โกสินทร์ ขาวงาม : ผมเป็นคนวาดรูปคนหนึ่งที่บังเอิญเขียนถ้อยคำได้เท่านั้นเอง

โกสินทร์ ขาวงาม

กสินทร์ ขาวงาม เป็นชื่อที่คุ้นหูในสนามบทกวีมาช้านาน และโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆด้วยฝีมือที่แสดงความเป็นตัวตนของตนเองอย่างเด่นชัด แม้จะมีพี่ชายเป็นถึงกวีซีไรต์ แต่กว่าที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งจะเติบโตและก้าวเดินบนถนนสายวรรณกรรมได้นั้น...เป็นมากกว่าที่คาดคิด

ก่อนจะมาเป็นโกสินทร์ ขาวงามในวันนี้
ชีวิตตอนเด็กก็ไม่มีอะไรพิเศษ จบประถมแถวบ้านเกิด แล้วผลัดถิ่นมาเรียนมัธยม ที่ร้อยเอ็ด จบแล้วต่อมหา’ลัย มหาสารคามคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกทัศนศิลป์ แรกๆ ก็ไม่รู้ว่ากวีคืออะไร เพียงแต่ช่วงเด็กๆ ชีวิตและเรื่องราวส่วนใหญ่ข้องแวะกับความรู้สึก ความรู้สึกตอนนั้นคือผูกพันกับสัตว์เลี้ยง และความทุกข์ยากของลูกชาวนาทั่วไป บังเอิญตอนนั้นเราไม่รู้วิถีถ่ายทอดความคิดความรู้สึกของเรา เรามีแต่เก็บงำความคิด-ความทุกข์นั้นไว้ จนกระทั้งวันหนึ่งมาเจอรูปวาดใส่กรอบ รู้สึกชอบมาก เป็นรูปวาดของนักวิชาการท่านหนึ่งติดไว้ที่ห้องสมุดในโรงเรียน ตอนนั้นรู้สึกว่า แม้ไม่ได้พูดกับเพื่อนก็สามารถสื่อความรู้สึกได้ ตอนนั้นเริ่มวาดรูปสัตว์เลี้ยงอะไรพวกนี้ใส่กรอบ มันกลายเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เราบันทึกความรู้สึกของเราได้โดยไม่ต้องเก็บงำไว้ในใจ และที่สำคัญมันเป็นชิ้นงานที่เราพอใจด้วย ก็..พักหลังๆเริ่มเกิดความรู้สึกสัมผัสทางถ้อยคำ ผมว่า...มันอยู่ในชีวิตของมนุษย์ทุกคน คำคมอะไรต่างๆมันมีสัมผัสในตัว สิ่งเหล่านี้มันทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายได้มาก เริ่มแรกแต่งกาพย์ ยานี 11 ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ช่วงนั้นผมศึกษาวิชาภาษาไทย เคยขโมยหนังสือห้องสมุดด้วยนะ ตอนนั้นขโมยราชาธิราชไปอ่านที่บ้านแล้วก็เอากลับมาคือ คือ..ตอนนั้นมันเด็กเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำมันผิด (หัวเราะ)

ก้าวต่อมาจากเด็กชายลูกชาวนาสู่นักถ่ายทอดความรู้สึก
มันมีปมตอนเด็กนะ...ตอนนั้นยังเขียนรูปไม่เป็น แต่คิดว่าน่าจะพอเขียนรูปได้ตอนนั้น(ประถม) เรารู้สึกว่าเราเป็นเพียงเด็กศิลปะท้ายห้อง เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ซึ่งตอนนั้นในโรงเรียนมีคนเขียนรูปได้ดีกว่าเราเยอะ มันเหมือนเป็นปมมากกว่า เราเกลียดกลัวการลงสีการวาดรูป เพราะเราเกิดมาแบบมีปมในใจอยู่แล้ว เราอยากมีอัตลักษณ์ในตัวเอง เราเห็นคนอื่นวาดรูปได้ดีกว่าเรา (ยิ้ม) ผมมาคิด-มาเข้าใจตอนโตแล้วนะ ผมลองมองย้อนไปในวัยเด็ก เราอยากเป็นผู้นำคน แต่เราเป็นผู้ตามาตลอด อาจมีเด็กเกเรแถวบ้านไปยิงนกตกปลาไปอย่างหนึ่ง ผมก็เป็นอย่างหนึ่ง มันเหมือนกับว่า เราอยากเอาความละเอียดอ่อนในตัวเราเป็นผู้นำคนบ้าง ไม่อยากเอาความรุ่นแรงเป็นผู้นำคน

