ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง : มาเวทีนี้คุณต้องคิดแบบอินเตอร์

ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง

เป็นเครื่องการันตีได้อีกรางวัลหนึ่ง สำหรับผลงานของ ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง หรือคุณตุ๊ก กับ รอยวสันต์ ผลงานนวนิยายที่เพิ่งได้รับรางวัลโล่พระราชทาน จากโครงการชมนาดบุ๊คไพรซ์ไปหมาดๆ หลังจากที่พี่ตุ๊กได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมามากมายหลายแขนงแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุยนอกรอบจะไปบุกไปพูดคุยถึงบ้าน เพื่อเยี่ยมเยียนและแนะนำให้ชาวเว็บไซต์ประพันธ์สาส์นได้รู้จักนักเขียนคนนี้ให้มากขึ้น

กว่าจะเป็นนักเขียน
พื้นเพเป็นคนตรอกจันทร์ (ย่านคนกวางตุ้ง) พอแต่งงานไปก็ย้ายไปอยู่กับสามีที่เชียงคำ หลังจากนั้นก็ย้ายกลับมาก็มาอยู่แถวประตูน้ำจนถึงปัจจุบัน เรื่องความชอบในการเขียนหนังสือก็มีอยู่บ้างแต่ว่าตอนเรียนก็ไม่ค่อยมีโอกาส พอเรียนจบมาก็ไปทำงานบริษัท ชีวิตไม่ค่อยได้หยุดนิ่ง จากนั้นก็มาเปิดร้านเบเกอรี่อยู่ 20 ปี พอรู้สึกเริ่มอยากเขียนหนังสืออีกก็เลยกลับมาเขียนใหม่ พอเขียนไปเขียนมางานเริ่มเยอะประกอบกับตอนนั้นร้านเบเกอรี่ก็เริ่มไม่ค่อยดีแล้ว เพราะระบบการค้าเริ่มเป็นแบบโมเดิร์นเทรด ต้องเอาขึ้นห้างด้วยความคิดที่ว่าไม่อยากไปลงทุนอะไรตรงนั้นมาก แล้วเราก็อยากเขียนหนังสือด้วย ก็เลยปิดร้านแล้วหันมาเขียนหนังสืออย่างจริงจังไปเลย

ผลงานเล่มแรก
ตอนแรกที่ได้เริ่มฝึกฝนการเขียน เพราะบังเอิญคนข้างบ้านเขาทำโรงพิมพ์แล้วก็เป็นเด็กอักษรด้วยกัน เวลาเขามีอะไรเขาก็มาบอกให้ช่วยเขียน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานธุรกิจ ที่จริงก็ไม่ได้ชอบ แต่มันก็ทำให้เราได้จับปากกาเขียนอะไรบ้าง แล้วพี่เขาก็แนะนำว่าเราน่าจะลองเขียนอะไรส่งไปสำนักพิมพ์ ก็เลยมาเริ่มเขียนเรื่องเบเกอรี่ลงในหนังสือต่วยตูนพ็อคเก็ทบุ๊ค ซึ่งเป็นเรื่องฮาวทูเกี่ยวกับการทำร้านเบเกอรี่ ก็เขียนมาเป็นสิบปี แล้วก็มีเรื่องอื่นด้วย ภายหลังก็มีสำนักพิมพ์สารคดีมาขอเรื่องเกี่ยวกับเบเกอรี่ในต่วยตูนไปรวมเล่ม ก็เลยได้เขียนเรื่อง ใครๆ ก็อยากมีร้านเบเกอรี่ ขึ้นมา แต่เล่มแรกจริงๆ เลยไม่ใช่เล่มนี้ เป็นบันเทิงคดีที่เราเขียนถึงความทรงจำสมัยเรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์ เรื่อง เราทั้งผอง อักษราเทวาลัย อันนั้นก็ลงต่วยตูนเหมือนกันพอครบประมาณ 15-20 ตอนก็ได้รวมเล่ม นั่นถือเป็นถือเป็นpocketbook เล่มแรกจริงๆ

