หนังสือคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง: ธีรภัทร เจริญสุข Executive Committee สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
เมื่อเอ่ยถึงวงการหนังสือไทยในปัจจุบัน ภาพของการดิ้นรน การปรับตัว และความหวังซ่อนอยู่ในทุกตัวอักษร ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนวงการนี้ไม่เพียงเป็นสำนักพิมพ์หรือร้านหนังสือ แต่ยังมีอีกกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน นั่นคือ "สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย"
คุณธีรภัทร เจริญสุข หนึ่งใน Executive Committee ของสมาคมฯ ที่ถ่ายทอดบทบาทสำคัญขององค์กรนี้ ทั้งในฐานะผู้ผลักดัน Soft Power ทางวัฒนธรรม การสนับสนุนสำนักพิมพ์ไทยสู่เวทีนานาชาติ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในประเทศ และความท้าทายสำคัญด้านนโยบายและงบประมาณที่ภาครัฐควรมีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนมากยิ่งขึ้น
ในโลกที่ข่าวสารหลั่งไหลไม่หยุด หนังสือยังคงเป็นพื้นที่แห่งการไตร่ตรอง เป็นที่พักใจ และเป็นเครื่องมือทรงพลังในการสร้างพลเมืองที่คิดเป็น ฉะนั้นบทบาทของสมาคมฯจึงไม่ใช่แค่เรื่องหนังสือ แต่คืออนาคตของสังคมไทย
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2502 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือในทุกมิติ ทั้งในด้านการผลิต การจัดจำหน่าย และการส่งเสริมการอ่าน คุณธีรภัทรอธิบายว่า สมาคมฯ เปรียบเสมือน "ศูนย์รวม" ของวงการหนังสือ
“บางคนอาจเข้าใจว่าสมาคมฯ เป็นแค่ผู้จัดงานมหกรรมหนังสือปีละสองครั้ง แต่จริง ๆ แล้ว บทบาทของเรากว้างกว่านั้นมาก เราทำงานทั้งเชิงนโยบาย การเจรจา การสนับสนุนทางวิชาการ และการสร้างเวทีระหว่างประเทศ”
หนึ่งในบทบาทหลักของสมาคมฯ คือการเป็น "สะพาน" เชื่อมโยงระหว่างสำนักพิมพ์ไทยกับเวทีโลก ผ่านการส่งเสริมและพาสำนักพิมพ์ไทยไปเข้าร่วมงานหนังสือนานาชาติในหลากหลายประเทศ เช่น Frankfurt Book Fair หรือ Taipei International Book Exhibition ซึ่งเป็นหนึ่งในเวทีสำคัญที่นักเขียน นักแปล ผู้จัดพิมพ์จากทั่วโลกมาเจอกัน แลกเปลี่ยนไอเดีย ซื้อขายลิขสิทธิ์ และมองหาเรื่องเล่าที่จะไปต่อยอดในวัฒนธรรมของตน
ภาพจาก วรรณกรรมรีวิว รีวิววัฒนธรรม
“การพาสำนักพิมพ์ไทยออกไปต่างประเทศ ไม่ใช่แค่ไปโชว์หนังสือ แต่คือการเปิดตลาด การเจรจาลิขสิทธิ์ และการสร้างภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยในระดับโลก”
ในยุคที่ "Soft Power" กลายเป็นคำยอดฮิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หนังสือมีบทบาทอย่างไรในภาพใหญ่นี้
คุณธีรภัทรตอบโดยไม่ลังเลว่า “หนังสือคือฐานรากของ Soft Power ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ เพลง เกม หรือภาพยนตร์ ล้วนเริ่มต้นจากการเขียน การอ่าน การเล่าเรื่อง”
เขายกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมวรรณกรรมไม่แพ้สื่ออื่น ๆ โดยมีงบประมาณสนับสนุนการแปลวรรณกรรมเกาหลีเป็นภาษาต่างประเทศ และพานักเขียนออกงานระดับนานาชาติเป็นประจำ
“ถ้าเราต้องการให้หนังสือไทยไปสู่สายตาชาวโลก รัฐก็ต้องเข้ามามีบทบาท ไม่ใช่ปล่อยให้สมาคมฯ และเอกชนพยายามกันลำพัง เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องของธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่มันคือเรื่องของวัฒนธรรม การเมือง และอำนาจทางอุดมการณ์”
