คุยนอกรอบ รอบนี้ เราจะพาไปพูดคุยกับนักเขียน ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีนั่นคือ "คุณดวงตา ศรีวุฒิวงศ์" ในการประกวดรางวัลชมนาด ครั้งที่ 11 นวนิยายเรื่อง "ไกรสร" ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ผู้เขียนนําเสนอและถ่ายทอดเรื่องราวน่าสนใจที่เกิดขึ้นจริงในสังคม(ไทย) ต่อยอดมาเป็นนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน ของทนายความ ชื่อ ประมวล ที่ประสบปัญหาขาดงานเพราะการระบาดของโควิด-19 และเมื่อเขาได้รับว่าจ้างจากเศรษฐินีให้ตามหาสามีที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ทนายประมวลคิดว่าเป็นงานไม่ยาก แต่เมื่อยิ่งสืบเรื่องราวจากการตามหาคนหายธรรมดาอาจกลายเป็นการขุดลึกถึงเบื้องหลังอะไรสักอย่างที่ไม่ชอบมาพากลไปเสียแล้ว
คุยนอกรอบจึงขอพาไปเปิดแรงบันดาลใจของคุณดวงตา เพื่อรู้จักหนังสือเล่มนี้กันให้มากขึ้นค่ะ
แรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายเรื่อง "ไกรสร"
เกิดจากอยากลองเขียนนิยายแนวสืบสวนสอบสวน แต่อยากดึงเรื่องราวทางสังคมให้เข้ามาเป็นส่วนหลักของเนื้อเรื่องด้วย เมื่อร่างโครงเรื่องแล้วจึงเห็นว่าสามารถใส่หลายสิ่งเข้าไปได้ แรงบันดาลใจจริงๆ ไม่มีค่ะ มีแต่อยากเขียนในสิ่งที่อยู่ความคิดออกไป สร้างเรื่องผสมกับการค้นคว้าหาข้อมูล
ทำไมถึงเลือกให้ตัวละครเป็นพระหรือเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระ
จริงๆ เรื่องนี้ตัวละครหลักเป็นทนายความ แต่มีตัวละครที่เป็นพระมาประกอบ เนื่องจากพระก็เป็นคนในสังคมเดียวกับเรา เหมือนคนอาชีพต่างๆ เช่น ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ คนค้าขาย แต่พวกเรามักไม่ค่อยกล้าแตะต้องเรื่องราวของพระสงฆ์เพราะเกรงกลัวต่อบาป ดิฉันจึงอยากสะท้อนภาพที่เกิดขึ้นจริงในรูปนิยาย โดยอาศัยคำพูดของตัวละครต่าง ๆ บอกเล่าในสิ่งที่เกิดขึ้น
คิดว่าจะส่งผลอย่างไรกับค่านิยมความเชื่อของผู้อ่านไหมคะ เพราะคนไทยค่อนข้างเซนซิทีฟกับเรื่องนี้
ดิฉันไม่คิดว่า “ไกรสร” จะส่งผลในแง่ความเชื่อหรือค่านิยมของผู้อ่าน และอย่างที่เราก็เห็นในข่าวโทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์มาตลอดหลายปี ทุกคนรู้และเห็นเรื่องพฤติกรรมทางลบของพระสงฆ์ มีคนบางส่วนพยายามที่จะเปิดเผยเรื่องเหล่านี้ แต่เนื่องจากเราถูกสอนให้ “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” จึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง นิยายเรื่องนี้คงไม่ทำให้ความเชื่อหรือค่านิยมของผู้อ่านสั่นคลอนค่ะ เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่มีอะไรใหม่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตำตาทุกวัน ในสื่อต่างๆ ก็มีให้เห็นตลอดมา
เรื่องราวไม่ได้เกี่ยวกับแค่ การสืบสวนสอบสวนอย่างเดียว แต่มันมีการนำหลักค่านิยมความเชื่อ ศาสนาครอบครัวเข้ามาจับด้วย อยากให้เล่าว่ามีความเกี่ยวพันกันอย่างไรบ้าง
