ดำรงค์ อารีกุล : จะมุ่งเขียนแต่นิยาย แล้วก็เขียนทีละเรื่อง

ดำรงค์ อารีกุล

ชื่อของเขาปรากฎอยู่ในทำเนียบของนักเขียนแนวหรรษาของไทย สมัยที่สำนักพิมพ์ศิษย์สะดือของศุ บุญเลี้ยงเฟื่องฟู มีหนังสือติดอันดับหนังสือขายดี หนังสือที่ดำรงค์ อารีกุลเขียนก็ติด 1 ใน 10 หนังสือขายดีที่ว่า ผลงานหลายเรื่องของเขาถูกนำไปทำเป็นภาพยนต์ และละครโทรทัศน์ บางเรื่องอย่าง "จักรยานแดงในรั้วสีเขียว" เกือบจะกลายเป็นคู่มือนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรอีกฉบับ บ้านย่านสำโรงซึ่งดำรงค์ อารีกุล ใช้เป็นที่พักอาศัย และทำงานเขียนอย่างโดดเดี่ยว มิตรสหายที่มีโอกาสผ่านไปละแวกนั้นเขายินดีอย่างยิ่งที่จะเสนอตัวเป็นเจ้ามือเลี้ยงอาหาร เย็นวันนั้นเราจึงเป็นแขกของซึ่งกันและกัน

เริ่มเข้าสู่วงการเขียนหนังสือยังไง
โดยพื้นฐานที่ครอบครัวมาจากสังคมเกษตรกรรม ชาวสวนมะพร้าว ต.บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี โตมาก็เห็นพวกเห็นพ่อเห็นพี่เก็บมะพร้าว มีพื้นที่อยู่ 300 กว่าไร่ เป็นลักษณะของครอบครัวที่หาเลี้ยงตัวเองได้ด้วยการเกษตรกรรม สมัยนั้นการแนะแนวการศึกษายังไม่มี เด็กไปเรียนสายวิทยาศาสตร์ เพราะโอกาสสอบเอ็นทรานซ์มากกว่า เราก็มาจากบ้านนอกนึกอะไรไม่ออกก็เลือกเรียนคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่มีอะไรทำ กลับมาทำสวนก็ได้ แต่จิตใจนั้นชอบหนังสือ ระหว่างเรียนก็สนใจ ฝักใฝ่ จบมาต้องทำมาหาเลี้ยงตัวเอง ต้องหางานทำ ก็ไปอีกอย่าง ไปทำงานบริษัทอิเลคทรอนิก ประกอบไมโครชิฟ คล้ายบริษัทฮานาในปัจจุบัน อยู่แถวสำโรง เป็นหัวหน้าคนงานอยู่ 4 ปีครึ่ง หลังจากนั้นก็ออกมาสู่การเป็นนักเขียนเต็มตัว

ผลงานชิ้นแรกคือเรื่องอะไร
"โศกนาฎกรรมของผู้เปลี่ยนแกนไปทางซ้าย" ตีพิมพ์ที่นิตยสารลลนา ตอนยุคปลายปี 2518 ยุคที่กระแสนักศึกษาเริ่มจะสุดกู่ ยุ่งไปหมดทุกเรื่อง ได้ประชาธิปไตยและกลับสู่ถิ่นฐาน ตอนนั้นคนเริ่มรำคาญขบวนการนักศึกษา เพราะรู้สึกยุ่งทุกเรื่อง ทำให้บ้านเมืองปั่นป่วน หนังสือที่เขียนเป็นเรื่องของผู้ชายสุขนิยม รื่นเริงไปวัน ๆ แล้วไปหลงรักผู้หญิงพวกซ้าย ๆ จึงพยายามใส่ความเป็นอุดมคติของความเป็นซ้าย รักประชาชน กรรมกร ชาวนา จงมาร่วมกันสรรสร้างโลกใหม่

ตอนเขียนเรื่องนี้ยังทำงานประจำอยู่ใช่ไหม
ตอนนั้นยังเรียนปีสุดท้ายด้วยซ้ำ ตอนผลงานได้ลงพิมพ์ครั้งแรก เราเรียนจบมาแล้วกำลังหางานทำ ตอนทำงานก็เขียนเรื่อง จักรยานแดงในรั้วสีเขียว ทั้งเล่มเขียนตอนทำงานอยู่ที่โรงงาน