หลายคนอาจคิดว่าทางเดินของโกสินทร์ ขาวงาม ผู้มีพี่ชายเป็นถึงกวีซีไรต์จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เขาก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องฝันฝ่าจนกว่าจะเรียนรู้และเข้าใจตัวเอง
ไม่มีใครส่งเสริมเราเลย(หัวเราะ) ก็รู้อยู่แล้วว่าวิถีชีวิตแบบบ้านนอก พวกเต้นกินรำกินหรือเขียนถ้อยคำทำมาหากินเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่อยากให้เราทำอยู่แล้ว แต่บังเอิญว่า...ตอนนั้นเราคิดว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้เป็นที่ยอมรับกับคนอื่นได้ เป็นสิ่งที่พอทำได้ ทีแรกก็ไม่มีใครเห็นด้วย ตอนเด็กๆก็ไม่ได้วางแผนอนาคตอะไรมากมาย ก็พอรู้ว่า พี่ชายเขียนหนังสือ ตอนที่พี่ชายเขียนหนังสือใหม่ๆ กลับมาบ้านแต่ละที แกกลับมาอย่างยากลำบาก ชาวบ้านเห็นเข้าก็เหมือนว่าเขาเป็นคนแปลกของหมู่บ้าน ตอนนั้นเรายังคิดเลยว่าพี่ชายเราเขียนหนังสือทำไม ทำไมไม่หางานดีๆทำ พอแกกลับมา ก็ให้เราพาไปเก็บดอกจาน-ดอกหญ้าตามทุ่งนา บาทีเราก็เคยคิดพี่ชายเราเป็นบ้าหรือเปล่า(หัวเราะ) พอเราโตขึ้นเราก็เข้าใจว่าตรงนั้นมันเป็นรายละเอียดของการเขียนหนังสือ

สนามแรกที่ฟันฝ่าจนได้เผยแพร่บทกวีชิ้นแรก
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ (ยิ้ม) ชิ้นแรก ชื่อ ‘เมื่อคืนในร้านเหล้า’ มันขัดแย้งกับตัวผมมากเลยเพราะตอนก่อนนั้นผมจะไม่ดื่มเหล้าไม่สูบบุหรี่จะชอบไปนั่งกินน้ำเปล่าตามใต้ต้นไม้คิดอะไรไปเรื่อยคือ...ก่อนที่จะส่งบทกวีไปนั้นช่วงนั้นผมอยู่ปี1 ที่มหา’ลัย มหาสารคาม ผมมันพวกชอบทำกิจกรรม ตอนนั้นมีพี่คนหนึ่งอยู่กองกิจ(กิจกรรมนักศึกษา) พี่สัญญา (ใส่นามสกุลให้หน่อยครับ) ก็เห็นพวกน้องๆมันเคลื่อนไหวทำกิจกรรมบ่อย ตอนนั้นยังไม่ได้ทำกิจกรรมวรรณกรรมนะ คือเราเห็นความไม่ชอบมาพากลในมหา’ลัย เราก็เขียนป้ายประท้วงอะไรวกนั้น แล้วพี่เขาเห็นพวกเราน่าจะมีหัวด้านวรรณศิลป์ แล้วบังเอิญมาเจอกับผม พวกเราก็เลยรวมตัวกันเป็นกลุ่มเขียนหนังสือ ก็เริ่มแข่งกันว่าใครจะได้ตีพิมพ์ก่อน (หัวเราะ)แต่ผมก็ประเดิมสนามคนแรกเลยนะ (ยิ้ม)เพื่อนๆก็ทยอยตามมามีสัญญา,อภิชาต,อรรถพลแล้วก็มีรุ่นน้องตามมาเรื่อยๆ ความรู้สึกตอนนั้นมันก็ดีใจนะ แต่ก็ยังเกรงๆอยู่เพราะกวีในประเทศไทยเก่งๆมีเยอะ มันก็ตื่นเต้นเป็นธรรมดา

มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นอีกม.หนึ่งที่ได้ชื่อว่าสร้างนักเขียนขึ้นมาไม่น้อย บรรยากาศในรั้วมหา’ลัยสร้างนักเขียนขึ้นได้อย่างไร
มันก็มีบ้าง...แต่ผมว่าคนเราต้องมีวัตถุดิบเป็นตัวของตัวเองก่อน คือถ้าเราไม่มีแรงผลักจากตัวเองก็คงจะลำบากในโลกใบนั้น การจะทำอะไรต้องมีวัตถุดิบจากตัวเองเอง แต่เพื่อนเป็นกำลังใจมาส่งเสริมอีกที มันเหมือนกับว่าเราสื่อสารกันได้ง่ายเพราะวิถีชีวิตแบบเดียวกันที่สำคัญความผูกพันและมิตรภาพมันสำคัญกว่าสิ่งที่ทำ โดยที่มันก็ต้องมีคนเป็นแกนนำบ้าง คือเราไม่ชอบคนสอนแต่ชอบคนชี้แนะ มันเลยเกาะเป็นกลุ่มกัน รุ่นผมน่าจะเป็นยุคแรกที่ต่อสู้มาเพื่อให้เห็นชัดเจนว่าเราต้องการเดินบนเส้นทางนี้

 

โกสินทร์ ขาวงาม

 

วิถีการดำเนินชีวิตที่เติบโตในชนบทจนเมื่อกลับกลายย้ายถิ่นสู่เมืองหลวง เป็นส่วนหนึ่งของ “วัตถุดิบ”ในบทกวีแต่ละชิ้นที่เขากลั่นกรอง
ผมพยายามยืนยันอยู่เสมอว่า เทคนิคมันฝึกฝนกันได้ แต่วัตถุดิบบางอย่างในชีวิตเรา ใครก็มาเป็นแทนเราไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมจึงไม่ค่อยสนใจเรื่องเทคนิควิธีการเท่าไหร่ ผมจะคิดเรื่องเนื้อหาและอารมณ์มากกว่า คนเราถึงเก่งแค่ไหน ถ้าไม่สามารถสื่อถึงใจได้ก็เท่านั้น เหมือนเราวาดรูป เราเอาเทคนิคมาแปะบนรูปแต่ถ้าไม่มีความรู้สึกก็ยากลำบากเหมือนกัน ผมเคยคิดว่าสภาพแวดล้อมมันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนตัวเรา แต่วันหนึ่งผมกลับคิดได้ว่าสภาพแวดล้อมทำให้เราเติบโตขึ้น บางทีเราก็ไม่จำเป็นต้องด่าเมืองหรือไม่จำเป็นต้องชื่นชมชนบท เมืองก็มีแง่มุมที่สวยงาม อย่างที่ผมอยู่ตอนนี้เป็นชานเมือง ก็มียังเห็นดอกแคอยู่ บทกวีสอง-สามชิ้นที่ผมเขียนก็เขียนถึงดอกแคชานเมืองที่นี่ อย่างตอนนี้ผมอยู่กับลูก เลี้ยงเขา ดูแลเขา ผมก็มีบทกวีที่เขียนถึงเขา เขาทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนแปลง แต่ทุกอย่างมีแง่มุมที่งดงามเสมอ

