ชูเกียรติ ฉาไธสง : ชีวิตคนมันก็เหมือนฉากนิยายที่มีทั้งสุขมีทั้งโศก

ชูเกียรติ ฉาไธสง

ชูเกียรติ ฉาไธสง นักเพลงเพื่อชีวิตเจ้าของบทเพลงผิงดาว เป็นนักดนตรีอีกผู้หนึ่งที่หลงใหลในคราบไคลน้ำหมึก ชูเกียรติ เป็น ชาวบุรีรัมย์ เขาชอบที่จะคิดจะเขียนมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว ปี 2517 ผลงานบทกวีของเด็กชายชูเกียรติ ฉาไธสง ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสืออธิปัตย์ ตอนนี้ชูเกียรติ ฉาไธสงมีผลงานรวมเล่มแล้ว 10 เล่ม แต่กระนั้นเขายังไม่หยุดฝันยังคงมุ่งมั่นที่จะเขียนงานต่อไป

“ผมเป็นคนบุรีรัมย์ เป็นคนชอบอ่านชอบเขียนหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆส่วนหนึ่งที่ทำให้สนอกสนใจเกี่ยวกับแวดวงวรรณกรรม แวดวงความคิดเชิงสังคม เพราะมีพี่เขยเป็นนักศึกษาจบมาจากเทคนิคโคราช จบศิลปกรรมเป็นรุ่นพี่ของ พี่หว่อง คาราวาน พี่อืด-ทองกราน พี่หมู-พงษ์เทพ แล้วเขาจะมีเพื่อน ก็พวก พี่หงาพี่หว่องก็มาเที่ยวที่บ้านผมก็จะได้ซึมซับมา ก็ตั้งแต่สมัยที่เขาเป็นหนุ่มๆยังไม่มีชื่อเสียงยังเป็นคนหนุ่มแสวงหาส่วนเราก็ยังเป็นเด็กชายที่ค่อยวิ่งซื้อเหล้าซื้อของให้เขา ตอนหลังก็เลยเขียนหนังสือ เขียนเพลงออกมา มันเหมือนกับมีทางที่รุ่นพี่เขาทำให้ดูแล้วเราก็เกิดชอบขึ้นมาด้วย”

 

ชูเกียรติ ฉาไธสง

 

พี่น้อย ชูเกียรติ ฉาไธสง พูดให้เราฟังถึงความหลัง ของแนวคิดที่ได้รับการถ่ายทอดมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กๆ พี่น้อยยังคงจับจ้องภาพความหลังในขณะที่ยังพูดอย่างพรั่งพรูถึงภาพอดีตเหล่านั้น “พูดถึงเรื่องเทปคาราววาน สมัยก่อนนี้ให้ใครรู้ไม่ได้ เรื่องเอียงซ้ายสมัยก่อนนี้ถือว่าแหลมคมกว่าสมัยนี้มาก ชอบอ่านหนังสือเพราะว่าสมัยก่อนมีวรรณกรรมก้าวหน้าเยอะนะ อ่านเรื่องแม่ตั้งแต่ผมอยู่ ป6 ป7 ชอบมาก อ่านของศรีบูรพา อ่านของเสนีย์ เสาวพงษ์ ปีศาจ แลไปข้างหน้า พวกนี้ชอบมาก ก็จะมีความคิดเชิงสังคมมาตั้งแต่สมัยนั้น ต่อมาก็เข้ามาเรียนกรุงเทพ ตอนนั้นจบมศ.3 แล้วก็อยากเรียนศิลปะ อยากวาดรูป สมัยก่อนโรงเรียนบ้านนอกมันจะไม่มี ต้องเข้ามาเรียนที่กรุงเทพ มาสอบช่างศิลป์ ไม่ติด เลยไม่เข้ากรุงเทพวิจิตรศิลป์ เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่ายังอยู่หรือเปล่า เมื่อก่อนจะมีสามโรงเรียนที่ค่อนข้างจะมีชื่อเสียง คือ อาชีวศิลป์ กรุงเทพวิจิตรศิลป์ ไทยวิจิตรศิลป์ พอจบจากรุงเทพวิจิตรศิลป์ก็มาสอบเข้าที่สวนสุนันทาเอก ศิลปะ

สมัยเรียนสวนสุนันทา พี่หงาออกมาจากป่าแล้ว สักประมาณปี 2526 ออกมาใหม่ๆหลังคอนเสิร์ตยูนิเซฟที่ธรรมศาสตร์ เราก็ไปหาแกที่บ้าน ตอนนั้นพี่หงาอยู่ที่ซ.สุขุมวิท 21 ก็ไปหา พี่หงาก็เลยแนะนำให้รู้จักน้องชายเขาคือแดง อินโดจีนนี้แหละ พี่หงาเขาอยากจะทำวงเด็กๆ ประมาณว่าวงน้องคาราวาน ก็ให้ผมกับแดงเล่นด้วยกัน เล่นได้ไม่กี่ครั้งหรอก เพราะตอนนั้นเรียนอยู่ด้วย ได้สัก 4-5 งาน ตอนนั้นเพลงแต่งเองหมดนะทั้งของผมของแดง แดงเขาแต่งเพลงดีนะ เราเองก็พอใช้ได้ก็เลยผสมกัน ตอนนั้นใช้ชื่อวงสัญญาณ พอแยกกับแดงก็มาเรียนจนจบ หลังจากเรียนจบก็ทำวงแต่งเพลงอะไรไปเรื่อยๆ ส่วนหนังสือตอนนั้นก็เขียนบทกวีเก็บไว้ ส่วนใหญ่ที่ได้ลงเยอะๆ ก็ สู่อนาคต ตอนนั้นพี่อัศศิริ ธรรมโชติเป็น บก. ตอนหลังมีมติชนมาก็ส่งไปค่าเรื่องไม่ได้มากเท่าไหร่หรอก พอได้ลงก็นั่งรถไปเอา แล้วมีข่าวพิเศษมีพี่สำราญ รอดเพชรดูแล เราไปเอาค่าเรื่องบ่อยจนรู้จักกับแก ได้ค่าเรื่องมาก็เอาไปกินเหล้ากับเพื่อน ดีใจตอนนั้นงานได้ตีพิมพ์ก็ปลื้มแล้วสำหรับเด็กหนุ่ม”

