ชื่อของนิวัต พุทธประสาทอาจจะฟังไม่คุ้นหูเท่านิวัติ กองเพียร เกจินู้ด แต่เขาก็มีความน่าสนใจมิใช่น้อย ด้วยวัยเพียงสามสิบต้นๆเขามี 3 บทบาทสำคัญในวงการวรรณกรรม คือ เป็นนักเขียนที่มีผลงานน่าจับตา เป็นเว็ปมาสเตอร์ของเว็ปแวดวงวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมสูงอย่าง www.thaiwriter.net และสุดท้ายเขาคือเจ้าของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมที่เปิดโอกาสให้กับนักเขียนใหม่มีฝีมือ นักเขียนเป็นอาชีพส่วนน้อยของประชากรทั้งประเทศ และนักเขียนน้อยคนนักที่จะมีบทบาทเกือบจะครบวงจรเช่นนิวัต พุทธประสาท ฉะนั้นทัศนะของเขาต่อวงการหนังสือจึงน่าสนใจอย่างยิ่ง จะเป็นอย่างไรเชิญติดตาม…
เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่
ปี 2534 เริ่มเขียน ปี 2535 เริ่มมีเรื่องสั้นตีพิมพ์ตามหน้านิตยสาร เล่มแรกในสยามรัฐ ปี 2536-37-38 ผมมีเรื่องสั้นตีพิมพ์ในนิตยสาร ทั้งการเมือง และนิตยสารผู้หญิงค่อนข้างถี่มาก ๆ ผมก็ใช้ลักษณะการเขียนเรื่องสั้น ต่อสู้กับบรรณาธิการด้วยเรื่องสั้น
ใช้ชื่อจริงตลอดเลยหรือ ไม่ใช้นามปากกาเลยใช่ไหม
ใช่ครับ ช่วงแรก ๆ ผมใช้นานปากกา แล้วผมมาอ่านงานของลุงอาจินต์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ แกบอกนักเขียนควรจะมุ่งเน้นกับผลงานของตัวเอง มากกว่าจะคิดประดิษฐ์นามปากกาขึ้นมา โดยที่งานของคุณยังไม่มีอะไรเลย แต่คิดไปคิดประดิษฐ์นามปากกาแล้ว ตั้งแต่นั้นมา ผมก็ไม่เคยใช้นามปากกาอีกเลย ผมก็ใช้ชื่อจริงมาตลอด
ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง
ถ้าเมื่อ 3-4 ปีก่อนเขียนหนังสืออย่างเดียว ตอนนี้ผมใส่หมวกหลายใบ ทำสำนักพิมพ์และเว็ปไซท์ด้วย เท่ากับดูแลงานทั้งหมด 3 อย่าง คือ เขียนหนังสือซึ่งเป็นผลงานตัวเอง เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม เป็นเว็ปมาสเตอร์ www.thaiwriter .net และ alternativewriter.com
ไม่ได้ช่วยธุรกิจครอบครัวแล้วใช่ไหม
ก็ช่วยน้อยลงมาก ๆ คือ ธุรกิจครอบครัวที่ผมดูแลอยู่ช่วงหนึ่ง ช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ ผมรู้สึกว่า มันเครียดมาก ๆ แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่งคิดว่า ทำไม่ไหวแล้ว เพราะว่ามันดูแลค่อนข้างเยอะ แล้วเราคนเดียวก็ลำบาก ไม่มีใครมาช่วย ก็แบ่งให้คนอื่นทำได้ และผมก็ก้าวมาทำสำนักพิมพ์ 80%
ธุรกิจสิ่งพิมพ์ยังน่าหอมหวานอยู่หรือเปล่า