เมื่อถามถึงความท้าทายที่สมาคมฯ เผชิญอยู่ คุณธีรภัทรกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “สิ่งที่เราขาดที่สุดคือการสนับสนุนจากรัฐในเชิงโครงสร้างและงบประมาณ”
แม้ว่าสมาคมฯ จะสามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง แต่การจะขับเคลื่อนวงการหนังสือไทยให้ไปไกลกว่านี้ ต้องอาศัย "เจตจำนงทางการเมือง" ที่ชัดเจนจากภาครัฐ
“เราต้องมีนโยบายระดับชาติด้านการอ่านและการพิมพ์ที่จริงจัง มีงบประมาณเฉพาะกิจ มีหน่วยงานกลางซึ่งตอนนี้ก็คือสมาคมฯที่เราต้องทำงานเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรมหรือศึกษาธิการ เพราะหนังสือคือเรื่องของทั้งประเทศ”
เขาย้ำว่า การลงทุนกับหนังสือคือการลงทุนระยะยาวที่เห็นผลในอนาคต เช่น การสร้างคนที่คิดเป็น มีวิจารณญาณ และไม่ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลเท็จง่าย ๆ
อีกหนึ่งภารกิจหลักของสมาคมฯ ที่ผู้คนรู้จักกันดีคือ “งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ” ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และอีกหลายงานย่อย ๆ ตลอดปี
คุณธีรภัทรเล่าว่า งานหนังสือเหล่านี้มีความสำคัญไม่ใช่แค่ในเชิงเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม พื้นที่ของความหลากหลาย และพื้นที่ที่ผู้คนได้ “พบกันผ่านหนังสือ”
“หลายคนบอกว่างานหนังสือเหมือนบ้านหลังหนึ่ง เป็นที่ที่เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง เป็นที่ที่เขาได้พบผู้เขียนคนโปรด ได้พูดคุยกับสำนักพิมพ์ ได้เดินเลือกหนังสือเหมือนเดินเลือกความฝัน”
แม้จะมีความท้าทายมากมาย แต่คุณธีรภัทรยังเชื่อมั่นในพลังของหนังสือ และพลังของคนที่ยังศรัทธาในหนังสือ
“ทุกครั้งที่เราเห็นเด็กคนหนึ่งเดินถือหนังสือด้วยรอยยิ้ม หรือเห็นผู้อ่านแวะเวียนมาที่บูธด้วยความตั้งใจ เรารู้เลยว่าสิ่งที่เราทำไม่สูญเปล่า”
เขาฝากความหวังไว้ว่า หากทุกภาคส่วน—รัฐ เอกชน นักเขียน ผู้อ่าน—ร่วมมือกันจริง ๆ วงการหนังสือไทยก็ยังสามารถงอกงามได้ และจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศในอนาคต
นอกจากบทบาทในระดับนโยบายและเวทีระหว่างประเทศแล้ว สมาคมฯ ยังมีแผนระยะสั้นและระยะยาวเพื่อสนับสนุน "ทั้งระบบนิเวศของหนังสือ" ให้ครบวงจร ตั้งแต่นักเขียน บรรณาธิการ คนพิสูจน์อักษร สำนักพิมพ์ ไปจนถึงโรงพิมพ์และการผลิตสินค้าเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ที่เสริมพลังให้กับอุตสาหกรรมนี้ในภาพรวม
ภาพจาก วรรณกรรมรีวิว รีวิววัฒนธรรม
“เราวางแผนโครงการสนับสนุนที่ครอบคลุมทั้งสายพานการผลิตหนังสือไว้แล้ว โดยเฉพาะในงบประมาณปี 2569 ที่เราขอไว้ประมาณ 138 ล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยทั้งในด้านการสนับสนุนนักเขียน สำนักพิมพ์ ไปจนถึงการสร้างEcosystemของอุตสาหกรรมหนังสือให้แข็งแรงขึ้นอย่างแท้จริง” คุณธีรภัทรเล่า
สิ่งที่สมาคมฯ มองเห็นชัดคือ "ความไม่ต่อเนื่อง" ภายในวงจรอุตสาหกรรมหนังสือที่ยังคงเป็นปัญหาในปัจจุบัน
“บางทีนักเขียนก็ไม่รู้จักโรงพิมพ์ ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงให้หนังสือเล่มหนึ่งเกิดขึ้นจริงได้ บางคนอยากตั้งสำนักพิมพ์เองแต่ไม่รู้จะไปหาคนปรู๊ฟจากที่ไหน ไม่เคยเจอบรรณาธิการ ไม่รู้จะพิมพ์ยังไงให้คุณภาพดี นี่คือปัญหาที่เกิดจากการที่เราไม่เคยคุยกันให้ครบลูป”
เขาเปรียบเทียบให้เห็นว่า การจะให้อุตสาหกรรมนี้ยั่งยืนได้ ต้องมีระบบที่ “ครบวงจร” ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และไปไกลกว่าหนังสือเพียงเล่มเดียว
