หลัง จากสิ้นนักเขียนเรื่องป่าผู้ยิ่งใหญ่อย่างน้อย อินทนนท์ และชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ แล้ววัธนา บุญยังก็ผงาดขึ้นมาเป็นนักเขียนเรื่องป่าที่ได้รับการยอมรับจากผู้อ่านอย่าง สูงสุดในยุคปัจจุบัน ตลอดเวลายี่สิบห้าปีที่ยึดอาชีพนักเขียน เขามีผลงานอย่างต่อเนื่องถึง๒๙เก้าเล่ม เขาเป็นหนึ่งในนักเขียนไทยที่สามารถสร้างกลุ่มผู้อ่านได้เป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ หนังสือเล่มใหม่ของเขาทุกเลมจะมีผู้อ่านเหล่านี้คอยเฝ้าตามติดอุดหนุนกันมาอย่างเหนี่ยวแน่น
วัธนา บุญยังเป็นชาวแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม เรียนจบมัธยมตอนปลายจากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎ์ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนสตรีนครสวรรค์ ปี ๒๕๒๖ เคยได้รับทุนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ประเทศออสเตรเลีย ปี ๒๕๓๕ ได้รับทุนอีกครั้งเพื่อไปเรียนในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะกลับมาสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนประจำบ้านเกิด ปี ๒๕๔๒ ลาออกจากอาชีพข้าราชการครูเพื่อจะเขียนหนังสืออย่างเต็มที่และเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศได้อย่างใจปรารถนา ปัจจุบันมีงานเขียนอยู่ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์และต่วยตูน มีผลงานรวมเล่มออกมาปีละอย่างน้อยสองเล่ม
1. หลังจากเกษียณอายุราชการออกมา ชีวิตประจำวันของคุณเป็นอย่างไรบ้าง
มีความสุขมากครับ เพราะไม่ต้องแต่งเครื่องแบบ ไม่มีเจ้านาย ไม่มีเวลาทำงาน อยากจะไปไหนก็ไปได้ ลูกสองคนก็โตทำงานหมดแล้ว ผมจึงไม่มีภาระอะไรทั้งสิ้น ทุกเช้าผมตื่น ตีห้า ออกไปเดินวิ่งสักครึ่งชั่วโมง แล้วกลับมาอาบน้ำแต่งตัว ออกไปกินกาแฟนั่งคุยกับเพื่อน ซื้อหนังสือพิมพ์กลับมาอ่านที่บ้าน หลังจากนั้นจึงเริ่มเขียนหนังสือ กินข้าวกลางวันแล้วนอนพักผ่อน สักชั่วโมง ทำงานอีกนิดหน่อย ตกเย็นก็มีเพื่อนมานั่งกินเหล้าคุยกัน เป็นอย่างนี้แทบทุกวัน
2. ยังเดินทางอยู่บ่อยไหม
ผมเป็นคนชอบเดินทาง ชอบขับรถไกล ๆ มักจะบอกใคร ๆ เสมอ ว่าอยู่บ้านหลายวันแล้วหายใจไม่ออก ถ้าอยู่บ้านที่แปดริ้วหลายวัน ผมก็แก้เบื่อด้วยการขับรถไปนอนที่บ้านเขาชะเมา โชคดีที่มีบ้านไว้ที่นั่น นอนดูเมฆหมอกลอยปกคลุมยอดเขา บางทีก็มีเสียงสัตว์ป่าพวกชะนีร้องมาให้ได้ยิน บางทีก็เลยไปถึงเขาสอยดาว ออกสระแก้ว บางทีก็ขับรถขึ้นไปกางเต็นท์นอนบนเขาใหญ่ ทำอย่างนี้เดือนละหลาย ๆ ครั้ง แล้วเดือนสองเดือนก็จะเดินทางไกล ไปเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน หรือไปทางอีสานเสียที ส่วนต่างประเทศก็ไปมาแล้วหลายประเทศ สมัยรับราชการเคยได้ทุนไปเรียนที่ออสเตรเลีย แล้วก็อังกฤษ ได้ตลุยยุโรปมาเกือบสิบประเทศ พออกมาแล้วผมก็ใช้เงินจากการเขียนหนังสือเที่ยวเอง ไปเมืองจีนบ้าง เนปาล ลาว พม่า เขมร และเวียดนามบ้าง ปลายปีนี้ก็มีโครงการจะเช่ารถขับเที่ยวเองในนิวซีแลนด์ ในสมองผมมีแต่โครงการเต็มไปหมด แต่เป็นโครงการเที่ยวเสียมากกว่าโครงการเขียนหนังสือ
3. ไปที่ไหนมาบ้าง มีเรื่องน่าประทับใจที่พอจะเล่าให้แฟนหนังสือได้รับทราบบ้าง
ส่วนมากทุกที่ที่ผมไปก็มีเรื่องน่าประทับใจทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้าง อย่างเคยไปกางเต็นท์นอนบนเขาใหญ่ แล้วไปเจอลุงแก่ ๆ คนหนึ่ง อายุเจ็ดสิบกว่าแล้ว แกขับรถจิ๊ปเก่า ๆ มาคนเดียว มีเสบียงครบครัน บอกว่านอนอยู่สามวันแล้ว ครอบครัวลูกเมียร่ำรวยอยู่กรุงเทพฯ แต่ไม่ว่างและไม่ชอบนอนป่า แกเลยมาของแกคนเดียวสบายดี ตามป่าเขาที่ผมไป มักจะพบเรื่องน่าประทับใจเสมอ ไม่คนที่นั่น ก็นักท่องเที่ยวอย่างลุงแก่ที่ว่า ถ้าถามถึงธรรมชาติที่ประทับใจในเมืองไทย ผมคงตอบว่าแม่ฮ่องสอน ถ้าต่างประเทศก็จิวไจ่โกว ในแคว้นเสฉวนของจีน
4. ตอนนี้มีโครงการที่จะเขียนเรื่องอะไร
โครงการของผมก็คือ ปีหนึ่งจะพยายามเขียนสารคดีเกี่ยวกับการเดินทางให้ได้หนึ่งเล่ม เพราะเดินทางไว้มาก จึงมีเรื่องอยากเขียน แล้วก็เขียนเรื่องป่า อาจจะเป็นนิยายหรือเรื่องสั้นอีกเล่ม เท่ากับปีหนึ่งมีผลงานออกมาสองเล่ม ตอนนี้ก็ทำได้ตามที่ตั้งใจแล้ว
5. ได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว
ผมโชคดีที่หนังสือเนชั่นสุดสัปดาห์ เปิดโอกาสให้เขียนสารคดีเกี่ยวกับการเดินทาง ไปไหนมาก็เก็บมาเขียนเล่าไว้ ได้เงินด้วย มีความสุขด้วย พอจบก็รวมเล่มได้อีก ส่วนนิยายไม่มีใครชวนไปเขียน ผมจึงเขียนให้จบแล้วรวมเล่มเลย ตอนนี้ก็กำลังเขียนเรื่องสาบเสือได้กว่าครึ่งเล่มแล้ว
6. คุณมีงานเขียนถึง 29 เล่ม คุณคิดว่าสำหรับนักเขียนอาชีพคนหนึ่งได้ทำงานหนักพอแล้วหรือยัง
