เขียนหนังสืออย่างไรไม่ให้ซ้ำและย่ำอยู่กับที่ : ประสบการณ์บนเส้นทางนักเขียน ปองพล อดิเรกสาร

เขียนหนังสืออย่างไรไม่ให้ซ้ำและย่ำอยู่กับที่

 

พณฯ ปองพล อดิเรกสาร เชื่อแน่ว่าหลายคนรู้จักเป็นอย่างดีในฐานะนักการเมืองที่เดินทางมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2526 ก่อน หันมาทำงานในอีกบทบาทหนึ่งนั้นก็คือ การเป็นนักเขียนในปี 2535 แรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้หันมาจับปากกาเขียนหนังสือ คุณ ปองพลเคยเล่าไว้ว่า ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเมืองจริงหรือเปล่าครับ?

             ทำไมผมถึงหันมาเขียนหนังสือ มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเมืองใช่ไหม คืออยากจะเรียนท่านพ่อแม่พี่น้องทั้งหลายว่า เมื่อปีพ.ศ. 2535 ตอนนั้นผมเป็นสส. อยู่จังหวัดสระบุรีจำได้ว่า ปีนั้นเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬแล้วก็มีการเลือกตั้งสองครั้งด้วยกัน การเลือกตั้งในเดือนมีนาคมผมได้รับเลือกตั้งเป็นสส.สระบุรี และก็ได้ไปเป็นรัฐ มนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้นแล้วก็มีการยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกันยายนปีนั้น ผมก็ลงสมัครแต่ผลปรากฏว่าสอบตกซึ่งไม่นึกเหมือนกัน แต่ผมเป็นคนที่เชื่อในลิขิตชีวิต เชื่อว่าชีวิตคนเราถูกลิขิตมาแล้ว ผมจึงไม่ได้เสียใจ ตอนนั้นผมเลยว่างและผมก็มีเรืออยู่ที่ภูเก็ตด้วย ผมเคยได้ยินชื่อเสียงของเกาะตะรุเตามานานแล้วน่าจะไปเที่ยวกันซักหน่อย ก็เลยชวนพรรคพวกได้ 5-6 คนลงเรือเดินทางจากภูเก็ตใช้เวลา 10 ชั่วโมงถึงเกาะตะรุเตา เดินเที่ยวชมตะรุเตา ที่นั่นเขามีหนังสือไว้สำหรับแจกนักท่องเที่ยว ก็มีประวัติของเกาะในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นคุกขังนักโทษจำนวน 3,000 กว่าคน แล้วเกิดการขาดแคลนอาหารและสิ่งของต่างๆ ก็เลยทำให้ผู้คุมและนักโทษส่วนหนึ่งออกไปเป็น โจรสลัดปล้นเรือ

 

คือเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก็มีคนเคยเขียนถึงมาแล้ว เกี่ยวกับโจรสลัดแห่งตะรุเตา

             ครับแต่เป็นคนละแนวกัน พอผมได้อ่านประวัติแล้วก็เกิดอาการคลั่งไคล้กับเรื่องโจรสลัดตะรุเตา ตอนนั้นผมก็บ่นๆ อยู่เสมอนะว่าน่าจะมีคนที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับโจรสลัดตะรุเตา ซึ่งอาจจะดังแบบสะพานข้ามแม่น้ำแควก็เป็นได้ พอกลับมาที่กรุงเทพฯจึงตัดสินใจเขียนนิยายโจรสลัดแห่งตะรุเตาขึ้นเป็นครั้งแรก และก็เขียนเป็นภาษาอังกฤษก่อน

 

เวลาเขียนหนังสือ ท่านเริ่มต้นด้วยการเขียนเป็นภาษาอังกฤษก่อน อยากถามว่าทำไมท่านจึงเริ่มเขียนเป็นภาษาอังกฤษก่อน

              เพราะมีคนเขียนในแนวนี้น้อย ผมเป็นคนที่ทำอะไรไม่ค่อยชอบช้ำกับคนอื่น แล้วก็เพราะว่าภาษาอังกฤษนั้นเป็นภาษาที่ใช้กันทั่วโลก ผมก็ต้องการให้ผลงานเขียนของผมนั้นไปสู่ตลาดทั่วโลก ผมก็เลยเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เพราะถ้าเป็นภาษาไทยแล้วเอาไปแปลเป็นภาษาอังกฤษมันจะไม่ได้รสชาติเหมือนเขียนด้วยตัวเอง