แนวการเขียนงานยุคแรก
มีแม่พิมพ์ในใจ ตอนนั้นติดใจสำนวนของคุณเทศภักดิ์ นิยมเหตุ "หลายรักของโดบี้" เป็นเรื่องของนิสิตนักศึกษาของสหรัฐ ในแต่ละตอนจะผจญกับผู้หญิงแต่ละแบบ มีอยู่ 10 กว่าตอน เราเขียนเรื่องก็ใช้พล็อตของเรา แต่วิธีการดำเนินเรื่อง และสำนวนก็ติดของเขามา

ตอนนี้เขียนงานอะไรอยู่บ้าง
เขียนนิยายเรื่อง"กระบือบาน"ลงนิตยสารขวัญเรือน เป็นเรื่องนิยายขนาด 52 ตอน ถึงบทที่ 49 แล้ว แก่นหลักเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมเกษตรกรรมดีกว่าอุตสาหกรรม ตัวเปรียบเทียบที่นำเสนอคือ ควายดีกว่ารถไถ เป็นเรื่องลักษณะของใครคนหนึ่งที่มีอุดมคติ คล้าย ๆ กับเป็นคนรักควาย อนุรักษ์ควาย ซึ่งในชีวิตจริงมีให้เราเห็น ชุมชนแถวสุพรรณบุรี มีหมู่บ้านกระบือ

เป็นเรื่องของเพื่อนหรือเรื่องแต่ง
เรื่องแต่ง โดยอิงของจริง ต้องไปดูพื้นที่ มีเพื่อนคนหนึ่งชื่อ ไพบูลย์ ใจเด็ด สมัยเรียนปทุมคงคา เรามาสอบติด คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตร แต่เขาไปติดคณะเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องควาย ก็พานั่งรถไปเที่ยว ไปดูสถานีก็เกิดความคิดเรื่องนี้ ไปดูเกือบ 10 ปีแล้ว ก็สะสมข้อมูลมา พระเอกเรื่องนี้เลยชื่อ "ใจเด็ด"

นิยายทุกเรื่องเก็บข้อมูลนาน ๆ อย่างนี้หรือเปล่า
แล้วแต่ คราวนี้เก็บข้อมูลมาแล้วในลักษณะหาข้อเท็จจริง นักเขียนจะเขียนได้ต้องมีแรงบันดาลใจ มีความหลงใหลอันดูดดื่ม ความยากที่จะเขียน เป็นอย่างนั้น เรื่องนี้รอนานหน่อย เป็นเรื่องชนบทที่คนยุ่งกับควายทำให้มันสนุกมันยาก และต้องหาจุดขัดแย้ง หาตัวละครมาเพิ่ม ให้ 2 คนไปทะเลาะกัน คนหนึ่งจะขายรถไถ อีกคนหนึ่งจะต่อต้านมันเป็นโครงเรื่องที่ไม่น่าติดตาม ต้องนั่งนึกอยู่นาน

ปรกตินิยายแต่ละเรื่องใช้เวลาเขียนนานแค่ไหน
เรื่องนี้เขียนนาน สมัยก่อนฉากที่เราเขียนยาก ๆ บางเรื่องเราจะผ่านไปเลย อันนี้มันไม่ได้ เพราะโดยสัดส่วนฉากของเรื่องต้องอยู่ที่อำเภอในชนบทนั้นนานมาก ขณะที่ชีวิตของเราจะถนัดกับการเขียนวิถีชีวิตคนเมืองมากกว่า

