บนโลกของความจริงที่ต้องเคร่งเครียดกับหน้าที่การงาน สำหรับบางคนแล้วอาจผ่อนคลายความรู้สึกกดดันสู่โลกแห่งจินตนาการ และสิ่งสวยงามของชีวิตเพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจ เฉกเช่นนักเขียนนิยายรักโรแมนติก‘ศรีเฉลิม สุขประยูร’ ผู้จรดปลายปากกาที่ชวนให้นักอ่านติดตามจากนามปากกาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘วลัย นวาระ, จามรี พรรณชมพู, นลิน บุษกร ฯลฯ’ โดยวันที่ ออล แม็กกาซีน ได้ไปเยือน ณ บ้านไม้สีขาวกลางซอยสุขุมวิท 15 นักเขียนอาวุโสยังคงยืนยันกับเราว่า…
“ดิฉันจะเขียนนิยายต่อไปด้วยใจรัก แม้ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยมา 83 ปีก็ตาม”
All : ‘ศรีเฉลิม สุขประยูร’ ใช้นามปากกามากกว่า 50 ชื่อ ที่มาของนามปากกาต่าง ๆ ส่วนมากมาจากอะไร
วลัย นวาระ : ดิฉันชอบดอกไม้ ‘วลัย นวาระ’ แปลว่า กำไลดอกกุหลาบ แต่ที่น่าตลกคือ ‘จามรี พรรณชมพู’ดิฉันต้องการแสดงให้รู้ว่า มาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนเปิดพจนานุกรมฉบับเก่า ‘จามรี’ แปลว่า ดอกจามจุรี แต่พอมาดูพจนานุกรมฉบับใหม่ มันแปลว่า ‘สัตว์’ส่วนนามสกุล ‘พรรณชมพู’ ก็คือ ‘พรรณไม้สีชมพู’ สำหรับ ‘นลิน บุษกร’ ก็คือดอกบัว ดิฉันใช้นามปากกาเยอะจนจำไม่ค่อยได้ นึกขึ้นได้ว่าตอนอายุ 50 ปี มีนามปากกามากกว่า 50 ชื่อ (หัวเราะ) เขียนทั้งนิยายและคอลัมน์ ก็เลยต้องใช้นามปากกาเยอะ ตอนเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับหนังที่นิตยสารตุ๊กตาทอง ดิฉันชอบดูหนังฝรั่ง ดิฉันชอบอ่านหนังสือฝรั่งมาก เพราะที่บ้านไม่มีหนังสือภาษาไทยอ่าน ตอนนั้นยังเรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ ส่วนใหญ่ใช้นามปากกาวลัย นวาระ, วชิรา วชิรวัลลภ เมื่อก่อนนิตยสารหนัง เขาก็จะเขียนตัวละคร ฉากอะไรประมาณนั้น แต่ดิฉันไม่ใช่ จะเขียนเล่าเรื่องราวและเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ผู้ชมหนังก็มักมาเล่าว่า สิ่งที่ดิฉันแปล อ่านแล้วดูน่ารัก กว่าไปดูในหนังอีก
All : ช่วยเล่าชีวิตก่อนจะเลือกเดินบนเส้นทางนักเขียนนิยายรักโรแมนติก
วลัย นวาระ : เริ่มทำงานเขียนจริง ๆ ตั้งแต่ยังเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เขียนเรื่องหนัง และพอเรียนจบก็ได้เขียนเรื่อง ‘โรเบิร์ต แวกเนอร์’ ให้นิตยสารตุ๊กตาทอง เขาก็ลงให้ แล้วก็ขอให้เขียนต่อ ซึ่งเราก็ชอบอยู่แล้ว ก็เลยตกลงเขียนให้นิตยสารตุ๊กตาทองอยู่สักพักหนึ่ง จึงเข้ารับราชการด้านการข่าวที่กรมประมวลข่าวกลาง สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตอนแรกอยู่ประจำโต๊ะข่าวอเมริกา แล้วก็มาเป็นหัวหน้าโต๊ะข่าวโซเวียต รับเงินเดือน 900 บาท พอได้เงินเดือนเดือนแรก 900 บาท ก็ซื้อหนังสือทุกเล่มที่อยากได้ ตอนนั้น 200 บาทซื้อได้เป็นสิบ ๆ เล่มเลย มาทำงานที่กรมประมวลข่าวกลาง ก็ต้องปกปิดข้อมูลเป็นความลับ ดิฉันเกิดความรู้สึกว่าอยากจะเขียนนิยายอยู่ตลอดเวลา เพราะอยู่ที่หน่วยข่าวกรองพูดอะไรไม่ค่อยได้ ตอนเข้าไปทำงานครั้งแรก เขาถามว่า รู้ไหมว่าคุณต้องรักษาความลับของทางราชการ เราก็ไม่ตอบ (หัวเราะ) ก็รู้ข้อมูลข่าวสาร แต่พูดไม่ได้
All : เคยคิดที่จะนำข้อมูลจากที่อยู่ในกรมประมวลข่าวกลางมาแต่งนิยายบ้างไหม
วลัย นวาระ : ไม่เคยเลย ถือเป็นเรื่องเปราะบางมาก มีบางคนบอกว่า คุณศรีเฉลิมก็รู้อะไรมากพอสมควร น่าจะเอามาเขียน ให้ตายสิ... ดิฉันชอบเขียนเรื่องโรแมนติกมากกว่า จะให้ไปเขียนเรื่องหนัก ๆ ก็คงไม่ชอบ และที่ชอบเขียนเรื่องรักเพราะไม่ต้องลิงค์กับอะไรเลย บางทีข่าวที่ดิฉันแปลก็มีเรื่องตลก ๆ เหมือนกัน ข่าวเดียวกัน เรื่องเดียวกัน เป็นของประเทศพม่า ในช่วงรบกัน อีกข่าวหนึ่งบอกว่าพม่าชนะ อีกข่าวหนึ่งบอกว่าพม่าแพ้ ฝรั่งอ่านก็บอกว่า ข่าวใช้ไม่ได้ (หัวเราะ) ก็ข่าวมันมาอย่างนี้ เราก็แปลไปตามนั้น เหตุการณ์จริงเป็นอย่างไรเราไม่รู้ ดิฉันเป็นคนรักษาคำพูดมาก เขาบอกว่า ต้องเก็บทุกอย่างเป็นความลับ ห้ามนำข้อมูลมาเปิดเผย ก็ไม่เคยพูดอะไร ดิฉันจึงชอบเขียนนิยายรักโรแมนติก แม้จะดูขัดกับบุคลิกการทำงานในอดีตที่ต้องอยู่หน่วยข่าวกรอง และเพราะความรักในงานเขียน จึงต้องลาออกจากราชการ (หัวเราะ) ‘วลัย นวาระ’ในสวนอักษรรัก
All : ทราบว่าเมื่อก่อนเขียนนิยาย 41 เรื่องในเวลาเดียวกัน
วลัย นวาระ : ช่วงนั้นอายุก็ประมาณเกือบ 50 ปี ดิฉันเขียนนิยายด้วยมือและกระดาษฟุลสแก็บ เพราะพิมพ์ดีดไม่เก่ง ถ้าเป็นพิมพ์ภาษาอังกฤษมันง่าย แต่ถ้าพิมพ์ภาษาไทยยากเหมือนกันนะ ต้องสะกดทีละตัว มันช้า แต่ถ้าเขียนด้วยมือมันก็ไปเรื่อย ๆ โครงเรื่องก็คิดเอาเองบ้าง ส่วนบางเรื่องก็ดัดแปลงบ้าง บางทีเขียนไม่ได้ทั้งหมด อาจขาดตอน ก็ให้เขาไปครึ่งหนึ่งก่อน แต่บางเรื่องก็ไม่ได้ให้เขาไปเลย (หัวเราะ) ถึงเวลาแล้วเราเขียนไม่เสร็จ เขาก็รอไม่ได้ ดิฉันเองก็เขียนไม่ออกเหมือนกัน คือยุ่งเหมือนกัน และตอนนั้นก็ไม่ค่อยสบาย เพลียจากการอดนอน ไม่ค่อยได้อาบน้ำ เนื้อตัวก็สกปรก คันทั้งตัวเลย เพราะมัวแต่เขียนหนังสือ พอตื่นเช้าเขามารับงาน เขาก็บอกว่า คุณป้าศรีช่วงเช้าหนูจะแวะไปส่งลูกที่โรงเรียน เดี๋ยวจะแวะไปรับงานด้วยนะ เราก็ต้องแหกขี้ตาเขียนหนังสือ (หัวเราะ) ช่วงนั้นเหนื่อยมาก ร่างกายโทรมมาก ๆ เชื่อหรือไม่ว่า ช่วงนั้นดิฉันเข้าสู่วัยทอง แล้วยังไม่รู้ว่าตัวเองหมดประจำเดือน มีคนเขาบอกว่าวัยทองจะมีอาการอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ดิฉันไม่รู้เลย (หัวเราะ) คือมันหมดก็หมดไป (หัวเราะ) ไม่ได้สนใจ เขียนหนังสืออย่างเดียว