ถ้าจะถามช่วงนี้ผมว่ากราฟมันสุด มันไต่ระดับขึ้นมาทุกปี ซึ่งเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งแน่นอน กราฟมันจะตก แต่เมื่อไหร่ ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม ผมคิดว่า คงมีระยะหนึ่งที่มันตก อาจจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจทั้งระบบมันพังครืน เหมือนช่วงปี 2539 ปี 2540 ช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ช่วงนั้น ธุรกิจซบเซาหมด ช่วงนั้นเป็นช่วงต่ำสุดของวงการหนังสือเหมือนกัน และมันค่อย ๆ ไต่ระดับจากวันนั้นจนถึงวันนี้เรียกว่า เป็นช่วงที่สูงที่สุดเท่าที่มีมา ซึ่งมันต้องรอเวลาที่มันจะรักษาระดับของมันได้เสมอต้นเสมอปลายได้นานแค่ไหน
เตรียมการรับมืออะไรไว้หรือไม่
สำนักพิมพ์อย่างของเราเป็นสำนักพิมพ์เล็ก เวลาพิมพ์หนังสือครั้งหนึ่งค่อนข้างระวังตัว คือ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงไหน เราค่อนข้างเซฟในเรื่องการออกหนังสือ การพิมพ์หนังสืออยู่แล้ว คือ ถ้าจะเจ็บตัวก็ไม่มากนัก มีขีดจำกัดที่จะเจ็บตัวอยู่แล้ว นี่คือ รับมือกลาย ๆ ทั้งที่ยังอยู่ช่วงบูม และช่วงที่มันตก เรามีเงินทุนอยู่ค่อนข้างจำกัด เพราะพิมพ์หนังสือได้ไม่ทันอย่างที่ใจเราต้องการ เพราะเงินยังต้องมีหมุนวนเล่มต่อเล่มเหมือนกัน ระวังตัวทุกเล่ม จึงไม่ต้องเตรียมการมาก
ตอนนี้มีกี่ปก
ค่อนข้างเยอะ พิมพ์มา 3 ปีคงประมาณ 20 ปกได้ ก็ไม่มาก ไม่น้อยเกินไปสำหรับสำนักพิมพ์เล็ก ๆ แต่ที่เรายังอยู่ได้ เพราะอาจมีกิจกรรมทำระหว่างที่เราออกหนังสือด้วย
เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตทำให้วัฒนธรรมการอ่านเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน
ค่อนข้างมาก ผมเองก็อยู่ในยุคที่เข้าไปเล่นอินเตอร์เน็ตในยุคแรก ๆ จนถึงทุกวันนี้เห็นเลยว่า การอ่านของวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงไป การอ่านเป็นการอ่านเรื่องสั้น ๆ ง่าย ๆ เรื่องที่อ่านจบภายในไม่กี่หน้า เรื่องยาว ๆ อาจจะคนที่ก้าวจากงานง่าย ๆ เท่านั้น ถึงจะสามารถเข้าถึงได้ โดยวัยรุ่นยังชอบอ่านงานสั้น ๆ ง่าย ๆ อยู่ สามารถเข้าใจง่าย ใช้ภาษาที่เขาเข้าใจสื่อสารกันเอง เป็นเหมือนกับชุมชนที่เขาใช้ภาษานั้น ๆ
มีคนทำนายบอกว่าต่อไปหนังสืออาจจะพิมพ์น้อยลง E-book จะเข้ามาแทนที่