ผลงานเขียนที่ผ่านมา
ก็มีผลงานเรื่องสั้นที่ได้รางวัลจากสกุลไทย ต่อมาทางอมรินทร์ก็จัดประกวดสารคดีนายอินทร์อะวอร์ด ก็ส่งไปประกวด ชื่อเรื่อง จากอาสำถึงหยำฉ่า ซึ่งเป็นสารคดีเรื่องของคนกวางตุ้งในประเทศไทย ก็เป็นรวมเล่มอีกเล่มหนึ่ง ต่อมาก็มีชุด ใครๆก็อยากมีร้านเบเกอรี่, ร้านกาแฟ, ร้านดอกไม้, ใครๆ ก็อยากส่งลูกโกอินเตอร์ เป็นต้น

 

ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง

แนวทางการเขียนหนังสือ
จริงแล้วก็อยากจะบอกนักขียนหรือคนที่อยากเขียนทุกคนว่าเราต้องเริ่มจากสิ่งที่ถนัด หรือสิ่งที่เรามีอยู่ก่อน ไม่ใช่ไปเริ่มจากอะไรที่ต้องไปค้นมาไปคุ้ยมาใหม่ อย่างบางคนก็ไปเขียนเรื่องไกลตัว แต่ตามหลักเราจะต้องเขียนจากสิ่งที่เรารู้ดีที่สุดก่อน ตอนนั้นจึงเริ่มเขียนเรื่องของเบเกอรี่ลงในต่วยตูนเป็นตอนๆ เพราะเราทำมาตั้ง 20 ปีแล้ว รู้สึกว่าไม่มีใครรู้ดีกว่าเรา จากนั้นก็เริ่มไปเขียนเรื่องของคนกวางตุ้ง เพราะว่านี่ก็เป็นเรื่องที่เรารู้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง

แล้วเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องร้านเบเกอรี่
ที่มาเขียนเรื่องร้านกาแฟ เพราะตอนที่เปิดร้านเบเกอรี่อยู่สักพักหนึ่งก็มาเสริมด้วยกาแฟ แต่แล้วก็ล้มเหลวเพราะว่าทำไปแบบไม่รู้เรื่อง เราก็เอาความล้มเหลวตรงนี้ไปเขียนเรื่อง ใครๆ ก็อยากมีร้านกาแฟ เรื่องของพี่จะไม่ใช่การเล่าประสบการณ์ แต่ถ้าใครได้ลองไปอ่าน จะเป็นเรื่องของความน่ากลัวในการเปิดร้านพวกนี้ทั้งนั้นเลย ถ้าเราเขียนว่ามันดีอย่างไรมันก็ง่าย คนอ่านแล้วก็ไปแห่กันเปิดร้านเลย เราก็เลยหาเรื่องอีกด้านที่ยากกว่า คือ มันล้มเหลว ว่าความล้มเหลวเหล่านี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร ทีนี้เราก็เริ่มเลยหาข้อมูลด้วยการไปหาพวกลูกน้องที่อยู่ตามร้านกาแฟไปจนถึงผู้จัดการเลย ชวนคุยกันจนเขาไว้ใจ แล้วเขาก็เล่าเคล็ดลับให้ฟังหมดเลยว่าจะโกงกันอะไรยังไงบ้าง ร้านดอกไม้ก็เหมือนกัน เด็กที่เฝ้าร้านดอกไม้เล่าหมดว่าจะโกงนายยังไง แล้วเราก็เขียนลงไปในหนังสือว่า นี่คือสิ่งที่คุณจะเจอ เพราะถ้าคุณเป็นคนโชคดีทำยังไงมันก็สำเร็จ แต่จะทำยังไงจะบริหารร้านให้มันไปรอด ต้องเอาปัญหานี้ให้อยู่ จำได้ว่าตอนที่หนังสือเล่มนี้ออกมีคนโทรมาขอบคุณถี่ยิบ เขาก็มาเล่าให้ฟังว่า วางเงินไว้ 4-5 แสน กำลังจะเปิดร้านเบเกอรี่แล้ว แต่พอมาอ่านหนังสือเราเขาฉุกคิด ประหยัดเงินไปได้หลายแสน เราก็ถือว่านั่นเป็นบุญของเขาเองเพราะถ้าเขาแก้ปัญหาที่เราบอกเขาไม่ได้ ก็อย่าเปิดเลย