- ช่วงนั้นเขียนแต่กวีอย่างเดียวเหรอ
ช่วงนั้นเขียนกวีกับเรื่องสั้น ส่วนเพลงก็เขียนคู่กันมา เพราะว่ามันเป็นศาสตร์ที่มันใกล้กันมาก เพราะเราแต่งทำนองเป็นก็เอาบทกวีที่แต่งไว้มาใส่ ก็รู้สึกว่ามัน ก็ใช้ได้เลยแต่งมาเรื่อยๆ ตอนหลังมาเจอกับพี่ปอน-พิบูลศักดิ์ ละครพล รู้จักกันเพราะวสันต์ สิทธิเขตต์ ก็ได้แจมดนตรีกันในร้านเหล้าแห่งหนึ่ง เราก็เหมือนเด็กหนุ่มที่เล่นดนตรีได้ส่วนพี่ปอนก็ฝันจะทำวงทำไรของแก ตอนนั้นแกอยากจะทำงานใต้ดิน มาชารี-บทกวีในเสียงเพลง ไง ทั้งหมดมี 10 เพลง มี ของพี่ปอน 8เพลงของผม 2 เพลงคือเพลงผิงดาว กับ ดวงตาอาทร แล้วพี่ปอนก็ดึง พยัค ภูวิเชียร เข้ามาช่วยดูเรื่องดนตรี พยัคเขาเก่งนะ เขาแต่งเพลงให้แกรมมี่เยอะ ผมก็อยู่กับพี่ปอนได้ระยะหนึ่ง ก็ดีมากนะเพราะพี่ปอนเขาจะรู้จักพวกโรงเรียนเยอะ ก็ไปเล่นดนตรีกันไปอภิปราย ซึ่งที่ไปก็จะมีผม มีไพวรินทร์ ขาวงาม มีวสันต์ สิทธิเขตต์ มีพยัคก็ไปกัน ทำให้เราได้ประสบการณ์ ได้เจอโลกกว้างได้เจออะไรมากมายเลย อยู่กับพี่ปอนสักปีกว่าๆ พอออกจากแกมาก็อยากทำเทปเดียว เพลงผมตอนนั้นก็ถือว่ามีเยอะ ก็เลยทำเดี่ยวทำใต้ดินนี้แหละ เช่าห้องอัดทำไปเรื่อยๆ เจ้าของห้องอัดเขาก็มานั่งฟังทุกวันน่ะ เขาไม่มีไรทำ แล้วอยู่มาวันหนึ่งเขาก็ถามว่า จะขอซื้อชุดนี้ได้ไหม จะจัดจำหน่ายให้ ไม่ต้องขายใต้ดินแล้ว ขายให้ผมเดียวผมขายให้ ไม่ต้องปั๊มแค่ 500 ม้วน หรือ 200 ม้วน ปั๊ม 10000 ม้วนเลย เขาบอกอย่างนี้ จะโฆษณาให้ด้วย เราก็เอาดิ ก็เป็นชุดแรก แด่เผ่าพันธุ์ที่หลงเหลือ ตอนนั้นโปรโมตเยอะ ประมาณ ปี 32-33 ก็ทำเพลงเรื่อยมา ชุดล่าสุดนี้ทำประมาณปี 39-40 นี้แหละจำปีไม่ได้แล้ว ชื่อชุดกลิ้งโครง หลังจากนั้นก็หยุดเลย เจอกระแสเทปผีซีดีเถื่อนเข้าไปมันสู้ไม่ไหว แต่ก็ยังแต่งเพลงอยู่นะ แต่งเก็บๆไว้

- มีโครงการจะออกชุดใหม่ไหม
ก็มีอยู่เหมือนกันแต่ว่าคิดมากหน่อย เบื่อเข้าห้องอัด ถ้าเข้าห้องอัดนี้ทำอะไรไม่ได้เลย สมาธิจะไปอยู่ที่ห้องอัด อย่างอื่นก็จะพลอยโดนแย่งเวลาไปด้วย ช่วงหลังเลยว่าแต่งเพลงให้คนอื่นร้องก็ดีเหมือนกัน คือหากจะทำก็ต้องมีสมาธิกับมันต้องทำให้ดีๆ.... ช่วงนี้กำลังมันส์กับการเขียนหนังสืออยู่ ถ้าถามผมว่าระหว่างเขียนหนังสือกับเล่นดนตรีผมชอบอะไรมากกว่า ผมชอบเขียนหนังสือมากกว่านะ ดนตรีจะเป็นเรื่องของการผ่อนคลาย เล่นสนุกๆ เล่นในงานเพื่อน คือมีความสุขนะ เมาแล้วเล่นคนตบมือ สนุกสนานเฮฮา แต่หนังสือมันจะอิ่มใจกว่าเวลาเขียนเสร็จ มันจะปิติกว่า หนังสือจะซีเรียสและมุ่งหวังมากกว่า

