ความ ฝัน หากไม่ลงมือทำก็คงเป็นได้แค่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ โดยเฉพาะความฝันที่จะมีนิตยสารที่ทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ต้องอาศัยความกล้า ความมุ่งมั่น และความรักในสิ่งที่ทำมากทีเดียว ‘ธุรกิจหนังสือ’ ฉบับนี้ จึงพาผู้อ่านมาทำความรู้จักกลุ่มคนทำหนังสือหน้าใหม่ ที่กำลังสร้างพื้นที่ของตัวเองในวงการหนังสือกับ พิชญา เพ็งจันทร์ และ ธนวรรณ แสงวิสุทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง O-N Magazine ฟรีก๊อปปี้ออนไลน์เลือดใหม่ที่น่าจับตามอง
“เริ่มมาจากว่าเราอยากทำงาน เขียน อยากทำนิตยสาร ไม่ได้จบตรงสาย ก็เลยต้องขวนขวายหาโอกาส และได้เข้าร่วมโครงการ TK Young Writer 2013 พอได้เข้าไปแล้วก็เหมือนเปิดโลกของการเป็นนักเขียนและคนทำหนังสือไปเลย หลังจากนั้นก็ลองไปสมัครงานตามนิตยสาร สำนักพิมพ์ต่าง ๆ แต่ก็ไม่มีที่ไหนตอบรับ เพราะเราไม่มีพอร์ตโฟลิโอ ไม่มีอะไร ตอนนั้นเราก็ยังทำนิตยสารออนไลน์กับเพื่อน แต่ว่ามันก็มีปัญหาแล้วก็เลยเลิกทำไป” พิชญา เพ็งจันทร์ บรรณาธิการหน้าใหม่เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของความฝัน
ความคิดดี ๆ มักจะแวบเข้ามาตอนที่เราไม่ตั้งใจเสมอ ไอเดียเริ่มต้นของนิตยสารเล่มนี้ก็เช่นกัน เธอตอบด้วยเสียงหัวเราะว่า “เราคิด O-N ขึ้นมาในห้องน้ำ แล้วเราก็นึกถึงหน้าเพื่อนที่ชอบทำงานเขียนเหมือนกัน มีความฝันคล้ายกัน และมีอะไรในตัวเอง ก็เลยชวนกันมาทำ มีทั้งพี่ น้อง เพื่อน เพื่อนของเพื่อน รวม ๆ แล้วประมาณ 20 กว่าคน บางคนเขียนคอลัมน์ด้วยแล้วก็ทำเลย์เอาต์ ทำกราฟฟิกด้วย แต่มีกองบรรณาธิการ 5 คน ที่ช่วยกันคิดคอนเซ็ปต์ ประชุมงาน ที่เหลือก็จะเป็นคอลัมนิสต์ไป”
แนวคิดที่อยากจะทำนิตยสารทำมือ เริ่มจากตอนที่พิชญาไปเที่ยวถนนคนเดินที่เชียงใหม่ แล้วบังเอิญได้ซื้อหนังสือทำมือ ชื่อ i-here มาเปิดอ่าน และคิดว่า ถ้าหากมีโอกาสได้ทำหนังสือของตัวเอง ก็อยากให้มีอารมณ์เหมือนกับหนังสือเล่มนี้ “เราอยากทำ O-N ให้มีอารมณ์เหมือนหนังสือทำมือมากที่สุด วาดด้วยมือ เขียนด้วยลายมือ มันดูเป็นงานของเรามากที่สุด ทุกคอลัมน์จะเป็นตัวตนของคนเขียน โดยที่เราแทบจะไม่แก้อะไรเลย อยากให้เป็นตัวตนของคนเขียนให้มากที่สุด” เสน่ห์ของหนังสือทำมือ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบเหมือนหนังสือเพื่อการขาย แต่ก็มีเสน่ห์และตัวตนของผู้ทำออกมาได้อย่างชัดเจนมากทีเดียว
All creators are dreamers - คนที่เป็นนักสร้างสรรค์ เป็นนักฝันมาก่อน คือสิ่งที่พิชญายึดถือมาตลอด ทำให้คอลัมน์และภาพรวมของนิตยสารออกมาเป็นภาพเชิงบวก อ่านแล้วได้แรงบันดาลใจ อยากจะทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง “เราเป็นคนที่เชื่อในความฝันมาก คนที่สร้างสรรค์เป็นนักฝันมาก่อน ส่วน O-N ก็เหมือนการเปิดสวิทช์ไปสู่ความฝัน”
