“วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ” เจ้าของนามปากกา “ผาด พาสิกรณ์” เป็นลูกไม้ติดต้นของนักเขียนนามอุโฆษ “พนมเทียน” ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิที่ยิ่งกว่าใต้ต้น เพราะพิสูจน์ผ่านทุกตัวอักษร ทุกความคิดที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ผ่านผลงานทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และผลงานแปล อาทิ สำเนียงของเวลา, ณ กาลครั้งหนึ่ง, ฝันที่ราชประสงค์,The Kite Runner โดยเฉพาะเสียงตอบรับจากนวนิยายเล่มล่า “เสือ เพลิน กรง”ที่ยิ่งเวลาผันผ่าน หนังสือเล่มนี้ก็ยิ่งฉายแววเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ จากเสียงวิจารณ์แบบปากต่อปากทั้งในกลุ่มย่อยและสื่อต่างๆ ทะลุความหนากว่าเจ็ดร้อยหน้า ซึ่งอาจทำให้ท้อในแวบแรกที่เห็น และกลายเป็นนวนิยายในใจใครหลายคน
ทำให้เขาก้าวพ้นประโยคในวงเล็บ (ลูกชายพนมเทียน) ซึ่งต่อท้ายนาม ผาด พาสิกรณ์ ในความคิดคำนึงของคนทั่วไปในช่วงแรก ที่เขาเองก็ยอมรับว่า “คงเพราะลูกพ่อมาเขียนหนังสือ” “เราปฏิเสธการจับตาไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่พอสปอตไลท์หันมาแล้วเรามีของรึเปล่า เพราะถ้าเราไม่มี แทนที่จะเป็นผลดีกลับจะทำให้เราตายแทน”
.... วัยเยาว์ ....
ลูกนักเขียนคนอื่น อาจอยากเดินตามรอยเท้าพ่อแม่มาตั้งแต่เล็ก แต่ผาดไม่ใช่ และแทบไม่เคยมีความคิดนี้อยู่ในสมองเลยด้วยซ้ำ วันที่ยังเป็น ด.ช. วิษณุฉัตร เขารู้สึกว่ากระดาษที่ไม่มีภาพดูน่ากลัว หนังสือเป็นตั้งๆในบ้านช่างใหญ่โตและไม่น่าเข้าใกล้ เวลาไปดูหนังย้อนยุคแล้วพ่อกลับมาเล่าประวัติศาสตร์สมัยพระนเรศวรให้ฟังก็จะดีใจมาก เพราะไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมหนังสือถึงไม่ถามว่าประเด็นและสาเหตุของสงครามอยู่ที่ตรงไหน แต่กลับบอกว่าเหตุการณ์เกิดตอนขึ้นกี่ค่ำอยู่เรื่อย จะได้อ่านบ้างก็เมื่อถูกกักบริเวณ และพล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิตที่อยู่กับเขาในห้วงเวลานั้น ก็เริ่มทำให้รู้สึกว่า “เฮ้ย เราอ่านหนังสือได้แล้วนะ”แต่นึกไปนึกมา เขาก็ว่ามีบางมุมที่เคยแตะเข้ามาในวงอักษร ถึงจะไม่ตั้งใจก็ตาม
