พิณประภา ขันธวุธ เป็นชื่อ-สกุลจริงของนักเขียนสาวที่มีอีกนามปากกาว่า สายลมอิสระ อาจจะเป็นนามปากกาสองนามปากกาที่คุ้นหูมากที่สุดของเธอ พิณประภา ขันธวุธ เป็นนักเขียนที่มุ่งมั่นอยู่กับตัวหนังสือมาหลายปี ความตั้งใจของเธอคือการได้เผยแพร่และทำในสิ่งที่ตนเองรัก หากนับรวมถึงหนังสือทำมือด้วยแล้วเธอมีผลงานที่เผยแพร่แล้วกว่า 10 เล่ม ก่อนหน้าที่บันฑิตสาว คณะมนุษยศาสตร์ เอก ภาษาไทย จากรั้วพ่อขุนอย่าง พิณประภา ขันธวุธ จะหันมาสนใจหนังสือนั้นเธอเป็นเพียงเด็กหญิงตัวน้อยที่ร่าเริงสดใสตามวัยหาได้ไม่อะไรบ่งชี้ได้ไหมว่าในอนาคตเธอจะมาจมอยู่ในบ่อน้ำหมึก ทุกวันนี้ พิณประภา ยังคงสานฝันของเธอต่อไปอย่างเงียบๆ ในงานเขียนหลากแนวในหลายๆนามปากกา และปัจจุบันเธอเป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการนิตยสารไอน้ำ นิตยสารวัยรุ่นที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้
“ก่อนที่จะหันมาเขียนหนังสือก็เป็นแค่เด็กผู้หญิงอายุสิบสองขวบที่แก่แดดแก่ลม (หัวเราะ)ไม่คิดสิ่งเหล่านั้นมันเป็นจุดเริ่มต้นเขียนหนังสือในทุกวันนี้...ไม่มีอะไรเป็นพิเศษค่ะ แต่ยอมรับว่าชีวิตในช่วงวัยเด็ก มีผลอย่างมากในการที่ทำให้หันมาสู่การเขียน พูดได้แบบไม่อายว่าครอบครัวไม่ได้สมบูรณ์อะไร พ่อแม่ทำงานโรงงาน หาเช้ากินค่ำ ตอนเด็กๆ จำได้ว่า ป.4 ก็ช่วยที่บ้านหาเงินแล้ว ถ้าถามว่าลำบากไหม? ก็บอกไม่ถูกนะ อาจเพราะเป็นเด็ก เราไม่ค่อยรู้เรื่องราวของผู้ใหญ่เท่าไหร่ ตอน ป.5 เริ่มอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นตาหวาน พอดีที่รร.เขาจะจัดเวรให้ทำความสะอาดห้องสมุด เราก็ชอบเพราะไม่ต้องเข้าแถวหน้าเสาธงตอนเช้า (หัวเราะ) แต่พอพลิกอ่านพวกหนังสือภาพสวยๆ แล้วก็ชอบก็เลยเริ่มอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียน ตอนนั้นติดการ์ตูนญี่ปุ่นไง พออ่านมากๆเข้า เราก็เริ่มคิดไม่เหมือนกับในหนังสือ เราอยากให้ตอนจบเป็นอีกแบบหนึ่งหรืออยากให้พระเอกทำอย่างนั้น นางเอกทำอย่างนี้ ก็เลยเขียนเองเลย
คือ...เริ่มแรกเนี้ย...อยากวาดการ์ตูนญี่ปุ่นมากกว่า...แต่พยายามแล้ว วาดยังไงก็ไม่เหมือนกันเลย หน้าตามือไม้ไม่ได้เลย ก็เลยมาเขียนเป็นเรื่องแทน เขียนใส่สมุดด้วยลายมือ แล้วก็ให้เพื่อนที่ห้องอ่าน เราก็เอาชื่อเพื่อนหรือดาราที่เราปลื้มมาเขียนเป็นพระเอก แล้วเราก็เป็นนางเอกเสียเอง บอกแล้วไง...ว่ามันออกแนวแก่แดดแก่ลมตั้งแต่เด็ก คนอื่นอาจจะเริ่มจากนิทานของเราเริ่มจากเรื่องรักหวานแหววเลย”
- เป้าหมายของการเขียนหนังสือของพิณประภา ขันธวุธ