หน้าปกและคนสัมภาษณ์ที่ O-N เลือกมาสัมภาษณ์นั้นอาจไม่ใช่คนในกระแสหลักที่มีคนรู้จักมาก แต่เป็นคนเล็ก ๆ ที่มีความสามารถ และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม เป็นแรงบันดาลใจต่อคนอื่นได้ เลือกกลุ่มเป้าหมายที่อายุใกล้เคียงกับทีมงาน คนเจเนอเรชัน Y หรือคนที่ทำในสิ่งที่แตกต่าง ไม่ค่อยเจอ และต้องมั่นคงในสิ่งที่ทำในระดับหนึ่ง ด้วยความที่แต่ละคนในทีมไม่ได้อยู่ด้วยกัน ไม่มีออฟฟิศ การประชุมหรือคุยงานล้วนดำเนินการผ่านอินเตอร์เน็ตทั้งสิ้น ทำให้การทำงานยากขึ้นไปอีก แต่ด้วยความรักในการทำหนังสือ และความผูกพันที่มีให้กัน ทำให้พวกเขาจับมือ เอาชนะอุปสรรค และผลิตนิตยสารออกมาได้เป็นฉบับที่ 8 และยังไม่มีที่ว่าจะหยุดพัฒนาตัวเองอยู่เพียงเท่านี้
แม้จะเริ่มจากการ ทำเป็น E – Magazine ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่ถ้าถามว่า อยากจะขยับขยายไปเป็นนิตยสารสำหรับขายจริงไหม พิชญาคู่ตอบด้วยน้ำเสียงที่มุ่งมั่นและแววตาทื่น่าเชื่อถือ “อยากทำมาก แต่ก็ต้องมีเงินมาสนับสนุนเพื่อนทุกคน ที่ร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน ถ้าหากจะทำนิตยสารจริง ๆ ก็ต้องมีโฆษณา แต่ตอนนี้เรายังไม่รับโฆษณาเพราะว่าแนวทางเรายังไม่ชัดเจน เราคิดว่า ถ้าเราไม่มั่นใจในตัวเองแล้วไปพูดให้ลูกค้าฟัง ก็ยากที่เขาจะเชื่อและให้ทุนเรา จริง ๆ มีคนจะช่วยเราเยอะ แต่ที่ยังไม่พร้อมคือเรามากกว่า บางคนก็บอกว่าไอเดียเรายังไม่เจ๋ง แต่ก็ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีกเยอะ”
เนื่องจากต้องการจะพิมพ์หนังสือ ให้กับเพื่อนสมาชิกทุกคนในทีม และเผยแพร่ผลงานของพวกตนออกสู่โลกภายนอก จึงได้มีการระดมทุนในการผลิตขึ้น และมีผลตอบรับจากนักอ่านมากพอสมควร ร้านหนังสืออิสระ “ตั้งงบไว้ 30,000 บาท พิมพ์ประมาณ 200 เล่ม ได้เงินเยอะกว่าที่คิดเอาไว้มากทีเดียว แม้จะไม่ถึงตามยอด แต่ก็ขาดไม่มาก ถือว่าเยอะมากสำหรับหน้าใหม่อย่างเรา มีคนช่วยแชร์เยอะ ก็จะมีทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จักมาช่วยเรา และเห็นว่าเรามุ่งมั่นกับการทำงานมาตลอด เรื่องระดมทุนอย่างจริงจังคงจะยังไม่มีในเร็ว ๆ นี้ ถ้าทำครั้งหน้าคงเป็นระบบสมาชิกไปเลย แต่เรื่องนี้ก็ยังต้องรอปรึกษาทีมงานและผู้ใหญ่ในวงการหนังสือดูก่อน ว่าเราควรจะทำอย่างไรต่อดี” ธนวรรณกล่างอย่างภูมิใจ
นิตยสารที่พิมพ์ออกมา ทีงาน O-N เลือกวางแจกตามร้านหนังสืออิสระ ห้องสมุด ต่าง ๆ กราฟฟิกดีไซเนอร์สาวตอบว่า “ในเบื้องต้นจะให้คนในวงการหนังสือรู้จักก่อน ส่วนที่เอาไปวางที่ร้านหนังสือก็มีคนสนใจ วางที่ไหนก็หมดตลอด” แม้เส้นทางแห่งความฝันของพวกเขาจะเพิ่งเริ่มต้น ยังต้องเจออะไรบนเส้นทางสายน้ำหมึกนี้อีกมาก แต่การลงมือทำทำให้ความฝันเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นแล้ว ทั้งคู่กล่าวทิ้งท้ายกับเราว่า “อยากให้คิดอะไรแล้วลงมือทำเลย ไม่ต้องกลัว ถ้าคุณเริ่มก็มีคนที่จะพร้อมช่วยคุณอยู่แล้ว มันไม่มีอะไรเสีย มีแต่ได้”
พวกเขาคิดและเชื่อเช่นนั้น All creators are dreamers คนที่เป็นนักสร้างสรรค์ เป็นนักฝันมาก่อน
ธุรกิจหนังสือ : สุพิเศษ ศศิวิมล
ภาพ : ภนุวัชร สุเมธี
All magazine เมษายน 2558