อรินธรณ์ : งานเขียนของเราถ้าช่วยใครได้จะดีใจมาก

อรินธรณ์

เขากล่าวถึงตัวเองว่าเป็น "ผู้ประกอบอาชีพให้บริการทางตัวหนังสือ" เพราะทำงานเกี่ยวข้องกับงานเขียน 3 ประเภทคือ เขียนหนังสือ(ตีพิมพ์ในนิตยสาร และรวมเล่ม) เขียนคำโฆษณา และเขียนเพลง เขาเป็นเจ้าของบริษัทไม้ไต่คิด และสำนักพิมพ์ไม้ไต่เขียน อรินธรณ์ เป็นสมาชิกหนึ่งในสำนักศิษย์สะดือ ที่ ศุ บุญเลี้ยง เป็นเจ้าสำนัก เขาเข้าสู่วงการเขียนเพราะชื่นชอบนิตยสารไปยาลใหญ่ แต่ที่ซึ่งเขาได้แสดงฝีมือคือ "มติซน" เป็นหน้า 14 ของ น.ส.พ.มติชนฉบับวันอาทิตย์ ที่นี่เป็นสนามของนักเขียนชาวไปยาลใหญ่ อันได้แก่ประภาส ชลศรานนท์, ศุ บุญเลี้ยง ,เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย, 'ปราย พันแสง บินหลา สันกาลาคีรี และบัวไร

อรินธรณ์ เป็นหนุ่มรูปร่างสูงใหญ่ที่มีนิสัยเฮฮา แต่งานเขียนของเขากลับมิได้เป็นเช่นนั้น หนุ่มเมืองจันท์เคยเขียนแซวผลงานของอรินธรณ์ว่าหวานซึ้ง จนผู้อ่านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผู้หญิงเขียน มีจดหมายเข้ามาจีบมากมาย เราก็เป็นอีกรายที่จีบเขามาคุยด้วยกันในวันนี้

เข้าสู่วงการเขียนหนังสือได้อย่างไร
เหมือนนักเขียนทั่วไปคือมีประสบการณ์ที่ดีในการอ่าน คือเริ่มจากอ่านหนังสือไปยาลใหญ่แล้วชอบ ติดตามอ่าน มันมีเสน่ห์ดึงเราเข้าไปสู่วงการตัวหนังสือ อย่างไม่รู้ตัว อ่านมากเข้าแล้วรู้สึกอยากเขียนเรื่องลงไปยาลใหญ่ ลองพยายามแล้วแต่ไม่สำเร็จ พบว่าไม่ง่ายเหมือนที่เราอ่าน เพราะการเขียนเรื่องให้อ่านง่ายนั้นยาก แต่ตอนนั้นไม่เข้าใจ สงสัยว่าทำไมเรื่องของของเราไม่ได้ตีพิมพ์ จึงหาเพื่อนคุย เพื่อนรุ่นเดียวกันก็ไม่ได้อ่านไปยาลใหญ่ ได้คุยกับเพื่อนรุ่นพี่ที่มีผลมากกับชีวิตคือพี่กาเหว่า เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย พี่เขาแนะนำให้อ่านหนังสือกว้างขึ้น เพราะตอนนั้นอ่านอยู่เพียง 2 เล่มคือ ไปยาลใหญ่และสีสัน อ่านแล้วก็ลองเขียน แต่ไม่ได้ตีพิมพ์เลยแม้แต่ชิ้นเดียว กว่าจะได้ตีพิมพ์ก็หลายปีต่อมา ส่งไปยาลใหญ่ร่วม 10 ชิ้นไม่ได้ตีพิมพ์ จึงลองส่งไปที่อื่นบ้างก็ได้ตีพิมพ์ 2-3 ชิ้น