“วันนั้นคุยกับพ่อกับแม่แล้วนึกขึ้นได้ว่าตอนเด็กๆเคยรับจ้างแต่งกลอน แม่ทำหนังสืออะไรสักเล่ม มีรูปมาแล้วให้เขียนบทกวีประกอบ แต่ตอนนั้นไม่ได้ซึ้งอะไรเลย คือได้สามร้อยนี่ก็ไม่น้อย น้ำมันได้เต็มถังเลย” ว่าแล้วก็หัวเราะเสียงดัง จากชีวิตเด็กประจำในโรงเรียนวชิราวุธที่กลับบ้านเดือนละหน เขาก็ถูกส่งไปเรียนต่อที่อเมริกาตั้งแต่วัยรุ่น พร้อมกับความฝันว่าอยากจะเป็นนักดนตรี นักแข่งรถ เมื่อเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ก็ลองทุกอย่างที่สนใจ ก่อนที่จะลงตัวในสายงานโฆษณา ระหว่างนั้นก็มีโอกาสได้อ่านงานเรื่องดัง(สุดๆ)ของพ่ออย่างเพชรพระอุมาบนรถไฟใต้ดิน ที่อ่านไปก็โมโหไปเวลาสัตว์ป่าโดนยิง แต่สิ่งหนึ่งที่เขาแทบไม่รู้ตัวเลยคือการดำดิ่งกับหนังสือเล่มหนาหลายสิบเล่มจบ ท่ามกลางเสียงอึกทึกของการเดินทางกว่าสี่สิบห้านาทีและเมื่อก้าวพ้นรั้วมหาวิทยาลัย นักศึกษาหนุ่มชาวไทยก็เป็นเพียงคนเดียวในรุ่นที่เข้าวงการเอเจนซี่ วงการที่ได้ชื่อว่าแข่งขันกันสุดๆ ก่อนที่ฝีมือและความสามารถ จะส่งให้เขากลายเป็นนักโฆษณาอนาคตไกล
หลังจากย้ายสาขากลับมาทำงานในบ้านเกิดได้สองปี วิษณุฉัตรตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งบริหารในเอเจนซี่ระดับโลก ด้วยวัยเพียง 31 ปี “ทำงานโฆษณาที่อเมริกามาหกเจ็ดปี ที่นั่นเนื้องานสนุก ผ่อนคลายแบบเน้นคุณภาพ แต่พอตัดสินใจกลับบ้าน ที่นี่ทำงานไม่เหมือนกับที่เราคุ้นเคย ความคิดต่างกัน เพราะงั้นวิธีแปลงความคิดมาทำงานก็จะต่างกัน รู้สึกเหมือนมันไม่ใช่แล้ว”
.... วันเขียน...
หลังจากตัดสินใจหันหลังให้โฆษณา เขาก็หันหน้าเข้าหาการเขียน“เดินเข้าไปบอกแม่ว่าอยากออกมาเขียนหนังสือได้ไหม เมื่อท่านว่าได้ ก็ไม่มีปัญหา ส่วนพ่อนี่พูดไม่ได้ ต้องทำให้เห็นเลย” เหมือนมั่นใจมาก ว่าเขียนได้แน่นอน “ไม่มั่นใจเลย เพิ่งมาหัดพิมพ์ภาษาไทยตอนปี2004เอง แต่ก็ไม่เครียด” เขาตอบทันทีพร้อมหัวเราะเสียงดัง “ไม่เคยมีอะไรที่มั่นใจเลยตั้งแต่เล็กจนโต เปลี่ยนใจง่ายมาก เป็นพวกมนุษย์ทดลองทำไปเรื่อยๆ ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเขียนได้หรือเปล่า มีแค่ความรู้สึกว่าอยากทำก็ลองดู แต่ตอนเรียนทำหนัง งานโฆษณา ก็ไม่ใช่แค่ครีเอทอย่างเดียว ต้องสื่อสารด้วย จะว่าไปก็คล้ายเขียนเรื่องสั้นเหมือนกัน ต้องคิดและเขียนเพื่อให้ขายของให้ได้ เพราะงั้นงานเขียนก็อยู่กับเราอยู่แล้ว แล้วมาเริ่มเขียนตอนอายุเยอะนี่ดีอยู่อย่าง เพราะเห็นโลกมามาก เห็นมิติที่หลากหลาย” ผาดอธิบาย ก่อนนิ่งนึกแล้วพูดมาหนึ่งประโยคว่า“เขียนหนังสือนี่งานกรรมกรมาก”
“คือมีเนื้องานวางอยู่ตรงหน้า เป็นเนื้องานที่เหมือนบังคับ แต่สดชื่นเพราะสนุก สนุกที่ได้เล่าเรื่อง ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ อย่างเสือ เพลิน กรง นี่ก็วางโครงคร่าวๆแล้วไหลเลย” แต่เรื่องไหลๆที่ว่า กลับชำแหละวงการสื่อและวงการโฆษณาได้แบบกระแทกใจ “ทำงานตรงนี้มาก่อน เลยรู้ซึ้ง ที่อเมริกา กฎหมายควบคุมสื่อแรงมาก ทำอะไรต้องระวัง แต่เมืองไทยนี่เสือกระดาษทั้งนั้น ดูจากโฆษณาแฝงในซิทคอมก็ได้ หรืออย่างน้ำยาล้างภายในของผู้หญิง กลุ่มเป้าหมายจริงๆคือต้องอายุ24ปีขึ้นไป แต่เรื่องจริงคือไปยืนแจกกันหน้าโรงเรียน เราทำอะไรกันอยู่ แต่ถ้าไม่ทำคู่แข่งก็จะทำ แล้วที่ฉุนมากคือพอฝรั่งมาอยู่บ้านเมืองนี้ ก็ชวนกันละเมิดเละเทะ จะด่าเขาก็ได้ไม่เต็มปาก เพราะกฎหมายบ้านเรามันหลวม”
ประเด็นเข้มข้น แต่เล่าด้วยลีลาจังหวะที่จับวางได้อย่างแม่นยำ ผ่านโครงเรื่องที่สนุกสนานในบรรยากาศของมิตรภาพระหว่างเพื่อนและความรักที่ค่อยๆซึมลึกในหัวใจ รวมถึงบทสนทนาราวกับด้นสดที่ทำให้คนอ่านเคลิ้มๆไปว่าเป็นหนึ่งในนั้นด้วย “วางแทบไม่ลง” จึงเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อเจ็ดร้อยหน้าของเสือ เพลิน กรง (ยืนยันด้วยตัวเอง เพราะใช้เวลาทั้งวันอ่านจนจบรวดเดียว) แม้จะตงิดๆใจกับรูปประโยคแบบแปลกๆในหลายครั้ง
“โดนทักบ่อยเหมือนกัน” เขาพยักหน้ารับ ก่อนอธิบายว่า เข้าใจว่าน่าจะเป็นผลมาจากวิธีคิด “เหมือนเป็นภาษาผ่านตา มีคนเคยถามว่าทำไมไม่บอกว่าคนนี้ยืนปะปนอยู่ในคนกลุ่มนั้น ทำไมต้องพูดว่า กวาดตามองไป ปะปนอยู่ในคนกลุ่มนั้นคือคนนี้ ก็มานึกๆแล้วได้คำตอบว่าเป็นวิธีเรียงภาพเวลาที่เรามองอะไรสักอย่าง คือมองไปปั๊บเราไม่รู้หรอกว่าเพื่อนเราอยู่ในกลุ่มนั้น เราจะเห็นกลุ่มคนก่อนแล้วถึงเห็นเพื่อนปะปนอยู่ ก็เถียงกับคนอื่นประจำเลยนะว่าเราไม่ควรโอนอ่อนไปตามภาษา ด้วยเหตุผลว่าก็ใช้แบบนี้กัน บางทีเราก็ผิดจริงๆ เพราะเราไม่ชำนาญภาษาไทยมาก แต่บางครั้งก็ไม่ใช่ ภาษาทำให้เราคิด แต่มีอย่างเดียวที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นในวรรณกรรมไทย คือการสวมทับของสำนวน ซึ่งเราเจอบ่อย อย่าง Barking up the wrong tree ถ้าคนไทยเอาไปใช้ คือ หมาเห่าใบตองแห้ง ซึ่งมันไม่ใช่ มันเป็นความเสร่อของหมาที่ต่างกัน” ผาดว่าด้วยสีหน้าจริงจัง
.... วันนี้ ...
ถึงวันนี้ที่เป็นทั้งนักเขียนและทำ “สำนักพิมพ์คเณศบุรี” ชีวิตคงเปลี่ยนไปเยอะ “จนกว่าเดิม” เขาพยักหน้ารับ แต่...“สนุกกว่าเก่า” ว่าแล้วก็ยิ้มกว้าง “ถ้าอยากรู้ว่าควรเขียนเรื่องเกี่ยวกับอะไร เม็ดเงินอยู่ตรงไหน ให้เปิดดูละครหลังข่าวช่อง 7 แล้วจะเข้าใจ วรรณกรรมไทยตอนนี้ยิ่งน่าสงสาร คนอ่านไม่มี แผงหนังสือไม่ช่วย แต่ไปๆมาๆ บางทีก็ไม่แน่ใจว่างานไปไม่ถึงคนอ่านหรือคนอ่านไม่ต้องการกันแน่ เพราะถ้ามีคนอ่านจริงๆ วิธีสั่งซื้อตามเว็บไซต์น่าจะช่วยได้บ้าง บางทีงานวรรณกรรมก็มีความน่ากลัวอยู่ในตัวเอง แบบอ่านกันยาก พูดกันน้อยคำ ต้องเป็นปัจเจก โห ขนาดตอนเรียนยังเกลียดหนังสือเรียนเลย แล้วต้องอ่านอะไรที่ยากขนาดหนังสือเรียนนี่ก็เกินไป
เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดของนักเขียนคือคนอ่าน ให้คนอ่านเข้าใจสารของเรา แบบไม่ต้องรู้สึกว่าต้องกินยาแก้ปวดหัวก่อนอ่าน งานเขียนไม่ใช่อาร์ตแกลอรี่ที่มาแสดงงานเชิงไฟน์อาร์ต อยากเขียนอะไรเขียนไปเถอะ เรื่องที่เราเล่าคือสิ่งสำคัญ เคยอ่านสัมภาษณ์คุณไมตรี (ไมตรี ลิมปิชาติ) ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร ฅ คน แล้วรู้สึกว่าเลยว่า ถ้าอยากเขียนก็เขียนเลย ตรงๆ แมนๆ ซื่อ แบบลูกผู้ชาย รุ่นใหญ่ความรู้เยอะ แต่ไม่เคยแสดงท่าทรงภูมิ เหมือนงานคุณอาจินต์ (อาจินต์ ปัญจพรรค์) คุณรงค์ (’รงค์ วงษ์สวรรค์) หรือ คำพิพากษา (ชาติ กอบจิตติ) นี่เป็นวรรณกรรมที่อ่านมัน สนุกมาก สองสามประโยคแรกก็ดึงเข้าไปได้แล้ว” ผาดว่าถึงจะทำโฆษณามาก่อนจนรู้หมดว่าจะทำยังไงให้หนังสือของตัวเองมีพื้นที่ทางการตลาด แต่เขาทำไม่ลง
“รู้ว่าจะเปิดตัวยังไง แถลงข่าวยังไง แต่ถอยออกมาหมด เราไม่กล้า เพราะเรารักหนังสือ รู้สึกว่ามันถูกไป เรากลัวที่จะต้องไปรับตรงนั้น ถ้าเกิดมันดีก็ปล่อยให้มันดีไป มันกระดาก”และเป็นความกระดากบนความเข้าใจที่ว่า “รู้ว่าวรรณกรรมขายยากในบ้านเมืองนี้ แต่ก็ยังหน้าด้านเขียนต่อ” เป็นความเข้าใจบนเสียงหัวเราะดังๆ ส่วนวันนี้นั้น ด้วยความเป็นมนุษย์ที่ทดลองทุกอย่างและเบื่ออะไรได้ง่ายๆ เขาก็ไม่รู้หรอกว่าวันไหนความเบื่อจะเข้ามาในงานเขียน แต่ในวันที่ยังตื่นเต้นกับตัวอักษรเสมอนี้ ก็พยายามจะมีนวนิยายให้ได้ปีละเล่มนวนิยายที่อาจจะเล่มหนา แต่(มั่นใจว่า)มีคนอ่านรอพิสูจน์ฝีมืออยู่เสมอ