ได้ยินว่าคุณลี้เคยทำงานบริษัทมาก่อน ระหว่างนั้นก็ยังทำงานเขียนหนังสือไปด้วย แต่สุดท้ายก็เลือกทำงานเป็นนักเขียนเพียงอย่างเดียว ทำไมคุณลี้จึงตัดสินใจอย่างนั้น
คือตอนนั้นเราก็เขียนหนังสืออยู่ด้วย ตอนที่ทำงานนะคะ แล้วลี้ก็มีงานเขียนในช่วงที่ทำงานบริษัทอยู่บางเล่ม แล้วเราได้ตกลงกับคุณจตุพล บุญพรัด ที่เป็น บก. ของสิงโตนอกคอกเอาไว้ว่าเราจะส่งต้นฉบับรวมเรื่องสั้นให้ แล้วก็ตกลงกับพี่นิวัติ พุทธประสาท เป็น บก. รวมเรื่องสั้นอีกเล่มของลี้ค่ะ ชื่อ วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย
ก็คือบอกพี่เขาว่าจะส่งรวมเรื่องสั้นให้ คือบอกไว้สองคนเลย แต่ว่าไม่มีเวลาทำค่ะ เพราะว่ามันติดงานบริษัท สุดท้ายก็เกรงใจบรรณาธิการ ก็เลยจะลาออกมาเพื่อจัดการต้นฉบับสองเล่ม
แม้แต่นักเขียนอาชีพเองก็ยังบอกว่าควรทำอาชีพเสริมนอกจากงานเขียนไปด้วย
ลี้คิดว่านักเขียนอาชีพทุกคนที่พูดแบบนี้เขาก็มีอาชีพเสริมอะไรบางอย่าง บางท่านอาจจะรับเป็น บก. หรือรับจัดรูปเล่มหรือพิสูจน์อักษร มันเป็นจ๊อบที่ช่วยให้เรามีเงินในระหว่างที่งานวรรรณกรรมมันต้องรอ เนอะ อย่างลี้ ถ้าลี้เขียนวรรณกรรมอย่างเดียวอยู่ไม่ได้แน่นอน ลี้ก็จะเขียนนิยายด้วย เป็นนิยายที่ช่วงนี้เด็กๆ ฮิตกันเยอะ เป็นนิยายชายรักชายค่ะ เราก็ได้เงินจากตรงนั้นมาช่วย ถ้าเขียนแต่วรรณกรรมก็ไม่รอด
งานเขียนแบบแมสก็เป็นงานเขียนที่คุณลี้รักและชอบ แต่การเขียนวรรณกรรมแบบจริงจังมีที่มาอย่างไร
ชอบทั้งสองแนว คือเขียนแรกๆ เลย เริ่มที่ส่งงานประกวดค่ะ แต่ก่อนลี้เขียนนิยายแฟนตาซี เพราะว่าเราเป็นเด็ก เขียนนิยายแนวโรงเรียนเวทมนตร์อะไรอย่างนี้ค่ะแต่มีเพื่อนบอกว่าลองส่งงานประกวดดูไหม มันจะมีพวกประกวดเรื่องสั้นต่างๆ เพื่อนก็เหมือนมาแนะนำ เราก็ลองส่งแล้วได้รับรางวัล
แต่ที่ผ่านมาเราเขียนงานแนวแฟนตาซีที่เป็นงานวัยรุ่น งานตลาดเยาวชนเราไม่เคยได้ผ่านการพิจารณาเลยนะคะ สำนักพิมพ์เขาจะบอกว่าเรื่องมันหนักเกินไป เรื่องมันจะค่อนข้างหนักนิดหนึ่ง แบบไม่ค่อยตลกขำขันอะไรอย่างนี้ค่ะ
ตอนนั้นเรียนอยู่ชั้นอะไรแล้ว
