การอ่าน เขียน คิดและวิจารณ์ สะพานเชื่อมระหว่างสองวัย ผ่านสายตาของ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง : นักเขียนสารคดีมือรางวัลศิลปาธร

การอ่าน เขียน คิดและวิจารณ์ สะพานเชื่อมระหว่างสองวัย ผ่านสายตาของ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

     ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 สำหรับ โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ จัดโดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ผ่านการสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เพื่อให้เยาวชนเพิ่มพูนประสบการณ์การอ่านหนังสือควบคู่ไปกับพัฒนาทักษะการคิดการเขียนเชิงวิเคราะห์และวิจารณ์ ซึ่งเปิดให้นักเรียนและนักศึกษาชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6  และ ระดับอุดมศึกษา ไม่จำกัดสาขาจากทั่วประเทศ ร่วมเขียนบทวิจารณ์หนังสือ และทำการคัดเลือกเยาวชนจำนวน 40 คน ร่วมกิจกรรมการอบรมในค่ายวิจารณ์ เพื่อรับทุนรางวัลจำนวนทุนละ 20,000 บาท

     ซึ่งค่ายวิจารณ์นี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรชื่อดังชั้นครู และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่าน การเขียน และวิจารณ์ร่วมให้ความรู้ และหนึ่งท่านที่บรรยายคือ อาจารย์วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นักเขียนสารคดี รางวัลศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัลศิลปาธร ปี 2564 สาขาวรรณศิลป์ ที่ร่วมเป็นวิทยากรในเรื่องงานเขียนประเภทสารคดี ตั้งแต่ปีที่ 1 จนถึงปัจจุบัน

 

 

ทำความรู้จัก

     "สวัสดีครับ ผม วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง เป็นนักเขียนสารคดีทำงานประจำอยู่ที่นิตยสารสารคดี ผมเขียนสารคดีมายี่สิบแปดปี หลังจากเขียนอยู่สักประมาณสิบปี  ทีแรกก็เริ่มจากค่ายและสถาบันต่างๆเค้าเห็นว่าเราทำงานสายนี้โดยตรงก็เลยเชิญให้ไปบรรยายพิเศษให้นักศึกษาสายที่เรียนทางวารสาร นิเทศฯ ในฐานะคนที่ทำงานโดยตรง หลังจากที่อาจารย์เค้าปูพื้นในเชิงทฤษฎีมาแล้ว ก็เชิญคนที่ทำงานจริงให้ไปเล่าประสบการณ์ พอไปเล่าบ่อยๆ ก็เริ่มประมวลความรู้ที่ตัวเองทำมาในช่วงที่ประมาณสักสิบปีแรกว่าถ้าจะเล่าให้คนรุ่นใหม่ฟังเรื่องสารคดี มันจะเป็นชุดความรู้ยังไงที่จะพูดสั้นๆในเวลา สามชั่วโมงได้

     ก็เลยเหมือนเกิดหลักสูตรระยะสั้นในการเล่าการทำงานของสายนี้ขึ้นมา หลังจากบรรยายในมหาวิทยาลัยอยู่ช่วงหนึ่ง เวลามีงานเหมือนค่ายอย่างนี้ ก็ได้ถูกชักชวนให้ไปพูดให้เด็กฟังอีก ก็เลยทำควบคู่กันมา ทั้งงานเขียนและงานสอน จริงๆ เป็นการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้เหมือนกับการติวระยะสั้น ให้คนใหม่ๆ เข้าใจอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่จำกัด และก็บอกวิธีการเขียนเบื้องต้น ส่วนหลักการเขียนจริงๆหรือว่าสไตล์หรือความเป็นตัวของเค้าเองเค้าต้องไปพัฒนาต่อกันเอง

     เป็นวิทยากรตั้งแต่รุ่นแรก มีสามประเภทการเขียนก็คือ เรื่องสั้น บทกวี และสารคดี แล้วก็อาจารย์เนาว์รัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งเป็นแกนนำคนหนึ่งในการก่อตั้งโครงการค่ายฯ ท่านก็บอกว่าถ้าเป็นสารคดีก็ชวนคุณ วีระศักดิ์ ทางคุณอาทร เตชะธาดา ผู้บริหารสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เลยโทรมาคุยแล้วก็มาเริ่มตั้งแต่รุ่นแรกเลย"

 

 

ในฐานะวิทยากรที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นที่ 10 สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีคิดของเด็กไหมครับ ในด้านของสารคดี

