ชอบอ่านหนังสือประเภทไหน
เดิมชอบอ่านเรื่องสั้นเพราะจบเร็ว ต่อมาพอหัดเขียนบทกวีก็อ่านงานร้อยกรอง พอติดการอ่านแล้วก็อ่านไปหมด นิยายเล่มหนาๆ ฉลากยา ป้ายร้านค้า ป้ายทางหลวง อ่านอย่างคนเสพติดการอ่าน เหมือนอาหารที่ทุกวันต้องได้รับ อาจเป็นเมนูไหนก็ได้
เล่มที่อ่านตอนนี้
เรื่องสั้นอัศศิริ รวมเรื่องสั้นเล่มหนามาก ผู้เขียนใช้เวลาครึ่งค่อนชีวิตในการเขียน คนอ่านใช้เวลาไม่เท่าไร เลยต้องอ่านให้จบ อื่นๆ ก็อ่านงานแนว “ซ้าย” ในเมืองไทย เพราะกำลังสนใจเรื่องนี้
เล่มที่อ่านแล้ววางไม่ลง
มีมากมายหลายเล่ม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องแนวสะเทือนใจที่ดึงดูดผมไว้ได้มาก เล่มหนึ่งที่นึกได้ตอนนี้คือ ขอความรักบ้างได้ไหม ของพิบูลศักดิ์ ละครพล ไส้เดือนตาบอดฯ ของวีรพร นิติประภา นี่ก็อ่านไปแบบพรวดๆ เหมือนกัน ขุนช้างขุนแผน ก็ติดใจมาก แต่ต้องยอมวางเป็นช่วงๆ เพราะหนามาก
เล่มที่อ่านแล้วน้ำตาซึม
มีมากเหมือนกัน บางทีก็อาจเป็นงานแบบเป็นเรื่องเดียว ในนิตยสารก็เจอบ่อยที่อ่านแล้วน้ำตารื้นด้วยความตื้นตัน แม้กระทั่งงานนักเขียนมือใหม่ที่ได้อ่านตามค่ายงานเขียนก็เคยเจอ ถ้างานเล่มก็ต้องเป็น ต้นส้มแสนรัก
นักเขียนในดวงใจ
นักเขียนไทยมีหลายคนในแนวเพื่อชีวิต ส่วนนักเขียนเทศ ผมยกย่องฟีโอดอร์ มิคาอิลโลวิช ดอสโตเยฟสกี ที่เขาเขียนงานอย่าง พี่น้องคารามาซอฟ ออกมาได้
เมื่อความคิดตีบตันหรือเขียนไม่ลื่นไหล
ลุกออกไปจากตรงนั้น ไปทำอะไรสักอย่าง ส่วนใหญ่ผมใช้วิธีออกไปก้าวเดิน แล้วจะคิดออก
คุณคิดว่า “ภาษา” มีพลังมากแค่ไหน
ก็มากเท่าที่ ออนอเร เดอ บัลซัค บอกไว้ว่า “สิ่งที่นโปเลียนไม่อาจพิชิตด้วยกระบี่ ข้าจักทำให้ลุล่วงด้วยปากกา”
ท่ามกลางการล้มหายตายจากของสื่อสิ่งพิมพ์ ในฐานะคนทำนิตยสารที่ยังยืนยงคงกระพันมานาน
สิ่งที่คุณอยากบอกเพื่อนร่วมอาชีพ และคนอ่าน
เพื่อนนักเขียนคงต่างรู้สถานการณ์กันดีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่ผมต้องบอก ส่วนกับคนอ่าน อยากบอกว่าถ้าคุณรักหนังสือฉบับไหน ไม่อยากให้ล้มตาย ต้องช่วยบอกรับเป็นสมาชิกประจำครับ จะเป็นการแสดงออกที่ส่งผลจริงต่อการคงอยู่ของหนังสือ มากกว่าการพร่ำบอกรักซ้ำๆ โดยไม่ได้ทำอะไร
ในบรรดาผลงานทั้งหมดของคุณ เล่มไหนประทับใจที่สุด
ความรู้สึกมักเปลี่ยนไปเมื่อมีเล่มใหม่ๆ ออกตามมา ที่รู้สึกลงตัวเล่มหนึ่งคือ อีสานบ้านเฮา ในแง่ที่ว่าเป็นรวมเล่มงานสารคดีที่ตั้งใจวางโครงเรื่องไว้ตั้งแต่ต้น ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอีสานในมุม unseen แล้วก็ทำออกมาได้อย่างที่ตั้งใจ รวมหัวใจความเป็นอีสานผ่านมุมมองของเราไว้ในเล่มนั้น