เชื่อเรื่องพรสวรรค์หรือไม่
เชื่อ มันมีส่วนหนึ่งที่ติดตัวมา อย่างวาณิช จรุงกิจอนันต์ เชื่อเรื่องดวงมาก ตัวเขากับเราก็พุทธเกษตร แต่ว่ามันอยู่ในเรือนที่เรียกว่า วินาศ เด่นดังในเรื่องเขียนเสียดสีเขา เขียนหนังสือแล้วมีเรื่อง โดยไม่ได้เจตนา พรสวรรค์มี เหมือนกับต้นทุนเดิม ที่เหลือต้องไปหาเอา เพราะฉะนั้นคนมีพรสวรรค์ ถ้าไม่ได้ใช้มันก็อยู่แค่นั้น คนที่พรสวรรค์น้อยกว่า แต่เขามีพรแสวงมากก็ไปได้ แต่พูดง่าย ๆ ความมานะก็ชนะคนที่มีพรสวรรค์ มันต้องเชื่อเรื่องความถนัด แต่ความชอบเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดแรงขับดันขึ้นมา แต่มีคนบางประเภทขับเท่าไหร่ก็ไม่ไปถึงไหน คือ ได้แต่ชอบ ดูจากหลายวงการ วงการหนัง วงการดนตรี บางคนก็ชอบเหลือเกินการเป็นนักร้อง เป็นนักแต่งเพลง แต่พยายามเท่าไหร่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ปัจจุบันงานเขียนเปลี่ยนไปมากแค่ไหน
เปลี่ยน เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน เดิมเราเขียนทุกเรื่องด้วยความสนุกสนานเฮฮา เอามันเข้าว่า เราก็สนุกด้วย ความจริงก็น่าเสียดายยุคเก่า คือ เราไม่สามารถกลับไปเขียนอย่างนั้นได้อีกแล้ว เมื่อเราเติบโตขึ้นทำให้เขียนงานจริงจังขึ้น เราไปอ่านงานของคนที่เป็นผู้ใหญ่เขียน ที่เป็นตัวจริง เช่น จอห์น สไตล์เบค ไม่สนุก แต่ลึกซึ้ง เราก็เริ่มอ่านจากพวกนี้มากขึ้น เราก็เปลี่ยน

วางแผนเป้าหมายในอนาคตยังไง
ตอนนี้เขียนหนังสือน้อยลง จะมุ่งเขียนแต่นิยาย แล้วก็เขียนทีละเรื่อง

ต่อจากเรื่องกระบือบานมีเรื่องอะไร
ต่อไปคงจะเขียนในเรื่องที่มันมีอารมณ์ขันมากกว่านี้ พอเขียนเรื่องนี้มันมีอารมณ์ขัน แต่เราพยายามที่จะเลี่ยง ไม่ไปทางนั้นที่จะให้มันเป็นลักษณะจริงจัง เป็นเรื่องเชิงอุดมคติ แต่มันมีในลักษณะอารมณ์ขันซ่อนเร้น ลึก ๆ แต่ไม่ให้มันโดดเด่นขึ้นมา ไม่ให้มันเด้งขึ้นมา คงแก่นให้เป็นเรื่องเชิงอุดมคติมากขึ้น

อารมณ์ขันของดำรงค์ อารีกุลเป็นอย่างไร
ผมก็ได้จากครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เราไม่ได้ค้นพบอะไรใหม่ เราเพียงแต่ใส่ความร่วมสมัยลงไปเท่านั้นเอง เช่น เขียนเรื่อง"กอดลมไว้อย่าให้หงอย"ทั้งชุดมีอยู่ 9 เล่ม เรื่องหมง หงจินเป่า เป็นเรื่องคนขี่มอเตอร์ไซค์ ก็เผชิญเหตุการณ์ปัจจุบัน

ทำงานเขียนวันละกี่ชั่วโมง ทำเวลาไหน
ทำได้ตอนเช้ากับตอนบ่าย เดี๋ยวนี้ทำตอนเช้าไม่ค่อยได้ เพราะว่าตื่นมาไปออกกำลังกายกลับมา มันก็เริ่มเขว ปกติชีวิตเดิมตื่นขึ้นมากินกาแฟทำงานได้เลย พักหลังมีปัญหาเรื่องความดัน หมอให้ออกกำลังกาย พอไปออกกำลังกาย เราก็ไปซื้อปาท่องโก๋มากินแล้ว กลับมาดูข่าว แล้วมันก็จะเสียเวลา (หัวเราะ) พักหลังมาทำตอนบ่าย ตะวันตกดินเลิก เขียนสะสมไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวนี้ทำงานได้ช้ามาก วันละครึ่งหน้า หนึ่งหน้า สองหน้า

