ตรี อภิรุม : นักเขียนจินตนิยายสยองขวัญคนสำคัญของไทย

ตรี อภิรุม

นักอ่านรุ่นเก่าคงเคยผ่านตากับอมตะนิยายเรื่อง ‘แก้วขนเหล็ก’ผลงานชั้นครูของ‘ตรี อภิรุม’ หรือ ‘เทพ ชุมสาย ณ อยุธยา’นักเขียนแนวลึกลับสยองขวัญคนสำคัญของไทยที่สร้างสรรค์นวนิยายกว่า 100 เรื่อง ได้รับการยอมรับจากเหล่านักอ่าน นักวิจารณ์ ทั้งในเรื่องของการใช้ภาษา และการวางโครงเรื่องซับซ้อนชวนติดตาม

‘นัดพบนักเขียน’ ได้ร่วมสนทนาว่าด้วยความเป็นมาของชีวิตและงานเขียนในบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ สำหรับ‘ตรี อภิรุม’แล้ว นวนิยายเล่มหนึ่งถือเป็นศาสตร์รวบรวมความรู้มากมาย และยังมีกลวิธีทางวรรณศิลป์ช่วยสร้างสีสันให้สนุกสนาน น่าอ่านมากยิ่งขึ้น ความสำเร็จของคนเขียนหนังสือจึงไม่ได้เกิดจาก ‘พรสวรรค์’ เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจาก ‘พรแสวง’ และละเอียดในการศึกษาหาข้อมูล

all : เริ่มชีวิตนักเขียนตั้งแต่เมื่อไหร่
ตรี อภิรุม : ผมส่งผลงานเข้าประกวดตามที่ต่าง ๆ ส่วนนิยายสยองขวัญเริ่มต้นเขียนจากโครงเรื่องจากคุณยาย ท่านชอบเล่านิทานให้ฟัง คุณยายเป็นลูกสะใภ้หม่อมเจ้า อดีตคือหม่อมราชวงศ์ได้เข้าไปอยู่ในวัง ที่เป็นเรือนไม้โบราณ และมีชานเรือนเชื่อมระหว่างห้องครัวกับด้านนอกชาน แล้วเจาะเป็นร่องปลูกต้นชมพู่ขึ้นมา เวลาคุณยายเล่าผมก็นั่งเกร็ง เพราะคุณยายเล่าอย่างตื่นเต้น ก็เลยหยิบจับบรรยากาศตรงนั้นมาเขียน ‘ตรี อภิรุม’ นักเขียนจินตนิยายสยองขวัญคนสำคัญของไทย

all : นามปากกา ‘ตรี อภิรุม’ และ ‘เทพเทวี’ มาจากไหน
ตรี อภิรุม : นามปากกาแรกที่ผมใช้ ‘เทพเทวีวิจิตร’ ภายหลังเป็น ‘เทพเทวี’ (แขไข เทวิณ เป็นผู้ตั้งให้) ต่อมาเขียนแนวไสยศาสตร์ลงในนิตยสารบางกอก จึงได้เปลี่ยนนามปากกาเป็น ‘ตรี อภิรุม’ มีที่มาจากตระกูลชุมสายมีฉัตรสามชั้นเป็นสัญลักษณ์ อภิรุม แปลว่า ฉัตร ส่วน ‘ตรี’ แปลว่า สาม กรมขุนราชสีห์วิกรมถือเป็นต้นตระกูล ตอนสิ้นพระชนม์ก็มีฉัตรสามชั้นเป็นเกียรติยศ

all : งานเขียนแนวไสยศาสตร์เรื่องแรก ชื่อว่าอะไร
ตรี อภิรุม : เรื่อง ‘กายทิพย์’ ใช้นามปากกาเทพเทวี เคยเป็นละครมาแล้ว

all : ผลงานชิ้นแรกที่ลงในสื่อสิ่งพิมพ์
ตรี อภิรุม : ผมเขียนเรื่องสั้นก็เขียนไม่มาก ส่วนใหญ่ลงกระจัดกระจายตามหน้านิตยสาร และหนังสือพิมพ์ เรื่องแรกคือ ‘หาดจอมเทียน’ เขียนลงในหนังสือพิมพ์หลักเมือง (ฉบับวันอาทิตย์) ไม่ได้เงินนะครับ ลงฟรี ดีใจสุดขีด ต่อมาผมเขียนเรื่อง‘สีชมพูเมื่อเที่ยงคืน’ ลงนิตยสารสกุลไทย มีค่าเรื่องให้ 50 บาท ผมดีใจมาก ๆ เพราะเป็นเรื่องแรกที่ได้เงิน ส่วนเรื่องยาวเขียนประมาณ 100 กว่าเรื่อง และหลาย ๆ เรื่องก็เป็นละครโทรทัศน์ มีทางช่อง 5, ช่อง 3, ช่อง 7 มาซื้อไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ออกอากาศ เช่น ทายาทอสูร, แก้วขนเหล็ก, เทพบุตร, อีสาวอันตราย, แหวนสวาท, ปิศาจหรรษา อนิลทิตา เซ็นสัญญาไปเมื่อปีที่แล้ว