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณรักที่จะเป็นนักเขียนแนวสารคดี
เขียนอย่างอื่นไม่เป็น (พูดเล่นครับ) พูดจริงๆ คือรู้สึกลงตัวกับการเป็นนักเล่าเรื่องจริง คล้ายๆ เป็นผู้บันทึก สะท้อน ถ่ายทอดเรื่องราว เป็นสื่อกลางระหว่างเรื่องราวทั้งหลายที่ไหลผ่านตัวเราไปสู่ผู้คนอีกหลากหลายที่เป็นคนอ่าน และเราเป็นคนหลงใหลในรสอักษร เมื่อเราเป็นนักเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือก็พยายามที่จะให้มีรสรื่นรมย์ มีมนต์เสน่ห์ชวนฟังผ่านการอ่าน
มหาวิทยาลัยชีวิต เป็นหนังสือเล่มที่คุณบอกว่าทำให้ชีวิตเปลี่ยน แต่ถ้าวันนั้นคุณไม่ได้อ่าน คุณคิดว่าตัวเองน่าจะทำอะไรอยู่ตอนนี้
ผมตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของเด็กอายุ ๑๕ ปี ว่าจะเลิกเรียนหนังสือออกไปมีครอบครัว และเป็นชาวสวนยางอย่างคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน ทำอยู่ได้ ๒ ปี และไม่ทันได้แต่งงาน ผมได้อ่าน มหาวิทยาลัยชีวิต ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ทำให้เห็นความสำคัญของการเรียนหนังสือ และอยากเป็นนักเขียนเหมือนคนเขียนหนังสือเล่มนั้น หาไม่แล้ว ผมก็คงกลายเป็นผู้มีอันจะกินในช่วงที่ยางกิโลละสองร้อยกว่าบาท เมื่อช่วง ๑๐ กว่าปีก่อน และกลายเป็นคนตกยากในยุคที่ราคายางสามกิโลร้อยในตอนนี้ เช่นเดียวกับที่ผองเพื่อนแต่ครั้งเยาว์วัยกำลังเผชิญอยู่
ถ้าต้องเลือกระหว่าง “เลิกเขียน” กับ “เลิกอ่าน” คุณจะเลือกอะไร
จะเลือกได้ยังไง ถ้าเลิกอ่านแล้วได้สิทธิ์เขียน ก็ต้องไล่อ่านตัวหนังสือตัวเองไปทีละตัวอยู่ดี (ฮ่าๆ)
วรรคทองประจำใจ
ขอให้เดินทางชีวิตโดยสวัสดิภาพ
คิดเห็นอย่างไรกับความสามารถของเด็กในค่ายรุ่น 4
เก่ง เขียนดี มีพื้นฐาน สะท้อนว่าแต่ละคนผ่านประสบการณ์การอ่านกันมาแล้วพอสมควร ถูกต้องและชอบยิ่งแล้วกับการที่พวกเขาได้ค่าขนมกลับบ้านจากการมาค่าย สังคมเรามีทุนการศึกษาให้กับคนเรียนเก่งประพฤติดีมากมายแล้ว แต่ทุนการศึกษาจากค่ายนี้ที่ให้กับคนรักการอ่าน เป็นเรื่องน่าชื่นใจด้วยยิ่งนัก
“การอ่านกับคนไทย” สิ่งที่คุณอยากให้เป็น
การอ่านนั้นดีแน่ และกระดาษนั้นสำคัญและอยู่นาน โลกผ่านยุคสมัยในแต่ละช่วงปี สิบปีมีสิ่งเกิดขึ้นใหม่ และมีสิ่งที่ลับหายเปลี่ยนแปลงไป แต่การบันทึกและสื่อสารเรื่องราวผ่านกระดาษยังไม่เปลี่ยนไปเลยในช่วงราวสามพันปี เรื่องนี้คล้ายจะปลุกปลอบใจว่า ถึงแม้จะมีหน้าจอ มีออนไลน์ให้อ่านลวกๆ ง่ายๆ อย่างไร เราก็อย่าทิ้งหน้ากระดาษ เพราะการอ่านผ่านกระดาษถือเป็นอารยธรรมของมนุษยชาติก็ว่าได้