ธีรยุทธ บุญมี : นักเขียนรางวัล "ศรีบูรพา"

ธีรยุทธ บุญมี

ผ่านไปแล้วสำหรับวันนักเขียน 5 พฤษภาคมของทุกปีที่จะมีการมอบรางวัล "ศรีบูรพา" ซึ่งถูกกำหนดเป็นประเพณีทุกปี ในปีนี้ "กองทุนศรีบูรพา" มีอายุ 16 ปีแล้ว สิบห้าปีที่ผ่านมากองทุนฯมอบ "รางวัลศรีบูรพา" ให้กับบุคคล 14 ท่าน และในปีที่ 16 นี้ คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณามอบ "รางวัลศรีบูรพา" ให้แก่บุคคลสองท่านพร้อมกัน คือ นายธีรยุทธ บุญมี และนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ผลงานของทั้งสองท่านนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัด และมีผลสะเทือนต่อสังคมในองค์รวมโดยตลอดสถานะปัจจุบันของทั้งสองท่านเป็นนักวิชาการ แต่ผลงาน (ที่มีอย่างต่อเนื่อง) ก็มีหลากหลาย ไม่จำเพาะงานทางวิชาการอย่างเดียว ยังมีผลงานทางวรรณกรรมและศิลปะแขนงอื่น ๆ รวมทั้งกิจกรรมเพื่อสังคม วันนี้เราก็มีคำปาฐกถาของทั้งสองท่าน ที่เป็นทั้งนักคิด นักเขียนและนักวิชาการที่ทำงานเขียนมาตั้งแต่สมัยที่เป็นนิสิตนักศึกษาและต่อเนื่องยาวนานมาจวบจนถึงปัจจุบัน ขึ้นกล่าวปาฐกถาหลังได้รับมอบรางวัล"ศรีบูรพา" มาให้เพื่อน ๆ ชาวเว๊ปไซต์ได้อ่านแนวความคิดของทั้งสองท่านกันแบบบรรทัดต่อบรรทัดเลยค่ะ…

คำปาฐกถาของธีรยุทธ บุญมี มุมมองใหม่ประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยกับกึ่งศตวรรษที่หายไป อัลแบร์ กามูส์ เคยกล่าวไว้ว่าหากโลกไม่มีศตวรรษที่ 19 ของนักเขียนรัสเซีย เช่น ตอลสตอย ดอสโตเยฟสกีก็จะไม่มีตัวเขาและนักเขียนคนอื่น ๆ อีกมาก เช่นเดียวกันเราก็อาจสรุปว่าถ้าไม่มีครึ่งศตวรรษของปัญญาชนแบบศรีบูรพาและคณะสุภาพบุรุษก็จะไม่มีครึ่งศตวรรษของปัญญาชนรุ่น 14 ตุลาคม สิ่งที่เราได้รับสืบทอดจากปัญญาชนรุ่นพ่อคณะนี้ก็คือการนับถือในความจริงการต่อสู้กับความยุติธรรม และจิตวิญญาณเพื่อเสรีภาพ แต่สำหรับสังคมโดยทั่วไปและแม้แต่ในหมู่นักศึกษา นักวิชาการ ค่อนศตวรรษของศรีบูรพาและคณะเป็นภาพที่ลางเลือน ผมคิดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความทรงจำของสังคม ปัญหาอยู่ที่การสร้างกรอบครอบวรรณกรรมไทยด้วยสูตรอันว่างเปล่า ส่งผลให้นักเขียนไทย วรรณกรรมกลายเป็นไร้ตัวตน ไร้ความคิดสร้างสรรค์ ไร้อิทธิพลต่อสังคมไทย อันจำเป็นที่สังคมไทยต้องเร่งพยายามหามุมมองใหม่เพื่อแก้ไขสภาพดังกล่าว ผมสรุปปัญหา 3 ด้านที่ทำให้เราต้องสร้างมุมมองใหม่ต่อประวัติศาสตร์วงวรรณกรรมโดยด่วน

1.เมืองไทยยังขาดประวัติศาสตร์ทางความคิด เราไม่สามารถอธิบายความสืบเนื่องของนักคิดจากพระจุลจอมเกล้า เทียนวรรณ มาสู่พุทธทาสภิกขุ หรือจิตร ภูมิศักดิ์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์อย่างไร

