อาชีพ คือสิ่งที่ทุกคนต้องมี เพราะการทำงานคือเงื่อนไขของการดำรงชีวิต เว้นแต่ว่าคุณจะเป็นทายาทมหาเศรษฐีหรือมีพอร์ตหุ้นมูลค่าพันล้านอยู่ในมือ การทำงานอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นก็ได้ แต่เท่าที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี ไฮโซ ไฮซ้อ ร่ำรวยกันขนาดไหน ทุกคนล้วนทำงานด้วยกันทั้งสิ้น ถ้าอย่างนั้นจุดมุ่งหมายของการทำงานคืออะไร ยังมีความหมายใดที่ซ่อนอยู่อีกนอกจากคำว่าผลตอบแทนและค่าครองชีพอีกใช่ไหม?
คุยนอกรอบประจำสัปดาห์นี้ เราได้สนทนาว่าด้วยเรื่องของการงานกับผู้ชายคนหนึ่งที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับสายงานที่เขาเลือก เพื่อค้นหาคำตอบของความหมายในการทำงาน และคุณค่าของงานที่มากกว่า "ค่าตอบแทน" ทั้งในแง่ของความรู้สึกและจิตใจ
"จุดมุ่งหมายของพี่คือการเป็นนักข่าว" พี่อ๋อย กฤษณะ ไชยรัตน์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม กฤษณะล้วงลูก แห่งสำนักข่าวเนชั่นบอกกับเรา ก่อนจะย้อนอดีตไปยังจุดเริ่มต้นในหน้าที่การงานให้ฟัง
"จริงๆ แต่ก่อนพี่ไม่ได้คิดเรื่องการเป็นนักข่าวมาก่อน แต่พี่มีความฝันอยากจะเป็นจิตรกร เป็นศิลปิน เพราะชอบงานจิตรกรรม ประติมากรรม แต่ช่วงที่เป็นนักศึกษาราชภัฎ-สวนดุสิต พี่ได้ฟังบรรยาย ฟังอภิปราย ฟังนักการเมืองปราศรัยหาเสียงบ่อยๆ ทำให้มุมมองโลกทัศน์ของเรามันก็เปลี่ยนไปจากเดิม เริ่มชอบติดตามข่าวนักการเมือง ข่าวการเมือง ควบคู่ไปกับการฟังบรรยายอภิปรายทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ศิลปวัฒนธรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากที่เคยใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปินก็เริ่มเปลี่ยนไป อยากจะทำงานใกล้ชิดเกาะติดสถานการณ์ข่าวแทน ไม่อยากเป็นศิลปินแล้ว พอเรียนจบก็เลยหางานด้านข่าวเลย"
จุดเริ่มต้นในการสร้างฝันให้เป็นจริงของพี่อ๋อยนั้นไม่ง่ายเลย เพราะสิ่งที่ร่ำเรียนมาตลอดสี่ปีในวิชาศิลปะนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นฐานทางสื่อสารมวลชนเลยแม้แต่น้อย
"ความที่เราไม่มีพื้นความรู้ด้านสื่อสารมวลชนมันก็ทำให้ยากลำบากในการที่จะเข้าสู่วงการ แต่ด้วยความที่เราไม่ท้อถอย และเราเอาจริง ตั้งใจจริง ก็คิดว่าสักวันหนึ่งสวรรค์จะเปิดทางให้เรา พี่ก็พยายาม ตอนนั้นอยากเป็นนักข่าวการเมือง เป็นสุดยอดปรารถนาเลยนะ ก็ไปสมัครไว้หลายที่หลายแห่ง แต่ไม่มีใครเรียกไปสัมภาษณ์เลย สุดท้ายก็ตัดสินใจ เอาวะ ขอไม่ใช่แต่ใกล้เคียงก็ยังดี อย่างน้อยให้ได้อยู่ในองค์กรข่าวแล้วกัน ตำแหน่งอะไรก็เอา เป็นภารโรงก็ได้ ในที่สุดหลังจากพยายามสมัครงานอยู่นาน ก็ได้เข้าไปทำที่นิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์เป็นที่แรก ในตำแหน่งเซลแมนขายโฆษณา แต่ยังตั้งเป้าหมายในใจไว้ชัดเจนว่าวันหนึ่งจะต้องเป็นนักข่าวอย่างแน่นอน"