สิ่งต่างๆ เกี่ยวข้องกันหมดในสังคมเราค่ะ ไม่ใช่เฉพาะในนิยายเรื่องนี้ การสืบสวนสอบสวนเป็นเพียงแนวเรื่องที่ทำให้คนติดตามอ่านเพราะอยากรู้ว่าตอนจบจะเป็นอย่างไร ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น เรื่องของพระสงฆ์ที่ประพฤติตนไม่เหมาะเรื่องราวของตัวละครบางตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตามหาไกรสรเลยแต่มีความสนุกและมีแง่คิด เรื่องความสัมพันธ์อันไม่ปกติของตัวละคร จริงๆแล้วมันคือความเป็นไปในสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้นของเราในปัจจุบัน ไม่ว่าจะแตะตรงไหนก็กระเทือนถึงกันหมดค่ะ
การที่เลือกให้องค์ประกอบต่าง ๆ ของเรื่องเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เพราะอยากบอกอะไร หรือตั้งใจให้เป็นอย่างไร
เรื่องนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับศาสนาค่ะ ดิฉันแทบไม่ใช้คำว่าศาสนา หรือพุทธศาสนาในนิยายเรื่องนี้ (น่าจะไม่เกินสิบคำนะคะ ถ้าจำไม่ผิด) เพราะไม่ต้องการดึงเอาศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่เขียนมานั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลของตัวละครในนิยายเท่านั้น ที่เลือกแต่งเรื่องโดยมีตัวละครเป็นพระก็เนื่องจากอยากสะท้อนความเป็นไปของสังคมเราผ่านเรื่องราวผ่านนิยาย และเนื่องจากอย่างที่น้องมายด์เขียนถามในข้อสามว่ามันเป็นประเด็นที่อ่อนไหว จริงค่ะ ดังนั้นการพูดตรงๆ คงไม่ได้ ต้องอาศัยรูปแบบการนำเสนอ
ปกติอ่านหรือเขียนงานแนวไหนบ้างคะ
ช่วงนี้ไม่ได้อ่านหนังสือมากค่ะ ดูหนัง ฟังออดิโอ และดูคลิปจากอินเทอร์เนต ... ชอบเขียนงานแนวแบบที่มีความลึกลับผสมเรื่องเหนือจริงและสะท้อนความเป็นจริงของสังคม มีความเป็นมนุษย์อยู่ในเนื้อเรื่อง
แนวอื่น ๆ ที่เคยเขียนก่อนหน้านี้
มีเรื่องที่ได้รับรางวัลที่ 3 ชมนาดปี 2563 (ผาชัน เสือแค้น และคืนหนึ่ง) เป็นเรื่องที่ตัวละครเล่าเรื่องจากประสบการณ์ของตน สะท้อนความเป็นไปของการเกษตรกรบนที่สูงเมื่อสามสิบปีมาแล้ว อีกเรื่องคือ กาลครั้งหนึ่งที่โคชนะ เข้ารอบแปดคนชมนาดปีที่แล้ว (2564) เป็นเรื่องของหมู่บ้านที่เลี้ยงวัวลานและมีเรื่องลึกลับเกิดขึ้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่เขียนเก็บไว้รอโอกาสที่จะส่งให้สำนักพิมพ์ที่สนใจพิจารณาค่ะ
ความคาดหวังในการประกวดรางวัลชมนาดครั้งนี้
คาดหวังทุกครั้งค่ะว่าจะได้เข้ารอบและผลงานได้รับการตีพิมพ์
มีอะไรที่คาดหวังว่าจะได้กลับไปจากการประกวด หรือข้อเสนอแนะอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการชมนาดในครั้งนี้และครั้งต่อ ๆ ไป
คิดหวังว่าทางประพันธ์สาส์นจะยังคงการประกวดรางวัลชมนาดต่อไป เพราะเป็นเวทีเดียวในปัจจุบันที่นักเขียนหญิงจะมีโอกาสส่งผลงานนิยายเรื่องยาวให้คณะกรรมการพิจารณา