กิ่งฉัตร : ให้ความสำคัญกับคนอ่านมากกว่าคนดู

กิ่งฉัตร

หากเอ่ยถึงนามปากกากิ่งฉัตร น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักเธอ ยิ่งเป็นนักอ่านนวนิยายด้วยแล้ว แทบจะไม่มีใครที่จะไม่เคยผ่านตาผลงานที่สร้างจากปลายปากกาของเธอ กิ่งฉัตรเป็นนักเขียนนวนิยายยอดนิยมที่ถูกจัดไว้ในอันดับแถวหน้าของเมืองไทย ผลงานการประพันธ์หลายๆชิ้นของเธอมักจะถูกนำไปสร้างเป็นละครอยู่เสมอๆ ปัจจุบันกิ่งฉัตรมีผลงานที่ตีพิมพ์ 27 ชิ้นงาน ค่าของหัวใจ คือผลงานเล่มล่าสุดที่เพิ่งวางแผง กิ่งฉัตร บอกว่าความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียนของเธอเริ่มจากจุดเริ่มเดียวกันกับนักเขียนท่านอื่นๆ นั้นก็คือการอ่าน

“จุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียนคงเหมือนกับนักเขียนหลาย ๆ ท่านคือเริ่มจากการ เป็นนักอ่านมาก่อน อ่านมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ รู้สึกว่าหนังสือเปิดโลกใบใหม่ให้เรา ทำให้เราหัวเราะ ร้องไห้ เสียใจ ดีใจ สารพัดจนไม่น่าเชื่อว่ากระดาษแผ่นสี่เหลี่ยมกับตัวอักษร สามารถบันดาลให้เป็นไปได้ เลยอยากเขียนบ้าง อยากให้คนอ่านมาอ่านแล้วรู้สึกเหมือนกับที่ ตัวเราเคยรู้สึก เลยเริ่มลงมือเขียน” ณ ปัจจุบันนี้จัดได้ว่ากิ่งฉัตรคือนักเขียนอาชีพอีกคนของวงการหนังสือเมืองไทย เพราะเธอเลือกที่จะเขียนหนังสือเป็นงานหลัก

ตอนที่ตัดสินใจออกมาเขียนหนังสืออย่างเดียวนั้น ตัวดิฉันค่อนข้างมั่นใจว่า...ไปไหวน่า เพราะตอนนั้นมีผลงานตีพิมพ์ลงในนิตยสารอย่างต่อเนื่อง และมีผู้อ่านกลุ่มหนึ่งติดตามอยู่ เลยตัดสินใจเสี่ยงดู แต่ครอบครัวเพื่อนฝูงห่วงกันน่าดูเพราะสมัยนั้นยังติดคำว่านักเขียนไส้แห้งกันอยู่

แต่ส่วนตัวไม่ค่อยอยากแนะนำให้ใครลาออกจากงานมาเขียนหนังสืออย่างเดียวนะคะ ขอให้ทำงานประจำจนกว่าจะมั่นใจว่าไปรอดกับงานเขียนอย่างเดียวจริง ๆ ถึงค่อยลาออกจากงานเพราะงานเขียนหนังสือคนเขียนต้องมีวินัยในการทำงานค่อนข้างมาก และเป็นงานที่รายได้ไม่แน่นอน บางเดือนอาจมีรายได้เข้ามาเยอะมาก บางเดือนไม่มีเลยคนจะลุยออกมาขอให้มั่นใจจริง ๆ ค่อยทำ

ผู้ที่คิดจะยังชีพอยู่ด้วยการเขียนอย่างเดียวต้องมีวินัยในการทำงานค่ะต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง อาชีพนักเขียนก็เหมือนกับอาชีพอื่น ๆ ทั่วไป ที่เริ่มต้นที่หนึ่งก่อน แล้วค่อย ๆ นับขั้นไปจนถึงขั้นสูง ๆ เมื่อเริ่มต้นโนเนมไม่มีใครรู้จักก็ลำบากเป็นธรรมดา แต่ถ้ามีมานะและความอดทนทำงานอย่างต่อเนื่อง วันหนึ่งงานที่ทำไปก็จะส่งผลตอบแทนกลับมาอย่างงดงาม อีกอย่างคนที่ยึดการเขียนเป็นอาชีพต้อง รู้จักใช้จ่าย เพราะผลตอบแทนไม่สม่ำเสมอเหมือนกินเงินเดือน อย่างที่บอกไปว่าบางเดือนอาจมี รายได้เข้ามามาก บางเดือนอาจไม่มีรายได้เลยแม้แต่บาทเดียว ดังนั้นจึงต้องรู้จักบริหารเงินที่จะไม่ ทำให้ตัวเองและครอบครัวเดือดร้อนค่ะ”