คาใจที่ไปยาลใหญ่ไม่ตีพิมพ์ผลงานของเรา จึงพยายามถามพี่กาเหว่าทุกครั้งที่เขาขึ้นมาเชียงใหม่ ว่าทำอย่างไรจึงจะได้ไปฝึกงานที่ไปยาลใหญ่ พี่กาเหว่าแนะนำว่าให้ไปขอพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ซึ่งตอนนั้นพี่จุ้ยมีชื่อเสียงมาก เราไม่กล้าคุย เกรงบารมี เที่ยวขับมอเตอร์ไซค์พาพี่จุ้ยไปในที่ที่พี่เขาต้องการจะไป และพยายามโชว์ภูมิซึ่งไม่มีอะไรเลย เพราะไม่เก่งสักอย่าง ก็เป็นวิธีการซื่อๆของเด็กคนหนึ่งที่พยายามจะบอกว่าอยากทำงานหนังสือ แต่ไม่กล้าบอกตรงๆ จนวันหนึ่งพี่จุ้ยเปิดช่อง เราจึงได้มาฝึกงานที่นั่นช่วงปิดเทอม เป็นครั้งแรกที่ได้เขียนหนังสือจริงๆในฐานะกองบรรณาธิการ ขณะนั้นพี่ต้อ(บินหลา สันกาลาคีรี)เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ ได้ฝึกกับพี่ต้อ มีพี่ต้อเป็นครู

ผลงานชิ้นแรกๆเป็นอย่างไร
เป็นเรื่องสั้นหวานแหววหักมุม ซึ่งถ้าส่งที่อื่นไม่ต้องหักมุมก็ได้ตีพิมพ์ รู้สึกตอนนั้นว่ามาตรฐานที่ไปยาลใหญ่สูงมาก ช่วงนั้นได้ทำหลายคอลัมน์ ได้ทำสัมภาษณ์ แกะเทป บรรณาธิการต้นฉบับ จั่วหัวเรื่อง ดีที่ตอนนั้นมีหลายคนช่วยกันอ่านงานของเรา ผลงานชิ้นแรกถูกแก้หมดเลย เป็นระบบบรรณาธิการที่เข้มงวดมาก เพราะกองบรรณาธิการแต่ละคนคือ มีพี่ต้อเป็นหัวหน้า, เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย, 'ปราย พันแสง, บัวไร ฝ่ายศิลป์ก็มีอุดม แต้พาณิช, พิง ลำพระเพลิง แต่ละคนเจ๋งๆทั้งนั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่งานของเราถูกแก้

หลังจากนั้นก็กลับไปเรียนเชียงใหม่ด้วยความรู้สึกที่ไม่มีคำตอบให้กับชีวิต สูญเสียความมั่นใจไปเลย ทั้งที่พี่ๆที่ไปยาลใหญ่ก็ให้กำลังใจนะ แต่เรารู้สึกว่าทำไม่ได้ จึงมุอ่านหนังสือมากขึ้น จบแล้วก็ไปทำงานอย่างอื่น เป็นผู้ช่วยผู้จัดการกองถ่าย แล้วก็ทำงานโฆษณา แต่ก็ยังคาใจเรื่องหนังสือ บังเอิญได้อ่านหนังสือของโรเบิร์ต ฟูกัม ตอนหนึ่งที่ว่า ถ้าเราทำอะไรบางอย่างแล้วไม่สำเร็จ ให้ถามตัวเองว่ามันเป็นปัญหาหรือความไม่สะดวก จึงกลับมาเขียนหนังสือใหม่ เขียนเก็บไว้ ไม่ได้ส่งไปที่ไหน ทำงานโฆษณาไปสัก 4-5 ปี แล้วรู้สึกว่ายังไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ถ้าไม่ทำตอนนี้จะไม่ได้ทำแน่ๆ เพราะอายุมากขึ้นเรื่อยๆ เลยลาออก แล้วไปสมัครงานที่กองบรรณาธิการไปยาลใหญ่ พอดีเขาเลิกกิจการ จึงกลับมาทำงานโฆษณาอีกครั้ง แต่ทำได้ไม่นานก็ลาออกเพราะเบื่อ