2.ประวัติศาสตร์วรรณกรรมก็ว่างเปล่า มักเป็นสูตรทางช่วงเวลาปีศักราชเริ่มจากเขียนงานประพันธ์ตามแบบตะวันตก แล้วแยกตามยุคสมัยเป็นยุคต่อต้านเผด็จการ ยุคเพื่อชีวิต หรือไม่ก็แยกเป็น 2 กระแสใหญ่คือ นวนิยายน้ำเน่าหรือพาฝันกับวรรณกรรมเพื่อชีวิต การขาดการมองประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมสังคม ทำให้เราไม่สามารถกำหนดบทบาทตำแหน่งนักเขียนสตรีอย่างดอกไม้สด ก.สุรางคนางค์ สุวรรณี สุคนธา ในกระแสธารวรรณกรรมว่าควรเป็นอย่างไร เราเรียกขานได้เพียงแต่ว่า ชิต บุรทัตเป็นอัจฉริยะกวี ยาขอบเป็นนักเขียนพรสวรรค์ หรือแม้แต่ รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็เป็นเพียงพญาอินทรีแห่งวงวรรณกรรม แต่คุณค่าอย่างอื่นเล่าอยู่ที่ใด?

3.ประวัติศาสตร์แนวมารกืซิสม์มีข้อดีที่ยืนอยู่กับแรงงานและคัดค้านการกดขี่ แต่มันก็มีอคติ ให้ความสำคัญกับเฉพาะส่วน จึงทำให้มันมีคติที่ดีต่องานบางแบบ และอคติต่องานบางแบบ ประวัติศาสตร์แนวนี้จะไม่มีที่อยู่ให้กับงานของยาขอบ ไม้ เมืองเดิม ป.อินทราปาลิต กฤษณา อโศกสิน หรือ อังคาร กัลยาณพงศ์ได้

มีปัจจัยแอบแฝงที่ผมเรียกอาณานิคมเชิงลึกหรือลัทธิตะวันตกนิยมซึ่งทำให้เกิดภาวะการณ์เช่นนี้หลายด้านคือ
1.ประวัติศาสตร์และปรัชญากระแสหลังของตะวันตกทุกกระแส มองตะวันตกสูงส่ง คนชาติอื่น นักคิดนักเขียนชาติอื่นล้าหลัง ต้องลอกเลียนแบบ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ (originality) ไม่มีงานคลาสสิกของตน

2.ทฤษฎีพัฒนา (developmentalism) ทำให้ภาวะสมัยใหม่เป็นสิ่งยุ่งยาก ต้องผ่านกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ค่านิยม สังคม การเมืองที่ยาวนาน ทำให้ชาติอื่นล้าหลัง ต้องเดินตามตะวันตกไม่จบสิ้น ไม่มีวันถึงความเป็นสมัยใหม่ได้ ถ้าเปลี่ยนการมองว่าภาวะสมัยใหม่ของโลกเป็นเพียงประสบการณ์ก็ได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงหลายแง่มุมก็ได้ หรือมีหลายเส้นทางซึ่งเกิดขึ้นเร็วช้าต่าง ๆ กันก็ได้ เราจะได้ประวัติศาสตร์สังคม วัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวามากขึ้น บิดเบี้ยวน้อยลง กรอบที่ผมเสนอเป็นทั้งประวัติศาสตร์ความคิดแบบหลังตะวันตกนิยม จึงให้คุณค่าแก่นักเขียนทุกชาติภาษาที่ซึ่งเริ่มทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่คือ ภาวะความเป็นสมัยใหม่ เป็นประวัติศาสตร์วัฒนธรรมซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมแบบที่เป็นของสูงหรืออุดมคติ แต่เป็นวัฒนธรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิต อารมณ์ ความคิดของคนทั่วไป กรอบใหม่นี้จึงครอบคลุมงานที่เรียกว่าพาฝัน น้ำเน่านิยายบู๊ นิยายประวัติศาสตร์ สัญลักษณ์นิยม หรือ surrealism เอาไว้ด้วย กรอบใหม่ช่วยให้เราแบ่งยุคงานวรรณกรรมเป็น 4 ช่วงคือ 1.ยุคปฏิรูปหรือการทดลองปรับรูปแบบใหม่ 2.ยุคสร้างค่านิยมความเป็นสมัยใหม่ 3.ยุคสะท้อนวิกฤตความเป็นสังคมสมัยใหม่ และสุดท้ายคือ 4.ยุคสังคมสมัยใหม่ช่วงปลายหรือสังคมหลังสมัยใหม่ กรอบการมองเช่นนี้ทำให้ถือได้ว่าเกือบทุกประเทศในโลกสามารถเป็นสังคมสมัยใหม่ขั้นสองหรือหลังสมัยใหม่มองไปที่ความผสมผสาน (hybridity) ความหลากหลายของวัฒนธรรมมากกว่าเรื่องของวัตถุ ต้องมองว่าเส้นแบ่งยุคนี้ไม่ชัดเจนตายตัว บางสกุลความคิดอาจข้ามไปสู่ยุคอื่น ยุคสมัยวรรณกรรมที่เรากล่าวเป็นเพียงการบ่งถึงความเข้มข้นที่ค่อนข้างมากของงานประเภทเท่านั้น