     "จุดร่วมคือความสดใหม่และความกระตือรือร้น เรื่องนี้ไม่เปลี่ยน มันมีอยู่ในจริตของคนหนุ่มสาวอยู่แล้ว ความกระตือรือร้นต่อการเรียนรู้ โครงการนี้เป็นโครงการที่มีทุนการศึกษาให้ด้วย ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมมากสำหรับฝ่ายโครงการฯ รวมถึงผู้สนับสนุนด้วยคือธนาคารกรุงเทพ

     ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นการได้ทุนการศึกษาแนวใหม่ที่ต่างจากเดิม คือเดิมเราจะได้แต่คนเรียนดีที่ยากจน ในหลักของการให้ทุนการศึกษา แต่ทุนนี้เขาให้กับคนที่สนใจการอ่าน การเขียน ซึ่งมันดีมาก มันเป็นการกระตุ้นคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมา แค่คุณรักการอ่านการเขียน ก็มีคนพร้อมสนับสนุนคุณ มันทำให้ได้รับความสนใจจากเด็กทั่วประเทศมากๆ ในแต่ละปี

     ทีนี้ถ้าพูดถึงในเรื่องความเปลี่ยนแปลงผมคิดว่ามันเป็นด้านการเรียนรู้และเครื่องมือ คือในช่วงสิบปีย้อนหลังมันเป็นยุคที่กระดาษยังเป็นหลัก จอยังเป็นรอง เพราะฉะนั้นการค้นคว้าอะไรที่เด็กค้นคว้าส่วนใหญ่ก็จะใช้จากสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก แต่ตอนหลังองค์ความรู้ในการค้นคว้ามันไปอยู่ในจอ ในออนไลน์เป็นหลัก มันก่อถึงทั้งผลบวก ผลลบนั่นแหละ ซึ่งมีผลในระยะยาว บางทีจะทำให้สมาธิ หรือความจดจ่อ รวมถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูล ในเมื่อมันได้มาเร็วๆทางออนไลน์ คนส่งอาจจะไม่ค่อยได้กรอง คนรับก็อาจจะไม่ได้กรองเท่าไหร่ เพราะความเร่งด่วน นี่คือความเปลี่ยนแปลงเรื่องหนึ่งที่เห็นในด้านลบ แต่ในด้านที่เป็นผลบวกก็คือมีความง่ายและเร็ว เขามีความรู้ในการค้นด้วย มันทำให้เค้าค้นได้ลึกและเร็วกว่าครูด้วยซ้ำไปในบางกรณี ถ้าถึงความเปลี่ยนแปลงก็คือแบบนี้ในด้านของเครื่องมือ"

 

 

อาจารย์มองว่าการสนับสนุนการพัฒนาสไตล์การเขียน โดยที่ไม่ทิ้งกรอบของการวิจารณ์ มีความสำคัญอย่างไร?

    "มีความสำคัญมากที่สุด การอ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ มันมี 4 อย่าง การเรียนรู้มันเกิดทุกกระบวนการแต่ว่าที่ดีมากๆเลยสำหรับค่ายนี้  การอ่านมันอยู่หัวเลย คุณต้องอ่านก่อน ซึ่งจุดนี้มันพัฒนาศักยภาพตัวเองมากๆ แล้วก็มันดึงสังคมการอ่านและสังคมไทยโดยรวมไปด้วย

    คืออย่างน้อยคนกลุ่มนี้ ทั้ง 40 คน ถูกปลูกฝังการอ่านแบบเจาะจง บางทีเค้าอ่านอยู่โดยธรรมชาติหรือค่ายอื่นๆที่เป็นค่ายนักเขียนทั่วไปมันก็ส่งเสริมการอ่านตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่นี่เจาะจงและนำเป็นตัวแรกเลยว่าคุณต้องอ่านก่อน แล้วไปฝึกการเขียนในที่นี้ก็คือการเขียนวิจารณ์ ซึ่งการเขียนวิจารณ์ ค่ายการเขียนอื่นๆที่เราเขียนตามประเภทการเขียน หรืออะไรก็ตาม

