คุยกับ : นักแปลชาวเกาหลีผู้หลงเสน่ห์ภาษาไทย

คุยกับ

วันนี้ “คุยนอกรอบ” มีโอกาสได้พบกับคุณ “ปาร์คคยองอึน” หรือในชื่อภาษาไทยน่ารักๆว่า “คุณเจี๊ยบ” นักแปลชาวเกาหลีผู้แปลหนังสือ “ภาษาติดเชื้อ ภาพวาดภูมิทัศน์รอบนอกของภาษาเกาหลี” หนังสือที่จะทำให้คุณเข้าใจธรรมชาติของภาษาเกาหลีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนักแปลของเราทั้งน่ารักและเป็นกันเอง แถมยังพูดภาษาไทยคล่องอย่างกับเป็นเจ้าของภาษาเลยทีเดียว!

 

 

Q : ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง
A : ตอนนี้หลักๆ ก็คือ สอน ค่ะ เป็นอาจารย์ที่เกาหลี มีทั้งการสอนและการทำวิจัย ก็จะทำวิจัยในเรื่องต่างๆ ไปเรื่อยๆ นอกจากนั้นก็จะมีงานแปลและล่าม ส่วนใหญ่จะเป็นงานล่ามเพราะงานแปลค่อนข้างน้อย แต่งานล่ามช่วงนี้ก็ไม่ค่อยได้ทำเพราะงานค่อนข้างเยอะค่ะ จะรับเฉพาะงานที่สำคัญๆ

Q : เคยรับงานสำคัญอะไรบ้าง
A: เคยเป็นล่ามที่ทำเนียบประธานาธิบดีสามครั้ง ตอนอดีตนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาที่เกาหลี พบกับประธานาธิบดีปักกึนเฮ ตอนที่อยู่เมืองไทยก็มีอดีตประธานาธิบดีลีมยองปัก มาเยือนประเทศไทย ก็ไปเป็นล่ามให้อดีตนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตอนนั้นค่ะ และล่าสุดก็เป็นท่านนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2014 ที่ปูซาน มีการประชุมสุดยอดนัดพิเศษ ก็ไปทำหน้าที่ล่ามให้นายกประยุทธ์และประธานาธิบดีปักกึนเฮ และในเดือนมีนาคมที่จะถึงก็อาจจะมีอีกค่ะ ท่านรองนายกฯ จะมาประเทศเกาหลี

Q : ในฐานะที่เป็นชาวต่างชาติและได้เรียนภาษาไทยจนแตกฉาน ช่วยบอกเสน่ห์ของภาษาไทยสักหน่อย
A : ในช่วงแรกที่เรียนภาษาไทย ต้องพบกับความยากลำบากไม่น้อย เนื่องจากภาษาไทยมีความแตกต่างจากภาษาเกาหลีมากกว่าความเหมือน ในเกือบทุกระดับ เช่น ตัวอักษรไทยก็มีจำนวนมากกว่าอักษรเกาหลีหลายเท่า ในระดับเสียง ภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์ซึ่งในภาษาเกาหลีไม่มี เวลาเรียนประโยคลำดับประโยคก็ไม่เหมือนกัน คือ ภาษาไทยเป็นประธาน-กริยา-กรรม ขณะที่ภาษาเกาหลีจะเรียนเป็นประธาน-กรรม-กริยา เป็นต้น แต่พอเรียนไปก็รู้สึกสนุกมากขึ้น เสียงวรรณยุกต์ก็ฟังเป็นเหมือนเสียงร้องเพลง เลียนแบบแล้วรู้สึกสนุกสนาน การคัดลายมืออักษรไทยก็สนุก รู้สึกเหมือนตัวเองกลายเป็นศิลปินวาดรูปสวย ๆ

แต่แรงจูงใจที่ดีกว่านั้น คือ ความสนุกที่มาจากการสื่อสารกันรู้เรื่อง ดิฉันเห็นว่า เสน่ห์ของภาษาไทยที่สำคัญที่สุดคืออยู่ตรงนี้ด้วย คือ ผู้ใช้ภาษาไทย(คนไทย)น่ารัก ยิ้มแย้มเสมอ พูดผิดพูดถูกก็พยายามทำความเข้าใจให้ได้ มีความอดทน และมีน้ำใจเมตตากรุณาเสมอ ทำให้ผู้เรียนชาวต่างประเทศมีกำลังใจจะพูด มีแรงจูงใจที่จะพยายามลองพูดผิด ๆ ถูก ๆ ต่อไป ถือเป็นเสน่ห์ที่สำคัญมาก เสน่ห์ของภาษาไทยที่สำคัญไม่แพ้อีกอย่างหนึ่ง คือ สิ่งที่บรรจุอยู่ในภาษาไทยนั่นเอง คือ วิถีชีวิต แนวคิด วัฒนธรรม ความเป็นไทย เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ชาวต่างชาติอยากเรียนรู้ภาษาเพื่อที่จะเข้าถึงความเป็นไทยให้ได้ เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ผู้แปลตั้งใจเรียนจนเป็นครูสอนภาษาไทยที่ถ่ายทอดความประทับใจให้แก่รุ่นน้องจนปัจจุบัน

 

 

Q : มีแรงบันดาลใจอะไรในการเลือกเรียนภาษาไทย?
A : ตอนเรียนมัธยมปลาย ที่โรงเรียนมีสอนหลายภาษา ตอนนั้นก็เรียนภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นอยู่ด้วย และเป็นคนที่ชอบภาษาอยู่แล้ว เลยอยากจะเลือกเรียนภาษาที่คนเรียนค่อนข้างน้อยในสมัยนั้น ก็เลยลองดูหลายๆภาษา และครูประจำชั้นในตอนนั้นแนะนำว่า ภาษาในอาเซียนสักภาษาดีไหม เพราะในอนาคตอาจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น ก็เลยลองดูและพบว่าภาษาไทยดูเป็นภาษาที่มีเสน่ห์มากที่สุด ก็เลยเลือกภาษาไทย พอเรียนแล้วก็ชอบ มันสนุก และรู้สึกว่าเวลาเรียนภาษาในช่วงเบื้องต้นก็เรียนไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ด้วยความสนใจและสงสัยว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ มันต่างกับภาษาของเรานะ อะไรทำนองนี้ แต่เมื่อเรียนไปในระดับหนึ่ง แรงบันดาลใจที่สำคัญก็ต้องมาเพื่อผลักดันให้เราเรียนต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งแรงบันดาลใจนั้นก็คือ คนไทย ช่วงประมาณปี 2 เป็นต้นไปก็ได้มีโอกาสเจอเพื่อนคนไทย และมีอาจารย์ชาวไทย ทุกคนน่ารักมาก และเมื่อเวลาพูดคุย ทุกคนก็จะมีความอดทน พยายามทำความเข้าใจเราให้ได้ ซึ่งมันเป็นเสน่ห์ที่ภาษาอื่นไม่ค่อยมีค่ะ

Q : ภาษาไทย อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุด
A : การออกเสียง แต่ถ้าผ่านอุปสรรคนี้ไปได้ก็จะง่ายเลย เพราะไวยากรณ์ค่อนข้างง่าย

Q: ถ้าให้แนะนำคนต่างชาติที่เรียนภาษาไทย จะแนะนำว่าอะไร
A : อยากแนะนำว่า ควรจะมีเพื่อนคนไทยก่อน มันจะเป็นโอกาสที่ได้ฝึกด้วย และเป็นแรงบันดาลใจด้วย เพราะภาษาไทยไม่ใช่ภาษาที่ต้องท่องไวยากรณ์ว่าจะต้องมาผันแบบนั้นแบบนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราออกเสียงถูก อ่านเขียนได้ มันก็จะไปได้เร็ว เพราะกว่าจะออกเสียงได้ มันต้องมีการฝึกฝน มีแรงบันดาลใจ เพราะฉะนั้น ให้มีเพื่อนคนไทยก่อน ก็จะไปได้เร็วค่ะ

