‘นัดพบนักเขียน’ ฉบับนี้ ทางกองบรรณาธิการต้องการหาบุคคลที่จะมาคุยเรื่องนักประพันธ์ไทยแบบจริงๆจังๆและบุคคลผู้นั้นต้องเป็นบุคคล ที่ผ่านและสั่งสมประสบการณ์ด้านวรรณกรรมมาอย่างโชกโชน ซึ่งชื่อแรกที่ ‘ออล แม็กกาซีน’ นึกถึงคือ ‘ณรงค์ จันทร์เรือง’ ผู้อยู่บนถนนสายวรรณกรรมมาอย่างยาวนาน
ชื่อ ‘ณรงค์ จันทร์เรือง’ เราอาจจะไม่คุ้นหู เท่านามปากกาที่เขาใช้ นั่นคือ ‘ใบหนาด’ ผู้ปลุกปั้นเรื่องเล่าเขย่าขวัญมาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง ด้วยผลงานการเขียน ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ผสมกับการยืนอยู่บนวงการน้ำหมึกมาหลายต่อหลายปี รวมทั้งมีโอกาสได้ใกล้ชิด กับนักประพันธ์รุ่นใหญ่หลายท่าน จึงเป็นเหตุให้ ‘ออล แม็กกาซีน’ ต้องนัดพบเพื่อสอบถามถึงเรื่องนักประพันธ์ไทย วงการวรรณกรรมที่ผ่านมา รวมถึงตัวตนที่น้อยคนนักจะได้รู้จัก
all : อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ก้าวเข้ามาสู่ถนนสายน้ำหมึก
ณรงค์ : อย่างที่ทราบๆ กันว่า ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ที่บ้านผมมีหนังสืออยู่เยอะมาก นี่แหละคือแรงบันดาลใจ ของผม
all : เมื่องานเขียนของตัวเองได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก มีความรู้สึก อย่างไร
ณรงค์ : ตื่นเต้นและดีใจเป็นของธรรมดาอยู่แล้ว ตอนนั้นยังเรียนหนังสืออยู่ ผมเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่กรุงเทพฯ โตและอยู่ที่กรุงเทพฯ ผมจึงเขียนหนังสือมาโดยตลอด
all : กว่าจะได้ออกมาเป็นผลงานเขียนแต่ละชิ้น มีความยาก หรือง่ายอย่างไรบ้าง
ณรงค์ : มันก็ไม่ยาก ไม่ง่ายนะ ถ้าคุณทำงานอะไรมาประมาณ40–50 ปีแบบผม ไม่ต้องถึงขนาดแค่40 – 50 ปีหรอกเอาแค่ 10 - 20 ปีก็พอ มันก็ไม่มีงานอะไรยากแล้วใช่ไหม เพราะผมถือว่าเป็นความเคยชิน เปรียบเหมือนเป็นช่างไม้ นักบิน วิศวกร คนเดินสายไฟ ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ช่างซ่อมโทรทัศน์ ทุกอย่างมันเจนมือมาหมดแล้วจะว่ายากไหม มันก็ยาก จะว่าง่าย มันก็ง่ายด้วยตัวของงานเอง
all : แล้วการเขียนงานแต่ละประเภท มีเทคนิคแตกต่างกันไหมครับ เพราะงานแต่ละชิ้นย่อมมีรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน
ณรงค์ : ใช่ ใช่ มันมี มันมี จะใช้คำเท่ห์ ๆ ว่า‘กลุ่มคำ’ ก็ได้ ว่าเขียนเรื่องแนวนี้ ต้องใช้กลุ่มคำนี้นะ หรือเรื่องแนวนี้ต้องใช้กลุ่มคำประเภทนี้อย่างเขียนเรื่องชีวิตเรื่องเบาสมองหรือเรื่องสยองขวัญต่างๆจะมีกลุ่มคำเฉพาะของเรื่องนั้นๆ ทีนี้ก็มา ‘ดูความ’ ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผมเรียกสิ่งนี้ว่า ความชำนาญในอาชีพหรือประสบการณ์ก็แล้วกัน ไม่จำเป็นจะต้องมาเลือกหาถ้อยคำ ถูกไหม พอจะเขียนอะไรออกมาปุ๊บ คำพวกนี้จะออกมาเองโดยอัตโนมัติเลย มันเหมือนกับภาษาหรือสำนวนที่เขาเรียกกันว่า ‘หยิบออกมาจากแฟ้ม’ นั่นแหละ