กิ่งฉัตรถือว่าการทำงานเขียนก็เหมือนการทำอาชีพอื่นๆ ที่ผู้ทำงานต้องมีหน้าที่ต้องมีความรับผิดชอบต่องานของตัวเอง เธอถือคติว่าหากจะยึดเป็นอาชีพก็ต้องทำให้ได้เป็นกิจวัตร สิ่งสำคัญอีกประการที่กิ่งฉัตรยึดถือคือความรับผิดชอบต่องาน และพยายามส่งต้นฉบับให้ทันเวลา หลายท่านคงอยากทราบว่านักเขียนอย่างกิ่งฉัตรมีวิธีการยังไงที่ทำให้ผู้อ่านผลงานของเธอน้ำหูน้ำตาไหล หรือซาบซึ้งใจไปกับตัวละครของเธอ

“การสร้างบุคลิกตัวละครนั้น เมื่อเริ่มต้นเขียนใหม่ ๆ มัก "ยืม" เอาจากคนรอบตัว เพื่อนฝูงคนรู้จัก คนในครอบครัว วิธีนี้ค่อนข้างง่ายเพราะมีตัวอย่างค่อนข้างชัดเจน เดาได้ว่าถ้าเกิดสถานการณ์อย่างนี้ เขาหรือเธอจะตัดสินใจอย่างไร แต่พอเขียนนาน ๆ ไป เอาคนรอบข้างมาขายหมดแล้วก็ต้องคิดเอาเอง กำหนดเอาเองว่าพล็อตแบบนี้ ตัวละครแบบไหนเรื่องถึงจะสนุกเรื่องถึงจะน่าสนใจ”

เรื่องของข้อมูลที่ต้องตามความจริงรวมถึงฉากต่างๆที่ปรากฏอยู่ในผลงานของกิ่งฉัตร เธอก็พิถีพิถันและให้ความสำคัญมากอย่างผลงาน ในเรื่อง ดวงใจพิสุทธิ์ จัดได้ว่าเป็นนวนิยายที่เธอใช้เวลาเขียนนานที่สุด โดยผลงานชิ้นนี้เธอใช้เวลานานถึงสองปี เพราะต้องไปศึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมายและฉากของการพิจารณาคดีในศาล “ถ้าไม่นับเรื่องที่เขียนค้างแล้วนิตยสารเกิดปิดตัวไปทำให้ไม่ได้เขียนต่อ นวนิยายที่เขียนนานที่สุดคือ ดวงใจพิสุทธิ์ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี

ส่วนผลงานที่ชอบที่สุดตัวเองคิดว่า ผลงานที่เขียนออกมาคนเขียนก็ชอบทั้งนั้น ไม่งั้นคงไม่เขียนเพราะยึดเสมอว่าคนเขียนคือคนอ่านคนแรก ถ้าคนอ่านคนแรกอ่านแล้วยังไม่ชอบ คงยากที่จะหาใครชอบงานเรา ส่วนที่ชอบมากที่สุดตอนนี้ยังไม่มีค่ะ เพราะยังเขียนหนังสืออยู่เรื่อย ๆบางทีเรื่องที่ชอบที่สุดอาจจะยังไม่ได้เขียน ไว้รอเลิกเขียนหนังสือเมื่อไหร่มาถามคำถามนี้ใหม่ รับรองตอบได้แน่ค่ะ งานเขียนที่อยากจะเขียนคือ แนวโศกนาฏกรรมค่ะ แบบจบลงด้วยความตาย เป็นงานที่อยากจะลองเขียนดูแต่ที่ยังไม่เขียนเพราะรู้สึกว่ายังไม่แน่พอที่จะตรึงคนอ่านได้ กลัวว่าเขียนแล้วไม่ประทับใจคนอ่าน นักเขียนจะเศร้าเอง”

แม้จะมีผลงานออกมาถึง 27 เล่ม และจัดได้ว่ากิ่งฉัตรเป็นนักเขียนที่มีชั่วโมงบินสูงมากคนหนึ่งแต่ก็ยังมีบ้างบางเวลาที่เกิดอาการตันเขียนไม่ออก “เวลาเขียนงานไม่ต้องใช้บรรยากาศอะไรค่ะ ขออย่างเดียวว่าต้องค่อนข้างเงียบเท่านั้นเพราะเป็นคนสมาธิค่อนข้างสั้น ถ้ามีอะไรจุกจิกกวนใจมักจะวอกแว่กทำงานไม่ได้ เรื่องเขียนหนังสือไม่ออกนี่เป็นบ่อยเหมือนกันค่ะ เมื่อเป็นจะไม่พยายามฝืนเขียนต่อแต่จะหยุดพัก ไปเดินร้านหนังสือ เดินซูเปอร์มาร์เก็ต อ่านหนังสือหรือทำงานอดิเรกอื่น ๆ แต่จะไม่หยุดคิดหาทาง แก้ไขปัญหาตรงที่ติดขัดค่ะ คิดไปเรื่อย ๆ ถ้ายังคิดไม่ออกไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรให้ตัวละครหรือสถานการณ์จะลองเขียนหลาย ๆ แบบ หลาย ๆ วิธีแล้วเลือกเอาวิธีที่เหมาะกับเนื้อหาและตัวละครมากที่สุดค่ะ”

