อ่าน คิด เขียน เรียนรู้ เส้นทางสู่การวิจารณ์ที่ไม่หยุดนิ่งของ จรูญพร ปรปักษ์ประลัย : กับ 34 ปีแห่งการส่งต่อแรงบันดาลใจ

อ่าน คิด เขียน เรียนรู้ เส้นทางสู่การวิจารณ์ที่ไม่หยุดนิ่งของ จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

    ในโลกของวรรณกรรมและการวิจารณ์ การอ่านและการตีความเชิงลึกเป็นทักษะที่ต้องอาศัยความตั้งใจและการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง อาจารย์จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์มากประสบการณ์ผู้ได้รับรางวัลนักวิจารณ์หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ และยังเป็นวิทยากรในโครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่การวิจารณ์” เป็นตัวอย่างของบุคคลที่ใช้ความรักในการอ่านและการเขียนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่

    ตลอดระยะเวลา 34 ปีของการทำงานด้านวิจารณ์ อาจารย์จรูญพรได้เผยแพร่งานวิจารณ์ในหลากหลายสื่อ และมีส่วนช่วยขัดเกลาแนวคิดของผู้เข้าร่วมโครงการให้เข้าใจถึงความสำคัญของการวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ ด้วยประสบการณ์และความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ เขาได้ช่วยเปิดมุมมองให้เยาวชนค้นพบศักยภาพของตนเอง ทั้งในด้านการอ่าน การเขียน และการวิจารณ์

    ในบทสัมภาษณ์นี้ เราจะมาร่วมพูดคุยกับอาจารย์จรูญพรถึงประสบการณ์ในฐานะวิทยากร ความเปลี่ยนแปลงของผู้เข้าร่วมโครงการ ความเห็นต่อเทคโนโลยี AI ในแวดวงวรรณกรรม ตลอดจนข้อคิดสำคัญสำหรับเยาวชนผู้สนใจเดินเส้นทางสายนี้ พร้อมถอดบทเรียนและมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาในฐานะนักวิจารณ์ผู้มากประสบการณ์

 

 

แนะนำตัว

    จรูญพร ปรปักษ์ประลัย  นะครับเป็นวิทยากร โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ การวิจารณ์  เป็นนักวิจารณ์รางวัลนักวิจารณ์รางวัลหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ทำงานมาต่อเนื่อง ปีนี้เป็นปีที่ 34 เขียนวิจารณ์ให้กับนิตยสารหลายฉบับ คือเริ่มจากนิตยสารที่ชื่อว่า "สีสัน" แมกกาซีนที่มี ทิวา สาระจูฑะ เป็นบรรณาธิการ แล้วก็เขียนก่อนเล่มตั้งแต่ปี 2533 ตอนนั้นยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่สามก็เริ่มเขียนส่งมาเรื่อย ด้วยความสนใจในการอ่าน การวิจารณ์และก็การเขียนก็ทำต่อเนื่อง

     จนกระทั่งประพันธ์สาส์นมีการเปิดค่าย ได้รับการเชิญชวนเข้าร่วม รู้สึกเป็นค่ายที่เราอยากเข้ามาเพราะอยากเห็นน้องๆทำงานในสายงานที่เราชอบ ก็คือเรื่องของการวิจารณ์ และอ่าน อยากให้น้องๆ สนุกกับการอ่าน การวิจารณ์ด้วย  หลายๆคนมองเรื่องการวิจารณ์เป็นเรื่องเคร่งเครียดแต่ว่าผมมองว่าการอ่านมันเหมือนกับว่าถ้าเรามีเพื่อนที่ได้พูดได้คุยแทนที่จะคุยกันแบบตัวต่อตัวก็พูดคุยกันผ่านตัวหนังสือนี่คือจุดเริ่มต้นที่ผมเริ่มทำงานวิจารณ์มาแล้วก็อยากจะส่งต่อให้กับตัวน้องๆ

 

 

ในฐานะวิทยากร ปีที่ 4 – ปีที่ 10 เรื่องของการวิจารณ์เรื่องสั้น สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงทางความคิดของน้องๆ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายไหมครับ

     ในแต่ละปีเราก็มีโจทย์ให้น้องๆ อ่านแล้วก็ทำความเข้าใจกันในแง่ของการเขียนหรือวิจารณ์เพื่อให้น้องเขามีการปรับจูนว่าการวิจารณ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร  เพราะหลายๆ คนเรียนเรื่องของการอ่านการวิจารณ์จากห้องเรียนก็จะมีลักษณะเป็นการเรียนแบบกึ่งๆ วิชาการมันก็จะไม่ได้เป็นในแบบที่เราคาดหวังว่าบทวิจารณ์มันควรจะมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง ตรงนี้ก็จะเป็นการจูนทำความเข้าใจกับน้องๆ ก่อน ทุกปีก็จะมีลักษณะคล้ายๆ กันแต่ละปีก็จะมีน้องๆ มาจากหลากหลายที่แล้วก็ทั้งระดับการศึกษาที่มัธยมและระดับอุดมศึกษา

     ปีนี้ถ้าเทียบกับปีก่อนๆ ในห้องของเรื่องสั้นเป็นปีที่น้องมัธยมเยอะ เข้ามาก็ต้องบอกว่าน้องมีความสนใจในการอ่าน สิ่งที่เห็นชัดก็คือพอให้โจทย์เรื่องสั้นที่เป็นต้นฉบับเรื่องสั้นไปอ่านเพื่อนำมาใช้การวิจารณ์ น้องๆ ก็ตั้งอกตั้งใจกันมาก ทุกคนก็นั่งเงียบเอาจริงเอาจัง ขีดเส้นใต้ วงๆ อะไรต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจกับตัวเรื่องอย่างละเอียดละออ ทั้งระดับที่เป็นน้องมัธยม และระดับที่เป็นอุดมศึกษาเค้าก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน

 

      สิ่งที่แตกต่างก็คือน้องที่เรียนอยู่อุดมศึกษาก็จะมีความรู้ในเรื่องวรรณกรรมวิจารณ์มากกว่าโดย เฉพาะคนที่เรียนสายภาษาไทย เรียนทางด้านอักษรศาสตร์ ก็จะมีความเข้าใจหรือว่ามีองค์ความรู้ มีเครื่องมือที่จะใช้ในการทำความเข้าใจกับการอ่านมากกว่า อันนี้ก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างน้องๆกับพี่ๆที่เราเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดคุยในห้องว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นอย่างไร  ผลงานที่ส่งเข้ามาเพื่อขอรับทุนได้จะมีลักษณะเนื้อหาของการแสดงความคิดเห็นอย่างไรบ้าง นี่คือสิ่งที่เราให้น้องๆได้แชร์กันได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์แลกเปลี่ยนแนวความคิดและก็แนว การเขียน แนวการวิจารณ์ของแต่ละคนว่าแต่ละคนมีอะไรอยู่ในตัว แล้วเราก็เห็น ว่าน้องมีอะไรอยู่แล้ว และขาดอะไร แล้วเราควรจะเติมอะไร แล้วก็เติมเข้าไปในส่วนของการสอน

 

     ถ้าพูดถึงความแตกต่างจากรุ่นอื่นก็น่าจะเป็นรุ่นที่มีเด็กเข้ามาเรียนเรื่องสั้นเยอะ แต่ว่าในความสนใจไม่ได้ด้อยกว่ารุ่นก่อนๆ ความสนใจ ความใส่ใจ และพลังของเยาวชน พลังของเด็กๆ ก็มีพลังกันเยอะอยู่ หลายๆคนแบบว่า นอกรอบก็ขอมาคุยชวนคุยและพูดถึงสิ่งที่มากกว่าเรื่องของการวิจารณ์หรือการอ่านหรือการศึกษาวรรณกรรม พูดถึงใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นนักเขียนบท คือผมก็ทำงานเขียนบท เขียนบทหนัง เขียนบทละคร เขียนบทซีรีย์หลายๆเรื่อง บางคนก็อยากเป็นนักเขียน บางคนก็อ่านงานของนักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายๆคน อ่านงานของ คุณทมยันตี กฤษณา อโศกสิน แล้วก็มาแลกเปลี่ยนพูดคุยในลักษณะของการที่อยากจะพบเจอกับนักเขียนหลายๆคน รู้สึกว่าคนเหล่านั้นก็เป็นไอดอลของเค้าเป็นต้น

