จิตติมา ผลเสวก : ข้าวพื้นบ้าน : เชื้อพันธุ์แผ่นดิน

จิตติมา ผลเสวก

คุยนอกรอบประจำสัปดาห์นี้อาจจะมาแปลกที่ไม่ได้เห็นหน้านักเขียน แต่กลับได้เห็นหน้าปกหนังสือเล่มล่าของเธอ จิตติมา ผลเสวก แทน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศการสนทนาว่าด้วยเรื่องข้าว ซึ่งมีที่มาจากการเขียนหนังสือเล่มนี้นั่นเอง …เผื่อว่าใครสนใจ จะได้จำปกไว้ แล้วตามหาหนังสือกันได้ง่ายๆ อย่างไรล่ะคะ และนี่คือการสนทนาระหว่างพิธีกรผู้ดำเนินรายการบนเวทีเปิดตัวหนังสือ ข้าวพื้นบ้าน : เชื้อพันธุ์แผ่นดิน และ จิตติมา ผลเสวก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

พิธีกร - ขอคุยกับคุณจิตติมานิดหนึ่งนะคะว่า หนังสือข้าวพื้นบ้าน เชื้อพันธุ์แผ่นดินอีสานนี่เป็นคล้ายๆ กึ่งงานวิจัยใช่ไหมคะ ช่วยเล่าที่มาสักนิดได้ไหมคะ

จิตติมา - ค่ะ ความจริงหนังสือเล่มนี้จะต้องพูดถึงคนอีกคนหนึ่งที่ร่วมเขียนด้วยในท้ายเล่ม ภาคผนวก คือ คุณอารีวรรณ คูสันเทียะ คือว่าความจริงตัวเองเป็นนักเขียนสารคดีค่ะ แล้วก็เก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องพื้นบ้านอยู่แล้วทีนี้อารีวรรณเขาทำงานเกี่ยวกับเรื่องข้าว เขาก็มาชวนว่าอยากจะมีหนังสือเล่มหนึ่งที่พูดถึงพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและวิถีชีวิตชาวอีสาน คือว่า เขาบอกว่าอยากได้งานเขียนที่น่าอ่านน่ะค่ะ ก็เลยมาชวนดิฉันค่ะ เพราะว่าดิฉันเป็นคนเขียนหนังสือน่าอ่าน ขออวดตัวนิดหนึ่ง (หัวเราะ)

พิธีกร - ค่ะ ได้ค่ะ

จิตติมา - เอาเรื่องจริงดีกว่า (หัวเราะ) คือว่า สนใจเรื่องข้าวมานานแล้ว และโดยส่วนตัวก็เก็บข้อมูลเรื่องข้าวอยู่ ทีนี้มันก็ไม่เชิงงานวิจัยนะ เราเองก็ไม่เคยทำงานวิจัย เพราะส่วนมากจะไปคุยกับชาวบ้านแล้วเอามาเขียน ก็ไม่รู้ว่าแบบนี้เขาเรียกงานวิจัยหรือเปล่า

พิธีกร - เท่าที่อ่านงานของคุณจิตติมาก็รู้สึกว่ามันก็เป็นงานสารคดีนั่นละ เป็นสารคดีกึ่งชีวิตด้วย แล้วก็เป็นหนังสือที่อ่านง่ายและอ่านสนุกมาก มีตัวละคร..ทีนี้ถามต่อว่า คุณจิตติมาได้ความประทับใจอะไรจากการทำหนังสือเล่มนี้บ้างคะ

จิตติมา - ความประทับใจเยอะมาก เอ่อ โอ้โห ถามยากนะ

พิธีกร - ถามยากเหรอ งั้นเปลี่ยนใหม่ ถามว่า เท่าที่กินข้าวมาแล้ว เชื่อได้เลยว่าต้องได้กินมาเยอะมาก น้ำหนักขึ้นไหมคะ

จิตติมา - นิดหน่อย

พิธีกร - ข้าวอะไรที่อร่อยมากที่สุด

จิตติมา - ความจริงเลยเป็นคนชอบกินข้าวแข็งค่ะ เพราะเป็นคนปักษ์ใต้ คนใต้ไม่รู้จักข้าวหอมมะลิหรอก เพราะเป็นคนกินข้าวแข็ง ข้าวพันธุ์พื้นเมืองปักษ์ใต้น่ะแข็งเพราะต้องกินกับแกง ก็จะชอบข้าวแข็งมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นข้าวบองกษัตริย์ อะไรพวกนี้ ถ้าแข็งจะชอบ ชอบมาที่สุดคือข้าวก่ำ ข้าวก่ำนี่สีสวยนะ แล้วพอเราไปคุยกับชาวบ้านนี่ จะรู้ว่าข้าวก่ำนี่เป็นข้าวของความเชื่อ คือเท่าที่ไปคุยหลายพื้นที่จะพูดตรงกันว่าแต่ก่อน หรือเดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ เค้าจะรักษาข้าวก่ำหรือว่าข้าวเหนียวดำไว้ในนาเสมอ เพราะเค้าเชื่อว่าข้าวก่ำเป็นพญาข้าว แต่ละท้องถิ่นจะเรียกต่างกัน บางหมู่บ้านจะเรียกหัวหน้าข้าว หรือเจ้านายใหญ่ในหมู่ข้าว ในนาข้าว เป็นข้าวที่ปกปักษ์รักษาข้าวอื่นๆในนา