All : เขียนนิยายพร้อมกันทีละหลาย ๆ เรื่อง ไม่สับสนในตัวละครบ้างหรือ
วลัย นวาระ : ส่วนมากไม่ค่อยสับสน ก็มีสับสนเรื่องสถานที่นิดหน่อย มีเรื่องหนึ่งดิฉันเขียนชื่อวังพัชรากับวังอะไรไม่รู้อีกที่หนึ่งสลับกัน ก็เลยบอกเพื่อนว่าเราเขียนสลับกัน แต่พอรวมเล่มเราก็แก้เพื่อให้มันออกมาสมบูรณ์ พอเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็ว่า สองวังนี้มันคงอยู่ใกล้กัน (หัวเราะ) ชีวิตในช่วงนั้นก็ไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ อาศัยว่าเราเป็นคนชอบเขียนหนังสือ คือไม่รังเกียจในอาชีพนักเขียน แม้ว่ามันจะยุ่งก็ตามชีวิตก็เป็นอย่างนี้แหละ อย่างที่คุณชอุ่ม ปัญจพรรค์ มาบอกว่าบ้านถูกไฟไหม้ แล้วยังมาเล่าไปหัวเราะไป เราก็ว่าพี่อุ่มยังหัวเราะได้นะ ก็ไม่รู้จะทำยังไง ชีวิตมันก็เป็นแบบนี้
All : ใครคือผู้บ่มเพาะความเป็นนักเขียนถึงได้รักในการเขียนหนังสือและเลือกเดินบนเส้นทางนี้
วลัย นวาระ : บ่มเพาะตัวเอง ดิฉันก็พยายามคิดมาโดยตลอดว่า ชาติที่แล้วเคยเป็นนักเขียนหรือเปล่า แต่ได้คำตอบว่า เนื่องจากดิฉันเป็นลูกสาวคนเดียว และก็มาอยู่กับคุณย่าที่กรุงเทพฯ กว่าที่คุณพ่อจะมาอยู่ด้วยก็ 7 – 8 ขวบแล้ว ดิฉันชอบอยู่คนเดียว ตอนอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ต้องให้ท่านต่อเติมห้องพระเป็นห้องหนังสือและห้องนอน แล้วเอาห้องพระไปอยู่ห้องนอนเก่าดิฉัน ก็เลยกลายเป็นห้องเขียนหนังสือ พอย้อนกลับไปก็คิดว่า เพราะห้องนี้แหละ ทำให้เราอยากอยู่เฉย ๆ เขียนหนังสือ ไม่คิดแต่งงาน พอเรียนจบมัวแต่ทำงาน มารู้ตัวอีกทีก็ไม่เหลือผู้ชายดี ๆ แล้ว (หัวเราะ)
All : สิ่งสำคัญของการเป็นนักเขียนอาชีพ
วลัย นวาระ : ต้องรักในการเขียนหนังสือ ดิฉันเขียนแบบถึงไหนถึงกัน ไม่ต้องทำงานอะไรเลย อยากเป็นนักเขียนมานานแล้ว ตอนที่ออกจากราชการอายุประมาณ 40 ปี เขาให้เขียนอะไรก็ได้ เริ่มแรกก็เขียนเกี่ยวกับเรื่องหนังที่จะฉายในโรงภาพยนตร์ บางทีบรรณาธิการก็เอาหนังมาให้ดู แล้วก็แปลจากหนังฝรั่ง คล้ายแนะนำก่อนดู ดิฉันก็จะได้ดูหนังก่อนคนอื่น เราก็แปลเนื้อหาจากหนัง เพราะสมัยก่อนไม่ได้มีลิขสิทธิ์อะไร และช่วงที่อยู่กับคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ท่านก็อยากให้ใช้ชื่อจริง