“สมัยนี้แค่ทำหนังสือดีไม่พอแล้วครับ มันต้องคิดต่อว่าเราจะขายของแถมอะไรได้บ้าง มีของสะสม มีสินค้าที่เกี่ยวข้อง มีเมอร์เชนไดร์หรือเปล่า นักวาดมีหรือยัง จะผลิตสินค้าพ่วงกับตัวละครจากหนังสือได้ไหม มีโรงงานผลิตหรือยัง ทุกจุดมันต้องเชื่อมถึงกันหมด ไม่งั้นมันจะขาดตอน”
และเมื่อใดที่ห่วงโซ่อุปทานขาดตอน ผลเสียจะเกิดขึ้นในรูปของ “มูลค่าที่สูญหาย” ซึ่งเขาเรียกว่า value lost หรือในบางกรณีอาจถึงขั้นถูกดึงผลประโยชน์ไปโดยคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโดยตรง
“เราต้องการทำให้ทั้งระบบแข็งแรง เพื่อให้คนในวงการไม่ต้องวิ่งหากันเองแบบกระจัดกระจาย และไม่ตกหล่นใครระหว่างทาง”
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังมองไกลไปถึงการต่อยอดงานวรรณกรรมสู่สื่อรูปแบบอื่น ๆ ที่สามารถขยายอิทธิพลของเนื้อหาไทยให้กว้างไกลขึ้น เช่น การดัดแปลงเป็นซีรีส์ เกม ละครเวที หรือศิลปะการแสดงแขนงต่าง ๆ โดยเตรียมเชื่อมประสานกับสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมนักเขียน สมาคมนักแปลและภาษาแห่งประเทศไทย และองค์กรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ
“ก่อนจะไปถึงจุดที่เราจะขยายตัวออกไปไกล ผมอยากให้เรากลับมาทำให้ระบบภายในแข็งแรงก่อน ถ้าโครงสร้างเราดี เราจะเดินไปด้วยกันได้มั่นคง และแบ่งปันประโยชน์กันได้อย่างเป็นธรรม”
สำหรับปีนี้ สมาคมฯ ได้เริ่มต้นด้วยโครงการอบรมเร่งด่วนสองโครงการ ร่วมกับ TK Park ได้แก่ โครงการอบรมนักแปลวรรณกรรมเป็นภาษาต่างประเทศ และโครงการอบรมนักขายหนังสือ
“ฟังดูอาจเหมือนไม่เกี่ยวกัน แต่จริง ๆ คนขายหนังสือคือฟันเฟืองสำคัญมาก ถ้าทำหนังสือดีแค่ไหน แต่ไม่มีใครขาย ไม่มีใครนำเสนอให้เข้าถึงผู้อ่านได้ ก็เท่ากับว่าเราไปไม่ถึงเป้าหมาย สุดท้ายเราก็ไม่ได้รายได้กลับมาเลี้ยงระบบ”
ในภาพรวมของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือ ขอย้ำว่า “อนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านหนังสือ” ซึ่งผมทำหน้าที่เป็นประธานอยู่นั้น อยู่ภายใต้ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ” โดยไม่ได้ขึ้นตรงหรือเกี่ยวข้องกับ “สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย” แต่เนื่องจากมีบุคลากรบางคนในสมาคมฯ ได้รับเชิญให้เข้ามาร่วมเป็นอนุกรรมการฯ ด้วย เช่น คุณกนกวลี พจนปกรณ์ ซึ่งเคยเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ก็ได้เข้ามาร่วมงานกับเราในบทบาทนี้ เพื่อร่วมคิด ร่วมผลักดันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักเขียนโดยตรง
หน้าที่ของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จึงเป็นเหมือนฟันเฟืองหนึ่งในกลไกภาพรวม ที่ช่วยประสานและขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นจริงได้ เนื่องจากสมาคมฯ ถือเป็นองค์กรกลางที่ใหญ่ที่สุดในแวดวงหนังสือ ถึงแม้ไม่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐโดยตรง แต่ก็สนับสนุนทั้งนักเขียน นักแปล มาโดยตลอดผ่านงบประมาณของสมาคมฯ เอง จึงสามารถทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” ในการประสานโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชนหรือสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คณะอนุกรรมการซอฟต์เพาเวอร์ด้านหนังสือ ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมศิลปากร หอสมุดแห่งชาติ รวมถึงบุคคลจากภาคเอกชน เช่น นักเขียน นักแปล บรรณาธิการ ตัวแทนจากสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในแวดวงจริง
หนึ่งในโครงการสำคัญในปีงบประมาณ 2569 คือ “โครงการวรรณกรรมประจำจังหวัด หนึ่งนักเขียนประจำจังหวัด” ซึ่งเป็นไอเดียของคุณกนกวลี ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนายกสมาคมนักเขียน เราคิดร่วมกันว่า อยากให้นักเขียนเข้าไปใช้ชีวิตในจังหวัดนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่เดิมอยู่แล้ว หรือมีนักเขียนไปฝังตัวใหม่ แล้วให้เขาเชื่อมโยงกับผู้อ่าน ผ่านร้านหนังสือในท้องถิ่น ทำกิจกรรมประจำ และเขียนงานที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดนั้นออกมาอย่างน้อยหนึ่งเล่ม
เป้าหมายมีหลายชั้น — หนึ่งคือ สร้างนักเขียนในระดับจังหวัด สองคือ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนกับผู้อ่าน และสามคือ ชุบชีวิตร้านหนังสือในท้องถิ่นให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โครงการนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากท่านปลัดกระทรวงวัฒนธรรมคนปัจจุบัน (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม) คือท่านประสพ เรียงเงิน ซึ่งท่านถึงขั้นเสนอให้งบ 20 ล้านบาททันทีเมื่อได้ฟังแนวคิด ถือเป็นกำลังใจสำคัญ และต้องขอขอบคุณท่านมา ณ ที่นี้ด้วย
แม้จะยังอยู่ในช่วงตั้งต้น แต่โครงการนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน รวมถึงแวดวงวิชาการ เราวางโครงสร้างไว้ว่า จะต้องตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาคัดเลือกนักเขียนอย่างรอบคอบ โดยที่ผมจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวตรงจุดนั้น และเมื่อนักเขียนเข้าไปประจำแล้ว ก็จะได้รับค่าตอบแทนรายเดือนเพื่อแลกกับผลงาน โดยผลงานนั้นยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของนักเขียนเอง สมาคมฯ จะช่วยสนับสนุนในการจัดจำหน่าย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงต่อยอดไปสู่สินค้าอื่น ๆ ได้ในอนาคต
อีกโครงการที่เรากำลังผลักดันอยู่คือ “อ่านลดโทษในเรือนจำ” ร่วมมือกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก แนวคิดง่าย ๆ คือ ถ้านักโทษอ่านหนังสือจบหนึ่งเล่ม จะสามารถลดโทษได้หนึ่งวัน เป้าหมายคือให้หนังสือเป็นแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงชีวิต ผมเองก็อยู่ในคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้าของรัฐสภา ก็จะเห็นว่ามีการเปิดโอกาสให้นักโทษส่งผลงานเขียนประกวด ไม่ว่าจะเป็นบทกวี หรือเรื่องสั้น หลายคนมีความสามารถจริง ๆ และได้แรงบันดาลใจมาจากการอ่าน เพราะในเรือนจำไม่มีอะไรทำ การอ่านจึงกลายเป็นพื้นที่ของการคิด เขียน และเยียวยาจิตใจได้อย่างแท้จริง
ในกลุ่มเยาวชน เราก็มีการให้ทุนการศึกษาเป็นทุนซื้อหนังสือ พร้อมจัดกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการเล่านิทาน การอ่านหนังสือในโรงเรียน เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลมีนโยบายแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนในอนาคต อีบุ๊ก E-Library ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งในการกระจายหนังสือให้ถึงมือเด็ก ไม่ว่าจะอ่านจากรูปเล่มหรือหน้าจอ หนังสือก็คือหนังสือ อยู่ที่ไหนก็ยังทรงพลังเสมอ
เขาปิดท้ายด้วยความหวังว่า ในปีงบประมาณ 2569 เมื่อได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบ โครงการที่ออกแบบไว้อย่างเป็นระบบจะสามารถทำให้อุตสาหกรรมหนังสือไทยเติบโตอย่างมีรากฐาน และส่งต่อพลังสร้างสรรค์ไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างแท้จริง