กวีรุ่นใหม่หันหลังให้ “ฉันทลักษณ์” แต่นักเขียนพ่อลูกอ่อนคนนี้ยังมุ่งมั่นกับสิ่งที่ทำอยู่อย่างไม่หวั่นไหว แม้จะมีบ้างที่หันเหไปทำงานเขียนประเภทอื่น
ผมว่ามันแล้วแต่ทัศนะคติของแต่ละคน ผมคิดว่ากลอนเปล่ามันใกล้ชิดกวีได้ไวที่สุด ฉันทลักษณ์มันไม่ได้เป็นอะไรเลยถ้าคนเข้าใจมันนะ อาจจะเป็นอิสระอย่างหนึ่ง ถ้าคนเข้าใจมันลึกซึ้งเพียงพอ มันไม่สามารถมาจำกัดความคิดเราได้หรอก ผมว่าเราต้องศึกษารากฐานของประเทศเรานะ จะเป็นคนสมัยใหม่แค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าขาดรากทางวัฒนธรรมแล้ว มันก็จะเป็นได้เพียงเท่านี้....คนที่เติบโตขึ้นมาในประเทศหนึ่งเท่านั้น เราจำเป็นต้องศึกษา แต่มันก็ไม่ผิดหรอกบทกวีจะไร้ฉันทลักษณ์ เราจมาแอนตี้กันอยู่ทำไม เราน่าจะมาแลกเปลี่ยนความคิดกันมากกว่า ส่วนเรื่องสั้นมันเหมือน ผมมีเรื่องอยากเล่าแต่ไม่สามารถถ่ายทอดเป็นบทกวีได้ คือ...คนอื่นทำได้แต่ผมทำไม่ได้(หัวเราะ) ก็เลยเอาความคิดมาถ่ายทอดเป็นเรื่องสั้นกับความเรียง มันเป็นการปลดปล่อยอย่างหนึ่งแต่ก็มีกลิ่นอายความเป็นบทกวีอยู่

ภาพวาดนั่นเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดความรู้สึก?
บางทีผมก็อยากให้ภาพวาดมันสื่อความรู้สึกแทนคำพูด บางครั้งผมก็รู้สึกว่าถ้อยคำทุกคำบนโลกไม่สามารถเยียวยาเราได้ การวาดภาพทำให้มีเส้นมีสี ก็สื่อความรู้สึกได้ เราก็มีความสุขด้วย

การเป็นน้องชายกวีซีไรต์ ส่งผลอะไรกับงานเขียนของเราบ้างไหม
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพแวดล้อมทำให้เราเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ถ้าใครมาถามผม ผมก็จะพูดให้ฟัง...ความจริงผมก็เติบโตของผมโดยที่พี่ไพร ก็ไม่รู้ว่าผมวาดรูปเป็นหรือคิดอะไรอยู่บ้าง แต่เรามาเจอกันในช่วงเวลาที่มันเชื่อมต่อถึงกันได้ มันก็OK.มีความสุขดีนะ ถ้าถามว่ามีอิทธิพลกับเรามากไหม? ก็อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องเริ่มจากตัวเองก่อน เราต้องมีวัตถุดิบของตัวเอง สมมุติว่าผมเป็นน้องชายพี่ไพรแต่ผมไม่มีเรื่องราวจะเอาไปบอกเล่าให้คนในสังคมรู้ มันจะเกิดอะไรขึ้นไหม? ก็ไม่เลย ไม่มีบทกวีหรืองานเขียนอะไรเลยถ้าผมไม่มีอะไรในตัวเอง