1.ยุคปฏิรูป (Reform) หรือยุคการทดลองกับรูปแบบ (Form) : จากความวิจิตรอลังการ (Baroque) สู่สัญลักษณ์นิยม (Symoblism) ก.ยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ยังทรงส่งเสริมความเข้มแข็งของรัฐแบบไตรภูมิซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง แต่ปฏิรูปด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง คือ ทรงตั้งกลุ่ม Young Siam คล้าย ๆ กระแสการเมืองสำคัญในยุโรปคือ Young Italy , Young France, Young Poland, Young Turk อาทิเช่น การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน การเลิกทาสการให้มีระบบการศึกษา การแพทย์พยาบาลสมัยใหม่ ชื่อของพระองค์เจ้าศรีวิไลลักษณ์ (civilize) และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาก็บ่งถึงคติ Enlightenment (สว่าง) กับ Progress (วัฒนา) ที่แผ่เข้ามาในสังคมไทย พระองค์ทรงนำสถาปัตยกรรมแบบ Neo Gothic (วังพญาไท) แบบ Renaissance (พระที่นั่งอนันตสมาคม) แบบ Neo Classic (กระทรวงกลาโหม) ฯลฯ เข้ามาเป็นครั้งแรก ในทางวรรณกรรมทรงตั้งโบราณคดีสโมสร ทรงพระนิพนธ์ "ไกลบ้าน" ซึ่งเป็นแนวบันทึกความจำ การเดินทาง อัตชีวประวัติ (memoir journal หรือ autobiography) ซึ่งเป็นที่นิยมของนักเขียนในยุครู้แจ้ง (Enlightenment) กษัตริย์หลายประเทศก็ทรงนิยมคบหานักปรัชญายุคนี้ และสร้างเป็นประเพณีบันทึกดังกล่าวสืบทอดมา เช่นพระนางแคทเธอรีนของรัสเซียจนมาถึงพระนางวิคตอเรียของอังกฤษเช่นกัน ช่วงนี้เป็นช่วงที่เป็นช่วงที่ควรเรียกว่าช่วงปฏิรูปในวงการวรรณกรรม เพราะเรามีงานวรรณกรรมชั้นเยี่ยมมาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วร้อยกรอง แต่เริ่มทดลองกับรูปแบบวรรณกรรมสมัยใหม่ในช่วงนี้ ข.สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงสร้างวรรณคดีสโมสร ความคิดชาตินิยม เปิดทางให้ปัญญาชนนักเขียนจำนวนหนึ่งพยายามสำแดงให้เห็นว่าชาติไทยก็มีขนบหรือรูปแบบวรรณกรรมที่วิจิตรอลังการ (Baroque) ไม่แพ้ใคร อาทิ ชิต บุรทัต กวีเอก กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เส้นทางความคิดเช่นนี้ในช่วงถัดมาเข้ามาสู่งานศิลปะและวรรรกรรมแนวเหนือจริง (Surrealism) และแนวสัญลักษณ์นิยม (Symbolism) ซึ่งก็คืองานศิลปะที่มีปรัชญาว่าโลกที่ความจริงแท้สองสิ่งอยู่ในตัว สิ่งหนึ่งซึ่งถูกกดจนดูด้อยกว่า ที่จริงมีคุณค่าลึกล้ำสำคัญกว่า อาทิ จิตใต้สำนึก ความฝัน แฟนตาซี ในวงศิลปะ วรรณกรรมไทยที่สำคัญ เน้นคุณค่าของแก่นความคิดพุทธศาสนา รูปแบบงานประพันธ์ ลวดลาย เส้นลายไทยปรากฏในงานกวีนิพนธ์และภาพเขียนของอังคาร กัลยาณพงศ์ ถวัลย์ ดัชนี ฯลฯ

