ต้นตำหรับบทกวี 3 บรรทัด ที่ชื่อว่า แคนโต้ บทกวีที่ประกอบขึ้นจากคำง่ายๆ เรียงตัวกันเป็นประโยค บทกวีแคนโต้ เรียบง่ายและแสนธรรมดาจนบางคนไม่คิดว่ามันคือบทกวี ทว่ามันก็ถ่ายทอดอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ได้อย่างงดงาม และน่าอัศจรรย์ ความเรียบง่ายนั้น เมื่ออ่านต่อเนื่องกันหลายร้อยบท จะพบว่าคนที่เขียนเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาได้ ย่อมมีความคิดที่สลับซับซ้อน ไม่ธรรมดา “ผมรู้สึกว่าตนเองแก่แล้ว ในวัยนี้ผมคิดว่าจะทำประโยชน์ต่อสังคมและผู้อื่น สิ่งที่ผมพอทำได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเราจริงๆคือการเขียนหนังสือ” ปัจจุบัน ฟ้า พูลวรลักษณ์ อายุ 52 ปี มีผลงานงานรวมคือ แคนโต้หมายเลขหนึ่ง, แคนโต้หมายเลขสอง, ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก , การแสดงภาพเขียนของศิลปินคนนั้น , เจ็ดเรื่องสั้นของฟ้า ,และเขียนคอลัมน์ ดอกไม้หนึ่งมิติ ในมติชนสุดสัปดาห์อากาศร้อนต้นเดือนพฤษภาคมนำเราให้มาทำความรู้จักกับเขาคนนี้
คุณค้นพบแคนโต้ยังไง
เป็นความบังเอิญเหมือนเด็กๆ เขียนเล่นๆ วันหนึ่งก็จะเขียนแบบนี้ เขียนๆไปเขียนมาแล้วชอบ เขียนแบบนี้ถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีกว่าเขียนหลายสิบบรรทัด ด้วยความเป็นเด็กรู้สึกว่าเขียนเยอะเข้าแล้วมารวมกันเป็นชุด เหมือนเพลงซิมโฟนี่ รวมกันเข้าแล้วมันก็ดูน่ารักดี สมัยเด็กๆก็เลยเขียนขึ้นมา 4 ร้อยบท คิดว่ามันพอเหมาะกับพลังของผม เกินกว่านี้เขียนไม่ไหวแล้ว มันเหนื่อยเหมือนกัน ตอนนั้นยังเด็กอยู่ 18-19 ปี
ตอนนั้นรู้สึกเลยไหมว่าจะต้องเป็นนักเขียน
ก็มีส่วน เพราะเราก็มีความรักในด้านวรรณกรรม แต่เด็กก็คือเด็ก เราไม่รู้จริงๆ บทกวีเป็นธรรมชาติ และชีวิตของผม เหมือนเรื่องสั้น นิยาย เขียนขึ้นจากการผสมผสานกันหลายองค์ประกอบ ความประทับใจ ประสบการณ์ ความรู้ และจินตนาการที่เราเติมแต่งเข้าไป นักเขียนอื่นก็คงเหมือนกัน เพียงแต่ชีวิตคนเราที่ไม่เหมือนกัน ทำให้งานออกมาไม่เหมือนกัน บทกวีแคนโต้ คนที่ไม่ชอบก็ว่ามันง่ายเกินไป เขาชอบให้มันมีความวิจิตร มีถ้อยคำเยอะกว่านี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องของรสนิยม แต่ผมว่าเท่านี้พอแล้ว ผมชอบความเรียบง่าย ก็ไม่รู้ว่าคนอื่นจะเห็นด้วยหรือเปล่า แต่มันเป็นแก่นของผม
บทกวีแคนโต้เหมือนบทกวีไฮกุหรือเปล่า