ผมมีหนังสือรวมแล้ว 29 เล่ม ฟังดูเหมือนเยอะ แต่ที่จริงไม่อาจจะพูดว่าเป็นนักเขียนอาชีพได้ เพราะได้ใช้เวลาถึง 25 ปี กว่าจะได้เท่านี้ แล้วหนังสือของผมก็ไม่ได้ขายดิบขายดีอะไร พิมพ์สองพัน ขายไปสามปีห้าปีถึงจะหมด ผมเป็นคนใช้เงินเก่ง ถ้าเขียนหนังสืออย่างเดียวคงอดตายไปแล้ว แต่ก็ภูมิใจที่ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง มีเพื่อนนักเขียนหลายคน ที่เขียนดี แต่เขียนได้ไม่นานก็เบื่อ เลิกหายสาบสูญไปเลย เหมือนกับเดินเข้ามาเที่ยว แล้วก็กลับออกไปเฉย ๆ น่าเสียดาย สำหรับผมงานเขียนจะดีหรือไม่ดี อยู่ที่ผู้อ่านจะตัดสิน ส่วนตัวคิดว่าจะทำงานต่อไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่ยังมีคนอ่าน อย่างน้อยก่อนตายอยากให้มีหนังสือไว้สัก 50 เล่ม ในจำนวนนี้คงมีบ้างหรอกสักเล่มสองเล่ม ที่ดีพอจะอยู่ได้ตลอดไป
7. นอกจากเขียนคอลัมน์ให้เนชั่นสุดสัปดาห์แล้ว คุณยังเขียนให้เล่มอื่นอีกหรือไม่
นอกจากคอลัมน์ เรื่องเล่าคนเดินทาง ในเนชั่นสุดสัปดาห์แล้ว ผมก็เขียนเรื่องป่าใน ต่วย ตูน บ้าง ส่วนนิยายป่า เขียนจบแล้วรวมพิมพ์เลย แล้วก็มีเรื่องสั้นนาน ๆ ครั้ง
8. ผลตอบรับจากผู้อ่านเนชั่นสุดเป็นอย่างไรบ้าง
เรื่องนี้ไม่ทราบเลยครับ ทั้งที่อยากรู้มาก ทางหนังสือเขาก็มีแบบสอบถามไปยังผู้อ่านบ้างเหมือนกัน แต่ไม่เคยบอกให้นักเขียนทราบ เลยไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่คิดเอาว่าเท่าที่เขายังให้เขียนอยู่ แสดงว่าคงไม่เลวนัก อีกอย่างหนึ่งผมให้ E-Mail Address ไว้ในคอลัมน์ด้วย ก็มีผู้อ่านเขียนมาคุยอยู่เรื่อย ๆ หลายคนก็ให้กำลังใจ ทำให้อยากจะเขียนต่อไป
9. คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับการที่นักอ่านถอยหนีจากการอ่านงานเขียนของนักเขียนไทยแล้วไปอ่านหนังสือแปลกันหมด
ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นรสนิยม เป็นค่านิยมของคนบางคน ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล บางคนมีค่านิยมว่าของนอกย่อมดีกว่าของไทย จะไปว่าเขาได้อย่างไร แต่เราก็ต้องยอมรับว่า งานเขียนของไทยยังไม่เด่นมากเท่าของฝรั่ง เรื่องยาก ๆ อย่างดาวินซีโค้ดเป็นต้น ยอมรับว่าไม่มีเรื่องไหนของเราจะทำได้อย่างเขา แต่ส่วนตัวผมเอง ผมอยากเขียนงานที่เขียนแล้วมีความสุข ถ้าให้ผมเขียนงานยาก ๆ อย่างนั้น ถึงจะดี แต่เขียนแล้วทุกข์กลุ้มอกกลุ้มใจ ผมก็ไม่เขียน แต่ผมยังเชื่อว่างานเรียบง่ายสวยงามของเรายังพอขายได้ อย่างน้อยงานของผม ที่หลายคนดูถูกว่าไม่ใช่วรรณกรรม ก็ยังขายได้เรื่อย ๆ แฟนหนังสือของผมมีทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็ก นักเรียน นักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน ไปจนถึงนายแพทย์ วิศวกร หรือเป็นรองศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยก็มี ที่กล้าพูดอย่างนี้ เพราะผมมีการติดต่อกับผู้อ่านอยู่เสมอ ทางเว็บบ้าง หรือจากการจัดเดินป่ากับผู้อ่านปีละครั้งบ้าง ผมไม่เคยปิดบังตัวตน ใครอยากรู้ที่อยู่ อยากรู้เบอร์ติดต่อคุยกับผม ถามไปที่สำนักพิมพ์ได้เลย ผมยินดีคุยด้วยทุกคน ด้วยเหตุนี้ผมจึงกล้าพูดได้ว่ามีเพื่อนอยู่ทั่วประเทศ และคนเหล่านี้แหละที่ให้กำลังใจผมตลอดมา