2.ยุคสร้างความเป็นสมัยใหม่ทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง : ยุคงานประพันธ์ของคณะสุภาพบุรุษ ดอกไม้สด ก.สุรางคนางค์ ก.กล่าวได้ว่าในช่วง พ.ศ. 2450-2500 ปัญญาชนนักเรียนจากชนชั้นเจ้านายไม่สามารถหาคำตอบให้กับสังคมและโลกที่ผันแปรอย่างรวดเร็วได้ ปัญญาชนนักเขียนจากชนชั้นใหม่คือชนชั้นกลางและสูง (ผู้ดี ข้าราชการชั้นสูง นักเรียนนอก) ก็ได้ร่วมกันผลักสังคมไทยไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ด้วยพลังที่เชี่ยวกราก ในทางการเมืองคณะราษฎรและปรีดี พนมยงค์ นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่ภายหลังการเมืองไทยผันแปรไปสู่เผด็จการและชาตินิยมทหาร ในทางสังคมและวัฒนธรรม ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ศรีบูรพา มาลัย ชูพินิจ สด กูรมะโรหิต ดอกไม้สด ร.จันทะพิมพะ ก.สุรางคนางค์ ฯลฯ เป็นผู้สร้างเสาหลักของค่านิยมความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) ให้กับสังคมไทย ได้แก่ คุณค่าความเป็นมนุษย์ (มนุษยภาพ) มิตรภาพ การเคารพซึ่งกันและกันการใช้เหตุและผล ความจริงและความยุติธรรมในการตัดสินปัญหาชีวิตและสังคม พวกเขาได้สร้างความรัก การบูชาความรักให้เป็นสิ่งที่มีตัวตน จับต้องได้มีความสำคัญ คุณค่าจำเป็นต่อความเป็นมนุษย์ทุกคน และจำเป็นต่อการแต่งงานและชีวิตครอบครัว เราต้องมองว่า ครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญที่สุดที่เป็นคุณค่าและสืบสร้างสังคมสมัยใหม่ของชนชั้นกลางและสูงของยุคสมัยใหม่ขณะนั้น ไม่ใช่การให้ความสำคัญแก่ปัจเจกบุคคลเหมือนในปัจจุบัน งานของพวกเขานี้แหละที่สร้างค่านิยมการสร้างตนเอง พึ่งตนเอง การหยิ่งในศักดิ์ศรี ฐานะ อาชีพ การงาน ความเป็นสุภาพบุรุษ ภาระหน้าที่ การปกป้องคุ้มครองผู้หญิง การมีสติมีเหตุผล สุขุมแก่ผู้ชายไทยมาจนอย่างน้อยก็คนในรุ่นต้น พ.ศ. 2500 ขณะเดียวกันก็ได้สร้างค่านิยมผู้หญิงที่ซื่อสัตย์ต่อความรัก ความเป็นแม่ศรีเรือน มีจิตใจดีเป็นหลักแห่งคุณธรรมของครอบครัว เพราะความเป็นแม่จำเป็นอย่างยิ่งต่อความเป็นครอบครัวในการถ่ายทอดค่านิยมกระฎุมพีสมัยใหม่แก่รุ่นลูกต่อไป ตัวละครหญิงบางคนอาจมีลักษณะเป็นตัวของตัวเอง โลดแล่นไปตามใจอิสระของตน แต่ท้ายที่สุดก็ต้องประสบชะตากรรมหรือต้องหวนกลับมาสู่การปกป้องของฝ่ายชาย การก่อร่างสร้างตัวของค่านิยมสมัยใหม่ปรากฏในชนบทด้วย ในงานแผ่นดินของเรา ทุ่งมหาราช ของมาลัย ชูพินิจ และไพรกว้างของอรวรรณ ความขัดแย้งระหว่างค่านิยมสมัยใหม่กับจารีตปรากฏในงานเช่น แผลเก่า ของไม้ เมืองเดิม