 

วิธีการเขียนตอนนั้นของท่านเป็นยังไงครับ เพราะบางคนอาจมองในแง่ท่านก็เป็นนักอ่านทั่วๆ ไป และก็อยู่บนเส้นถนนทางนักการเมืองมานานแล้ว มาเริ่มต้นในช่วงอีกวัยหนึ่ง เริ่มต้นยังไงครับ

              เริ่มต้นด้วยการค้นคว้าก่อน เราต้องไปหาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตะรุเตามา ผมก็เดินทางกลับไปที่เกาะตะรุเตาอีกครั้ง เพื่อไปเอาบรรยากาศในการเขียนหนังสือ อยากเรียนให้ทราบนะครับว่า ตะรุเตาในตอนนั้นมีนักโทษทางการเมือง ที่ถูกขังอยู่ 70 คน ผมเดินขึ้นหาดในวันเวลาเดียวกับที่นักโทษเคยเดินขึ้นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว เพื่อให้รู้บรรยากาศว่าเมื่อนักโทษเขาเดินขึ้นหาดนั้นเขารู้สึกและเป็นอย่างไร แล้วผมก็มีโอกาสได้ไปคุยกับผู้คุมสองคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ผมก็ได้เกร็ดมากมายนำมาเขียนโจรสลัดแห่งตะรุเตา

 

เริ่มสนุกกับการเขียน ช่วงนั้นก็มีผลงานออกมาหลายเล่ม

              เป็นช่วงที่ยังว่าง ผมก็เลยเขียนเต็มที่ ผมก็มาคิดโครงเรื่องคืออยากเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นตัวละครตัวเอกนี่ก็ต้องเป็นทหารอังกฤษ แล้วนางเอกก็เป็นลูกครึ่งชาวยิปซีกับคนไทย แต่ว่าได้ไปเรียนที่ปีนังพูดภาษาอังกฤษได้ แล้วที่วางไว้อย่างนั้นคือลักษณะการเขียนหนังสือของผม ที่สำคัญคือ อาชีพของตัวละครต้องสอดคล้องกับเนื้อเรื่องถึงจะไปด้วยกันได้

 

อันดับแรก สำหรับวางโครงเรื่อง ตัวละครต้องมีอาชีพที่สัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง

              เมื่อสักครู่มีคนมาถามว่าจะวางโครงเรื่องยังไง ดำเนินเรื่องยังไง ก็อยากจะเล่าให้ฟังว่า การเขียนนวนิยายเน้นการเขียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของคน เพราะตัวละครต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากดีแล้วไปเลว หรือเริ่มต้นเลวแล้วกลับมาดีคือกลับตัวกลับใจได้ แต่ถ้าตัวละครอยู่ไปเรื่อยๆ ทุกวันจะไม่น่าสนใจ เพราะ ฉะนั้นตัวละคนต้องมีการเปลี่ยนแปลง

 

ตัวละครต้องมีการเปลี่ยนแปลง คือต้องมีมิติใช่ไหมครับ ไม่ใช่ว่าดีก็ดีเสียจนมากเกินไป

             ต้องมีความเป็นคน อีกอย่างหนี่ง นักเขียนต้องระลึกอยู่เสมอว่า ตัวละครที่เราสร้างขึ้นมาเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา มีครอบครัว มีอาชีพ มีชีวิต มีความรัก ความชอบ ความเกลียด ความหลง เพราะฉะนั้นจะต้องดำเนินหรือเดินชีวิตของเขาให้เหมือนคนธรรมดา นั่นคือสิ่งที่ผมได้ดำเนินไป

 

