ไพฑูรย์ ธัญญา : นักเขียนก็เหมือนหนามที่ไม่มีใครเสี้ยมให้แหลมได้

ไพฑูรย์ ธัญญา

เป็นโอกาสดีที่เราได้มีโอกาสพาสมาชิกเว็บไซต์ประพันธ์สาส์นมาทำความรู้จักกับนักเขียนชั้นแนวหน้าของเมืองไทย อย่างไพฑูรย์ ธัญญา นักเขียนรางวัลซีไรต์ประจำปี 2530 ด้วยผลงานรวมเรื่องสั้นก่อกองทราย ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นนามปากกาของ ธัญญา สังขพันธานนท์ เกิด 26พฤษภาคม พ.ศ. 2499 จ.พัทลุง ปัจจุบันเป็นอาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในวัยเด็กของไพฑูรย์ ธัญญานั้นต้องถือว่าโชคดีกว่าเด็กๆรุ่นราวคราวเดียวกันในละแวกบ้าน เนื่องด้วยความที่มีบิดาเป็นครูสอนหนังสือ ทำให้เขามีโอกาสได้สัมผัสกับหนังสือดี ๆ ของพ่อมากมายมาตั้งแต่เด็กๆ และจุดเริ่มต้นจากการอ่านนี้เองที่ผลักดันให้เขหันมาใส่ใจในงานการประพันธ์

“ในวัยเด็กของผมค่อนข้างโชคดีกว่าเด็กบ้านนอกแถวนั้น เพราะพ่อผมเป็นครู และพอมีหนังสือให้อ่านบ้าง ผมเลยตะลุยอ่าน คือเป็นเด็กชอบอ่านหนังสือ อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า การอ่านเลยเป็นต้นทุนให้ผม ทำให้อ่านเรื่อยมาจากความสนใจส่วนตัว คงเพราะอ่านมาก เลยอยากเขียน อีกอย่างอาจเป็นเพราะผมชอบครุ่นคิดเรื่องรอบตัว ประสาเด็กหนุ่มต้องมีความฝันอะไรสักอย่าง ผมเลยเลือกฝันที่จะเป็นนักเขียน เลยหันมาเขียน โชคดีที่ประสบความสำเร็จบ้าง

ผมเขียนจริงจังก็ปี 24 เริ่มจากเขียนกลอนก่อน จากนั้นก็มาเรื่องสั้น พอได้ลงพิมพ์ก็เริ่มคึก ก็เขียนติดต่อมา เขียนบ่อยและสนุกกับมัน พอดีตอนนั้นรวมกลุ่มกับเพื่อนๆทางใต้ กลายมาเป็นญาติวรรณกรรม และกลายมาเป็นกลุ่มนาคร พอเขียนมาได้สักเกือบยี่สิบเรื่องก็มีความคิดอยากรวมเล่ม การรวมเล่มหนังสือสำหรับนักเขียนใหม่ และบ้านนอก เป็นอะไรที่ยากจริงๆ เพราะเราไม่รู้จักใครเลย อาศัยอาจารย์เจน สงสมพันธุ์พอจะรู้จักเพื่อนที่ทำหนังสือ ก็เลยเป็นภาระให้ เราเดินตะลอนๆ กันนานเป็นปี ในที่สุดมันก็ได้ตีพิมพ์ (ปี 2528) พูดถึงสมัยนั้นกับสมัยนี้ ผมว่าสมัยนี้การรวมเล่มหนังสือง่ายกว่า (แม้ว่าจะยังยากอยู่ก็ตาม) ”

ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นหนึ่งนักเขียนในกลุ่มนาคร กลุ่มวรรณกรรมหัวเมืองปักษ์ใต้ ที่มีผลงานดีๆออกสู่สายตาสังคมมากกลุ่มหนึ่ง เขาบอกว่าการเกิดขึ้นของกลุ่มวรรณกรรมอย่างกลุ่มนาครนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่แสนธรรมดาเปรียบได้เหมือนกับคนคอเดียวกันที่มาพูดคุยปฎิสัมพันธ์กัน ไม่ได้เป็นลักษณะที่เป็นทางการอะไร “มันไม่พิธีรีตองหรือหลักการอะไรรองรับ มาจากความสนใจส่วนตัวของแต่ละคน เหมือนคนบ้านกหัวจุก/ไก่ชนมาเจอกัน ก็เลยคุยกันสนุก นานเข้าก็ก็กลายเป็นแก็งค์เป็น ก๊วน ต่อมาเริ่มพัฒนาความคิดและเป้าหมาย ให้ชัดเจนขึ้น มันเป็นปรากฏการณ์มากกว่า แต่ก็ทำให้พวกเราเขียนหนังสือมากขึ้น”

ไพฑูรย์ ธัญญามีผลงานหลากหลายแนว ทั้ง เรื่องสั้น บทความ นวนิยาย แต่ผลงานสร้างชื่ออย่างก่อกองทรายซึ่งเป็นผลงานรวมเรื่องสั้น ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า เรื่องสั้นเป็นงานที่ตนเองถนัดและพึงพอใจเมื่อได้สื่อสารออกมา และด้วยความที่เป็นอาจารย์ที่สอนทางสายวรรณกรรมด้วยตรง คุยนอกรอบในวันนี้จึงมุ่งประเด็นวรรณกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย รวมไปถึง โครงการต่างๆ ที่ไพฑูรย์ ธัญญาได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้อง

เราเชื่อมั่นว่าไม่ว่าในการเขียนระดับไหนย่อมสะท้อนและกำหนดทิศทางต่อภาพรวมของวงการวรรณกรรมไทย โดยเฉพาะมุมมองที่ได้รับมานี้คือมุมมองที่กลั่นกรองมาจากอาจารย์นักเขียนอย่างไพฑูรย์ ธัญญา

บรรยากาศในมหาวิทยาลัย นักศึกษากับความสนใจวรรณกรรม
ถ้าที่ผมอยู่ก็ถือว่าพอมีบ้าง มีทุกรุ่นนั่นแหละ แต่เป็นคนกลุ่มน้อย กระนั้นเขาก็ยังทำหนังสือขายในตลาดเปิดท้ายได้นะ ทำกันมา รวมกลุ่มบ้าง ผมรู้หมดแหละ เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มที่เรียนกับผม คลุกคลีตีโมงกันอยู่ แต่ก็ยังไม่แสดงตัวตนที่ชัดเจนมากนัก ผมว่ามันได้ในแง่ที่เป็นกิจกรรมทางเลือก เป็นฐานบ่มเพาะพวกเขาให้สนใจงานเขียนกันต่อไป แต่ที่อื่น ๆ ผมไม่รู้

การเป็นอาจารย์ในสาขาวิชาที่สอนมีผลช่วยในงานเขียนไหม
อันที่จริงความเป็นนักเขียนทำให้ผมสอนในวิชาที่เกี่ยวข้องได้ดีมากกว่า ส่วนมันจะทำให้ผมเขียนดีหรือไม่ ผมไม่มั่นใจ แต่เอาเป็นว่า ผมมีข้อมูลเกี่ยวกับนิสิตนักศึกษา มหาวิทยาลัย วันหนึ่งผมอาจเอามาใช้ได้

มีวิธีสอนนักศึกษาที่อยากเป็นนักเขียนอย่างไร
ผมบอกให้เขาไปอ่านมากๆ อ่านในสิ่งที่ตัวเองอยากเขียน แล้วก็ลงมือเขียน ให้สนใจความเคลื่อนไหวของคนวรรณกรรม และจับกลุ่มพูดคุยกัน ถ้ามีเวลาผมจะอ่านให้และแนะนำ ผมกระตุ้นให้เขาเขียนและส่งไปสนามใหญ่ แต่ทุกวันนี้ เขายังพอใจกับการทำในหนังสือทำมือ ขายกันในกลุ่มเล็กๆ หรือไม่ก็เขียนในบล็อกของตัวเอง ยังไม่ค่อยมีใครกล้าหาญส่งมาสนามใหญ่ หรืออาจเป็นเพราะยุคของเรามันต่างกัน เป้าหมายต่างกัน