อีกสิ่งหนึ่งที่นักเขียนอย่างกิ่งฉัตรยึดเป็นหลักในการทำงานของเธอคือการยกให้หนังสือที่เธออ่านทุกเล่มเป็นครู จากตอนแรกที่เป็นคนอ่านอ่านแบบอ่านเอาสนุก แต่เมื่อดำรงสถานะเป็นคนเขียนก็จำเป็นที่ต้องรู้จักสังเกตรู้จักดู

“ผลงานของนักเขียนที่เราอ่านทุกคนเป็นต้นแบบการทำงาน ตอนเป็นแค่คนอ่านก็อ่านเอาสนุก อ่านเอาอรรถรส แต่เมื่อเป็นคนเขียน ต้องดูและสังเกตแล้วว่าทำไมงานชิ้นนี้ถึงถูกใจ ทำไมงานชิ้นนี้อ่านแล้วไม่ชอบ นักเขียนใหม่ ๆ ทุกคนมักมีนักเขียนต้นแบบ ติดงานติดสำนวน แต่เมื่อ ทำงานไประยะหนึ่ง ถ้ายังติดสำนวนหรือแบบการนำเสนอของนักเขียนในดวงใจอยู่ บอกได้เลยค่ะ ว่ามีแต่ตายกับตาย โอกาสจะเกิดและยืนมั่นคงยาวนานยากมากต้องหาตัวเองให้พบเร็วที่สุดค่ะ อีกประเด็นที่ถามว่าเขียนยังไงให้ถูกนำไปสร้างเป็นละคร ตอบเลยว่าตอบไม่ได้ เพราะตั้งแต่เรื่องแรกจนถึง เรื่องปัจจุบันที่เขียน ตั้งใจเขียนให้คนอ่าน ดิฉันให้ความสำคัญกับคนอ่านมากกว่าคนดูค่ะ”

หากย้อนกลับไปหลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวหนาหูเกี่ยวกับผลงานของเธอถูกลอกเลียน ซึ่งเธอมีข้อคิดเตือนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้มาฝากกันด้วย “ปัญหาการลอกเลียนลิขสิทธิ์ทุกวันนี้ค่อนข้างน่ากลัว โดยเฉพาะการลอกงานในสื่ออินเตอร์เนตอาจจะเป็นเพราะง่ายต่อการก็อป และคนกระทำขาดจริยธรรมในตัวเองมากขึ้น เมื่อถูกจับได้ก็มักจะบอกว่าไม่รู้ว่าทำผิด ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันกฎหมายลิขสิทธิ์ค่อนข้างมีการเผยแพร่ เอ่ยถึงและบังคับใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น ทางแก้ปัญหาก็ยากเพราะเป็นเรื่องสำนึกของผู้กระทำ ซึ่งส่วนใหญ่มองแค่ ความต้องการของตัวเองเฉพาะหน้า ลืมมองไกล ๆ ไปว่า ความผิดจะติดตัวไปตลอดการทำงาน ที่เหลือ ”

เชื่อมั่นว่าสมาชิกเว็บประพันธ์สาส์นคงจะรู้จักกับนักเขียนขายดีคนนี้ดียิ่งขึ้น และแน่นอนก่อนจบบทสนทนาเธอมีความคิดเห็นฝากถึงคนที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียนมาฝากกันด้วย “สมัยก่อนปัญหาของคนอยากเขียนคือไม่ลงมือเขียนเสียที แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกมีนักเขียนรุ่นใหม่ ๆเยอะมาก เขียนงานกันออกมามากมายหลายสไตล์ บางส่วนก็เป็นหนังสือตามกระแสทำให้เป็น ห่วงว่าจะมีคนที่ตั้งใจเขียนงานอย่างต่อเนื่องมากน้อยแค่ไหน ยังไงก็อยากให้ทำงานกันอย่างต่อเนื่องนะคะ จะได้มีนักเขียนที่ยืนอยู่ในวงการได้นาน ๆ ไม่ใช่มาแล้วไปตามกระแส”

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