ต่อมาเพื่อนๆพาไปรู้จักกับบรรณาธิการท่านหนึ่งชื่อวิรัตน์ โตอารีมิตร หรือ ญามิลา ได้ร่วมกันทำหนังสือโดยเราเป็นฝ่ายการตลาด แต่ขอพื้นที่เขา 1 คอลัมน์เขียนหนังสือ เขียนได้เพียง 1 ชิ้น หนังสือปิดตัวลง เพราะเป็นช่วง IMF จึงหันกลับไปทำงานโฆษณาอีกครั้ง จนวันหนึ่งพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ มีดำริจะทำหน้า "มติซน" ให้กับ น.ส.พ.มติชน จะเป็นแหล่งรวมชาวไปยาลใหญ่ทั้งหมดเลย เราก็เตรียมต้นฉบับเอาไว้รอเสียบ แต่ยังไม่กล้าเอ่ยปาก มีวันหนึ่งพี่แจ๋ว'ปราย พันแสงเอ่ยปากชวน เราจึงตอบรับทันที แรกๆก่อนตีพิมพ์ก็จะส่งต้นฉบับให้พี่จิกกับพี่จุ้ยอ่านก่อนมาตลอด แต่ภายหลังพี่เขาก็ไม่ดูแล้ว แต่ถ้าเราเขียนสิ่งใดไม่ชอบมาพากลพี่เขาก็จะโทรมาบอก เป็นระบบบรรณาธิการแบบพี่ๆน้องๆ รู้สึกดีที่ไม่ได้เขียนไปอย่างเปล่าเปลี่ยว มีผู้รู้คอยสอนอยู่เสมอ

มีชิ้นไหนที่พี่ๆบรรณาธิการชื่นชมมากๆไหม
ไม่มีเลย พี่เขาชมคนยาก คงกลัวว่าชมแล้วจะเหลิง สำหรับเราถ้าพี่เขาอ่านแล้วไม่ติติงหรือแก้ไขก็ถือว่าเป็นคำชม เพราะเขาจะไม่ปล่อยให้เราเขียนสิ่งใดแปลกๆออกไปโดยไม่บอก รู้สึกดีกับวิธีการนี้จนนำเอาไปใช้ ทุกวันนี้ถ้าเห็นงานของใครที่เรารู้จักออกมาแปลกๆเราก็จะให้ข้อคิดเห็นเสนอแนะ

นามปากกาอรินธรณ์มาจากไหน
คุณแม่พยายามจะให้ใช้ชื่อนี้เป็นชื่อจริง แต่มันหวานมาก จนไม่กล้าใช้ คุณแม่เราเป็นหมอดู บอกว่าชื่อนี้ดีถูกโฉลก ก็บอกแม่ว่าจะใช้ชื่อนี้ในวงการการเขียน กำลังรอดูว่าจะเฮงจริงไหม

ด้วยนามปากกาและวิธีการเขียนที่แทนสรรพนามตัวเองว่า "ฉัน" ตั้งใจจะให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นผู้หญิงอย่างที่หนุ่มเมืองจันท์แซวหรือเปล่า
แรกๆตั้งใจว่าจะให้งานออกมาหวานๆสบายๆ แต่หลังๆมาอ่านแล้วก็รู้สึกว่าหวานไป ไม่ตั้งใจว่าจะให้เป็นหญิง เปิดเผยนะว่าเป็นผู้ชาย แต่เราเขียนหนังสือไม่แมน อย่าง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ หรือ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เรารู้ว่าไปทางนั้นไม่ได้แน่ ประกอบกับเป็นคนชอบอะไรเล็กๆ มุมเล็กๆ พูดภาพกว้างไม่เป็น ไม่ดูงานมหภาค ดูแต่จุลภาค จึงหาสำนวนที่รับผิดชอบเฉพาะงานจุลภาค สำนวนที่ดูแลสิ่งรอบข้างอย่างละมุมละม่อม ชื่อคอลัมน์ก็พาไปอีก "โลกละมุน มุมละไม" มันจะละมุนได้อย่างไรถ้าเราใช้ภาษาแมนมากๆ พยายามทำให้มันกลมกล่อม สรรพนาม "ฉัน" พี่ภานุ มณีวัฒนกุลก็ใช้ เลยคิดว่าคงไม่เป็นไร เป็นสรรพามที่เป็นกลางมาก เราเปิดโอกาสให้ผู้อ่านเป็นคนตัดสิน

หนังสือของคุณอยู่ในหมวดหมู่ไหน
โลกละมุน เป็นสไตล์หนึ่ง มุมละไมเป็นอีกสไตล์หนึ่ง แต่มารวมอยู่ในคอลัมน์เดียวกันเพราะบางสัปดาห์เราเจอโลกที่ละมุนละม่อม แต่บางสัปดาห์เราเจอปรัชญาที่เป็นมุมละไมของชีวิตเรา แต่จะไม่เจอ 2 อย่างพร้อมๆกัน และไม่เจอบ่อยๆ โลกละมุนจะเยอะกว่า เรื่องในโลกที่ละมุนละม่อมกับชีวิตมีเยอะกว่าเรื่องที่เราคิดกับชีวิตได้เอง ละเลียดเล็มโลก มีหมวดท่องเที่ยวรองรับ แต่โลกละมุน มุมละไมไม่มีหมวดไหนเลยรองรับ ที่ร้านหนังสือ B2S เขาจัดให้หนังสือ 2 เล่มนี้อยู่ในหมวด บันทึกประสบการณ์ชีวิต เรื่องของเราก็จะไปรวมอยู่กับ เรื่องเล่าของยาขอบ น่าภูมิใจที่หนังสือของพี่จิก และปราบดา หยุ่นก็อยู่ในหมวดนี้

ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง
เขียนคำโฆษณาเป็นอาชีพหลัก รองลงมาเป็นคอลัมนิสต์ และคนเขียนเพลง พยายามทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับงานเขียน ชอบและชำนาญกับการเขียน ใช้การเขียนหากิน เพียงแต่เปลี่ยนกลุ่มผู้สื่อสาร เปลี่ยนสื่อที่จะส่งไปยังผู้อ่านและผู้ฟัง ทั้ง 3 งานยังอยู่ในช่วงศึกษา เพราะมีเรื่องให้ศึกษาทุกวัน

เขียนคำโฆษณาให้กับที่ไหนบ้าง
ส่วนใหญ่คำโฆษณาที่เขียนจะเป็นงานแผ่นพับ โบชัวร์ ที่ส่งไปตามบ้าน หรืออยู่ในห้างสรรพสินค้า ไม่ใช่เขียนคำโฆษณาในโทรทัศน์ เป็นก๊อปปี้ไรท์เตอร์ที่ทำงานสิ่งพิมพ์จริงๆ ไม่เท่ แต่ก็เป็นอาชีพที่ภูมิใจ สนุก และมีความสุข

เขียนคอลัมน์ที่ไหนบ้าง
ก่อนนี้เขียนลงมติชนวันอาทิตย์ 3 ปี จนรู้สึกว่าเขียนแย่ลง จึงขอหยุดพักการเขียนรายสัปดาห์ แล้วไปเขียนรายเดือนที่นิตยสาร mars คอลัมน์ปกิณกะท่องเที่ยว แต่เป็นการเที่ยวแบบมันๆ สนุกๆ พยายามถ่ายทอดความสนุกของความลำบากมาให้เห็น ไม่ละมุนละไม เป็นเรื่องจริงที่เจอ แต่พยายามถ่ายทอดให้มีทัศนคติที่ดีในการดำเนินชีวิต และได้เขียนคอลัมน์บทบันทึกของวงการบันเทิงในนิตยสารแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งเป็นรายปักษ์ เป็นงานเขียนกึ่งสกู๊ฟ สัมภาษณ์ และนิยาย มั่วๆ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ต้องเดินทางไปตามกองถ่าย สัมภาษณ์คนวงการบันเทิง เป็นของใหม่สำหรับเรา สนุกดี

ใช้นามปากกาอรินธรณ์ทั้งหมดเลยใช่ไหม
ไม่เคยเปลี่ยนนามปากกาเลย คิดว่าผู้อ่านคงรับได้ที่มีงานหลายแบบ เพราะเปลี่ยนที่อยู่ไปอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่เราชอบนะที่จะให้ตัวหนังสือที่เราเขียนอยู่ในกลุ่มต่างๆกัน มีกลุ่มผู้อ่านคนละแบบ ได้พิสูจน์สิ่งที่เราเชื่อคนละลักษณะ ไม่เบื่อดี

มีแผนการในอนาคตอย่างไร
จะพยายามรักษางานเขียนที่มีให้ดีที่สุด เพราะเรามีเวลาน้อย ไม่ริทำคอลัมน์เพิ่มแล้ว

สำนักพิมพ์ไม้ไต่เขียนยังทำอยู่ไหมครับ
ทำตามปริมาณปริมาณกำลังที่เรามี เนื่องจากหนังสือที่เราเลือกมาทำ เป็นหนังสือที่เราชอบ ไม่ใช่หนังสือตลาด จึงขายไม่ดี ถ้าเป็นคนอื่นทำด้วยทุนของตัวเองคงเลิกไปแล้ว แต่เราได้ผู้สนับสนุนที่ดีคือมติชนจึงได้ทำอยู่เรื่อยๆ ปีละเล่มสองเล่ม ขยันมากทำได้ปีละ 4-5 เล่ม ตอนนี้มีประมาณสิบเล่ม