              นี่คือสิ่งที่เริ่มต้นเท่านั้น เพียงไม่กี่นาทีเราก็ได้กลเม็ดเคล็ดลับจากท่านมากมาย อย่างเช่นตัวละครก็ต้องมีมิติ ต้องมีความดี ความเลวอยู่ในเรื่องนั้น ตัวละครจะต้องมีการดำเนินเรื่อง อีกอย่างหนึ่งที่ท่านเคยพูดว่า เวลาเขียนหนังสือจะดำเนินเรื่องด้วยสาระไม่ใช่ดำเนินเรื่องด้วยโวหาร คุณปองพล: เพราะว่ามันต้องมีเรื่องราว ยกตัวอย่างว่าต้องมีเรื่องใหม่เกิดขึ้นตลอดทุก 3-4 หน้า เพื่อดึงดูดให้ผู้อ่านติดตาม สมมุติว่าตัวละครตัวเอกจะเดินทางไปเชียงใหม่โดยเครื่องบิน เมื่อไปถึงสนามบินปรากฏว่าเครื่องบินออกไปแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนเดินทางโดยรถไฟ ที่รถไฟมีปัญหาสารพัด คือมันต้องมีเรื่องให้ผู้อ่านได้ติดตามต่อไป นี่คือการดำเนินเรื่อง แล้วอีกเรื่องหนึ่งเขาบอกว่าให้แสดงอย่าเล่า อย่างที่ว่า โจรสลัดแห่งตะรุเตานี่โหดร้ายทารุณเหลือเกิน ก็ต้องแสดงบทที่ว่ามันโหดร้ายทารุณ อย่างเช่นคนที่ปล้นเรือสินค้า บังคับให้ลูกเรือทั้งหมดมารวมกลุ่มกันแล้วก็ผลักลงทะเลไปเลยด้วยความโหดร้ายทารุณ นี่คือเรื่องของโจรสลัด เพราะฉะนั้นจะไปเล่าเฉยๆ ไม่ได้ ต้องมีบทที่แสดงให้เห็นว่าโจรสลัดนั้นทารุณอย่างไร นี่คือเคล็ดอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างไปเจอผู้หญิงคนหนึ่ง เราบอกกับเขาว่าผมรักคุณ ผู้หญิงก็บอกว่าอย่ามาบอกเลย แสดงให้ดูสิ นี่คือการเปรียบเทียบให้ฟัง

 

นี่คือวิธีการเขียนของคุณปองพล มีนักเขียนบางท่านใช้บทพรรณนา มากเกินไป คือไม่มีภาพเคลื่อนไหว ขณะในงานเขียนของท่านจะแสดงความรู้สึกเรื่องราวถึงตัวละคร จะต้องมีบทมีฉากให้เห็นอย่างนั้นใช่ไหมครับ?

              คือเปรียบเทียบกับว่านักเขียนบางคน ขณะพระอาทิตย์กำลังขึ้นก็จะอธิบายใช้เวลาหลายบรรทัดว่าพระอาทิตย์สวยงามอย่างไร สำหรับผมก็จะบอกว่าพระ อาทิตย์ขึ้นจะไม่บรรยาย สไตล์ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน

 

หลายคนพูดว่างานของคุณปองพลจุดเด่นอีกอย่างก็คือ การเก็บข้อมูล ไม่ทราบว่าท่านมีวิธีการเก็บข้อมูลยังไง นับตั้งแต่งานเรื่องโจรสลัดเกาะตะรุเตา จนถึงพิษหอยมรณะ

              ตอนนั้นผมยังเด็กๆ อยู่ ได้ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศตั้งแต่อายุ 15 ปีแล้วชอบหนังสือนิยายภาษาอังกฤษ ซึ่งเขาจะเน้นเรื่องรายละเอียดมากเลย ทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง เมื่ออ่านมากๆ ผมเลยติดกลายเป็นนิสัย เพราะฉะนั้นเมื่อ มาเขียนหนังสือ ยกตัวอย่างเรื่องโจรสลัดเกาะตะรุเตา เรื่องมันเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผมจึงต้องไปค้นคว้าว่าสมัยนั้นทหารอังกฤษที่อยู่มลายู ตอนนั้นยังไม่เป็นมาเลเซียว่าเขาแต่งกายกันอย่างไร รถยนต์เขาใช้รถอะไร ตอนแรกผมเขียนไปว่าใช้รถแลนด์โรเวอร์ แต่พอตรวจสอบปรากฏว่าไม่ใช่เพราะแลนด์โรเวอร์เป็นรถหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนั้นต้องเป็นรถออสติน

 

เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง นักเขียนจะจินตนาการเรื่องราวของตัวเองไปเรื่อยเปื่อยนั้นไม่ได้

               ตอนแรกผมก็คิดอย่างนั้น สมัยนั้นเขาใช้ธนบัตรอะไร? ต้องลงรายละเอียดขนาดนั้น ก็อย่างที่ผมเขียนเรื่อง คามีเลี่ยนแมน ซึ่งเกิดในสมัยค.ศ.1923 ผมก็ต้องไปตรวจสอบดูว่าสมัยนั้นมีไฟฉายใช้หรือยัง เพราะในเรื่องพ่อพระเอกถือไฟฉายเข้าไปฉายในป่า

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