เห็นด้วยครับ แต่ว่าหนังสือยังมีอยู่ แต่มันจะแพงขึ้น อันนี้ผมทำนายเองนะครับ ต่อไปหนังสือที่มีคุณค่าคิดว่า มันสามารถอยู่ได้จะพิมพ์เป็นหนังสือขึ้นมา ในอีกสัก 10 ปีข้างหน้า หนังสือไทยคงตกเล่มละ 300-400 บาท กระดาษต้องแพงขึ้นแน่นอน ตามต้นทุนแล้วหนังสือราคาประหยัดจะดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ต ผมคิดว่าเทคโนโลยีของ E-book มันพร้อมแล้ว มันพัฒนาพอที่จะใช้งานได้เหมือนกระดาษ ซึ่งเดี๋ยวนี้การดาวน์โหลดจากมือถือมาอ่านก็ทำได้ มีบริษัทหนึ่งรับทำหนังสือบนมือถือ โหลดอ่านกันได้เป็นเล่ม ๆ คิดว่า เมื่อถึงเวลานั้นมันน่าจะใช้แทนกระดาษแน่นอน ผมก็อยากเตือนเหมือนกันว่า บางทีเราต้องเตรียมรับสถานการณ์ไว้เหมือนกัน เพราะบางทีเหตุบางอย่างก็เกิดขึ้นได้ภายในเวลาไม่กี่ปี
มองว่าดีหรือไม่ดี
ถ้าราคามันถูกลง แล้วมันเข้าถึงคนได้ง่าย ผมว่ายังไงหนังสือก็ดี แต่ว่ามันอาจจะทำให้คนที่ยังติดอยู่กับหนังสือที่เป็นกระดาษ อาจจะรู้สึกปรับตัวได้ลำบาก คนที่ยังติดอยู่กับสิ่งเก่า ๆ ก็จะลำบาก ผมเชื่อว่า เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดเติบโตมากับคอมพิวเตอร์ปรับตัวได้ไม่อยาก อย่างคนรุ่นเราอาจจะรู้สึกว่า ยังไงก็ยังต้องการหนังสือ และหนังสือก็ยังพิมพ์ต่อไป แต่จะมีราคาสูงขึ้นเท่านั้นเอง คนที่จะซื้อหนังสือได้ อาจจะเป็นคนชั้นกลางที่มีฐานะหน่อย ไม่ชอบ E-book มันไร้คุณค่าเก็บได้ไม่ดี
สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมบอกว่ามีนโยบายระมัดระวังตัวเอง แล้วให้โอกาสกับนักเขียนรุ่นใหม่แค่ไหน
ผมมีความเชื่อเรื่องนักเขียนใหม่ เพราะจริง ๆ ทุกเฟืองของการขับเคลื่อนวรรณกรรมหรือหนังสือ หรือแวดวงวรรณกรรมมันขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่ามันมีผลงานแน่นอน คนที่มีชื่อเสียงคงมีสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ ได้จองตัว หรือได้พิมพ์งานกับสำนักพิมพ์นั้น ๆ ไปแล้ว เราเป็นสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ก็เลยรู้สึกว่า การที่เราจะสร้างนักเขียนขึ้นมาใหม่ มีความสำคัญ มีความจำเป็น ผมยังเชื่อว่า นักเขียนรุ่นใหม่ที่เราสนับสนุน ก็น่าจะสักคนที่ก้าวขึ้นมาเป็นนักเขียนที่มีคุณภาพ และมีชื่อเสียงในอนาคต ผมก็ยังพิมพ์งานของนักเขียนรุ่นใหม่แน่นอน ทุกปีต้องมี ก็ยังมีความเชื่ออย่างนั้นอยู่ เล่มแรกอาจจะยังขายไม่ดี ไม่ใช่ปัญหา เราก็มองว่า เราทำ 3 เล่ม อาจจะทิ้งสัก 2 เล่ม อีกเล่มหนึ่งถ้าขายได้ก็โอเคแล้ว เราทำธุรกิจแบบนี้ มันอาจจะไม่โตมาก แต่เราชอบแบบนั้น
งานเขียนล่าสุดของคุณเป็นเรื่องอะไร