ก็มีส่วนเหมือน กวีไฮกุก็มีส่วนที่ทำให้ผมอยากจะเขียนอย่างนี้ แต่ไม่เหมือนไฮกุนะ ถ้าอ่านจริงๆจะคนละอารมณ์กัน ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยเห็นใครเขียนแคนโต้ เอาเป็นว่าผมเป็นคนที่เขียนสิ่งนี้จริงจังดีกว่า คนที่เขียนบทสองบทก็อารมณ์หนึ่ง คนที่เขียนเป็นร้อยเป็นพันก็อีกอารมณ์หนึ่ง
บทกวีหมายเลขสามจะออกมาเมื่อไหร่
ยังไม่ได้เขียน เล่มสามควรจะห่างจากเล่มสองอย่างน้อยๆ 15 ปี ผมอยากให้อารมณ์ของผมเปลี่ยนไปอีกวัยหนึ่ง บทกวีแคนโต้เขียนเรื่อยๆไม่ได้ ส่วนใหญ่จะรออารมณ์ของปีนั้นๆที่อยากเขียน แล้วตั้งหน้าตั้งตาเขียน อาจจะเขียนทั้งปีหรือสองปี แล้วจึงออกมา คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ นึกว่าเขียนเมื่อไหร่ก็ได้ บางคนบอกเขียนให้บทสองบทสิ ที่จริงทำได้แต่ไม่ใช่ลักษณะการทำงานของผม ผมไม่อยากฝืนใจ
ถ้าแยกออกมาไม่กี่บทจะไม่สมบูรณ์ในตัวของมันเองหรือเปล่า
ไม่ใช่ แต่ละบทก็อิสระ กวีแคนโต้ของผมแต่ละบทเป็นตัวมัน แต่มารวมกันมันเห็นภาพ อารมณ์หรือวัยของคนๆหนึ่ง บทกวีเล่มแรกกับเล่มที่สองจะเห็นว่านี่เป็นงานเขียนของคนสองวัย เล่มแรกห่างจากเล่มสองประมาณ 30 ปี หมายเลขหนึ่งเขียนตอนอายุ 18 ปี หมายเลขสอง 48 ปี สองคนนี้ต้องมีอะไรที่ต่างกัน แต่ที่น่าทึ่งไม่ใช่เรื่องความต่าง แต่คือการมีลักษณะร่วมที่เหมือนกันอยู่ เหมือนเด็กคนนี้แก่แล้ว แต่อุดมการณ์บางอย่างของเขายังเหมือนเดิม 30 ปีไม่ได้เปลี่ยนแปลงเขา
ที่ว่าเหมือนเดิมคือเรื่องอะไร
เช่นเรื่องมีความสนใจในสุนทรียภาพบางอย่าง ความเรียบง่าย บริสุทธิ์ เป็นต้น ยังคงอารมณ์นั้นอยู่
แคนโต้เล่มแรกกับเล่มที่สองห่างกันมาก ทำไมเป็นอย่างนั้น
เพื่อนบางคนบอกว่าเบื่ออาชีพนักเขียนจังเลย อยากจะเลิก ผมขำๆ เพราะผมเองเลิกมาแล้วหลายครั้งในชีวิต ผมเลิกจริงจังเลยนะ 10 ปี แล้ว 10 ปีผ่านไปก็กลับมาอีก ขำเพื่อนว่าลองทำดูสิ ดูว่าคุณจะทำไปได้กี่ปี
มีอะไรเรียกร้องให้กลับมา
ชีวิตคนเรามีจำกัด อายุเราสั้นสิ่งที่เราทำได้ดีมีไม่กี่อย่างเท่านั้นเอง ถ้าจะทำสิ่งใดสักอย่าง ก็กลับมาที่การเขียนหนังสือ
อย่างที่นิตยสาร a day เขาทำคือให้ผู้อ่านเขียนแคนโต้เข้ามา อย่างนั้นถือว่าเป็นแคนโต้ไหม
ถือว่าเป็นแคนโต้ แต่เป็นแคนโต้แบบเด็กๆ เช่นว่าไปตั้งหัวข้อให้เขียน สำหรับผมไม่ชอบ เพราะมันไม่อิสระ แต่น่าเห็นใจทาง a day เพราะว่าถ้าไม่ตั้งหัวข้อก็จะสับสนอลม่าน ในทางปฏิบัติจึงต้องทำระเบียบขึ้นมา ผมจึงคิดว่าไม่เป็นไรให้เด็กๆเขาได้เริ่มต้น แล้วถ้าชอบจริงๆ ค่อยมาเอาจริง
