อรุณวดี อรุณมาศ : ถ้าหยุดเสียตั้งแต่เริ่ม เราคงไม่ได้มาคุยกันในวันนี้

อรุณวดี อรุณมาศ

อาจกล่าวได้ว่าอรุณวดี อรุณมาศคือนักเขียนรอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ที่มีอายุน้อยที่สุดเมื่อผลงานเล่มแรกของเธอ การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักมิอาจเยียวยา สามารถฝ่าด่านอรหันต์กลายเป็น 1 ใน 7 เล่ม สุดท้ายของซีไรต์ประจำปี 2540 ซึ่งปีนั้นผลงาน ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ของวินทร์ เลียววารินทร์ เข้าป้ายไป แม้ว่าผลงานเล่มแรกของเธอจะไม่สามารถคว้ารางวัลซีไรต์ได้ แต่ต้องถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งสำหรับนักเขียนที่มีคำตามหลังว่ามือใหม่ นั้นย่อมแสดงให้เห็นว่าเธอไม่ธรรมดา และทำให้เรา-ทีมงานเว็บไซต์ประพันธ์สาส์นยิ่งกระหายใคร่รู้ต่อเส้นทางสายวรรณกรรมของเธอ

อรุณวดี อรุณมาศเป็นบุตรคนเล็ก ของ พ.ต.สุรินทร์ และนางมณี อรุณมาศ พื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดสิงห์บุรีและลพบุรี จบการศึกษาชั้น ม.ต้น จาก รร.พระนารายณ์ จบการศึกษาชั้น ม.ปลาย จาก รร.พิบูลวิทยาลัย ก่อนจะมาศึกษาต่อที่ สถาบันราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี และ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตามลำดับ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ ศูนย์ฝึกอาชีพองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เริ่มสนใจงานเขียนตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ ชั้น ม.ต้น แต่เริ่มลงมือเขียน ราว ม.4 แต่ตอนนั้นยังไม่จริงจังมากนัก

“ถ้าถามว่าเริ่มเมื่อไหร่จริงๆแล้วมันต้องแบ่งเป็นสองขยักง่ะนะ เริ่มจริงๆจังๆกับมัน กับตอนที่รู้สึกเหมือนคนที่กำลังตามหาอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่รู้ว่าเราจะเป็นอะไรดี ถามว่าเราอยากจะเป็นนักเขียนตั้งแต่แรกไหม ก็คงจะอยากจะเป็นเพราะเราอยากลงหนังสือ ตอนเรียนหนังสือเข้าห้องสมุดบ่อยนะถูกเพื่อนทิ้งไว้ในห้องสมุด (หัวเราะ) การที่ต้องเข้าไปห้องสมุดบ่อยๆนี้ทำให้เราได้อ่านหนังสือ ไปหยิบนิตยสารต่างๆมาอ่าน จำได้ว่าอ่านมติชนสุดสัปดาห์ ก็เหมือนๆปัจจุบันนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ถึงตอนนั้นจะไม่อ่านการเมืองแต่ก็เอามาเปิดอ่านกลอน อ่านกวี เห็นนามปากกาก็คิดว่าทำไมนามปากกาเขาได้สละสลวยอะไรอย่างนี้ ก็คิดต่อไปว่าถ้าหากวันหนึ่งเราเขียนหนังสือนี้เราจะใช้ชื่อเราเพราะเราคิดว่าชื่อเราเพราะมาก (หัวเราะ) ที่ชอบมติชนนี้ อันนี้ไม่ได้โฆษณาให้เขานะไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว คือรู้สึกว่าที่มติชนเขาจะแบ่งไว้เป็นหน้าไม่ปนกัน มันก็ทำให้รู้สึกว่าเหมือนเรามีบ้านเล็กๆ...ตอนที่ไปห้องสมุดบ่อยๆก็เริ่มแล้วล่ะเป็นช่วงเริ่มฝึกฝน ตอนนั้นก็เขียนเก็บๆไว้ มีส่งไปตามนิตยสารบ้าง”