ผมมีรวมเรื่องสั้นเล่มแรกที่พิมพ์กับอมรินทร์ เล่มที่สอง เป็นนิยายพิมพ์กับอมรินทร์ เล่มที่สามผมมาพิมพ์เองกลายเป็นเล่มแรกของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ไปสู่ชะตากรรม เป็นจุดกำเนิดสำนักพิมพ์ แล้วพอมาเล่ม ขอบฟ้าเหตุการณ์ เล่มล่าสุดคือ เรื่องรัก เล่มต่อไปจะเป็นนิยาย ผมก็วางแผนการเขียนอยู่พอสมควรว่า เราจะทำอะไรกับงานของเรา จริง ๆ ผมคิดว่า การที่ผมเป็นนักเขียน ผมยังมีความสุขกับมันมาก ๆ แต่งานเราอาจจะออกช้า นิยายเรื่องใหม่ตอนนี้เขียนได้ประมาณ 50% ตัวละครผมชอบไปตามหาอะไรบางอย่างที่บังเอิญได้ไปเจอ พอเขาไปตามหาสิ่งนั้นแล้ว เขาอาจจะพบว่า อาจจะไม่มีอะไรเลยก็ได้ ก็เป็นเรื่องของคนที่ไปตามจากจุดเล็กๆ จากเครื่องปาล์มที่มีบันทึกของคนที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
เป็นเรื่องสืบสวนสอบสวนหรือเปล่า
เป็นแนวโรแมนติกมากกว่า แต่ก็มีความโหดร้ายตามแบบที่ผมถนัด ก็ไปตามหาเจ้าของจะเป็นยังไงคงต้องติดตาม อันที่จริงผมมีเรื่องสั้นอีกหลายเล่มเก็บสำรองไว้ แต่มันไม่พร้อมที่จะออก ผมว่าเวลาเราจะออกหนังสือเล่มหนึ่งเราต้องพร้อม เราต้องรู้สึกพีค(peak) สุด ๆ กับมันด้วย
เขียนเสร็จแล้วยังไม่ได้คัดเกลาหรือครับ
ยังไม่ได้คัดเกลา คือ ผมมีเรื่องสั้นอยู่ 100 กว่าเรื่อง ผมก็คิดว่า 100 เรื่องนี้ เราจะจัดสรรกับมันยังไง ถ้ายังคิดว่า 100 เรื่อง เอาเรื่องที่ดีที่สุดมารวมกัน เป็นหนังสือเล่มหนึ่งได้หรือไม่ ถ้าคนอื่นอาจจะได้ แต่สำหรับผมมันต้องมี แรงกระตุ้นอะไรบางอย่าง เราจับเรื่องนั้นเรื่องนี้มารวมกัน คงต้องมีคอนเซ็ปกับหนังสือเล่มหนึ่งที่เราจะทำด้วย ถึงจะเกิดขึ้นมา ถ้าไม่เกิดผมปล่อยมันไว้อย่างนั้นดีกว่า แล้วก็จะออกเรื่องที่คิดว่า มันเหมาะสำหรับในเวลานั้น เรื่องเหมาะหรือไม่เหมาะ ผมรู้สึกเอง คนอื่นอาจจะไม่รู้สึกแบบผมก็ได้
สังเกตอย่างหนึ่งหนังสือคุณนิวัติจะไม่มีคำนำเป็นเพราะอะไรครับ
ใช่ครับ หลังจากที่ผมเขียน ใบหน้าอื่น ซึ่งพิมพ์กับอมรินทร์ ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่า คำนำมันเขียนยาก พอผมเขียนไปหน้าอื่นเสร็จ ผมรู้สึกว่า ผมเขียนหนังสือมาจนหน้าสุดท้ายแล้ว ผมไม่รู้จะเขียนคำนำแนะนำคนอ่านยังไง คือ ทุกอย่างมันบอกมาในเรื่องอยู่แล้ว ผมก็ไม่รู้จะเขียนคำนำได้ยังไง และผมก็ไม่นิยมให้คนอื่นมาเขียนคำนำให้ผมด้วย เป็นความรู้สึกส่วนตัว ก็เลยไม่เขียนคำนำ แต่อาจจะมีคำแนะนำเล็ก ๆ ตรงท้ายเล่ม เป็นความรู้แค่นั้น
แต่ในฐานะบรรณาธิการเขียนคำนำให้คนอื่นได้