 

     เราก็เห็นว่าน้องมีภูมิในการอ่านค่อนข้างจะเยอะ อย่างน้องที่เล่าให้ฟังเป็นน้องที่ไม่ได้เรียนทางด้านอักษรศาสตร์โดยตรงแต่ว่ามีความสนใจตรงนี้ในเรื่องของการอ่านอย่างมาก งานตั้งเยอะที่เค้าพูดถึงผมไม่เคยอ่านเลยนะ แสดงว่าเค้าก็อ่านเยอะจริงๆอ่านในส่วนที่เค้าสนใจชอบที่อยากอ่าน

 

 

อะไรคือสิ่งสร้างแรงบันดาลใจกับอาจารย์

    ถ้าพูดถึงเรื่องของแรงบันดาลใจน่าจะเป็นเรื่องของเวลาที่เขาอ่าน เราเห็นความตั้งใจ คืออ่านละเอียดกันจริงๆ เค้าอ่านกันหลายๆ เรื่องและก็เวลาที่เค้าส่งงานมาในค่ายนี้จะมีการให้อ่าน ทุกคนก็จะมีผลงานคนละหนึ่งชิ้นคนละประมาณสองหน้า ทุกคนก็เขียนออกมาแล้วก็เห็นตัวชิ้นงานของน้องๆ น้องๆก็อ่านกันละเอียด บางสิ่งแม้แต่เราเองที่เราอ่านก็อาจจะมองข้ามหรือไม่นึกถึงหรือไม่ได้ไปตีความในแบบที่น้องๆ ตีความ

 

    ตรงนี้แหละคือจุดที่เราประทับใจในการอ่านอย่างตั้งอกตั้งใจของเค้า คือต้องบอกว่าเป็นน้องที่มีความละเอียดละออในการอ่าน จริงๆ อ่านเรื่องสั้นมันจะต่างจากอ่านบทกวี คือบทกวีคำมันน้อย อ่านทุกคำ ไม่น่ามีปัญหา แต่พอมันเป็นเรื่องสั้น เราเห็นว่าเค้าอ่านทุกคำ เก็บทุกคำจริงๆ ก็รู้สึกว่าน้องมีความละเอียดซึ่งตรงนี้เป็นคุณสมบัติอันดับแรกของคนที่จะทำงานวิจารณ์ได้คือต้องมองอย่างลึกซึ้งละเอียดเพราะว่าคำว่าวิจารณ์มันก็คือการพิจารณาโดยรากศัพท์เดียวกัน วิจารณ์ พิจารณ์ พิจารณา คืออย่างเดียวกัน

 

      หลักเริ่มต้นหรือพื้นฐานที่สุดของนักวิจารณ์คือการพิจารณางานอย่างละเอียด ก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นต่องานนั้นโดยมีหลักของเหตุผล ไม่ว่าหลักของเหตุผลของคุณจะเป็นเหตุผลที่อ้างอิงหลักวิชาการใด อ้างอิงตัวบทเอง อ้างอิงทฤษฎี อ้างอิงจากหนังสือเล่มอื่น เปรียบเทียบกับงานในแนวทางเดียวกันหรืออะไรก็ตาม มันก็ล้วนเป็นเหตุผลเพื่อสนับสนุนกำกับให้ชิ้นงานวิจารณ์นั้นมีน้ำหนัก หนักแน่น น่าเชื่อถือ และน่าสนใจขึ้น

 

 

      การวิจารณ์เรื่องสั้น มันต้องมี Voice ของตัวเอง หรือ ต้องใช้หลักการในการวิจารณ์ งานวิจารณ์หลายๆคนมองการวิจารณ์เหมือนเป็นการตอบข้อสอบอะไรบางอย่างว่านักเขียนแบบนี้ เราเห็นอะไรจากงานของนักเขียนบ้าง  หลายคนก็จะเขียนคล้ายๆกับรายงานส่งครู ถ้าเขียนเป็นรายงานส่งครูวิธีการเขียนมันก็จะดูนิ่งๆ ไม่น่าสนใจ ไม่มีลูกเล่น ไม่มีลีลา

 