all : ระหว่างเรื่องสั้นกับเรื่องยาวชอบเขียนแนวไหนมากกว่ากัน
ตรี อภิรุม : ชอบเรื่องยาวมากกว่า เพราะความคิดเตลิดเปิดเปิง อย่างเรื่อง ‘แก้วขนเหล็ก’ ก็ค่อย ๆ เขียนไปทีละหนึ่งตอน สองตอน เขียนไปเรื่อย ๆ

all : เรื่องแก้วขนเหล็กได้ข้อมูลมาจากอะไร
ตรี อภิรุม : เบื้องต้นมาจากคุณยายเล่นนิทานให้ฟัง นิทานที่คุณยายเล่าได้จุดประกายความคิดแบบแฟนตาซี เรื่องมีอยู่ว่า นฤดมได้รับมรดกตกทอดเป็นบ้านหลังใหญ่ นามว่า ปราสาทพยับเมฆ เมื่อได้เข้าไปสำรวจในปราสาทแล้วนิสัยก็เปลี่ยนกลายเป็นคนเก็บตัว แล้วนำคัมภีร์เร้นลับเป็นคาถาชีวิตวัฒนะ ที่ได้จากทิเบตมาเก็บไว้ในปราสาท แล้ววันหนึ่งนฤดมก็ชุบชีวิตเมฆินทร์จอมปีศาจร้ายให้ลุกขึ้นมา นฤดมก็กลายเป็นสาวกที่คอยหาสาว ๆ สวย ๆ มาให้เมฆินทร์ดูเลือด

all : มีเทคนิคอย่างไรในการเขียน ให้น่าตื่นเต้นจนชนะใจคนอ่าน
ตรี อภิรุม : เรามีโครงเรื่องอยู่ในใจอยู่แล้ว ตัวเราจะรู้ว่าจุดจบมันอยู่ตรงไหน แล้วค่อย ๆ หารายละเอียดมาใส่ คลำหาทางไปจนถึงจุดจบ เช่น สมมุติว่าเราอยู่ตรงนี้ อยากจะเดินทางไปพาหุรัด เราก็เดินไป แต่ระหว่างทางเราอาจจะแวะไปกินกาแฟ ไปชมดอกไม้ข้างทางก่อน แต่สุดท้ายก็ไปถึงพาหุรัดได้ถูกต้อง จุดจบมีอยู่ในใจอยู่แล้ว แค่ยังไม่ชัดเจน

all : กว่าจะได้นวนิยายหนึ่งเล่ม มีวิธีวางโครงเรื่องอย่างไร
ตรี อภิรุม : ขั้นแรกต้องสร้างตัวละครก่อน มีนางเอกพระเอก ตัวร้าย ตัวประกอบ ฯลฯ ผมจะมีกระดาษแผ่นหนึ่งไว้เขียนชื่อ ประวัติ และที่มาของตัวละครอย่างคราว ๆ แล้วจึงสร้างนิสัยหรือลักษณ์เด่นของแต่ละตัว ก่อนเขียนจะมีเค้าโครงเรื่องก่อนเสมอ ไม่ใช่นั่งเขียนแล้วก็ฝันไป

all : เคยตกอยู่ในภาวะตีบตันทางความคิดบ้างไหม
ตรี อภิรุม : ก็เคยมีแต่ว่าไม่นาน เวลาที่คิดไม่ออกก็ไปเดินเล่นในสวนบ้าง หรือเดินเล่นในห้างสรรพสินค้า ดูของ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจแล้วก็กลับมาเขียน