ไม่รู้เรียกว่าเป้าหมายของการเขียนหนังสือหรือเปล่า แต่ที่เริ่มเขียนหนังสือจริงๆจังๆ ตอนนั้น...จบม.3แล้วไม่ได้เรียนต่อเพราะที่บ้านมีปัญหา ต้องออกมาทำงานช่วยครอบครัว แต่ช่วงนั้นมันเหมือน...เรากำลังหาอะไรสักอย่างเป็นตัวยึด แล้วก็บังเอิญว่าความอยากเป็นนักวาดการ์ตูนแต่วาดรูปไม่เป็นมันยังคงมีอยู่ แล้วช่วงนั้น แม่เริ่มบ่นเรื่องเราอ่านการ์ตูนเยอะมาก เป็นพันๆเล่ม พอแม่ไม่ให้อ่านการ์ตูน ก็ไม่รู้จะอ่านอะไร แม่เลยเอาขวัญเรือนมาให้ คงคิดว่าตัวหนังสือเยอะดีกว่าการ์ตูนเพราะแม่อ่านหนังสือไม่ออก พออ่านดูมีคอลัมน์เรื่องสั้น อะไรพวกนี้ อ่านๆดูก็คิดในใจว่า เฮ้ย!แค่นี้เราก็เขียนได้ ก็เลยเขียนส่งมั้ง ปรากฏว่าไม่ผ่านคะ มันก็เลยเป็นแรงกระตุ้นให้เขียนอีกๆ อยากผ่าน แล้วช่วงนั้นก็เริ่มอ่านหนังสือนิยายเล่มอื่นแล้ว เริ่มจากประภัสสร เสวิกุล อ่านที่เป็นรวมเรื่องสั้นเวลาที่ดูท้ายเรื่อง ว่าเรื่องสั้นเรื่องนี่เคยลงที่นิตยสารเล่มไหน เราก็จะไปสืบเสาะมาดู ว่าเขามีสนามเรื่องสั้นหรือเปล่า เราก็เขียนใส่กระดาษติดฝาผนังห้องไว้ เหมือนตั้งเป้าไว้ว่า “ฉันจะต้องผ่านที่นี่ให้ได้”อาจเป็นเพราะเราไม่ได้เรียนหนังสือ ในโรงเรียน เพราะต่อมาเรียน กศน. เลยรู้สึกว่า...การส่งเรื่องสั้นแต่ละครั้งแต่ละสนามเรากำลังทำการบ้าน แล้วบก.แต่ละท่านก็เป็นเหมือนครู-อาจารย์ที่จะให้เราพัฒนาตัวเองไปด้วย เวลาที่เขียนงานแต่ละชิ้นจะมีวัตถุประสงค์ในการเขียนต่างกันไป พยายามทำให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้นะค่ะ
- มีนามปากกากี่นามปากกาแต่ละนามปากกาใช้แตกต่างกันไหม
ก็...หลายนามปากกาอยู่ แต่ละนามแฝงก็ใช้แต่ละงานเขียนแยกประเภทกันไป มันเหมือนเป็นเสื้อผ้าที่เราสวมใส่แสดงคาเรตเตอร์ของมันออกมา คนอื่นเขาเรียกสวมหมวกหลายใบ การใช้นามปากกาหนึ่งกับงานเขียนประเภทหนึ่งทำให้งานเขียนออกมาค่อนข้างชัดเจนและไม่หลงทิศหลงทาง ตอนนี้ที่เห็นชัดก็สองนามปากกา ชื่อแรกเป็นชื่อจริง พิณประภา ขันธวุธ ที่ใช้ในงานเขียนวรรณกรรม ส่วนอีกชื่อหนึ่งสายลมอิสระเป็นงานเขียนแนววัยรุ่นคะ
- เคยได้รางวัลอะไรมาบ้าง
เรื่องงานประกวดเป็นอิทธิพล ตอนที่เริ่มเขียนหนังสือจริงจังใหม่ๆ คือช่วงที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียน แล้วรู้สึกน้อยใจว่าทำไมเวลาส่งงานประกวด เราต้องส่งประเภทประชาชนทั่วไปทั้งๆที่อายุเราก็เด็กมัธยม(หัวเราะ) ก็เลยตะบี้ตะบันส่ง ได้บ้างไม่ได้บ้าง ถือว่าหาประสบการณ์ รางวัลแรกก็ ๒๕๓๙ รางวัลนิทานมูลนิธิเด็ก “เด็กชายบนรถเข็นกับพู่กันของภูตสีเขียว” ล่าสุดก็ “ เจ็บให้เข้าใจ” รางวัลชมเชยประเภทวรรณกรรมเยาชนIndy Bookครั้งที่ 4 (หนังสือทำมือ)