    เราจะเจาะจงที่วิธีการเหมือนเวลาไปบรรยายในมหาวิทยาลัยก็เหมือนกัน ถ้าไปบรรยายวิชาการเขียนสารคดี ผมก็จะให้องค์ความรู้ หรือประสบการณ์ตรง เป็นการใส่ความรู้โดยตรง แล้วการเรียนรู้ การวิจารณ์จะส่งเสริมความรู้ยังไง ก็คือเป็นการตรวจสอบและศึกษา เมื่อคุณอ่านงานชิ้นหนึ่ง คุณต้องบอกได้ว่างานชิ้นนี้มันดีหรือว่ามันยังบกพร่องตรงไหน พอเราได้เรียนแบบนี้ก็เหมือนกับเราไปรู้จักจุดเด่นและช่องโหว่ เวลาเราย้อนกลับมาทำเองหรืออ่านเองในชิ้นต่อๆไป เราจะรู้เราจะประเมินได้ ถ้าเราเป็นผู้ทำเราจะรู้ว่าสิ่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ว่าอันนี้คือตัวอย่างที่ดีที่ไม่ควรทำตา

     เมื่อเราจะไปอ่านงานข้างนอก เราจะไม่ถูกนักเขียนหลอก บางทีนักเขียนก็หลอกให้เราให้บันเทิง หรือบางทีเค้าก็หลอกยัดความรู้ข้อมูล ในงานสารคดีบางทีก็แฝงเรื่องเหล่านี้ บางทีในงานสารคดีบางประเภทมันก็เป็นโฆษณาแฝงด้วยจุดมุ่งหมายในใจของผู้เขียนไปด้วย มันมีสิ่งหลอกในงาน แต่ถ้าคุณเป็นนักวิจารณ์ หรือคุณรู้ทัน ผ่านการวิจารณ์มาแล้วคุณอาจจะถูกหลอกยากขึ้นเมื่อคุณเป็นคนอ่าน

     เพราะฉะนั้นนี่คือการส่งเสริมอ่านและการเขียน เมื่อคุณออกไปอ่าน คุณรู้ทัน เมื่อคุณเป็นนักเขียนคุณก็รู้ทันและจะไม่ทำผิด เรื่องนี้มันเป็นประโยชน์สำคัญมาก ผมรู้สึกอินและปลาบปลื้มกับจุดเด่นของค่ายนี้มากคือเรามาสร้างการอ่าน"

 

 

ปีนี้ มาเรียนสารคดีกับอาจารย์กี่คนและ น้องๆวิจารณ์อย่างไรบ้าง

    "ปีนี้มีเก้าคน ซึ่งปกติ จะอยู่ที่ประมาณสิบต้นๆ แต่ค่าเฉลี่ยคือสิบ จะน้อยกว่ากลุ่มอื่นปีนี้ แล้วก็กลุ่มอื่นที่เยอะที่สุดก็คือเรื่องสั้นในปีนี้ บางปีจะเทไปเรื่องหนึ่ง ปีนี้เอาสารคดีมาให้น้องๆมาวิจารณ์สองชิ้น ธีมในใจของครูเองเลือกสารคดีที่พูดถึงการเรียนรู้ ชิ้นที่หนึ่ง เป็นการเรียนรู้จากความตายของพ่อ ผู้เขียนเขียนจากประสบการณ์ที่คุณพ่อเขาตาย และอีกชิ้นหนึ่งเป็นการเรียนรู้จากการเติบโตของคนวัยเพิ่งจบมหาวิทยาลัยแล้วไปทำงาน มันเป็นเหมือนเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยการทำงาน เรียนรู้ที่จะเติบโต อีกคนเรียนรู้จากความตาย

     ปรากฏว่านักเรียนใน 9 คน เลือกตัวบทในการวิจารณ์เท่ากันคือ ชิ้นหนึ่งน้องๆ เลือกเขียนบทวิจารณ์ 5 คน อีกชิ้นหนึ่ง มีคนเลือก 4 คน คือใกล้เคียงกันมาก ในใจครูที่ให้โจทย์มา คือเรื่องการเรียนรู้และก็ดูเหมือนผู้วิจารณ์ก็จับได้ ประมาณ 60-70% เค้าจะจับประเด็นที่เอามาวิจารณ์ได้แล้ว ส่วนใหญ่จะไม่วิจารณ์ว่า ถูกหรือผิด ดีหรือชั่วแต่เค้าจะเน้นเรื่องการต่อยอดเชื่อมโยงมาสู่ตัวเค้าเองและตัวคนอ่าน ว่าการเติบโตหรือการเรียนรู้จากความตายเค้าเคยมีประสบการณ์ร่วมอย่างไร และก็คนอ่านควรจะซึมซับอะไรจากงานชิ้นนี้ เค้าทำหน้าที่วิจารณ์แบบนี้มากกว่าในการชี้นำหรือชวนคนอ่านเราจะเรียนรู้อะไรจากงานชิ้นนี้

