กมล กมลตระกูล : นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ร่วมอยู่ในกลุ่ม "สภาหน้าโดม" ที่มีบทบาทในการจัดทำหนังสือ "ภัยขาว"

กมล กมลตระกูล

กมล กมลตระกูล หนึ่งในนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ร่วมอยู่ในกลุ่ม "สภาหน้าโดม" ที่มีบทบาทในการจัดทำหนังสือ "ภัยขาว" อันโด่งดังในยุคนั้น นอกจากนั้นยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานหนังสือในหลายรูปแบบ ทั้งจัดตั้งสนพ. "หนังสือ" ร่วมก่อตั้งกลุ่ม "วรรณกรรมเพื่อชีวิต" จัดทำนิตยสาร "วรรณกรรมเพื่อชีวิต" รวมถึงเคยมีผลงานเขียนและแปลเรื่องสั้นอีกจำนวนไม่น้อย

หลังจากไปศึกษาและทำงานอยู่ที่ซานดิเอโก แคลิฟอร์เนียระยะหนึ่ง ปัจจุบันได้กลับมาพำนักยังประเทศไทยเป็นเวลา 4 ปีแล้ว กับตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการของสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (FORUM-ASIA) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ มีสมาชิกอยู่ 30 องค์กรใน 12 ประเทศ และมีบทบาทหลักคือการอบรมความรู้สิทธิในด้านมนุษยชน ทำให้คนเข้าใจในเรื่องสิทธิและพันธกิจของรัฐ ว่ารัฐมีพันธกิจที่จะต้องรับผิดชอบต่อมนุษยชน รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วย

นอกจากหน้าที่ดังกล่าวองค์กรนี้ยังมีการรณรงค์ในด้านต่าง ๆ เช่น ถ้ามีผู้ถูกตัดสินลงโทษโดยไม่เป็นธรรม ก็จะมีการรณรงค์เรียกร้องเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม หรือพยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ตัวอย่างที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว คือการได้ผลักดันกฎหมายเรื่องเหล้าเสรี ทำให้เกษตรกรจำนวนมากมีอาชีพ และสามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้จากการที่สามารถผลิตเหล้าสาโท ไวน์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แทนที่จะขายผลผลิตที่ไม่มีราคาหรือราคาตกทั้งปี นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของงานในองค์กรนี้

ที่กล่าวมานั้นคือหน้าที่ความรับผิดชอบในงานประจำ แต่สำหรับงานเขียนที่ตนรัก เขายังมิได้ละทิ้งเสียทีเดียว เพราะยังคงทำงานคอลัมนิสต์ เขียนคอลัมน์ "คิดทางขวาง" ลงในนสพ. คม ชัด ลึก อยู่เป็นประจำ และคอลัมน์ "เดินคนละฟาก" ในนสพ.ประชาชาติธุรกิจ นอกจากนั้นก็แล้วแต่โอกาสจะอำนวย เพราะเขายังดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและอนุกรรมการในวุฒิสภาอีกด้วย งานจึงค่อนข้างยุ่งมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ยังมิได้รวมถึงการได้รับเชิญไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และเป็นวิทยากรในต่างประเทศด้วย ทำให้มีเวลาที่จะใส่ใจกับงานด้านอื่นน้อยมาก แต่เขาก็ยังตั้งปณิธานไว้ว่า หากเวลาอำนวยเมื่อไหร่ ก็ยังอยากจะทุ่มเทเวลาให้กับการทำหนังสืออยู่ดี เพราะมีความคิดว่าบ้านเรายังมีหนังสือที่ไม่มีคุณภาพอยู่เยอะมาก หนังสือตำราที่คลาสสิกก็ยังมีน้อย ประกอบกับความเชื่อที่ว่า ในแง่ความลึกซึ้งวรรณกรรมสามารถที่จะทำให้คนเกิดจิตสำนึกหรือเกิดความรู้สึกเปลี่ยนจิตวิญญาณได้ เพราะว่าวรรณกรรมจะมีอิทธิพลที่สุด ไม่เหมือนบทความอ่านแล้วก็ลืม เขาคิดว่างานวรรณกรรมมีความหมายต่อสังคมมาก ถ้าทำได้ดี หรืออย่างน้อยถ้าทำไม่ได้ ก็ใช้วิธีแปล เลือกเรื่องที่ดี ๆ มาแปลก็ได้

