ธีรพร คงพูล : ผมเป็นนักบันทึก ไม่ใช่นักเขียน

ธีรพร คงพูล

เกณท์ในการตัดสินว่าใครคนหนึ่งจะเป็นนักเขียนหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับอะไร จำนวนหนังสือที่เขาเขียน หรือรางวัลเกียรติยศที่เขาได้รับ บุคคลที่จะมาคุยนอกรอบกับเราครั้งนี้มีผลงานหนังสือมาแล้ว 4 เล่ม(กำลังเขียนเล่มที่ 5 ) และ 2 ใน 4 เล่มนั้นได้รางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ( ฤดูกาลแห่งชีวิต ได้รางวัลชมเชยประเภทสารคดีสำหรับวัยรุ่น ปี 2545 ส่วน ดอกไม้บานที่เกาะใต้ ได้รางวัลดีเด่นประเภทสารคดีสำหรับวัยรุ่น ปี 2546 )

ธีรพร คงพูลมีผลงานเขียนรวมเล่มตั้งแต่ยังไม่ได้ทำบัตรประชาชน ชื่อ ก้าวแรกในทางธรรม หรือ ซัมเมอร์ของผู้เดินสวนทาง ผลงานเขียนเมื่ออายุ 15 ส่งให้เขาก็กลายเป็นคอลัมนิสต์สารคดีที่อายุน้อยที่สุดใน น.ส.พ.มติชนฉบับวันอาทิตย์ ในวันที่สัมภาษณ์ธีรพร คงพูลมีอายุ 22 ปี เขาออกตัวว่ายังรู้สึกขัดเขินกับการเรียกตัวเองว่านักเขียน เพราะยังไม่ได้ทำงานเขียนอย่างจริงจัง คงเป็นเพียงแค่นักจดบันทึกมากกว่า เรามีโอกาสคุยกับเขาก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมันเพียงไม่กี่วัน

ทราบว่ากำลังเขียนงานเล่มที่ 5 อยู่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรครับ
เป็นภาคต่อของ โลกหลากสีที่…แคนนาดา เล่มนั้นเขียนถึงแค่ต้นเทอม 2 ของปี 1 ในมหาวิทยาลัย เล่มนั้นจบเพราะความหนาของหนังสือพอเหมาะที่จะรวมเล่ม ยังมีเรื่องค้างอยู่จึงมาต่อในเล่มนี้ เขียนได้ 10 ตอนแล้ว มีตัวละครมากขึ้น รายละเอียดเยอะ เหลืออีกประมาณ 6-7 บท จะเขียนให้เสร็จก่อนไปเยอรมัน หนังสือชุดนี้น่าจะอย่างต่ำ 3 เล่มจบ

เขียนหนังสือตอนไหน มีวิธีการเขียนหนังสือยังไง
สะเปะสะปะมาก ส่วนใหญ่เวลาที่เขียนดีที่สุดคือเวลาคิดถึงสิ่งที่เขียน เช่น เวลาดูภาพถ่าย หรือ เพื่อนเก่าโทรมา เคยวางแผนเหมือนกันว่าวันนี้จะเขียนเท่านั้นเท่านี้ แต่ส่วนใหญ่ทำไม่ได้ตามนั้น แผนการมีแต่สัญชาตญาณชนะเสมอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่ ไม่มีวินัยเหมือนนักเขียนจริงๆ

ยังไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นนักเขียนหรือ
ครับ เป็นนักเขียนต้องทำงานเขียนจริงจังมากกว่านี้ ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นนักจดบันทึกมากกว่า เป็นนักเขียนต้องมีการตกตะกอนทางความคิด ถ้านักบันทึกคือตักน้ำลำธารส่งไปได้เลย ไม่ต้องรอตกตะกอน

งานเขียนแบบจริงจังที่ว่าเป็นยังไง
เรื่องหนักๆ แบบเสียดสีสังคม การเมือง นิยาย เรื่องสั้น หรือเรื่องสบายๆ บรรยายธรรมชาติ เชิงกวี ที่ผ่านมาทำเล็กๆน้อยๆยังไม่สามารถรวมเล่มได้ มีบทความ เรื่องสั้น กลอน และเพลงทั้งภาษาไทยและอังกฤษ แต่มีพล็อตหลายเรื่องมาก สักวันคงนั่นลงศึกษา แล้วลงมือเขียนอย่างจริงๆจังๆ

จะเขียนเมื่อไหร่
ทำท่าจะเริ่มตั้งแต่มัธยมแล้ว เขียนให้น้องอ่าน อยากเขียนนิยายอิงวิทยาศาสตร์ สร้างทฤษฎีและกำหนดตัวแปรเอง เช่นเวลาประมาณเดียวกัน สภาพอากาศแบบเดียว ความชื้นในอากาศเท่ากัน อุณหภูมิเดียวกัน สสารใกล้เคียงกัน ตำแหน่งพิกัดเท่ากัน เมื่อตัวแปรครบ อาจจะอธิบายการหายตัวหรือเรื่องฝาแฝดได้ เป็นนิยายที่เขียนเพื่อความบันเทิง เอาประวัติศาสตร์หรือธรรมชาติมาอธิบายใหม่ด้วยความรู้ที่เรียนมา สักวันเขียนแน่ถ้าฝีมือพัฒนาไปถึง อาจเป็นเพราะวัยเด็กเป็นคนช่างสงสัยและไม่จำนนกับคำตอบทางวิชาการที่สั้นและไม่มัน จึงอยากเขียนต่อเอง จุดประสงค์เพื่อความบันเทิง ไม่ต้องการล้มล้างทฤษฎีของใคร