รัฐชาติสมัยใหม่ต้องมีประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับที่อังกฤษต้องการ Sir Walter Scott ของไทยก็มีงานละครพระเจ้าเสือของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ งานประวัติศาสตร์ชาตินิยมรุ่นหลังของหลวงวิจิตรวาทการ ลพบุรี แต่ที่มีคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ ตรึงใจคนสูงก็คือ ขุนศึก บางระจัน ของไม้ เมืองเดิม และผู้ชนะสิบทิศของยาขอบ ข. งานด้านการวิพากษ์ (critique) และแนวพาฝัน : วรรณกรรมเพื่อการต่อสู้กับวรรณกรรมประชานิยมในช่วง 2475 - เหตุการณ์ 2516 ศรีบูรพาเป็นผู้นำในการสร้างจารีตการวิพากษ์ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น การเคารพความเท่าเทียมกันของมนุษย์ขึ้นในวรรณกรรมไทยมาตั้งแต่ก่อน 2475 ตามด้วยงานที่เด่นของเสนีย์ เสาวพงศ์ ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ ซึ่งเป็นงานที่จัดอยู่ในกลุ่มสัจวิพากษ์สังคม (Social Realism) หรือสัจนิยม (Realism) ที่สะท้อนความสมจริงและมนุษยนิยมในชีวิตของคนในงานของอิศรา อมันตกุล อาจินต์ ปัญจพรรค์ และตามมาด้วยงานภารกิจเฉพาะทางประวัติศาสตร์คืองานคัดค้านเผด็จการของสุวัฒน์ วรดิลก และนักหนังสือพิมพ์จำนวนมากตั้งแต่อุทธรณ์ พลกุล สนิท เอกชัย ฯลฯ และตามมาด้วยวรรณกรรมเพื่อชีวิตทั้งก่อนและหลัง 14 ตุลาฯงานของนายผี จิตร ภูมิศักดิ์ สุรชัย จันทิมาะร วัฒน์ วรรลยางกูร อัศศิริ ธรรมโชติ คมทวน คันธนู การวิพากษ์ (critique) เป็นจารีตของสังคมสมัยใหม่ แต่เป็นจารีตที่ไม่อาจตั้งมั่นอยู่ได้ หากจะนำพาตัวมันไปสู่สิ่งใหม่ในอนาคตเสมอ เพราะมันเป็นจารีตที่ต้องวิพากษ์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา นี้เป็นคุณปการสำคัญสุดของศรีบูรพาที่ทำให้เราเป็นอยู่เช่นดังปัจจุบัน งานสะท้อนสังคมของนักเขียนสตรีรุ่นแรกพัฒนามาเป็นวรรณกรรมแนวพาฝันแบบวัฒนธรรมประชานิยมซึ่งกลายเป็นกระแสใหญ่ที่สุดของวรรณกรรมไทย มีนักประพันธ์มากที่สุดทั้งชายและหญิง ดังงานอมตะ "บ้านทรายทอง" "ทัดดาว บุษยา" "สลักจิต" "ดาวพระศุกร์" "ปริศนา" "ละอองดาว" "คู่กรรม" ซึ่งได้กลายเป็นทั้งละครวิทยุ โทรทัศน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ควรมีการประเมินค่าวรรณกรรมกลุ่มนี้ใหม่ว่า มีบทบาทช่วยการผ่อนคลาย สร้างความหวัง ทางออกเชิงจินตนาการจากชีวิตประจำวันที่ขมขื่นหนักอึ้งแก่แม่บ้าน ผู้หญิง คนทำงาน ชนชั้นล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าต้องอดทนแล้วความสุขจะตามมา ตัวละครก็เริ่มมีอดีตการตกยากแบบคนจนมาก่อน

