เทพศิริ สุขโสภา : สร้างบ้านมาเยอะแล้ว อยากสร้างโบสถ์สักหลัง

เทพศิริ สุขโสภา

"อาจารย์เทพ" หรือ เทพศิริ สุขโสภา ร่ำเรียนมาทางศิลปะ แต่ก็รักการอ่านหนังสือเป็นเป็นชีวิตจิตใจ หลังจากเรียนจบศิลปากรศิษย์ สุวรรณี สุคนธา ท่านนี้ก็หาเลี้ยงตัวดัวยการเขียนหนังสือ ทั้งสารคดี บทความ เรื่องสั้น จากนั้นไปเป็นนักเล่านิทาน อาจารย์สอนหนังสือ นักเขียนภาพประกอบ จิตรกร และทำงานศิลปะการแสดง "ผมชอบการเขียนหนังสือและวาดรูปมากที่สุด" คือคำพูดหนักแน่นที่เอ่ยออกมาจากปากท่าน ภาระกิจในหลายๆบทบาททำให้ภาพของท่าน"เบลอ"ไปบ้าง แต่บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้คงจะทำให้เห็น เทพศิริ สุขโสภา ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ตอนนี้อาจารย์กำลังทำอะไรครับ
กำลังเขียนนวนิยาย เพื่อพิมพ์ให้ทันปลายปีหน้า บูชา 100 ปีท่านพุทธทาส เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ และการล่องพระพุทธรูป 1,248 องค์ สมัย ร.1 รวมทั้งศรีศากยมุนีจากวัดมหาธาตุเมืองเก่า จ.สุโขทัยผมเก็บข้อมูลมายี่สิบกว่าปี นี่ยังไม่ได้เริ่มบทแรก เรื่องนี้ผมไม่อยากเล่ามาก เพราะคนที่รู้จักผมรู้เรื่องนี้กันหมดแล้ว ผมยังไม่เขียนออกมาเลย มีแต่คนแซว "การเล่า"จะถ่ายเทอารมณ์ออกไปจนหมด ต้องอั้นเอาไว้แล้วให้มันหลั่งไหลออกมาเป็นตัวหนังสือ

ทำไมถึงคิดจะทำหนังสือเพื่อท่านพุทธทาสครับ
ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นพระที่เทศน์ได้อย่างลุ่มลึก ละเอียดลออเท่าท่าน มีหนังสือยืนยันเรื่องนี้ ท่านค้นคว้าแล้วมาถ่ายทอด สามารถพูดถึงธรรมะยากๆให้ง่าย เช่น นิพพานคือความเย็นในจิตใจ พูดเรื่องในตัวเรา หยิบหนังสือของท่านมาอ่านแล้วได้แง่มุมให้คิด ได้ปลง ละทิ้งบางอย่าง และมีไฟที่จะสร้างงาน ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นใครทิ้งงานไว้ให้เดิมตามมากเท่านี้

เล่าถึงหนังสือชื่อ คนวาดภาพประกอบ ที่กำลังรวมเล่มกับสำนักพิมพ์มติชนหน่อยสิครับ
เป็นประสบการณ์ตรงจากการเป็นคนวาดภาพประกอบ ผมเป็นคนที่เขียนรูปเร็ว ใครเขียนหนังสือเสร็จก็มาขอให้เขียนภาพให้ ผมก็เขียนให้เดี๋ยวนั้นเลย เพราะถ้าทิ้งไว้แล้วจะไม่ได้ทำ เขียนกันหลายรูปจนแล้วใจ แล้วก็ให้เขาเลือกเอาไปเป็นภาพประกอบ ความจริงไม่ได้อยากเป็นคนวาดภาพประกอบหรอก แต่เหตุการณ์โน้มนำให้ไปทางนั้น ใครให้เขียนก็เขียนไปเรื่อย อยากเป็นคนเขียน"รูปจริง"และเขียนหนังสือมากกว่า คนวาดภาพประกอบ ที่จบไปนั้นเป็นภาคแรกพูดถึงคนวาดภาพประกอบผู้ต่ำต้อยคอยทำงานรับใช้คนเขียนหนังสือ แต่ภาคหลังนี่มีเนื้อหาเท่าๆกันพูดถึงคนวาดภาพประกอบคนนั้นกลายเป็นนักเขียนขึ้นมา จะเล่าว่าเขาได้ไปพบใครบ้าง และแต่ละคนให้แรงบันดาลใจอะไร