เด็กที่เพิ่งเริ่มหัดเขียนมักจะมีจุดอ่อนตรงไหนและจะแก้ไขหรือพัฒนาไปได้อย่างไร
จุดอ่อนมากๆ ที่เห็นเสมอคืออ่านน้อย ภาษาไม่ดี เด็กไทยทุกวันนี้อ่อนภาษาไทยมาก ไม่ว่าจะเรียนเอกอะไร และคิดไม่เป็น ขาดความคิดเชิงวิเคราะห์ วิพากษ์ ยังมองอะไรอยู่ในกรอบ นี่คือปัญหาสำคัญของการเขียน ความคิดสำคัญที่สุด ที่สำคัญอีกอย่างคือเขาวอกแวก ไมค่อยเอาอะไรจริงจัง ยังมีลูกบ้าไม่มากพอ คนที่จะเป็นนักเขียนมันต้องมีธาตุอะไรบางอย่างอยู่ในตัว มันไม่ได้เป็นกระแส มันมาเอง เหมือนหนามมันต้องแหลมเอง ไม่มีใครไปเสี้ยมให้มันแหลม ผมยังคิดแบบนี้อยู่ เพราะเห็นมาเยอะ สิบคนอาจพบคนเดียว จุดอ่อนที่สำคัญคือเด็กไทยไม่อ่านวรรณกรรม เรามีวัฒนธรรมการอ่านที่อ่อนแอ (ครูเองก็ไม่อ่าน) แต่มีวัฒนธรรมจ้องมองที่เข้มแข็ง เราเลยประสบความสำเร็จในการทำคลิปวิดีโอมากว่าเขียนหนังสือ

การเขียนกวี เรื่องสัน ต้องอาศัย อารมณ์ หรือปัจจัยที่ต่างกันอย่างไร
อารมณ์มันต้องใช้หมด ไม่มีอารมณ์ก็เขียนไม่ได้ แต่ที่ต่างคือกวีคิดบนพื้นฐานของอัตตา เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เป็นพระเจ้า ส่วนนักเขียนเรื่องสั้นคิดแทนคนอื่น กวีต้องอยู่กับอารมณ์ตัวเอง นักเขียนต้องกระทบไหล่ผู้คนให้มากๆ แต่ทั้งสองต้องมองโลกด้วยสายตาที่ต่างจากคนอ่าน และในวงเล็บ ควรทำตัวให้ฉลาดกว่าคนอ่าน

เคยมีงานเกี่ยวกับหลวงพ่อคูณอยากทราบว่ามีทัศนะคติต่อ กระแสจตุคาม อย่างไร
หลวงพ่อคูนเป็นมนุษย์ ผมเขียนถึงท่านในแง่ของมนุษย์ปุถุชน เรียนรู้ประสบการณ์ความคิดของท่าน แม้ว่าคนส่วนมากที่ศรัทธาพยายามมองท่านเป็นเทพ ก็ตาม หลวงพ่อคูนที่แท้คือ นักสังคมสงเคราะห์ คนบริจาคท่าน ท่านก็เอาไปบริจาคให้สังคม ท่านแปลงศรัทธาให้เป็นทุนเพื่อช่วยสังคม แต่กระแสจตุคามเป็นธุรกิจ เป็นวัฒนธรรมป็อบ คนทำจตุคามคิดเพื่อธุรกิจอย่างเดียว จตุคามเป็นวัฒนธรรมโพส์ต์โมเดิรน์ในประเทศที่ยังอยู่ในยุคล้าหลัง มันเลยมั่วและผสมผสาน หาคำนิยามไม่ได้ แต่ตอบได้ว่า ทั้งหมดแปลงศรัทธาเป็นทุน มันขายนามธรรม และขายทุกอย่าง

