Biblio เพราะหนังสือไม่ใช่เพียงแค่หน้ากระดาษ : ผลิตหนังสือด้วยหัวใจ สร้างคุณค่าและส่งต่อความหมายให้คนอ่าน

Biblio เพราะหนังสือไม่ใช่เพียงแค่หน้ากระดาษ

 

Biblio คือสำนักพิมพ์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงที่สถานการณ์ COVID19 กำลังระบาดหนัก ขณะที่หลายธุรกิจโดนผลกระทบจนต้องโบกธงขาวยอมแพ้และปิดตัวไป แต่ Biblio กลับยังยืนหยัดที่จะสร้างสรรค์หนังสือเนื้อหาดีๆ ออกมาเสิร์ฟให้คนอ่าน ด้วยความเชื่อว่ายังไงหนังสือก็ยังเป็นที่ต้องการของคนที่อยากอ่านมันอยู่เสมอ จากวันนั้นจนถึงวันนี้กว่าสามปีครึ่งที่สำนักพิมพ์แห่งนี้ค่อยๆ เติบโตแข็งแรงและกลายเป็นที่นิยมของนักอ่านจำนวนไม่น้อย หนังสือที่ผลิตออกมาขึ้นแท่น Best Seller หลายต่อหลายเล่ม ความสำเร็จทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การบริหารของคุณจีระวุฒิ เขียวมณี ผู้ที่เป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการ เขาพาสำนักพิมพ์ฝ่าสมรภูมิไวรัสเลวร้ายและเติบโตมาจนถึงวันนี้ได้อย่างไร ไปฟังจากเขาพร้อมๆ กัน

 

“ผมทำงานเกี่ยวกับด้านสื่อสารมวลชนมาตลอด นับเวลารวมๆ ก็ 18-19 ปี ช่วงเริ่มต้นผมทำงานเป็นนักข่าวเว็บไซต์ในเครือผู้จัดการ ก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์และวิธีคิดจากการเป็นนักข่าวเป็นคอลัมนิสต์มา จนปี 2540 ได้มาทำที่สำนักพิมพ์ Mars Space เป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานแนวอินดี้ พิมพ์งานนอกกระแสบ้าง พิมพ์หนังสือแปลบ้าง ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการทำพ็อกเก็ตบุ๊กในช่วงเริ่มต้นของผม แต่จุดที่เรียกว่าเป็นก้าวที่ทำให้หลายๆ คนเริ่มรู้จักหนังสือที่ผมทำก็ตอนที่ผมย้ายไปทำที่บริษัทโมโน เจนเนอเรชั่น เครือเดียวกับทาง Mono29 ที่หลายๆ คนรู้จักกัน ตอนนั้นบริษัทโมโนมีสำนักพิมพ์ที่เขากำลังพัฒนาอยู่ มีสื่อแมกกาซีนอยู่ แต่เขายังขาดพ็อกเก็ตบุ๊ก ผู้ใหญ่ที่นั่นก็ชักชวนให้ผมไปฟอร์มทีมไปทำสำนักพิมพ์ให้กับโมโนครับ”

 

คุณจีระวุฒิ เขียวมณี สำนักพิมพ์ Biblio

 

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาทำสำนักพิมพ์ของตัวเอง

“ผมทำอยู่ที่โมโนประมาณห้าปีครึ่งได้ก็เจอพิษเศรษฐกิจ ทางบริษัทมีนโยบายกระชับขนาดบริษัทเลยพิจารณาว่าจะไม่ทำสำนักพิมพ์ต่อ ผมเองก็อยู่ในแผนกที่เขาจะตัดออก แต่ตอนนั้นเราคิดว่ากำลังทำสำนักพิมพ์มาได้ดี มันเริ่มอยู่มือแล้ว เริ่มจะเป็นแนวทางที่ทำหนังสือที่มันตอบโจทย์ตลาดได้ พูดง่ายๆ คือเริ่มขายได้นั่นแหละ แต่พอถูกระงับก็เลยรู้สึกว่ายังไม่อยากทิ้งความรู้สึกในการทำหนังสือแล้วมันสนุก