เคยเขียนภาพประกอบให้ใครบ้าง
หลายคน ล่าสุดนี่ก็ นิวัติ กองเพียร กำลังจะรวมเล่มผลงานที่เคยตีพิมพ์ตามนิตยสาร เป็นภาพนู้ด มีนางแบบจริงมาเปลือยให้วาดหลายวันแล้ว ค่าต้นฉบับจะให้นางแบบเอาไปเป็นทุนเดินทางไปอเมริกาด้วย คุยแบบเล่นลิ้นได้ว่าผมเคยวาดภาพประกอบให้ ลีโอ ตอลสตอย และฟีโอโดร์ ดอสโตเยสกี ด้วย หนังสือ สงครามและสันติภาพ (war and peach) ที่กำลังจะพิมพ์กับประพันธ์สาส์นผมใช้เวลา 4 ปี เพราะไม่มีแม่แบบ ผมไม่รู้ว่าทหารฝรั่งเศษกับทหารรัสเซียแต่งตัวต่างกันยังไง กว่าจะหาหนัง หรือหนังสือที่มีภาพตัวอย่างได้ เพื่อที่จะมาหลอมเป็นรูป ให้คนอ่านได้กลิ่นรัสเซียและสงคราม ดูในหนังก็เห็นไม่ชัด

อาจารย์มีหนังสือรวมเล่มมาแล้วกี่มากน้อยครับ
มีไม่กี่เล่ม เช่น บทความเรื่องความเข้าใจศิลปะ นิทานภาพประกอบที่ทำให้กับมูลนิธิเด็กก็เยอะ มีวรรณกรรมเยาวชน บึงหญ้าป่าใหญ่ นิยาย คนหกคน มีสารคดีคนเดินทางยังไม่ได้รวม ส่วนเรื่องสั้นมีเยอะแต่ไม่ได้พิมพ์รวมเล่มเพราะมาอ่านแล้วรู้สึกว่าเชยๆ

หนังสือ "บึงหญ้าป่าใหญ่" ของอาจารย์ไม่ได้เห็นในตลาดมาหลายปีแล้ว ทั้งๆที่มีคนถามถึงเยอะ เป็นเพราะอะไรครับ
ไม่ได้พิมพ์มาสิบปีแล้ว เพราะหงุดหงิดกับฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งสุดท้ายที่ คนเรียงพิมพ์ทำเนื้อหาออกมาผิดพลาด จึงไม่ได้พิมพ์อีกเลย มีคนมาขอไปพิมพ์ใหม่หลายคน ทั้งเพื่อน พี่ น้อง ไม่รู้จะให้ใคร ให้คนหนึ่งก็เกรงว่าอีกคนจะต่อว่า เลยตั้งใจว่าจะพิมพ์เอง อีกอย่างว่าจะรอเขียนภาพประกอบใหม่ให้เนี๊ยบด้วย คิดว่าคงเสร็จปลายปีหน้า หลังจากพิมพ์หนังสือบูชา 100 ปีท่านพุทธทาสออกมาก่อน ที่ต้องพิมพ์หลังหนังสือเล่มนี้เพราะกลัวคนจะบอกว่าเอาของเก่ามาขายอีกแล้ว

อีกบทบาทหนึ่งของอาจารย์คือนักเล่านิทาน แต่งเรื่องขึ้นเองด้วยหรือเปล่าครับ
เล่านิทานมาร่วมสิบปี เล่าทุกวัน เพราะผ่านการอ่านมาเยอะ ก็มีเล่าของคนอื่นบ้าง คิดขึ้นใหม่บ้าง อย่างเห็นไม้ท่อนนึงเราก็ว่าของเราไปได้เรื่อย เห็นเป็นเมล็ดงอกขึ้นมา เป็นต้น มีนกมาทำรัง มีผึ้งตามกิ่ง มีโพรงให้กระรอก ฝนตกฟ้าร้องมันยืนหยัดต้นยังไง เราก็เล่าไปเรื่อย นั่งดูก้อนเมฆ ก็ว่าเมฆพ่อกับเมฆแม่พาเมฆลูกไปตกไหน พูดไปได้ตลอด ไม่คิดจะรวมเล่มนิทานพวกนี้เพราะต้องไปรื้อมามาเขียนใหม่ อยากเขียนนิทานผู้ใหญ่มากกว่า นิทานผู้ใหญ่ก็คือนิยาย ปรุงให้เด็กคือขนมหวาน ให้ผู้ใหญ่ต้องรสเข้มถึงเครื่อง เปรียบกับงานก่อสร้างเราสร้างบ้านมาเยอะแล้ว อยากสร้างโบสถ์สักหลัง

การให้ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
หนึ่งคุณต้องคิดว่าคุณเป็นนักเขียน และสองคนอื่นคิดว่าคุณเป็น นี่ฟังมาจากที่เขาว่ากันมา แต่มันก็มีข้อยกเว้น อย่างแวนโก๊ะสมัยมีชีวิตอยู่ไม่มีใครยอมรับรูปภาพที่เขาเขียน แต่ภายหลังเสียชีวิตรูปพวกนั้นมีมูลค่ามหาศาล