3.ยุคเปลี่ยนผ่านหรือสะท้อนวิกฤตของสมัยใหม่ ถ้าเรามองว่าความเป็นสมัยใหม่เป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้าเรา 2-3 รุ่นได้มีประสบการณ์กับมัน และเป็นผู้สร้างความเป็นสมัยใหม่ด้วยปลายปากกาหรือปลายปืนของพวกเขามาแล้ว ก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าวิกฤตของความเป็นสมัยใหม่ ความไม่มั่นใจในวิถีทางที่เราก้าวเดินมาได้เกิดขึ้นแล้ว และสะท้อนออกมาในวงวรรณกรรมในช่วงก่อนและหลังปี พ.ศ. 2500 ซึ่งสรุปโดยย่อ ๆ ดังนี้ ก.งานเชิงสัญลักษณ์นิยม ของอังคาร กัลยาณพงศ์ ถวัลย์ ดัชนี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นิคม รายยวา วิมล ไทรนิ่มนวล ก็เป็นการวิพากษ์การก้าวไปสู่ความเป็นสมัยใหม่โดยเอาจารีตเดิมเอาสัญลักษณ์ซึ่งยังบ่งถึงค่านิยมบางอย่างร่วมกันในสังคมมาเป็นเครื่องมือ งานป.อินทรปาลิตเป็น "งานเหนือจริง" (Surrealism) แบบไทย ๆ ที่เอาความเป็นไปไม่ได้ (Impossibility) มาวิพากษ์ความล้มเหลวในการสร้างสังคมสมัยใหม่ของไทย ข.การวิพากษ์โดยเชิงภาษา ความไม่มั่นใจว่าภาษาสะท้อนความจริงดังปรัชญาสมัยใหม่กล่าวอ้างหรือไม่ ปรากฏชัดเจนาในงานของจ่าง แซ่ตั้ง ค.การวิพากษ์เสียดสีการพัฒนา โดยอาศัยภาษาที่เซ่อซ่าแต่จริงใจของชาวบ้านในชนบท ปรากฏในงานที่ตรึงใจของคำสิงห์ ศรีนอก ส่วนการเสียดสี การกล่าวอ้างความสำเร็จของยุคสมัยใหม่โดยผ่านชีวิตตัวละครต่ำต้อย เช่น โสเภณี เด็กส่งกาแฟ ตำรวจชั้นผู้น้อย นักเลง ชาวไร่ผู้มีลักษณะเป็นเสเพลบอย มีชื่อที่ปะทะขัดแย้งระหว่างสิ่งเก่ากับความทันสมัย เช่น แจ้ง ใบตอง พริ้ม ฟักทอง ทอม จรกา ปรากฏอย่างน่าทึ่งในงานของ "รงค์ วงษ์สวรรค์" ง.การวิพากษ์รอบคุณธรรมของสังคมสมัยใหม่ไทยว่ามีจริงหรือไม่ ในงานหลายชิ้นของชาติ กอบจิตติ จ.การวิพากษ์โดยเนื้อหา ความไม่มั่นคงของชีวิตสมัยใหม่ในจิตสำนึกที่สับสนปรากฏในงานของสุวรรณี สุคนธา ณรงค์ จันทร์เรือง ศิลา โคมฉาย ฉ.ที่สวนกระแสเป็นกลุ่มวรรณกรรมประชานิยมใหม่ ที่สะท้อนความมั่นใจของรัฐไทยที่ขยายไปจัดการทรัพยากร โครงสร้างสังคมในชนบท ได้แก่ วีรบุรุษที่พิทักษ์ป่าไม้ และผดุงความยุติธรรมในชนบทเพื่อรัฐ เช่น เสือ กลิ่นสักของอรชร เปลว สุริยาของศรีรัตน์ รพินทร์ ไพรวัลย์ของพนมเทียน

