป็นปกแข็ง ซึ่งช่วยลดต้นทุนไปได้มาก เล่มหนึ่งๆ จะพิมพ์ประมาณ ๖,๐๐๐ – ๗,๐๐๐ เล่ม สำหรับการตั้งราคามีวิธีจูงใจ คือหากเป็นเรื่องออกใหม่เล่มแรกจะขาราคาถูกลงครึ่งหนึ่ง คือ ขายเล่มละ ๑.๕๐ บาท เพื่อจูงใจให้ลูกค้าลองซื้อไปอ่านก่อน พอลูกค้าติด จึงขึ้นเป็นเล่มละ ๓ บาท เทคนิคการพิมพ์เป็นเล่มเล็กเกินไป เมื่อประมารปี พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยเปลี่ยนมาพิมพ์เป็นปกแข็งแทน

เนื่องจากงานแปลของ ว. ณ เมืองลุง ขายดีมากและพิมพ์ออกจำหน่ายทุกวัน ทำให้คุณเวช แห่งเพลินจิตต์ แนะนำให้เปลี่ยนมาเป็นวิธีพูดอัดใส่เทป แล้วจึงให้พนักงานพิมพ์ต้นฉบับตามเทปอีกทีหนึ่ง ซึ่งวิธีการทำงานเช่นนี้ใช้เรื่อยมาจนกระทั่งย้ายมาอยู่ที่ประพันธ์สาส์น เทปม้วนหนึ่งพิมพ์ออกมาเป็นต้นฉบับกระดาษฟุลฤสแก๊ปจะได้ราว ๑๒ หน้า ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ค่าต้นฉบับของ ว. ณ เมืองลุง สูงถึงหน้าละ ๔๐ บาท

ภายหลังจากเพลินจิตต์เริ่มร่วงโรย นักเขียนดังๆ ประจำค่าย เช่น มนัส จรรยงค์ เลียว ศรีเสวก สุวัฒน์ สรดิลก ยศ วัชรเสถียร จำนง วงศ์ข้าหลวง แขไข เทวินทร์ เสนีย์ บุษปะเกษ ฯลฯ ก็ต้องส่งผลงานให้กับสำนักพิมพ์อื่นมากขึ้น รวมทั้ง ว. ณ เมืองลุง ก็หันมาส่งงานให้กับประพันธ์สาส์น โดยมีผลงานเรื่องแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เรื่อง ลุ้ยเท้งอิ้น และ มีทั้งสิ้นราว ๕๐ เรื่อง จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ผลงานกำลังภายในของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น มีเพียงงานของ ว. ณ เมืองลุงเท่านั้น ไม่ได้พิมพ์งานของนักแปลคนอื่น ซึ่งนอกจาก ว. ณ เมืองลุง ขณะนั้นก็มี น. นพรัตน์ ซึ่งแปลให้สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าก็เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมา แต่นับได้ว่า ช่วงที่พิมพ์หนังสือกำลังภายใน เป็นช่วงที่รุ่งเรืองมากช่วงหนึ่ง เพราะขายดิบขายดี จนคนต้องมาเข้าแถวรอซื้อถึงหน้าสำนักพิมพ์ งานแปลกำลังภายในส่วนใหญ่ประพันธ์สาส์นจะส่งให้โรงพิมพ์โพธิ์สามต้นของ เที่ยง เพียรประกิจ เป็นผู้พิมพ์ ซึ่งเถ้าแก่โรงพิมพ์โพธิ์สามต้นจะต้องขับมอร์เตอร์ไซต์มารับต้นฉบับด้วยตนเอง เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วบรรดาร้านหนังสือจะมาเข้าแถวเพื่อรอซื้อหนังสือไปขายที่หน้าโรงพิมพ์ ในช่วงนั้นงานของ ว. ณ เมืองลุง จะประทับตรา “ขายขาด” อยู่ด้านหลัง คือซื้อแล้วไม่รับคืน ซึ่งอาทร เตชะธาดา ลูกชายของสุพล เล่าว่า ช่วงเด็กๆ เขาจะเป็นคนคอยช่วยประทับตราขายขาดที่หนังสือ และเห็นถึงความนิยมของนิยายกำลังภายในได้ชัดเจน แม้ตัวเขาเองก็ยังอ่านจนติดมาแล้วหลายเรื่อง ไม่น่าเชื่อว่าตัวละครสำคัญ ๆ ในเรื่อง ที่ชื่อจำยาก เขายังจำได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงทุกวันนี้เลยด้วยซ้ำ

นี่นับเป็นก้าวที่ฮึกเหิมของประพันธ์สาส์นกับการหันมาจับงานกำลังภายใน และขายดิบขายดี แต่ก็ไม่เพียงเท่านั้นกับงานสำนักพิมพ์ ยังมีเรื่องอื่นที่ต้องทำ ยังต้องก้าวต่อไปเรื่อย ๆ ยังต้องเฟ้นหานักเขียนคุณภาพมาสร้างงานดีๆ ให้ผู้อ่านอย่างไม่เคยหยุดพัก แม้ในช่วงทศวรรษที่ ๑ ของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จะขับเคลื่อนไปด้วยผลงานของนักเขียนชั้นครู และนิยายกำลังภาย

ในแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สุพล เตชะธาดา ผู้คุมบังเหียนของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นในขณะนั้นคิดจะทำ คือการ ออกสิ่งพิมพ์แนวใหม่ที่มีชื่อว่า “ขวัญจิต”

 

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