จากความหลงใหลในรสสัมผัสแห่งงานวรรณกรรม ทำให้เขาตัดสินใจย่างเท้าก้าวเดินสู่ถนนนักเขียนสายนี้เพียงเพื่อหมายมั่นว่าจะได้ถ่ายทอดเรื่องราวดังที่ใจปรารถนา…
รัตนชัย มานะบุตร นักเขียนผู้เปิดโลกแห่งวิถีมุสลิม ผู้นำผลงานลำดับแรกของตน "อุทกภัย" ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของการประกวดรางวัลซีไรท์ในปีนี้
เป็นเวลากว่า 10 ปี กับจำนวนผลงานเพียง 20 กว่าเรื่อง อาจนับว่าน้อยเกินไป หากแต่พินิจดูให้ถี่ถ้วนจะเห็นว่าแม้จะน้อยในชิ้นงานแต่ล้วนมากด้วยคุณภาพ
"หลังจากได้อ่านงานของ มนัส จรรยงค์ เรื่อง ซาเก๊าะ ก็รู้สึกว่าสนุกดี ใช้ภาษาที่ให้ความรู้สึก แล้วก็ไม่เคยอ่านเรื่องแบบนี้มาก่อนทำให้รู้สึกอยากเขียนบ้าง แต่ผมต้องแบ่งเวลาในการทำงาน ส่วนใหญ่จะเขียนสเก็ตช์ไว้ก่อนแล้วค่อยมาเลือกอีกที คือเราสามารถประมวลได้ว่าเรื่องนี้ถ้าทำออกมาแล้วดีก็จะทำ"
โดยส่วนตัวแล้วเขาไม่เคยคิดว่าจะต้องรวมเล่มผลงาน เพียงแต่เขียนเก็บเอาไว้เรื่อย ๆ ให้มาก ๆ จนมีเพื่อน ๆ แนะนำและผลักดัน จึงมีผลงานเล่มแรกนี้ออกมา
"ปรกติไม่เคยคิดว่าจะต้องรวมเล่มเลย เพราะไม่ค่อยมีเวลาที่จะมาคิด เคยลองส่งสนพ.บ้างเหมือนกัน ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็น "อ่านไทย" แต่ก็นานแล้ว ถ้าเรามีเรื่องก็จะเขียนเก็บไว้ แต่มาในระยะหลังจะมีเพื่อน ๆ ช่วยกันแนะนำ อย่าง ชาคริต โพชะเรือง เขาว่าต้องรวมเล่ม ถ้าไม่รวมก็จะขาดโอกาสไป เขาเคยเอาเรื่อง "เชือกวัดรอบ" ของผม ไปส่งประกวดที่สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์แล้วก็ติด 1 ใน 5 รางวัลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยที่ตัวผมเองยังไม่ได้คิดเลยว่าจะส่งเข้าประกวด"
"เมื่อก่อนก็มีอยู่บ้าง จะเลือกเรื่องที่เห็นว่าดีแล้ว ส่งไปที่ช่อการะเกด เพราะมั่นใจและศรัทธาในตัวบก. พี่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เขาจะแก้ไขและแนะนำต้นฉบับที่ส่งไป ให้เรารู้ว่าตรงไหนดีไม่ดีอย่างไร เพื่อให้เราสามารถแก้ไขได้ตรงจุด ซึ่งผมคิดว่าที่อื่นจะไม่ค่อยดูแลตรงจุดนี้"
ส่วนความรู้สึกในผลงานแรกเล่มนี้ เขากล่าวว่ามันยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่อยากจะเขียนออกมาเป็นวรรณกรรม คนนอกอ่านอาจรู้สึกว่ามันเต็มรูปแบบแล้ว แต่สำหรับเขาที่ยังอยู่ ณ ตรงนั้น เขาคิดว่ามันยังไม่สมบูรณ์พอ ยังมีเรื่องราวอีกมากที่ถ่ายทอดออกมาไม่หมด และว่าเรื่องราวมุสลิมที่คนเขียนเป็นมุสลิมจริง ๆ ยังมีน้อย เป็นเรื่องที่ยังไม่ค่อยมีใครเขียน
ในคำวิจารณ์ของคณะกรรมการเรื่องชื่อตัวละคร ที่อาจทำให้การอ่านเรื่องอุทกภัยสะดุดไปบ้าง เขายืนยันว่าไม่เป็นผลกับงานชิ้นต่อไปอย่างแน่นอน
"เพราะมันเป็นรากเหง้าที่จะต้องมีตรงนั้น และเพื่อความสมจริงของเรื่องราว ตัวอย่างเรื่อง "ลูกแทงแม่" หรือ "เชือกวัดรอบ" มันเป็นสำนวนของคนใต้ เป็นรากเหง้าที่เดี๋ยวนี้คนแก่ ๆ เขายังคงรู้จักอยู่ว่าเชือกวัดรอบมันคืออะไร แต่เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จักแล้ว ผมอยากจะเน้นตรงนี้ด้วยว่ามันเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่อาจจะลืมไปแล้วเราจึงอยากจะรักษาเอาไว้ อีกอย่างผมมีความเชื่อว่าให้มันเป็นวรรณกรรมมันจะไม่ตาย เพราะถ้าเป็นบทความหรือว่าสารคดีมันไม่เท่าวรรณกรรม จึงเลือกเขียนเรื่องที่ไม่ค่อยมีปรากฏที่ไหนมาก่อน"