- เพลงผิงดาว
เขียนบนรถทัวร์ ตอนนั้นรู้จักกับปอนใหม่ๆ ผมอยู่บุรีรัมย์แล้วก็นั่งรถทัวร์ตอนกลางคืนรถมาถึงสักปากช่องมองออกนอกหน้าต่างเห็นดาว มันสวยผมก็ฮัม...ฮัมใไปเรื่อยๆ แล้วก็ลงมือเขียนๆจนจบ พอมาถึงกรุงเทพก็เล่นให้พี่ปอนฟังแกก็ชอบ ผิงดาวนี้คนเอาไปร้องเยอะนะ เฉพาะค่าลิขสิทธิ์จากผิงดาวเพลงเดียวนี้จะได้เป็นแสนแล้วมั่ง ที่คนโน่นคนนี้เอาไปร้อง สัก 7-8 คนแล้วที่ซื้อไปร้อง เป็นเพลงที่ให้พลังใจอย่างมาก แล้วคนก็รู้จักผมจากเพลงผิงดาวมากที่สุด ตอนหลังผมมาทำดนตรีกับพี่ป๋อง ต้นกล้าแกสีซอแล้วผมก็เล่นกีตาร์ ช่วงหลังกระทรวงต่างประเทศเชิญให้ไปเล่นดนตรีที่ต่างประเทศบ่อยมากเลย เขาจะเชิญให้ไปเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมเพื่อให้ชาวต่างชาติที่สนใจหรือชาวไทยที่อาศัยอยู่ในต่างแดนดู ก็ไปทั้งนิวยอร์ค วอชิงตัน โอซาก้า โตเกียว แล้วล่าสุดเพิ่งกับจากอิสลามาบัส ประเทศปากีสถาน เพิ่งกลับมาได้สักเดือนเดียวเองเนี่ย ก็ไปเล่นโชว์กับพี่ป๋อง ไสตล์ก็จะเป็นเพลงตั้งแต่แขกมอญ บางขุนพรหม ลาวดวงเดือน ค้างค้าวกินกล้วย ก็เล่มหมดแหละ ก็มีแค่กีตาร์กับซอ 2 ชิ้น ส่วนหนังสือที่เขียนเป็นเรื่องเป็นราวนี้ผมเริ่มที่ผู้จัดการรายวันคอลัมน์ระหว่างรอยเท้า สักปีกว่าๆ แล้วก็มาเขียนที่เนชั่น เข้า 9 ปีแล้ว มีหนังสือสัก10 เล่ม ส่วนใหญ่จะเป็นความเรียงกับพวกชีวประวัติ

- ทำไมถึงเลือกที่จะเขียนแนวชีวประวัติ
ผมว่าชีวิตคนมันก็เหมือนฉากนิยายที่มีทั้งสุขมีทั้งโศก ถ้าเราดึงเรื่องราวของคนทีมีสีสันมีอะไรมันก็น่าสนใจดีนะผมว่า ทั้งยังมีประโยชน์มีสาระกับคนอ่านด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหลักการในการเขียนคนของผมมีสองอย่าง หนึ่งคือผมต้องชอบเรื่องของคนๆนั้นจริงๆ สองเรื่องของเขาต้องให้สาระกับคนอ่านตามสมควร ฉะนั้นถ้ามีคนมาจ้างให้เราเขียนคนนั้นคนนี้มันก็อยากอยู่เหมือนกันถ้าเราไม่ชอบจริง ให้ผมไปเขียนเรื่องของเจ้าพ่อ ให้เขียนเรื่องดาราเรื่องแฉ ก็น่าจะทำได้นะแต่ใจเราไม่สนุกไม่มีความสุขก็เลยไม่เขียน ส่วนใหญ่แล้วผมเลือกเองนะว่าคนไหนที่ผมอยากเขียน

- ตอนนี้จะเขียนของใคร
ที่เพิ่งเสร็จไปก็ของปู-พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ตอนนี้ขอหยุดพักไปก่อนยังไม่ได้นึกเลย