ไปเป็นวิทยากรเกี่ยวกับค่ายนักเขียนต่าง ๆ มองเห็นอะไรที่น่าจุดประกายในเด็กบ้าง
มองในเชิงบวกผมว่าดี เป็นการให้ความรู้ การศึกษาทางการเขียน เป็นการให้โอกาสเด็กๆ แต่มองในเชิงวิพากษ์บางทีก็เป็นแฟชั่น มีจุดประสงค์แอบแฝง ทำๆกันไปงั้นๆ นักเขียนก็มัวแต่ไปพูดจนไม่ได้เขียน บางค่ายก็เน้นแต่งเพลงมากไป เพราะเจ้าของค่ายเป็นคนดัง มีนักร้องเยอะ เด็กๆก็เลยอยากเป็นนักร้องกันหมด จุดประสงค์มันเลยแกว่งไป อย่างไรก็ตาม หากมองว่าเป็นการให้ประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจผมว่าได้ ที่เป็นปัญหาคือไม่เลือกเฟ้นเด็กที่สนใจจริงๆ บางค่ายเจอทหารเกณฑ์ เลยมานั่งตาแววเหมือนลูกงูสิง ไม่รู้อะไรเลย นักเขียนที่เป็นวิทยากรก็เลยไปไม่เป็น

ตอนนี้เขียนอะไรอยู่บ้าง
เขียนนิยายค้างไว้เรื่องหนึ่ง กำลังอยากเขียนเรื่องสั้น แต่ที่เขียนจริงๆ เป็นพวกตำรา งานวิชาการมากกว่า มันเป็นภาคบังคับ ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะหลวมตัวมาสอนหนังสือแล้ว เลยรู้สึกว่าไม่ค่อยได้เป็น "นักเขียน" เทาไหร่ในตอนนี้

มีนักเขียนในดวงใจไหม ทั้งเรื่องสั้น และกวี
มีหลายคนก็ธรรมดา ชอบตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย แต่ไม่ผูกขาดใครคนใดคนหนึ่ง เราต้องเรียนรู้จากทุกคน ผมเลยไม่มีการจัดอันดับแล้วตอนนี้ ถ้าเอ่ยชื่อไม่ครบก็เป็นปัญหาอีก เอาเป็นว่า ผมชอบทั้งนักเขียนไทยร่วมสมัย และนักเขียนต่างประเทศบางคน

ถ้ามีคนถามว่า เรื่องสั้นที่สุดยอดอยากแนะนำให้เด็กที่เพิ่งหัดเขียนได้อ่านคือเล่มไหนอะไร
ผมขอแนะนำให้ไปอ่าน ลาว คำหอม (ฟ้าบ่กั้น) มนัส จรรยงค์ (จับตาย)เทพ มหาเปารยะ (จำปูน) อัศศิริ ธรรมโชติ (ชุดเจ้าขุนทอง)จำลอง ฝั่งชลจิตร (สีของหมา) และกนกพงศ์ สงสมพันธุ์

คิดว่าตลาดกวีบ้านเราเป็นยังไง
รู้สึกว่าจะหดแคบลง ทั้งคนอ่าน คนพิมพ์ หรือว่าที่จริงแล้วคนอ่านก็ยังเท่าเดิม เรายังไม่สามารถขยายฐานคนอ่านได้ โอกาสของการที่กวีรุ่นใหม่ๆ จะได้มีผลงานตีพิมพ์จึงลำบาก ประเทศไทยไม่สนับสนุนกวี ไม่เหมือนในอดีต ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา เด็ก ๆ เขายังอ่านวรรณคดีและบทกวีกันเลย (ยกตัวอย่าง จีน เวียดนาม) อะไรก็ตามที่มันไม่ " ขาย" มันจะลำบากใน บ้านเรา

ถ้าเจอช่วงที่ท้อ มีอะไรที่เป็นแรงผลักดัน หรือมีกำลังใจจากไหน
ก็ทำใจ ผมชอบคำนี้นะ "ทำใจ" เวลาท้อก็พยายามเบี่ยงเบนไปทางอื่น ด้วยการผ่อนคลาย อาจจะหาหนังสือดี ๆ มาอ่านหนังดี ๆ มาดู ผมว่ามันช่วยได้เยอะ ดีไม่ดีเราอาจมีแรงฮึดขึ้นมาอีก ผมเยียวยาตัวเองด้วยการอ่าน การเขียน หากผมมีปัญหา