      ถ้าเป็นการวิจารณ์ในระดับที่มีชื่อมีชั้นเขาก็จะมีสไตล์ของการเขียนอยู่พอสมควรมีวิธีที่จะเล่นคำที่ไม่ต่างจากนักประพันธ์เพียงแต่ว่าวิธีการเล่นของนักวิจารณ์อาจจะไม่เล่นเท่านักเขียน เพราะว่าถ้าเล่นเกินไปงานก็จะดูไม่น่าเชื่อถือ  มันก็จะต้องมีจุดกึ่งกลางระหว่างมีวรรณศิลป์ของการเขียน มีน้ำเสียงได้ มีการเล่นกับคำ การเล่นกับสำนวน ต่างๆ นานา ทำได้หมด  ถ้าเราอ่านงานนักวิจารณ์หลายๆ คน เราก็จะเห็นว่าทุกคนก็จะมีบุคลิกเฉพาะตัวไม่ต่างจากนักเขียนเลย

 

     อย่างผมเองคนที่ทำงานมานานสามสิบกว่าปี ก็จะมีคนบอกว่าอ่านงาน จรูญพร ก็รู้เหมือนกันว่านี่คือ จรูญพร ผมก็จะมีแบบของผม คือมันจะไม่วิชาการมาก หมายถึงเราไม่ได้เรียนมาทางด้านอักษรศาสตร์โดยตรง และก็ไม่อยากเป็นนักวิชาการ เพราะว่าเราเห็นว่ากลุ่มอาจารย์ที่ทำงานในมหาวิทยาลัยทั้งสายอักษรศาสตร์ สายมนุษย์ศาสตร์ ที่เรียนมาโดยตรง เค้าก็จะทำบทบาทนี้อยู่แล้ว ในฐานะนักวิจัย นักวรรณกรรมศึกษา ซึ่งมันก็ดีแล้วในเชิงวิชาการ  เราก็จะอยู่ในระดับที่กึ่งๆระหว่างนักอ่านโดยทั่วไปกับนักวิชาการ เราก็รู้ทฤษฎีต่างๆแต่เราไม่แสดงทฤษฎีเหล่านั้นจนเกินไป ยกเว้นในบางโอกาสเท่านั้นที่เราจำเป็น หรือว่าทฤษฎีนี้เข้ามาแล้วมันตอบ เข้ามาทำให้การอ่านวรรณกรรมนั้นมันทะลุทะลวงมากขึ้นโดยผ่านแว่นของทฤษฎีตัวนั้นเข้ามา ทั้งทฤษฎีวิจารณ์และทฤษฎีทางสังคมที่เข้ามา มันก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าสไตล์หรือว่าลักษณะเฉพาะของนักวิจารณ์แต่ละคน

 

     เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะเป็นแบบนี้ครับ โดยปกตินักวิจารณ์ที่อยู่ในแวดวงแม้จะเป็นอาจารย์ก็ตาม พอมาเขียนบทวิจารณ์แล้วต้องการให้ชาวบ้านอ่านเค้าก็มักจะถอดความเป็นนักวิชาการออกไปบ้างเพื่อไม่ให้มันดูหนักเกิน ไม่ให้มันเป็นวิชาการเกิน ไม่ให้มันเป็นความรู้จนเกินไปเพราะว่าคนทำวิจารณ์มันมีลักษณะกึ่งๆระหว่างงานที่อ่าน ขณะเดียวกันก็มีลักษณะการให้ความรู้ และก็เป็นการเสนอความรู้สึกของผู้วิจารณ์ไปพร้อมๆกัน เพราะฉะนั้นงานมันต้องมีหลายๆมิติอยู่พอสมควรสำหรับงานที่จะเผยแพร่ให้กับคนทั่วไปอ่านซึ่งก็อาจจะต่างจากบทความต่างๆที่เผยแพร่อยู่ในวารสารของทางอักษรศาสตร์ที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยก็จะเป็นลักษณะอย่างนั้น

 

 

ยุคนี้มีเรื่องของ AI บทบาทของเทคโนโลยี มีอิทธิพลในการหล่อหลอมเยาวชนอย่างไรบ้าง

 