พิธีกร - มีข้าวอะไรอีกนะคะที่เวลาที่มีงานทำขวัญข้าวนี่จะต้องใช้ข้าวชนิดนี้

จิตติมา - อ๋อ เป็นข้าวของข้าววัฒนธรรมเขมร เป็นข้าวเนียง หรือข้าวตระกูลเนียง ข้าวเนียงกวง ก็จะมีอีกหลายเนียงกวง

พิธีกร - จะเห็นได้ว่ามีข้าวหลายสายพันธุ์มากเลยนะคะ แล้วเมื่อเช้าได้คุยกับพี่ที่มาจากภาคอีสานก็บอกว่า ข้าวแต่ละชนิดนี่ก็สามารถนำไปแปรรูปได้ต่างกันออกไปอีก

จิตติมา - ใช่ ตามที่คุยกับชาวบ้านนะ เขาจะเล่าให้ฟังว่าอย่างข้าวขี้ตมใหญ่น่ะจะเป็นข้าวที่ทำสาโทได้อร่อย ก็อาจจะเป็นด้วยเนื้อแป้งในข้าว อันนี้เราคิดเองนะ ก็ไม่รู้เหมือนกันเพราะไม่ได้จบด้านนี้มาโดยตรง อาจจะเป็นที่เนื้อแป้ง จะทำสาโทได้อร่อย คือแต่ละพันธุ์ข้าวนี่จะมีคุณลักษณะหรือจุดเด่นของแต่ละพันธุ์ที่เอามาแปรรูปที่ต่างกัน เช่นบางพันธุ์อาจเอามาทำขนมจีนหรือว่าลอดช่องได้เป็นตัวเหนียวดี เส้นไม่ขาด อย่างข้าวอีหนอนน้อย ชื่อน่ารักมากก็ทำข้าวเกรียบว่าวได้อร่อยมาก

พิธีกร - นอกจากคุณจิตติมาจะได้ไปดูข้าวพันธุ์พื้นบ้านแล้ว ก็ได้ไปคุยกับเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรที่ไม่ได้ปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านแล้วเป็นอย่างไรบ้างคะ

จิตติมา - ส่วนใหญ่ที่ไปคุยก็จะเป็นชาวนาทางภาคอีสานนะคะ เพราะเล่มนี้เป็นเรื่องทางภาคอีสาน สาเหตุที่ข้าวพื้นบ้านหายไปเพราะว่ามันมีการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว อย่างที่เขาเรียกกันว่าการปฏิวัติเขียว ช่วงเวลาที่เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์จะเป็นช่วงเวลาที่ไล่ๆ กัน อยู่ในช่วงที่ทางราชการเข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวเพื่อการขาย ทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านค่อยๆ หาย คิดว่านี่เป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนพันธุ์ข้าว

พิธีกร - แล้วยิ่งช่วงนี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมการปลูกพืช GMO ในไร่นาเปิดก็อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลงอีกนะคะ …เอาล่ะ ช่วงสุดท้ายแล้ว อยากจะให้คุณจิตติมาฝากอะไรถึงคนที่ยังสนใจข้าวในความหมายที่มากกว่าอะไรสักอย่างที่เรากินกับแกง

จิตติมา - ก่อนบอก มีอีกเรื่องที่อยากจะเล่า คือช่วงที่ทำหนังสือเล่มนี้ก็ช่วยน้องเขาที่ชมรมฯ เรื่องสายส่ง โทรไปติดต่อสายส่งใหญ่ที่หนึ่ง ไม่บอกล่ะว่าที่ไหน เดี๋ยวโดนฟ้อง (หัวเราะ) บอกเขาว่ามีหนังสือให้ช่วยจัดจำหน่าย เขาก็ถามว่าหนังสืออะไร พอเราบอกไปว่าเป็นหนังสือข้าวพื้นบ้านเค้ายังไม่ทันถามอะไรเลย เค้าก็ว่าหนังสือเกี่ยวกับการเกษตรเดี๋ยวนี้มันขายไม่ได้แล้ว ต้องเป็นเมื่อสามสี่ปีก่อนที่ฟองสบู่แตก หนังสือทางการเกษตรจะขายดี แต่คุณมาทำช่วงนี้มันขายไม่ดีหรอก เราก็เลยมาคิดว่า เอ๊ะ นี่มันอะไรกันวะ หมายความว่าพอจนแล้วถึงจะกลับไปชนบทเหรอ เลยคิดว่าทำไมชาวนาชาวไร่หรือฝ่ายเกษตรจึงต้องเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ตลอด ถ้าเป็นภาษาจิ๊กกี๋สมัยก่อนคงพูดประมาณว่า อกหักพักบ้านนี้อะไรอย่างนี้นะ ก็เลยคิดว่า บางทีภาคเกษตรควรต้องเป็นฝ่ายรุกบ้าง รุกสังคมเมืองเข้ามาบ้าง

สำหรับคนที่สงสัยว่าทำไมเราจะต้องรู้เรื่องข้าว ข้าวมันไม่ใช่แค่ข้าวนะ เพราะข้าวก็คือเลือดเนื้อ คือชีวิตเรานะ เรากินข้าวกัน ข้าวแต่ละเม็ดคือเรื่องราวของชีวิต คือเรื่องราวของชาวนาที่ผลิตข้าวมาให้เรา วัฒนธรรม ดินฟ้าอากาศทั้งหมดมันรวมอยู่ในเมล็ดข้าวทุกเม็ดที่เรากิน สนใจกันนิดหนึ่งค่ะ อย่าเอาแต่กินอย่างเดียว

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