คือช่วงที่เขียนแฟนตาซีเป็นช่วง ม.ปลาย ถึงมหาวิทยาลัยปี 1 ปี 2 มันก็ไม่ได้หนักมากนะคะ มันก็ประมาณ เออ สิงโตนอกคอกอะไรอย่างนี้ มันจะมีการพูดถึงการปกครองประเทศอะไรอย่างนี้ด้วย แต่ว่ามันอาจจะหนักเกินไปสำหรับเด็กค่ะ แต่พอเรามาประกวดแล้วมันได้รางวัลเลย ที่ผ่านมาไม่เคยผ่านพิจารณาเลย เราก็เลยรู้สึกแบบ เออ มาทางสายนี้มันคือที่ที่เหมาะกับตัวเรา หลังจากนั้นก็เริ่มเขียนเป็นงานวรรณกรรมมาตลอด
สไตล์การเล่าเรื่องของคุณลี้อ่านง่ายอ่านสนุก เหมาะกับนักอ่านยุคใหม่ ใช้คำน้อยสื่อความหมายได้ดี แต่ก็มีลักษณะการบรรยายที่ละเอียดลึกซื้งคล้ายวรรณกรรมคลาสสิก มีแนวคิดอย่างไรจึงได้สไตล์นี้ออกมา
ลี้ว่ามันเป็นวิธีการเขียน ถ้างานมันดูเป็นรุ่นใหม่ เป็นเพราะว่าลี้อ่านงานของเด็กรุ่นใหม่หรือเด็กรุ่นเดียวกัน หรือคนที่เขาเขียนงานในอินเตอร์เน็ตอะไรอย่างนี้ อ่านเยอะค่ะ ถ้าถามว่างานคลาสสิกอ่านเยอะไหม ยังไม่ค่อยเยอะ แต่เราอ่านงานเด็กเยอะ เพราะงั้นเราก็เลยมีวิธีการเล่าที่ดูเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้
ส่วนไอ้พวกการบรรยายที่มันมีการเปรียบเทียบ ที่มันมีการดึงความรู้สึก คือมันก็จะมีบางฉากค่ะที่ เออ เราอยากจะดึงความรู้สึกของคนอ่าน เราก็จะหากลวิธีการเขียนประโยคเพื่อที่จะได้ความรู้สึกอย่างที่เราต้องการ ก็เลยออกมาในรูปแบบนั้น
ในขณะที่งานเขียนของคนรุ่นใหม่ เช่น ไลท์โนเวล จะเล่าเรื่องเร็วมาก มาไวไปไว ไม่ค่อยมีการบรรยายความรู้สึก
ความจริงคนอ่านหลายคนก็บอกว่าเราเป็นคนใช้แค่คำง่ายๆ นะคะ เพราะมันก็มีนักเขียนอีกจำนวนหนึ่งที่เขาจะเขียนได้ละเมียดละไมกว่านี้ ละเอียด หรือพรรณนาถึงความรู้สึกเยอะกว่านี้ มันมีคนที่สามารถที่จะไปลึกกว่านี้ แต่ส่วนตัวลี้ ถ้าไปขนาดนั้น ลี้รู้สึกว่าอาจจะไปไม่ไหว มันจะจม มันจะหนักค่ะ เราเขียนไม่ไหว แล้วก็บางจุดเราก็เขียนแบบ อย่างที่บอกมา ก็คืออารมณ์ไปไวแบบปุ๊บปั๊บๆ เหมือนกัน คือเหมือนมันเป็นการเลือกค่ะ ว่าจุดไหนที่เราจะช้าหรือเราจะเร็ว บางทีตรงนี้ก็ เออ คนอ่านอาจจะยังไม่อยากรู้ความรู้สึกของตัวละคร แต่อยากรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็ไปเร็ว บรรยายเรื่องแอ๊คติ้งก่อน บรรยายว่าเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นต่อไป