4.วรรณกรรมในช่วงยุคสังคมสมัยใหม่ยุคที่สองหรือโพสต์โมเดิร์น : ความล้มเหลวหรือความจริงแท้ของปัญญาชนไทย ประวัติศาสตร์ช่วงเผชิญหน้ากับอาณานิคมความคิดปัญญาชนไทยมีกระบวนทัศน์ใหญ่ ๆ ที่ถูกเสนอขึ้นเพื่อบ่งชี้ความเป็นไปและทางออกของสังคมไทย 2-3 อย่างด้วยกัน แรกสุดคือการเสนอกระบวนทัศน์ รัฐพุทธ-ธรรมกษัตริย์ดั้งเดิมที่คงทนหนักแน่น แม้จะต้องปฏิรูปเปลือกภายนอกบ้าง กระบวนทัศน์ที่สองคือสังคมแห่งมนุษยภาพ เสรีภาพ การเคารพความเสมอภาคเท่าเทียมกน กระบวนทัศน์ที่สามคือแนวมาร์กซิสม์ที่ต้องการสร้างสังคมนิยมที่ไร้ชนชั้นและการกดขี่ อาจกล่าวได้ว่า สังคมไทยปัจจุบันก้าวมาสู่สังคมสมัยใหม่ยุคที่สองและสังคมสมัยใหม่ตอนปลายหรือสังคมหลังสมัยใหม่ ซึ่งล้วนแต่เป็นการอธิบายถึงสิ่งเดียวกันคือความล้มเหลวของ 3 กระบวนทัศน์ใหญ่ดังกล่าว คนรุ่นสมัยใหม่ยุคสองนี้ไม่สนใจสังคมใหญ่ พวกเขาอาจจะมีอุดมคติแต่เป็นจุดแยกย่อย เช่น อนุรักษ์ช้าง นก ป่าบางผืน พวกเขาไม่สนใจสัญลักษณ์แบบนักเขียนรุ่นยุควิกฤตสมัยใหม่ พวกเขาสนใจแต่สัญญะหรือเครื่องหมายที่บ่งถึงตัวตนของพวกเขาการต่อสู้ของพวกเขาทำเพื่อสิทธิและวิถีชีวิตของแต่ละคน ซึ่งก็แตกแยกย่อยเป็นส่วนเล็กส่วนน้อยเช่นกัน คนรุ่นนี้ทั่วโลกเริ่มมีประสบการณ์ร่วมกัน เกิดวรรณกรรมแปลที่หลากหลายวัฒนธรรมแต่มีจุดร่วมเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ขาดวิ่น ไม่มีสิ่งที่ศรัทธาได้ ไม่มีจุดหมาย ไร้ความมั่นคง การหมกมุ่นในคุณค่า ความหมาย กับภาวะแยกย่อยขาดวิ่นเหล่านี้ วรรณกรรมและวัฒนธรรมก็สะท้อนประสบการณ์เหล่านี้ออกมาเช่น การหมกมุ่นกับการนอน ครัว น้ำหนักตัว เพศ การกิน วิดีโอเกมของแต่ละบุคคล แต่นักประพันธ์รุ่นหลังก็ทำให้สิ่งเหล่านี้มีความงามทางศิลปะ น่าสนใจติดตามวรรณกรรมไทยก็เริ่มสะท้อนภาวะนี้ให้เห็นตั้งแต่แนวกระแสสำนึกของบุคคลของกนกพงศ์ สงสมพันธ์ แดนอรัญ แสงทอง วิถีชีวิตย่อย เช่น ครอบครัวกลางถนน ของศิลา โคมฉาย มุมมองย่อย ชีวิตที่เป็นเศษเสี้ยวไม่สอดคล้องของวินทร์ เลียววาริน อัญชัน และปราบดา หยุ่น เป็นต้น ผมเห็นว่ามุมมองใหม่นี้น่าจะช่วยให้บ้านเราได้มีประวัติศาสตร์วรรรกรรมเพิ่มขึ้นอีกกึ่งศตวรรษ ช่วยนำเอางานพาฝัน นิยายบันเทิงประโลมใจ นิยายบู๊ ประวัติศาสตร์ มาสู่อ้อมอกของวรรณกรรมอีกครั้ง ช่วยให้เราเข้าใจบทบาทของจ่าง แซ่ตั้ง ป.อินทราปาลิต หรือละครวิทยุโทรทัศน์และเข้าใจงานของนักประพันธ์รุ่นใหม่ ผมยังหวังว่าจะเป็นกรอบช่วยให้เราศึกษาทำความเข้าใจพัฒนาการส่วนอื่น ๆ ของวัฒนธรรมไทย เช่นเพลงไทยเดิม ไทยสากลได้ด้วย เมื่อหวนมองถึงสภาพวรรณกรรมไทยปัจจุบันของคนรุ่นหลัง เราอาจมองได้ 2 แง่คือ มันอาจบ่งถึงความล้มเหลวของปัญญาชนไทย ไม่อาจนำพาสังคมไปสู่อุดมคติบางอย่างได้ แต่มันก็อาจบอกถึงความสำเร็จพลังแห่งการวิพากษ์ที่ถอดรื้อความคิดเรื่อย ๆ มา จนทำให้เกิดภาวะประชาธิปไตยทางวัฒนธรรมที่เคารพกันมากขึ้นระหว่างชาติต่าง ๆ คนจนคนรวย วิถีชีวิตความเชื่อความชอบย่อย ๆ เรามีโลกที่หลากหลายซึ่งค้อมคารวะไม่ใช่แต่เพียงบุคคลที่ยิ่งใหญ่เช่นศรีบูรพาแต่พยายามชื่นชมความงาม วัฒนธรรม แนวคิดหลากหลายของทุก ๆ ชีวิตในโลก นี้อาจเป็นโลกหรือสังคมที่ก้าวมาจากศรีบูรพาแต่ก็ไกลอย่างมากจากศรีบูรพา

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