เวลาจะไปสัมภาษณ์เก็บข้อมูลต่างๆ มีวิธีอย่างไร
อย่างถ้าไปสัมภาษณ์เรื่องร้านดอกไม้ เราก็ต้องลงทุนไปซื้อดอกไม้แล้วก็ชวนเขาคุยไปเรื่อยๆ ว่าเป็นยังไง เขาก็จะเล่าไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่ว่าทุกร้านจะยอมเล่าให้ฟัง เราต้องไปหลายๆ ร้าน หลายย่านมาก เพราะแต่ละแหล่งมันไม่เหมือนกัน แล้วก็ต้องไปทั้งร้านใหญ่ร้านเล็ก จะเรียกว่าเป็นการทำรีเสิร์ทย่อยๆ เลยก็ว่าได้ อีกอย่างคือเราก็จะไม่ได้สำภาษณ์แค่มุมลูกน้องอย่างเดียว เราก็สัมภาษณ์ฝ่ายเจ้านายด้วย เพราะเขาก็จะมองเห็นปัญหาคนละประเด็นกัน เราก็เอาปัญหาต่างมุมนั้นมาประมวลแล้วก็เขียนออกมา แต่เราจะไม่เขียนเชียร์ว่ามันดีอย่างไร วันหนึ่งมีเงินเข้าเท่าไหร่ แบบนี้จะไม่เขียน ก็อาจจะเหมือนเรื่องรอยวสันต์ตรงที่ว่าแทนที่เราจะเขียนเรื่องเจ้าสัวรวยๆ เราก็ไปเขียนเรื่องคนใช้เจ้าสัวดีกว่า เพราะไม่มีใครคิดถึงเขาไงคะ ตรงนี้คิดว่ามันน่าสนุก

 

ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง

 

ชอบเขียนแนวแนวไหนมากที่สุด
ก็ชอบทุกแนวรู้สึกเป็นคนแปลกมากเหมือนกันเพราะชอบทุกแนวเลย เวลาเขียนสารคดีก็สนุกเพราะว่าเป็นเรื่องจริงที่เราค้นคว้ามา เราอยากจะเขียนเราก็เขียนออกมา แต่ไม่ว่าจะเป็นนิยายหรือสารคดีก็ตามพี่จะรู้สึกตัวว่าตัวเองเป็นคนชอบเขียนอะไรที่สนุกสนาน ไม่ชอบเขียนแบบโศกเศร้ารันทด เพราะรู้สึกสงสารตัวละคร ส่วนใหญ่จะเขียนแต่แนวสบายๆ บันเทิง

จัดสรรเวลาในการเขียนหนังสืออย่างไร
เรื่องเวลานี่บอกกับตัวเองเลยว่าต้องทำเหมือนคนทำงาน คือเช้ามาที่บ้านจะยุ่งไปหมด เรารอเวลา9 โมง ทุกคนออกจากบ้านหมดแล้ว เราก็จะเริ่มเขียน เขียนไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 3-4 โมงเย็น คนอื่นก็เริ่มกลับมาแล้ว ก็เป็นช่วงที่วุ่นวายเขียนไม่ได้ เพราะฉะนั้นระยะเวลาเขียนของก็จะประมาณนี้ และทำอย่างนี้ทุกวันเหมือนคนทำงานบริษัท แต่เสาร์อาทิตย์ไม่ทำ เพราะต้องมีเวลาสนุกสนานพักผ่อนเหมือนคนทั่วไป ยิ่งกลางคืนนี่ไม่ทำเลยเพราะรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องทำตัวให้แปลกประหลาด ว่าเป็นนักเขียนแล้วต้องลุกขึ้นมาเขียนตอนดึกๆ ให้ทั้งบ้านเดือดร้อน ซึ่งก็แล้วแต่การดำเนินชีวิตของแต่ละคน บางคนเขาก็ต้องลุกมาเขียนแต่เช้าเพราะว่าสมองแจ่มใส บางคนก็ต้องเขียนดึกๆ เพราะมันเงียบดี แต่ของเรามีครอบครัวจะมาทำตัวแปลกกว่าคนอื่นมันไม่ได้ ส่วนวันอาทิตย์นี่ขอสงวนไว้เลยสำหรับเล่นกอล์ฟ