ตอนนั้นก็มีหลายสำนักพิมพ์มาชักชวนให้ไปร่วมงานด้วยนะครับ แต่ผมมีภาพในหัวว่าผมอยากจะทำหนังสือประเภทไหน ทำหนังสืออะไร ซึ่งถ้าเราไปอยู่กับแบรนด์อื่นมันก็ต้องไปปรับตัวเองเข้าหาแบรนด์ ผมก็ไม่มั่นใจในการเอาความคิดตัวเองในเวลานั้นไปร่วมงานกับแบรนด์อื่น ผมก็เลยชักชวนคุณบิ๊ก-วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร ซึ่งเคยทำอยู่ที่โมโนด้วยให้มาทำสำนักพิมพ์ด้วยกัน คือตั้งแต่ต้นปี 2563 มกราคมผมออกจากโมโน พอกุมภาพันธ์ผมก็ตั้งสำนักพิมพ์เลย”

 

ตอนนั้นบางแบรนด์เริ่มปิดตัว สภาวะตลาดหนังสือก็ซบเซา ทำไมถึงตัดสินใจเปิดสำนักพิมพ์ในช่วงเวลานั้น

“ตอนนั้นมันมีความมั่นใจในแนวทางอยู่ คือตอนนั้นเหมือนไฟเรากำลังมา ตอนอยู่โมโนเราทำหนังสือและมีหลายเล่มที่มันติดตลาด เราเริ่มรู้แนวทาง เราเริ่มมองเห็นภาพของกลุ่มคนอ่านในยุคปัจจุบันว่ามันจะเป็นยังไง ผมยังมองเห็นภาพอนาคตของตัวเองกับการทำสำนักพิมพ์อยู่เลย มันก็เลยยังเป็นความมั่นใจต่อเนื่องมากกว่าว่าเราเห็นนะว่าเราจะทำหนังสือแบบไหน และเราเห็นว่ากลุ่มผู้อ่านเราจะเป็นใคร

ถึงแม้ว่าบรรยากาศในตอนนั้นมันอาจจะดูวังเวงไปสักนิดสำหรับการเปิดแบรนด์ใหม่ของสำนักพิมพ์ แต่ตอนนั้นผมค่อนข้างจะเชื่อในเซนส์ของตัวเองมากว่ามันเป็นไปได้ มันมีโอกาสทางธุรกิจอยู่ ทั้งในฐานะคนทำธุรกิจ และในฐานะบรรณาธิการที่อยากจะทำหนังสือ ผมมองเห็น Opportunity ของช่องทางนี้ ทำยังไงก็ได้เราต้องสร้างแบรนด์ขึ้นมาเพื่อไปหาช่องว่างตรงนั้นให้ได้ ก็เลยเกิดมาเป็น Biblio ครับ”

 

คุณจีระวุฒิ เขียวมณี สำนักพิมพ์ Biblio

 

ทำไมถึงตั้งชื่อว่า Biblio

“คำว่า Biblio รากศัพท์มันมาจากภาษากรีก คำว่า Biblio มันก็แปลว่าหนังสือนี่แหละ ตอนที่ตั้งสำนักพิมพ์ตอนนั้นมันมีชื่ออยู่เป็นร้อยเลยที่เราตั้งขึ้นมา แต่ผมรู้สึกว่าผมอยากได้ชื่อที่คนเห็นแล้วนึกถึงหนังสือ นึกถึงคำว่าหนังสือเป็นอย่างแรก เราไม่อยากตั้งว่า book เราก็เลยไปหาศัพท์และเจอรากศัพท์ของคำว่าหนังสือ และก็เจอคำว่า Biblio นี่แหละ ผมมองว่า Biblio เป็นชื่อที่ออกเสียงแล้วน่ารัก และในความหมายของมันก็เป็นคำว่าหนังสือ ซึ่งมันก็ต่อยอดเป็นความหมายในหลายๆ แบบได้

ตอนที่ผมตั้ง Biblio มาแล้วผมรู้สึกว่ายังอยากให้แบรนด์ของผมเป็นแบรนด์ที่แสดงถึงตัวอักษรทั้งหมดได้ในโลโก้เดียวกัน สังเกตว่าเราจะเห็นคำว่า Biblio ทั้งหมด เราจะไม่ได้เห็นแค่ตัว B ตัวเดียว ทั้งหมดคุณจะเห็นคำว่า Biblio แล้วคนก็จะนึกถึงว่านี่คือแบรนด์ของสำนักพิมพ์เรา นี่คือสิ่งที่ผมตั้งใจตั้งแต่วันแรกในการตั้งสำนักพิมพ์ ทำยังไงก็ได้พอเห็นแบรนด์ Biblio แล้วคุณจะนึกถึงหนังสือ แล้วพอคุณได้อ่านหนังสือของเราคุณก็จะเห็นความหมาย”