นอกจากงานในส่วนคอลัมนิสต์ เขายังเคยมีผลงานหนังสือเล่มในแนวเนื้อหาด้านเศรษฐศาสตร์ ลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือด้านการค้าระดับโลกออกมา เนื่องจากในช่วงที่กลับมาใหม่ ๆ อยู่ในช่วงที่ประเทศไทยเราเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น ทำให้เขารู้สึกว่าคนไทยช็อกและยังไม่ค่อยเข้าใจสาเหตุ ไม่รู้จักว่าองค์กรที่เขาเรียกว่าเป็นองค์กรครอบโลก มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร เนื่องจากเขาอยู่ต่างประเทศมานานมีเอกสารด้านนี้มาก และรู้จักองค์กรเหล่านี้ดี จึงคิดว่าน่าจะจับเรื่องดังกล่าวมาเขียนเพื่อให้คนไทยได้รู้จักและเข้าใจมากขึ้น ตัวอย่างผลงานที่มีออกมาและขายดีมาก เช่น กึ๋นวอลล์สตรีท, IMF นักบุญหรือคนบาป, ทรราชย์การเงินโลก, WTO ทรราชย์การค้าโลก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ระยะหลังมานี้ต้องให้ความสนใจกับการอ่านหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐกิจ , องค์การค้าโลก ลัทธิเสรีนิยมใหม่ และด้านสิทธิบัตร มากเป็นพิเศษกว่าแนวอื่น แต่ก็ยังมีงานวรรณกรรมคลาสสิก หรืองานเพื่อชีวิตของต่างประเทศที่สนใจอ่านอยู่มาก เช่นงานนิยายสมัยใหม่ของกิสแช่มชอบเพราะรู้สึกว่าผู้เขียนสามารถเขียนสิ่งที่มีสาระแทรกไว้ในเนื้อหาได้อย่างน่าอ่าน หรือแนวคลาสสิกของแจ็ก ลอนดอนที่คนเขาไม่ค่อยจะอ่านกันแล้ว

แม้จะไม่ค่อยมีเวลาติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวในแวดวงวรรณกรรมบ้านเรามากนัก แต่อาศัยจากประสบการณ์ในงาน เขาจึงบรรยายภาพโดยรวมของงานวรรณกรรมในบ้านเราได้อย่างน่าฟังไว้ว่า

"ในแง่ความหลากหลายผมว่ามันมีมากขึ้น มีการทดลองวิธีเขียน สไตล์การเขียน แต่ผมว่ามันเป็นการพัฒนาในเชิงรูปแบบมากกว่าการพัฒนาในเชิงเนื้อหาของเรื่อง ผมคิดว่ามองในเชิงวิวัฒนาการแล้ว มันยังพัฒนาไปเพียงด้านเดียว คือด้านรูปแบบ เทคนิค แต่ในด้านเนื้อหาลึก ๆ แล้วผมว่ายังไม่พัฒนาและดูแย่ลงด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับนักเขียนรุ่นเก่า ๆ แต่ก็อาจจะเป็นเพราะต้องสัมพันธ์กับการตลาดด้วย รู้สึกว่าตลาดตอนนี้จะไม่ค่อยรับเรื่องที่มีสาระและสำนักพิมพ์ก็คงไม่อยากพิมพ์ อาจมีองค์ประกอบจากหลายอย่าง ก็ไม่อยากจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพียงแต่ผมคิดว่าในวงการพิมพ์อย่างเช่นสำนักพิมพ์ก็น่าจะมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องต้องทำหนังสือหลากหลายให้มีบางส่วนได้กำไร และก็มาส่งเสริมหนังสือบางส่วนที่ไม่ได้กำไร ในต่างประเทศเขาก็จะทำแบบนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้พวกเรื่องหนัก ๆ เรื่องที่มีสาระ หรือนักเขียนในเรื่องหนัก ๆ มีโอกาสได้แจ้งเกิดบ้าง ถ้าเราจับตามการตลาดอย่างเดียวผมว่าจะทำให้วงการนักคิดแย่ไปด้วย ไม่มีโอกาสเกิด สังคมทั้งสังคมก็จะแย่ ต้องพยายามทำควบคู่กันไป และให้โอกาสซึ่งกันและกัน แต่ว่าโดยทั่วไปทุกแห่งก็ต้องไม่คิดหวังแต่กำไรอย่างเดียวหรือเอาแต่ขายได้ จะไม่เป็นการช่วยสังคมเท่าไรนัก"

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