รศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ : คณะกรรมการซีไรท์และนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย

รศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

แขกรับเชิญของ คุยนอกรอบ ในครั้งนี้เป็นถึงคณะกรรมการซีไรท์และนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย รศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่ในแวดวงวรรณกรรมมานาน ให้เกียรติมาคุยแบบนอกรอบกับเรา ถึงกระแสโพสต์โมเดิร์นที่กำลังฮิตเหลือเกินในตอนนี้ และทำนายแนวโน้มหนังสือเบสท์เซลเลอร์ในปี 2545 อยากรู้ไปติดตามกันได้เลย.

อาจารย์คิดอย่างไรกับกระแสโพสต์ที่กำลังดังอยู่ตอนนี้คะ
ส่วนหนึ่งมันเฮกันไปตามกระแสนะคะ มันหนีไม่พ้นว่าลมตะวันตกก็จะพัดมาทีหนึ่ง ซึ่งก็อย่างที่ได้พูดกันว่าบางอย่างที่เราคิดว่าอันนี้เป็นการกบฏต่อกฎเกณฑ์เก่า เค้าก็มีคนกบฏมาก่อนหน้านี้แล้ว รูปแบบก็มีคนเขาทำกันมาก่อนหน้าแล้ว แต่ว่ามันก็เป็นความเคลื่อนไหวที่เราต้องยอมรับสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ ๆ ที่เขาคิดว่าเขาจะหาแนวทางอะไรที่แปลก ๆ พยายามจะแหวกไปจากจุดเดิม บางคนก็อาจเป็นโพสต์จริง บางคนก็อาจเป็นโพสต์ไม่จริงก็ได้

แล้วนักเขียนรุ่นใหม่คนไหนที่คิดว่าน่าจับตามองและเด่นพอจะเป็นตัวแทนของยุคสมัยนี้คะ
ไม่เกี่ยวว่าเป็นโพสต์หรือไม่นะคะ เอาเป็นว่าพี่ชอบงานของใครมากกว่า พี่ชอบงานของ เดือนวาด คนอ่านอาจจะรู้สึกยากมากที่จะเข้าถึงงานเขาได้ เพราะว่ามันจะซับซ้อนยอกย้อนหลายชั้นเชิงมาก หากมองในความเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ เขาอาจไม่มีชื่อโด่งดังในแง่ว่ามีคนอ่านมากหรืออะไร แต่มันจะไปอยู่ในกลุ่มของงานคุณภาพ ซึ่งจะเห็นว่ามีความสามารถ มีแววในการสร้างงานอยู่ค่อนข้างสูง แล้วก็กลุ่มพวก ปริทัศน์ หุตางกูร ทินกร หุตางกูร จะมีลักษณะใหม่ ๆ ของการกล้าเขียน ในเรื่องของวิธีการนำเสนอ แล้วก็คงไม่พ้น ปราบดา หยุ่น อันนี้ก็เป็นที่น่าสนใจในเชิงวิธีคิดแล้วก็ภาษาของเค้า

ของปราบดา หยุ่น ดูเหมือนจะเชื่อมโยงระหว่างรุ่นครูอบ ไชยวสุ (ฮิวเมอร์ริสต์) มาถึงรุ่นใหม่นะคะ
ใช่ค่ะ ในขณะที่คนอื่นที่กล่าวมามันอาจมองไม่เห็นรากเดิมมากเท่าไหร่แล้ว แต่ว่าของปราบดา เป็นจุดเด่นเพราะมันมองเห็นรากเก่าของนักเขียนที่เป็นนักเขียนเด่น ๆ ของเราในรุ่นอดีต แล้วเขาเชื่อมโยงมาใช้กับวิธีคิดของคนสมัยใหม่ได้

อาจารย์คิดว่ารสนิยมส่วนตัวของนักวิจารณ์วรรณกรรมจะมีผลต่อการวิจารณ์ไหมคะ
มีผลนะ เพราะว่านักวิจารณ์วรรณกรรมแต่ละคนก็จะมีรสนิยมของตัวเอง บางคนก็ชอบเรื่องหนัก บางคนก็ชอบเรื่องเบา แต่สิ่งที่สำคัญคือว่าทำอย่างไรให้รสนิยมส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องกับการวิจารณ์ให้น้อยที่สุด ไอ้การจะบอกว่าต้องไม่มีรสนิยมส่วนตัวมันเป็นไปไม่ได้ ทุกคนต้องมีรสนิยมส่วนตัวอยู่ในใจ บางทีอันอาจไม่ใช่เรื่องในแนวที่เราชอบ แต่ว่าเรื่องนี้มันมีประเด็นที่เราจะหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในการวิเคราะห์ตีความ แล้วเราอยากจะให้ความคิดของเรามันส่งทอดไปสู่ผู้อ่านคนอื่นด้วย ตรงนั้นล่ะที่รสนิยมส่วนตัวของเรามันจะต้องถูกเก็บเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