- ตอนแรกที่ขียนแล้วส่งไปตามนิตยสารแล้วไม่ได้ลงท้อไหม เคยคิดจะหยุดเขียนไหม
ท้อ แต่ถ้าหยุดเสียตั้งแต่เริ่ม เราคงไม่ได้มาคุยกันในวันนี้

- เริ่มจากกลอน-กวีแล้วไปไงมาไงถึงได้มาเขียนนิยาย
ที่ได้มาเขียนนิยายคือรู้จักลุงแขก-รักษ์ มนัญญา เขาก็บอกว่าขี้เกียจอ่านบทกวีเธอแล้ว เขาก็ท้าทายเล็กๆนะว่าไปเขียนนิยายเหอะไป ถ้าเขียนได้จะเอาส่งประกวดซีไรต์ พอกลับไปก็เขียนเลยโครมๆๆ หวังจะได้เห็นมันออกมาเป็นเล่มเร็วๆ การได้เข้ารอบเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด มันมากเกินไปสำหรับมือใหม่

- ทำไมเรื่องการล่มสลายฯถึงออกมาแรงมาก
ถ้าใครตามงานของอรุณวดีอยู่เรื่อยๆก็จะรู้สึกนะว่ามันอ่อนลงๆรู้สึกจะฮาๆขึ้น..ตอนนั้นอาจจะเป็นความมุ่งมั่นด้วยแล้วก็เพราะอาจจะยังเด็กอยู่ มันจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้แล้วอีกอย่างหนึ่งคืองานที่เราเสพตอนนั้นมันค่อนข้างหนัก

- ถนัดเขียนแนวไหนมากที่สุด
ไม่ถนัดสักแนว ยังทำไม่ได้ดีสักอย่างเดียว ถ้าถูกใจเราก็เป็นแค่ชั่ววูบคือพอเขียนเสร็จอ่านแล้วก็รู้สึก อือก็ดี แต่ผ่านไปสักปีสองปีไปอ่านใหม่ เราจะรู้สึกว่าทำไมเราเขียนอย่างนี้น่า หนังสือเล่มแรกเราถึงได้โหดร้ายทารุน ทรมาทรกรรมตัวเองขนาดนั้น ทำไมบทกวีเราถึงได้ดุเดือดเลือดพล่านไร้เหตุผลแบบนั้น ก็คิดว่ายังต้องฝึกฝนอีกมากยังไม่ถนัดซักอย่าง เรื่องสั้นเอย นิยายเอย คนที่เขียนเป็นอาจแย้งได้ว่า นั่นเรียกว่ากวีด้วยหรือ อรุณวดี อรุณมาศ ยังเขียนกลอนแปดไม่คล่องด้วยซ้ำ ที่เขียนๆ อยู่นั้น เป็นความรู้สึกล้วนๆ คือเขียนตามอำเภอใจ

- เขียนประจำที่ไหนบ้าง
ปีที่แล้วเขียนที่เล่มโปรดของนานมี 2 คอลัมน์คือหมาทุกตัวล้วนต้องตาย ก็เอามารวมเป็นรวมเรื่องสั้นหนึ่งเล่ม แล้วก็ เรื่องลาวของแม่ แล้วเอารวมเป็นรวมเรื่องสั้นได้อีกเล่มเหมือนกัน ในปีที่ผ่านมาก็ยังมี กางเกงในและความใฝ่ฝัน อันนี้ก็เป็นรวมเรื่องสั้นเหมือนกัน ปีที่แล้วก็มี 3 เล่มนี้แหละ ทั้งหมดเป็นรวมเรื่องสั้นหมดเลย