all : กว่าจะเป็นนักเขียนได้ในทุกวันนี้ ฝ่าฟันอุปสรรคมามากขนาดไหน
ตรี อภิรุม : สมัยก่อนผมต้องไปย่อเรื่องให้เขาก่อน แล้วเข้ามาทำหนังสือพิมพ์บางกอก ได้คุยกับคุณวิชิต โรจนประภา แนะนำให้เขียนนิยายแนวไสยศาสตร์ ลึกลับ สยองขวัญ ผมก็ใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะได้เขียนเรื่องยาว ค่อนข้างโดนกีดกันมาก ปัดแข้งปัดขาทั้งทางตรงและทางอ้อม พยายามหลีกเลี่ยงคนเหล่านั้น กว่าจะฝ่ามรสุมมาได้ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก ช่วงแรก ๆ ที่เขียนลงในนิตยสารบางกอกใช้นามปากกา ‘เทพเทวี’ เขียนเรื่องรักไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่มาประสบความสำเร็จตอนเป็น ‘ตรี อภิรุม’ ก็กลบเทพเทวีไปเลย (หัวเราะ)

all : ทราบมาว่า ‘แขไข เทวิณ’ เป็นนักเขียนในดวงใจใช่หรือเปล่า
ตรี อภิรุม : ผมจำไม่ได้ว่าไปเจอกันที่ไหน แต่คุยกันแล้วถูกอัธยาศัย คุณแขไขเป็นแฟนของคุณประสิทธิ์ ศิริบันเทิงเป็นนักเขียนที่ผมชื่นชอบคนหนึ่ง และผมเคยนำงานเขียนมาให้ดู ซึ่งคุณแขไขก็ช่วยแนะนำ เช่น เรื่องการตัดตอนต้องตัดอย่างไรให้สนุกสนานอย่าไปบอกเขาหมด ถ้าบอกหมดการเดินเรื่องจะไม่น่าติดตาม ผู้อ่านจะไม่อยากอ่านเรื่องของเราอีก ตอนจบต้องทิ้งปมปัญหาไว้บ้าง เพื่อให้เกิดแง่คิด

all : ปัจจุบันยังเขียนงานอยู่ไหม
ตรี อภิรุม : มีนวนิยายเรื่องหนึ่งอยู่ที่บางกอก ชื่อเรื่องก็สองจิตสองใจ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตอนนี้ใช้ชื่อว่า ‘นครนอกฝัน’ เพราะยังมีเวลาคิดต่อ เนื้อเรื่องประมาณว่า คนเราผ่านเข้าไปในทวารภพของเมืองลับแล บรรยากาศไม่เหมือนโลกมนุษย์ ในเมืองลับแลมีทั้งป่าหิมพานต์ มีพญานาค จุดเริ่มต้นคือหนุ่มคนไทยคนหนึ่งพาคุณยายไปเที่ยวทางภาคอีสาน แถวนั้นเปลี่ยวมากเลย เดินไปเจอภูเขาก็ขึ้นไป แล้วเข้าไปในถ้ำ ซึ่งมีกลิ่นหอมประหลาดโชยออกมา เขามองเห็นช่องไม้ที่ปิดอุโมงค์ไว้ แปลว่า ห้ามเข้า แต่แล้วก็งัดอุโมงค์ไปดูว่ามันกลิ่นอะไร ก็เลยถูกดูดเข้าไปในเมืองลับแล ที่นั่นเขาขี่ฬ่อ (ล่อ) เป็นพาหนะ เมืองลับแลนี้มีกฎห้ามพูดโกหก ใครโกหกจะส่งให้ไปทำงานสาธารณประโยชน์ เรื่องก็เป็นประมาณนี้

all : งานของนักเขียนท่านไหนที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ
ตรี อภิรุม : ชอบงานของกฤษณา อโศกสิน ชอบมากกว่าอาจารย์ของตัวเอง (แขไข เทวิณ) อีก เพราะเขียนเก่งจริง ๆ ผมขอชื่นชม การปูพื้นดูเรียบ ๆ ดำเนินเรื่องช้า ๆ แต่มีสิ่งที่น่าสนใจทิ้งไว้ตลอด ชวนให้ผู้อ่านติดตาม

all : การทำหนังสือโดยไม่ผ่านบรรณาธิการ คิดว่าผลงานที่ออกมามีความแตกต่างกันหรือไม่
ตรี อภิรุม : แตกต่าง เพราะบรรณาธิการเขามีประสบการณ์มากกว่า การตรวจต้นฉบับเองอาจจะมีประสบการณ์ไม่เพียงพอ จุดด้อยของคนเรามีทุกคน แต่ว่าเรามองไม่เห็น ซึ่งคนอื่นเขาจะมองเห็น แล้วเราก็ต้องยอมรับ ยกตัวอย่าง ลุงได้อาจารย์แขไขเป็นคนช่วยตรวจให้ ก็จะได้อะไรเยอะ บางคำพูดจะเยิ่นเย่อ ก็ต้องปรับให้บทสนทนาเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เจตนาให้มันยาวอย่างเดียว ต้องกระชับ และบางประเด็นที่ไม่จำเป็นก็ต้องตัดทิ้งไป