แต่พอบางจุดเรารู้สึกว่า เฮ้ย คนอ่านอาจจะอยากอินกับตัวละคร เราก็อาจจะบรรยายความรู้สึก แล้วที่ถามประมาณว่าเรื่องบางเรื่องของคนรุ่นใหม่ มันไม่ค่อยมีการบรรยายความรู้สึก ลี้คิดว่ามันเป็นสไตล์ของสตอรี่ในแต่ละแบบค่ะ ที่เขาคงมีเทรนด์ เทรนด์ในการบรรยายที่ฮิตในกลุ่มคนอ่านที่เขาจะซื้องานแบบนี้ นักเขียนเขาก็ต้องเขียนให้แบบคนอ่านชอบ สมมติกลุ่มลูกค้าเขาเป็นแบบ เฮ้ย อยากจะอ่านแบบร่าเริงสดใส แล้วก็มีการดำเนินเรื่องแบบเร็วๆ ไม่ต้องรออะไรอย่างนี้ ถ้ามานั่งบรรยาย คนอ่านก็จะแบบ โอ้ย ฉันไม่ชอบนักเขียนคนนี้แล้ว แล้วแต่ตลาดค่ะ ลี้ก็เจอนิยายวายแบบบรรยายความรู้สึกถึงความเจ็บปวด ความอกหักแบบดีป ก็มีเยอะเหมือนกันนะคะ แต่คนอ่านก็จะเป็นสาวออฟฟิศหน่อยหนึ่ง อะไรอย่างนี้ ถ้าน้องมัธยมเขาก็อาจจะชอบแบบรักกุ๊กกิ๊ก รักกัน จีบกัน
ชื่อเรื่อง “จะขอรับผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว” มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับจอมพลสฤษดิ์ไหม ที่ว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” แต่ที่อ่านในเนื้อเรื่อง มันไม่มีอะไรเชื่อมโยงกันเลย
มันไม่เกี่ยว ใช่ คือตอนที่ลี้เขียนเรื่องนี้ ลี้ยังไม่มีชื่อเรื่อง เขียนเรื่องนี้ ลี้มาเขียนชื่อทีหลังค่ะ แล้วเราก็พยายามไปหาคำอะไรที่แบบมันเข้ากับสถานการณ์ในเรื่องนี้ อะไรอย่างนี้ แล้วสุดท้ายมันแว้บเข้ามาว่าอยากจะใช้คำนี้ ซึ่งตอนนั้นเราไม่ได้คิดว่ามันเป็นคำของจอมพลสฤษดิ์
เหมือนมันแว้บเข้ามา เราก็แบบ เฮ้ย มันใช่ มันได้สำหรับเรื่องนี้ เราก็เลยแบบโอเค เอาเป็นชื่อเรื่อง เราก็ส่งไป คนก็ถาม เออ เหมือนใช่ไหม ผ้าขาวม้าแดง เราก็ เออ มันก็ใช่ แต่ว่าไม่ได้เกี่ยวกัน ชื่อมันเหมาะกับตัวละคร
ประเด็นที่พูดถึงเยอะในสิงโตนอกคอกมีเนื้อหาเกี่ยวกับการแบ่งแยก การกีดกัน ทำไมจึงหยิบประเด็นเหล่านี้มาเขียนเป็นรื่องราว
สิงโตนอกคอกมันเกิดจากการคัดนะคะ คือมีเรื่องสั้นจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว ตั้งแต่ที่เราเขียนมาตอนอยู่มหาวิทยาลัย ตอนเรียน แล้วเราก็มาคัดว่าประมาณนี้แหละ 5-6 เรื่อง นี่คือจุดที่เราคิดว่าดีที่สุดแล้ว เหมาะสมที่จะส่งให้กับแพรวสำนักพิมพ์ พอคัดมาปั๊บ ลี้มาดู เป็นเรื่องแนวนี้หมดเลย เป็นเรื่องแนวดิสโทเปียหมดเลย แล้วเราก็แบบ เออ หรือว่าเราจะชอบในส่วนนี้ หรือไอ้แบบนี้มันเป็นแนวที่เราเขียนได้ดี ลี้ก็เลยเขียนเพิ่มไปอีก 2-3 เรื่อง เพื่อที่จะหนาให้เป็นเล่มได้