10. ยามเมื่อมีเวลาว่าง คุณอ่านงานเขียนของนักเขียนไทยคนไหนบ้าง มีความน่าประทับใจอย่างไร
ผมเป็นคนอ่านหนังสือมาก หนังสือพิมพ์อ่านทุกวัน นิตยสารซื้ออ่านเดือนละนับสิบเล่ม เดือนหนึ่งค่าหนังสือหลายตังค์อยู่ พ็อคเก็ตบุ้คเล่มไหนถ้าชอบ แพงเท่าไรผมก็ซื้อ นักเขียนไทยที่ผมประทับใจมีมากมาย ตั้งแต่น้อย อินทนนท์ เรียมเอง แม่อนงค์ ( คนเดียวกัน) มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ ลาว คำหอม รงค์ วงษ์สวรรค์ พนมเทียน นัน บางนรา กรณ์ ไกรลาศ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ชาติ กอบจิตติ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และอีกหลายสิบคน
11. แล้วงานเขียนของนักเขียนรุ่นใหม่ คุณได้อ่านของใครบ้าง
นักเขียนรุ่นใหม่ผมก็อ่าน และชอบหลายคน เช่น ศิริวรณ์ แก้วกาญจน์ สร้อยแก้ว คำมาลา อภิชาติ เพชรลีลา อุเทน พรมแดง และอีกหลายคน
12. คุณคิดว่า เมื่อป่ากำลังจะหมดไป คนยังสนใจที่จะอ่านเรื่องป่าในแนวทางที่คุณเขียนอีกไหม
เรื่องนี้มีคนเคยวิตกเหมือนกัน ว่าเมื่อป่าหมด เรื่องป่าก็ตาย แต่ผมคิดว่าไม่ ยิ่งป่าหมด คนก็ยิ่งกลับคิดถึงและหวนหาป่า เมื่อเขาหาป่าจริง ๆ สัมผัสไม่ได้ เขาก็หาหนังสือมาอ่าน อ่านแล้วก็ยังได้รับรสชาดได้ความรู้และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เขาไม่มีทางได้เห็นด้วยตัวเอง มันคล้ายกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ในพงศาวดาร ตราบใดที่เรื่องแบบพีเรียดยังขายได้ หนังเรื่องไททานิคยังทำเงินมหาศาล เรื่องป่าก็ทำนองเดียวกัน ส่วนเรื่องป่าในแนวที่ผมเขียน ผมเขียนขึ้นจากความรัก ความประทับใจ และจากประสบการณ์ตรงที่ได้สัมผัสมา คนเราได้อยู่ใกล้สิ่งที่รักแล้วมีความสุข จริงไหม ผมชอบป่า รักป่า ได้เที่ยวป่า ได้เขียนเรื่องป่า ผมก็มีความสุข คิดว่ายังมีคนที่ชอบป่าแบบผมแล้วไม่มีโอกาส เขาก็สามารถสัมผัสป่าได้จากตัวหนังสือของผม ถ้าอ่านแล้วเขาชอบ ก็เท่ากับว่าเรามีความสุขเหมือน ๆ กัน
13. คิดจะเขียนเรื่องป่าไปอีกสักกี่ปี
คงจะเขียนไปเรื่อย ๆ ไม่มีกำหนด ถ้าเขียนแล้วยังมีความสุข ผมก็จะเขียนต่อไปเรื่อย ๆ แต่ทั้งนี้ต้องขายได้ด้วยนะครับ ถ้าเขียนแล้วมีความสุข แต่ขายไม่ได้ ใครจะมาพิมพ์ให้