แม้ว่าจะต้องทำงานเป็นเซลแมน ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่ได้เลือกด้วยใจรัก แต่พี่อ๋อยก็มีวิธีปรับใจ ปรับความคิดให้สามารถทำงานโดยปราศจากความเบื่อหน่ายและท้อแท้ได้เป็นอย่างดี "เราต้องไม่ลืมว่า ทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องทำ จะชอบหรือไม่ชอบ หน้าที่คือสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ นี่คือหลักในการทำงาน หน้าที่เป็นสิ่งที่ต้องทำ และต้องทำให้ได้ด้วยความรับผิดชอบ" พี่อ๋อยบอกเราด้วยน้ำเสียงหนักแน่น "แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่ลืมเป้าหมายของเรา อย่างพี่อยากเป็นนักข่าว มีจุดมุ่งหมายอยู่แล้วว่าเราต้องการอะไร ก็ต้องตั้งใจฝึกฝนไป ทั้งอ่านตำรา เข้าสัมมนาอบรม เรียนรู้จากนักข่าวรุ่นพี่ และอ่านคอลัมน์บทบรรณาธิการนักคิดนักเขียนชื่อดังต่างๆ ไม่ทำตัวเหลาะแหละโลเล พยายามเพื่อจะเดินทางไปสู่เป้าหมายให้ได้ แม้จะยังไม่ได้เป็นนักข่าววันนี้ วันหน้าก็ต้องได้เป็น"
"ตอนที่ทำงานเป็นเซลแมน มันไม่ใช่งานที่ชอบแต่ก็ไม่ได้รู้สึกแย่มากมาย ส่วนหนึ่งเพราะเรามีความหวังที่เรืองรองอยู่ว่าอยากเป็นสื่อมวลชน แอบฝันลึกๆ ว่าอยากจะเป็น ผู้ประกาศข่าว อยากจะเป็นพิธีกร ตอนนั้นไม่กล้าบอกใครเพราะมันดูไกลเหลือเกิน แต่ทุกคนมีสิทธิจะฝันใช่ไหม"
"แต่ฝันต้องไม่ใช่แค่ฝันนะ มันต้องมี working มี action ด้วย ต้องมีความพยายามที่จะทำฝันให้บรรลุผลด้วย คือบางคนอาจจะฝันแล้วไม่ทำอะไรเลยนี่เขาเรียกว่าพวกเพ้อเจ้อนะ ความฝันนี่มีแล้วต้องแปรมันให้เป็นความหวังที่เป็นไปได้ด้วยการฝึกฝนตัวเองทุกด้านที่เกี่ยวข้อง ที่มันจะทำให้ความฝันเราบรรลุผล อย่างที่พี่ฝันอยากเป็นผู้ประกาศข่าว ทุกวันกลับมาจากทำงานเซลแมนตอนหกโมงเย็น ก็ฝึกอ่านข่าวกับโต๊ะทำงานตอนที่คนอื่นเขากลับกันหมดแล้ว อ่านกับกระจก ฝึกทุกวัน อะไรอย่างนี้"
Action ของพี่อ๋อยไม่ได้มีเพียงเท่านั้น นอกจากจะฝึกอ่านข่าวทุกวันแล้ว พี่อ๋อยยังหาความรู้ในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมอีกด้วย
"พี่พยายามทำทุกวิถีทางที่จะแก้ไขจุดบอดของเราเรื่องไม่มีแบคกราวด์การศึกษาด้านสื่อมวลชน โดยการไปอบรมสัมมนาทางด้านสื่อ ทั้งกฎหมายสื่อมวลชน รัฐศาสตร์การเมือง พี่ไปอบรมที่ธรรมศาสตร์ทุกหลักสูตรจนเรียกว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้หลักสูตรอบรมสัมมนาของธรรมศาสตร์เลยนะ คือไปจนอาจารย์จำหน้าได้ มีกี่หลักสูตร พี่ไปหมด รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ กฎหมายชาวบ้าน จิตวิทยาชุมชน สื่อมวลชน เสียเงินค่าอบรม ไปเรียนจริงๆ จังๆ เพื่อเอาประกาศนียบัตรไปใช้ในการสมัครงาน เพราะรู้ว่าเราไม่ได้จบโดยตรงมันลำบาก โดยเฉพาะพี่เรียนมาทางอาร์ตจะอ่อนวิชาการ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เพราะเรามัวแต่เพนท์ติ้ง เขียนรูปอย่างเดียว ก็ต้องไปอบรมเพิ่ม เขาจะมีการเชิญนักกฎหมายเก่งๆ มาบรรยาย บางหลักสูตรพี่ได้เรียนกับอาจารย์ทองใบ ทองเปาด์ ฟังแกพูดเป็นสิบเที่ยวเลย เพราะแม้จะเป็นหลักสูตรเดิมแต่เราก็ตั้งใจสมัครซ้ำ"