all : มาพูดถึงนามปากกา ‘ใบหนาด’ กันบ้าง ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่คนอ่าน เรื่องสยองขวัญ มีวิธีการอย่างไรในการเล่าเรื่องให้ออกมาน่ากลัวจนขนหัวลุก
ณรงค์ : ก่อนอื่นต้องเริ่มก่อน ว่าทำไมถึงโดนผีหลอกอันนี้เราข้ามคำถามที่ว่าผีมีจริงหรือไม่ไปแล้วนะสรุปว่าผีมีจริง พอจะเขียนเรื่องผี เรามาเริ่มถามกันก่อนเลยว่า ทำไมถึงโดนผีหลอก ต้องถามอย่างมีเหตุผล เพราะเรื่องผีเป็นเรื่อง ซึ่งไร้ด้วยเหตุผล แต่ต้องเขียนด้วยเหตุและผล จึงจะทำให้คนเชื่อเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างสนิทใจ อีกทั้งต้องมีเหตุผลในทุกเหตุการณ์ว่าเพราะอะไร จึงจะทำให้เรื่องดำเนินต่อไปได้ ต่อมา แล้วผีจะหลอกอย่างไร โดยหน้าที่ของ คนเขียนเรื่องผี ต้องมีคนโดนผีหลอกจนได้ และจะต้องมีเหตุประหลาดต่าง ๆ กิดขึ้นแน่นอน นี่คือวิธีการเล่าเรื่องผี ที่ผมใช้ อีกอย่างเนื่องจากผมบังเอิญชอบดูหนังเรื่อง ‘ทไวไลท์โซน’ซึ่งมันเป็นเรื่องกึ่งผี กึ่งประหลาด แต่จะเน้นไปในทางสยองขวัญ ยกตัวอย่างเรื่องง่ายๆแต่น่ากลัวเรื่องหนึ่ง คือถ่ายหน้าผู้หญิงในโรงพยาบาล หน้าถูกพอกไปด้วยผ้าพันแผล เมื่อถ่ายมุมสูงลงมาจะเห็นหน้าผู้หญิงสะบักสะบอมมาก และเห็นขาหมอยืนล้อมช่วยเหลือกันอยู่ กล้องตัดภาพไปที่ข้างฝา เป็นวิทยุประกาศว่า สังคมเราจะกำจัดคนที่หน้าตาอัปลักษณ์แตกต่างจากเราไปให้หมด ภาพตรงหน้าจึงสรุปได้ว่า เป็นการผ่าตัดผู้หญิง เพื่อให้เธอหน้าตาดีขึ้นและเข้ากับสังคมได้ คนดูก็ลุ้นว่าจะได้ผลหรือไม่ พอถึงตอนจบผ้าพันแผลถูกลอกออกจนเหลือชิ้นสุดท้าย เสียงร้องกรี๊ดดังขึ้น กล้อง ซูมไปหาหน้าผู้หญิงสาวสวยหยาดเยิ้มคนนั้น แต่เสียงกรี๊ดคือเสียงของหมอกับพยาบาล ซึ่งกล้องเงยขึ้นถึงจะเห็นหน้าหมอกับพยาบาลชัดเจนเป็นครั้งแรก ซึ่งหน้าทุกคนเป็นลิงหมดเลย ฉะนั้นถึงบอกว่า เรื่องแบบนี้ไม่ได้หาหรือคิดกันได้ง่าย ๆ เลยนะ สำหรับผม
all : เรื่องผีที่เขียนเคยมีหมดมุขบ้างไหมครับ แล้วมีวิธีการเติมจินตนาการ ตัวเองอย่างไร
ณรงค์ : ต้องจินตนาการทุกเรื่องก็จริง เพียงแต่ว่าบางเรื่องต้องอ่านหนังสือประกอบด้วย อย่างว่า นักเขียนมีหน้าที่หลักอย่างหนึ่งคือ ต้องอ่านหนังสือ เราได้ข้อมูลมา สมมติว่าได้ข้อมูลมาจากจังหวัดมุกดาหาร เขามีประเพณีอย่างนี้เกิดขึ้น เราก็นำข้อมูลตรงนั้นเข้ามาเป็นฉากยืนพื้นแล้วเอาพล็อตเรื่องเติมเข้าไป ซึ่งคนที่นั่นอ่านแล้วเขาก็จะยอมรับ ข้อมูลของเราว่าถูกต้อง กับอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ต้องมี ‘ฉากรองรับ’ สมมติว่าคุณไปเจอเรื่องผี คุณจำเอาไว้เลยว่า ประการสำคัญที่สุดก็คือ ‘ฉาก’ เพราะถ้าไม่มีฉากแล้ว เรื่องราวจะไม่น่าเชื่อถือเลย เช่น บอกถึงโค้งมรณะ ขับรถผ่านโค้งมรณะมีร่างขาว ๆ คือผู้หญิงผมยาววิ่งตัดหน้า อย่างนั้นน่ะ ถามหน่อย โค้งไหน เราก็ใส่ข้อมูลเข้าไป ซึ่งพอใส่เข้าไปแล้วมาเรียบเรียงเขียนใหม่ เรื่องก็จะสมจริงมากขึ้น เราต้องมีข้อมูลตรงนี้ใส่เข้าไป แต่อย่างว่า ไม่สามารถทำได้ทุกเรื่องหรอก เพราะถ้าต้องเขียนทุกวัน วันละเรื่อง จันทร์ถึงศุกร์ ข้อมูลตรงนี้ก็จะหมดไป ทีนี้อีกวิธีหนึ่งเท่าที่ผมได้มาคือ‘การท่องเที่ยว’ผมจะออกต่างจังหวัดทุกเดือนเลยก็ว่าได้บางเดือนสองครั้ง ไม่ว่าจะเป็นภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ แล้วก็อ่านหนังสือ เพราะคนที่เขียนหนังสือถือเป็นเรื่องจำเป็นเหลือเกินที่ต้องอ่านหนังสือ และนั่งจมอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นั่นแหละ อาชีพเราก็คงคล้าย ๆ กัน (หัวเราะ)
all : แล้วในสายตาของคุณ วรรณกรรมสมัยก่อนกับปัจจุบันนี้ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ณรงค์ : มีทั้งแง่เหมือนและแง่แตกต่าง ในแง่เหมือนก็คือ นักเขียนก็เขียนหนังสืออยู่เหมือนเดิม ยังเขียนเรื่องสั้นและเรื่องยาวอยู่เหมือนเดิม แต่นับวันสนามเรื่องสั้นจะน้อยลงไปมาก มาถึงเรื่องของความแตกต่าง ความแตกต่างอย่างแรกเลยก็คือสมัยก่อนประชากรไทยมีประมาณไม่เกิน30ล้านคน แต่ว่าหนังสือพิมพ์ประมาณ5,000–8,000เล่มแต่หนังสือที่ขายดี ขายหมดก็ต้องพิมพ์ครั้งที่ 2 ตอนนี้ประชากรไทยอย่างต่ำ 60 ล้านคน ซึ่งบางสื่อบอก 65 ล้านคนด้วยซ้ำ พิมพ์หนังสือ 3,000 เล่มนี่ยังขายไม่หมดเลย ส่วนมากนะ แล้วที่แตกต่างอย่างมโหฬารเลยก็คือ แต่ก่อนใช้ลายมือ อย่างมากก็พิมพ์ดีด ซึ่งเป็นสิ่งที่พัฒนาไปตามยุคสมัย ต่อมาก็เป็นพิมพ์ดีดไฟฟ้า สำหรับผมนี่ก็ประเภทตั้งแต่ใช้ปากกาลูกลื่นยี่ห้อบิ๊ก ยังจำได้เลยเวลาเขียน (หัวเราะ) ต่อมาก็เป็นพิมพ์ดีด แล้วก็เป็นพิมพ์ดีดไฟฟ้ายี่ห้อบราเทอร์(หัวเราะ)จนกลายเป็นคอมพิวเตอร์ในที่สุดความแตกต่างสมัยก่อนอีกสิ่งหนึ่งคือว่า สำนักพิมพ์จะกำหนดวันส่วนมากนะ บางแห่งก็ไม่กำหนด เช่น ยกตัวอย่าง ฟ้าเมืองไทย วันพุธคือวันที่ไปส่งต้นฉบับของนักเขียนเรื่องยาวนะ แล้วก็ไปรับค่าเรื่องของเล่มที่ออกไปแล้ว ฉะนั้นนักเขียนจะได้เจอกันในช่วงเวลานั้น เมื่อเจอกันก็จะออกมากินเหล้า และเสวนาพูดคุยกัน ทีนี้ตัดภาพให้มันเห็นเป็นแบบขาวดำไปเลย สมัยนี้นักเขียนไม่ต้องออกจากบ้าน ใช่ไหม เพราะระบบเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ซึ่งเมื่อประมาณ10 