14. คิดว่าเขียนเรื่องป่าไปแล้วได้ให้อะไรกับผู้อ่านบ้างไหม
ผมเชื่อว่าผู้อ่านต้องได้ และผมก็ตั้งใจให้เขาได้ด้วย คือผู้อ่านจะได้รับความรู้ ความประทับใจเกี่ยวกับธรรมชาติของป่า ต้นไม้ใบหญ้า สัตว์ป่า อาหารการกิน รวมทั้งวิถีชีวิตของผู้คนในป่า มีผู้อ่านหลายคนติดต่อมาบอกกับผมว่า เขาอ่านแล้วได้ความรู้เกี่ยวกับป่ามากมาย บางคนบอกแต่ก่อนไม่เคยสนใจป่า แต่พออ่านหนังสือของผมแล้ว กลายเป็นคนรักป่า ชอบเที่ยวป่าไปเลย ส่วนคนที่อ่านเรื่องของผมแล้ว เลิกเที่ยวป่าไปเลยอาจจะมีบ้างก็ได้
15. มีบางคนเข้าใจว่า เรื่องผจญภัยในป่านั้นเป็นการเขียนยั่วยุให้คนไปฆ่าสัตว์หรือตัดไม้ทำลายป่า คุณจะแก้ความเข้าใจผิดนี้อย่างไร
เราต้องยอมรับว่าถ้าเป็นเรื่องป่าสมัยก่อน ยุคนั้นป่ายังมีมาก ขณะที่ประชากรมีน้อย การเที่ยวป่าล่าสัตว์ จึงไม่ใช่เรื่องชั่วร้ายทำลายชาติอะไร ผมอ่านเรื่องป่าของน้อย อินทนนท์ น้อย อภิรุม หรือแม้แต่ของพี่ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ที่เล่าเรื่องการเข้าป่าล่าสัตว์สมัยก่อน ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรเลย คนอ่านที่มีสติปัญญาเขาจะเข้าใจได้เอง และไม่ไปแช่งด่าคนเขียนด้วย แต่ถ้าเป็นยุคสมัยนี้ แล้วคุณยังมาเขียนชวนคนเข้าป่าล่าสัตว์อีก อย่างนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ ตัวผมเองไม่รู้โชคดีหรือโชคร้าย ที่เกิดก่อน เกิดมาในยุคสมัยที่การล่าสัตว์ยังไม่ถือเป็นความผิด ผมจึงมีประสบการณ์อย่างนั้นมาบ้าง แต่เรื่องป่าในยุคหลังของผม มีแต่ให้แนวความคิดในการอนุรักษ์ป่าทุกเรื่อง
16. ได้อ่านงานเขียนเรื่องป่าของนักเขียนเรื่องป่ารุ่นเก่า ๆ บ้างไหม
ผมอ่านทุกคน ตั้งแต่ น้อย อภิรุม หรือหม่อมหลวง ต้อย ชุมสาย น้อย อินทนนท์ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ สังคีต จันทนโพธิ ฯลฯ
17. ชื่นชอบของใครบ้าง
ชอบทุกคน เพราะเขียนกันคนละสไตล์ แต่ที่ประทับใจที่สุดคือน้อย อินทนนท์ เพราะป่าของเขาคือป่าจริง ๆ ที่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว คนเขียนมีประสบการณ์จริง เน้นป่ามากกว่านิยาย ผิดกับของพนมเทียน ที่เป็นนิยาย โดยอาศัยฉากป่า
18. หากจะมีนักเขียนรุ่นใหม่ อยากเขียนเรื่องผจญภัยในป่าตามแบบวัธนา บุญยัง คุณมีอะไรที่จะแนะนำเขาบ้าง