เชื่อเรื่องพรสวรรค์มั้ย
อาจเป็นไปได้ แต่คิดว่ามีตัวแปรอื่นมากกว่า เวลา โอกาส แรงสนับสนุนของสังคม หรือความรู้สึกสบายใจในการทำสิ่งนั้น พรสวรรค์เป็นเรื่องที่คนอื่นมองเข้ามามากกว่า

แรงบันดาลใจในการเขียนคืออะไร
ประทับใจในสิ่งเล็กๆน้อยๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในโอกาสที่ได้ทำสิ่งใหม่ ในสถานที่ใหม่ๆ ไม่อยากให้สิ่งนี้ผ่านเลยไป จึงจดบันทึกไว้

ไม่ได้มีแรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือหรือ
มีแต่อาจจะเป็นทางลบ คือ รู้สึกรำคาญหนังสือบางเล่มที่ดูถูกคนอ่าน เขียนออกมาหยาบๆ ไม่สร้างสรรค์ เอาใจตลาด หรือทำออกมาให้ภาพดูดี เช่น สารคดีท่องเที่ยว ไปจิบกาแฟหรือเบียร์ที่ร้านหรูที่สุด ไปดูหอไอเฟล อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ ของผมจะฉีกไปอีกทาง คือ ไปในสถานที่ซึ่งคนไม่ค่อยรู้จัก สวนในเมือง หรือบ้านเก่าๆ ต้องการให้เห็นภาพพจน์ของเด็กนอกอีกแบบ คือความเป็นคนธรรมดาที่ขึ้นรถลงเรือทั่วไป รู้จักแยกแยะ ประหยัด รู้จักบริหารเวลา มีการทำผิดพลาด เป็นชีวิตจริงๆแถวนี้แต่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่โน่น จัดตัวเองอยู่ในนักเขียนบันทึกหรือสารคดีท่องเที่ยว เริ่มจากเขียนบันทึก แต่เดี๋ยวนี้ชักจะรวมๆกันแล้ว รู้สึกว่าเริ่มมีคำแนะนำ ชี้นำพอที่จะเป็นวิทยาทานกับชาวบ้านได้บ้าง ต่อไปคงแยกแยะเป็นประเภทได้ เป็นนิยาย หรือไกด์บุ๊ค เป็นเรื่องๆไป

เรียนจบมาทางไหน
นิเวศน์วิทยาประยุกต์ เป็นวิทยาศาสตร์ครึ่งหนึ่ง บริหารจัดการครึ่งหนึ่ง วิชาที่เรียนก็หลากหลาย ตั้งแต่ชีววิทยา สังคม ภูมิศาสตร์ ปรัชญา คอมพิวเตอร์ การตลาด ประวัติศาสตร์ มนุษยภูมิศาตร์ พฤติกรรมผู้บริโภค กิจกรรมการยังชีพฤดูหนาว การท่องเที่ยว กำลังจะไปเรียนด้าน "มรดกโลก" ที่เยอรมันเป็นวิทยาศาสตร์และบริหารจัดการอย่างละครึ่งเหมือนกัน เป็นการเอาเทคโนโลยีปัจจุบันมาอนุรักษ์สิ่งเก่าๆ เช่น ภาพถ่ายดาวเทียมดูคูเมืองโบราณ

เรียนหลากหลายอย่างนี้อนาคตอยากจะทำอะไร
อยากทำหลายอย่าง เช่น ทำงานกับองค์กรสหประชาชาติ ซึ่งยังดูห่างไกลแต่ก็เขียนจดหมายติดต่อไปแล้ว หรือเป็นช่างภาพและนักเขียนของเนชั่นเนลจีโอกราฟฟิก หรือทำงานเขียนของตัวเอง เป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย ติดต่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรจน์ไปแล้ว นักดนตรีก็อยากเป็น ไม่ใช่ว่าเก่งหรือฝันหวาน แต่สนใจหลายอย่าง ถ้ามีโอกาสด้านไหนก็จะทำด้านนั้น

หนักใจกับความสนใจที่หลากหลายมั้ย
จริงๆแล้วค่อนข้างหนักใจ ดีเหมือนกันถ้าจะบอกใครว่าผมเก่งเขียนหนังสือ ทำอาหารไม่เป็นเลย หรือเขียนหนังสือไม่เป็น แต่ทำอาหารสุดเจ๋ง แต่มองอีกแง่มีคนที่เก่งด้านเดียวหลายคนแล้ว ไม่ใช่ว่าผมเก่งหลายด้าน แต่ชอบหลายด้าน คนอื่นก็อิจฉาเหมือนกัน

เมืองไทยเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้างหลังจากไม่ได้อยู่มานาน
เรื่องการลอกเลียนแบบแต่เปลือกนอก อยากเอาอย่างเขา โดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลที่มา เช่น เรื่องการแต่งตัวเท่ๆทันสมัย เรื่องร้าน Internet ก็กลายเป็นร้านเกมล้วนๆ ด้านดีก็มี คือ เกิดการยอมรับศักยภาพส่วนบุคคลมากขึ้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษา ต่างจังหวัดได้ทุนสม่ำเสมอกันดี มีการดูแลถึงระดับตำบล เด็กไทยกล้าคิดกล้าแสดงความคิดเห็น เรียนรู้และปรับตัวได้ดีขึ้น

มีงานเขียนเป็นภาษาอังกฤษบ้างไหม
เขียนไว้เยอะมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นเพลง หรือกลอนผสมเพลง มีร้อยกว่าชิ้น เนื้อหาหลากหลาย คล้ายบันทึกเหมือนกัน

ชอบทางนี้ทำไมไม่เรียนมาทางนี้เสียเลย
อยากเรียนในสิ่งที่ชอบแต่ยังไม่รู้มาก ส่วนที่รู้มากแล้วทำได้เลยก็ทำไปก่อน ยังไม่ถึงทางตัน ถ้าถึงเมื่อไหร่ก็คงต้องเรียนเพิ่ม เช่น กีต้าร์ไม่เรียนแล้ว เพราะเล่นมานานพอสมควรแล้ว ตอนนี้เรียนกลอง งานเขียนก็เหมือนกัน ถ้าวันหนึ่งจินตนาการมันไปไกลเกินสมองหรือมือจะปรับทันแล้วก็คงต้องไปเรียนทฤษฎี

มีความรักเป็นแรงบันดาลใจในงานเขียนมากน้อยแค่ไหน
มากเหมือนกัน แต่มีอารมณ์อื่นๆด้วย เช่นความทุกข์ อารมณ์จนตรอก โกรธ อิจฉา กลางๆ ชีวิตมีรสชาติดี ประทับใจอะไรบางอย่างก็เขียนไป รู้สึกว่าเพลงปัจจุบันอธิบายความรู้สึกของคนได้เพียงบางกลุ่ม ไม่ได้เผื่อแผ่มาถึงเรา เราทำของเราเองได้ แล้วอธิบายตัวของเราเองได้ดี ผลพลอยได้คือมีคนอื่นชอบด้วย รู้สึกดีที่ได้ทำของตัวเอง ไม่ใช่ต้องให้คนอื่นมาบอกว่า ความรักจากไปชีวิตเราบัดซบ แต่เราก็มีมุมมองของเรา ความรักจากไปแต่ชั้นก็ชอบท่องเที่ยว ไม่เป็นไร พักนิดนึง ก็มีความสุขดี ผมรู้สึกว่าอันตรายอย่างยิ่งยวดคือการถูกจำกัดทางความคิด แล้วเด็กในสังคมจะรู้สึกว่ามันมีอยู่แค่นี้เอง รัก โลภ โกรธ หลง ความสุขของผมคือได้อยู่ในโลกที่ความรักเป็นส่วนหนึ่ง มีความสำคัญ แต่ไม่ใหญ่มาก ชอบชีวิตที่มีซ้าย ขวา หน้า หลัง บน ล่าง ไม่ชอบเดินตรงอย่างเดียว แต่สังคมจะเป็นอย่างนี้ ตีกรอบเข้าไป รู้ตัวอยู่เหมือนกัน ตอนนี้รู้สึกว่าพอหนีได้ ยังเห็นร่องรอยหลักฐานของการหนี เป็นหนังสือ หรืออื่นๆ

สัมผัสกับวงการหนังสือมาระยะหนึ่งแล้วคิดว่าจะฝากชีวิตหรือความหวังกับมันได้มั้ย
ถ้าต้องการคำตอบที่เป็นจริงคงต้องตอบคำถามนี้อีก 3 ปีข้างหน้า หลังจากผมเรียนจบปริญญาโทแล้วเริ่มทำงาน การยังชีพในสังคมจะโดนกลืนเหมือนคนอื่นที่เราเคยว่าเขาไว้มั้ย คำตอบอาจจะเป็นอีกแบบ ถ้าถามตอนนี้คิดว่าไม่น่าจะลำบาก เพราะผมเล็งรายได้หลักจากทางอื่น ไม่คิดจะเขียนเพื่อหากิน แต่สักวันหนึ่งคงต้องคิด และทำ

หลังจากเรียนจบแล้วจะกลับมาเมืองไทยมั้ย
อยากอยู่เมืองไทยครับ อยากทำงานที่ไหนก็ได้ที่ได้พัฒนาความคิดและศักยภาพ แต่ถ้ามองเรื่องการยังชีพอยู่รอด อาจจะดีกว่าถ้าทำงานเมืองนอกแล้วเอาเงินมาใช้ประโยชน์ที่เมืองไทย อย่างที่บอกอยากทำหลายอย่างมาก คงต้องดูความเป็นไปได้ก่อน ..

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