- สำหรับผลงานล่าสุดทำไมเลือกเขียนเรื่องของปู-พงษ์สิทธิ์
เพราะปู พงษ์สิทธ์เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจสักเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ต้องยอมรับว่าเขาทำให้คนที่ไม่เคยฟังเพลงเพื่อชีวิตมาก่อนหันมาฟัง เพราะแนวทางเพื่อชีวิตของปูเป็นแนวทางเพื่อชีวิตโรแมนติค ซึ่งแตกต่างจากพี่หงา หรือแอ๊ดเราอาจจะแบ่งเพลงเพื่อชีวิตได้เป็น 3 ยุค คือ ยุคคาราวาน ยุคคาราบาว ในยุคคาราบาวนี้มีวงดนตรีที่เกิดพร้อมกับคาราบาวเยอะ อย่างคนด่านเกวียน อย่างโฮป อย่างอมตะ โอ้ยนับไม่ถ้วน แต่ในระบาบเดียวกันคาราบาวเขาเหนือที่สุดในแง่ชื่อเสียง วงอื่นเลยโดนคลุมไปด้วย รัศมีของคาราบาว แล้วก็มาช่วงที่ 3 ก็คือปู-พงษ์สิทธิ์ นี้แหละปูเขาก็จะฉีกออกมาจากคาราบาว คาราวานแล้ว แต่อาจจะมีส่วนคล้ายของคาราวานอยู่บ้าง แต่ในที่สุดเขาก็ค้นพบตัวเอง อาจจะเรียกได้ว่าเขาเป็นเพื่อชีวิตแบบโรแมนติค โรแมนติคในที่นี้ไม่ใช่ความรักอย่างเดียว อาจจะเป็นความเศร้า ความสะเทือนใจอะไรด้วย ปูเขาจะมีลักษณะเป็นปัจเจกมากกว่าคาราวาน ‘เคยเหงากันบ้างไหมเคยรู้อยู่ใช่ไหมว่าเหงามันโหดร้ายเกินจะเปรียบ’ อะไรแบบเนี่ย มันเป็นเรื่อง่ายๆแต่บ้างทีมันก็แทงใจคนในสังคมตอนนั้นที่มันเหงาไง เหงาเพราะมันซับซ้อนมันปรวนแปร เพลงของปูยอดขายเขาสูงมากนะ เขาขายได้เป็นล้านๆตลับหลายชุดมาก คนที่ไม่ฟังเพลงเพื่อชีวิตก็ต้องมาฟังเพราะปู ผมเลยคิดว่าชีวิตปูน่าจะเป็นกระจกเงาอะไรบ้างอย่างสำหรับเด็กบ้านนอกที่มาประสบความสำเร็จในสายธารเพลงเพื่อชีวิต และรอยผ่านในประสบการณ์ของเขาก็น่าจะมีเรื่องราวอะไรที่สามารถบอกกล่าวอะไรกับคนอ่านได้บ้าง มันก็ไม่ถึงกับใหญ่โตหรอกเป็นเรื่องเล็กๆ ของคนๆหนึ่งที่ทำปรากฏการณ์ ทำความฝันจนสำเร็จขึ้นมาได้....เดี๋ยวนี้เขาไม่ได้ดังเหมือนแต่ก่อน ก็ต้องยอมรับว่ากระแสเขาลดลงเยอะเลยแหละเพราะว่ามีตัวใหม่ๆ วงการเพลงมันเปลี่ยนไง

- ใช้เวลารวบรวมนานไหม
ตอนนั้นผมเขียนเป็นตอนๆในคอลัมน์ตัวเองก่อนก็ยังไม่ยาวมากนะครับ พอจบแล้วผมก็มาเรียบเรียงมาเพิ่มข้อมูลเพิ่มอะไรลงไปใหม่