ใช่ครับ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าหนังสือของตัวเอง ผมคิดว่า ผมทำงานมาจนสุด จนจบแล้ว ก็ไม่มีอย่างอื่นที่จะต้องนำเสนออีกต่อไป นอกจากคนอ่านจะลงมืออ่านงานผมตั้งแต่หน้าแรก ถึงจะเป็นเรื่องสั้น แต่ผมก็อยากให้อ่านของผมตั้งแต่หน้าแรกเรียงไปเป็นลำดับจนหน้าสุดท้าย ไม่อยากเลือกอ่านเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะผมมีคอนเซ็ปในแต่ละเล่มของผม ถึงจะเป็นเรื่องสั้น แต่ในคอนเซ็ปของมัน ควรจะอ่านตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย แต่ผมก็ไม่เคยบอกคนอ่านให้รู้ มันสิ้นสุดหน้าที่ของผม มันจบตั้งแต่ผมเขียนตอนจบแล้ว
คุณเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่อายุ 24 ปี เชื่อเรื่องการตกตะกอนทางความคิดไหม
ผมเชื่อแค่ครึ่งเดียวพอ บางเรื่องผมว่า ควรจะทำตั้งแต่มันร้อน ๆ ผมลองมาแล้วทุกอย่าง บางเรื่องรอจนมันสุกงอมมากแล้วเขียน ผมว่ามันไร้รสชาติ มันไม่อร่อย แต่บางเรื่องกินตอนมันร้อน ๆ ทำตอนที่เราอยากทำ จะสนุก แต่ว่าผลงานจะออกมาอย่างไร มันจะดิบเกินไปหรือเปล่า ยังไม่ตกผลึกหรือเปล่า มันก็เป็นเรื่องของช่วงเวลานั้น ๆ ผมก็เชื่อว่า เรื่องบางเรื่องควรจะเขียนออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ว่ามันจะตกผลึกหรือไม่ มันโอเคแล้วสำหรับผม แต่คนอื่นอาจจะรอให้มันสุกงอมจนได้ที เขาอาจจะรอได้ บางเรื่องของผมก็อาจจะรอได้ แต่บางเรื่องผมก็ไม่รอ ผมคิดว่า ควรจะทำเมื่อเราคิดว่า อยากทำ เรื่องสั้นบางเรื่องของผมเกิดจากชั่วแวบเดียวของความคิดขึ้นมา
คุณนิยามงานของตัวเองว่ายังไง จัดอยู่ในหมวดหมู่ไหนหรือเปล่า
ตอนนี้ผมอยู่ในช่วงที่ 2 ช่วงแรกคือช่วงค้นหาตัวเอง ผมเขียนลงในหนังสือ Play คือผมจะตั้งหลักไมล์ไว้ 10 ปี 10 ปีแรกของผมจะเป็นช่วงแสวงหาว่า ผมกำลังทำอะไร ผมจะเขียนแบบไหน ผมกำลังหาตัวตนอยู่ พอ 10 ปีผ่านมาแล้ว ผมรู้สึกว่า ผมเจออะไรบางอย่างแล้ว เข้าสู่หลักไมล์ที่ 2 คือ ตอนนี้ผมจับได้ว่า ผมกำลังทำอะไรอยู่ แต่พอถึงสุดทางที่ผมจะทำตรงนี้แล้ว ผมจะออกทางไหน ผมกำลังหาตรงนี้อยู่ เพื่อจะเข้าสู่หลักไมล์ที่ 3 นิยามช่วงแรกอาจจะเป็นพวกกระแสสำนึก เป็นพวกชอบลงโทษตัวเอง แต่ช่วงเข้าสู่ยุคที่ 2 จะเป็นคล้าย ๆ เหมือนการปลดปล่อย เราเข้าใจโลกมากขึ้น มีความโรแมนติกมากขึ้น มองโลกในแง่ดีมากขึ้น มีความหวังมากขึ้น แต่หลักไมล์ที่ 3 ที่ผมกำลังจะออกไป ผมยังนึกไม่ออก ซึ่งมันก็ต้องมี แต่เมื่อไหร่ยังไม่รู้
คุณนิวัติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับงานเขียนหรือมีตัวตนในงานเขียนแค่ไหน