แต่ดิฉันไม่อยากใช้ชื่อจริง แล้วคุณอาจินต์ชอบอีกอย่างคือ ให้ใช้ชื่อพ่อแม่ ดิฉันก็ไม่ชอบอีก อย่างเรื่อง ‘อัปสรสวรรค์’ เขาให้ดิฉันไปเขียนต่ออีก แต่พระเอกนางเอกลงเอยกันแล้ว เลยมาเขียนต่อเป็น ‘วิมานน้ำผึ้ง’ ก็เขียนให้เขาไปฮันนีมูนกัน เขียนไปสักพักก็มีคนเขียนจดหมายมาบอกว่าเบื่อ เพราะไปฮันนีมูนไม่จบสักที เราก็บอกว่ามันจบแล้ว คุณไปอ่านฉบับช้าหรือยังไง (หัวเราะ)
All : มีขั้นตอนในการทำงานอย่างไรบ้าง
วลัย นวาระ : ส่วนมากเราก็ใช้พล็อตเรื่องง่าย ๆ อยู่แล้ว เช่น พล็อตแบบซินเดอเรลล่าก็จะเยอะ ส่วนมากผู้หญิงก็จะได้ผู้ชายที่ดีหน่อย อย่างเรื่อง ‘วิมานใจ’ พระเอกก็จะออกแนวมีความรู้หน่อย ส่วนมากจะเป็นเรื่องง่าย ๆ คือพล็อตเรื่องมันตรง ๆ พวกข้อมูลก็ไม่ต้องหาอะไร มันมาเอง มีบางคนพูดว่า เรื่องของ ‘วลัย นวาระ’ อ่านครั้งแรกก็รู้เลยว่าใครเป็นพระเอก ดิฉันตั้งใจให้คนอ่านรู้ เราขึ้นต้นอย่างนี้ ต้องจบอย่างนี้ นางเอกพระเอกเจอกัน มีทะเลาะกัน แล้วก็รักกันตอนจบ บางทีก็หยิบเรื่องราวที่เจอใหม่ ๆ มาเขียน ปัจจุบันผลงานรวมทั้งหมดก็เกือบ 400 เรื่อง ไม่รู้ว่าจะตายก่อนหรือเปล่ากว่าจะถึง 400 เรื่อง ยังเขียนนิยายอยู่ทุกวัน ตราบใดที่ดิฉันยังเขียนได้ ก็จะเขียนต่อไป มีคนบอกว่าคุณป้าศรีเฉลิมเขียนเก่งจัง แต่ก็อยากจะบอกว่า ดิฉันเข่าเสื่อม แต่สมองยังดี (หัวเราะ) ‘วลัย นวาระ’ในสวนอักษรรัก
All : งานเขียนของ ‘ศรีเฉลิม สุขประยูร’ ในทุกนามปากกา นับว่าโดดเด่นด้านการใช้ภาษา สร้างสรรค์ผลงานอย่างไรให้ผู้อ่านติดตามอยู่เสมอ
วลัย นวาระ : ดิฉันเชื่อว่า ดิฉันฝึกมานานตั้งแต่เด็ก ๆ และก็เชื่อว่าสำนวนการเขียนของดิฉันมันดี แล้วก็ตอนอยู่กรมประมวลข่าวกลาง ดิฉันเขียนมาโดยตลอดทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เคยเอาเรื่องไปเสนอคุณศรี ชัยพฤกษ์ที่นิตยสารบางกอก เขาก็วิจารณ์ว่า คุณเขียนหนังสือเป็น แต่ก็ไม่ได้เอาเรื่องของเราไปลง คุณศรี ชัยพฤกษ์ก็ขอให้เขียนเรื่องที่น่าสนใจกว่านี้ เราก็ไม่ได้ส่งไปอีก เรื่องนั้นที่ส่งไปก็ยังค้างมาจนถึงทุกวันนี้ (หัวเราะ) แต่ถ้าเรื่องประวัติศาสตร์นี้ไม่เอาเลยนะ เพราะต้องเขียนถึงความเป็นจริง ต้องค้นคว้าเยอะ ดิฉันอ่านของบางคนก็เขียนไม่ถึงนะ บรรยากาศไม่ได้ แต่อย่างงานของ ม.ล. ศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณท่านเขียนย้อนอดีต ย้อนภาพเก่าได้หมดเลย แต่เราเขียนไม่ได้
All : มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า โครงเรื่องนิยายของ ‘ศรีเฉลิม สุขประยูร’ ในหลายนามปากกามีพล็อตเรื่องที่ดัดแปลงจากนิยายของต่างประเทศ มีมุมมองอย่างไรต่อเรื่องราวเหล่านี้