เขียนในธีมเดียวกันเพื่อให้มันเป็นเอกภาพทั้งเล่ม สาเหตุที่เราชอบตรงจุดนี้ ลี้ว่ามันอาจจะมาจากการ คือตอนลี้เรียนธรรมศาสตร์ ลี้เรียนปรัชญาหลายตัว ก็จะมีตัวที่เป็นปรัชญารัฐศาสตร์การเมือง แล้วก็จะมีแนวปรัชญาจริยศาสตร์ด้วย อันนั้นเหมือนทำให้เราคิดเรื่องพวกนี้เยอะ แล้วก็อาจสะท้อนลงมาในงานเขียน
อยากเขียนวรรณกรรมการเมืองไหม เพราะในสิงโตนอกคอกแตะประเด็นพวกนี้บ่อย
คือถ้ามาพูดเรื่องการเมืองไทยเลย ตัวละครอยู่ในม็อบ เริ่มเล่าการเมืองไทยเลยอย่างนี้ คงไม่น่ามี
วรรณกรรมการเมืองแบบ animal หรือ 1984 ก็ได้
อย่างนั้นก็คงจะมองเป็นดิสโทเปียเนาะ ความจริงสิงโตนอกคอกก็คืออยู่ในแนวของดิสโทเปีย เพราะลักษณะของวรรณกรรมดิสโทเปียคือมีการพูดถึงระบบโครงสร้างของสังคมค่ะ ตรงนั้นมันเลยดูเหมือนมีการไปแตะต้องประเด็นการเมืองอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าถามว่าจะมีงานแนวดิสโทเปียอย่างนี้อีกไหม ก็คงจะมี เพราะว่าลี้ชอบ มันสนุก มันได้เขียนทั้งโลกจริงและโลกแฟนตาซีไปพร้อมๆ กัน แต่ถ้าถามว่าจะเขียนเพื่อเน้นการเมืองแบบไฮปาร์คเลยไหม ไม่น่าเป็นความถนัดของเราค่ะ
หลังจากได้ซีไรต์ มีสำนักพิมพ์มาขอให้เป็นคอลัมนิสต์บ้างไหม
ไม่มี มีแต่ขอต้นฉบับเล่ม เขาคงเห็นแนวของเรามั้ง ว่าเราแบบไม่น่าจะเขียนแนวคอลัมน์ได้ เคยรับงานแนวคอลัมน์นะคะ แต่มันยากมาก เพราะเราต้องเริ่มต้นงานใหม่ทุกสัปดาห์เลย อะไรอย่างนี้ แต่ถ้านิยายก็เขียนไปเลย เดือนนึง สามเดือน ลี้ว่าตอนเริ่มมันยาก แล้วต้องเริ่มทุกสัปดาห์ทุกสามวัน จริงๆ ไม่ไหวค่ะ
ถ้าได้เป็นคอลัมนิสต์ อยากเขียนเกี่ยวกับอะไร
จริงๆ ไม่เคยคิดเลย เพราะว่าตอนนั้นที่ลี้ลองทำแล้วลี้ก็รู้สึกธรรมชาติของการทำงาน หรือธรรมชาติความชอบของเราไม่ค่อยเหมาะกับการเขียนคอลัมนิสต์ อีกอย่างต้องความรู้เยอะ ต้องอัพเดทเทรนด์ใหม่ตลอดเวลา ยาก
ในฐานะนักเขียนอาชีพที่ยังหนุ่มสาวของยุคนี้ อยากบอกอะไรกับนักเขียนรุ่นน้องที่กำลังจะตามมาบ้าง