- ปีนี้มีแผนที่จะเขียนอะไรบ้าง
ต้องยอมรับว่างานประจำได้แย่งเวลาไปมาก ประกอบกับไปลงทะเบียนเรียนไว้เล็กน้อยแล้วก็ต้องทุ่มเทให้การเรียนด้วยส่วนหนึ่ง แต่งานที่ทำอยู่ปัจจุบันนี้ก็ให้ความสุขเราได้อย่างมหาศาลนะ มันส์มากเลย ถ้าถามว่าอยากทิ้งงานเขียนไหมยังไม่อยากทิ้งหรอกแต่เราอาจจะยังไม่อยากเจอเธอในพักนี้ พอคิดถึงก็อาจจะแวะไปหาเธอบ้างเล็กน้อย ก็คือไม่ได้ทิ้งงานเขียนแต่อาจจะลดน้อยลงเพราะว่าเวลาเราไม่มี ไม่มีพลังงานพอที่จะทำนิยายเป็นเล่มๆ มันไม่มีสมาธิพอ คือปรกติแล้วจะชอบทำงานกลางคืน แล้วถ้าเราทำงานประจำอยู่อย่างนี้ให้นั่งเขียนนิยายถึงตี 3 แล้วมาทำงานมันก็คงจะไม่ไหวนะ ไม่ได้เขียนนิยายมานานมากแล้ว รู้สึกว่าเสียพลังงานไปกับ “ขณะหนึ่งไม่รู้จบ” ไปมหาศาล เรื่องนี้ได้ครอบคลุมเกือบทุกสิ่งคิด ตอนนี้ทุ่มเทให้กับงานที่ ทำประจำสุดๆ กลายเป็นคนบ้างานเลยก็ว่าได้

- มีเด็กบางคนเคยบอกว่าอ่านงานของอรุณวดี แล้วอยากฆ่าตัวตาย คิดยังไง
ก็ขอให้พวกเขาเหล่านั้น ได้แต่คิดอย่าทำ หรือถ้าลงมือทำแล้วขอให้ทำไม่สำเร็จ แล้วจงผ่านพ้นห้วงแห่งทุกข์มาได้โดยปลอดภัย กลายเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งและอารมณ์ดี

- ชอบเก็บตัวหรือชอบออกตามงานต่างๆมากกว่ากัน
ก็ไปบ้าง แต่งานไหนมีธุระ ก็จะบอกเขาว่ามีธุระ แต่ถ้าถามถึงนิสัยส่วนตัวจริงๆแล้วไม่ชอบไปไหน เพราะไปแล้ววางตัวไม่ถูก อาจพูดไม่ถูกใจใคร ทำตัวไม่เข้าตาคน ไม่มีความมั่นใจ ประหม่า กลับมาบ้านแล้วคิดมาก ไม่ชอบการถูกคนดีๆ ชื่นชมว่าเป็นคนเพี้ยน รับไม่ได้ เลยไม่ค่อยออกงาน มีก็แต่ผลงานเล็กๆน้อยๆ ปรากฏอยู่บ้าง ... กลัวว่าถ้าไม่มีเพื่อน วันหนึ่ง เราอาจจะไม่เหลือชื่อเลย

- งานเขียนที่ดีในมุมมองของอรุณวดี
คิดว่าเล่มไหนที่เราชอบอ่านก็ดีสำหรับเรา แต่อาจไม่ดีสำหรับคนอื่น

- จุดมุ่งหมายของการเป็นนักเขียนของอรุณวดี
สามารถเขียนจนเป็นผลงานที่มีคุณภาพ รวยล้นฟ้า มีเงินมหาศาล มีหนังสือปรากฏอยู่ในมือคนอ่านทุกหย่อมหญ้า และ ไม่ทำให้สำนักพิมพ์ขาดทุน อันนี้ดูเป็นอุดมคติไปสักหน่อย แต่ในส่วนของเป้าหมายในชีวิตก็คงจะเขียนไปเรื่อยๆหากบอกว่าหยุดเขียนแล้วใจหาย การได้เขียนหนังสือเหมือนการได้ปรากฏตัวอย่างเงียบๆในที่ต่าง ๆ ไม่ต้องการอะไรนักหนา มันไปปรากฏตัวด้วยชื่อของมันเอง