- เริ่มมาทำหนังสือทำมือได้อย่างไร
เริ่มทำหนังสือทำมือเมื่อประมาณกลางปีพ.ศ.2544 เป็นช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่แตกสำนักพิมพ์ไม่สามารถตีพิมพ์งานของนักเขียนใหม่ๆได้ จึงได้นำเอาต้นฉบับมาทำเป็นหนังสือทำมือเพื่อเผยแพร่ผลงาน หนังสือทำมือเล่มแรก “เธอคือลมหายใจของความรัก” รวมบทกลอน (กันยายน2544) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
- ทิศทางของหนังสือทำมือ
ตอบยากจัง...(ยิ้ม) เริ่มมองไม่เห็นทั้งทิศทั้งทาง(หัวเราะ) มันเหมือนมันถึงจุดอิ่มตัวของหนังสือทำมือแล้วและทุกวันนี้สนพ.ก็มากขึ้นแต่ในทางตรงข้าม ต้นฉบับที่สนพ.ต้องการเป็นงานตลาด ต้นฉบับประเภทวรรณกรรมสร้างสรรค์(เพื่อชีวิต) ที่ทางของมันกลับลดน้อยลง หนังสือทำมือยังเป็นทางเลือกหนึ่งของนักเขียนที่ต้องการเผื่อแพร่งานเพียงแต่รูปแบบการผลิตอาจเปลี่ยนไป จากที่เคยถ่ายเอกสารทำเอง ก็มีร้านที่รับทำหนังสือจำนวนน้อย ทำปกเข้าเล่มได้สวยเหมือนออกมาจากโรงพิมพ์ มันกำลังเข้าสู่ยุค PRINT ON DEMAND แทนหนังสือทำมือแบบเดิม
- ปัจจุบันนี้เขียนอะไรอยู่บ้าง
เขียนตามใจค่ะ กับเขียนตามสั่งค่ะ ก็มันต้องทำเพื่อปากท้องนี่ค่ะ
- ถนัดเขียนงานแนวไหนเป็นพิเศษไหมครับ
ไม่มีค่ะ รู้สึกว่าตัวเองยังเขียนไม่มากเท่าไหร่ และยังมีอีกหลายแนวที่ยังไม่ได้ลองเขียนเลยไม่รู้ว่าตัวเองถนัดแนวไหน แต่เท่าที่เขียนมา ก็ไม่เห็นมีแนวไหนง่ายเลย แหะๆ
- การทำงานประจำมีผลกระทบต่อการเขียนของตัวเองไหม
มีค่ะ...แต่อาจเป็นผลกระทบในแง่ดีมากกว่า เพราะที่ผ่านมา เราเขียนหนังสือได้เพราะแรงกระทบจากสังคม จากสิ่งรอบข้าง อาจเป็นเพราะเราทำงานโรงงาน จึงได้เห็นวิถีชีวิตจริงๆ สิ่งทีเป็นไปในสังคมหลายระดับแล้วมันเกิดแรงกดดันภายในจนกลายเป็นงานเขียนได้ เคยคิดเหมือนกันว่า...ถ้าเราตื่นเช้ามาแล้วนั่งหน้าคอมพ์เขียนหนังสือเลย จะเขียนออกไหม เพราะทุกวันนี้ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวในสังคมที่มากระทบความรู้สึกจนกลั่นเป็นงานเขียนหนึ่งชิ้นค่ะ
- หนังสือทำมือบางคนทำเพราะอยากเขียนอยากระบายความรู้สึกออกมา เราเองทำออกมาเพื่อคนเขียนหรือคนอ่าน แล้วคิดว่าคนอ่านจะได้อะไรกลับมาบ้างเมื่อได้อ่านหนังสือทำมือของเรา