ความจริง รุ่นของเราหลายคนก็จะบอกว่าวงการวรรณกรรมหรือวงการสิ่งพิมพ์โดยรวมมันแย่แล้ว มันกำลังจะตาย อะไรอย่างนี้ ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนรู้สึกกลัว แต่ความจริงมันมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะเราก็ไม่รู้ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนแต่โดยรวมแล้วตัวโอกาสมันมีเยอะขึ้นค่ะ
ลี้เคยคุยกับรุ่นพี่ที่เขาโตกว่าลี้สักประมาณหลักสิบปี เขาบอกว่า ดีนะ ตอนที่ลี้เริ่มต้นเป็นนักเขียน เริ่มต้นเขียนในมหาวิทยาลัย มันมีงานประกวดอะไรเยอะ แล้วก็พอมีงานประกวด ก็จะมีแบบคณาจารย์ กรรมการจากสมาคมนักเขียน อะไรอย่างนี้
เขาอ่านแล้วเขาก็วิจารณ์งานให้ สมัยก่อนรุ่นพี่เขาไม่มีนะ โอกาสที่จะได้ลงก็คือไปลงสกุลไทย อะไรอย่างนี้ ซึ่งก็ยากมากกว่าจะผ่านสกุลไทย เดี๋ยวนี้พื้นที่มันเยอะขึ้นมาก ลงในอินเตอร์เน็ทก็ได้ คนอ่านก็คอยมาดูให้เรา วิจารณ์งานให้เรา เพราะงั้นอย่าไปเสียกำลังใจหรือไปเสียความหวังจากสื่อที่ที่บอกว่า เออ วงการสิ่งพิมพ์มันแย่แล้ว โอกาสและความหวังมันมีอยู่เรื่อยๆ แค่ว่าเราจะมองเห็นมันหรือไม่
คุณลี้พอจะมองเห็นแนวโน้มไหม ว่ามันจะไปทิศทางไหนบ้าง
คือเอาจริงๆ มองแนวโน้ม มันคาดคำนวณไม่ค่อยถูกค่ะ เหมือนสมัยก่อน คือลี้รู้สึกว่าช่วงนี้มันมีคำพูดตลอดว่าวรรณกรรมขายไม่ได้ แต่ความจริง 2-3 ปีมานี้ วรรณกรรมแปลที่หนักๆ ขายดี คือคนก็เอางานแปลแบบโหดๆ มาแปล อย่างดะไซ โอซามุ ก็ดัง ก็ท็อปอยู่นะคะ คนก็ซื้อกันเยอะ ที่จริงก็คงพอสมควร เพราะงั้นลี้คิดว่าตลาดวรรณกรรมน่าจะยังไม่ตาย แต่จะมีส่วนแบ่งตลาดระหว่างไทยกับต่างประเทศได้เท่าไหร่ เท่านั้นเอง
ไทยมันจะค่อนข้างซบเซากว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าซบเซาหมด อย่างไส้เดือนตาบอดก็ขายดีมากๆ ส่วนตลาดแมส อันนี้ก็จับตาดูอยู่นะคะว่าวายมันขึ้นมากที่ร้านขายหนังสือ ทุกที่ โอ้โห หนังสือวายเต็มเลย เราก็เลยสงสัยว่ามันจะลงไหม คือลี้ชอบวายนะ ถ้าวายมันอยู่ ลี้ก็จะได้รับผลประโยชน์ ลี้ก็แบบ โอเค มันเป็นงานแนวที่เราชอบ แต่ลี้ก็กลัวอยู่นะคะว่ามันจะลงไหม เพราะมันขึ้นน่ากลัวมากเลย ฟองสบู่จะแตกไหม วายก็อยู่มานานแล้ว แต่ว่าช่วงนี้ที่ขึ้นมาอยู่บนดิน ก่อนหน้านี้เขาก็หลบๆ กันบ้างไง ก็ขึ้นมาบนดินกันได้เต็มที่ แล้วก็มีเล่มที่ได้เป็นซีรี่ย์ก็โด่งดัง
บทความโดย :โชติรวี โสภณสิริ