ด้วยความประหลาดใจ เราถามออกไปทันทีว่า "สมัครซ้ำทำไมพี่" "ถามตัวเองเหมือนกันว่าสมัครซ้ำทำไม" พี่อ๋อยตอบยิ้มๆ ก่อนจะเล่าต่อด้วยน้ำเสียงจริงจัง "อย่าลืมว่า วิชาเหมือนเดิม หัวข้อเหมือนเดิม แต่ตัวอย่างไม่เหมือนเดิม เช่น กฎหมายมหาชน เราเรียนเมื่อปีที่แล้วเขาอาจจะยกตัวอย่างกฎหมายเรื่องรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิปวงชนชาวไทย แต่มาปีนี้มันว่าด้วยเรื่องการเมืองการสมัครรับเลือกตั้งของ ส.ส. เวลาเราไปเรียนเราจะได้ฟังมุมมองความเห็นของนักกฎหมายที่อยู่อันดับท๊อปไฟว์ของเมืองไทย ทำให้เราแตกฉาน ทำให้ได้รู้มุมใหม่ๆ ดังนั้นพี่จึงยอมเสียเงินลงวิชาเดิมๆ ไป อย่างของอาจารย์ทองใบ ทองเปาด์ พี่ลงเรียนไปสามครั้งนะที่ไปนั่งฟัง เพราะอีกอย่างเราไม่มีพื้นมาก่อนเราก็อาจจะฟังไม่เข้าใจในรอบแรก แต่ก็เริ่มคุ้นเคย รอบสองก็จะเข้าใจ รอบสามก็พอจะเริ่มถามเริ่มอะไรได้ นี่คือการเรียนรู้เพื่อเป้าหมายนะ"
หลังจากทำงานเซลได้สามเดือน ในที่สุด พี่อ๋อยก็ได้เป็นนักข่าวสมความตั้งใจ ในตำแหน่ง ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงพาณิชย์ หนังสือพิมพ์เดลิมิเรอร์ "พี่ไปลุย เรียนรู้จากสนาม ยึดหลักการทำงานว่า มาก่อนกลับหลัง ขยันทุกเวลา ไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ มาก่อนก็อ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ติดตามข่าวทุกที่ รุ่นพี่เขาไปไหนก็ไปด้วย เวลาเขาไปคุยกับแหล่งข่าว ไปกระทรวงก็ไปด้วย ไปเพื่อศึกษา เพราะเราตั้งใจว่าในที่สุดเราจะต้องเป็นนักข่าวการเมืองให้ได้ ทำได้เดือนหนึ่ง ก็มีรุ่นพี่เห็นว่า ไอ้นี่มันเอาจริง ลูกบ้ามันใช้ได้ ไม่มีอู้ ขยัน ใช้อะไรทำได้หมด ก็เลยแนะนำให้ไปทำที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า ตอนนั้นเขารับนักข่าวสายการเมืองพอดี ก็เลยได้เป็นนักข่าวสายการเมืองสมใจ ทำได้ครึ่งปีก็ย้ายมาอยู่ที่เดอะเนชั่น ตั้งแต่ต้นปี 2536 และก็อยู่ที่นี่เรื่อยมาจนบัดนี้ก็ ย่างเข้าปีที่ 11 แล้ว"
"ปัจจุบันนี้หน้าที่รับผิดชอบในเนชั่นคืองานข่าวเป็นหลัก มีทั้งงานเขียนและทีวี งานเขียนคือคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันอาทิตย์คอลัมน์ไลฟสไตล์ หน้า 5 กฤษณะล้วงลูก ในเนชั่นสุดสัปดาห์ รายการทีวีสามรายการ ของเนชั่นแชนเนลไทยทีวีช่อง 1 มี ใส่สีตีข่าว จันทร์ถึงศุกร์ทุกวัน ช่วงข่าวภาคค่ำ 19.45 รายการประมาณห้านาที สอง รายการเก็บตกจากเนชั่น ช่วงเช้า จันทร์ถึงศุกร์ทุกวัน 9.10 - 9.25 เป็นการคุยข่าวยามเช้า เป็นข่าวที่น่าสนใจ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมแต่จะเน้นการเมืองเพราะเราถนัดหน่อย สาม รายการกฤษณะล้วงลูก ออกอากาศทุกคืนวันอาทิตย์ สี่ทุ่มถึงห้าทุ่ม 1 ชั่วโมง"