- งานเขียนกับตัวตนของนักเขียน
ไม่มีคำตอบ ก็เคยได้ยินคำว่า “นิยายก็คล้ายเรื่องจริง เรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย” ถ้าจะมองแบบร้ายๆ เมื่อผู้อ่านเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง งานเขียนบางอย่างก็เป็นการโกหกที่ยิ่งใหญ่ หนังสือบางอย่าง เช่น เราอ่านหนังสือของพระยันตระ ถามว่าหนังสือของพระยันตระเขียนดีไหม ขัดเกลาตัวเราได้ไหม ถ้าเราไม่รู้จักพระยันตระสิ่งนั้นก็เป็นประโยชน์กับเรา หรือว่าเราอ่านตำราทำอาหารแล้วเรามาทำตามสูตรเขาเป๊ะเลยแล้วมันอะไรในขณะที่คนเขียนเองทำไม่ได้เรื่องเลยถามว่าตำราอันนี้มีประโยชน์กับเราไหม...เข้าใจว่าน่าจะแบบนี้นะ ถ้าถามว่าจริงใจกับคนอ่านไหม ก็เลยบอกไงว่างานเขียนบางอย่างคือการโกหกอันยิ่งใหญ่ เราก็เลือกเสพตัวหนังสือเขาแทนก็แล้วกันอย่าไปคบกับเขาก็ได้

- มีมุมมองอย่างไรกับการวิจารณ์
เป็นสิ่งดีอย่างน้อยที่สุดเขาก็อ่านอย่างวิเคราะห์ เราคิดว่าการวิจารณ์เป็นการเป็นการติเพื่อก่อน่ะ อย่าด่าจนเสียผู้เสียคน มีอะไรพร่องก็ว่ามา นักเขียนจะพยายามปรับปรุง อย่างน้อยคนที่วิจารณ์เราก็ต้องไม่อ่านงานของเราอย่างลวกๆ แน่ๆ ว่ามั้ย

- รางวัลจำเป็นกับนักเขียนไหม
ก็ถ้าจำเป็นทุกคนก็น่าจะได้รับรางวัลทุกคนนะ ทุกคนจะอยู่ไม่ได้ถ้ามันจำเป็นขนาดนั้น แต่ว่าถ้าบอกว่าทุกคนอยากได้ก็โอเคนะ ไม่รู้ว่ามีนักเขียนขายดีอีกมากน้อยเท่าไหร่ที่ไม่ได้รับรางวัลยังมีอีกเยอะเท่าไหร่

- รู้สึกอย่างไรที่การประกวดวรรณกรรมบ้านเรามักจะมีปัญหาบ่อยๆ
อืม... ส่วนตัวเองอยู่ห่างไกลจากจุดนี้มากจนมองไม่เห็น เห็นแค่ว่าปีนี้มีการประกวดนะ แล้วปีนี้ก็มีคนได้รางวัล แต่ว่าการประกวดนี้มันก็มีการกระตุ้นเหมือนกันนะ ถ้าไม่มีการประกวดเลยทุกอย่างก็จะซบเซา มีการประกวดมันก็ดีนะแต่ว่าตัวเองอยู่ห่างไกลจากตรงนั้นพูดอะไรมากไม่ได้ สุดท้ายอรุณวดี ก่อนจะจากกันอรุณวดี อรุณมาศมีข้อคิดมาฝากสำหรับคนที่อยากเขียนหนังสือ “อยากเป็นนักเขียนก็ต้องเขียนนะ ตัวเองเริ่มต้นมาจากการเขียนไดอารี เมื่อก่อนเขียนทุกวันนะ แต่เดี๋ยวนี้ชักขี้เกียจ หากวันไหนไม่ได้เขียนสักวันก็จะเลยไปเป็นอาทิตย์เลย เขียนอะไรก็ได้ที่อยากเขียน พอเขียนบ่อยๆมันจะเกิดเป็นทักษะเอง บางวันมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเราก็เก็บบันทึกไว้มันเหมือนกับว่าอยู่ในลิ้นชักที่เราสามารถเปิดออกมาใช้ได้ตลอด งานเขียนนี้เป็นงานที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แค่มีอุปกรณ์การเขียนก็เขียนได้แล้ว คิดว่างานเขียนเป็นงานชั้นเลิศเลยนะในเรื่องการลงทุนการได้กำไร การมีชื่อเสียง การดำรงอยู่ของชิ้นงาน ทำงานอย่างอื่นมันเป็นของคนอื่น ฉะนั้นอยากจะย้ำว่าอยากเป็นนักเขียนก็ต้องเขียน”

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