Q : มาคุยกันเรื่องผลงานกันบ้าง จากการแปลหนังสือ “ภาษาติดเชื้อ ภาพวาดภูมิทัศน์รอบนอกของภาษาเกาหลี” เล่มนี้ มีอุปสรรคที่สำคัญอะไรบ้าง และมีความประทับใจอย่างไรกับการแปลหนังสือเล่มนี้
A : การแปลหนังสือเล่มนี้เป็นการท้าทายครั้งใหญ่สำหรับผู้แปล เนื่องจากความรู้ของผู้เขียนกว้างขวางและลุ่มลึกมาก หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือรวมบทความก็จริง แต่การนำเสนอหัวข้อแต่ละหัวข้อเป็นไปตามตรรกะที่เฉียบคม พร้อมทั้งตัวอย่างที่ผู้เขียนยกมาให้ผู้อ่านเห็นนั้นหลากหลายและลึกซึ้งมาก ในการแปลต้องใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเกาหลีและโลกอย่างมาก และผู้แปลต้องทำการบ้านให้ดี (คือ ค้นคว้าเพิ่มเติมเยอะ) จึงใช้เวลาในการแปลประมาณปีครึ่ง ความท้าทายอีกด้านหนึ่ง คือ การแปลลีลาการเขียนของผู้เขียน ผู้เขียนคลุกคลีอยู่ในวงการนักข่าวมากว่า 20 ปี เป็นคอลัมนิสต์ชื่อดังที่มีแฟนคลับมากมาย แถมยังเป็นนักภาษาศาสตร์และนักเขียนนวนิยายอีกด้วย ลีลาการเขียนของผู้เขียนกระชับชัดเจน เฉียบคม และหนักแน่นด้วยเนื้อหา แถมยังมีวรรณศิลป์ด้วย ซึ่งผู้แปลอ่านแล้วรู้สึกประทับใจ อยากจะแปลให้คงอรรถรสของต้นฉบับให้ได้มากที่สุด ซึ่งได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากผู้แปลร่วม คือ อาจารย์วิรัช ศิริวัฒนะนาวิน ซึ่งทำงานร่วมกัน ผ่านกระบวนการขัดเกลาภาษาหลายรอบทีเดียว

 

 

Q : สุดท้ายนี้ คุณเจี๊ยบคิดว่า หนังสือภาษาติดเชื้อ มีประโยชน์สำหรับผู้เรียนภาษาอย่างไรบ้าง
A : ภาษาไม่เพียงเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร อีกทั้งเป็นภาชนะที่บรรจุแนวคิด วัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้ใช้ภาษานั้น ๆ ด้วย ภาษาจึงแสดงอัตลักษณ์ความเป็นตัวตน ด้วยเหตุนี้ นโยบายภาษาอาจจะเน้นไปในทางชาตินิยม แต่ผู้เขียนกำลังบอกว่า ชาตินิยมอาจจำเป็นในยุคสมัยพิเศษ เช่น ยุคล่าอาณานิคม หรือ ยุคฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นต้น แต่ในบางยุคสมัยอย่างยุคปัจจุบัน ชาตินิยมอาจกลายเป็นความรุนแรงก็เป็นได้ แนวคิดของนักบริสุทธิ์นิยมทางภาษาที่ต้องการจะชำระให้ภาษาบริสุทธิ์นั้น เป็นเรื่องที่สวนกระแสธรรมชาติของภาษาที่มักมีการสัมผัสกับภาษาและวัฒนธรรมอื่น มีการผสมผสานและซึมซาบ จนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ภาษาก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิต มีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติ หากบังคับให้ภาษาไม่มีการเปลี่ยนแปลง บังคับให้บริสุทธิ์ ก็เท่ากับทำให้ภาษาไร้ความชีวิตชีวาและเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง หนังสือเล่มนี้ก็จะเป็นการตั้งโจทย์ให้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนภาษา ว่าเราควรมองภาษาอย่างไร มีประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจและชวนขบคิดหลายประเด็น เช่น ประเด็นภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ภาษาวัยรุ่น ภาษาแชทหรือภาษาอินเตอร์เน็ต คำยืมภาษาต่างประเทศ พร้อมทั้งให้แง่คิดต่าง ๆ เกี่ยวกับท่าทีของเราในฐานะเป็นสมาชิกประชาคมโลกอีกด้วย.

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