สาเหตุที่เขียนงานได้ช้าคืออะไร
เราพะวงว่าจะทำไม่ได้ดีอย่างที่คิด ไม่รู้จะคิดมากอะไรขนาดนั้น บางทีเราบอกตัวเองว่า เราไม่ได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก ต้องทำให้มันเสร็จ ใช้เวลานานจนตัวเองรำคาญ เวลาคิดมาก สิ่งที่รบกวนว่า มันควรดีกว่านี้ ทั้งที่มันอาจจะดีอยู่แล้ว มีเวลาเขียนเรื่องเดียว บางทีเราก็คิดว่า การจำกัดเวลาดีกว่าหรือเปล่า ถ้าบังคับว่าต้องส่งต้นฉบับแล้วจะได้เขียนได้เร็วขึ้น

สมัยก่อนเขียนได้เร็วกว่านี้หรือ
เขียนได้เร็วกว่านี้ เคยเขียนหนังสือได้มากที่สุด 2 ตอนในวันเดียวกัน รู้สึกวันนั้นเป๋ไปเลย เคยอยู่หนเดียวที่มากสุด มันล้า "โก้วเล้ง"ก็เขียนได้เร็ว เขียนได้ 2-3 ชั่วโมงเพื่อจะไปเที่ยว แล้วเขียนหนังสือได้มากมาย แต่เขาตายตอนอายุ 42 หรือ 44 ปี

เห็นด้วยกับคำว่า นักเขียนไส้แห้งหรือไม่
ก็ยังเป็นจริงอยู่ ยังมีเพื่อน ๆ หลายคนที่ลำบาก สำหรับเราส่วนหนึ่งที่ไม่ลำบากในตอนนี้ก็คือ เราเคยทำสำนักพิมพ์ พิมพ์หนังสือของตัวเอง เคยรวบรวมพิมพ์อยู่ 24 ปก ประมาณ 240,000 เล่ม ปกหนึ่งพิมพ์ประมาณ 10,000 เล่ม แล้วนับจำนวน คืนมาประมาณ 10% เท่ากับ 24,000 เล่ม ส่วนนั้นเป็นทุนสำรองทำให้เราไม่ต้องทำงานมากในปัจจุบัน

หนังสือของคุณมีทั้งหมด 24 ปกหรือ
ที่ทำสำนักพิมพ์เองมี 24 ปก ส่วนที่พิมพ์กับสำนักพิมพ์อื่นต่างหาก พักหลังไม่ได้ทำสำนักพิมพ์แล้ว

ทำไมจึงวางมือจากงานสำนักพิมพ์
เหนื่อย และตลาดมันเปลี่ยน เราดูแล้ว ตั้งแต่ขาใหญ่ลงมาเล่น ตลาดอยู่ในมือของขาใหญ่หมด พวกธุรกิจที่ครบวงจรทั้งหลาย พวกที่มีสื่อ อีกอย่างหนึ่งคือ คิดว่าพอสมควรแล้ว เพราะแต่งงานด้วย ภรรยาก็ไม่ชอบ ทำหนังสือต้องมีสต๊อก มีหนังสือคืนมากองไว้ในบ้านจำนวนมาก สำนักพิมพ์มันมียุคของมัน อันนี้ต้องยอมรับ ไม่อย่างนั้นนักเขียนทุกคนต้องยังอยู่ ยุคสมัยเปลี่ยนไป

การมีความรักเป็นอุปสรรคหรือเป็นกำลังใจต่อการเขียนหนังสือ
ช่วงวัยหนุ่มจะทำให้เกิดความปราดเปรื่องมีไฟขึ้นมา สำหรับวัยอย่างเรามันคนละอย่าง รู้สุขรู้ทุกข์ที่จะมากระทบ ไม่หวือหวาแล้ว จิตตัวเราตรงกับตัวอักษร คงจะไม่มีปัจจัยความรักมาทำให้เกิดผลใดใดแล้ว