แม้ปัจจุบันพี่อ๋อยจะได้เป็นนักข่าวสมความตั้งใจ และยังมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับแล้ว แต่พี่อ๋อยก็ยังไม่หยุดตัวเองอยู่เท่านี้ "ถึงทุกวันนี้แม้ว่าจะได้เป็นนักข่าวแล้ว แต่พี่ต้องไม่หยุดฝึกฝนตัวเองเพื่อพัฒนางานให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นไปนะ อย่างเรื่องการออกเสียง พี่รู้ดีว่าธรรมชาติของพี่ไม่ค่อยดีในเรื่องการอ่าน การพูด มันไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ ยังไม่ลื่นไหล พอมีเวลาว่างก็ต้องหัดอ่านออกเสียง เพราะต้องการแก้นิสัยที่ติดมาตั้งแต่เด็กๆ คือเป็นคนพูดรัว พูดเร็ว พูดไม่ค่อยชัด อักขระคำควบกล้ำ เราก็ต้องฝึกตัวเองบ่อยๆ ให้มีการพัฒนาขึ้นทุกวัน อันไหนผิดพลาด พลั้งเผลอไปก็ต้องเป็นบทเรียน ที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาให้มันดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ"
"นอกจากนี้พี่ยังต้องศึกษาหาความรู้ใส่ตัว หยุดไม่ได้ เพราะเรารู้ว่านักข่าวต้องมีความรู้ให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเมือง พี่ก็ต้องไปเรียนกฎหมายเพิ่มเติม ก็ไปลงเรียนที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ภาคสมทบ หาความรู้เพื่อที่จะมาทำงานข่าวให้ดีที่สุดเพราะมันเป็นอาชีพที่เราคาดหวังตั้งใจเอาไว้ แต่สุดท้ายเรียนไม่จบหรอก ไม่ไหว มันยาก" พี่อ๋อยหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
"คือมันไม่มีเวลาน่ะ ไอ้ยากไม่เท่าไหร่ แต่มันต้องไปเรียนน่ะ คนทำงานข่าวเราก็รู้ๆ อยู่ว่ามันไม่ค่อยมีเวลา เสาร์อาทิตย์นี่บังคับไปเรียนทั้งวัน แล้วจันทร์ อังคาร พุธ ต้องไปห้าโมงเย็นถึงสองสามทุ่มทุกวันอะไรอย่างนี้ ไอ้เทอมแรกๆ พี่ไฟแรงก็ไปทุกวันเลย แต่พอเทอมสองก็…เจ๊งเลย" ปัจจุบัน ดูเหมือนพี่อ๋อยจะบรรลุเป้าหมายในเรื่องหน้าที่การงานแล้ว เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วเป้าหมายของพี่อ๋อยต่อจากนี้ไป จะเป็นอะไรได้อีก..
"เป้าหมายของพี่ในตอนนี้คือ ทำทุกวันให้ดีขึ้นเรื่อยๆ รายการวันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน รายการวันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ รายการวันมะรืนนี้ต้องดีกว่าวันพรุ่งนี้ รายการของอาทิตย์นี้ต้องดีสู้รายการของเดือนหน้าไม่ได้ ถ้าเราย่ำอยู่กับที่มันก็ไม่ดีใช่ไหม ไม่มีใครที่เกิดมาแล้วจะดีจะเก่งร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ฉะนั้นเราต้องรู้จักปรับปรุงพัฒนา ใครหลงตายใจหลงเห่อเหิมว่าเราเก่งแล้ว อยู่ตัวแล้ว ประชาชนนิยมแล้ว ก็เสร็จ!! มีบทเรียนให้ดูเยอะแยะนะ ฉะนั้นถ้าให้มองผลงานตัวเองว่าพี่พอใจหรือยัง ก็พูดตรง ๆ เลยว่ายังไม่พอใจ ยังต้องปรับต้องปรุงต้องแก้ไขอีก พยายามจะทำรายการที่ดีมีคุณภาพทั้งด้าน สาระ ข่าวสาร ข้อมูล แล้วก็ได้ความเพลิดเพลินบันเทิงใจกับคนดู"