ปีก่อน ไปพูดกับใครว่าส่งต้นฉบับทางแฟ็กซ์ ไม่มีใครเชื่อหรอก คนบอกว่าเล่าเรื่องตลก จะมีเหรอ ยกหูแล้วต้นฉบับเรา6-7 หน้าไปอยู่ที่โรงพิมพ์แล้ว ต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงถึงจะเชื่อแต่ปัจจุบันมันยิ่งกว่าแฟ็กซ์ตั้งเท่าไหร่ ใช่ไหม คุณก็รู้ ฉะนั้นโอกาสที่จะพบกันก็น้อยลง ยิ่งรุ่นผมยิ่งได้พบกันบ่อยมากขึ้นก็คือ ‘งานศพ’ สำหรับคนคุ้นเคยที่จากกันไป ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับผมนี่ ไปเยอะแล้วนะ ไปกันเกือบหมดแล้ว ยิ่งรุ่นพี่ที่เคยเห็นเขาตอนหนุ่ม ๆ นะ ประมาณ 30 กว่า ผม 20 กว่า ห่างกัน 10 ปี ไม่มีเหลือเลย ที่ดัง ๆ อย่าง ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ประมูล อุณหธูป มนัส จรรยงค์ ตั้งแต่ปี 06 พูดถึงช่วงหลังๆ นี่ก็ไปกันเยอะ ผมเคยมานับอยู่ว่านักเขียนที่เรารู้จักแล้วล้มหายตายจากไปนับได้ประมาณเกือบ 40 คน และก็จะมีรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งมันก็ถือว่า เป็นกฎนะ กฎของชีวิต กฎธรรมดา
ณรงค์ จันทร์เรือง
all : นักเขียนในช่วงยุคนั้น มีอิทธิพลอย่างไรบ้างต่อวงการวรรณกรรม
ณรงค์ : มีอิทธิพลในแบบที่คุณอยากจะเขียนแบบนั้นตาม ที่มีอิทธิพลมากในช่วงนั้นก็จะมีอย่าง ศรีบูรพา ครูมาลัย ชูพินิจ ซึ่งมีนามปากกาเยอะ ทั้งเรียมเอง ทั้งแม่อนงค์ แล้วก็ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งต้องยอมรับว่า รงค์ วงษ์สวรรค์นี่มีอิทธิพลต่อนักเขียนรุ่นน้องอย่างมากพอยุคต่อมาก็จะมีอิทธิพลต่อคนรุ่นต่อไป ท่าที่ทราบอย่าง ชาติ กอบจิตติ แล้วก็อย่างสุจิตต์ วงษ์เทศ หรือขรรค์ชัย บุนปาน ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับผมนะ ก็จะมีอิทธิพลต่อทั้งนักเขียนทั้งกวี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็อีกคนหนึ่ง โดยพวกนี้ถือว่าเป็นรุ่นเดียวกันหมด
all : แล้วนักหนังสือพิมพ์ที่อยู่บนวงการน้ำหมึกในช่วงนั้น มีบทบาท อย่างไรบ้างต่อวงการวรรณกรรมในขณะนั้น
ณรงค์ : มันมองได้ในหลาย ๆ แง่นะ แง่แรก นักหนังสือพิมพ์จะมีข้อมูลมากกว่านักเขียน เพราะเขาอยู่กับงานข่าว นี่พูดถึงในแง่ได้เปรียบ แง่ที่ค่อนข้างจะเสียเปรียบก็คือว่า เขาไม่มีเวลาเต็มที่ที่จะมาเขียนงานด้านบันเทิงเริงรมย์ เพราะเขาต้องทุ่มเวลาให้กับงานข่าวแม้ว่าตั้งแต่เป็นนักข่าวมาจนกระทั่งไต่เต้ามาถึงหัวหน้ากองบรรณาธิการ เขาก็จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ แต่นักหนังสือพิมพ์ที่โดดเด่นในวงการนี้ก็มีหลายคน อย่างศรีบูรพา นี่ก็นักหนังสือพิมพ์ ครูมาลัย ชูพินิจ ก็ถือว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ อิศรา อมันตกุล นี่เป็นนายกสมาคมนักข่าวมาถึง3 ปีซ้อนเลย ถ้าจำไม่ผิดเนี่ยคือประมาณปี 08 – 10 อยู่ในช่วงประมาณนี้ ไพฑูรย์ สุนทร ซึ่งช่วงหลังมาเป็นบรรณาธิการไทยรัฐ ซึ่งพวกนี้ก็จะมีผลงานด้านหนังสือพิมพ์แล้วก็ในเรื่องของงานเขียนเรื่องสั้นด้วย โดยส่วนมากจะถนัดทางเรื่องสั้นกัน