     เค้าสามารถจับประเด็นได้ เขียนวิจารณ์ได้ตามบทเรียนที่ครูสอน ถือเป็นนักวิจารณ์ที่ดีไหม มันอาจจะยังไม่ถึงขั้นนั้น มันเป็นงานใหม่ คนหัดใหม่ แต่เขาทำตามโจทย์ และก็บทเรียนที่ได้รับจากครูมาใช้ได้

    ถ้าประเมินโดยกลุ่ม เป็นกลุ่มเด็กที่เรียนรู้เร็ว มีความฉลาดและพอมาได้รับบทเรียน เค้าเอาไปใช้ได้เลย ภาพรวมของกลุ่มเป็นอย่างนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นกลุ่มที่มีความสนใจ มีพื้นฐาน ผมคิดว่ามาจากการผ่านด่านหนึ่งมาแล้วจากตัวเลือกหลายร้อยคน แสดงว่ากระบวนการคัดเลือกถือว่าใช้ได้อยู่ เป็นกลุ่มที่มีพื้นฐานและเรียนรู้ได้เร็ว"

 

 

ความประทับใจในตัวน้องๆ ในค่ายปีนี้

    "ความประทับใจอันที่หนึ่ง อาจจะเรียกว่าความชื่นใจมากกว่าที่เราได้ส่งต่อวัฒนธรรมการอ่านและการเขียนแล้วก็มีคนสนใจเข้ามารับมันมีความหวังที่มีคนรับและมีคนสนใจ

    อีกเรื่องหนึ่งก็คือที่เป็นแรงบันดาลใจก็คือ เราเห็นความงอกงามและความใหม่ของคนรุ่นนี้ เขาไม่ได้มาเพื่อรับอย่างเดียว แต่เขาเป็นฝ่ายให้กับครู ซึ่งเป็นอีกรุ่นโดยอ้อมด้วย เราห่างกันประมาณสามสิบปี เกิดความต่างทางยุคสมัย สิ่งที่ให้ครูก็คือครูสอนหลักการให้เขา พาเค้าไปรู้จักหลักการวิธีการแต่สิ่งที่เขาให้ครูโดยที่ว่าเขาอาจจะไม่ได้รู้ตัว แต่เราได้เห็นก็คือบางอย่างเขาล้ำและทันมากกว่าครูนะ เช่นในตัวบทที่เอามาให้วิจารณ์ บางมุม บางชิ้น เค้าพูดถึงรายละเอียดของเพลงที่ผู้เขียนเรื่อง เอามาเชื่อมโยงในเรื่อง ซึ่งตอนที่ครูอ่าน ครูก็รู้จักชื่อเพลงและรู้จักเนื้อ และเห็นเนื้อใจความเพลง มันเชื่อมโยงกับตัวบทที่ผู้เขียนเขียน แต่ปรากฏว่าเด็กๆ ที่เค้าเอามาวิจารณ์ เขาไปรู้และเจาะลึกว่า เพลงนี้มันอยู่ในซีรีย์ชื่อนี้ของศิลปินคนนี้ ตอนครูอ่านครูยังไม่รู้เลย แต่เค้าลึกไปกว่าครูอีกในการทำความเข้าใจตัวบท แล้วครูได้รู้จากสิ่งที่เค้าเอามาสื่อสารกลับในบทวิจารณ์ เรื่องนี้มันดีงาม มันทำให้คนสองรุ่นพากันไปบนเส้นทางนี้ เส้นทางการอ่าน การเรียนรู้เลยแหละ ครูก็ได้เรียนรู้จากเขาด้วย"

 

. วีระศักดิ์เห็นบทบาทของวรรณกรรมในการหล่อหลอมรุ่นต่อไปอย่างไรบ้างในบริบทของเทคโนโลยี เช่น AI หรือสื่อที่สังคมที่ดูหน้าจอกัน