วลัย นวาระ : มีคนวิจารณ์เยอะ พล็อตเรื่องของต่างประเทศดิฉันก็เอาของเขามาบ้างเหมือนกัน ก็มีคนบอกว่า เอามาจากบาร์บาร่า คาร์ตแลนด์ ดิฉันก็บอกแล้วว่าไม่ได้เอา เนื้อเรื่องมันคล้ายกันเฉย ๆ แต่อีกอย่างที่ดิฉันทำงานก็ต้องบอกตรง ๆ ว่า มันไม่ใช่ความผิดพลาดอะไร แต่บางทีเวลาอ่านนิยายมันก็ติดหัวเราอยู่ เวลาคิดไม่ออกก็เอามาดัดแปลงกันบ้าง แต่มันไม่ใช่ว่าจะดัดแปลงทุกเรื่อง หรือจะเป็นแบบนี้กันทุกคน บางทีก็เอาเกร็ดเล็กน้อยมาผสมผสานให้มันสนุกสนาน ถ้าเขียนเรื่องอะไรแล้วมันสะดุด ก็ลากไปเข้ากับสิ่งที่เราอ่านสักนิดหนึ่ง
All : มีอะไรอยากจะฝากถึงนักเขียนที่กำลังจะก้าวเดินบนเส้นทางนี้
วลัย นวาระ : จะเป็นนักเขียนไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ มีเด็กบางคนเขามาบอกว่า เขาจะเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะมีเวลาเยอะ อาจจะเขียนหนังสือเป็นรายได้พิเศษ เราก็บอกว่า คุณไปขายของเหอะ (หัวเราะ) ดิฉันหมายถึงว่า ไปทำอาชีพที่เลี้ยงตัวเองดีกว่า คิดจะเอารายได้จากตรงนี้มันไม่ได้ง่าย ๆ ต้องมีความอดทนสูงมาก ตอนดิฉันเขียนครั้งแรกเขาลงให้เราก็ดีเท่าไหร่แล้ว ครั้งหนึ่งมีเด็กเอางานไปหาคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ โดยปกติเราต้องนอบน้อมเพราะเขาเป็นบรรณาธิการใหญ่ คือเขาเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการทำหนังสือ เขารู้ว่ากลุ่มไหนจะอ่านบ้าง คือเขาสามารถที่จะมองภาพรวมได้หมด เพราะฉะนั้นการที่เขาจะรับหรือไม่รับเรื่องของเราไปลง ก็ขึ้นอยู่ที่ตัวบรรณาธิการ ขนาดนักเขียนใหม่เขายังได้ค่าเรื่องแค่ 200 บาทเอง ถ้าบรรณาธิการเขาชื่นชอบเรื่องของเราก็ขึ้นค่าเรื่องให้เรื่อย ๆ มีนิยายอีกเรื่องชื่อว่า ‘สุริยกานต์’ ทางสำนักพิมพ์คลังวิทยาเขาให้ค่าเรื่องเรา 4,000 บาท ดิฉันก็ว่าดีมากเลย จึงมาเล่าให้คุณอาจินต์ฟังว่า เงิน 4,000 บาทที่เขาให้ค่าเรื่องเยอะมาก คุณอาจินต์ตอบว่า 1,000 บาท ก็เยอะแล้ว ถ้าเรื่องของเราขายได้ เขาก็ขึ้นให้เอง สิ่งที่เรียกว่า ค่าตอบแทนมันมาเองทีหลัง ต้องทำงานให้ดีก่อนเสมอ
ในสวนอักษรรักของ ‘วลัย นวาระ’ นักเขียนอาวุโสคนนี้ ยังคงสร้างสรรค์ผลงานด้วยความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ และได้กล่าวทิ้งท้ายกับเราไว้ว่า “แม้ว่าดิฉันจะรู้สึกไม่ไหวกับงานที่มีเส้นตาย ต้องส่งภายในวันนี้ เวลานี้เท่านั้น แต่ดิฉันก็ขอยืนยันว่าจะเขียนนิยายรักโรแมนติกต่อไป จนกว่าจะหมดแรงเขียน”