"นี่ล่ะ คือเสน่ห์ของการทำงาน มันท้าทาย มันทำให้เราไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มันทำให้เราจะต้องเอาชนะให้ได้ ต้องทำให้ประชาชนชอบ ให้มีเสียงตอบรับที่ดี มันก็ทำให้เราสนุกกับการทำงาน ไม่เซ็งไม่เบื่อ ไม่ท้อถอย และมีความพยายามอยู่เสมอ ตอนนี้พี่ก็มีทีมมาช่วย ทุกเช้าเราจะมาระดมความคิดกัน ดูเทปที่ทำไป เป็นยังไง ดีตรงไหน ไม่ดีตรงไหน ต้องปรับตรงไหน พิธีกรเป็นยังไง เนื้อข่าวที่เอามานี่โดนใจเขาไหม แล้วการพูดการนำเสนอเป็นยังไง ช่วยกันคิด"
"ที่ทำตรงนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างบุคลากรใหม่ๆ ด้วย ให้มีคนใหม่ๆ เข้ามาช่วยกันคิด เพราะพี่ว่ารายการทุกรายการ งานทุกอย่างมันมีวงจรชีวิตของมันอยู่ ทุกอย่างเป็นสัจธรรมคือความเปลี่ยนแปลง ทุกสายงานหนีไม่พ้น วงการโทรทัศน์ วงการหนังสือพิมพ์ก็เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ คนที่ย่ำอยู่กับที่คือคนที่ตายแล้ว เป็นน้ำเน่าที่มันขังอยู่กับที่ น้ำดีต้องไหล พลิ้ว หมุนเวียนต่อเนื่อง งานก็เหมือนกัน"
"อย่างรายการนี่พี่ก็พยายามตั้งเป้าว่ามันไม่ควรเกินสามปี นานสุดเลยนะ ตอนนี้พี่มีปัญหาแล้ว อย่างล้วงลูกนี่พี่ทำมาจะสามปีแล้ว จะต้องเปลี่ยนแล้ว แต่ด้วยความที่พี่ทำมานานเนี่ยมันจะเงอะงะๆ ถึงได้พยายามสร้างรุ่นใหม่ขึ้นมา สร้างคนที่มีความคิด กล้าพูดกล้าทำ แต่จะกล้าคิดกล้าพูดกล้าทำนี่มันต้องมีข้อมูลดี มีประสบการณ์ดี มีวิชาการที่ดี พี่ก็พยายามจะสร้างคนตรงนี้ขึ้นมาเพื่อให้เขามาช่วยปฏิวัติรายการให้พี่ใหม่ ให้มันรู้สึกท้าทายตื่นเต้นทั้งพี่ทั้งทีมอะไรอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่พี่คิด พี่ทำ อย่างนี้ก็เลยสนุกกับงานได้ตลอดเวลา"
เราฟังแล้วก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าคนที่มีใจทุ่มเทให้งาน ทำงานอย่างมีความสุขอย่างพี่อ๋อยนั้นช่างหายากเหลือเกิน เพราะ คนสมัยนี้ ส่วนใหญ่พอทำงานไปนานๆ แล้วจะเริ่มกลายเป็น Routine ก็จะเริ่มบ่นกันแล้วว่า ไม่ชอบ ซ้ำซาก เฉื่อย เนือย หรือแม้จะไม่บ่น แต่เขาก็จะกลายเป็นหุ่นยนต์ไปในที่สุด "จริง คนแบบนี้มีทุกที่ ทุกองค์กร" พี่อ๋อยเห็นด้วย "เอาแค่พี่เองก็เคยมีอารมณ์ จิตใจแบบนั้นเหมือนกัน คือ มันมีอยู่สามส่วนที่ทำให้เป็นนะ หนึ่งคือ เรื่องของการบริหาร ระบบขององค์กร นโยบาย ระบบบริหาร สองคือ สภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อนร่วมงาน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือพร้อมไหม ไม่ใช่ต้องการให้เราทำโน่นทำนี่แต่ไม่มีวัสดุอุปกรณ์ให้เราเลยมันก็จะทำให้เซ็ง เบื่อ แล้วก็ทำให้หมดกำลังใจ สามหัวใจสำคัญที่สุดคือ ตัวเราเอง ทุกอย่างนี้มันจะเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน"