ถ้าจะเป็นแคนโต้จริงๆจะต้องมีองค์ประกอบยังไง
คนเอาจริงเขาจะต้องอุทิศตัวให้งานมากกว่านี้ อย่าง 5 แคนโต้ผมตั้งกติกาว่าต้องส่งมาหลายร้อยบท แล้วผมจะต้องชอบพอสมควร เช่น 400 บท ผมคัดเลือกเหลือ 50 บท ซึ่งคนเขียน 400 บท แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนทำได้ดี แต่บางคนเขาทำได้ แสดงอารมณ์ยุคนี้ได้ เนื่องจากกวีสามบรรทัด ง่ายๆ ใครจะเขียนยังไงก็ได้ แม้กระนั้นเมื่อเรามาคัดสรรจริงๆแล้ว สำหรับผม กวีแคนโต้ที่ดีต้องมีความเป็นเด็ก ไร้เดียงสา ความจริงใจ ไม่สำคัญว่าคุณต้องเป็นคนดีมาก เหมือนเช้านี้ผมขี้เกียจ ผมก็จะเปล่งอารมณ์ของความขี้เกียจออกมา แล้วออกมาได้อย่างจริงใจ นี่คือธรรมชาติของแคนโต้
คุณรู้สึกอย่างไรกับบทกวีที่มีฉันทลักษณ์
ผมก็ยอมรับว่าผมอยู่คนละพวกกับพวกเขา ผมอ่านและเขียนอย่างนั้นไม่ค่อยได้ งานศิลปะก็ต้องมีทั้งคนที่เก่งและไม่เก่ง ผมก็พอรับได้ รู้สึกได้ว่าคนนี้เขาเขียนดี แต่ผมไม่เชี่ยวชาญเรื่องพวกนี้ ไม่สามารถวิจารณ์ฉันทลักษณ์ เอาเป็นว่าผมอ่านน้อย
หนังสือชื่อ ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก มีตัวละครเป็นดิน น้ำ ฟ้า อย่างนี้เรียกว่าแอ๊บสแตกซ์หรือเปล่า
ก็พูดได้เพราะมีความเป็นนามธรรมสูง มีบุคลิกเฉพาะตัว มีบรรยากาศเฉพาะตัวไม่เหมือนทั่วไป
กับงานเขียนที่เป็นตัวละครเป็นคนจริงๆ ก็คือเล่มไหน
เจ็ดเรื่องสั้นของฟ้า เป็นเรื่องทางโลก ออกไปสู่ป่าเขาลำเนาไพร ต่างจังหวัด พบคนต่างอาชีพ แต่จิตวิญญาณบางอย่างมีร่วมกันเพราะเป็นนักเขียนคนเดียวกัน
งานคอนเซ็ปชวลชื่อการแสดงภาพเขียนของศิลปินคนนั้นเป็นยังไง
ขายไม่ออก เป็นงาน มีชื่อภาพ แต่ภาพมีสีเดียว ถ้าคุณดูแล้วซึ้งหรือชอบก็ได้ไปเลย ถ้าดูเท่าไหร่ก็ไม่รู้เรื่อง ก็ยากแล้ว แต่ชิ้นเป็นที่เป็นตัวของผมมากที่สุด เป็นงานที่สื่อยาก ลำบาก เพราะไม่มีคนซื้อ ขายได้ร้อยเล่มเท่านั้น
ไม่คิดจะใช้วิธีทางการตลาดกับหนังสือเล่มนี้หรือ
คงใช้ลำบาก เพราะเป็นปัญหาที่ลี้ลับเหมือนกัน เป็นปัญหาของมนุษย์ข้างนอก ผมรู้สึกว่าคนที่รักงานชิ้นนี้ก็มี แต่เขาไม่มาซื้อ ไม่รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ ผมรู้สึกเป็นความน่าสลดใจนิดหน่อย
จะเห็นงานลักษณะนี้อยู่ในแกลอรี่มากกว่า
ผมคิดว่ามันขายไม่ออกโดยโครงสร้างมากกว่า แต่ก็ไม่เป็นไร ช่างมัน
โดย...นายอยู่ดี