กับทัศนะที่ว่าการสร้างสรรค์เรื่องราวต่าง ๆ ออกมาให้คงอยู่ในรูปแบบงานวรรณกรรม เรื่องเหล่านั้นจะสามารถคงอยู่ไปได้นาน ไม่มีวันตาย จึงหมายมั่นได้ว่าเขาต้องมีผลงานชิ้นต่อไปออกมาอีก ถึงแม้อาจจะต้องใช้เวลาก็ตามที
"ผมคิดไว้ว่าอยากจะเขียนเรื่องยาวสักเรื่อง สเก็ตช์ไว้แล้วแต่ว่ามันจะดีหรือไม่ยังไม่รู้ ต้องกลับไปทวนอีกครั้ง ผมว่ามันน่าจะสมบูรณ์กว่าเรื่องสั้น เพราะมันมีรายละเอียดที่เราต้องใส่ไว้เยอะ รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างจะใส่ในเรื่องสั้นไม่หมด ถ้าเป็นเรื่องยาวน่าจะเต็มกว่า แต่ก็มีความกลัวอยู่อย่างหนึ่งเหมือนกันที่ว่า ความที่เราเขียนเรื่องสั้นมานาน กลัวว่ามันจะหลุดไปที่เรื่องยาวได้ยาก อีกอย่างหนึ่งผมเป็นคนทำงานช้างานก็จะออกมาช้าเลยไม่ค่อยทันใจ"…
"ตั้งแต่เล็กจนโต แม้กระทั่งบัดนี้ ผมยังมีแมว เวลานอนต้องมีตัวใดตัวหนึ่งนอนอยู่ใกล้ ๆ ปลายเท้า ใต้ผ้าห่ม ซอกแขน ซอกคอ ผมจะหลับอย่างมีความสุขหากได้ยินเสียงกรนของมัน"
ประโยคข้างต้นถูกวางอยู่บนพื้นที่ในส่วนคำนำผู้เขียนเรื่องอุทกภัย ซึ่งเขาพร่ำพรรณนาว่าเขียนคำนำไม่เป็น จึงหยิบยื่นเรื่องราวของเพื่อนตัวน้อยมาแบ่งปันเล่าให้เราฟัง ทำให้เราได้รับรู้ถึงความละเอียดอ่อนในตัวเขาที่มีต่อสัตว์เลี้ยงตัวน้อย ๆ อย่างแมว เขาเล่าว่าเคยลองเขียนสเก็ตช์ไว้คร่าว ๆ บ้างแล้วเกี่ยวกับเรื่องราวของพวกมัน แต่ก็ไม่ได้เขียนต่อ เพราะตั้งใจไว้ว่าจะมุ่งเน้นเขียนเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อโบราณเก่า ๆ คติชน ระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมเป็นประเด็นใหญ่ไว้ก่อน
"สังเกตว่าในเรื่องอุทกภัยจะไม่มีเรื่องตรงนี้อยู่เลย แต่ก็มีสิ่งที่เราอยากบันทึกไว้ พอใส่ตรงนี้เข้าไป ก็เลยรู้สึกว่า ช่วยทำให้เรื่องมันเต็มขึ้นในความรู้สึกของผม"
รัตนชัย ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สรรพสามิต จ.สงขลา ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันประจำอยู่ในสำนักงาน ทำให้เขาอดที่จะนึกเสียดายกับงานออกพื้นที่ในอดีตไม่ได้
"การเดินทางมันดี เราได้อะไรหลาย ๆ อย่างตรงนั้น ได้พบปะประชาชน ได้เก็บข้อมูล ได้พูดคุย แล้วก็นำเรื่องราวเหล่านั้นมาจินตนาการต่อในงานเขียน แต่เดี๋ยวนี้นั่งโต๊ะอยู่ที่ห้องทำงาน แล้วก็กลับบ้าน ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน นาน ๆ ถึงจะได้ออกพื้นที่สักครั้ง ไม่ค่อยดีเลย"
และด้วยลักษณะนิสัยที่ไม่ชอบอยู่นิ่งกับที่เช่นนี้ จึงเป็นความลงตัวอย่างที่สุดเมื่อเขาเลือกที่จะตอบว่ารักในการท่องเที่ยวไปตามป่าเขาเป็นอย่างยิ่งในวันหยุดเทศกาลต่าง ๆ และยังชอบที่จะปลูกต้นไม้ในยามว่างจากการงาน เพราะเป็นเรื่องที่รักจะทำเช่นนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว…