หากจะถามว่า ใครคือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยมากที่สุด ณ เวลานี้ คำตอบคงจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจาก บุรุษผู้ดำรงตำแหน่งทั้งหมดนี้ไว้ในคนคนเดียว นายกสมาคมสื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โครงการหนังสือของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทยและโครงการบันทึกสยาม ประธานฝ่ายวิชาการและกรรมการบริหารสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทยและกรรมการมูลนิธิหนังสือพิมพ์ กรรมการสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย และ ประธานกองทุนนักเขียนไทย คุณพลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นั่นเอง
แต่กว่าจะมาเป็นนักวิชาการประวัติศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถเช่นปัจจุบัน คุณพลาดิศัยต้องใช้เวลาในการสั่งสมความรู้มาไม่น้อยเลยทีเดียว
"สาเหตุที่สนใจประวัติศาสตร์ในตอนแรก มาจากสมัยเรียนมัธยม คือ ตอนทุกคนมาเรียนนี่จะมุ่งเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อเตรียมไปเป็นหมอต่อ แต่พอดีในช่วงนั้นเกิดมีประเพณีหนึ่งซึ่งไม่เคยเห็น คือ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่วัดอรุณฯ โรงเรียนไม่ปิดหรอก แต่นักเรียนอยากไปดูก็ประท้วงกัน จนในที่สุด อาจารย์เพทาย อมาตยกุล ยอมอนุญาตให้ไปดู พอผมไปดูแล้วประทับใจมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่เด็กต่างจังหวัดได้มาเห็น ขบวนเรือที่ยิ่งใหญ่มากขนาดนี้ ก็รู้สึกว่าทำไมไม่มีใครศึกษาเรื่องพวกนี้เลย ผมก็เลยกลับมาอ่านหนังสือใหญ่เลยว่าเมืองไทยเรามีอะไร แล้วก็ไปเจอครูซึ่งเป็นคนเปลี่ยนชีวิต คือ อาจารย์เสทื้อน ศุภโสภณ ท่านสอนประวัติศาสตร์ได้สนุกมาก เพราะท่านไม่ได้สอนตามตำราแต่จะสอนวิธีคิด"
"จากนั้นผมมีโอกาสอ่านหนังสือของท่านกรมพระยาดำรงค์ฯ แล้วเลยคลั่งไคล้มาก ผมไปอ่านไปที่แหล่งเลย คือที่หอดำรงค์ราชานุภาพ มีอยู่วันหนึ่งก็มีคนสูงอายุมาถามว่า หนูมาอ่านอะไร เพราะว่าผมเป็นเด็กคนเดียวในนั้น นอกนั้นมีแต่คนแก่นั่งเต็มไปหมด ผมก็บอกไปว่าผมเป็นคนอุทัย มาเรียนที่นี่ แล้วมาอ่านประวัติศาสตร์เพราะสนใจงานของกรมพระยาดำรงค์ ท่านเลยแนะนำผมว่าให้อ่านเล่มไหนบ้าง ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าท่านเป็นใคร ตอนหลังถึงได้มารู้ว่าท่านคือ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ท่านก็ขอวันเดือนปีเกิดผมเอาไปผูกดวง แล้วมาบอกผมว่า จะรับเป็นหลานนะ หลังจากนั้นทุกวันเสาร์อาทิตย์ผมจะไปเรียนประวัติศาสตร์กับท่านเป็นประจำ"
"ผมได้ครูที่สอนประวัติศาสตร์ที่ไม่เบื่อ แล้วได้เจอผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์อีก เพราะท่านเป็นมีพ่อเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ก็เลยมีคนที่จะถามอะไรก็ได้ พอผมอยากรู้อะไร ถามท่าน ท่านก็จะเล่าให้ฟัง ผมก็ติดใจเลย วิทยาศาสตร์อะไร..ไม่เรียนแล้ว"
คุณพลาดิศัยไม่ได้เป็นแค่นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ตัวยงเท่านั้น แต่ยังเป็นนักสะสมหนังสืออีกด้วย
"พอศึกษาแล้ว เราก็หาซื้อหนังสือแทบทุกเล่ม เงินค่าขนมกี่บาทๆ ก็เอาไปซื้อหนังสือตรงข้างสนามหลวงหมดน่ะ เป็นพวกหนังสืองานศพเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมก็กลายเป็นนักอ่านมาตั้งแต่เรียน ม.7 ม.8 หนังสือก็เยอะขึ้นๆ เรื่อยๆ"
"ผมจะสนใจประวัติศาสตร์ไทยมากที่สุด ขณะนั้นจะมีคนพิมพ์หนังสือ เรียกว่าหนังสือภาคหอ มี 3 ตรา มีหอวชิรญาณ ราชบัณฑิต และหอสมุด คนรุ่นก่อนนี่จะนิยมอ่านตรามังกรคาบแก้วซึ่งเป็นของราชบัณฑิต กับของหอวชิรญาณ ผมจะเก็บหมด พวกหนังสืองานศพนี่เป็นหนังสือเก่าชุดแรกเลย และมันก็เป็นงานต้นฉบับที่ออกมาจากหอสมุดแห่งชาตินะ ผมก็กลายเป็นนักเก็บหนังสือพวกนี้ เพราะหลงใหลกรมพระยาดำรงค์ ยิ่งลูกสาวมารับเป็นหลาน ผมก็ยิ่งศึกษาจริงจัง"
วิชาประวัติศาสตร์ที่ดูเหมือนเรื่องน่าเบื่อสำหรับใครๆ แต่สำหรับคุณพลาดิศัย กลับเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์มากเหลือเกิน
"เสน่ห์ของการศึกษาประวัติศาสตร์ อยู่ที่การคิด การวิเคราะห์ว่ามันเกิดได้ยังไง ประวัติศาสตร์เป็นวัฏจักรของมนุษย์ สมัยก่อนคุณรบกัน ถึงปัจจุบัน ก็ยังรบกันอยู่ ในสมัยสุโขทัย อยุธยารบแบบหนึ่ง มาจนปัจจุบันนี้ซัดดัมกับอเมริกามันก็รบกันอีกแบบหนึ่ง แต่สุดท้าย สรุปแล้วการรบกันมันก็คือการเอาชัยชนะ มันเป็นยุทธวิธีเดียวกัน แต่มันใช้รูปแบบต่างกัน ถ้าเราเปรียบเทียบกัน มันก็สอนให้หมุนเวียนกลับไปในเหตุการณ์ ให้คิดว่า เออ ถ้ามันแย่งดินแดนกันมันก็ต้องรบกันอย่างนี้ ถ้ามันขัดเรื่องศาสนามันก็ต้องรบ ถ้าค้าอาวุธก็ต้องรบ เรื่องราวประวัติศาสตร์มันก็หมุนเวียนเป็นวัฏจักร เราจะเห็นการปฏิวัติ เห็นการชิงบัลลังก์ หมุนเวียนตลอด เพียงแต่ว่าจะหยิบประเด็นอะไรมา ต้องตีประเด็นให้ออก"
"ผมเจออาจารย์เสทื้อน ท่านตีประเด็นออก ท่านก็จะเล่าว่าอะไรเป็นยังไง สนุกมากเลย นึกถึงอะไรปั๊บก็เล่าเรื่องนั้นได้ พูดถึงทองหยิบฝอยทองก็เล่าไปถึงช่วงสมัยพระนารายณ์ พูดถึงเรื่องผ้าไหมผ้าแพรก็เล่าถึงผ้าที่เอามาใช้ในสมัยต่างๆ นี่คือการพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งสมัยนั้นครูแบบนี้หายาก ฟังไม่เบื่อเลยนะ ผมเลยติด ลักษณะวิธีการเวลาเล่าผมก็ติดมา"
แต่แม้ว่าจะรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ และมีความสนใจมากเพียงไร งานด้านประวัติศาสตร์ก็ยังคงเป็นเรื่องยาก เพราะมีเรื่องราวที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากมาย
"การเรียบเรียงประวัติศาสตร์ยากมากนะ ถ้าคุณอ่านประวัติศาสตร์โดยไม่รู้ว่า เรื่องเหล่านี้อยู่ตรงไหนมันจะตัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องพระเจ้าอู่ทอง เราถูกสอนให้จำมาตลอดว่า พระเจ้าอู่ทองไปแต่งงานกับลูกสาวเจ้าเมืองสุพรรณแล้วก็ไปครองเมืองอู่ทอง จบ เราก็รู้แค่นี้แล้วเราก็ตันตรงนี้มาตลอด ถ้าไม่รู้ว่าเรื่องพระเจ้าอู่ทองนี่มีเล่ามาตั้งแต่พงศาวดารเหนือแล้ว มันเล่าในพงศาวดารฉบับสังเขปแล้วและเรื่องราวมันต่างกันมากมาย เราก็ไม่รู้ ไม่มีประเด็นที่จะให้ค้นต่อ เพราะฉะนั้นมันต้องมีประเด็นที่จะให้ค้น แล้วพอค้นแล้วรู้ว่ามันไม่ใช่อย่างที่เล่ากันมา ก็ยิ่งสนุก เราค้นอะไรของเราด้วยตัวเอง แล้วก็เลยไปพบว่า จริงๆแล้วพระเจ้าอู่ทองนี่เป็นตำแหน่ง กษัตริย์ในสมัยอโยธยา ทุกนี่พระองค์ก็เป็นพระเจ้าอู่ทองหมด สมัยสุโขทัยนี่คือพระร่วง อโยธยาคือพระเจ้าอู่ทอง ถ้าเป็นอยุธยานี่ก็จะเป็นพระรามากับพระบรมราชาธิราช พระบรมราชาธิราชกับพระรามาธิบดีนี่มีแยกอีกนะ ถ้าเป็นเชื้อพระวงศ์โดยตรงจะเป็นพระรามาธิบดี ถ้าเป็นพระบรมราชาธิราช แสดงว่าเป็นคนอื่นมาก่อน อย่างพระเจ้าตากสินนี่เป็นพระบรมราชาธิราชที่4 ขุนหลวงพะงั่วนี่พระบรมราชาธิราชที่1 อะไรอย่างนี้"
คุณพลาดิศัยได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์เอาไว้มากมาย เราได้สังเกตเห็นว่า ผลงานจำนวนมากที่ได้สร้างมาในลำดับต้นๆ นั้น เป็นเรื่องราวของบ้านเกิดของคุณพลาดิศัยเอง คือ จังหวัดอุทัยธานี
"คนที่สอนให้ผมทำอย่างนี้ คือ พระยาอนุมานราชธน เดิมผมจะเอาเรื่องประวัติศาสตร์ทั่วไป ท่านก็บอกว่า ไม่รับรายการ ท่านให้ผมกลับไปที่บ้าน ไปศึกษาประวัติศาสตร์ของตัวเองย่อมจะดีกว่า เพราะเมืองมันเล็ก นี่เป็นวิธีสอนของผู้ใหญ่นะ ถ้าเราคิดจะทำงานใหญ่ ให้ทำสิ่งใกล้ตัวก่อน เหมือนการแต่งเรื่องก็เขียนเรื่องตัวเองก่อน ก็จะทำได้ดี เช่นเดียวกัน ผมก็ไป แต่กว่าจะเขียนได้นี่ลำบากนะ เพราะมันไม่มีอะไรเลย ประวัติเมืองอุทัยมีแค่สี่ห้าบรรทัด แล้วกว่าจะมาเป็นเล่มใหญ่ได้นี่ ผมใช้เวลาสิบปีน่ะ มันต้องหาข้อมูล ผมต้องไปอุทัยธานี ใช้เวลาวันเสาร์อาทิตย์ นั่งรถเครื่องไปเก็บข้อมูลว่าวัดนี้เป็นยังไง ตรงนี้ผู้ใหญ่เล่ามาว่าไง ไปสำรวจสถานที่จริง โบราณสถาน ไปค้นเอกสารเก่าเท่าที่มีอยู่ในอุทัย ไปสัมภาษณ์คนเก่าแก่ที่พอจะรู้เรื่องบ้าง แล้วค่อยมาหาเพิ่มเติมที่เป็นรายงาน เข้ามากรุงเทพ ดูเอกสารที่อยู่หอจดหมายเหตุบ้างอะไรบ้าง พอรวบรวมมาแล้วเราจะต้องอ่านหมด ต้องรู้หมด แล้วถึงมาเขียนได้"
"แล้วยังไม่ได้เขียนหมดเลยนะ แค่เขียนเป็นท่อน ๆ เป็นเรื่องๆ เรื่องแม่น้ำสะแกกรัง เรื่องวัด พอมีข้อมูลเยอะมากๆ แล้วค่อยมากำหนดสารบัญ แบ่งว่าก่อนประวัติศาสตร์จะเขียนยังไง สมัยสุโขทัยจะเขียนยังไง จนกระทั่งตอนหลังสุดถึงออกมาเป็นเล่มใหญ่ได้หนึ่งเล่ม เป็นประวัติศาสตร์อุทัยธานี ก็เป็นงานที่รวมสมบูรณ์ให้กับจังหวัด"
"นี่คือสิ่งที่ได้จากผู้ใหญ่สอนให้ผมทำ รวบรวมข้อมูลแล้วมาเขียนเป็นเรื่องๆ เป็นท่อนๆ ก่อน ตรงไหนที่เขียนเป็นสารคดีได้ก็เขียนไปก่อน แล้วค่อยเอาที่รู้ทั้งหมดในหัวนี่มาประมวลกันอีกที นี่ก็คือวิธีทำงาน และผมก็เชื่อด้วยว่าสมัยปัจจุบันนี่ไม่มีใครจะมาทำแบบผม เพราะคนเดี๋ยวนี้ทำงานเร็วไง ทำกันแบบวันเดียวเสร็จแต่ผมใช้เวลาเยอะมากเป็นสิบปี เพราะการเก็บข้อมูลมันเยอะกว่าเขียน ฉะนั้นเราทำตรงนี้แล้วเราจะทิ้งได้เหรอ ข้อมูลมันอยู่กับเราเยอะมาก บางทีเราอยากจะเปลี่ยนอาชีพอื่นจะตาย แต่ใครจะมาทำได้เท่าผมละ ไม่ใช่บอกว่าเราเก่งนะ แต่ผมรู้วิธีว่าจะได้ข้อมูลมาจากไหน เอามาจากไหน และความรู้มันมีสะสมอยู่มากมาย"
และนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่คุณพลาดิศัยต้องเขียนหนังสือ
"ทำมากๆ มันก็รู้สึกตกผลึกน่ะ มันรู้ เก็บไว้เยอะมาก ก็ต้องระเบิดออกนะ ถ้าไม่ระเบิดออกละตายแน่ (หัวเราะ) ก็เลยเขียน"
"ที่ได้ทำมาทั้งหมด เพราะพระยาอนุมานราชธนท่านสอนนะ ตอนนั้นผมเป็นเด็กเรียนจบก็ไม่อยากกลับไปต่างจังหวัดหรอก ก็ยัง เออ ท่านใช้เรามาทำทำไมนะ ก็มารู้ทีหลังว่านี่ท่านสอน ถึงตอนนี้ไปถามคนในอุทัยสิ ว่าใครรู้ประวัติศาสตร์อุทัยมากสุด ก็ผมนี่ละ ไอ้เด็กรุ่นหลังมันก็ตามเราไม่ทันหรอก เพราะไม่ได้เก็บอย่างผมไง เลยกลายเป็นฮีโร่ในบ้านตัวเอง"
"จริงๆ ถ้าเด็กทุกคนได้เรียนรู้แบบนี้ เขาจะรักถิ่น มันเป็นเรื่องที่ควรจะได้รับการปลูกฝัง เป็นงานที่ควรจะมีคนสานต่อ ผมเองก็มองหาคนมาต่ออยู่แต่ยังหาไม่ได้เลย"
เพราะว่าประวัติศาสตร์เป็นงานยาก?
"สิ่งที่ยากที่สุดในการเขียนประวัติศาสตร์คือ ต้องอ่านใจของคนเขียนให้ออก เหมือนกับการจะเขียนเชียร์ใคร คนนั้นจะเป็นพระเอก แต่ถ้าเราไม่รู้ เราอ่านแล้วไม่คิด ก็จะหลงไป แล้วมันก็ผิด เช่น เรื่องของท้าวศรีสุดาจันทร์ ใครๆก็คิดว่าต้องเป็นผู้ร้าย เพราะเป็นถึงสนมเอกแล้วคบชู้ ชิงบัลลังก์ ตอนหลังแล้วเกิดการปฏิวัติ แล้วแพ้ ต้องเป็นผู้ร้าย นี่เพราะคนเขียนเขาเขียนมาเพื่อให้สถาบันกษัตริย์คงอยู่ เพราะว่าบัลลังก์ที่ถูกชิงต้องกลับมา แต่ถ้าเขียนแบบนักประวัติศาสตร์ มันเป็นข้อเท็จจริง ถูกไหม ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นพระสนมเอก แล้วมีอำนาจขึ้นมา เป็นผู้หญิงตัวคนเดียวจะคุ้มครองบัลลังก์ตัวเองได้ยังไงในเมื่อไม่มีผู้ชายอยู่เคียงข้าง ก็ต้องหาคู่คิด เป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นหญิง อำนาจไม่มี ขุนนางรอบข้างนี่ก็มามะรุมมะตุ้มอยู่ คุณจะหาอะไรมาป้องกันตัวเอง ระแวงกลัวเขาฆ่าน่ะ นี่คือปกติของคน ลองนึกดูว่าถ้าเป็นเรา เราจะทำแบบนั้นไหม ก็ทำ ถ้าอย่างนั้นมันผิดไหม เหตุการณ์มันพาไปอย่างนั้น การยึดอำนาจถ้าทำสำเร็จก็เป็นผู้ชนะ แต่ผู้ชนะจริงๆ อาจจะไม่ดีก็ได้ ฉะนั้นเวลามาเขียนก็ต้องชั่งใจว่ามันเป็นยังไง เรื่องนี้จะสอนอะไรกับคน"
"ถ้าเป็นประวัติศาสตร์มันคือข้อเท็จจริงนะ จะต้องบอกข้อเท็จจริงให้ได้ แต่ข้อเท็จจริงตรงนี้มันถูกปิดไปหมดแล้ว คนเขียนว่าท้าวศรีสุดาจันทร์เสียมาตลอด แต่ถ้าไปดูข้อเท็จจริงจะเจอข้อขัดแย้ง ท้าวศรีสุดาจันทร์นี่ไม่ได้มีอะไรกับขุนวรวงศาช่วงที่พระไชยราชาอยู่นะ พระไชยราชาตายแล้ว ท้าวศรีสุดาจันทร์อยู่คนเดียวนะ ในประวัติศาสตร์เขียนอย่างนี้ ในพงศาวดารก็เขียนอย่างนี้ แต่พอไปอ่านนิยายนี่คนละเรื่องเลย"
"แต่บางทีเขียนความจริงมากแล้วคนไม่รับนี่ คนเขียนก็เสียเหมือนกันนะ โดนว่า เอ๊ะ ไปเอาอะไรที่ไหนมา เอาหลักฐานที่ไหนมา เพราะคนอ่านเขาไม่ได้อ่านหนังสืออย่างเรา เขาอ่านอยู่เล่มเดียวไง ผมอ่านมาแล้วห้าเล่มถึงพูดอย่างนี้ มันมีข้อขัดแย้งในประวัติศาสตร์อยู่ตลอดเวลาในทุกเรื่อง เอาง่ายๆ ถามแค่ว่าพระเจ้าตากสินตายหรือไม่ตาย ก็ยังเถียงกันอยู่ ใครจะสรุปได้ ถ้าเกิดใครไปสรุปฟันธง ก็..รู้ได้ยังไง ฉะนั้นต้องมีหลักฐานเวลาเขียน ต้องบอกว่าเอามาจากแหล่งไหน คนที่บอกว่าพระเจ้าตากตายนี่คือหลวงวิจิตรนะ เอามาจากเล่มนี้นะๆ ต้องบอก นี่คือสิ่งที่ยาก เพราะเราตัดสินไม่ได้ มันเรื่องที่ผ่านมานานแล้วไม่มีอะไรพิสูจน์ได้ หลักฐานมันเป็นเพียงเรื่องเล่า"
"อย่างจดหมายเหตุบางทีกลายเป็นฝรั่งเขียน ก็กลายเป็นความเข้าใจของฝรั่งไปอีก ไม่ใช่เขียนผิดนะ แต่เข้าใจผิด อย่างที่บอกว่าคนไทยชอบกินปลาเน่า มันก็คือปลาร้าน่ะ เขาเขียนเลยนะว่ากินปลาเน่า โอ้โห ออกไปอย่างนั้นนะ กินปลาเน่า ไอ้เราก็ อะไรล่ะ ปลาร้านะ อาหารพื้นบ้านของเราน่ะ ถูกไหม มันจะเป็นอย่างนี้เยอะ ดังนั้นต้องอ่านหลายเล่ม และเดาใจคนเขียน บางทีเขาเขียนเชียร์ไง โอ้โห อภินิหารเลิศเลอ บุญหนักศักดิ์ใหญ่ อย่างนี้เป็นต้น"
เมื่อถามถึงงานเขียนที่ใช้เวลามากที่สุด แน่นอนว่าคำตอบคือ งานของจังหวัดอุทัยธานี
"ผมเริ่มจากศูนย์นะ เพราะในประวัติศาสตร์นี่เขียนมีอยู่แค่สี่บรรทัด ผมต้องไปค้นใหม่หมด ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริง ประวัติเมืองอุทัยเดิมบอกว่า เป็นเมืองเก่าสมัยขอม ผมจก็ต้องหาข้อพิสูจน์ ต้องไปหาว่ามีไหม ไหนล่ะ อะไรที่เป็นขอม ศิลปะขอมมีไหม ภาษาเขียนมีไหม ดูตั้งหลายเรื่อง เอ๊ะ ไม่มีเลย แล้วในเรื่องเดิมเขียนบอกว่าเจ้าเมืองเดิมคือพระตะเบิด เป็นกะเหรี่ยง ก็เอ๊ย พระตะเบิดนี่มันไม่ใช่ชื่อกะเหรี่ยงนี่ มันเป็นชื่อมอญ มันมีสมิงพระตะเบิด มีสมิงอะไร ต้องไปหาอีก กว่าจะรู้ข้อเท็จจริงได้นี่ใช้เวลานานมาก เพราะรายละเอียดมาก"
แต่งานที่ใช้เวลามากที่สุดเพราะแทบไม่มีข้อมูลเลย กลับไม่ใช่งานที่มีปัญหามากที่สุด
"งานที่ไม่มีหลักฐานเลยไม่ค่อยมีปัญหา เพราะว่าหาใหม่ มันไม่มีข้อขัดแย้ง แต่สิ่งที่มีปัญหาคือสิ่งที่มีคนเขียนแล้ว ถ้าเราไม่เขียนตามผู้ใหญ่ เราเสียอีก อย่างพระราชหัตถเลขา บางที พ.ศ. ไม่ตรงกัน ทำให้ลังเลว่าจะเชื่อดีหรือไม่เชื่อดี นี่ละหนักใจ เลยต้องรวมเล่มแล้วบอกว่า บางฉบับเขียนไว้อย่างนี้ บางฉบับเขียนแบบนี้นะ พยายามให้รู้โดยผมไม่ตัดสิน และใช้วิธีว่าถ้าผมยึดอันใดอันหนึ่งในการเขียน ก็ต้องมีภาคผนวก ไม่งั้นมันกลายเป็นฟันธง เราไปตัดสินประวัติศาสตร์ไม่ได้"
"เราจะให้ภาคผนวกแทนแล้วบอกให้คนอ่านไปค้น ผมจะไม่ลบหลู่ครู เพราะถือว่าตอนนั้นหลักฐานเขาได้แค่นั้น ในช่วงนั้น แต่จะหาสิ่งใหม่เข้าไปทดแทนให้ เพราะการค้นทางโบราณคดีมีพบใหม่เสมอ อย่างเมื่อก่อนเรียน สุโขทัย มีกษัตริย์ไม่กี่องค์ แล้วขณะนี้บางคนยังไม่รู้เลยว่าเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองหลวงของสุโขทัยตั้ง 14 ปี"
"ถึงตอนนี้ยังอยากจะทำหนังสือประวัติศาสตร์เล่มใหญ่สักเล่มหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองถูกต้องทั้งหมดนะ แต่มันน่าจะมีใครสักคนทำประวัติศาสตร์ไทยเล่มใหญ่ๆ เอาไว้ มีตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ถึงรัตนโกสินทร์นี่ มันยาก มันก็ต้องใช้เวลาอีก เพราะประวัติศาสตร์มันไม่ได้อยู่กับที่ หลักฐานใหม่ๆ จะมีการค้นพบอยู่ตลอด แม้กระทั่งเราตายไปก็จะเกิด แต่คิดว่าถ้าเราไม่ทำต้นไว้ตรงนี้จะไม่มีใครต่อยอด เหมือนอย่างกรมพระยาดำรงค์ทำไว้แล้ว เราก็ได้อานิสงส์ ต่อมา แล้วจะมีคนใหม่มาต่อจากเรา"
ยิ่งพูดถึงลักษณะงานที่ทำก็ยิ่งพบว่าเป็นงานที่มีความละเอียด แต่นอกจากงานค้นคว้าทางประวัติศาสตร์แล้ว คุณพลาดิศัยยังมีภาระการงานอื่นๆ อีกมาก นั่นหมายถึงการบริหารเวลาของคุณพลาดิศัยจะต้องเปี่ยมประสิทธิภาพมากทีเดียว
"การบริหารเวลาในการอ่านหนังสือ เก็บข้อมูลของผม จะใช้เวลาตอนเข้าห้องน้ำบ้าง เวลาก่อนนอนบ้าง ถ้าว่างผมอ่านหมด อ่านก่อนนอน พอเช้าก็ลุกขึ้นมาเขียนต่อ ถ้าไม่มีเวลา อ่านไม่ทัน ก็จะหาข้อมูลจากการอภิปราย เลือกดูประเด็นที่น่าสนใจ ผมถือว่าผู้อภิปรายนี่เขาต้องไปอ่านมาแล้วมาเล่าให้เราฟังนะ มันเป็นการเก็บข้อมูลอย่างเร็ว แล้วค่อยไปหาต่อ ก็จะช่วยได้ ต้องบริหารการอ่านด้วย ถูกไหม เราต้องอ่านเรื่องที่เราต้องทำงาน เรื่องบันเทิงนี่ผมไม่ได้จับเลย ไม่มีเวลานะ"
"ทีนี้เวลาจะเขียนเรื่องอะไรก็จัดชุดที่ประกอบการเขียนไว้ชุดนึง พอจะเขียนก็ไปหยิบมา ก็คั่นๆๆ ไว้ เขาเรียกการคำนวณหนังสือ ฉะนั้นนักอ่านนี้ต้องคำนวณหนังสือเป็น คือ ข้อความที่ต้องการก็คั่นไว้ เป็นวิธีเรียนรู้ คัดเลือกหนังสือในเนื้อหาเดียวกัน เราก็ใส่หมวดไว้ จัดไว้ก่อน ผมจะมีกระเป๋าย่ามเป็นเรื่องๆ เลย จะเอาเรื่องไหนก็ไปยกมาทั้งกระเป๋า"
พูดถึงงานเขียนชุดต่อไป คุณพลาดิศัยบอกว่า กำลังทำเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยา
"ตอนนี้เขียนเรื่องชุดมหากาพย์อยุธยา นำเรื่องของอยุธยามาเขียนเป็นเชิงนิยายนิดๆ ให้สนุก แล้วก็แบ่งเป็น 4 เล่ม ตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองสร้างเมืองมาจนถึงพระเจ้าตากสิน ผมแบ่งเป็นอยุธยามหาชาติ อยุธยามหายุทธ์ อยุธยามหาศาล อยุธยามหาสมุทร อยุธยามหาชาตินี่ก็คือการสร้างชาติใหญ่ของคนไทย ซึ่งมีกษัตริย์ 400 ปี มหายุทธ์คือการสงครามครั้งยิ่งใหญ่ คือ ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวร มหาศาล คือ การที่พระนารายณ์สามารถติดต่อกับต่างประเทศ รู้แพร่หลายทั่วโลกไปถึงฝรั่งเศส มหาสมุทรก็คือการใช้กรุงธนบุรีเป็นที่สุดท้าย เพราะกรุงธนบุรีมีชื่อว่า กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร"
"ขณะนี้กำลังเขียนเรื่องตำนานพระเจ้าอู่ทอง นี่กว่าจะสรุปได้ว่าพระเจ้าอู่ทองมาจากไหนนี่ก็เข้าไปยี่สิบหน้าแล้วนะ ยังไม่ได้เริ่มรัชกาลพระเจ้าอู่ทองเลย"
นอกจากการทำงานเขียนของตัวเองแล้ว ตอนนี้คุณพลาดิศัยยังทำงานเพื่อนักเขียนสำคัญอีกท่านหนึ่งด้วย ในฐานะที่เป็น หนึ่งในคณะกรรมการก่อตั้ง กองทุน ป.อินทปาลิต
"ตอนนั้นเป็นเลขาฯ สมาคมนักเขียน มีความรู้สึกอยู่ว่านักเขียนเป็นคนที่อาภัพ คือเขียนงานแล้วจะได้รับค่าตอบแทนน้อย บางคนใช้นามปากกา คนไม่รู้จักอีก บางทีเราเดินชนนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่เรายังไม่รู้เลย ว่านี่คือนักเขียน เลยคิดว่าทำไมไม่มีสถาบันหรืออะไรที่จะเก็บชื่อนักเขียนไว้บ้าง"
"ผมเลยรวบรวมลายมือนักเขียน ผมเจอตัวคุณ ป. ผมก็ขอลายเซ็น แต่ไม่ขอธรรมดานะ แต่ให้เขียนคำขวัญหรืออะไรที่จะฝากไว้ในแผ่นดิน ท่านอยากจะฝากอะไรก็เขียนแล้วเซ็นชื่อไว้ ผมก็ขอไปเรื่อยๆ จะมีไว้หมด เก็บเป็นคำขวัญและลายเซ็น เสฐียรโกเศศเขียนยังไง คึกฤทธิ์เขียนยังไง เก็บไว้เยอะมาก จนคิดว่าน่าจะทำพิพิธภัณฑ์หรืออะไรเพื่อนำสิ่งเหล่านี้ให้คนรับรู้ เพราะเราเก็บไว้เองมันก็มีคุณค่าเฉพาะเรา แต่นี่เป็นสมบัติของสังคม เพียงแต่เราเป็นคนทำให้"
"ทีนี้ก็มีกรณีว่าบางคนมีลูกหลานดูแลให้อยู่แล้ว ก็ไม่ว่ากัน แต่มีบางคนที่เราชื่นชม เช่น ป.อินทปาลิต นี่เป็นคนที่ผมผูกพัน เพราะอ่านงานท่านมาเยอะ เสือใบ เสือดำ สามเกลอ ได้หัวเราะกับงานของท่านมานาน ตอนท่านเสียผมก็ไปยังงาน ก็พอดีเจอคุณอาทรกับป้าปราณี ภรรยาของท่านมีความห่วงใยในฐานะภรรยา กลัวว่าชื่อของ ป. จะหายไป คนรุ่นใหม่จะไม่รู้จัก แล้วอย่างคุณอาทรนี่ก็พิมพ์งาน ป. มาก่อน ก็มีความผูกพัน เราเลยคิดว่าน่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้รักษาชื่อ ป.อินทปาลิต ไว้ให้ได้ ก็เลยตั้งขึ้นมาให้เป็นกองทุน"
"แต่เรายังทำกิจกรรมไม่ได้ เพราะกองทุนเราเป็นเหมือนกองทุนที่กำลังพยายามเก็บให้มันมีก่อน ต้องค่อยๆ คิดกันไป ตอนนี้ก็เลยเก็บเงินฝากไว้ ป.อินทปาลิตเป็นนักเขียนสำหรับประชาชนนะ ยิ่งถ้าไปถามคนที่เป็นนักเขียนในปัจจุบันนี้ ผมว่า 80% อ่านงาน ป. ทั้งนั้น ยกเว้นเด็กๆ นะ แต่ถ้าคนที่อายุ 40 ขึ้นไป รู้จัก ป.อินทปาลิตทั้งนั้น ฉะนั้นมันน่าจะปลุกกระแสได้ และเป็นเรื่องการส่งเสริมการอ่านหนังสือด้วย"
"โครงการตอนนี้ยังอยู่ในช่วงรวบรวมทุน ตอนนี้ก็ได้เป็นแสนแล้ว ก็ต้องจัดกิจกรรมเพิ่ม เช่น อาจเอางานมาเพิ่ม หรือสร้างคนที่มีสไตล์เดียวกับ ป.อินทปาลิต เพื่อสืบอุดมการณ์ต่อไป แต่ตอนนี้มีปัญหาอยู่นะ คือ ป.อินทปาลิตขายลิขสิทธิ์งานทุกเล่มไปให้กับสำนักพิมพ์หมด ซึ่งเราจะพยายามขอคืน แต่ยังไม่ได้ ยังมีการเอาไปสร้างประโยชน์อยู่ ส่วนทายาทของ ป. คือป้าปราณีที่เป็นภรรยาตามกฎหมายก็ยกให้แล้ว ให้กองทุนเป็นผู้ดูแลให้"
"สิ่งหนึ่งที่อยากเห็นคือน่าจะจัดให้มีรางวัล ป.อินทปาลิต ขึ้น อย่างน้อยเป็นการปลุกกระแส นักเขียนรุ่นใหม่จะได้รู้จัก เอารางวัลให้คนที่เขียนงานสนุกแบบ ป. สร้างนักเขียนที่เขียนได้แบบ ป. ซึ่งขณะนี้ก็มีนักเขียนรุ่นใหม่ที่เขียนงานตลกเกิดขึ้นมา เขาก็ที่เขียนโดยสไตล์ของเขาเอง แต่ก็ถือว่า พวกนี้เป็นอิทธิพลจาก ป. นะ"
"เราอยากให้มีเรื่องเขียนเป็นตลกไทยๆ เดี๋ยวนี้คนอ่านหนังสือฝรั่งกันเยอะ งานเขียนมันก็ไปเป็นสไตล์นั้นหมด แต่อย่าลืมว่า พล นิกร กิมหงวนน่ะเป็นต้นตำราเรื่องตลกไทยเลยนะ มีแก๊ก มีมุขแบบไทยๆ คำบางคำอยู่ในงานของ ป. เช่นคำ ลุงเชย มันก็มีที่มาจากตัวละครที่ชื่อลุงเชย ที่มาหาเจ้าคุณปัญจนึก ก็กลายเป็นคำเปรียบถึงคนที่เชยๆ"
"อยากจะให้มีนักเขียนแบบ ป.อินทปาลิต ที่มาสืบทอดอุดมการณ์"
ความพยายามทั้งหมดของคุณพลาดิศัย ในการดำรงไว้ซึ่งคุณค่าของงานด้านประวัติศาสตร์ รวมทั้งงานของกองทุน ป.อินทปาลิต ที่หวังจะให้มีผู้สืบทอดรักษาต่อไป จะประสบผลได้เพียงไรนั้น ก็คงต้องฝากไว้กับคนรุ่นใหม่แล้วว่าจะมีคนที่เห็นความสำคัญของ "มรดกทางวัฒนธรรม" เหล่านี้ มากน้อยเพียงใด
และเราเองหวังว่า อย่างน้อยก็น่าจะมี..