all : นักเขียนหน้าใหม่ในวงการวรรณกรรมเกิดขึ้นมากในยุคปัจจุบัน มองนักเขียนรุ่นใหม่เหล่านี้อย่างไรบ้าง
ณรงค์ : มันก็เหมือนกับเรามองย้อนตัวเองเข้าไปในอดีต ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย ถ้าเราจะไม่มาพูดถึงข้อย่อยของวิธีการเขียน วิธีการนำเสนอ วิธีการเขียนนี่ก็ตั้งแต่เคาะด้วยคอมพิวเตอร์แล้ว แทนที่จะมาใช้ปากกาลูกลื่นเขียนเหมือนเมื่อสมัยก่อน จนกระทั่งมาถึงในเรื่องของแง่คิด ไม่ว่าจะเป็นการมองสังคมในมุมมองต่าง ๆ การมองผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของเรา การมองนักการเมือง หรือแม้กระทั่งการเสนอความคิดแปลก ๆ ใหม่ ๆ ซึ่งมันกว้างขวางมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมาว่าประเทศไทยควรจะไปทางไหนและควรจะเป็นแบบใด ด้วยการนำเสนอในรูปแบบของเรื่องสั้นหรือนวนิยาย เท่าที่ฝีมือของคนแต่ละคนจะทำได้ ว่าจะเสนอออกมาได้อย่างแนบเนียนจนผู้อ่านเชื่อว่า นี่คือแนวคิดของตัวละครตัวนั้น หรือคนคนนั้นจริง ๆ ซึ่งไม่ใช่ความคิดของผู้เขียนที่นำความคิดเหล่านั้นมายัดใส่ปากของตัวละคร ให้พูดออกมา
all : ในฐานะที่อยู่ในวงการวรรณกรรมมาอย่างยาวนาน คิดว่านักเขียนหน้าใหม่ คนไหนที่มีอิทธิพลต่อวงการวรรณกรรมในขณะนี้
ณรงค์ : ผมยังไม่เห็นเด่นชัดนะ ยังไม่เห็นเด่นชัด เพราะล้วนแล้วแต่ฝีมือสูสีกัน เพียงแต่ว่าความโดดเด่นก็อาจจะแตกต่างกันออกไป
all : ในฐานะนักเขียน มองอนาคตของวงการวรรณกรรมไทยว่าจะเป็นอย่างไร ต่อไป
ณรงค์ : ก็คงเป็นอย่างที่มันเป็นมานี่แหละ ก็คือจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ แล้วผมก็หวังว่าคงจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีคนอ่านหนังสือมากขึ้น นักเขียนมีผลงานที่ดีขึ้นกว่าเดิมซึ่งผมว่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไปตามยุคสมัย เพราะว่าถ้าสิ่งไหนนับวันมันจะแย่ลงก็คงอยู่ไม่ได้หรอก ต้องมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ถ้าจะพูดให้หรูๆ ก็คือ การเป็น‘ผู้นำจิตวิญญาณ’ซึ่งเราก็ได้แต่หวังแต่ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าเป็นไปได้คงจะสามารถน้อมนำจิตวิญญาณไปในทางที่ดี ที่งาม ที่เจริญรุ่งเรือง ให้กับสังคม ผู้คน และประเทศชาติได้ต่อไป
ที่มา : http://www.all-magazine.com