ครั้งแรกที่ทำหนังสือทำมือ-ทำเพราะต้องการตอบสนองตัวเองมากกว่า ต้องการนำเสนอ แต่ทุกวันนี้เรายังรู้สึกอยู่ว่า การตลาดมันยังมีผลต่อตัวหนังสืออยู่ สิ่งที่เราทำก็เพียงเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งให้คนอ่าน ถามว่าหนังสือทำมือยังต้องพึ่งเรื่องการตลาดเพื่อให้มันอยู่รอดไหม คำตอบมันก็คือ ใช่ แต่มันก็เหมือนกับว่า...ถ้าเปรียบมันเป็นขนม เราก็อยากเสนอขนมอีกรสชาติหนึ่งที่ห่อมันอาจไม่สวยเท่าไหร่ แต่คุณภาพเราก็เชื่อว่ามันไม่ด้อยกว่าเจ้าอื่น (หัวเราะ) แค่คนอ่านได้ลองชิมรสชาติที่แตกต่างบางก็พอแล้วคะ
- มองมาตรฐานของหนังสือทำมือในปัจจุบันเป็นอย่างไร และแตกต่างกับยุคแรกๆ ไหม
รูปเล่มการจัดทำสวยขึ้นอาจเพราะมีระบบคอมพิวเตอร์หรือร้านถ่ายเอกสารเข้ามาช่วยตรงนี้ได้เยอะมาก แต่คุณภาพงานเขียนและความรับผิดชอบมันต่างกันมาก ยุคแรกๆที่นักเขียนทำเพื่อนำเสนอ มันเหมือนเกิดจากภาวะกดดันของแวดวงในช่วงนั้นที่การตลาดมันบีบให้ที่ทางของหนังสือวรรณกรรมสร้างสรรค์(เพื่อชีวิต)ลดน้อยลง แต่ปัจจุบัน หนังสือทำมือมันเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของนักอยากเขียน เขาอาจเริ่มจากจุดนี้เพื่อค้นหาตัวเองก่อนที่จะก้าวต่อไปในทิศทางที่ตัวเองมั่นใจ มันเป็นเรื่องของคนที่อยากทำก็ทำ...เขาอาจจะไม่ได้คิดถึงสังคมอะไรมากมายนัก อารมณ์พวก ปัจเจกชนทั้งหลาย อันนี้เราอาจคิดผิดไปคนเดียวก็ได้
- การทำมือกับระบบบรรณาธิการ
เราเป็นคนที่เคารพระบบบรรณาธิการมาตลอด ไม่ใช่ทำหนังสือทำมือเพราะแอนตี้ระบบบรรณาธิการ เพราะอย่างที่บอกว่าเราเริ่มเขียนเขียนหนังสือครั้งแรก บก.ก็เปรียบเสมือนครู-อาจารย์ที่สั่งสอนเรา อาจเป็นเพราะว่า...ช่วงที่เริ่มเขียนหนังสือนั้น เวลาส่งต้นฉบับไป ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่บก.จะคอมเมนท์งานให้ตลอด ทำให้รู้สึกดีๆ ต่อให้เป็นแค่หนังสือทำมือก็ควรมีบรรณาธิการ มันก็เหมือนเราทำกับข้าวทำกินเองไม่รู้หรอกว่าอร่อยไหม ต้องมีคนช่วยชิมช่วยติ เพื่อพัฒนาต่อไป
- มีผลงานรวมเล่มแล้วอะไรบ้าง
ตั้งแต่เริ่มเขียนหนังสือมาเลยนะค่ะ มีรวมเล่มเดี่ยวๆอยู่สี่เล่ม เป็นงานแนววัยรุ่นในนามปากกาสายลมอิสระ ล่าสุดรวมเรื่องสั้น รักเทคเดียวไม่มีคัท โดยมีบรรณาธิการใจดีของสำนักพิมพ์นกฮูกให้โอกาส ปั้นตัวหนังสือเป็นรูปเล่มแล้วก็ สตาร์ทรักที่หัวใจ สำนักพิมพ์ บงกช ที่ออกไป ก็มี หนังสือทำมือนี่ประมาณสิบเล่มได้ (หัวเราะ) ส่วนงานวรรณกรรมหนักๆก็ยังหาที่พิมพ์อยู่ ถ้าหาไม่ได้คงเอาเงินจากค่าต้นฉบับวัยรุ่นมาพิมพ์เองแล้วค่ะ (ยิ้ม)
- คิดว่านักเขียนใหม่กับการเผยแพร่ผลงานทางหน้านิตยสารจำเป็นแค่ไหน