- คิดยังไงก็คำพูดที่ว่านักร้องเพลงชีวิตก็เพื่อชีวิตตัวเอง
เฉยๆนะ คำว่าเพื่อชีวิตนี้คนเขาเอาไปจำกัดความมัน ความจริงคำนี้มันมาจากคำว่าศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ของทีปกรณ์ หรือจิตร ภูมิศักดิ์ แล้วก็เลยมีการนิยามเพลงเป็นเพลงเพื่อชีวิตบ้าง ซึ่งมันก็เป็นแค่การเอาคำนิยามเอาคำจำกัดความไปจับเท่านั้นเอง คือนักร้องเพลงเพื่อชีวิตนี้มันก็เป็นปุถุชนง่ะนะ มันก็ต้องมีชีวิตส่วนตัวมีอะไรต่ออะไร สังคมมันเปลี่ยนแปลงไปบ้างทีจะมุ่งหวังให้เป็นนักรบประชาชนอย่างแต่ก่อนไม่ใช่ แต่ถ้าเพลงเขามันรับใช้สังคมได้บ้าง ผมว่ามันก็โอเคแล้วล่ะ

- เคยไปโดนค้นยากับไพวรินทร์ ขาวงาม อยากให้เล่าให้ฟังนิดหนึ่ง
ผมเคยเขียนลงในคอลัมน์ตัวเองไปแล้วก็ไม่มีอะไร ไพวรินทร์ก็เขียนนะ ตอนนั้นไปกัน 3 คนมีผม ไพวรินทร์ ขาวงาม แล้วก็พี่ทองแถม นาถจำนง ตอนนั้นเราไปพูดที่ ศิลปากร ทับแก้วแล้วก็ไปนอนคืนหนึ่ง พอรุ่งเช้ามาเราก็จะกลับกรุงเทพกัน แต่ก็อยากจะเดินดูอะไรเสียหน่อย พี่ทองแถมแกก็ขับรถแล้วก็แวะเข้าวัดเก่า วัดนี้มีกลอนอยู่ตามต้นไม้ ไพวรินทร์ก็เดินดูกลอนไป ผมก็ผมยาวมากนะเมือก่อน พี่ทองแถมก็หนวดเคราเฟิ้มไปกัน 3 คนไม่มีใครปกติสักคน ไพวรินทร์ก็เดินใจลอยดูกลอน พินิจทอดอารมณ์อยู่สักครึ่งชั่วโมงได้ เราก็ขับรถออกมาก็มีรถมาสกัดหน้าไว้เป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ กรูกันเข้ามาค้นยามของพวกเราแล้วก็บอกว่ามีสายรายงานว่าจะมีคนมาส่งยาบ้าแถวนี้ เราก็พยายามอธิบายกันยังไงเขาก็ไม่เชื่อนะ ไพวินทร์เลยควักหนังสือม้าก้านกล้วยที่เขาได้ซีไรต์นะ ให้ดูเทียบกับบัตรประชาชน บอกว่าผมเป็นนักเขียนซีไรต์นะ ส่วนพี่ทองแถมก็เอาบัตรนักข่าวให้ดู เราก็บอกตำรวจไปว่าง่ายนิดเดียวให้โทรไปศิลปากรทับแก้วแล้วถามดูว่าเราไปทำอะไรมาหรือเปล่า เขาก็เลยขอโทษเรา .... แต่พอกลับมาคิดตอนนี้ก็กลายเป็นเรื่องตลกไปนะ แต่ตอนนั้นมันไม่ตลกนะ ตำรวจล้อมหน้าล้อมหลังเต็มไปหมดแล้วมันเป็นช่วงที่เขาวิสามัญพวกยาบ้าอยู่ด้วย แต่คิดในแง่ดีมันก็เป็นประสบการณ์นะทำให้รู้ว่าชีวิตคนเรามันไม่แน่นอน (หัวเราะ)

- มีมุมมองยังไงกับเรื่องยาเสพติด
ยาเสพติดก็เป็นเรื่องแย่นะ ยาเสพติดพวก ยาบ้า เฮโรอินอะไรพวกนี้ผมว่าแย่นะ แต่ผมว่าเหล้าบุหรี่นี้ผมว่าเป็นเรื่องปรกติรุ่นไหนๆก็เป็นแบบนี้ แต่ถ้า พวกยาบ้า พวกเฮโรอินนี้เป็นเรื่องอันตรายควรจะไม่มีควรจะกำจัดให้หมด

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