 

พอเปิดตัวไม่นานก็เจอ COVID19 เลย ตอนนั้นสำนักพิมพ์โดนผลกระทบอะไรบ้าง

“ตอนนั้นเราเพิ่งออกหนังสือเล่มแรก ‘Last Letter จดหมายรักฉบับสุดท้าย’ ก็เจอโควิดปิดเมืองรอบแรกเลย ตอนนั้นบททดสอบที่เราเจอหนักก็คือร้านหนังสือปิด ร้านหนังสือที่เป็นสแตนด์อโลนก็เหลือน้อยมากที่เปิด แล้วช่วงที่คนต้องคัดกรองตัวเอง ระมัดระวังตัวเองในการออกจากบ้านมาก มันยากอยู่แล้วที่คนจะเข้าร้านหนังสือ ซึ่งตอนนั้นเราเตรียมอีกสองสามเล่มจะออกตามมาแล้ว ผมต้องเดินหน้าต่อ เพราะถ้าเราหยุดเราอาจจะไม่ได้เดินอีกเลย

คือผมมองว่าสถานการณ์ตอนนั้นมันน่าตกใจก็จริง แต่คนไม่ได้ไม่อยากอ่านหนังสือนี่ คนยังอยากอ่านหนังสือเหมือนเดิมแต่เขาเข้าถึงหนังสือที่เขาอยากอ่านไม่ได้ มันก็เลยกลายเป็นช่วงเติบโตของออนไลน์ เป็นช่วงที่คนต้องทำความคุ้นเคยกับการซื้อผ่านออนไลน์ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าหลังโควิดแล้วออนไลน์ก็ยังแข็งแรงอยู่ สถานการณ์โควิดตอนนั้นมันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเข้าถึงหนังสือของผู้บริโภคไปด้วย ซึ่งเราคิดว่าเราตัดสินใจถูกมากที่ไม่เบรกตัวเองไว้ แล้วเราก็เกาะกระแสการขายออนไลน์ในช่วงตั้งไข่ของสถานการณ์โควิดในเวลานั้นไปด้วย ทำให้เรามีความสามารถมีความคุ้นเคยกับการขายผ่านช่องทางออนไลน์มาจนถึงวันนี้”

 

คุณจีระวุฒิ เขียวมณี สำนักพิมพ์ Biblio

 

คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการปั้นแบรนด์ Biblio

“การทำให้ทีมงานทุกคนมองไปในเป้าหมายเดียวกัน หรือทำหนังสือไปในมาตรฐานระดับสูงเดียวกัน มันต้องใช้เวลาในการเขย่าทีม ในการลองผิดลองถูกกัน ซึ่งตรงนี้ก็เป็นส่วนที่ยากในการจัดการภายใน แต่เรื่องที่ยากกว่าก็คือการจัดการภายนอก ก็คือสถานการณ์ที่เราต้องทำให้หนังสือของเรายังได้รับความสนใจจากผู้อ่านที่ค่อนข้างจะเปลี่ยนแปลงไปเร็ว คือสามปีที่แล้วเรามองภาพออกว่าคนจะสนใจหรือชอบไม่ชอบอะไร แต่ตอนนี้สามปีครึ่งผ่านมา คนอ่านก็เริ่มเปลี่ยนแปลงอีก เขาเข้าถึงหนังสือในกลุ่มที่เราคุ้นเคยมากขึ้นแล้ว

เราจะมีอะไรใหม่ๆ ไปดึงความสนใจเขามาได้อีกไหม หรือเราจะทำหนังสือเดิมๆ ที่มันเนื้อหาดีขึ้นกว่าเดิม หรือว่ามีอะไรที่แตกต่างจากเดิม มันมีคำถามเยอะแยะไปหมดว่าเราจะพัฒนาหนังสือที่เราทำขึ้นมายังไง ผมต้องกลับไปศึกษาคนอ่านว่าตอนนี้เขากำลังมองหาเนื้อหาแนวทางแบบไหน หนังสือแบบไหนที่เขาอยากจะซื้อไปเก็บไว้ที่ชั้นหนังสือที่บ้าน และปีหน้าเราจะทำหนังสืออะไรที่จะเซอร์ไพรส์คนอ่านได้ ในแง่ที่คนอ่านรู้สึกว่ายังสนใจมาก อยากอ่าน เราจะรักษาความรู้สึกแบบนี้ของคนอ่านที่มีต่อเราได้ยังไง นี่แหละคือความท้าทาย มันเป็นความยากและเป็นความท้าทายด้วยครับ”