     "สิ่งนี้เราเรียกว่า Platform ก็คือเปลี่ยนจากกระดาษมาสู่จอกัน เรื่องนี้ชัดเจน ในจอมันไม่ได้มีตัวสารอย่างเดียวในเล่มหนังสือ มีแต่ตัวสาร แต่ในจอมันมีอย่างอื่น มันมีโฆษณามี อะไรอย่างอื่น ถ้าเราเข้าห้องสมุด เราค้นหนังสือเราเจอสิ่งนั้นเลย แต่ว่าเราเข้าพวกกลุ่มออนไลน์ มันจะมีสิ่งอื่นมายั่วเรา ทั้งโฆษณา ทั้งเพลง ซึ่ง algorithm มันรู้ใจเราได้ว่าเราชอบอะไร เพราะฉะนั้นตอนที่เราค้นข้อมูลอยู่อย่างอื่นจะมาคอยดึงเราอยู่เรื่อย ผมคิดว่าวัฒนธรรมแบบนี้การที่เรามาคุย มาอ่าน มาใช้ชีวิตเรื่องการอ่าน การเขียนร่วมกันมันจะเป็นการสร้างนิสัยหรือจุดประกายบันดาลใจที่จะดึงคุณออกมาจากสิ่งนั้น ดึงคนรุ่นใหม่ออกมาจากกระแสหลักที่ดึงเราไป โลกออนไลน์ไม่ได้ไม่ดีหรอก แต่ว่ามันมีหลายอย่างถ้าใจเราไม่แข็งพอมันก็จะหลุดไป แล้วก็มันไม่ใช่ตัวร้ายด้วยเพราะมันคือ Platform ถ้าเราเอาสารที่มีประโยชน์ใส่เข้าไป หรือแม้กระทั่งเราไปดึงเอาแต่ส่วนที่เป็นประโยชน์มันก็จะหนุนเสริมเรามันเป็นผลบวกมากๆอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยประคองกันไป เราควรใช้มันในฐานะ Platform ที่จะสื่อตัวสารที่พวกเราทั้งหมดที่ทั้งครูและนักเรียนรู้สึกว่าดี เอาไปใช้จากตรงนั้น"

 

 

ทิ้งท้าย

     "ถ้าสำหรับน้องๆรุ่นนี้มีนิดเดียวเพราะว่าค่ายมันมีสามวัน มันคือการฝากฝังกันว่าไปทำงานต่อ การอ่านและการเขียน เรียบง่ายสั้นๆเท่านี้ แต่ว่าสิ่งนี้มันสำคัญ และค่ายจะบรรลุผลสูงสุดก็คือการที่สมาชิกที่เข้ามาร่วมค่ายแล้วยังไปต่อแม้ค่ายจบ

     ซึ่งคนละเรื่องกับอาชีพและกระแสหลักที่คุณจะไปทำ คุณก็ไปทำงานทำหน้าที่ตามบทบาทตามที่คุณเรียนและสาขาที่คุณเรียน ไปเป็นครู ไปเป็นหมอ เป็นเกษตรกรอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าคุณอย่าทิ้งสิ่งนี้ มันเป็นสิ่งดีแน่นอน อย่างน้อยก็ในช่วงสามพันปีมาที่มนุษย์รู้จักภาษาเขียน เราเชื่อว่าสิ่งนี้ดีคือบรรพบุรุษเค้าเชื่อว่าตัวหนังสือดีแน่ เค้าถึงผลิตขึ้นมาแล้วมันอยู่มาแล้วอย่างน้อยสามพันปีแล้ว มันมีอย่างอื่นมาแทรกบางช่วง แล้วบางอย่างมันก็หายแต่ว่าตัวหนังสือยังอยู่สามพันปี อย่างน้อยสามพันปีมันน่าจะถูกกรองโดยกาลเวลามาแล้ว น่าเชื่อว่ามันดีพอควรเพราะมันเป็นเครื่องมือที่ดีและมันส่งเสริมเรื่องทางปัญญาและทางสมอง

    ไม่ว่าคุณจะไปทำอะไร ไปคิดค้น จานดาวเทียม ยานอวกาศก็แล้วแต่ อันนั้นเป็นศักยภาพทางสมองที่เราเรียกว่าศาสตร์ แต่สิ่งนี้มันเหมือนเป็นศิลป์ ศิลป์มันคือความงาม ความงอกงามข้างใน เพราะฉะนั้นก็ชวนว่าอย่าทิ้งสิ่งนี้ ให้มันเป็นสิ่งหนึ่งในชีวิตคุณรวมถึงตัวเองด้วย รวมถึงครูด้วย ครูก็ต้องพยายามบอกตัวเองและประคองตัวเองบนเส้นทางนี้ เราอ่านจอด้วยแต่ว่าเราก็อ่านตัวหนังสือ สิ่งเร้าที่มันยั่วเราก็อย่าไปอยู่กับมันนาน"

 

Writer

Pairat Temphairojana

นักเขียนผู้รักการสะสมงานศิลปะและการจิบกาแฟ