การที่เรียนมาทางศิลปะมีความได้เปรียบในการเขียนหนังสือหรือไม่
มีสิ สมัยผมเรียนศิลปากรมีวิชาวรรณกรรมเปรียบเทียบด้วย ประวัติศาสตร์ศิลป์ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องวาดรูปปั้นรูป เพราะฉะนั้นวรรณกรรมอมตะของโลกผมรู้จักมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว สมัยนี้คงไม่ได้เรียนกันแล้ว คนเขียนรูปก็ไม่อ่านหนังสือ พวกที่ซื้อหนังสือศิลปะไม่ใช่เอาไปอ่านนะ เอาไว้แค่ดูรูป มันก็มีข้อยกเว้นบ้าง จะให้คนไปชอบสองทางสามทางคงไม่ใช่ เขาชอบทางเดียว มีเรื่องนึงที่คนไม่ค่อยรู้กัน เฮอร์มานน์ เฮสเสสมัยยากจนก็วาดรูปขาย วิคตอร์ ฮูโก้ก็วาดรูป รพินทรนาถ ฐากุร ก็วาด ภาษาไทยได้ชื่อว่ามีพัฒนาการมายาวนานและมีความรุ่มรวยทางภาษามากที่สุดภาษาหนึ่ง ภาษาอังกฤษยังน่าจะรุ่มรวยน้อยกว่า แต่ทำไมวรรณกรรมอมตะของโลกยังไม่มีเล่มที่เขียนโดยคนไทยครับ ในทางวรรณศิลป์ "คำ"มากน้อยไม่สำคัญ เหมือนคนที่เขียนรูปเป็นสีไม่กี่หลอดก็วาดรูปออกมาดีได้ อยู่ที่ว่าเขียนเป็นหรือเปล่า ศิลปินไทยมีวิธีการสร้างสรรค์งานออกมาอย่างง่ายๆ แล้วเราก็อยู่ในสังคมที่ไม่อ่านหนังสือ นักเขียนไทยไม่ชอบบรรยายภายในจิตใจลึกๆ อาจเพราะยังไม่เข้าใจชีวิต ส่วนใหญ่ที่เขียนยังไม่สำเร็จเพราะยังไม่เข้าใจชีวิต ความจริงภาษาไทยมีการขับเคลื่อนมาตลอด มีหนังสือพิมพ์ออกมาเยอะ มีนักเขียนใหม่ๆมาก วงการคึกคัก แต่ส่วนใหญ่เป็นหนังสือเกี่ยวกับความรู้ ไม่ใช่วรรณกรรมที่เป็นเรื่องของความรู้สึก เดี๋ยวนักเขียนใหม่ๆใช้ภาษาคนละชุดกับรุ่นที่ผมใช้แล้ว การจะมาเขียนอะไรลึกๆก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนเขาจะอ่าน

อาจารย์เห็นด้วยกับการเอาวรรณกรรมมาทำเป็นนิยายภาพหรือไม่ครับ
ก็เป็นการทดลองทำ เรื่องรามเกียรติ์เป็นหนัง เป็นการ์ตูนมาหมดแล้ว เพื่อให้อ่านง่าย เป็นการย่อยเรื่องยากๆให้ง่ายเข้า เป็นพื้นฐานในการอ่าน หรือการเข้าใจชีวิต ไม่รู้สึกผิดอะไรถ้าทำเป็น มีคุณภาพ บางครั้งนิยายดีทำเป็นหนังอาจจะไม่สนุกเท่าหนังสือ แต่นิยายเลวทำเป็นหนังอาจจะดีกว่า

คุยเรื่องการเขียนหนังสือของอาจารย์
การเขียนเป็นเรื่องสนุก! สุข ปลื้ม ต้องอ่านต้องฟังมาก มีแรงบันดาลใจ มีข้อมูล สนุกในการนึกหาคำ หาประโยคให้ได้ดังใจ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ท้าทาย สนุกอยู่คนเดียว วิธีการทำงานของฝรั่งจะแบ่งกันไปหาข้อมูล คนนั้นหาเรื่องประวัติศาสตร์ คนนึงเรื่องเศรษฐกิจ นักเขียนมีหน้าที่ปรุงเรื่องเท่านั้น นักเขียนไทยทำเองทุกอย่าง ทำให้ในช่วงชีวิตหนึ่งทำงานได้น้อย

อาจารย์เห็นด้วยกับรางวัลทางวรรณกรรมหรือไม่ครับ
รางวัลกระตุ้นให้คนตื่นตัว แข่งขัน สำคัญอย่าไปติดรางวัล ต้องเห็นมายาของรางวัล บางคนเขียนครั้งเดียวได้รางวัลแล้วก็ไม่เขียนอีกเลย รางวัลทำให้นักเขียนก็มีเงินใช้ เป็นปัจจัยในการครองชีพ คนอ่านก็ให้ความสนใจ เชื่อถือ ความจริงงานดีไม่ดีขึ้นอยู่กับตัวงาน เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ จะอยู่ในใจคนอ่านได้มั้ยในระยะยาว ..

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