 

มีเกณฑ์ในการเลือกต้นฉบับที่จะนำมาตีพิมพ์ยังไง

“คือผมก็เหมือนทุกๆ คนที่มองหนังสือจากความน่าสนใจเป็นหลัก แต่ว่ามันน่าจะเกิดจากการทำซ้ำบ่อยๆ การมองภาพรวมของตลาดหนังสืออยู่บ่อยๆ ว่าตอนนี้คนกำลังสนใจอะไร คนกำลังโหยหาเนื้อหาประเภทไหน มันเป็นการคาดการณ์ที่ต้องมองไปอีกห้าถึงหกเดือนข้างหน้าหรือหนึ่งปีข้างหน้าด้วยซ้ำ เพราะหนังสือที่เราตัดสินใจในตอนนี้ว่าจะทำกว่ามันออกอีกทีก็อีกหลายเดือน มันคือการคาดการณ์ว่าหนังสือที่เรากำลังจะเลือกมาทำเนี่ย ในอนาคตอันใกล้มันยังอยู่ในความสนใจอยู่

ผมพยายามอยู่ทุกวันในการที่จะศึกษาตลาดของหนังสือในบ้านเราว่าตอนนี้เขากำลังสนใจอะไร หรือตลาดต่างประเทศว่ามันมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะว่าสุดท้ายแล้วกระแสวัฒนธรรมมันเป็นเรื่องที่มันไหลผ่านไปมาทั่วโลกได้ อะไรทำให้เคป็อปดังไปทั่วโลกได้ ก็เพราะเกิดการไหลผ่านทางวัฒนธรรมนี่แหละ ในภาคการอ่านก็เหมือนกัน หนังสือหลายเล่มที่ได้รับความนิยมไม่ว่าจะในฝั่งเอเชียหรืออเมริกาก็ตาม มันจะไหลผ่านไทย แต่ทีนี้พอกระแสมันไหลผ่านไม่ใช่ว่าบ้านเราจะรับทุกอัน เราก็ต้องเอาตะแกรงไปดักกระแสเหล่านั้นไว้แล้วคัดกรองว่าอันไหนคนอ่านน่าจะชอบ ส่วนอะไรที่ไม่ใช่เราก็ปล่อยผ่านไป”

 

คุณจีระวุฒิ เขียวมณี สำนักพิมพ์ Biblio

 

หนังสือเล่มไหนที่ทำยากที่สุด

“เล่ม ‘LEONARDO DA VINCI’ อันนี้คือหนังสือที่ผมว่ามันทำยากทั้งกระบวนการแปล การตรวจเช็กข้อมูลความถูกต้อง กระทั่งกระบวนการผลิตที่เราค่อนข้างให้ความสำคัญ มันยากไปหมดเลย ตอนที่ทำมาหนังสือหนาด้วย ไซส์ใหญ่ ต้องทำราคาที่สูงด้วยเพราะว่าต้นทุนมันมาแพง เราก็ยังหวั่นใจเลยว่าคนจะอยากอ่านประวัติเลโอนาร์โด ดา วินชีเหรอ เพราะมันถูกเล่าในหนังสือประวัติศาสตร์หลายๆ เล่มแล้วด้วยซ้ำ แค่เสิร์ช Google ก็เจอบทความเป็นร้อยแล้ว ตอนนั้นผมไม่ได้มั่นใจมาก แต่ผมเชื่อว่าหนังสือที่เราทำมันดีในแง่ที่ว่ามีเนื้อหาที่ทำให้คนอ่านมองเห็นดาวินชีในอีกมิติหนึ่ง มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยหลายอย่างที่ไม่เคยเล่า

