ทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของคนอื่นอาจจะเป็นแก้วแหวนเงินทอง แต่สำหรับชาติ ภิรมย์กุลแล้วทรัพย์สมบัติที่มีค่าของเขาได้แก่ เมีย ลูก และหมา ที่นำเรื่องราวมาใช้เขียนหนังสือเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด เรื่องราวธรรมดาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทั่วไป แต่เมื่อได้ "เล่า" ผ่านสายตาและมุมมองของเขาจะกลายเป็นเรื่องชวนหัวขึ้นมาทันที ถึงแม้ชาติ ภิรมย์กุลจะไม่ได้ดับเบิลซีไรท์อย่างชาติ กอบจิตติ แต่เรื่องของเขาทำให้ผู้อ่านดับเบิลเสียงหัวเราะซ้ำๆอย่างไม่มีเบื่อ เราจะรู้จักเขามากขึ้นจากบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้
เขียนหนังสืออยู่ที่ไหนบ้าง
ที่ น.ส.พ.มติชนฉบับวันอาทิตย์ที่เดียว ชื่อคอลัมน์ "ชีวิตไม่สูญเปล่า" เขียนเยอะไม่ไหว เขียนไม่เก่ง เขียนช้า
เวลาเขียนหนังสือต้องรออารมณ์ไหมครับ
ไม่รู้เรียกรอเวลาหรือเปล่า แต่เวลาเขียนหนังสือต้องเงียบ
อย่างนั้นก็เขียนเฉพาะตอนกลางคืนสิครับ
กลางวันก็ได้ที่เงียบๆ ถูกฝึกมาอย่างนี้ กลางคืนส่วนใหญ่ไม่ได้เขียน มีรายการโทรทัศน์ดีๆให้ดูเยอะ เช่น สำรวจโลก แฟนพันธุ์แท้ เดอะสตาร์ก็ดูนะ
เขียนหนังสือทุกวันไหม
ยกเว้นวันเสาร์อาทิตย์ จริงๆอยากเขียนทุกวัน แต่ก็ต้องมีธุระบ้าง ต้องไปโน่นไปนี่ ไม่เคยเขียนรวดเดียวจบ เต็มที่เขียนวันนึง 2 ชั่วโมง ตัดทอน แก้ไข อย่างน้อย 3-4 ครั้ง เพราะไม่แม่นเรื่องภาษา
เคยอ่านประวัติคุณพบว่าทำงานอย่างอื่นมาเยอะมากแต่สุดท้ายก็มาจบลงที่งานเขียน ทำไมเป็นอย่างนั้นครับ
สถานะการณ์บังคับ ตอนนั้นตกงานอายุมากแล้ว งานประจำคือฝ่ายศิลป์ ส่วนใหญ่ถ้าทำงานด้านนี้คือต้องเก่งคอมพิวเตอร์ แต่เราไม่เก่ง ภาษาอังกฤษก็ไม่เก่ง ช่วงปีสุดท้ายของการทำงานก็คือปีแรกของการเขียนหนังสือ ส่งไปตามหนังสือต่างๆ โชคดีที่ได้ลงตีพิมพ์เกือบทุกชิ้น จึงคิดว่าออกมาเขียนหนังสือดีกว่า ตอนนั้นคิดว่าน่าจะอยู่ได้ ยังใหม่มากๆกับวงการหนังสือ คิดว่าเมื่อรวมเล่มแล้วน่าจะขายได้ขายดี แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ ต้นทุนทางสังคมเราไม่มี ต้นทุนทางวรรณกรรมไม่มี 3 ปีต่อมาจึงเริ่มอยู่ได้ด้วยการเขียนหนังสือ ก่อนหน้านั้นติดลบมาตลอด พอปีที่ 4 หนังสือเยอะแล้ว ส่วนหนึ่งงานประจำของเราน้อยไม่เหมือนคนอื่น หลายคนอยู่ได้เพราะเขียนคอลัมน์ประจำ ไม่จำเป็นต้องรวมเล่ม บางคนเขียนตั้ง 10-20 ชิ้นต่อเดือน เราเขียนได้ 4-5 ชิ้นต่อเดือน รายได้ส่วนใหญ่จึงอยู่ที่การรวมเล่มมากกว่า
ตอนนี้อยู่ได้ด้วยการเขียนหนังสือแล้วใช่ไหม
ทุกวันนี้อยู่ได้ด้วยการรวมเล่ม งานทุกชิ้นก็เลยพิถีพิถัน ไม่เคยเขียนแล้วไม่รวมเล่ม ทุกวันนี้เขียนเรื่องสั้น เรื่องเที่ยว เรื่องหมา บทความ อันไหนไม่ถนัดก็จะไม่เขียน กลอนยังเขียนไม่ได้เลย
มีหนังสือรวมเล่มเยอะอย่างนี้แล้วคิดจะทำสำนักพิมพ์เองไหม
ไม่ เพราะเหนื่อยกับวางแผนการจัดการ
งานเขียนชิ้นปัจจุบันกับชิ้นแรกๆเปลี่ยนไปเยอะไหม
คิดว่าเปลี่ยน นักเขียนทุกคนเป็นอย่างนี้ พอกลับไปอ่านงานเก่าจะรู้สึกไม่ชอบ เพราะฝีมือพัฒนาไปแล้ว งานเขียนปัจจุบันก็เช่นกันอีก 3 ปีข้างหน้าก็จะไม่ชอบ
วางแผนการเขียนต่อไปไว้อย่างไร