การเล่นกอล์ฟมีส่วนช่วยอะไรในการเขียนหนังสือบ้างไหม
ส่วนใหญ่ก็จะมีส่วนช่วยในเรื่องที่เราได้ออกกำลังกาย แต่สำหรับเรื่องรอยวสันต์นี่มีส่วนในการตั้งชื่อเรื่องด้วย เพราะว่าตอนแรกมีคำว่าวสันต์อยู่ในใจนานแล้วเพียงแต่คิดว่ามันสั้นเกินไป แต่พอไปตีกอล์ฟแล้วไปสังเกตเห็นลูกกอล์ฟตกกระทบพื้นแล้วก็กลิ้งไปเป็นรอย จึงปิ๊งขึ้นได้ว่าให้ชื่อ “รอยวสันต์” มันเป็นความสุขอย่างหนึ่งของคนเล่นกอล์ฟเลยนะ เวลาเห็นลูกกอล์ฟวิ่งเป็นไลน์ถ้าคนไม่เล่นกอล์ฟจะนึกไม่ออกว่าภาพนั้นมันคืออะไร มันเป็นทางแล้วทางนั้นมันจะเป็นตัวบอกทุกอย่างว่าพื้นที่ตรงนี้เอียง เป็นเนิน หรือโค้งไปทางไหน เหมือนชีวิตคนว่าที่ผ่านมามันไม่ใช่ทื่อๆ นะ มันบอกร่องรอยของชีวิตเรา นักเขียนจริงๆ แล้วจะต้องเป็นคนมีจินตนาการ แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็คิดว่าสารคดีก็จำเป็นต้องมีจินตนาการสูง ไม่ใช่มาเล่าว่านายคนนี้มาทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรแล้ว แต่มันต้องผสมผสานจินตนาการเข้าไปด้วย ไม่อย่างนั้นคนอ่านจะรู้สึกเหมือนอ่านหนังสือเรียน

พูดถึง “รอยวสันต์” และ “รางวัลชมนาด”
นวนิยายเรื่องนี้มันเป็นอะไรที่ติดอยู่ในใจตลอด เราอยากจะเขียนนิยายของคนกวางตุ้งและเรื่องราวที่ได้ฟังมาจากตอนที่ไปหาข้อมูลที่เขียนสารคดีนายอินทร์ ก็เลยเอาบางส่วนที่ได้มามาแต่งเป็นนวนิยาย จะว่าไปก็ 5 ปีแล้ว แต่ 5 ปีที่ว่านี้เขียนได้แค่ 20 บรรทัด ไม่ใช่ว่าไม่รู้จะเขียนอะไร แต่มันมีเรื่องราวเยอะมากที่จะเขียน เหตุที่เขียนแค่นั้นเพราะไม่รู้ว่าเขียนแล้วจะไปลงที่ไหน เรื่องมันอาจจะไม่ถูกโฉลกกับความสนุกสนานของคนไทย อย่างที่บอกว่ามันเป็นเรื่องของคนแก่ 4 คน เป็นเรื่องของเรื่องราวในอดีตที่ไม่มีพระเอกนางเอก มีความรู้เรื่องจีนมีภูมิปัญญาจีน มีความรู้มากมายเรื่องการทำครัวของจีนกวางตุ้ง พอเขียนไปได้ 20 บรรทัดก็นึกไม่ออกว่า แล้วใครจะอ่าน... พอมันตีปัญหาตรงนี้ไม่แตกว่าจะเขียนให้ใครอ่านก็เลยเลิก เปล่าประโยชน์ที่จะมาเขียนเรื่องที่คิดว่าคนไม่อ่าน ตอนนั้นเราเองก็ยังไม่ได้เขียนนิยายมากพอ ก็เลยมีความรู้สึกกลัว ว่าถ้าส่งไปแล้วบรรณาธิการไม่อ่านเรื่องนี้มันก็แป๊ก ก็เก็บมันไว้อย่างนั้น แต่ก็ยังคงคิดถึงตัวละคร 4 ตัวนี้อยู่ในหัวตลอดเวลา ใจก็ยังคิดว่าเมื่อไหร่ที่เราจะหยิบเค้าขึ้นมาทำอีก จนกระทั่งประพันธ์สาส์นบอกว่ามีประกวด เราก็รู้สึกว่าตรงนี้มันก็เป็นเวทีที่อย่างน้อยก็มีกรรมการอ่าน ยิ่งพอได้รางวัลมามันก็ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่านิยายที่ไม่ใช่รัก เศร้า โศก ตลก ก็ยังมีคนต้องการ