"ความเบื่อความเซ็ง ความท้อถอย ท้อแท้ เนือย เหี่ยว ในการทำงาน มันมีทุกองค์กรและไม่ใช่แค่เมืองไทย มันมีทั่วโลกแหละ แต่โอเค มีมากมีน้อยก็สุดแท้แต่ว่าสามส่วนนี้มันเป็นยังไง แต่ไอ้สองส่วนแรกน่ะเราไปกำหนดมันไม่ได้ จะไปเปลี่ยนนโยบาย ไปเปลี่ยนผู้บริหารเปลี่ยนระบบมันไม่มีทาง ฉะนั้นตัดไปเลย สิ่งที่เปลี่ยนได้มีอย่างเดียวคือตัวเราเอง"
"พี่ถึงบอกไงว่าทุกงานมีวงจรชีวิต มันต้องมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เราเห็นว่าที่ทำอยู่นี่ดีแล้ว ก็อยู่ไปเลยยี่สิบปีไม่พัฒนา ขาดการต่อยอดความคิด สุดท้ายคนทำงานก็กลายเป็นหุ่นยนต์ แบบนี้นอกจากเราจะฆ่าบริษัทแล้ว เรายังฆ่าตัวเองด้วย ดังนั้นทุกคนจึงควรใฝ่ฝันถึงความก้าวหน้าในการทำงาน มีการพัฒนาเรียนรู้ตลอด อย่างที่พี่ทำรายการนี่ต้องคิดเลยว่ารายการนี้จะทำนานเท่าไหร่ แล้วก็ต้องรู้จักใช้คนให้เหมาะกับงาน ให้คนไม่เบื่องาน ให้คนรักความก้าวหน้า มันก็สนุกทั้งองค์กรทั้งตัวเรา"
แล้วถ้าทีมงานเขาไม่เอากับเราด้วย แต่งานมันต้องเดินไปด้วยกันเป็นทีมจะทำยังไงล่ะ "บางทีการมีทีมงานดี มีเพื่อนร่วมงานที่ดี พี่ว่ามันเป็นโชควาสนาอย่างหนึ่งของคนทำงานนะ ที่ใช้คำว่าโชควาสนาก็เพราะว่ามันกำหนดเองไม่ได้ แต่โอเค มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรใดๆ ไม่ได้เลย มันก็ต้องพูด ต้องบอกต้องกล่าวกัน ต้องคุยกันด้วยการเอาผลงานเป็นที่ตั้ง เอาเป้าหมายความสำเร็จของบริษัทเป็นที่ตั้ง ถ้าทำอย่างนี้มันจะเกิดผลเสียอย่างไร งานจะไม่บรรลุผลอย่างไร ก็ต้องค่อยๆ แก้กันไป"
"ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะทำงานแบบที่เราสามารถเลือกทีมงานได้ พี่มีแนวคิดในการบริหารการกำหนดยุทธศาสตร์ในการทำงานให้บรรลุผลอย่างหนึ่งนะ คือพี่ตั้งคอนเซปต์ยุทธศาสตร์ของพี่ไว้ว่า คือ หนึ่ง วงจรชีวิตของการทำรายการไม่ควรเกินสามปี ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แล้วทีมเนี่ยพี่ก็มีหลักคิดอยู่คือ พี่ต้องการให้มันมีการโยกย้าย สับเปลี่ยนกันบ้างเพื่อรสชาติของการทำงาน เพื่อความท้าทายและเพื่อความเป็นผู้พิชิตของแต่ละคน อะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่ต้องโดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายนะ ต้องถามก่อนว่าเป็นยังไง ที่ทำอยู่นี่ดีไม่ดียังไง อยากจะทำอะไรอีกไหม เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองและได้กำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน และข้อที่สำคัญคือ พัฒนาคุณภาพมาตราฐานของเนื้องานแต่ละชิ้นที่เราทำ ไม่ให้แน่นิ่ง ไม่ให้เหมือนหุ่นยนต์ ทำให้งานสนุก คนทำงานแฮปปี้ ที่พี่พูดนี่คือความตั้งใจเป็นแนวทางแต่ยังทำไม่ได้ทั้งหมดเหมือนกัน แต่ก็พยายามทำ ส่วนหนึ่งก็เพื่อตัวเราเองด้วย พอเราได้คิด มีโครงการ มีแผน เราก็รู้สึกว่ามันมีอะไรท้าทาย มีอะไรทำ เราก็จะไม่ตาย ไม่เป็นหุ่นยนต์ ไม่โดนกลืนโดยระบบโดยอะไรที่มันเป็นปัญหา"
แต่ปัญหาของคนทำงานลางคนที่ต่างไปจากนี้ก็มีอีก คือ เขาไม่รู้ว่าชีวิตเขาต้องการอะไร "นี่ตรงประเด็นเลย ตอนนี้ทุกครั้งที่พี่จะรับทีมงานหรือมีน้องๆ ฝึกงานเข้ามา พี่จะถามคำถามแรกว่า ทุกคนตั้งเป้าไว้ยังไงในชีวิต เรียนจบไปทำอะไร บางคนก็บอกว่า ไม่รู้ค่ะ ไม่รู้ครับ แต่บางคนเขาจะตอบได้ว่า พี่หนูเรียนสื่อมวลชนมาหนูจบไปหนูอยากจะเป็นครีเอทีฟ อีกคนหนึ่งบอก ผมอยากจะเป็นทนายความ เพราะผมเรียนมาทางกฎหมายแล้วผมชอบ ไอ้สองคนแรกที่ไม่รู้นี่พี่ให้ตก สองคนหลังนี่พี่ให้คะแนนเต็มเลย เพราะ การที่เราบอกว่าชอบไม่ชอบหรือเรามีเป้าหมายนี่เพราะว่ามันเหมือนมีแผนที่ในการเดินทาง มีเข็มทิศที่ชัดเจนว่าจะเดินทางไปไหน ไอ้คนที่ไม่รู้มันก็เหมือนกับเดินไปไร้ทิศทาง ออกทะเลบ้าง ตกเหวบ้าง เพราะไม่มีทิศทางไม่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน ซึ่งตรงนี้พี่มองว่าเป็นอันตราย"
"แต่โอเค บางคนเขายังเด็กเกินไปเขาอาจจะยังไม่ทันคิด แต่ต้องคิดซะ โดยเฉพาะนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เอ้า ปีสอง ปีหนึ่งอาจจะไวไป แต่ถ้าปีสี่ต้องรู้แล้วเพราะต้องเตรียมไปสมัครงาน ไม่ใช่คุณไม่รู้ว่าคุณชอบคุณรักอะไร ตายเลย นอกจากคุณจะทำลายตัวคุณแล้ว คุณยังไปทำลายองค์กรที่รับคุณเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการเพราะว่าคุณไม่ได้รักจริง เพียงแต่ว่าคุณไปสักแต่ว่าทำ"
"เพราะเมื่อคนเราไม่ชอบไม่รักนี่มันก็ทำได้ไม่ดี ไม่มีความทุ่มเท อะไรนิดอะไรหน่อยก็บ่น โอดครวญแล้ว หาทางอู้ เพราะเราไม่ได้รักไม่ได้ชอบ แล้วถ้าคุณไปได้งานทำในสิ่งที่ไม่ได้ชอบไม่ได้รักเนี่ย มันจะเหมือนที่คาริล ยิบราลเขาบอกไว้ในหนังสือปรัชญาชีวิตว่า คุณไปคั้นเหล้าองุ่นคุณก็จะได้เหล้าองุ่นที่เป็นยาพิษทำลายตัวคุณเอง คุณไปปิ้งขนมปังก็เป็นขนมปังที่มีรสขม เป็นเสนียดจัญไรแก่กระเพาะ เพราะคุณไม่ได้ทำงานด้วยใจรัก"
"ดังนั้นโชควาสนาอีกอย่างหลังจากเรียนจบ คือการได้ทำงานที่เรารัก จำไว้เลยว่า จงทำงานที่เรารักและรักในสิ่งที่เราทำ เพราะฉะนั้นก็อยากจะฝากน้องๆ ทุกคนนะ จงถามตัวเองก่อนว่าเรารักเราชอบอะไร เราพร้อมจะทุ่มเทสู้ตายถวายชีวิตให้กับงานอาชีพอะไร จงเลือก แล้วก็เดินหน้าไป และก็จงทำลายทางแห่งการถอยกลับทุกทางออกไปให้หมดสิ้น เพื่อที่เราจะได้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ในชีวิตให้สำเร็จให้จงได้"