พี่ชายช่วยดูแล-แนะนำอะไรไหม
เราแทบจะคุยกันน้อยมาก แต่เราก็รู้ว่าต่างคนต่างทำอะไรอยู่ ต่างคนต่างทำงานของตัวเองเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน แม้จะหยิบยืมคำใดคำหนึ่งก็ต้องโทรศัพท์ขออนุญาตกันก่อน แม้จะเป็นพี่น้องแต่เราก็เคารพซึ่งกันและกัน ผมเลยรู้สึกมีความสุขมาก เวลาเราหยิบยืมคำกันมาใช้หรือมีปัญหาอะไรไม่เข้าใจภาษาเขมร เราก็พูดคุยกัน แต่เรื่องขัดเกลางานไม่ค่อยมีนะ...ส่วนใหญ่เขาจะให้คำแนะนำมากกว่า

เคยได้รับรางวัลอะไรบ้าง
ก็มีประกวดหนังสือทำมืออินดี้บุ๊ค ครั้งที่สาม ตอนนั้นเพื่อนยุ(หัวเราะ) คือปีแรก พี่มาโนช ได้ ปีที่สองสัญญาได้ พอปีที่สามเพื่อนยุก็เลยลองทำดูบ้าง เอาต้นฉบับจำนวนหนึ่งมาทำและวาดรูปประกอบ ให้เพื่อนๆ ช่วยดูให้ก็ส่งประกวด ตอนนั้นคิดแค่อยากร่วมสนุกมากกว่า ธรรมชาติของเราไม่ค่อยคิดอะไรอยู่แล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราก็ตื่นเต้นกับรางวัล ซึ่งมันกระตุ้นและสร้างบรรยากาศ ให้หนังสือทำมือด้วย เราเคยทำหนังสือทำมือขายแต่ขายในมหา’ลัย ไปสเกตรูปขาย มันเป็นความสุขแบบคนหนุ่ม อาจจะไม่ได้งดงามนัก แต่มันก็เป็นสุขดี

มองแวดวงหนังสือทำมืออย่างไร
รูปเล่มการจัดวางมันก็ต้องOKด้วย ผมเคยเจอคนหนึ่งบ่นประมาณว่า เขาเขียนมานานไม่ได้รางวัลอะไรทำนองนั้น ผมก็เลยบอกเขาว่า ต้องดูให้ละเอียดก่อน หนังสือทำมือมันก็ต้องทำให้หนังสือดูดีสวยงามด้วย แต่ไม่ใช่ว่าเนื้อหาจะดูไม่ได้เลย มันต้องสองอย่างควบคู่กันไปต้องพิถีพิถัน ต้องเข้าใจทุกขั้นตอน

มีหนังสือเล่มแรกแล้ว
น่าจะเรียกว่าเป็นความบังเอิญอย่างร้ายกาจ คือตอนนั้นพี่เสี้ยวจันทร์ เรียกขอดูต้นฉบับแล้วเข้าไปคุยที่เครือข่ายนักเขียน พอดีตอนนั้นมีโครงการ “หนังสือเล่มแรกของนักเขียน” ก็เลยเอาต้นฉบับมาคุยกัน ก็ประมาณเดือน-สองเดือน มันเหมือนโอกาสและจังหวะมันพอดี มันพอดีกับชีวิตตอนนี้ด้วย ทั้งเรื่องลูกหรือเรื่องอะไรก็ตาม การรวมเล่มก็ดี ทำให้เราได้เห็นทิศทางของตัวเองชัดเจนมากขึ้น เราวางแผนให้ตัวเองถูก รู้ทิศทางของตัวเอง บทกวีมันเปลี่ยนแปลงโลกไม่ได้หรอก แต่เราก็มีความสุขที่กับการได้อยู่กับสิ่งต่างๆรอบข้าง เราอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ แต่เราคิดแค่ว่า เราจะเขียนมันอยู่ มีความสุขอยู่กับมัน

คาดหวังอะไรกับกวีนิพนธ์ไทยบ้างไหม
ถามผม! ถามผิดคนแล้วละ (ยิ้ม) ผมไม่ได้คาดหวังอะไรเลย ไม่ใช่เราเหนื่อยกับการเขียนบทกวี แต่มันเป็นธรรมชาติของเราเอง

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