     จริงๆเรื่อง AI เป็นเรื่องที่ต้องบอกว่ามาเป็นกระแสคลื่นมาก เป็นกระแสคลื่นที่รุนแรงจนยั้งไม่ได้ แต่ว่าในส่วนของวรรณกรรมวิจารณ์ เท่าที่สัมผัสยังไม่เห็นมีใครเอา AI มาใช้วิจารณ์หนัง วิจารณ์เพลงหรือวิจารณ์หนังสือ อาจจะด้วยความที่เวลาเราวิจารณ์อะไรก็ตามมันต้องมีตัวบทที่ AI จะเห็น

 

     คราวนี้ตัวบทหลายๆตัว บท AI มันไม่เห็น ซึ่งผมจะให้วิเคราะห์หรือวิจารณ์เรื่องสั้น ถ้าผมจะทำผมจะต้องเอาตัวบทใส่เข้าไป ใส่ประวัตินักเขียนเข้าไป และก็ให้มันประมวลวิเคราะห์ออกมาว่าจากตัวเรื่องตรงนี้ ถ้าวิเคราะห์หรือว่าวิจารณ์ในมุมของความไม่เท่าเทียมของสังคม ผมยกตัวอย่างนะมันก็น่าจะทำได้

 

      แต่ก็อย่างที่บอกพอเป็นงานวิจารณ์ งานวิจารณ์มันก็จะเป็นลักษณะของการแสดงความคิดเห็นของผู้วิจารณ์ ผมว่าตรงนี้มันคือก้อนที่ใหญ่ที่สุดเลย สมมุติผมเอา AI ช่วยวิจารณ์ ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันจะวิจารณ์ได้ตรงใจผมจริงๆหรือเปล่า ผมอาจจะรู้สึกว่า "ผมไม่เห็นคิดเหมือนเธอเลย" เพราะ AI มันก็คิดในแบบของมันในการที่มันจะคิดและประมวลออกมาเป็นความคิดออกมา ผมก็ยังรู้สึกว่าทำก็คงทำได้แหละแต่มันจะเป็นงานที่ดีหรือเปล่า ยังไม่แน่ใจ

 

     คือที่ผ่าน AI ถูกใช้ในการเขียนนิยาย ส่วนใหญ่ที่ AI เขียน ส่วนใหญ่เป็นนิยายที่ไม่ได้ต้องมีข้อมูลอะไรมากมายนัก นิยายแฟนตาซี นิยาย Romance เขียนสบายเลย อีโรติกก็ยังได้เพราะว่ามันมีข้อมูลเยอะไง ข้อมูลฉากผู้ชายผู้หญิง มีข้อมูลตัวละคร ผู้ชาย-ผู้ชาย หญิง-หญิง ก็ได้ มีเหตุการณ์จากเรื่องต่างๆที่มันประมวลมา พระเอกเจอกับนางเอกแบบนี้ ทะเลาะกันแบบนี้ คืนดีกันแบบนี้ ไปเที่ยวกันแบบนี้ มีความสุขแบบนี้ ฉากเศร้าเป็นแบบนี้มันก็จะมีของมัน

 

     ซึ่งอีกอันที่ AI ทำแล้วค่อนข้างได้ผลคือบทกวี แต่ว่าเท่าที่เห็นมาทั้งหมดยังเป็นบทกวีที่เราเรียกว่ากลอนเปล่า  บทกวีที่มันไม่ได้อิงกับฉันทลักษณ์เดิมของไทย ยังไม่เคยเห็นใครใช้ AI เขียนกลอนหรือโคลงหรือฉันท์ ยังไม่เคยเห็น ก็ไม่แน่ใจว่าทำได้หรือเปล่า

 