all : หากมีนักเขียนรุ่นใหม่ อยากจะเดินตามรอยเท้าของ ‘ตรี อภิรุม’ ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานอะไรบ้าง
ตรี อภิรุม : เบื้องต้นนักเขียนต้องมีพรสรรค์ แต่พรแสวงนั้นแน่นอนกว่า ถ้ามีแค่พรแสวงเพียงอย่างเดียว ไม่มีพรสวรรค์อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ต้องมีทั้งสองส่วนควบคู่กัน และต้องศึกษาหาข้อมูลอย่างรอบด้าน ถ้าเรื่องไหนไม่มั่นใจก็เก็บไว้ก่อน เมื่อได้ข้อมูลครบค่อยกลับมาเขียนต่อ

 

 

all : มีอะไรอยากจะฝากถึงนักเขียนรุ่นใหม่ไหม
ตรี อภิรุม : การทำงานเขียนจะมีรายละเอียดซ่อนไว้เยอะมาก ไม่ใช่แค่อ่านสนุกเพียงอย่างเดียว อย่างงานของผมก็จะเป็นเรื่องอภินิหาร แต่ก็ซ่อนปรัชญาไว้ เช่น เรื่องล่าสุดก็จะแทรกเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงหรือสอดแทรกธรรมะ แต่บางทีเรื่องธรรมะคนอ่านอาจจะเบื่อง่าย ฉะนั้นเราต้องมีกลวิธีในการนำเสนอให้เรื่องราวสนุกสนานชวนติดตาม ‘ตรี อภิรุม’ นักเขียนจินตนิยายสยองขวัญคนสำคัญของไทยชีวิตและผลงาน เทพ ชุมสาย ณ อยุธยา นักเขียนรางวัลนราธิป ประจำปี 2556 เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2473 ในอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี

ด้วยความที่มารดาเป็นครู จึงได้รับการปลูกฝังการอ่านมาตั้งแต่เด็ก และเริ่มส่งผลงานเข้าประกวดในสนามต่าง ๆ จนกลายเป็นนักเขียนอาชีพ แรกเริ่มก็ใช้นามปากกา‘เทพเทวี’ ที่แขไข เทวิณ (เป็นผู้ตั้งให้) เขียนเรื่องรัก เช่น นวนิยายแสนซน และช่วงปี 2505 เริ่มเขียนงานในนิตยสารบางกอก ใช้นามปากกาว่า ‘ตรี อภิรุม’ เพื่อเขียนแนวลึกลับ สยองขวัญ ซ่อนปริศนาให้หาคำตอบ ผลงานที่สร้างชื่อ ‘แก้วขนเหล็ก’ กับ ‘จอมเมฆินทร์’ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ อยู่หลายครั้ง และผลงานอื่น เช่น คฤหาสน์นางหงส์, เลห์ซาตาน, บัญชากับฝาแฝด, ทายาทอสูร, ตุ๊กตาโรงงาน, พระเอกอมตะ, เขี้ยวขอ, คนอสรพิษ, แหวนสวาท, ลูกสาวซาตาน, นางพญาอสรพิษ (ภาคต่อของลูกสาวซาตาน), จินตวาณี, สัมภเวสี (ภาคต่อของจินตวาณี), ภูตพยัคฆ์, นาคี, สัมผัสพิศวง, ปราสาททมิฬ, นางนิมิต, สาวพลังภูติ, นารีสีเพลิง, ภุมรินทร์เพื่อนรัก, เศียรมาร, พรแปดประการ, เมืองเนรมิต, สัมผัสที่หก, เจ้าสาวจระเข้, เทพบุตรเที่ยงคืน, กายทิพย์, มิติที่สาม, อนิลทิตา, ปิศาจหรรษา, มฤตยูผยอง, ศึกเสน่หา, คัมภีร์ผีภูเขา, บาดาลดิน, สายพันธุ์พยัคฆ์, เทพบุตรสุดเวหา ฯลฯ งานเขียนมีรายละเอียดซ่อนไว้เยอะมาก เช่น ซ่อนปรัชญาหรือธรรมะไว้ และต้องมีกลวิธีในการนำเสนอให้เรื่องราวสนุกสนาน ชวนติดตาม

 

 

 

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