มีคนพูดกันว่าเมืองไทยสมัยนี้ไม่มีนักวิจารณ์แล้ว มันกลายเป็นการรีวิวหนังสืออย่างเดียว
มันคงไม่ถึงขนาดนั้น งานของคนที่เป็นนักวิจารณ์แท้จริงก็ยังคงมีอยู่ ส่วนการรีวิวหนังสือมันอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยsนึ่งก็มาจากตัวผู้ที่เป็นนักวิจารณ์ ที่อาจจะขาดความรู้แล้วก็ความรอบรู้ แล้วก็ความเจนโลกในแง่ของประสบการณ์ชีวิตที่จะมองตัววรรณกรรมได้อย่างลึก มองผ่านตัวหนังสือทะลุเข้าไปว่าวรรณกรรมนั้นเป็นเรื่องของชีวิตด้วย เราอาจจะขาดคนที่มีการสั่งสมทางด้านนี้นะคะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นความผิดพลาดของเขา สิ่งเหล่านี้มันอยู่ที่ประสบการณ์สั่งสม กับอีกอย่างต้องโทษสื่อว่าพื้นที่ที่เปิดให้น้อยนั้นมันทำให้บทวิจารณ์ไม่สามารถมีอะไรที่ลึกซึ้งได้ เพราะพื้นที่มันมีน้อย จะเขียนอะไรได้มากล่ะ

ทัศนะของอาจารย์คิดว่าหนังสือแนวไหน่าจะเป็นเบสท์เซลเลอร์ในปีหน้า
ตอบยากแฮะ แต่คิดว่าแนวคนดังน่าจะยังอยู่นะ แม้จะดูประหนึ่งว่าจะเริ่มซาลงไปบ้างแล้ว แต่คนดังเหล่านั้นเมื่อมีเล่มหนึ่งออกมาแล้ว ก็มักจะมีเล่มสองเล่มสามตามออกมา แล้วก็พวกแนวโพสต์โมเดิร์นทั้งหลายก็อาจยังมีอยู่ โพสต์จริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ก็จะมีนักเขียนใหม่ ๆ ที่พลิกแพลงวิธีการนำเสนอเหล่านี้ ก็น่าจะเป็นเบสท์เซลเลอร์ อีกอย่างที่น่าจะเป็นเบสท์เซลเลอร์สำหรับปีหน้าได้ก็คือ วรรณกรรมสำหรับเด็ก เพราะมีแนวโน้มของการเติบโตที่น่าสนใจอย่างมาก ด้วยอิทธิพลของแฮรรี่ พอตเตอร์ กับเรื่อง ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง แล้วก็การจัดประกวดวรรณกรรมสำหรับเด็กของค่ายใหญ่ ๆ ก็ถือเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญทีเดียว แต่เล่มไหนจะเป็นเบสท์เซลเลอร์นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แล้ววรรณกรรมเยาวชนของไทยล่ะคะ
วรรณกรรมเยาวชนไทย ก็มองในแง่ที่มีคนอ่านมากขึ้น มีคนเขียนมากขึ้น ผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองให้ความสำคัญมากขึ้น ก็อาจทำให้กลายเป็นแนวเบสท์เซลเลอร์ขึ้นมาได้

อาจารย์ชอบอ่านวรรณกรรมแนวไหนคะ
มันก็เปลี่ยนไปตามอารมณ์นะ บางทีก็อยากอ่านแนวปรัชญาที่มีข้อคิดหนัก ๆ บางทีก็อยากอ่านเรื่องในแนวอารมณ์หวาน ๆ บางทีก็อยากอ่านเรื่องในแนวสนุก มันมีช่วงหนึ่งที่ชอบมากคือในแนวสืบสวนสอบสวน คดีฆาตกรรม นักสืบลึกลับอะไรอย่างนี้ เพราะวรรณกรรมประเภทนี้มันทำให้เราต้องคิดตาม เวลาอ่านเราไม่ได้หลุดหลงใหลอยู่ในเรื่องของอารมณ์ มันก็เป็นความสนุก แต่บางช่วงก็ต้องอ่านแนววิชาการ เพราะฉะนั้นมันขึ้นอยู่กับอารมณ์ การจะบอกว่าเราชอบอ่านแนวไหนมากที่สุดนั้น บางทีมันขึ้นอยู่กับอารมณ์และสถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ

ที่อ่านมากที่สุดล่ะคะ
ที่อ่านมากที่สุดเพื่ออะไรล่ะ เพื่อความบันเทิงหรือเพื่อวิชาชีพ

ความบันเทิง
ถ้าเพื่อความบันเทิง ชอบอ่านเรื่องสืบสวนมากที่สุด แต่เรื่องใหม่ ๆ นี่ไม่ค่อยได้อ่านนะ ช่วงหนึ่งจะอ่าน อกาธา คริสตี้ มาก แล้วก็อ่านงานของ เชอร์ล็อก โฮล์ม ทั้งชุด อ่านจนเขียนบทความได้เลย ไม่ถึงกับคลั่งไคล้ แต่อ่านเพื่อความสนุกว่าไอ้คดีแบบนี้แล้วเค้าสืบอย่างไร ด้วยวิธีการไหน

อยากให้เกิดอะไรขึ้นกับวงการวรรณกรรมบ้านเราคะ
หนังสือราคาถูก ๆ นักเขียนได้ค่าเรื่องเยอะ ๆ มีได้ไหมแบบนี้ หนังสือราคาถูก ๆ คนจะได้อ่านหนังสือเยอะขึ้น นักเขียนได้ค่าเรื่องเยอะ ๆ ก็จะมีกำลังใจในการเขียนเรื่อง พอจะเป็นไปได้ไหมนี่

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