นิยายของคุณมีนางเอกทุกเรื่องเลยใช่ไหม
ผู้หญิงที่เด่นและมีบทบาทอาจไม่ได้เป็นนางเอก เช่น สองคนนี่น่าจะรักกัน แต่เราวางและจบไปเฉย ๆ จะไม่ไปชี้นำให้สองคนสบตากัน ซาบซึ้ง เราจะอยู่ด้วยกันนิรันดร บางทีเรื่องเสียดสีมีหนุ่มหล่อสาวสวยมากมาย แต่ตัวเอกคือผู้หญิง ผู้ชายเฉย ๆ กับ มีหมาอยู่คู่หนึ่ง

มีความเป็นตัวคุณในงานเขียนมากน้อยแค่ไหน
หนังสือคือบอกอ งานเขียนคือตัวคนเขียน เป็นความฝักใฝ่ของเขา รสนิยม ความชอบ ทัศนคติ ความชิงชัง แม้กระทั่งอคติของคนเขียน

เห็นด้วยกับการวิจารณ์หรือไม่
นักวิจารณ์ก็ควรจะมี เขาก็ว่าของเขาไป สูงต่ำดำขาวก็แสดงออกมาในงานของเขา คนอ่านต้องมีวิจารณญาณ คนอ่านหนังสือไม่ใช่กรรมกร ต้องมีกำกับแบบยาชูกำลัง วิจารณ์อะไรก็ว่าไป เราก็ไม่ได้เห็นพ้องด้วยทุกอย่าง วิจารณ์หนังสือ วิจารณ์หนัง แม้กระทั่งตัวเรายังไม่เห็นพ้องกับตัวเองทุกเรื่อง อย่างที่บอกมันควรจะเขียนดีกว่านี้ การมีเวลามาก ๆ ไม่ดีอย่างนี้นี่เอง

ถ้ากลับไปแก้ได้จะแก้อะไรบ้าง
เราไม่ได้ผิดพลาดอะไรมาก เพราะไม่ได้ใช้ชีวิตโลดโผนมาก คงไม่มีอะไร

การนำนิยายไปทำเป็นหนังดีหรือไม่
ดี ทำให้เกิดการแปลสารอีกอย่าง คนวงการหนังสือ ชอบว่าไปทำหนังแล้วทำให้เสื่อมลงอย่างนั้นอย่างนี้ ที่เห็นดีชัด ๆ เรื่อง "คำพิพากษา"หนังทำได้ดีกว่า เดิมไอ้ฟักตายไร้สาระเลย โศกเศร้าเสียใจ กินเหล้าตาย แต่หนังทำว่า ไอ้ฟักต้องดูแลสมทรง ดูแลกันไป เปลี่ยนไปตอนตายฟักถูกทำลายตาย ไม่ได้กินเหล้าตาย อันนี้มีคุณค่ากว่า ผู้กำกับทำเก่ง ตีความได้ดี เดิมมีความรู้สึกว่า คำพิพากษา ทารุณไอ้ฟัก ไม่สู้อะไรเลย จูงผลักดันไปที่ริมธาร ไปตายเพื่อสังเวยแก่นเรื่อง มันควรที่จะมีการต่อสู้ดิ้นรน มีแรงผลักที่จะสู้ได้มากกว่านี้

นอกจากงานเขียน และสำนักพิมพ์แล้วสนใจอยากทำอะไรอีกไหม
ที่สนใจมาก ๆ อีกเรื่องคือ การเขียนบทภาพยนต์ เป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ความละเอียดต้องจับตรงนั้นตรงนี้เล็ก ๆ มาใส่ให้มันเต็มสมบูรณ์ของมัน เห็นหนังดี ๆ แล้วชื่นชมว่า เก่ง เช่น เรื่องสยิว ไปดูมาแล้ว คนเขียนบทใช้ได้เลยทีเดียว

จะเห็นชื่อดำรงค์ อารีกุลในฐานะเขียนบทภาพยนต์ไหม
ก็สนใจว่า น่าสนุก อีกอย่างคือ การได้ทำงานร่วมกับคนอื่นคือ เราอยู่กับตัวเองมานานมากพอสมควรแล้ว ..

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