เราคิดว่าถ้าไม่ทำเราก็จะไม่รู้เลยว่าเราสามารถที่จะทำหนังสือแนวอัตชีวประวัติในแบบของ Biblio ขายแล้วมีคนสนใจหรือเปล่า มันเกิดคำถามว่าถ้าเราไม่ทำเราจะไม่รู้เลย แล้วผมจะเป็นพวกที่ไม่ยอมให้ตัวเองไม่รู้ ผมพยายามที่จะลองก่อน อย่างน้อยเราจะได้รู้ แต่ว่าก็เป็นการลองที่รอบคอบนะ เราก็วางแผนในการทำโปรดักชั่นให้ดีที่สุด ให้คนสามารถซื้อเก็บได้ ก็กลายเป็นว่าขายหมดทั้งสองอิดิชั่นเลย ทั้งปกอ่อนปกแข็ง แต่ว่ามันไม่ได้หมดทีเดียวนะ มันใช้เวลาการขายค่อนข้างยาว แต่มันก็ทำให้เรารู้สึกว่านี่แหละคือพลังของคนอ่าน ถ้ามันเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเรามั่นใจว่าเรานำเสนอเรื่องที่ดีอย่างรอบคอบแล้ว ยังไงก็มีกลุ่มคนอ่านที่เขาเข้าถึงได้อยู่”

 

มีส่วนไหนของ Biblio ที่คิดว่าอยากพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก

“เราเคยเจอปัญหาการทำงานเป็นเรื่องปกติในบริษัท ลำพังถ้ามีผมคนเดียวก็อาจจะแก้ไขไม่ได้ทุกเรื่อง แต่เรามีทีมงาน มีน้องๆ ที่ช่วยผมได้เยอะในการค่อยๆ ลบข้อผิดพลาดหลายๆ อย่าง เหมือนเราทำเช็กลิสต์จุดพลาดเราไว้แล้วก็ขีดฆ่าไปเรื่อยๆ เราอยู่ในกระบวนการนั้นอยู่

แต่ถ้าให้ผมตอบในมุมของจุดที่เรายังอยากรักษาไว้หรือพัฒนาได้อยู่ เราต้องการรักษาเพซของเราไว้อยู่ ความหมายก็คือเวลาเราวิ่งมันจะมีเพซของแต่ละคนอยู่ใช่ไหมครับ เรายังอยากรักษาระดับการวิ่งที่มันอยู่ในระดับที่เราพอใจกับมัน ทั้งคุณภาพหนังสือ ปริมาณของหนังสือ หรืออีเวนท์ต่างๆ ที่เราทำเพื่อสื่อสารกับคนอ่าน เรายังอยากรักษาระดับของคุณภาพเหล่านี้เอาไว้ครับ”

 

คุณจีระวุฒิ เขียวมณี สำนักพิมพ์ Biblio

 

มองก้าวต่อไปของ Biblio ต่อจากนี้ไว้ยังไงบ้าง

“ตอนนี้เรามีซัพแบรนด์ 4 สำนักพิมพ์ เราอาจจะไม่ได้ทำหนังสือเยอะเท่ากับสำนักพิมพ์เจ้าตลาด แต่เราอยากจะสร้างเซกเมนต์ใหม่ๆ ของตลาดหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือแปลหรือหนังสือของไทยเองในอนาคต ถ้าตอนนั้นมันเกิดตลาดที่น่าสนใจขึ้นมาและแนวทางของ Biblio มันสามารถตอบโจทย์ตลาดนั้นได้ เราก็อยากจะลองสร้างดู คือผมไม่ได้มอง Biblio ในลักษณะที่ว่าเราจะต้องใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ผมมองว่าเราจะทำอะไรที่มันท้าทายมากกว่า ผมมองที่ผลงานมากกว่า

ผมมองว่าเราจะทำหนังสือแนวใหม่ได้ไหม หรือเราอาจจะทำธุรกิจที่มันเกี่ยวข้องกับสำนักพิมพ์ขึ้นมาอีกอันหนึ่งเพื่อตอบโจทย์ไอเดียอะไรหลายๆ อย่างที่มันไม่สามารถทำได้ในการทำหนังสือขึ้นมา อย่างเช่นเราอาจจะทำ merchandise บางอย่างที่เกี่ยวกับการอ่านหนังสือในแบบของ Biblio ซึ่งเอาจริงๆ เราก็ทำมาตลอดในลักษณะของของแถม หรือกระทั่งของแถมในโปรโมชั่นงานหนังสือ แต่ในอนาคตข้างหน้ามันอาจจะเกิดเป็นช็อปขึ้นมาก็ได้ ซึ่งผมมองว่ามันมีความเป็นไปได้ที่เราจะลองทำอะไรหลายๆ แบบขึ้นมาครับ”

 

Writer

Au Thitima

Content Creator ผู้รักในการอ่าน ชอบในการเขียน และคลั่งไคล้สัตว์สี่ขาที่เรียกว่าแมว