งานชิ้นไหนของตัวเองที่สร้างยากที่สุด
สำหรับผม มันยากทุกชิ้น ยากเวลาคิด เขียน และทำมันให้ได้ดังใจ งานเขียนจึงเป็นสิ่งที่ยาก มันยากกันไปคนละแบบ เราไม่อาจดูถูกมันได้เลย ไม่อาจกำหนดอะไรได้มาก บางเรื่องมันดื้อด้วยซ้ำ แต่มันก็ท้าทายความสามารถของเรา

สอนเกี่ยวกับการวิจารณ์วรรณกรรมด้วยคิดว่าการวิจารณ์ในวงวรรณกรรมบ้านเราเป็นอย่างไร
ผมว่ามันก็ไปได้เรื่อย ๆ ไม่หวือหวา ไม่ถือว่าสลักสำคัญ แต่ยังไม่มีพลังมากพอ ไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนในต่างประเทศ เราชอบจัดงานเปิดตัวหนังสือ มากกว่าวิจารณ์หนังสือ ถ้าเทียบกับการเรียนการสอนที่มีอยู่แทบทุกสถาบัน ผลลัพธ์ของมันขาดทุนแน่นอน เพราะไม่มีใครมาทำหน้าที่วิจารณ์จริง ๆ คนไทยชอบ "นินทา " มากกว่า "วิพากษ์วิจารณ์"

อยากเป็นนักวิจารณ์ต้องทำอย่างไรบ้าง
อันดับแรกต้องเป็นนักอ่าน หาความรู้ด้านวรรณกรรมทั้งไทยและสากล รู้ประวัติวรรณคดี รู้ศาสตร์อื่น ๆ และต้องรู้หลักทฤษฎีบ้าง ที่สำคัญต้องมีจิตใจที่เป็นกลาง ยุติธรรม ไม่เห็นแก่อามิสประโยชน์ และต้องอดทนเป็นพิเศษ

นักเขียนรุ่นใหม่ ตอนนี้มองเห็นใครมีแวว รึน่าสนใจ
จะให้ฟันธงลงไปเห็นทีจะยาก เพราะเราก็ไม่ได้จับตามองอย่างรอบด้านและใกล้ชิด แต่น่าจะมีแววกันอยู่หลายคน เป็นคำถามที่ผมลำบากใจที่จะตอบ

บก.สำคัญกับนักเขียนมากไหม มี ใครที่เป็นบก. ที่ ไพฑูรย์ ธัญญายอมรับนับถือเป็นพิเศษไหมครับ
สำหรับผม สำคัญมาก ผมคิดว่าเราต้องทำหน้าที่กันคนละอย่าง บก.ก็ต้องทำหน้าที่ของบก. นักเขียนก็ทำหน้าที่นักเขียน เรามีสายตาคนละมุม ผมไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนนักเขียนที่ทำงานคนเดียว เขียนเอง เลือกเรื่องเองและพิมพ์เอง ผมว่ามันขาดวงจร ถ้าเป็นผมผมจะ "ไม่แล้วแต่ใจ" บก.มาเขียนแทนเราไม่ได้หรอก แต่เราก็จะเลือกเรื่องอย่างที่บก.เลือกไม่ได้ นักเขียนใหม่ ๆ ยิ่งต้องมีบก. ผมว่าแม้เราจะทำหนังสือ "ทำมือ" แต่ก็ควรมี "บก.ทำมือด้วย" ดังนั้นโปรดให้ความสำคัญกับรรณาธิการ

ฝากถึงคนที่อยากจะเป็นนักเขียน
ให้เชื่อมั่นและศรัทธาตัวเอง มานะพยายาม (เป็นพิเศษ) อย่าพูดมาก ปล่อยให้งานมันพูดแทนเราดีกว่า อย่าท้อ หากรักจะเป็นนักเขียน อ่านงานเขียนดีๆ บ้าง อ่านให้หลายแนว อย่าปิดกั้นตัวเองในโลกแคบๆ และคิดให้มากก่อนเขียน

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