ถ้าถามว่าอยากให้ใครอ่านเป็นพิเศษ ก็คิดว่ามันเป็นหนังสือที่ไม่มีพิษมีภัย ทุกคนก็อ่านได้ แล้วอีกอย่างก็คือ มันเป็นเรื่องราวบันทึกสังคมส่วนหนึ่ง ตอนนี้ที่คนไทยเราขาดแคลนมาก โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน ก็คือ บันทึกเรื่องเก่าๆ เก่าของคนจีนโดยเฉพาะเมื่อ 70- 80 ปี เพราะว่าคนจีนที่เขาอพยพมาจากเมืองจีนตอนนั้นเขาก็เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก ไม่สามารถบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเองได้ ถ้าบันทึกได้ก็จะเป็นภาษาจีนคงไม่มีใครไปอ่านได้ แล้วคนรุ่นนั้นเค้าก็ต้องทำมาหากินปากกัดตีนถีบ สิ่งที่เขาจำได้ก็คือจำอยู่ในสมอง

หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนบันทึกสังคม และเป็นประวัติศาสตร์สั้นๆ ช่วงหนึ่งที่มันเกิดขึ้นจริงในเมืองไทย และขณะเดียวกันมันเป็นเรื่องชีวิต เป็นเรื่องจริง แต่เราเอามาแต่งเอามาปรุงให้มันเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ขณะเดียวกันเราก็พยายามใส่ภูมิปัญญาของคนกวางตุ้งลงไปด้วย เช่น ความคิด ปรัชญาแนวคิด การใช้ชีวิต การปรุงอาหารแล้วก็ความเชื่อต่างๆ เพราะว่าโดยส่วนตัวเราก็มีความภูมิใจในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นคุณค่าของชีวิตในยุคก่อน ที่ตอนนี้อาจจะไม่มีใครสนใจแล้ว

ทัศนคติเกี่ยวกับโครงการชมนาดบุ๊คไพรซ์
ตัวเองได้รู้จักโครงการชมนาดเท่ากับคนอื่นทั่วไป ไม่ได้รู้มากกว่านั้น แต่ก็มาประทับใจตรงที่ว่าเป็นรางวัลสำหรับนักเขียนหญิง ซึ่งคิดว่าตรงนี้เป็นการแยกกลุ่มนักเขียนให้โดดเด่นและชัดเจนขึ้น ถ้าเหมือนการแข่งกีฬาก็คิดว่ามันแฟร์ เพราะแน่นอนว่าผู้หญิงก็จะคิดไม่เหมือนผู้ชาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ชายเก่งกว่าผู้หญิงจนต้องเอาเค้าออกไปไม่ให้มารวมกัน แต่มันเป็นอะไรที่เชิดชูนักเขียนหญิงด้วย แต่ที่กังวลอยู่กลัวว่าจะเข้าใจผิดว่านักเขียนหญิงก็จะเขียนแต่เรื่องผู้หญิง แต่ความจริงคือ เป็นผู้หญิงเขียนแต่เขียนอะไรก็ได้ แล้วที่ประทับใจอีกอย่างหนึ่งก็คืองานนี้ทางเจ้าภาพเขามีความปรารถนาที่จะแปลเป็นภาษาอื่น เพื่อทำให้วรรณกรรมไทยมันเผยแพร่ออกไป พี่เองคิดว่าวรรณกรรมบ้านเรามันก็ไม่ได้แพ้ชาติอื่น เพียงแต่ขาดกลไกที่จะนำไปสู่ต่างประเทศ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