      ผมคิดว่าน่าจะยากคือ AI พอมันมีคุณสมบัติอะไรบางอย่างมันก็ทำได้ประมาณนึงนะ แต่ผมเชื่อว่า ปัจจุบัน AI ยังมีข้อจำกัด เพราะฉะนั้นการที่ให้ AI เขียน บทวิจารณ์ ถ้าผมไปเขียนคำสั่งให้ AI เขียนบทวิจารณ์เรื่องนี้ เอาข้อมูล เลือกตัวเลือกให้มันด้วย ในแบบที่ จรูญพร ปรปักษ์ประลัย จะเป็นคนวิจารณ์มันก็อาจจะเอาบทความที่ผมเคยเขียนและปรากฎอยู่ตามสื่อออนไลน์เข้ามาประมวลก็ได้ สำนวนจะเป็นประมาณนี้แหละ แต่ตัวความคิดที่เรามีต่อเรื่องนั้นจริงๆ เรื่องนั้นและไม่ใช่เรื่องก่อน มันอาจจะไม่มีทางรู้หรอกว่าเราจะคิดยังไงกับเรื่องนี้ แต่จะรู้แหละว่าสำนวนเราประมาณนี้ ยกตัวอย่าง เปรียบเทียบประมาณนี้ มันอาจจะพอรู้ มันอาจจะทำได้ แต่สุดท้ายมันจะใช่หรือเปล่า มันน่าสงสัย ซึ่ง ขณะนี้คิดว่าไม่ใช่

 

     ผมคิดว่าโดยส่วนตัวผม ผมคิดว่า AI ดี แต่มันเหมือนกับเครื่องมือทุกอย่างในโลก มันอยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้มันหรือเปล่า เรามีสิทธิ์ที่จะไม่เลือกมันก็ได้ มันมีดีกว่าไม่มีอยู่แล้วแหละ ไม่ได้ Anti เลยนะ ผมว่า AI มีดีกว่าไม่ดี บางอย่างอาจจะดีกว่าคนทำ บางอย่างเรารู้สึกว่าเราทำได้ดีกว่าเราก็ทำเอง มันก็อยู่ที่เราเลือกแค่นั้นเอง มันแค่เทียมเรา แค่เทียมความรู้สึกของเรา

 

 

ทิ้งท้าย

     ถ้าจะมีอะไรทิ้งท้ายน่าจะเป็นเรื่องของการไม่หยุด  เท่าที่ฟังน้องๆ หลายๆ คนเขียนงานงานมาเพื่อได้ทุนรางวัลจากโครงการนี้ หลายๆ คนเขียนเรื่องแรก เพราะเข้ามาที่ค่าย ได้เขียนกันอีกหนึ่งชิ้น หลายๆ คนในนี้เพิ่งเขียนสองชิ้น บางคนยังเรียนมัธยม บางคนอาจจะเรียนปีหนึ่ง ปีสอง

 

     ถ้าเราดูพี่ๆรุ่นก่อนเราก็เห็นว่าคนที่จะเดินต่อ หรือคนที่จะก้าวต่อในระดับที่สูงขึ้นเป็นที่ยอมรับในเชิงวิชาการก็ดี ไปเจอความสามารถของการเขียนในการเป็นนักวิจารณ์ก็ดีคือคนที่ไม่หยุด  คนที่เข้ามาในค่ายนี้ ต้องสนใจการอ่าน คืออย่างน้อยคุณต้องอ่านจบ ไม่อย่างนั้นคุณเขียนไม่ได้ถูกไหมครับ ต้องสนใจการอ่านแต่หลายคนมาแล้วก็เราก็รู้สึกว่าน้องก็มีความสนใจอย่างอื่นด้วย ต้องการจะไปทำอย่างอื่น แต่คนที่สนใจการอ่านอย่างจริงจัง เราเห็นผลชัดว่าคนนั้นเค้าก็จะเริ่มมีชื่อปรากฎ ส่งผลงานไปประกวด ได้รางวัล มีข่าวหรือว่าผมในฐานะที่เป็นกรรมการตัดสินรางวัลอื่นๆด้วยก็จะเห็นชื่อน้องเหล่านี้และก็จำได้ เราก็จะจำน้องได้แล้วก็รู้สึกว่านั่นแหละคือความสำคัญของการที่ไม่หยุด แม้ว่า เวลานี้ เราอาจจะบอกว่า "ฉันสู้ใครไม่ได้" แต่ถ้าคุณไม่หยุดเดี๋ยวคุณจะทันคนอื่น แล้วก็ถ้าคุณยังคงไม่หยุด คุณก็จะแซงหน้าคนอื่นไปได้ ผมว่าตรงนี้เป็นจุดสำคัญ

 

Writer

Pairat Temphairojana

นักเขียนผู้รักการสะสมงานศิลปะและการจิบกาแฟ