ผมก็อยากแนะนำว่าให้สัมผัสป่าให้มาก ๆ แล้วจะได้แง่มุมออกมาเขียน คำว่านิยาย ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริง ดังนั้นแม้ป่ายุคนี้จะไม่มีแบบนั้นแล้ว แต่ถ้าได้สัมผัสธรรมชาติของป่ามาก ๆ ก็อาจจะใช้จินตนาการใส่เข้าไปให้เกิดเรื่องสนุกสนานตื่นเต้นได้ ข้อสำคัญคือข้อมูลต้องจริง ไม่ให้คนอ่านแย้งได้ เช่นไปบอกว่าหมาจิ้งจอกรวมฝูงกันเข้าโจมตีกวาง อย่างนี้ผิด เพราะหมาจิ้งจอกมันหากินตัวเดียว ไม่เคยรวมฝูง
19. สำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียน อาชีพนักเขียนนั้นคุณคิดว่าน่าสนใจไหม
น่าสนใจ แต่มันยาก แต่ถ้าทำได้แล้วมีความสุขมาก อย่างที่บอกว่า ไม่มีเจ้านาย ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบ ไม่ต้องเข้าสำนักงาน อยากทำงานเวลาไหนก็ได้ ไม่อยากทำหยุดเที่ยวเสียเมื่อไรก็ได้ แต่คุณต้องขยัน มีวินัย รับผิดชอบงานให้ได้ตามที่ต้องการ
20. ถือ ได้ว่าตลอดระยะเวลายี่สิบปีที่ผ่านมา คุณเป็นนักเขียนอีกคนหนึ่งที่ทำงานต่อเนื่องจนได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นเบอร์ หนึ่งของการเขียนเรื่องป่า คุณเชื่อไหมว่าต่อไปงานของคุณจะอยู่คู่กับนักอ่านไทยไปอีกหลายสิบปี
ผมไม่เคยคิดว่าเป็นเบอร์หนึ่งหรือเบอร์อะไร ขอเพียงให้ได้เขียน เขียนออกมาแล้วมีคนอ่านพอใจ หนังสือขายได้บ้าง อย่างน้อยสำนักพิมพ์ไม่ขาดทุน และผมได้เพื่อนเป็นนักอ่านมากมายทั่วประเทศ แค่นี้ก็เป็นความสุขอย่างยิ่งใหญ่ในชีวิตแล้ว ส่วนงานของผมจะอยู่ไปนานหรือไม่นั้น ผมเองก็อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่ใครล่ะจะให้คำตอบได้
21. คุณยังมีเรื่องของป่า ของพราน ที่คิดจะเขียนอีกเยอะไหม
ยังมีอีกเยอะครับ เพราะผมติดตามหาคนเก่า ๆ ที่ยังเหลืออยู่ ไปคุยกับเขาแล้วเก็บ เอามาเป็นข้อมูลไว้อีกหลายคน แล้วตัวผมเองก็ยังเที่ยวป่า เดินป่า นอนในป่าอยู่ปีละหลายครั้ง จึงยังไม่หมดเรื่องเขียนแน่นอน
22. คำถามสุดท้าย หากให้เลือกหนึ่งในยี่สิบเก้าเรื่องของคุณออกมาสักเล่มหนึ่ง เพื่อแปลเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ คุณคิดว่าเล่มไหนเหมาะที่สุด
ถ้าใจรัก ผมรักเรื่องใบไม้ร่วงในป่าใหญ่ มากที่สุด เพราะเป็นนิยายเรื่องแรกในชีวิต ของอะไรครั้งแรกย่อมให้ความรู้สึกดีเสมอ จริงไหม แต่เรื่องอื่นก็รัก ทั้ง พรานคนสุดท้าย ป่าเปลี่ยนสี และสางในป่าสูง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผี รวมทั้งเรื่องสุดท้าย สาบเสือ ที่กำลังเขียนอยู่ขณะนี้ก็คิดว่าดี ส่วนเรื่องที่ดีที่สุดจริง ๆ ยังอยู่ในใจครับ ยังไม่สามารถกลั่นออกมาได้
ขอบคุณที่มา : http://kledthaishopping.tarad.com