ตั้งใจว่าจะมีนิยายเป็นของตัวเองสักเล่ม ถ้าไม่ใช่ปีหน้าก็อีกปี หลังๆมานี่จะมีคอนเซ็ปท์แล้วว่าจะเขียนเรื่องอะไร ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่จะเขียนมั่ว ปีหน้ามี 3 เรื่องที่เตรียมไว้ คือเรื่องแม่ เรื่องพ่อ และเรื่องกาแฟ เพราะเป็นคนชอบกินกาแฟ กินเยอะๆแล้วก็อยากเขียน ชอบไปนั่งร้านกาแฟที่แต่งน่ารักๆ ชอบไปอ่านต้นฉบับที่ร้านกาแฟ เขียนสนองตันหาอารมณ์ตัวเองบ้าง ไม่ได้คิดจะขาย ได้เห็นบรรยากาศในร้านกาแฟ เห็นคนมากินกาแฟก็อยากเล่า เขียนถึงร้านกาแฟต่างๆ
นินทาภรรยาในงานเขียนเยอะมาก เขาว่าเอาบ้างไหม
(หัวเราะ)เขาไม่อ่านหนังสือ
แต่เห็นภรรยาเขียนคำนำให้นี่ครับ
บังคับ เพราะเป็นนักเขียนใหม่ไม่มีคนรู้จัก จะให้คนอื่นเขียนให้ก็เกรงใจ อย่าง "เกาเหลาชีวิต" ให้ลูกเขียนให้ ช่วยกันทำมาหากิน
ตอนนี้มีแฟนหนังสือเท่าไหร่แล้ว
ไม่รู้แต่ที่ประทับใจมากๆมีอยู่คนหนึ่งเป็นเด็ก ป.4 งงมาก ถามแม่เขาว่าทำไมเด็กอ่านได้ แม่เขาเล่าว่าซื้อ "เกาเหลาชีวิต" ไปทิ้งไว้ที่บ้าน ลูกอ่านแล้วชอบ ซึ่งเด็กอายุเท่านี้ไม่น่าจะอ่านเรื่องสั้นได้ แฟนหนังสือเรื่องหมาจะเป็นเด็กเยอะ มี ป.6 กับ ป.5 เรื่องหมาจะอ่านได้ทุกเพศทุกวัย
เรื่องหมาที่คุณเขียนต่างจากเรื่องหมาของคนอื่นอย่างไร
ผู้อ่านเล่าว่าเรื่องที่เราเขียน เขานึกภาพได้ สัมผัสได้ เพราะเราเลี้ยงจริงๆ อยู่กับหมาทั้งวัน จะได้อารมณ์คนเลี้ยงหมา
ตอนนี้เลี้ยงกี่ตัวแล้ว
2 ตัวเท่าเดิม เป็นตัวผู้ มีคนอยากให้เขียนเรื่องหมาต่อ ก็ยังไม่ได้เขียน ไม่ใช่รู้สึกตัน จริงๆปีหน้าก็อยากเขียนเรื่องหมาอีกนะ แต่ช่วงนี้คนเขียนหนังสือเรื่องหมาเยอะก็เลยไม่อยากเขียน เรื่องหมาเขียนได้ไม่มีวันจบหรอก เขียนจนกว่าหมาจะตาย เพราะเราไม่ได้เขียนเรื่องหมาของเราคนเดียว เขียนเรื่องหมาของคนอื่นด้วย
แต่ยังไม่มีหมามาเขียนคำนำให้นะครับ
มี เล่มที่ 4 จะเอา "ปัก" กับ "ปอน" มาเขียนคำนำให้ เอาขามันจุ่มหมึกแล้วปั๊มลงไป
หนังสือของคุณเป็นแนวแซวๆอำๆ เคยมีผู้อ่านๆแล้วโกรธไหม
ไม่มี ยังไม่เคยโดนว่าเลย ตั้งแต่เขียนหนังสือมา เคยโดนว่าเรื่องหมาอย่างเดียว เรื่องรักหมาไม่เท่ากัน
ระหว่างเรื่องสั้น เรื่องหมา และเรื่องเที่ยว ผลตอบรับของแฟนหนังสือกลุ่มไหนมากกว่ากัน
เรื่องหมาขายดีกว่า คนเลี้ยงหมาเมืองไทยเยอะ เฉพาะในกรุงเทพฯไม่ต่ำกว่า 5 หมื่น ถ้าไปงานประกวดหมาจะรู้ ธุรกิจอาหารหมามูลค่าเป็นพันล้าน เพ็ทช็อปเยอะ สปาหมาก็มีหลายเจ้า หนังสือเกี่ยวกับหมายังนับว่าน้อย
โอกาสของหนังสือแนวหรรษาในตลาดเป็นอย่างไร
เหมือนน้ำซึมบ่อทราย ไปได้เรื่อยๆไม่หวือหวา เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการประชาสัมพันธ์มากกว่า
เห็นด้วยกับการที่ดารามาเขียนหนังสือหรือไม่
เห็นด้วย เพราะไม่มีข้อห้าม ไปห้ามเขาได้อย่างไร อะไรก็ได้ที่ทำให้คนหันมาอ่านหนังสือ ทำให้วงการหนังสือคึกคักมากขึ้น ใครมาเขียนเป็นเรื่องปรกติ ปีนี้กับปีหน้าเป็นกระแสว่าดาราทุกวงการสุดท้ายก็มาออกหนังสือ เป็นเรื่องธรรมดา น่าจะมีตั้งนานแล้ว
ฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากเขียนหนังสือ
ให้ตั้งใจจริง เขียนจริง เพราะมีเยอะที่บอกว่าอยากเขียนหนังสือ แต่เอาเข้าจริงไม่ได้เขียน ..