อังคาร กัลยาณพงศ์ : ศิลปินไทยผู้ได้รับการกล่าวขวัญถึงมาช้านานทั้งในฐานะเป็นจิตรกรและกวี

อังคาร กัลยาณพงศ์

 

     ศิลปินไทยผู้ได้รับการกล่าวขวัญถึงมาช้านานทั้งในฐานะเป็นจิตรกรและกวี อังคาร กัลยาณพงศ์ ผู้เป็นกวีไทยโดยเนื้อแท้ ทั้งในด้านความคิดและรูปแบบ อีกทั้งยังเป็นกวีที่มีความคิดเป็นอิสระ ไม่ถูกร้อยรัดด้วยรูปแบบที่ตายตัว จึงนับเป็นกวีผู้บุกเบิกกวีนิพนธ์ยุคใหม่อย่างแท้จริง

 

      โดยพื้นเพเดิมอังคารเป็นคนเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีผู้กล่าวว่าเป็นเมืองแห่งกาพย์กลอนอยู่แล้ว หลังศึกษาจบระดับมัธยมที่บ้านเกิด ได้เดินทางเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร อังคารโชคดีที่ได้เป็นศิษย์ของศิลปินใหญ่อย่าง ศ.ศิลป พีระศรี, อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ และ อ.เฉลิม นาคีรักษ์ ทำให้ได้ติดตามและร่วมงานกับอาจารย์ในการศึกษาค้นคว้างานด้านต่าง ๆ ทั้งศิลปกรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์

     

      ความเป็นกวีและจิตรกรนั้นเป็นพรสวรรค์ที่อังคารเองเชื่อมั่นและฝึกฝนมาตั้งแต่วัยเยาว์ เขาพูดถึงการเป็นทั้งจิตรกรและกวีของเขาว่า บทกวีและจิตรกรรมนั้นมาจากดวงใจดวงเดียวกัน

 

      "การวาดรูปกับการแต่งบทกวีต้องใช้ความคิดกับจินตนาการ อาจจะผิดกันในเรื่องเทคโนโลยีกับเทคนิค แต่ใช้จิตใจดวงเดียวกัน ทั้งงานเขียนรูปและเขียนหนังสือก็ต้องอาศัยมโนคติ บางคนเขาเรียก อิมเมจิเนชั่น ต้องมีจินตนาการความคิด เหมือนคนที่สร้างนครวัด เขาต้องมีภาพมาก่อนว่าทำอย่างไรจึงจะมีปราสาทขึ้นมา ถ้าเรามีมโนภาพกว้างใหญ่ไพศาล เราก็สามารถสร้างสรรค์อะไรที่ใหญ่โตขึ้นมา ถ้ามีมโนภาพคับแคบก็สร้างสรรค์อะไรอยู่ในกะลาเท่านั้น"

 

      การเกิดมาในโลกกวีของอังคาร เขาได้ผลิตผลงานที่สร้างความตื่นตัวและตื่นใจให้แก่วงวรรณกรรมไทยมาช้านาน จนเปรียบเทียบการเขียนบทกวีหรือบทประพันธ์เป็นเสมือนหนึ่งลมหายใจ ที่ทุกวันนี้ก็ยังคงหายใจอยู่

 

     "คนอื่นเขาอาจจะไปทำขนมครก ไปรับเหมาทางด่วน ไปทำอะไรก็ได้ แต่กวีต้องเป็นกวีอยู่ทุกลมหายใจ คือโดยหลักจริง ๆ แล้วผมยังเขียนบทกวีอยู่เรื่อย ๆ จะชำระของที่ดูไม่ค่อยเรียบร้อยให้เรียบร้อย ให้หมดจดขึ้น มีถ้อยคำที่ลงตัว คือพูดง่าย ๆ ว่า ถ้าเราตายไปแล้ว เราก็หมดโอกาสที่จะเปิดฝาโลงขึ้นมาชำระโคลงของเราให้เรียบร้อย คนที่เขียนกวี ถ้าบทกวีชิ้นใดไม่สมบูรณ์ ก็เหมือนเราไปปรโลกแล้วยังมีห่วงอยู่"

 

      แต่ในการจะสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ได้ดีนั้นก็ต้องมีอารมณ์ที่จดจ่ออยู่กับงานด้วย

      "โดยหลักการ การเขียนกาพย์กลอนต้องโปร่งใส ต้องใช้อิสระเสรี ถึงจะทำได้ดี ก็เหมือนทะเลเวลามีคลื่นลมมากเรือที่ลอยอยู่ก็สามารถจมได้ บางครั้งอารมณ์ไม่ดีก็ทำไม่ได้"


       ส่วนในด้านงานจิตรกรรมนั้น อังคารเรียนวิชาวาดเขียนได้คะแนนดีมาโดยตลอด จนได้รับคำบันทึกจากคุณครูเขียนลงในสมุดรายงานว่า เป็นผู้มีใจรักและฝักใฝ่ในวิชาวาดเขียน เขามองว่าการวาดเขียนถึงแม้จะไม่ได้เงินทองมาก แต่จะมีประโยชน์ไปบริการทางวิญญาณ จะทำให้วิญญาณมนุษย์ดีขึ้น มนุษย์ถ้าหากว่าถูกกล่อมเกลาด้วยวิชาที่ทำให้เข้าถึงคุณค่าอันเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐเลิศล้นในคุณค่าแท้ของมนุษย์ก็เป็นผลดีแล้ว ไม่ใช่เกิดมาแล้วหวังแต่จะเอาเงินหมื่นล้านพันล้านกี่ล้านก็ไม่พอ

 

     อังคารยังให้ทัศนะในการทำงานว่า ก็เหมือนกับการเติบโตของต้นไม้ มันค่อย ๆ ขึ้นทีละใบสองใบ ค่อยแตกไปเรื่อย ๆ ถึงฤดูกาลก็แตกดอกออกผล ก่อนออกผลก็ออกดอกเสียก่อนไปตามลำดับ

 

      เขายืนยันว่าจะไม่ขอทำอย่างอื่นแล้วในชีวิตนี้ จะทำงานเหล่านี้ไปตลอดจนถึงชาติหน้า ทั้งงานศิลปะ ไม่ว่าจะวาดหรือปั้น รวมถึงงานเขียนบทกวี และกล่าวถึงผู้สืบทอดในงานว่า 

 

      "ไม่ได้คิดอะไร เหมือนเราเกิดมาเป็นต้นโพธิ์ ถึงฤดูกาลใบมันก็หล่นลงมายังพื้นดิน กลายเป็นดิน น้ำ ลม ไฟตามเดิม ใครที่เขาเห็นคุณค่า เขามาไถ่ถามก็ให้เขาไปตามเรื่อง"

 

อ่านประวัติ  http://praphansarn.com/home/detail_author_th/10

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