งานของสำนักพิมพ์ไม้ไต่เขียนได้ทำหน้าที่บรรณาธิการไหม
ไม่ครับ เพราะงานของคนที่เรานำมาพิมพ์เป็นคนที่เขาดูแลตัวเองได้แล้วทั้งนั้น เราจึงทำแต่หน้าที่ดูแลการผลิต

ความมั่นใจในการเขียนที่เคยเสียไปกลับคืนมาแล้วหรือยัง
ยังไม่รู้สึกว่างานของตัวเองเจ๋ง งานที่เจ๋งต้องเป็นแบบ 'รงค์ วงษ์สวรรค์, อาจินต์ ปัญจพรรค์ ประภาส ชลศรานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์ รู้สึกว่าเรายังต้องฝึกฝนตัวเองอีกเยอะ ต้องรีบแล้ว เพราะอายุเริ่มเยอะ 33 ปีแล้ว บางครั้งอยากกลับไปอายุ 25 อีก เพื่อที่จะได้ฝึกฝนตัวเองอย่างหนัก ทั้งๆที่ตอนนั้นเราก็ฝึกหนักนะ เราเชื่อเรื่องพรสวรรค์ และคิดว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์ จะทำสิ่งใดสักอย่างต้องทุ่มเท ฝึกมากๆ

เคยมีการโจมตีว่าคนที่เขียนงานในเชิงมองโลกในแง่ดีทำให้ผู้อ่านละเลยที่จะมองชีวิตในแง่จริง คุณคิดเรื่องนี้อย่างไร
คิดว่าเขาอ่านงานไม่ถ้วน เราเขียนงานรื่นรมย์จริง แต่มันได้มาด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตา ไม่เคยบอกใครว่าชีวิตจะสบายไปตลอดๆ หรือสิ่งใดจะได้มาง่าย ทุกอย่างต้องเสียพลังงาน เพียงแต่เราจะฟูมฟายกับการเสียพลังงานแค่ไหน ถ้าเปรียบเทียบเป็นเรื่องหนัง เขาคงเป็นคอหนังประเภทสะท้อนสังคม แต่เราชอบหนังครอบครัว ไม่มีทางที่ 2 คนนี้จะมาเถียงกันเรื่องหนังได้ เพราะหนังทั้งสองแนวก็ให้บางสิ่งบางอย่างกับชีวิต

หนุ่มเมืองจันท์เคยบอกว่าการอ่านหนังสือของคนเราเหมือนขั้นบันได เราทำหน้าที่อะไรในบันไดแต่ละขั้น หนังสือการ์ตูนอาจจะทำหน้าที่เป็นบันไดขั้นแรก หนังสือของเราอาจจะเป็นบันไดขั้นที่สอง เมื่อพัฒนาการการอ่านหนังสือของคนไปไกลขึ้นกว่านั้นก็เป็นหน้าที่ของคนอื่นต่อไป ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะต้องทำตัวเป็นบันไดขั้นที่สิบ คิดได้อย่างนี้ทุกอย่างจะคลี่คลาย

ทำงานเขียนหลายแนว จริงๆแล้วอยากเติบโตไปในทางไหน
อยากเขียนหนังสือได้ทุกอย่าง ตัวอย่างที่ดีคือชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เขียนนิยายก็อ่านดี การเมืองก็เข้มข้น เรื่องตลกก็ขำ เพราะอำแหลก อีกคนคือโรเบิร์ต ฟูกัม ไม่มีนิยาม แต่อ่านแล้วรู้สึกอิ่ม งานเขียนของเราถ้าช่วยใครได้จะดีใจมาก เหมือนที่มันเคยช่วยเรามาแล้วครั้งหนึ่ง เช่นงานในแฮมเบอร์เกอร์ถ้าทำให้ใครเข้าใจมิติใหม่ๆของวงการบันเทิงได้ หรือให้ความรู้กับคนที่จะก้าวเข้ามาสู่เส้นทางนี้ได้ก็จะภูมิใจมาก จะพยายามทำงานเขียนโดยยึดแนวทางนี้ ..

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