"แต่ตอนนี้พี่มีอย่างนึง เป็นข้อเสียของพี่ ที่พี่เสียดายและเสียใจมาก แม้พี่จะมีความฝัน มีทีมงานของพี่ที่พร้อมจะผลักดันความฝันซึ่งกันและกัน แต่ตัวพี่เองก็มาพลาดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเมื่อหกปีที่แล้ว ก็ทำให้ตอนนี้ร่างกายก็พิกลพิการเดินไม่ได้ ก็เป็นความเจ็บปวดเสียใจที่มาพร้อมกับความโชคร้าย จากอุบัติเหตุที่มาพร้อมกับความประมาท ก็เลยทำให้ความฝันหลายๆ อย่างทำได้ไม่เต็มร้อยอย่างที่เราคิด เพราะส่วนหนึ่งก็ต้องมาพักผ่อน มาดูแลสุขภาพร่างกาย ก็อยากจะฝากบอกถึงผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน ช่วงนี้ใกล้ปีใหม่ เดินทางขึ้นรถลงเรือไปเหนือล่องใต้นี่ก็อย่าประมาท อย่าคึกคะนอง อย่าขับเร็ว อย่าฝืนร่างกาย เช่น อ่อนเพลียหรือว่าล้า ง่วง ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า ถ้าไม่ไหว ไปช้าสักวันหนึ่งดีกว่าไปไม่ถึงเลยตลอดชีวิต แล้วไม่ใช่ชีวิตเราคนเดียว ชีวิตคนอื่นด้วย อุบัติเหตุมันเกิดได้ทุกเสี้ยววินาทีถ้าเราประมาท แล้วเราก็ต้องมานั่งพูดกับตัวเองว่า สายไปซะแล้ว เหมือนที่พี่พูดกับตัวเอง เพราะว่าเราประมาทขับเร็ว คึกคะนอง ก็เลยนำความหายนะให้กับร่างกาย แทนที่จะทำงานให้ทีมได้มากกว่านี้ ดีกว่านี้ ก็โดนบั่นทอนด้วยสภาพร่างกาย เพราะพิษภัยแห่งความประมาทนะ"
ทุกวันนี้นอกจากการดูแลสุขภาพของตนเองแล้ว กิจวัตรประจำวันของพี่อ๋อยก็ยังคงอยู่กับข่าว ทำงานข่าว อ่านข่าว และเรียนรู้เรื่องข่าวอยู่ตลอดเวลา จนแทบจะเรียกได้ว่าพี่อ๋อยหายใจเป็นข่าวเลยจริงๆ
"ที่จริงเราก็ต้องบังคับตัวเองด้วยนะ เพราะเรามาอยู่ในอาชีพข่าว ในองค์กรข่าว รายการเราก็รายการข่าวและยุคนี้ก็เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร บางทีคนดูข่าวเขารู้เยอะว่าเราด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพยายามรู้ให้เยอะ เยอะเพื่อจะมาถ่ายทอดให้ผู้ชมได้ประโยชน์จริงๆ ในการเสพข่าวจากเรา"
"ดังนั้นเราก็ต้องทำการบ้าน อย่างเวลานี้พี่ก็อยู่กับข่าว ตื่นมาพอรู้สึกตัวนี่ต้องเปิดทีวีก่อนแล้ว เพราะข่าวมาตั้งแต่ตีห้าครึ่ง หกโมง ต้องเปิดแล้ว ช่องใดช่องหนึ่ง เปิดแช่ไว้ก่อนเลย แล้วก็ฟังเสียงเอาว่ามันมีอะไร แล้ว จะดูวนไปทุกช่อง เอ้า ช่องนี้ว่าไง ช่องนี้ว่าไงๆๆ สักเจ็ดโมงครึ่ง แปดโมงก็เข้ามาออฟฟิศแล้ว เข้าแลน ดูข่าว สำนักข่าวเนชั่น มีข่าวที่เราไม่ได้อ่านรายละเอียดเมื่อวานนี้ว่ามีอะไรมั่ง ก็พิมพ์ออกมานั่งอ่านเพื่อจะออกอากาศตอนเก้าโมง แล้วข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับต้องพยายามดูให้ทุกวัน ทุกข่าว ถ้าวันไหนขยันตื่นเช้าหน่อยก็พยายามอ่านคอลัมน์ละเอียดหน่อย พอทุ่มหนึ่งนี่งานซาๆ ลงก็จะดูทีวี แล้วก็พริ้นท์ข่าวมาจากสำนักงานข่าวกลางของเรา แล้วก็จะประชุมทีม แพลนกันว่าพรุ่งนี้จะออกไปไหนบ้าง ไปสัมภาษณ์ข่าว ไปลุยข่าว เอ้า ใครมีไอเดียอะไรมาเสนอ อันนี้มีการบ้านไปเมื่อวานนี้ให้ไปห้าข้อ วันนี้ใครมีอะไรมาเสนอบ้าง คิดประเด็น แล้วเราก็มาช่วยกันดู แล้วจัดทีมออกไปทำ ก็สนุกดี"