มีคนถามผมเสมอว่า เอาเรื่องจริงมาเขียนหรือเปล่า โดยเฉพาะงานยุคแรก ๆ ซึ่งตั้งแต่ยุคแรกถึงยุคนี้ ส่วนผสมในงานกับอะไรพวกนี้มันเป็นส่วนผสมของหลายอย่าง จากประสบการณ์ที่ผมได้เจอ จากหนังสือที่ผมอ่าน หนังที่ผมได้ดู มันมาจากประสบการณ์พวกนี้ทั้งนั้น และใส่ความคิดตัวเองเข้าไป ใส่สิ่งที่เราอยากนำเสนอเข้าไป ถ้าจะถามว่าเป็นตัวตนของผมไหม เป็นไปได้และไม่ได้ และแน่นอนมันเป็นงานของเราต้องมีความคิดของเราอยู่ไม่มากก็น้อย เป็นความคิดที่เราอยากจะนำเสนอ ผมจะเอาเรื่องตัวเองมาเขียนน้อยมาก แต่เอาเรื่องของประสบการณ์ที่เราได้ผ่านมาเขียนมากกว่า
ปกติทำงานเขียนเวลาไหน
กลางวันระหว่างกินกาแฟเสร็จ ก็เริ่มนั่งเขียนใช้เวลาไม่นาน 2-3 ชั่วโมง เขียนทุกวัน ส่วนถ้าเป็นคอลัมน์จะดูว่า หนังสือเล่มนี้ปิดต้นฉบับวันไหน ผมจะเขียนก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ เขียนคอลัมน์ที่ MARS และแฮมเบอร์เกอร์ 2 เล่มนี้
มีเป้าหมายในการทำงานทั้งงานเขียน และสำนักพิมพ์
เป้าหมายงานเขียนคือ อยากจะเขียนหนังสือเล่มต่อไปให้ดีกว่าเล่มที่ออกมาแล้ว ที่เคยเขียนมาแล้ว มีความคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา มีความสดใหม่ตลอดเวลา หวังน้อย ผมไม่เคยหวังคนอ่านงานเราจะมาก ในหนังสือสไตล์นี้ คนอ่านจะมีระดับเป็นแสนๆ ผมไม่เคยคิด ถ้าคิดก็ผิดแล้ว ในฐานะคนสร้างงาน คนอื่นอาจจะทำได้แต่ผมไม่มีปัญญาทำแบบนั้น ส่วนเป้าหมายของสำนักพิมพ์ ผมมองลักษณะว่า เราสำนักพิมพ์เล็ก 1.สร้างงานนักเขียนใหม่มาสร้างมาปั้นให้เขามีพื้นที่ของเขา ให้เขามีตัวตนในลักษณะประกาศได้ว่า จากที่เขาไม่เคยมีอะไร แต่วันหนึ่งเรากับนักเขียนคนนี้ได้ทำงาน และมีผลงานส่วนหนึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่นักอ่าน 2.อยากทำหนังสือ 1-2 เล่ม เพื่อให้เราเลี้ยงสำนักพิมพ์เราให้อยู่ได้ เราจะได้มาทำงานประเภทวรรณกรรมที่เราอยากทำให้มากขึ้น และก็เลี้ยงเราได้โดยที่ไม่ลำบากมากนัก ก็หวังแค่นี้ ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาทำหนังสือ ขอให้เอาผลงานที่เรามีสามารถเลี้ยงครอบครัวเราได้
จะฝากอะไรถึงนักอ่าน
นักอ่านถึงจะเป็นกระบวนการสุดท้าย แต่เป็นกระบวนการสำคัญกับการทำหนังสือมากที่สุด ถ้าไม่มีคนอ่านไม่มีประโยชน์ที่จะทำหนังสือ ผมก็คงต้องฝากคนอ่านไว้ หนังสือบางเล่มของเราอาจจะอ่านยาก บางเล่มอาจจะอ่านง่ายขึ้น ก็สลับ ๆ กันไป เราไม่สามารถทำงานในประเภทหนัก ๆ ได้ทั้งหมด บางเล่มเราต้องยอมให้มีเงินมาเลี้ยงสำนักพิมพ์ให้อยู่รอดด้วย ก็อย่าคาดหวังเราสูงนัก เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ด้วยน้ำมือเราน้ำมือเดียว แต่เราก็ยังมีอุดมการณ์แนวแน่อยู่ และก็อยากให้เห็นในอุดมการณ์นั้น ..