ถ้าเอาประสบการณ์ตัวเองมาตอบก็ต้องบอกว่าใช่ มันเป็นสนามที่มีไว้ทดสอบตัวเอง ได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง ระยะเวลา การรอคอย การพลาดหวัง การสมหวัง มันไม่ใช่แค่การส่งต้นฉบับไปให้พิจารณา มันมีอะไรมากมายในขณะที่ส่งงาน การที่นักเขียนได้เผชิญความรู้สึกช่วงเวลาเช่นนี้มันน่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับคำว่า “นักเขียน” จริงๆก็ได้นะ
- อินเตอร์เนตกับหนังสือทำมือมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ถ้าในแง่ของการเผยแพร่ มันก็เหมือนเป็นช่องทางหนึ่งในการนำเสนองาน ซึ่งไม่ต่างกัน เพียงแต่หนังสือทำมือมันต้องลงทุนทำเป็นเล่ม ไปเร่ขาย(ฝัน) ซึ่งความเจ็บปวดมันมีมากกว่า มันอาจจะขายไม่ได้เลย ไม่มีคนหยิบเลย ซึ่งมันเหมือนเป็นด่านทดสอบใจนักเขียนอย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกัน อินเตอร์เนทเองก็อาจไม่มีคนเข้ามาคอมเม้นท์เลยก็ได้ แต่การได้เผยแพร่งานทางอินเตอร์เนท คนอ่านได้เยอะกว่า...ลงทุนน้อยกว่า แต่การใช้ภาษาที่เหมาะสมกับงานเขียน หรือการนำเสนอ ถ้าเอาเข้าจริงๆรูปแบบหนังสือทำมือมันจะได้เปรียบกว่าในเรื่องนี้
- ประเด็นเรื่องการลอกเลียนผลงานมีความเห็นกับตรงนี้อย่างไร
เรากำลังเบี่ยงแบนประเด็นหรือตีความหมายกันผิดมากขึ้น เหมือนกับตีความเข้าข้างตัวเอง ทั้งที่ความหมายของคำว่าลอก,ลอกเลียน ,ดัดแปลง,และแรงบันดาลใจ มันต่างกันลิบลับ เคยเจอเด็กคนหนึ่งพูดประมาณว่า...งานเขียนก็เป็นการลอกเลียนอย่างหนึ่ง เรื่องที่เขาเขียนมันลอกเลียนการดำเนินชีวิตจริงของคนทั่วไป คือ...จะบอกเขาว่า...สิ่งที่เขาคิดว่าถูกต้องนั้นมันผิดเพราะว่า สิ่งที่เขาคิดอยู่มันคือ แรงบันดาลใจ เขาตีความหมายมันผิดแม้จะ “ใช่”ที่ลอกเลียนชีวิตจริง แต่ในความหมายที่เขานำเสนอมันเรียกว่าแรงบันดาลใจ ตัวเราเองเริ่มเขียนหนังสือครั้งแรกสมัยเด็กๆ(ประถม) ก็ลอกการ์ตูนญี่ปุ่นมาเปลี่ยนชื่อไทยเฉยๆ แต่เราก็พัฒนามาเป็นตัวของตัวเองได้ เดี๋ยวนี้นักเขียนใหม่เกิดง่ายโดยเฉพาะนักเขียนที่เกิดตามเวบไซด์ต่างๆ เขาอาจจะประทับใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากจนเอามาเขียนในงานนิยายของตัวเองแบบไม่รู้ตัว แล้วพอคนที่เข้ามาอ่านไม่มีวิจารณญาณมากพอ มาชื่นชม มากๆ แต่ขาดการติ-ติงก็คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นถูกต้องแล้ว มันจะกลายเป็นโรคระบาดในกลุ่มนักเขียนเลือดใหม่เข้าไปแล้ว
- ฝากถึงคนที่อยากเป็นนักเขียน
อยากเป็นนักเขียนก็ต้องลงมือเขียน นั่งคิดนอนฝันเฉยๆไม่ได้เป็นแน่ ต้องลงมือ และรักมันจริงๆจังๆค่ะ